Focus
- จากวิทยานิพนธ์และหนังสืออันลือลั่นของ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เรื่อง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ :วิวัฒนาการรัฐไทย อันเป็นการอธิบายพัฒนาการรัฐไทยผ่านการเปลี่ยนแปลงของทุนนิยมโลกที่ทำให้เห็นว่ารัฐไทยก้าวเข้าสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อย่างไร สู่ละครเวทีเรียกเสียงหัวเราะและความสนุกสนานพร้อมทั้งวิชาการหนักแน่น บทความนี้ทำให้เห็นถึงการเดินทางของหนังสือเล่มนี้จากร่างวิทยานิพนธ์จนถึงเวทีละคร

เมื่ออาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ผู้สอนภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้ไปศึกษาด้านประวัติศาสตร์การเมือง ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ (SOAS - School of Oriental and African Studies, University of London) ใช้เวลาเกินกว่า 2 ทศวรรษ จึงมีผลงานจากการศึกษา วิจัยเพื่อทำวิทยานิพนธ์ “The Rise and Decline of Thai Absolutism” เป็นเสมือนตำราวิชาประวัติศาสตร์การเมือง ที่ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิชาการระดับโลก London: Routledge Curzon, 2006 เนื้อหาว่าด้วยการเมืองและการปกครองของไทยในปี 2325-2488 ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในหนังสือที่วางรากฐานสำคัญในการศึกษาและวิพากษ์เรื่อง ‘วิวัฒนาการรัฐไทย’ ที่นักศึกษาวิชารัฐศาสตร์ควรต้องอ่าน และต่อมา รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้วางกรอบคิดแนวทางในการศึกษา ‘วิวัฒนาการรัฐและการเมืองไทย ผ่านอิทธิพลภายนอก’ ก่อนแปลเป็นภาษาไทยใน ‘ฉบับย่อยยาก’ เล่ม “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย” โดย ดร.อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู และจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ก่อนได้รับการถ่ายทอดเป็น ‘ฉบับย่อยง่าย’ ฉายผ่านละครเวทีที่ดูสบายตามไตล์ Playformance Lecture เรื่อง “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่ฉันรู้จัก “MY ABSOLUTE” MONARCHY ที่ท้าทายทั้ง ‘ผู้สร้าง’ และ ‘ผู้เสพ’ ว่าใครจะ ‘เทพ’ กว่ากัน สร้างสรรค์โดย MEERKAT

photo : สำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน
“ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย”
เป็น 1 ใน 8 เล่ม ของ หนังสือชุด “สยามพากษ์” ชุดอ่านนอกขนบ พบในสิ่งที่ไม่คุ้นเคยของ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เป็นหนังสือที่ทางสำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน เห็นว่ามีความสำคัญในการศึกษาทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองไทยในยุคสมัยนั้น ๆ ขณะเดียวกันจุดร่วมของหนังสือชุดนี้คือการท้าทาย/หักล้าง งานศึกษาก่อนหน้านั้นด้วยข้อมูลและ/หรือกรอบทฤษฎี
“แน่นอนว่าไม่มีงานวิชาการชิ้นไหนที่ปราศจาก ‘จุดอ่อน’ ให้วิพากษ์หักล้าง ไม่เว้นแม้แต่งานที่เราได้คัดสรรมาจัดพิมพ์ แต่เราเชื่อว่าหนังสือชุด “สยามพากษ์” นี้เป็นงานที่ ต้องอ่าน ไม่ว่าจะเห็นพ้องต้องกันด้วยหรือไม่ก็ตาม” ฟ้าเดียวกัน
หนังสือชุดสยามพากษ์ มีทั้งหมด 8 เล่ม สิ่งที่โดดเด่นนอกจากเนื้อหาของหนังสือชุดนี้คือปกหนังสือที่ออกแบบโดย ประชา สุวีรานนท์ (เช่นเดียวกับชุดอื่น ๆ ของฟ้าเดียวกัน เช่นชุด กษัตริย์ศึกษา) โดยโจทย์สำหรับหนังสือชุดนี้ คือความแข็งแรง เรียบง่าย และสะท้อนเนื้อหาของหนังสือให้มากที่สุด ประชาเลือกตัวพิมพ์ ‘ดีบี โป้งแซ’ ซึ่งเป็นการสำเนามาจากโป้งแซ ตัวพิมพ์ในทศวรรษ 2470 เป็นตัวพิมพ์ที่ปรากฏเป็นพาดหัวในประกาศคณะราษฎรด้วย
ลำดับที่ 1 ตีพิมพ์ในปี 2553 คือ หนังสือ
“การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475” โดย นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
สั่งซื้อ https://sameskybooks.net/index.php/product/9786169023852/
- ปี 2555 สยามพากษ์ ลำดับที่ 2
“ปากไก่และใบเรือ” : รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
สั่งซื้อ https://sameskybooks.net/index.php/product/9786167667140/
- ปี 2556 สยามพากษ์ ลำดับที่ 3
“และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ” : การเมืองวัฒนธรรม ของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ” โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ
สั่งซื้อ https://sameskybooks.net/index.php/product/9786167667256/
- ปี 2562 สยามพากษ์ ลำดับที่ 4
“ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย” โดย รศ.ดร.กุลดา เกษบุญชู มี้ด แปลโดย ดร.อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู ฉบับแปลภาษาไทยมีเนื้อหามากกว่าเล่มภาษาอังกฤษ นอกจาก ‘ภาคผนวก’ แล้ว ยังเพิ่ม ‘นามานุกรม’ อธิบายประวัติของบุคคลสำคัญในเล่ม ที่จัดทำขึ้นสำหรับฉบับแปลภาษาไทย นามานุกรมมีทั้งหมด 56 รายชื่อ รวม 19 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 หนา 446 หน้า ปกแข็ง 540.00 บาท ปกอ่อน 450.00 บาท
สั่งซื้อ https://sameskybooks.net/index.php/product/9786167667782/
- ปี 2563 สยามพากษ์ ลำดับที่ 5
“ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500 โดย ณัฐพล ใจจริง
สั่งซื้อ https://sameskybooks.net/index.php/product/9786167667881/
- ปี 2564 สยามพากษ์ ลำดับที่ 6
“กว่าจะครองอำนาจนำ” : การคลี่คลายขยายตัวของเครือข่ายในหลวงภายใต้ปฏิสัมพันธ์ชนชั้นนำไทย ทศวรรษ 2490-2530” โดย อาสา คำภา
สั่งซื้อ https://sameskybooks.net/index.php/product/9786167667966/
- ปี 2565 สยามพากษ์ ลำดับที่ 7
“ทุนนิยมเจ้า” : ชนชั้น ความมั่งคั่ง และสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย โดย ปวงชน อุนจะนำ
สั่งซื้อ https://sameskybooks.net/index.php/product/9786169399445/
- ปี 2566 สยามพากษ์ ลำดับที่ 8
“เนื้อในระบอบถนอม” : ความสืบเนื่องและเสื่อมถอยของเผด็จการทหาร พ.ศ. 2506–2516 โดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
สั่งซื้อ https://sameskybooks.net/index.php/product/9786169430322/
- ปี 2566 สยามพากษ์ ลำดับที่ 9
หนังสือชุด “สยามพากษ์” สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่
สั่งซื้อ https://sameskybooks.net/index.php/collection/col-2/
*******************************

