ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

“ศิลป์ ดิน ปั้น” (Corazema Fiesta) เพราะทุกสิ่งคือต้นทาง เพราะทุกอย่างคือศิลปะ

31
สิงหาคม
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอการสร้างสรรค์ผลงานจากดินในโครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema  Fiesta) ที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 เน้นการค้นหาและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากดิน โดยเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองเพื่อสร้างมูลค่าให้กับชุมชนและสร้างสรรค์ผลงานจากศิลปะร่วมสมัย โดยเป็นโครงการที่เกิดจากแนวทาง "เสมาลัย" ศูนย์เรียนรู้เอกชนในจังหวัดนครราชสีมา ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อกว่า 6 ปีก่อนด้วยเจตนารมณ์สร้างกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยใช้กลไกการบริหารจัดการที่ดีของภาคธุรกิจ และนวัตกรรมสังคม เพื่อช่วยชุมชนสร้างโครงการและจำหน่ายผลผลิตต่อยอดไปในตลาดโลก
  • โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema  Fiesta) ยังเป็นการจัดงานการพัฒนาเทศกาลตามแนวทางใหม่: โครงการพัฒนาเมืองแห่งศิลปะปี 2567 ได้ส่งเสริมการจัดเทศกาลในรูปแบบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของโลกปัจจุบัน โดยการสร้างกลยุทธ์ในการพัฒนาเทศกาลที่ยั่งยืน และไม่เน้นเพียงแค่การจัดงานบันเทิงเพื่อการค้า และการเชื่อมโยงกับโครงการระดับนานาชาติ: IKTHAI หรือ Interkeramos Korat Clay Thailand ได้รับการพัฒนาและเชื่อมโยงกับศิลปินนานาชาติ ผ่านการจัด Study Tour และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากดินในระดับนานาชาติ

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

เมื่อกว่า 6 ปีก่อน การก่อเกิดของ “เสมาลัย” ศูนย์เรียนรู้เอกชนแห่งใหม่ในจังหวัดนครราชสีมา มีเจตนารมณ์-อุดมการณ์ สร้างงานกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise[1] กิจการที่มีจุดมุ่งหมายหลักในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยใช้กลไกการบริหารจัดการที่ดีของภาคธุรกิจมาบวกกับความรู้ และนวัตกรรมสังคม ให้มีความยั่งยืนทางการเงินจากรายได้หลักที่มาจากสินค้าหรือบริการโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินบริจาค และมีการนำผลกำไรที่เกิดขึ้นไปลงทุนซ้ำเพื่อขยายผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดขึ้น) ที่มีใบจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อช่วยชุมชนสร้างโครงการและจำหน่ายผลผลิต และพัฒนาจากวิสาหกิจชุมชนเพื่อต่อยอดไปในตลาดโลก วันนี้ นิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธร (กระทรวงวัฒนธรรม) กำลังลงมือสร้างบ้านแปลงเมืองด้วย ‘เทศกาลแรก’ หลังจากกอบข้อมูลเก็บประสบการณ์มานานก่อนเข้าร่วม ‘การประกวดข้อเสนอโครงการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งศิลปะ ปี 2567’ จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ผ่าน “โครงการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งศิลปะ ปี 2567” ภายใต้การส่งเสริมและพัฒนาร่วมโดยจังหวัดนครราชสีมา การกลับบ้านเกิดเพื่อให้กำเนิด ‘ความฝันใหม่’ แก่แผ่นดินแม่ ไม่ง่ายแม้กับผู้ที่ ‘ฝ่าด่านอรหันต์’ มาหนักหนาสาหัสแล้วก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ ‘เครื่องมือ’ ที่ใช้ในการพัฒนา และกลไกในการดำเนินงานที่แตกต่างอย่างมีวิสัยทัศน์ ด้วยพัฒนาศิลปวัฒนธรรมต้นทาง ที่มีอยู่อย่างอุดมในบรรพชีวินดินแดนแห่งมรดกภูมิปัญญาเดิม หนุนเสริมต่อยอดอย่างมีรากอัตลักษณ์ด้วย ‘ศิลปะร่วมสมัย’ เพื่อไทยก้าวไกลทันโลกใหม่ไม่ตกยุค

 

 

การเดินทางของความฝัน

ครูหนืด นิมิตร เปิดการสนทนาด้วยคำถามที่ท้าทายมากความหมาย และปลายเปิด “มีความฝันอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความเชื่อ และความเพียรมาก เสมาลัย  Art Space บ้านหลังเล็ก ๆ ที่ผม ได้กลับไปใช้เรือนไม้บ้านเก่า ของคุณป้า ปรับปรุงพัฒนา จนเป็นพื้นที่ศิลปะและโรงละครชุมชนของจังหวัดนครราชสีมา มาตั้งแต่ 16 กรกฎาคม 2560 เวลา 14.00 จวบจนวันนี้ก็กว่า 6 ปีแล้ว ทำไมผมจึงเชื่อว่า ‘การเฝ้าทำแล้วทำเล่า’ เพื่อทำพื้นที่และสร้างกิจกรรม ย้ำลงไปในเป้าหมายอย่างไม่เคยท้อถอย และยังเชื่อว่า วันหนึ่งการลงรากจะก่อเกิดผล’ …

เสมาลัย เริ่มจากทุนส่วนตัว ทุนจากมรดก ทุนจากการทำงานที่ลงแรงหามาปีแล้วปีเล่า เงินเดือนตัวเอง เงินรายได้พิเศษ เงินจากโครงการสะสม บ่มเพาะจนบ้านหลังเล็ก ๆ ซี่งถึงวันนี้ ก็ยังเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ อยู่ ยังคงได้ทำหน้าที่ที่ควรทำ และหวังให้เป็น…ผมเชื่อว่า ใน 6 ปีที่ผ่านมา “เสมาลัย” ได้ทำประโยชน์ทางศิลปะไม่มากก็น้อย ได้สร้างผลผลิตทางความคิด ได้มิตรมากมาย สำหรับคนที่มีความฝันแบบนี้คงเข้าใจดีว่ามัน ไม่ง่าย เมื่อเราต้องเริ่มต้นจาก ‘ศูนย์’ ใครกันนะคิดคำนี้ขึ้นมาพ้องกัน ‘ศูนย์’ การเรียนรู้ที่ตรงกับเลข ‘ศูนย์’ แต่ผมก็เชื่อว่าสิ่งที่ทำมาไม่สูญเปล่า ไม่ว่าพื้นที่ศิลปะเอกชนแห่งนี้จะได้รับหรือไม่ได้รับการสนับสนุนแต่อย่างใด อย่างไรเสียที่นี่ก็คือ ‘บ้านเรา’  (Semalai Semathai)

 

 

เวลาทำงานพัฒนา  เรามักจะบอกว่าถ้าไม่มีงบ ก็ไม่สามารถพัฒนาได้ ผมจึงมักพูดเสมอว่า “ก็ถ้านี่เป็นบ้านเราต่อให้ไม่มีงบ เราก็ไม่คิดที่จะทำอะไรเพื่อบ้านของเราหรือ? เราจะปล่อยบ้านเราผุพัง เป็นปัญหา ให้คนอยู่อาศัยอยู่อย่างไม่สบายและไม่เป็นสุขเลยหรือ? ไม่นะ เราจะไม่ทำอย่างนั้น

เสมาลัย ไม่ใคร่ได้ทำโครงการเหมือนที่อื่น เรากลัวการหยิบยื่น แบบไม่ยั่งยืน ที่จะทำให้เรายืนไม่ได้ ไม่กล้ายืน และจะพลอยทำให้ ‘เลิกหยัดยืน’ สิ่งที่ตั้งใจจะ ‘ยืนหยัด’ เราจึงต้องหัดสร้างการเลี้ยงดูและพึ่งพาตนเองให้ได้ ด้วยความฝัน ของนักสร้างสรรค์เอกชน และแด่คนที่ยังมีความเชื่อว่า เราสามารถที่จะสร้างพื้นที่ศิลปะได้ด้วยตนเอง ขอบคุณทุกคน ทุกหน่วยงานองค์กรที่เคยผ่านมามอบบางสิ่งทิ้งความทรงจำบางอย่าง และร่วมสร้างกิจกรรมร่วมกัน ขอบคุณน้อง ๆ บ้านมันตา กับ มูลนิธิหุ่นสายเสมา (Community Theatre และโรงละครหุ่นแห่งแรกของไทย ใน ซ.วิภาวดีรังสิต 58 กรุงเทพฯ จุดตั้งต้นในเส้นทางสร้างฝัน) ที่ร่วมฝันท้าทายนี้มาด้วยกัน และในวันต่อไป เสมาลัย ยังคงเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ที่ทำอะไรเล็ก ๆ ต่อไป หวังให้เป็นประโยชน์เท่าที่จะพึงทำและพึงเป็นได้ อย่างที่เราเคยฝัน” ครูหนืด นิมิตร ยืนยันมุ่งมั่นสู้เพื่อฝันโดยยึดมั่นในอุดมการณ์ ด้วย ‘เทศกาล’

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

Festival Academy Thai Style

ความหมายของคำว่า ‘เทศกาล’ ในประเทศไทย ได้ถูกออกแบบสื่อสารให้มีภาพเดียวกันมาตลอด อย่างสุดยอดในแนวทางสร้างงานบันเทิงที่จัดครั้งเดียวจบ ด้วยสยบวัตถุประสงค์หลักทางการค้า แต่ไม่ได้มีเจตนามุ่งรณรงค์เพื่อบริหารจัดการงานพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่มาของเรื่องงานสร้างกลยุทธ์ในการพัฒนาเทศกาลตามแนวทางใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของโลกใหม่ในปัจจุบัน อันเป็นนโยบายสำคัญของ TCEB[2] (สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนงานจัดการ Festival Academy และ Festival Economy ซึ่งส่งให้มีประสิทธิผลบนแนวทางการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในบุคลากรคนสำคัญที่ทำงานร่วมกับ TCEB คือ นิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธร ปี 2550 ผู้มีประสบการณ์และผ่านการอบรม “Festival  Academy Atrlier Young Festival Management” ร่วมกับนักจัดเทศกาลจากทั่วโลก ได้นำองค์ความรู้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาเทศกาลไทย จนได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์์เทศกาลหุ่นโลก (Harmony World Puppet Festival : Festival Owner) ต่อเนื่องยาวนานมากว่า 15 ปี อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานด้านการออกแบบเทศกาล (อุปนายก) ร่วมกับ Tiefa[3] นักปั้นเมืองด้วยเทศกาล มีผลงานการออกแบบเทศกาลมากมาย อาทิ

เทศกาล Phuket Peranakan Festival นับตั้งแต่วางรากฐานเทศกาลด้านเนื้อหา ความสัมพันธ์นานาชาติ ในกลุ่มประเทศเพอรานากัน[4](มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย สิงคโปร์) จนจัดต่อเนื่องเป็นเทศกาลประจำเมืองภูเก็ต