photo : สำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน
หนังสือ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย”
โดย รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด
แปลจาก “The Rise and Decline of Thai Absolutism”
โดย ดร.อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู
บางส่วนของการแสดงความคิดเห็น โดย เกษียร เตชะพีระ ใน มติชน[1]
เป็นสองทศวรรษที่ใช้ไปอย่างคุ้มค่า เพราะผลงานสุดท้ายที่ได้มา อาจารย์กุลลดาสามารถสอดผสานรวมเอาลักษณะเด่นต่าง ๆ ที่ไม่ค่อยพบในปกหนังสือเล่มเดียวกันมาไว้ด้วยกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ กล่าวคือ
- มันเป็นงานที่ทะเยอทะยานทางทฤษฎีแบบ ‘ไทยศึกษาสกุลฝรั่ง’ ด้วยการวิพากษ์ท้าทายทฤษฎี “สงครามสร้างรัฐ” ของ Charles Tilly นักสังคมวิทยาอเมริกันและนำเสนอทฤษฎี “เศรษฐกิจโลกสร้างรัฐ” อันครอบคลุมกว่าของ อ.กุลลดาเองขึ้นแทน ไม่เฉพาะสำหรับประยุกต์ใช้ในขอบเขตประเทศสยามหรือภูมิภาคเท่านั้น แต่ในระดับสากลเลยทีเดียว
- แต่กระนั้นงานชิ้นนี้ก็แน่นขนัดด้วยข้อมูลในลักษณะคลุกฝุ่นจากแฟ้มเอกสารเก่าของหอจดหมายเหตุแบบ ‘ไทยศึกษาสกุลญี่ปุ่น’ เพียงแค่เปิดดูรายการเอกสารอ้างอิงท้ายบทแต่ละบทดูก็จะเห็นได้
- มันเป็นงานที่ใช้แรงมากในการสังเคราะห์ข้อมูลและเรียบเรียงจัดลำดับเชื่อมโยงให้เป็นระบบ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์การเมืองยุคกรุงศรีอยุธยาไล่เรียงมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ คู่ขนานไปกับความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจโลกต่าง ๆ เศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจสยาม พร้อมกับความเกี่ยวพันส่งผลต่อกันและกัน
- มันวาดให้เห็นทั้งภาพใหญ่ของเศรษฐกิจมหภาค ลงไปถึงภาพย่อยของการถกเถียงโต้แย้งต่อสู้ด้านแนวนโยบายเศรษฐกิจและกลไกอำนาจระบบราชการ รวมทั้งรายละเอียดรูปธรรมอันน่าทึ่งในพฤติกรรมความเป็นมนุษย์ของตัวละครทางการเมืองที่มีทั้งร่วมมือกัน ซื่อตรงต่อกัน หวาดระแวงกัน ขัดแย้งกัน แตกแยกกัน คิดคดทรยศต่อกัน วางเล่ห์เพทุบายใส่กัน ฉ้อโกงกัน น้อยเนื้อต่ำใจต่อกัน ผูกใจเจ็บแค้นกัน ฯลฯ
- และยังบรรยายวิเคราะห์ วิจารณ์ ในเชิงประวัติศาสตร์สังคม-วัฒนธรรมและอุดมการณ์ รวมทั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ละเอียด อ่อนไหว แยบคาย แหลมคม