ทำงานด้าน Festival Design การออกแบบและพัฒนาเทศกาล ให้เป็น New Legacy โดยใช้เวลา 3-5 ปี กับพื้นที่ใหม่เพื่อให้เกิด Festival DNA

Prakan Festival ที่สามารถต่อยอด รูปแบบ Live Exhibition ให้จังหวัดสมุทรปราการได้สำเร็จ และจะมีผลงานการจัดแสดงต่อเนื่อง ทั้งป้อมผีเสื้อสมุทร ป้อมพระจุลจอมเกล้า เมืองโบราณ ร่วมกับคณะทำงานปั้นเมืองด้วยเทศกาลผ่านประวัติศาสตร์ รศ.112

Phetchaburi Harmony World Shadow Puppet Festival  จังหวัดเพชรบุรี

เทศกาลหุ่นโลก เพื่อผลักดันให้ศิลปะหุ่นเงาประเทศไทย ได้รับการประกาศรับรองในระดับนานาชาติ จากการจัดงานสามารถฟื้นฟู คณะหนังใหญ่วัดพลับพลาชัย ให้กลับมาจัดแสดงได้ และมีการพัฒนาให้เป็น มรดกเมือง ร่วมกับการสื่อสารตำนานหนังตะลุงเมืองเพชรบุรี บนพื้นที่การจัดงานขนานนามว่า Phetchaburi Old Town

Korat Clay Craft Creation  จังหวัดนครราชสีมา ผลผลิต การสร้างสรรค์จาก Ikthai Interkeramos Thailand แพลตฟอร์มเสริมสร้างเทศกาลเครื่องปั้นดินเผานานาชาติ ที่ออกแบบให้เกิดการขยายผลในต่างประเทศกว่า 30 ประเทศ และการเจรจาความร่วมมือในกลุ่มผู้สร้างสรรค์ในเอเชีย และ กลุ่มประเทศอเมริกา เตรียมพร้อมสู่การพัฒนางาน local สู่ Global กับเทศกาลครั้งใหม่

Harmony world puppet Innovation Festival. National Science Museum ปทุมธานี สีสันของเทศกาล ใหม่ ล้ำสมัย ที่ผนวกวิทยาศาสตร์ กับ ศิลปะเข้าด้วยกัน และสร้างก้าวย่างสำคัญของเทศกาลหุ่น สู่ หุ่นยนต์ art toy  และเทศกาลงานวิจัยที่สร้างมูลค่า ผลผลิต วิทยาศาสตร์ ที่ร่วมมือกับ ศิลปะ ปีนี้ ‘เทศกาลหุ่นโลก’ ยังคงได้รับการสนับสนุนจาก องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช. หรือ NSM) เป็นปีที่ 2 ภายใต้ธีมงาน ‘PUPPET MAKER’ ในชื่อใหม่ “Harmony World Puppet Toy Robot Festival 2024” ระหว่างวันที่ 13-17 พฤศจิกายน 2567 ณ สำนักงาน องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

ถึงวันนี้ ได้กลั่นกรองออกมาเป็น Festival Academy Thaistyle คู่มืองานอบรมพัฒนาเทศกาลฉบับภาษาไทย เพื่อการออกแบบ บริหารจัดการ ที่เข้ากับระบบสังคมแบบไทย ที่จะออกดำเนินงานการ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนาเทศกาล งานกลไกสร้างประเทศของไทยต่อไป

ด้วยประสบการณ์งานศึกษาเรื่อง “Festival Academy” จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Atelier) มาสู่การทำหลักสูตร “Festival Academy Thai Style” มาแล้วมากกว่า 3 จังหวัด (Thailand Biennale  กระบี่ ภูเก็ต นครราชสีมา) และสร้างเทศกาลใหม่อีกมากกว่า 10 เทศกาล ครูหนืด นิมิตร พิพิธกุล ได้บทเรียนสำคัญที่ใช้ปั้น ‘เทศกาลสร้างสรรค์’ ซึ่งล้วนมีปัจจัยหลักที่เป็น หัวใจสำคัญ ของการจัดงานคือ

* เริ่มต้นจาก ‘การจัดงานให้เหมือนไม่จัดงาน’ คือเริ่มต้นจาก organic ปล่อยให้ทุกอย่างสร้าง platform ระหว่างทาง

* เปลี่ยนจาก Soft Power ที่มีระบุไว้ 11 สาขา ไม่ครอบคลุม มาขยายปลายเปิด เป็น Soft Skill คือใคร ๆ ก็ใช้ทักษะมาร่วมงานกันได้

* ทำให้พื้นที่ปรากฏเป็น Community Space แล้วสร้างคุณค่าในพื้นที่ของตัวเองแต่เชื่อมร้อยกับคนอื่น

* ผลของงานไม่ได้กำหนด ทิศทาง ขึ้นกับการสร้างสรรค์ปันแบ่งจากแต่ละแหล่งแห่งที่ ทุกคนมีสถานะเท่ากัน คือ participant เป็น พลเมืองที่ร่วมกันเล่า  ถอดหมวก ชั่วคราวของบทบาท รัฐ องค์กร สถาบัน หน่วยงาน ศิลปิน แล้วมาร่วมกันปั้น

* ผลผลิต คือวิธีคิด ปลายทางไม่ใช่งาน event แต่คือการได้มาเล่นด้วยกัน เทศกาลเป็นอย่างนั้น  ไม่เร่งทำ ไม่วางข้อกำหนดเพื่อบังคับ แต่ขับเคลื่อนแบบ dialectic (กระบวนการวิภาษวิธี หลักการที่สำคัญของกระบวนการนี้คือ การนำข้อเสนอที่มีเหตุผล (Thesis) และข้อคัดค้าน (Antithesis) มาหักล้างกัน) พลิกผันเพื่อสร้างสรรค์

“งานอบรม พัฒนา ผมบอกว่า เราไม่หาอัตลักษณ์ เพื่อจะค้นพบแล้วทำเหมือนกัน แต่เราหาตัวตน identity คนทำ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ใหม่ ๆ ในเชิงสร้างสรรค์ ไม่ทำให้เหมือน แต่ทำให้ต่าง

การอบรมแบบมีต้นแบบและทำให้เหมือน เพราะง่ายคนสอน ยิ่งถ้ายากคนเรียนก็จะนำไปสู่การที่ต้องพึ่งพาความรู้จากครูแบบไม่จบ การอบรมแบบ ‘ถ้าทำต่อไม่ได้ ต้องคอยพึ่งพา’ เป็นการพัฒนาที่เรามักพบ  เพราะโครงการที่ไม่จบทำให้ต้องทำและถูกทำแล้วทำเล่า ทำบ่อยใช้งบใช้คนอบรมมาก ยาวนาน ทำนาน คนถูกอบรมล้าไม่เอา และไม่อยากฟังเรื่องเก่า

ทำยังไงให้ ‘จบแบบไม่จบ’ หมายถึง ให้สรรพความรู้ที่คัดสรรมาแบบผู้เรียนสนใจที่จะพากเพียร เปิดทางให้สร้างสรรค์เองต่อได้ และไม่รู้สึกว่าผิด หรือ คิดนอกครู

การอบรม สนุก เพลิดเพลิน ชุมชน ตื่นตา ลงมือทำกันอย่างใคร่รู้ ถามครูทุกสิ่งอัน ครูให้อย่างชนิดไม่ปกปิด หวงไว้ ยิ่งขยายยิ่งขยับ ยิ่งเปิดรับยิ่งเปิดรู้ ไม่ใช่เพียงดู ทำไปจนถึงออกแบบลายลงเสื้อ คุยกันเรื่องการโฆษณา สื่อสาร การตลาด และส่งพลังให้ชุมชน เปิดการสร้างผลผลิตแบบคิดต่อยอดผลงาน ซึ่งจะเกิดมูลค่าด้วยตัวเอง ไม่ต้องคิดแต่จะขาย แต่คิดให้ได้ว่าเราอยากเล่าอะไร ไม่ปุบปับ จัดหาทำของเพื่อให้มีมาจำหน่าย แต่สามารถเข้าถึงรู้ซึ้งการจัดการศิลปะ อย่างเข้าใจ จากรากฐานที่ชุมชนคิดได้เอง”

 


photo : IKthai

 

‘เสมาลัย’กับ ‘ไอเคไทย’ Product รักษ์โลก

“งาน Collaboration ด้านการพัฒนาดิน ที่เราทำมายาวนานก่อนหน้านี้  ถึงวันที่จะขยายความร่วมมือ เพื่อสร้างผลผลิต วิธีคิดใหม่ เพราะศิลปินและศิลปะไม่สามารถอยู่ได้เพียงลำพัง ถ้าไม่นำไปรวมพลังกับศาสตร์แขนงอื่น พื้นที่ศิลปะไม่ใช่เพียงนำศิลปะไปจัดวางสร้างงาน แต่คือการผลักดันให้ ‘ศิลปะจากพื้นที่ข้างในใจของผู้คน’ เบิกบานออกมาเพื่อร่วมเป็นแผ่นผืนที่หยัดยืน ผืนเดียวกัน และทำให้ศิลปะยืนเคียงข้างผู้คน ปีแล้วปีเล่าเราทำอย่างรอคอย การต่อเติมเติบโต ฟูมฟัก รักและดูแลจนแน่ใจ ศิลปะจึงจะหยั่งรากฝากไว้ได้ในแผ่นดิน ตามแนวทางของ ‘ศิลป์ ดิน ปั้น’ ปั้นศิลปะให้แผ่นดิน” นิมิตร พิพิธกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง IKTHAI : Product รักษ์โลก บอกเล่าหัวใจของการทำงานอย่างมีหลักการ กลั่นจากจิตวิญญาณของศิลปินรักบ้านเกิด และต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก ‘ดินไทย’ สู่ ‘ศิลป์ดินโลก’

“ในบรรดาเทศกาลที่ได้ทำ Festival Design ที่ผ่านมา ทำให้ได้ Case Study ว่า เทศกาล ไม่จำเป็นต้อง สร้างเป็น Event ที่ปลายทาง แต่ คือการสร้าง Platform จนเกิด Process ที่ค่อยเป็นค่อยไประหว่างทาง และมีเป้าคือ Collaboration มูลค่าจึงเกิดขึ้นได้จากการให้เวลา พัฒนาคุณค่า จนเกิดเป็นผลงานสร้างสรรค์ 

เทศกาลนั้นคือ ‘เทศกาลเครื่องปั้น’ ที่ปั้นมากว่า 5 ปีแล้ว และพากันจับมือผู้คนร่วมเดินทางไปถึงเป้าหมายคือ community ความรู้ และกลุ่ม network เครื่องปั้นระดับโลก NCECA[5] (สภาการศึกษาด้านศิลปะเซรามิกแห่งชาติ) ที่ต่อจากนี้ คืองานก่อเกิดการประสานสร้างผลผลิต ทั้งคุณค่าทางศิลปะ และมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้เข้ากับวิถีของคนปั้น คือค่อย ๆ ปั้น อย่างใส่ใจ เทศกาลเครื่องปั้นดินเผา เซรามิกนานาชาติ ที่ออกแบบและปั้นเทศกาลต่อเนื่องมา จนถึงปัจจุบันนี้เมื่อนำภาพมาเรียงต่อกันมองเห็นภาพบ่งชี้ว่า เทศกาลมีพัฒนาการและเป้าหมายชัดเจนในแต่ละครั้งที่จัดงาน ย้อนถึงการปั้นเทศกาลที่ผ่านมาขอบคุณ TCEB ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา เทศกาลด้วยความเข้าใจในธรรมชาติของรูปแบบงานที่แตกต่าง ซึ่งต้องสร้างกรอบการทำงานใหม่ ที่ไม่ใช่ TOR แต่มีเป้าหมายความต้องการพัฒนา คนทำงาน ศิลปิน และการมีส่วนร่วม” นิมิตร ยืนยัน ความฝันอย่างมีเป้าหมาย

 


photo : IKthai

 

จากเทศกาล สู่ กิจการเพื่อสังคม สู่ความยั่งยืน

IKTHAI ถือกำเนิดในปี พ.ศ. 2562 ภายใต้ชื่อ “กลุ่มศิลปะร่วมสมัยเพื่อด่านเกวียน” จากการรวมตัวของศิลปินช่างปั้นดินเผาตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี 2563 ได้มีการประชุมคณะทำงานเพื่อให้เกิดการจัดตั้งองค์กรโดยมีเป้าหมายการดำเนินงานและวัตถุประสงค์ ที่ต้องการให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายขยายผลในระดับต่างประเทศ เพื่อผลทางด้านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ในระดับนานาชาติต่อไป จึงมีมติให้ใช้ชื่อ Interkermos Korat Clay Thailand (IKTHAI) อย่างเป็นทางการในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ โดยมี ศาสตราจารย์ หลุยส์ แคทซ์ (Professor Louis Katz) เป็นผู้ประสานงานต่างประเทศ , ประติมากร สุวณี เนตรวงษ์ เป็น ผู้อำนวยการ, จิรายุ วัยวุฒิ เป็น ผู้จัดการ และ นิมิตร พิพิธกุล ศิลปินอิสระ เป็นกำลังสำคัญร่วมขับเคลื่อน และให้การสนับสนุนส่งเสริมอย่างเป็นทางการต่อเนื่องตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ในปี 2566 Interkeramos เริ่มจัด Study Tour ในรูปแบบของการนำศิลปินไทย ศิลปินนานาชาติ ออกเดินทางไปยังแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์บ้านเชียง พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ศูนย์ศิลป์ ท้องถิ่น สตูดิโอของช่างศิลป์รุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดการเชื่อมร้อย คนทำงาน คนรักงานปั้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเปิดรับความหลากหลายเชื่อมโยงศาสตร์และศิลป์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างโอกาสการสร้างสรรค์ร่วมกัน จากนั้น IKthai เริ่มการสร้าง platform เพื่อให้เป็นพื้นที่การสร้างการมีส่วนร่วมในแนวทางของ Festival Economy ที่สามารถเปิดการสร้างเศรษฐกิจ การจับมือเพื่อเกิดกระบวนการสานการทำงานในรูปแบบใหม่ ๆ กับกลุ่มธุรกิจ ผู้ประกอบการร้านค้า และการริเริ่มนำงานเครื่องปั้นสู่การจัด Chef Table เพื่อสร้าง value ขยายผลตอบรับในวงกว้างต่ออุตสาหกรรมการผลิต เครื่องปั้นและเซรามิกภายใต้ชื่อว่า “Khaoyai Clay Craft Creation”

 


photo : “Khaoyai Clay Craft Creation”

 

ประเทศไทยมีเป้าหมายในการเป็น​ ‘ประเทศเป็นกลางทางคาร์บอน’​ หรือมีค่าคาร์บอนสุทธิเป็น​ศูนย์​ (Net Zero Emission) ในปี​ 2608 หรือ​ในอีก 40 ปี​นับจากนี้ (2567) “ไอเคไทย” (IKTHAI) เป็นโครงการที่ถูกพัฒนาคู่มากับหลายโครงการภายใต้พันธกิจร่วมต่อสังคมของ “ศูนย์การเรียนรู้เสมาลัย” ในแนวทาง Social Enterprise (กิจการเพื่อสังคม) ผ่านกระบวนการทำงานเชิงวิจัย พัฒนา เพื่อทำเรื่อง ‘ดินเรา’ ให้เป็น ‘ดินโลก’ ทำเรื่องงานปั้นที่สร้างสรรค์จากวัสดุทดแทน ไม่ใช่เพียง ‘project event’ แต่เป็น ‘product รักษาโลก’ ไอเคไทย​ จึงมีเป้าหมายในการพัฒนา​ดินให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์​ได้​หลากหลาย​ โดยร่วมกับศิลปิน​เซรามิก ​และสถาบันการศึกษา​ อาทิ​ มหาวิทยาลัย​เกษตร​ศาตร์ บางเขน​, มหาวิทยาลัยสุรนารี​, เทคโนธานี​ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี) และอีกหลายแห่ง​ ทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์​เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน​ และนำผลิตภัณฑ์​ต่าง ๆ มาใช้สร้างสรรค์​งานศิลปะ​ โดยเน้นการลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิง​ และนำวัสดุเหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์​ เพื่อมุ่งมั่นในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

IKTHAI ตั้งเป้าหมายให้อุตสากรรมเซรามิกในประเทศ​ลดการใช้พลังงานในการผลิต​เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มค่าคาร์บอนในชั้นบรรยากาศรวมถึงการใช้ทรัพยากร​ไม้จำนวนมาก​ในการเผาแต่ละครั้ง และยังได้รับการสนับสนุนผลการวิจัยร่วมจาก ผศ. ดร.รุ่งทิพย์ ลุยเลา​ Circular Economy Products and Services Consultant ภาควิชาคหกรรมศาสตร์​ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​ ในการนำวัสดุเหลือทิ้ง​จากภาคการเกษตร​มาเป็นส่วนผสมในดินเพื่อเพิ่มความแข็ง​แกร่ง​ แต่ลดการใช้พลังงานในการเผาได้เกือบ ​100 เปอร์เซ็นต์ซึ่งจะมีส่วนในการพัฒนากระถางต้นไม้​ เพื่อใช้ในการจัดงานพืชสวนโลกที่​จังหวัด​นครราชสีมา​จะได้เป็นเจ้าภาพใน ปี​ 2572 และยังต่อยอดในการพัฒนาศิลปะเซรามิค​ร่วมกับศิลปินทั้งในประเทศและต่างประเทศ​ ผ่านโครงการ​ “Artists Residences” ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยน​เทคนิค​ แนวคิด​ และเทรนการตลาดระหว่างศิลปิน​และผู้สนใจงานเซรามิก​จากทั่วโลก​ โดย​ IKHAI ​จะเป็นตัวกลางในการ ​matching ศิลปิน​ อำนวยความสะดวกในการเดินทาง​ ประกันภัย​ และที่พักสำหรับผู้สนใจทั้งในประเทศ​และ​ต่างประเทศ​

จากจุดยืนที่ชัดเจนตลอดมาเป็นเวลากว่า 5 ปีที่ดำเนินการ ปัจจุบัน IKTHAI มีสถานะเป็นวิสาหกิจชุมชนอย่างสมบูรณ์ ทำให้ได้มีโอกาสรับเชิญจาก​ เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี[6] ไปร่วมแสดงผลงาน​และโครงการต่าง ๆ​ ​ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ครั้งล่าสุด​ในงาน​ “KORAT​ Carbon Neutrality Expo 2024”[7] ( โคราชเมืองเป็นกลางทางคาร์บอน ประจำปี 2567 เพื่อกระตุ้นการรับรู้ และตระหนักถึงความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และธุรกิจสีเขียว ต่อผู้ประกอบการ เครือข่ายภาครัฐ ภาคประชาชน ในระดับภูมิภาค และในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา) เมื่อ วันที่​ 2-​3 สิงหาคม​ 2567 ณ​ ศูนย์​การค้า​เทอร์มินอล 21​ โคราช จากจุดเริ่มต้นของงาน “ออกแบบเทศกาลเครื่องปั้น” IKTHAI ​มุ่งมั่นที่จะ ‘ยั่งยืน’ ก้าวต่อไป จาก festival สู่การสร้างฐานของ Business Model ตามเป้าหมายของ Festival Economy สู่ Festival Business และเป็น ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ ที่สร้างมูลค่าจากต้นทุน ความรู้ ผู้ผลิต และคิดสร้างสรรค์ “ศิลป์ ดิน ปั้น” เพื่อดูแลโลก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ IKTHAI ได้ที่ ikthai.com และ  facebook : page “Ikthai”

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

“ศิลป์ ดิน ปั้น” รางวัลดีเด่น โครงการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งศิลปะ ปี 2567

กระทรวงวัฒนธรรม โดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะ” มาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ได้คัดเลือกเมืองแห่งศิลปะ จำนวน 3 เมือง ได้แก่ จังหวัด กระบี่ จังหวัดเชียงราย และ จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่นำร่องโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งดำเนินการส่งเสริมกิจกรรมในพื้นที่นำร่องทั้ง 3 จังหวัด มาอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้สามารถนำคุณค่าทางวัฒนธรรมของแต่ละเมืองมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและนำรายได้เข้าสู่ประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม

ในปีงบประมาณ 2567 สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้จัดกิจกรรมประกวด “ข้อเสนอโครงการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งศิลปะ ปี 2567” โดยเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อดำเนินการในจังหวัด กระบี่ เชียงราย และ นครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองแห่งศิลปะ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนฐานทุนวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม มีผู้สนใจส่งโครงการเข้าร่วมการประกวดทั้งสิ้นจำนวน 61 โครงการ ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จำนวน 15 โครงการ จังหวัดเชียงราย จำนวน 17 โครงการ และ จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 29 โครงการ
 
คณะกรรมการ “การพัฒนาศักยภาพเมืองแห่งศิลปะ” ประกอบด้วย คณะผู้บริหารสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย , ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสาขาต่าง ๆ , หน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้องกับ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ -  อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ , การพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวและนวัตกรรม , หน่วยงานส่วนภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว จากพื้นที่เมืองแห่งศิลปะทั้ง 3 จังหวัด (กระบี่ เชียงราย นครราชสีมา)  ได้พิจารณาตัดสินโดยเน้นประเด็นต้องตอบสนอง ‘การพัฒนาเมืองแห่งศิลปะ’ ดังนี้

  • การเกิดผลกระทบ (Impact) ต่อเศรษฐกิจและสังคม
  • รวมทั้งความเป็นไปได้ของโครงการที่จะเกิดขึ้นจริงในพื้นที่
  • และความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ได้รับ

ข้อเสนอโครงการเพื่อดำเนินการใน 3 จังหวัด มีแนวทางพิจารณาขอบข่ายของการมอบรางวัล “ข้อเสนอโครงการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งศิลปะ ปี 2567”  ดังนี้

  • งานเทศกาล
  • การสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในสาขาต่าง ๆ
  • พัฒนาศักยภาพบุคลากรศิลปะ
  • สร้างการรับรู้เมืองแห่งศิลปะ
  • พัฒนาพื้นที่สาธารณะให้เป็นแหล่งเรียนรู้
  • ส่งเสริมอัตลักษณ์ประจำถิ่นในรูปแบบ ‘ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย’

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

ในรอบคัดเลือกมีโครงการที่ได้รับการพิจารณาจังหวัดละ 8 โครงการ รวมทั้งสิ้น 24 โครงการ / และในรอบตัดสินมีผู้เสนอโครงการที่ได้รับรางวัล จำนวนทั้งสิ้นจำนวน 18 ราย / รางวัลสูงสุดคือ รางวัลดีเด่น จังหวัดละ 1 รางวัล รวม 3 รางวัล  ได้รับโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท ได้แก่

  1. จังหวัดกระบี่ “โครงการศาสตร์ศิลป์โนรา” มรดกทางภูมิปัญญาจากงาน Local สู่ เลอค่าร่วมสมัย โดย นายวิทวัส ค้าของ
     
  2. จังหวัดเชียงราย “โครงการทุกที่คือแกลอรี” พัฒนาสถานประกอบการในจังหวัดเชียงรายให้เป็นพื้นที่ทางเลือกสำหรับจัดแสดงศิลปะร่วมสมัย ไปจนถึงโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก กิจกรรมเวิร์คชอปด้านศิลปะและที่พำนักศิลปินอย่างยั่งยืน โดย นางสาวกีรติ วุฒิสกุลชัย
     
  3. จังหวัดนครราชสีมา “โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น สร้างสรรค์มูลค่าผลผลิตทางวัฒนธรรม โดย” นายนิมิตร พิพิธกุล

 


photo : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.)

 

รางวัลชมเชย จำนวน 5 รางวัล รวม 15 รางวัล ได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล จำนวน 10,000 บาท

จังหวัดกระบี่ ได้แก่

  • โครงการ “นิทรรศการ จิตรกรรม ตำนาน สืบสานเรือหัวโทง” โดย นางอมรรัตน์ ลอเนอร์
  • โครงการศิลปะเพื่อมวลชน โดย นายคีตการ แก้วเล็ก
  • โครงการจัดแสดงศิลปะร่วมสมัยริมเขื่อนหน้าเมืองกระบี่ : 3ART in Krabi โดย นายธรรมดิวิชย์ ศรีรุ้ง
  • โครงการกระบี่อาร์ตวีค 2 : ศิลป์เพื่อโลก (Krabi Art Week 2 : Art For Earth) โดย นายพัฒนศิลป์ ชูทอง
  • โครงการเลนิยม โดย นายกฤษฎา กันณรงค์

จังหวัดเชียงราย ได้แก่

  • โครงการแม่ลาว 6.3 โดย กลุ่มศิลปินแม่ลาว
  • โครงการบ่ม เบลนด์ ฟื้นฟูพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ สโมสรสำนักงานยาสูบเมืองเก่าเชียงราย โดย กลุ่ม Blend
  • โครงการออกแบบเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย “กาดก้อมเมืองแก้วในม่านหมอก(ควัน)” โดย กลุ่ม Chiang Rai Creative Common
  • โครงการ “สุดยอดบ้านศิลปินถิ่นเชียงราย...สู่เมืองแห่งศิลปะยั่งยืน” โดย สมาคมขัวศิลปะ
  • โครงการเชียงรายฟิล์มแลป โดย นางนภกานต์ บุณฑริก

จังหวัดนครราชสีมา  ได้แก่

  • โครงการแรงบันดาลใจจากภาษาโคราชสู่ออกแบบคาแรกเตอร์อาร์ตทอยด้วยวัสดุหัตถกรรมงานหล่อหินทรายภูมิปัญญาบ้านหนองโสน จังหวัดนครราชสีมา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สำหรับครูสอนศิลปะ โดย ผศ.เกรียงไกร ดวงขจร
  • โครงการการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย “ศิลป์อีสาน” ครั้งที่ ๒ หัวข้อ “ภาพลักษณ์โคราช ภาพลักษณ์อีสาน” โดย รศ.ชยารัฐ จุลสุคนธ์
  • โครงการการแปรสีธรรมชาติจากขยะดอกไม้สู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย เพื่อต่อยอดทักษะทางอาชีพและส่งเสริมอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในจังหวัดนครราชสีมา โดย นางสาวสิรินภา มิ่งขวัญ
  • โครงการอะซะจั๋นพิมาย : กำเนิดผู้สรรค์ สร้างผู้เสพ โดย ภาคีอนุรักษ์เมืองพิมาย
  • โครงการนิทรรศการเล่าเรื่องแมวโคราชด้วยไฟดิจิตอล 3D Mapping Projection & Lighting  โดย นางอิญชญา คำภาหล้า
     
    นายวิเชียร สุขสร้อย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “โครงการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งศิลปะปี 2567” จะเป็นแบบอย่างของการขับเคลื่อน Soft Power ของเมืองไปสู่การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

“ศิลป์ ดิน ปั้น”  ปั้น ‘สินแผ่นดิน’ เป็น ‘สินทรัพย์’

“โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น สร้างสรรค์มูลค่า ผลผลิตทางวัฒนธรรม” นำเสนอโดย นิมิตร พิพิธกุล ได้รับพิจารณาคัดเลือกให้ได้รับ รางวัลดีเด่น จาก “โครงการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งศิลปะ ปี 2567” ในฐานะตัวแทนจังหวัดนครราชสีมา ที่มีความโดดเด่นและมีความพร้อม สำหรับการต่อยอด พัฒนาแนวคิดในการนำคุณค่าทางวัฒนธรรมของเมืองมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนการสร้างมูลค่าทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ภายใต้ “โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะ” สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกระทรวงวัฒนธรรม ในพิธีมอบรางวัล “การประกวดข้อเสนอโครงการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งศิลปะ ปี 2567” เมื่อวันพุธที่ 17 กรกฎาคม 2567 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ ครูหนืด นิมิตร กล่าวยืนยันถึงใจความสำคัญของข้อเสนอว่า

“ผมเป็นศิลปินที่เพิ่งได้กลับไปดูแลบ้านเกิดเช่นกันครับ เมื่อ 6 ปี ที่ผ่านมา ไปสร้างศูนย์เล็ก ๆ ชื่อ “เสมาลัย” เมื่อกลับมาเราอยากทราบว่าอะไรคือต้นทุนหรือวัตถุดับที่เราจะสร้างได้ ในช่วง 5-6 ปีนั้น ผมโฟกัสเรื่องเดียวคือเรื่องดินแม่น้ำมูล คือต้นทุนที่อยู่ในคำขวัญของเรามันคือ ดินด่านเกวียน ข้าวปลาอาหาร เกษตรกรรม การแสดงเปิดงานวันนี้ที่เห็นคือผ้ามัดย้อมดิน เกิดจากเราทำกิจกรรมในพื้นที่ที่เขาจันทร์งาม งานย้อมเริ่มผลิตตัวใหม่มามันได้ผล ชุมชนเริ่มมีรายได้ ศิลปินไม่ได้สร้างศิลปะอย่างเดียว เราสามารถสร้างมูลค่าให้คนอื่นได้ด้วย เมื่อมีโครงการของ ศสร.ก็เลยเขียนโครงการขึ้นมาว่า ถ้ามันไม่ใช่แค่เรื่องผ้าย้อมดินล่ะ ถ้าไปได้มากกว่านั้นล่ะ “ศิลป์ ดิน ปั้น” ก็คือการเอาศิลปะมาค้นหาเรื่องราวของแผ่นดิน แล้วมาปั้นผลงาน เราจะปั้นอะไรกันได้บ้าง ว่ากันตามตรงผลงานเป็นปลายเปิด เรายังไม่รู้ว่าจะได้มีผลงาน เราอยากให้ทุกคนกลับไปรู้จักและเล่าเรื่องตัวเองให้ได้มากที่สุด

เนื่องจากโคราชมีตั้งแต่ จีโอปาร์ค(ธรณีโลก) ล่าสุดมี พืชสวนโลก นั่นหมายความว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับดินทั้งนั้น เลยคิดว่าเราไม่เอาอัตลักษณ์แค่รุ่นทวารวดีแล้ว เราไปให้ลึกกว่านั้นดีกว่า สิ่งที่เราพยายามก็คือว่า ศิลปะโคราชคือ ‘สินแผ่นดิน’ คือมรดกอันเก่าแก่ โคราชตั้งแต่ต้นเลยคือทะเลโบราณนับล้านปี เราไม่มีแผ่นดินอยู่ โลกมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ สิ่งเหล่านี้มาสู่ ‘ธรณีโคราช’ กลายเป็นจุดสำคัญซึ่งเป็นแรงดึงดูดทางการท่องเที่ยว การสร้างสรรค์ การพัฒนาวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ โบราณคดี แต่ก่อนเราเป็นดินทราย มีการโยกย้ายถิ่นกันมายาวนาน เพราะการโยกย้ายถิ่นที่ทำให้เราเติบโตจากความสัมพันธ์ที่มีคือ ‘วัฒนธรรมชาวข่า’ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดมาสู่ ‘ด่านเกวียน’ และนี่คือ ‘มรดกศิลป์’ ภาพเขียนเขาจันทร์งาม ศิลปินที่ได้สร้าง ประวัติศาสตร์ที่ได้มี ส่งต่อผลงานตั้งแต่เด็กจนกระทั่งช่างฝีมือที่เรามีอยู่

เราคิดว่าจุดเหล่านี้ทำยังไงถึงจะมาทำโครงการแล้วเอาครูเอาผู้รู้มาเจอกัน แล้วมาสร้าง เมื่อสร้างจะเกิดผลผลิต นี่เป็นผลงานสร้างสรรค์จากฝีมือคนรุ่นใหม่ คือไอเดียที่จะเกิดขึ้นจากศิลปะร่วมสมัย เรามีหัวข้อในการพัฒนาผลผลิตอยู่ประกอบไปด้วย โอชาดิน , Play Ground , Art Toy , ศาสตราราชสีมา จะจบลงที่ CORASEMA คืองานศิลปะการแสดงที่จะรวมเอาทุกผลผลิตเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน”

 

“การทำงานให้โคราชครั้งนี้ ผมใช้วิธีอ่าน ‘strategic เมือง’
แล้วจึงออกแบบเป็น “โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น”
คือ ปั้นศิลป์ให้แผ่นดินโคราชใคร ๆ ก็ปั้นได้”

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

โคราช สินแผ่นดินเก่าแก่เคยเป็นทะเลโบราณอายุนับล้านปี เมื่อน้ำทะเลเหือดแห้งลง คงไว้แต่ดินปนทราย และหินทราย กลายเป็น ธรณีโคราช ฝังฝาก ‘ซากฟอสซิล’ ใหญ่สุดในแดนอีสาน Fossil[8] หรือ ‘บรรพชีวิน’ คือ ‘สิน’ และ ‘ศิลป์’ ที่มาจากซากหรือร่องรอยของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ ที่ถูกแปรสภาพด้วยกระบวนการเกิดซากดึกดำบรรพ์ และถูกเก็บรักษาไว้ในชั้นหิน อาจประกอบไปด้วยซากเหลือของสัตว์ พืช หรือกลุ่มของสิ่งมีชีวิตอื่นใด ที่ได้รับการจัดแบ่งจำแนกไว้ทางชีววิทยา และรวมถึงร่องรอยต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ เป็นศิลปะที่ธรรมชาติได้สร้างฝากไว้บนผืนดิน จวบจนมีที่เริ่มดำรงชีวิต ไปจนถึงมนุษย์ถ้ำที่นำสีดินมาวาดระบายเล่าเรื่องบรรพชนลงบนผนังถ้ำ ผู้คนเหล่านี้คือ ‘ต้นทาง’ ของศิลปินโคราช ที่วาดผลงานศิลปะจากดินขึ้นเป็นภาพแรกบนผนังถ้ำ วัดเขาจันทร์งาม

หลังจากนั้นต่อมาจึงได้ฝากฝังงานช่างฝีมือ เช่น การปั้นลูกปัดดินประดับกาย เครื่องปั้นดินเผา ภาชนะไว้เก็บกระดูก และใช้ในการดำรงชีพ ฝากไว้เป็นมรดกเชิงพิธีกรรม วันเวลาผันผ่าน จากภาชนะเครื่องปั้น ส่งต่อการเรียนรู้สู่ ชาวข่า ชาวบ้าน และคาราวานกองเกวียน นำศิลปะช่างฝีมืองานปั้นสู่เส้นทางเกวียนการค้า ออกเดินทางดั้นด้น ค้นหาถิ่นที่อยู่บนย่าน-ด่าน ดำรงชีพอยู่ด้วยสินจากดิน จาก ‘สินแผ่นดิน’ สู่ ‘ศิลปะการสร้างสรรค์’ ด้วยความเชื่อ ศรัทธา วิถีชน ของคนโคราช ร่วมกันนำเอาเนื้อหา เรื่องราวบนแผ่นดินโคราชมาร่วมปั้นผลผลิต ผ่านวิธีคิดสร้างสรรค์ใหม่ในแนว ‘ศิลป์ร่วมสมัย’ ตามแนวทาง ‘ศิลป์ดินปั้น โคราชเมืองศิลปะ’

โครงการแรกของเสมาลัย เริ่มแล้ว “ ศิลป์ ดิน ปั้น” ปั้นโลกสวยด้วยดิน สร้างศิลป์ให้โคราชเมืองศิลปะ ออกแบบ อารยธรรม บรรพชีวิน ให้เป็นงานศิลปะร่วมสมัย มีความหมายว่า ‘ปั้นศิลปะให้แผ่นดินโคราช โดยใช้ ดิน เป็น Inspiration นำทาง สร้างแรงบันดาลใจ’... ‘ปั้นศิลป์’ จนเห็นว่า ‘ดิน’ เป็น Conceptual Art หลัก ที่จะพาทุกฝ่ายมาพบกันและเดินไปด้วยกัน โคราชเมืองศิลปะมี ดิน เชื่อมร้อยเรื่องเล่า ให้ทุกคนหลอมรวมเป็นดินก้อนเดียวกันจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการออกแบบกลุ่มเนื้อหา ‘ผลผลิตศิลปะร่วมสมัยให้โคราช’ ตามแนวทาง “ศิลป์ ดิน ปั้น สร้างสรรค์มูลค่า ผลผลิตทางวัฒนธรรม” ได้กำหนดหัวข้อออกมาเป็นกลุ่มศิลปะ เพื่อสร้างผู้สืบทอดต่อยอดผลผลิตในแนวคิด ‘ศิลป์ ดิน ปั้น ชวนสร้างสรรค์ งานศิลป์’ 4 กลุ่มหลัก ดังนี้

  1. CLAY ART TOY (ปั้นดินสู่ศิลป์สนานและสินทรัพย์)
  2. CLAY PLAY GROUND (สร้างพื้นที่ศิลปะด้วยอิสระและโอกาส)
  3. ศาสตราราชสีมา (สืบสานศิลปะการต่อสู้กู้แผ่นดิน กับศิลปินศาสตร์การต่อสู้ โดย ครูปราบ ดาบสี่เขี้ยว วิชยะพงศ์ ปิยะธัญญานนท์)
  4. โอชาดิน (เส้นสายลายศิลป์พสุธา ผ้ามัดย้อม-ภาพวาด จากสีดิน)

 

พันธมิตร กับ พันธกิจ ขับเคลื่อน “โคราชเมืองศิลปะ”

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

กิจกรรมครั้งที่ 1 ปฏิบัติการสานสร้าง “โคราชเมืองศิลปะ”

ในวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2567 ณ หอประชุมพระบรมราชสมภพ 200 ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (วัดสุทธจินดา) “ศิลป์ ดิน ปั้น” เชิญเครือข่าย พันธมิตร และผู้ที่สนใจร่วมสร้างการรับรู้ความเป็น “โคราชเมืองศิลปะ” โดย นิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธร ผู้นำเสนอ “โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น” จัดประชุมระดมความคิดเห็น ‘การออกแบบแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรมประจำเมืองโคราช เมืองแห่งศิลปะ’ โดยกำหนดกลุ่มกิจกรรมเพื่อสร้างผลผลิตทางศิลปะ แบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นในการสร้างเนื้อหาและรูปแบบออกเป็น 4 กลุ่ม (ภายในโถงของหอประชุม มีนักเรียนหลายรุ่นเข้าร่วมกิจกรรมวาดภาพด้วยสีดินในบรรยากาศเดียวกัน ต่างร่วมรับรู้การสร้างฝันของผู้ใหญ่อย่างพร้อมให้ความร่วมมือเป็นส่วนหนึ่งของผู้สร้าง โคราชเมืองศิลปะ)

กลุ่มที่ 1 Festival Research : หอสมุดแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ ร.9 นครราชสีมา / ภาคีอนุรักษ์เมืองเก่านครราชสีมา / หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ  7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา / กลุ่มศิลปะต่อสู้ป้องกันตัว สักยันต์ ไม้ไผ่ /พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา / สื่อมวลชนท้องถิ่นและส่วนกลาง-กรุงเทพฯ ฯลฯ

กลุ่มที่ 2 Festival Design : หอศิลป์ ทวี รัชนีกร / หอศิลป์สุรพล ปัญญาวชิระ /กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน / กลุ่มเครื่องประดับ / กลุ่มโคราชศิลปะร่วมสมัย /สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา / Art House Krukai Family ฯลฯ

กลุ่มที่ 3  Festival Coordination : วัดสุทธจินดาวรวิหาร / มูลนิธิหุ่นสายเสมา / เสมาลัย / IKTHAI / Clay Craft Creation / สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ / TCEB ฯลฯ

กลุ่มที่ 4 Festival  Planning : โรงเรียนวัดสุทธะจินดา / ครูเซียง-หมอลำเด็กเทวดา / หุ่นสายเสมา / โรงเรียนสุรนารีวิทยา / มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา / เครือข่ายเด็กเยาวชน-โคราชเดิ่นยิ้ม / Festival Evaluation – สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกระทรวงวัฒนธรรม ฯลฯ

  • ทุกหน่วยงาน เครือข่าย หลายสถาบัน ร่วมนำเสนอแนวทางกิจกรรมการออกแบบเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรมประจำเมืองโคราช   
  • ค้นหาแรงบันดาลใจ นำเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ใจกลางเมืองมรดกทางวัฒนธรรม
    • หอสมุดแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ ร.9 นครราชสีมา
    • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์
  • พันธมิตรผู้สร้างงานศิลปะนานาแขนงในเมืองโคราชร่วมแลกเปลี่ยนเขียนแผนเตรียมแสดงงาน “มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น” ในวันเปิดโครงการ 14 กันยายน 2567 ณ ศูนย์เรียนรู้ “เสมาลัย” นำผลผลิตความคิดสู่ศิลปะสร้างสรรค์ ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญา และการพัฒนาต่อยอดสู่ ศิลป์ร่วมสมัย

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

กิจกรรมครั้งที่ 2 เดินเมือง ปักหมุด จุดหมายโคราชเมืองศิลปะ

วันที่ 8 สิงหาคม 2567 “ศิลป์ ดิน ปั้น” ชวนสัญจรแสวงหา ศิลป์ บนแผ่นดินโคราช และ วิทยากรนำชม นายอิทธิพล​ คัมภิรานนท์​ และ นายพงศ์​บัณฑิต​ อินท​โสฬส​ และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ร่วมกิจกรรม

- ศาลหลักเมืองนครราชสีมา สักการะ ชมประติมากรรมดินเผานูนสูง

- ศาลพระนารายณ์ ทะลุมิติเวลายุคพระนารายณ์ไปกับศิลปะอายุนับ 1000 ปี

- วัดพระนารายณ์มหาราช หรือวัดกลางนคร สร้างสถิตอยู่คู่การสร้างเมืองนครราชสีมา

- ชมย่านเมืองเก่า เล่าเรื่อง ศิลป์ ศรัทธา ร่วมกับกิจกรรมสังคม “จอมพลเฟส” 

- สาธยายภาพเก่า ณ บ้านพระยากำธรพายัพทิศ[9] บ้านเจ้าเมืองนครราชสีมาท่านสุดท้าย

- เล่าเรื่องคุณย่า บ้านท้าวสุรนารี วีรสตรีย่าโม

- บ้านพระยากำธรพายัพทิศ ผู้สร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีร่วมกับ พระเริงลุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ)

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

กิจกรรมครั้งที่ 3 กับ 3 Workshop ใน ‘ดินแดนแห่ง 3 มงกุฏ’

  • จุดที่ 1 วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม  2567 ณ พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน นครราชสีมา งานประชุมเชิงปฏิบัติการ “ธรณีวิทยา ศิลป์สร้างสรรค์ บรรพชีวิน” ใน “โครงการอบรมหลักสูตรระยะสั้นจีโอพาร์ค หลักสูตรธรณีวิทยาแบบองค์รวมสำหรับการจัดตั้งอุทยานธรณีวิทยา”
  • วิทยากร : ผศ. ดร.ณัฏฐินี ทองดี รองผู้อำนวยการอุทยานธรณีโลกโคราช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน , อาจารย์นิรวิทธ์ เพียราษฎร์ หัวหน้างานพิพิธภัณฑ์อุทยานธรณีโลกโคราช รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นกลายเป็นหิน และ ผศ. ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช (ผู้ก่อตั้ง)

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

ร่วมด้วย “โครงการศิลป์ ดินปั้น” บรรยายพิเศษโดยวิทยากร ศิลปินศิลปาธร นิมิตร พิพิธกุล ในแนวคิดเรื่อง ‘กระบวนการนำทักษะศิลปะไปสื่อการเรียนรู้ด้านธรณีวิทยา อารยธรรม บรรพชีวิน และ Geopark’[10] ในรูปแบบสุนทรียสนทนาร่วมกับ อาจารย์อาวุธ คันศร (โปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา) ศิลปินมากความสามารถผู้สร้างสรรค์ผลงานไว้มากมาย หลากแบบหลายสไตล์ไม่ยึดติดกับแบบใดแบบหนึ่ง และผลงานศิลปะมีบุคลิกที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว เก่าก็ใช่ ใหม่ก็งาม มีความลงตัว และที่พิเศษสุดคือ อ.อาวุธ คันศร เป็นศิลปินช่างปั้นผู้นำทักษะการสร้างสรรค์ศิลปะ ‘ประติมากรรมดิน’ ไปบูรณาการร่วมกับกลุ่มผู้สร้างรูปปั้น ‘ไดโนเสาร์พันธุ์โคราช’ (ผลงานติดตั้ง ณ พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน จ.นครราชสีมา เมืองที่ได้สมญา “ดินแดนแห่ง 3 มงกุฏ” 1 ใน 4 แห่งของโลกที่ UNESCO ประกาศให้เป็น อุทยานธรณีโลก’[11]) ส่งผลให้ ‘การปั้นเชิงจิตวิญญาณ’ ด้วยงานปั้นไดโนเสาร์โดยช่างศิลป์ไทยมีบุคลิกงานที่พิเศษต่างจากงานปั้นจากฝีมือช่างปั้นฝั่งตะวันตกมาก ทำให้โคราชพร้อมจะมี ‘Dinosaur Studio’ ต่อไปในอนาคต

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

อ.อาวุธ คันศร ไม่เพียงเป็นประติมากรปั้นพระสร้างไดโนเสาร์ด้วยศิลปะดินปั้นเท่านั้น แต่ยังเป็นศิลปินนักพัฒนาที่ทำงานร่วมกับ ชุมชน ชาวบ้าน ศึกษาสอนงานให้กับผู้ต้องขังเรือนจำ สร้างงานสร้างอาชีพให้ด้วยความเข้าใจใน ‘ศิลปะนำทางชีวิต’ นครราชสีมามีอะไรให้ติดตามกับนิยาม ‘UNESCO Korat Geo park’ เพราะงานสร้างสรรค์จากฝีมือช่างปั้นดิน ช่างศิลป์โคราช สามารถต่อยอดสู่การสร้างสรรค์ อันจะนำต้นทุนอารยธรรมเก่าแก่ของโคราชด้านธรณีวิทยา และบรรพชีวินมาสร้าง ‘ศิลป์แผ่นดิน’ ได้

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

  • จุดที่ 2 วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 “ศิลป์ ดิน ปั้น” กับงานเสวนาวิชาการ “ออกแบบเมืองโคราชน่าอยู่” ภายใต้กิจกรรมการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ณ เรือนโคราช เฉลิมวัฒนา บรรยายพิเศษโดย นิมิตร พิพิธกุล ในหัวข้อ “โคราชเมืองศิลปะ ผังเมือง เรื่องเล่า และพื้นที่ที่ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์” ได้รับความสนใจมากด้วยคมแนวคิดที่นำเสนออย่างสนุกสนาน
  • วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม 2567 “โครงการศิลป์ ดิน ปั้น” ประชุมเชิงปฏิบัติการงานออกแบบผังเมืองโคราชเมืองแห่งศิลปะ ร่วมกับ “โครงการ Amazing Sikhism” เสวนา “ศิลป์ร่วมสมัย กับการพัฒนาศักยภาพชุมชนสีคิ้ว สู่การเป็นเมืองศิลปะ” ณ จันทน์งาม เมาเทนรีสอร์ท บรรยายพิเศษโดย ศิลปินศิลปาธร นิมิตร พิพิธกุล หัวข้อ “ทิศทางการขับเคลื่อนสีคิ้วให้เป็นเมืองท่องเที่ยว ศิลปะ วัฒนธรรม ภายใต้โครงการโคราช เมืองศิลปะ” ชวนท่องไปใน ‘ตำนานสานศิลป์อาภรณ์ดิน ถิ่นสีคิ้ว’

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

  • “ศิลป์ ดิน ปั้น” Workshop มัดย้อมผ้าด้วยสีดินซึ่ง ครูหนืด นิมิตร พิพิธกุล ได้ศึกษาผ้ามัดย้อมพร้อมร่วมพัฒนาผลงาน และสนับสนุนขยายฐานการตลาดจนเติบโตเป็นอาชีพยั่งยืนให้กับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสีคิ้ว ‘ผ้ามัดย้อมสีดินวัดเขาจันทร์งาม’ คือส่วนสำคัญยืนยันผลงานการพัฒนานวัตกรรมจากธรรมชาติ จึงทำให้ อ.สีคิ้ว ได้รับการรับรองจาก UNESCO ให้เป็น 1 ใน 5 อำเภอ อุทยานธรณีโลก (ประกอบด้วยอำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ และ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ) หรือ “เวิลด์ จีโอพาร์ค”  (ยูเนสโก จีโอพาร์ค”)[12]เพราะจุดเด่นคือ “เควสตา” หรือ “เขารูปอีโต้” และ “ฟอสซิล 3 ยุค” (Cuesta & Fossil Land)[13] ที่เชื่อมโยงกับระบบนิเวศป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และวิถีชีวิตผู้คนกว่า 4,000 ปี ทำให้องค์การ UNESCO ประกาศให้ “อุทยานธรณีโคราช” เป็น “อุทยานธรณีโลก” (UNESCO Global Geopark) เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566
  • “ศิลป์ ดิน ปั้น” ชวนเดินทะลุมิติตามหาภาพเขียนสีโบราณ อายุ 4,000 ปี ที่ วัดเขาจันทร์งาม ตามรอยการศึกษา ความน่ามหัศจรรย์ และชาติพันธ์ไทยยวนสีคิ้ว (ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมวัดเขาจันทร์งามมีภาพเขียนเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ ทำให้ผู้คนรู้จักรากอารยธรรมที่นำมาเชื่อมโยงกับวิถีใหม่)
  •  ติดตามชมพื้นที่แสดงผลงาน ณ ตลาดเวทมนตร์  ใน “โครงการ Amazing Sikhism เส้นทางแห่งความสุข” ณ บ้านสวนน้อยรีสอร์ท เป็นอีกหนึ่งสาขาของผลงาน ‘ผ้ามัดย้อมสีดินวัดเขาจันทร์งาม’ ที่ได้รับการคัดเลือก สนับสนุนพื้นที่จัดแสดงผลผลิต ‘วิสาหกิจชุมชนวัดเขาจันทร์งาม’

ขอขอบคุณ คุณอรวรรณ กอบวิทยา รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดนครราชสีมา และประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานมิติด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคม อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

จุดที่ 1 วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2567 “ ศิลป์ ดิน ปั้น ศิลปะสร้างสรรค์สีดิน” จัด Workshop ณ หอศิลป์ ทวี รัชนีกร อ.เมือง จ.นครราชสีมา อ.ทวี รัชนีกร ให้เกียรตินำชมหอศิลป์อย่างมีความสุขท่ามกลางอาจารย์และลูกหลานสานศิลป์จากหลายสถาบัน

วิทยากร

- ผศ.บุญกอง อินตา อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา

- กลุ่ม Normal Art  นางมารศรี  มิ่งศิริรัตน และ นายเฉลิมเกียรติ ชวประพันธ์

- ศิลปินอาวุโส สุรพล ปัญญาวชิระ (จากหอศิลป์สุรพล ปัญญาวชิระ) ให้เกียรติร่วม  สร้างสรรค์งานศิลป์จากสีดิน

- กลุ่มโคราชศิลปะร่วมสมัย นายสุเทพ อ่อนกำปัง

- หอศิลป์บ้านผู้สูงอายุราชสีมา

สถาบันการศึกษา ร่วม workshop  เทคนิคการใช้ดินเพื่อสร้างสรรค์งานวาดภาพ

- โรงเรียนสุรนารีวิทยา 

- โรงเรียนรวมมิตรวิทยา

- โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา

- นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

ผลงานของผู้ร่วม Workshop ทุกชิ้น จะนำไปร่วมจัดแสดง ใน “นิทรรศการ ศิลป์ ดิน ปั้น” โดย “ โครงการพัฒนาศักยภาพสู่การเป็นเมืองศิลปะ จังหวัดนครราชสีมา 2567”  ใน “มหกรรม ศิลป์ดินปั้น” (Corazema Fiesta) วันที่ 14  กันยายน 2567 ณ เรือนโคราช (เยื้องกับอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี)

จุดที่ 2 วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2567 “ศิลป์ดินปั้น” อบรม ‘ดาบสี่เขี้ยว’ ศิลปะยุทธศาสตร์ โคราชรักแผ่นดิน’ (สืบสานศิลปะการต่อสู้ดั้งเดิมของ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา) ศาสตราป้องแผ่นดิน โดย วิชยะพงศ์​ ปิยะธัญญานนท์​ (ครูปราบ​ สำนักดาบ​วายุกร​ นครราชสีมา) ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

 

กิจกรรมครั้งที่ 4 คชสาร สานศิลป์ ดินปั้น สัญลักษณ์โคราช

“ศิลป์ ดิน ปั้น” (Corazema  Fiesta) สัญจรปักหมุดจุดหมาย กระจายพื้นที่เสาะหาผังเมืองใหม่ไปกับกิจกรรม ‘ศิลปะ จาก เขาใหญ่’  ใน Studio บรรยากาศกลางป่าที่คนสร้างสรรค์ศิลปะล้วนถวิลหา แวดล้อมด้วยภูมิทัศน์ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรสำคัญ เสมือนสวรรค์ดินแดนที่ควรหวงแหนรักษา ผู้เข้าร่วมต่างหรรษาไปกับกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สู่งานปั้นดินศิลปะร่วมสมัย ใส่ลักษณะพิเศษของช้างพื้นถิ่นที่มีอยู่ในโคราชถึง 10 สายพันธุ์ (จาก 50 สายพันธุ์ทั่วไทย) ซึ่งควรได้รับการเชิดชูให้เป็นเอกลักษณ์ของเมืองโคราช เพราะช้างคือสัญลักษณ์ของประเทศไทยมาแต่โบราณ และนับวันจะกลายเป็นสัตว์สงวนสำคัญของโลก

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

26 สิงหาคม 2567 ศิลปะช้างปั้น สร้างสรรค์ธรรมชาติจากวัสดุท้องถิ่น ณ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยเขาใหญ่ ครูหนืด นิมิตร พิพิธกุล  เปิดลาน เล่าขานตำนานช้างโคราช เล่าเรื่องธรรมชาติวิทยา ร่วมสืบสานศิลป์ รักษาสินแผ่นดิน และเครือข่ายศิลปิน หอศิลป์ และกลุ่มผู้รักศิลปะ เขาใหญ่

 - Workshop  ออกแบบประติมากรรมโขลงช้าง ปั้นช้างดินกลางเดิ่น

- Workshop ประดิษฐ์วัสดุท้องถิ่นจากไม้ไผ่-กิ่งไม้ใบไม้ สร้างศิลป์ในถิ่นช้าง

- อิ่มเอมโอชาดิน ล้อมวงกลางเดิ่นดิน กินปิ่นโต

วิทยากร

- พันชนะ วัฒนเสถียร (ร้านเป็นลาว) สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่

- ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ร่วมให้ความรู้เรื่องกายวิภาคช้าง และร่วมปั้นดิน ‘ช้างสมองคน’

- เครือข่ายศิลปิน หอศิลป์ และกลุ่มผู้รักศิลปะเขาใหญ่ ร่วมเล่าเรื่องธรรมชาติวิทยา

ศิลปิน

-ศิลปิน ครูเซียง ปรีชา การุณ หมอลำหุ่นเด็กเทวดา นักสร้างหุ่นจากวัสดุท้องถิ่น

-ศิลปิน ครูช้าง อนุรักษ์ วัฒนากลาง ช่างปั้นดิน ประติมากรรมช้าง

- ศิลปิน ครูต๋อย สุทัศน์ ถาวรวิไลฤกษ์ ช่างปั้นช้าง 4 งา ด่านเกวียน

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

วันที่ 27 สิงหาคม 2567 “ศิลป์ดินปั้น” กับ กิจกรรมส่วนสังคม Collaboration

  • จุดที่ 1 วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา โคราช “โครงการศิลป์ ดิน ปั้น” ร่วมกับ TCEB  ในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘ยกระดับศักยภาพพื้นที่สู่แผนขับเคลื่อน’ เตรียมความพร้อมพื้นที่ สู่การเป็นเจ้าภาพงาน "มหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา 2572" (“ROAD TO KORAT Expo 2029” )
  •  Highlight : บรรยายพิเศษ เบื้องหลังแนวคิดสำคัญที่ถูกกลั่นกรองก่อนนำเสนอคณะกรรมการพืชสวนโลก ที่ทำให้ได้มาซึ่ง “มหกรรมพืชสวนโลกฯ” โดย นิมิตร พิพิธกุล ผู้ออกแบบ ‘Country Presentation’[14] นำมาซึ่งแรงกระเพื่อมอย่างมีพลังต่อทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะกลยุทธ์ในวิธีคิดและแผนงานที่นำเสนอ กว่าจะได้มาผ่านการทำงานของคนเบื้องหลัง นับ ร้อย นับพัน กลั่นกรองเนื้อหาเพื่อให้กรรมการเชื่อมั่น ออกแบบสร้างสรรค์ เพื่อให้เป็นความภาคภูมิของชาติ และอัตลักษณ์โคราชในเวทีโลก เรานำเสนออะไรในวันนั้น เนื้อหาที่สร้างทำให้ชนะใจกรรมการ และสิ่งที่ต้องทำ ต้องตอบให้รอบคอบถึงกรอบการดำเนินงาน มีหัวข้อที่เรียกร้องต้องการความใส่ใจดังนี้

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

- ถอดบทเรียน ‘พืชสวนเชียงใหม่’ สู่ ‘พืชสวนโคราช’

- การยกระดับเมืองเพื่อรองรับการจัดงานระดับนานาชาติ

- การสร้างงานและการเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับการจัดงาน

- การสร้างแผนส่งเสริมการตลาดเพื่อสนับสนุนงานต้อนรับนักเดินทาง

- การประชาสัมพันธ์ ‘แนวใหม่’ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์เมือง

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

ครูหนืด บันทึกการทำงานไว้ว่า “จากการออกแบบ Country Presentation กับมหกรรมพืชสวนโลก Korat Expo  ที่โคราช เสนอ ตัวเป็นเจ้าภาพ ต้องกลั่นกรอง ลองประเมิน ทั้ง ต้นทุนความรู้พืช เกษตร ดิน  สภาวะความเปลี่ยนแปลงของภูมิโลก เสนออย่างไร ให้เมืองโคราชมีภาพจำใหม่ และความเข้าใจทั้งไทยและสากลที่พาไปถึงจุดเริ่มต้น ของการกำเนิดแผ่นดินอันเก่าแก่ และการวิวัฒ พัฒนา การดำรงอยู่ ของชาวโคราชมาแต่อดีต ต้องสื่อสารปัญหา ‘ดินเค็ม’ ให้เป็นปัญญา ให้ได้ว่า โคราชผ่านกาลเวลามาจากแผ่นดินที่เคยเป็นท้องทะเล จนมาถึงวันนี้ได้ เพราะเรามี ภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้วยการยกย่อง เกษตรกรคนท้องถิ่น ให้เป็น ผู้สร้างโลก

กลับมาเล่าเรื่องเมืองโคราชบ้านเกิดตัวเอง กับการทำงานแบบระยะยาว ที่เตรียมออกแบบไว้ให้ VDO Presentation นี้ คืองานที่ผมได้สานสร้างเนื้อหา และกำกับการผลิตที่ได้ทำไว้กับ TCEB ใช้นำเสนอบนเวที Korat Expo เพื่อโชว์เมืองโคราชในแบบที่ไม่เคยเห็น https://youtu.be/5Ga3SSVYdpU?si=jWhz7RqV5AAjDQzJ

ฟุตเทจ และภาพที่ใช้ถ่ายขึ้นใหม่และนำเสนอในมุมที่ฝรั่งมองโคราช ในมุมสากลและเราเล่าในสิ่งที่เราจะสามารถนำไปจับมือร่วมกับเขาได้ platform การพัฒนา ที่เชื่อมกันอย่างเห็นเป็นจริง รวมไปถึง บุคคล องค์กรต่างประเทศ ที่เราจะต้องดำเนินการกับเขาในระยะยาว กล่าวคือ เป็นวิดีโอที่จะกำหนด Road Map การทำงานซึ่งได้นำเสนอเป็นสักขีพยานไว้ในเวทีโลก และเห็นชอบในการยึดถือปฏิบัติ การจัดงานในระดับสากล เป็นเรื่องที่ต้องยืนหยัดจัดการอย่างเคร่งครัด และไม่รัดเร่ง ในช่วงใกล้วันงาน เราทำวันนี้ไม่ใช่เพื่อวันพรุ่งนี้ แต่เพื่ออนาคตของโลก ‘ พืช  สวน  โลก’

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

  • จุดที่ 2 วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2567  ช่างศิลป์ดินด่านเกวียน’ ณ พิพิธภัณฑ์ดินดำ และ พิพิธภัณฑ์เกวียน ชุมชนด่านเกวียน[15] คาราวานช่างศิลป์แผ่นดินโคราช ร่วมเล่าประวัติศาสตร์ในบรรยากาศสุนทรียเสวนากับ ชาวดิน ศิลปิน ช่างปั้น ร่วมกัน ผสานสร้างสรรค์ ศิลปะร่วมสมัย ดนตรี - ลำนำเพลง - กวี ลีลา - กลองโคราชประสานซออีสาน เป็นผลงานใหม่, ช่างปั้นค้นพบลูกปัดพันปี, ครูช้าง ปั้นกุหลาบกำซาบใจในกลิ่นน้ำปรุงจรุงจิตที่ครูปราบ นักดาบสำนักวายุกรมอบให้ และ IKTHAI กับการนำเสนอนวัตกรรม ‘งานปั้นรักษ์โลก’เตรียมความพร้อมสู่ Expo Korat 2072 ด้วยการพัฒนาดินใหม่กับผลงานปั้นร่วมสมัยในแนวทาง Green Future ช่างศิลป์ทุกแขนงเตรียมจัดแสดงผลงานที่ “มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น” วันที่ 14 กันยายน 2567
  • จุดที่ 3 วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2567  ปักหมุดจุดหมายใหม่ “หอศิลป์ แมกไม้ Art Gallery”[16] พื้นที่รวบรวมงานศิลป์ส่วนตัวของจิตรกร ประติมากร นิรันดร​ ดาวจันทึก ที่ต้อนรับส่วนรวมเป็นพื้นที่เปิดสำหรับคนรักศิลปะทัศนศิลป์ทุกแขนง ด้วยความยินดีและมีความสุขที่ได้ให้เกียรตินำชมผลงานศิลปะล้ำค่าที่ได้มาจากทั่วโลก ล้วนมีประวัติศาสตร์ที่น่าร่วมจดจำรำลึก

วันพุธที่ 28 สิงหาคม 2567 ค้นคว้าโบราณคดี ศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อต่อยอด และปักหมุดจุดหมายขยายแหล่งศิลปะ

  • จุดที่ 1 “ศิลป์ ดิน ปั้น” กับการสร้างสรรค์จากต้นทุนประวัติศาสตร์สู่การสร้างผลงานศิลปะการแสดงใน “มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น” 14 กันยายน 2567 ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมแนวทางการศึกษา ค้นคว้าข้อมูลจากคัมภีร์โบราณ โดยผู้อำนวยการ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.9 นครราชสีมา การศึกษาครั้งนี้เพื่อการพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ โดยใช้ศิลปะเข้าถึงองค์ความรู้ล้ำค่าของแผ่นดิน เป็นที่น่ายินดีว่าทีมงานได้ค้นพบเอกสารสำคัญอันจะนำไปสู่การต่อยอดงานถ่ายทอดประวัติศาสตร์ศิลป์ในครั้งนี้และต่อไปในอนาคต
  • จุดที่ 2  “ศิลป์ ดิน ปั้น” ปักหมุดจุดหมายใหม่ขยายแหล่งศิลปะ ณ อำเภอโนนไทย โคราช[17] ส่งเสริมเอกลักษณ์ประจำถิ่น  จากวัตถุดิบสินแผ่นดิน แปรรูปสร้างผลงานศิลปะด้วยดินคุณภาพสู่ภาชนะใหม่ใส่ขนมตาล เสน่ห์หวานเร้นของโคราชเมืองศิลปะ ร่วมสร้างสรรค์ วิถีการกิน ถิ่นโนนไทย กลิ่นหอมของขนมตาลกับการกินอย่างมีรสนิยม ผสมผสานงานปั้นดินโคราช  เตรียมพบกับ ‘โอชาดิน กินอย่างโคราช จากโนนไทย’ ใน “มหกรรมศิลป์ดินปั้น” ภูมิใจนำเสนอผลงาน ครูช้าง ผู้ค้นพบแหล่งดินคุณภาพ สู่งานปั้นมิติใหม่ ใน Corazema Fiesta 14 กันยายน 2567 ณ เรือนโคราช

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

  • จุดที่ 3 “ศิลป์ ดิน ปั้น” ปักหมุดจุดหมาย ‘โรงปั้นจงเจริญการช่าง’[18] (หอศิลป์ส่วนตัวของ อ.กิตติชัย ตรีรัตน์วิชชา) อีกหนึ่ง หอศิลป์เอกชน  ที่เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่สำคัญต่อองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ซึ่งควรอยู่ใน Road Map การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของประเทศไทย คุณเกียร์ ให้เกียรตินำชมพื้นที่สร้างงาน สร้างสรรค์ เก็บสะสม และรอการเป็นพื้นที่บ่มเพาะผู้ต่อยอดต่อไป ในพื้นที่ซึ่งถูกเตรียมการไว้สร้างผลผลิตงานที่เป็นตัวของตัวเอง ทุกคนที่ได้เยือนต่างชื่นชมในความเชื่อมั่น สร้างสรรค์ ปั้นผลงาน ปั้นความหมายในการคิดและ ‘ใช้ชีวิตแบบศิลปิน’


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

เปิด “มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น” (Corazema Fiesta)

กิจกรรมครั้งที่ 5 ของ “โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น” คือการเปิดงาน “มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น” นำร่องด้วยบทสรุปงานเตรียมการเพื่อก้าวต่อไป โดยมีการเปิดแผนที่ “โคราชเมืองศิลปะ” (CORAZEMA FIESTA) ภายใต้ “โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะ” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวันเสาร์ที่ 14 กันยายน 2567 ณ เรือนโคราช เฉลิมวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา

กำหนดการพิธีเปิด “มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น” CORAZEMA FIESTA

12.30 น.

  • ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
  • เชิญชมผลิตภัณฑ์ศิลปะในบรรยากาศ ‘KORAT ART MARKET’              

13.30 น.

  • พิธีกรกล่าวต้อนรับ
  • นายนิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง นำเสนอ โมเดล พัฒนา โคราชเมืองศิลปะ ปั้นศิลปะให้แผ่นดินโคราช  จาก “โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น” พร้อมแนะนำ ศิลปิน ชุมชน และ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ
  • กระบวนการออกแบบสร้างสรรค์ ‘KORAT STORY’ ผ่าน งานแสดง LIVE ART
  • ZEMA’ เชิญชมการแสดง Performance ART ผลงานศิลปะจากเครือข่ายศิลปินร่วมสมัยโคราช              
  • นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวเปิดงาน พิธีเปิด ปักหมุดจุดหมายขยาย เส้นทางสร้างโคราชเมืองศิลปะ  โดย  APP CORAZEMA FIESTA
  • ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนส่วนราชการ คณะกรรมการการพัฒนาศักยภาพเมืองแห่งศิลปะ และศิลปิน ถ่ายภาพร่วมกัน
  • ผู้บริหารร่วมชมตลาด KORAT ART MARKET นำเสนอผลผลิตศิลปะที่ได้จาก “โครงการ พัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะ” และเครือข่ายศิลปิน นักสร้างสรรค์ศิลปะที่เข้าร่วม
  • กิจกรรม Work shop การจับคู่ธุรกิจศิลปะ และการเปิดรับจอง Art Product
  • เปิดเส้นทาง ART TRAVEL MART ด้วย APP CORAZEMA  เปิดจองเข้าชมกิจกรรมพื้นที่ศิลปะ โคราชเมืองศิลปะ

16.00 น.

  • ปิดพิธีการ

 


photo : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

 

 

ปักหมุดจุดหมาย : Corazema Fiesta

เมื่อออกเดินทาง ‘ปั้นศิลป์ให้แผ่นดินโคราช’ ทีมงานทุกคนต่างค้นพบว่า โคราช เป็นเมืองศิลปะโดยเนื้อแท้ สร้างขึ้นจากชุมชน จากคนที่มีพลังสร้างสรรค์ และรอวันนำมาเล่าขาน “โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น” คือการเปิด สัญญาณการรับรู้ การเข้าใจ การกำหนดหมาย ฯลฯ (perception) ของการสร้างนิยามว่า “ศิลปะ ไม่มีคนรุ่นเก่าใหม่ ไม่มีการแบ่งเมือง ท้องถิ่น ไม่มีการกำหนดอัตลักษณ์ สร้างภาพลักษณ์ แต่ เป็นการพินิจ ถึงเนื้อแท้ของศิลปินที่อยู่กับสิ่งที่รักและปรารถนา สื่อสาร ส่งสาร และเล่าขานงานศิลป์ ออกมาอย่างภาคภูมิ” โคราช กว้างจนผู้คนทั่วไปอาจมองไม่เห็นว่า มีศิลปะอยู่แล้วอย่างหลากหลายในทุก ๆ เมือง ของนครราชสีมา ดินแดนแห่งศิลปะนานาแขนง ขอเชิญทุกท่านร่วมกันออกแบบผังเมือง เล่าเรื่อง ‘โคราชเมืองศิลปะ’ พร้อมเปิดลงทะเบียนปักหมุดจุดหมายกระจายพื้นที่แหล่งศิลปะ สร้างสรรค์ ร่วมกันปั้น ‘เมืองศิลปะ’ ผ่าน Application : Corazema Fiesta

  • เพราะศิลปะในเมืองโคราชมีหลากหลาย
  • เพราะศิลปินมีมากมาย
  • เพราะการเข้าถึงศิลปะ คือ ไม่ใช่ไปนำศิลปะออกจากพื้นที่ มาจัดแสดง แต่เป็นการไปให้ถึงพื้นที่แสดงงาน เพื่อสัมผัสกับวิถีศิลปิน
  • เพราะศิลปะสามารถปั้นขึ้นจากคนในทุกท้องถิ่น ไม่ว่าจะในเมืองหรือพื้นที่ห่างไกล โคราชจึงจะสามารถถูกเรียกขานได้ว่า เป็น ‘เมืองศิลปะ’

“ศิลป์ ดิน ปั้น”  ปั้นศิลป์ บนแผ่นดิน โคราช โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะ จังหวัดนครราชสีมา” สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ติดตามความเคลื่อนไหวและรายละเอียดของ ‘ศิลปะหลอมรวม’ ได้ในพื้นที่เปิดสำหรับทุกคนบน Application : Corazema Fiesta เพราะทุกสิ่งเป็นต้นทาง เพราะทุกอย่างคือศิลปะ

 


photo : โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น (Corazema Fiesta)

 

“โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะ” จังหวัดนครราชสีมา สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

 


[1] Social Enterprise , www.sethailand.org , สืบค้น 17 กรกฎาคม 2567    https://www.sethailand.org/resource/what-is-social-enterprise-se/

[2] ทีเส็บเดินหน้าขับเคลื่อนงานเทศกาลไทยสู่เวทีโลก ,  สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) , สืบค้น 25 กรกฎาคม 2567 https://www.businesseventsthailand.com/th/press-media/news-press-release/detail/1591-tceb-propels-thai-festivals-onto-global-stage

[3] TIEFA.Thailand ,www.facebook.com , สืบค้น 27 กรกฎาคม 2567 https://www.facebook.com/TIEFA.Thailand/?locale=th_TH

[4] ‘เปอรานากัน’, พุมรี อรรถรัฐเสถียร , สืบค้น 28 กรกฎาคม 2567 file:///C:/Users/%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A3%20%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%8D%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5/Downloads/psujssh,+Journal+manager,+-2013-1763%20(1).pdf

[5] การก่อตั้งซอลท์เลคซิตี้ รัฐยูทาห์ 26-29 มีนาคม 2025,  nceca.net, สืบค้น 20 สิงหาคม 2567    https://nceca.net/

[6] เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี , facebook.com/TNSUT , สืบค้น สืบค้น 28 กรกฎาคม 2567 https://www.facebook.com/TNSUT/posts/pfbid036ofoTNpEu5k7mW1Y75GmZMaPbyAZD9Djbwx79RRqXSwLRVRMNHrtYaqYHrt2uCtnl?locale=th_TH

[7] โคราชเมืองเป็นกลางทางคาร์บอน ประจำปี 2567, ftikorat.or.th, สืบค้น 28 กรกฎาคม 2567 https://www.ftikorat.or.th/news-th/news01/

[8] ฟอสซิล , www.geog.arts.su.ac.th, สืบค้น 28 กรกฎาคม 2567  http://www.geog.arts.su.ac.th/geo_dept/web/stone/stone.php?id=2

[9] บ้านพระยากำธรพายัพทิศ , กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา , สืบค้น 5 สิงหาคม 2567 https://www.facebook.com/korat.in.the.past/posts/%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%A8-%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2/4867062446695815/

[10]  ‘กระบวนการนำทักษะศิลปะไปสื่อการเรียนรู้ด้านธรณีวิทยา อารยธรรม บรรพชีวิน และ Geopark , นักข่าวพลเมือง , สืบค้น 20 สิงหาคม 2567   https://www.youtube.com/watch?v=MLcIsnNTYOM&t=10s

[11] ยูเนสโกรับรอง “โคราชจีโอพาร์ค” เป็นอุทยานธรณีโลก , thaipbs.or.th , สืบค้น 5 สิงหาคม 2567 https://www.thaipbs.or.th/news/content/327959

[12] ยูเนสโกรับรอง ‘โคราชจีโอพาร์ค’, mgronline.com, สืบค้น 5 สิงหาคม 2567 https://mgronline.com/local/detail/9660000046216

[13] 7 สิ่งน่าทึ่ง “อุทยานธรณีโลกโคราช” , mgronline.com , สืบค้น 5 สิงหาคม 2567 https://mgronline.com/travel/detail/9660000048329

[14]แนวคิด พิชิต​ “มหกรรมพืชสวนโลก นครราชสีมา 2572” KORAT EXPO 2029 , นักข่าวพลเมือง Citizen Journalist , สืบค้น 27 สิงหาคม 2567  https://www.youtube.com/watch?v=LjxafQcG610&t=229s

[15] สุนทรียเสวนา​ ณ​ พิพิธภัณฑ์ดินดำ​ โคราช​ , นักข่าวพลเมือง Citizen Journalist, สืบค้น 29 สิงหาคม 2567 https://youtu.be/c94B8PgW9GY?si=TBvmeSr7LctsvKa1ค้น

[16]  หอศิลป์แมกไม้ Art Gallery, สืบค้น 28 สิงหาคม 2567 https://www.youtube.com/watch?v=1BnAYWSi8uo&t=18s

[17] อำเภอโนนไทย โคราช, นักข่าวพลเมือง Citizen Journalist, สืบค้น 28 สิงหาคม 2567   https://www.youtube.com/watch?v=1rvEv7K6LfA

[18]  “โรงปั้นจงเจริญการช่าง” (หอศิลป์ อ. เกียร์ กิตติชัย ตรีรัตน์วิชชา), นักข่าวพลเมือง Citizen Journalist, สืบค้น 28 สิงหาคม 2567 https://www.youtube.com/watch?v=fpJvn60KruI