photo : THE MEERKAT
“ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย”
แนะนำโดย สินสวัสดิ์ ยอดบางเตย ศิลปินนักเคลื่อนไหว
หนังสือเล่มนี้แปลจาก “The Rise and Decline of Thai Absolutism” ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. ๒๐๐๔ โดยสำนักพิมพ์ Routledge Curzon ซึ่งปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผู้เขียนที่ SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน งานชิ้นนี้ศึกษาประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านของรัฐไทยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์ช่วงศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นศตวรรษที่ ๒๐ ผู้เขียนอาศัยทฤษฎีของ โบรเดล (Fernand Braudel) วอลเลอร์สไตน์ (Immanuel Wallerstein) และคนอื่น ๆ ที่โยงบทบาทของระบบทุนนิยมโลกกับการสร้างรัฐสมัยใหม่ และพัฒนาการของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาใช้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐไทย จากรัฐศักดินามาเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และได้ให้คำอธิบายที่แตกต่างไปจากงานศึกษาอื่น
นอกจากนี้ยังได้พยายามแสดงให้เห็นว่า ในกระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยนั้นได้มีการหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ที่จะทำลายระบอบในตัวมันเองลง โดยเฉพาะการสร้างระบบราชการสมัยใหม่อันเป็นกลไกที่ทรงประสิทธิภาพในการทำงานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากแต่กลับกลายเป็นกลไกที่กลืนกินตนเอง สิ่งนี้สะท้อนความไม่พอใจภายในระบบราชการที่ก่อตัวและปะทุขึ้นจนนำมาสู่ กบฎ ร.ศ. ๑๓๐ เราสามารถอาศัยงานชิ้นนี้เป็นฐานคิดในการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสมัยต่อมา และการกลับมามีอำนาจของขบวนการอนุรักษ์นิยมในปัจจุบัน
ที่สำคัญการค้นคว้าหลักฐานเอกสารชั้นต้นมากมายของผู้เขียนเพื่อตอบคำถามดังกล่าวทำให้หนังสือเล่มนี้มีพลังในคำอธิบาย หนักแน่นด้วยข้อมูลรองรับ และปลุกให้เรื่องราวในประวัติศาสตร์สองแผ่นดิน (รัชกาลที่ ๕ และ ๖) ที่นอนรอในหอจดหมายเหตุมีชีวิตชีวาขึ้นมา

“ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย”
จากงานวิจัยปริญญาเอก โดย รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด
จักรพล ผลละออ[2] นักอ่าน แกนนำ “กลุ่มลูกชาวบ้าน” ให้ความเห็น[3]
หนังสือลำดับที่ 4 ในชุดสยามพากษ์ เล่มนี้นำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์การก่อตัวของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่ง อ.กุลลดา ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เห็นว่าเหตุการณ์ กบฏ ร.ศ.130 นั้นคือหมุดหมายสำคัญในฐานะจุดเริ่มต้นความล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในไทย
รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย ถือกำเนิดขึ้นจากทั้งปัจจัยภายนอก - การเชื่อมรับสยามหรือไทยเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลก, การคุกคามของมหาอำนาจและจักรวรรดินิยม - และปัจจัยภายใน - ความท้าทายและความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์ กับ ขุนนางเสนาบดี ในระบอบศักดินา
ปัจจัยทั้งสองส่วนนี้เร่งเร้าให้รัชกาลที่ 5 ต้องพยายามปฏิรูปประเทศและรวมศูนย์อำนาจเพื่อสร้างความ "ศิวิไลซ์" ให้แก่สยาม ซึ่งผลของการปฏิรูปประเทศนี้เองได้ก่อให้เกิดการสร้าง "ระบบราชการสมัยใหม่" ขึ้นมาเป็นครั้งแรก
ในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 กษัตริย์ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายจากบรรดาขุนนางเสนาบดีที่ทรงอำนาจมาก อย่างเช่น ตระกูลบุนนาค นั่นทำให้รัชกาลที่ 5 สร้างเครือข่ายพันธมิตรของตัวเองขึ้นซึ่งถูกเรียกว่า "สยามหนุ่ม" ที่จะเป็นครือข่ายและหัวเรี่ยวหัวแรงในการต่อสู้ทางการเมืองและผลักดันการปฏิรูปประเทศ
อย่างไรก็ตามเมื่อขจัดอำนาจของบรรดา "สยามเก่า" และตระกูลขุนนางทั้งหลาย ไปจนถึงเมื่อสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้แล้วนั้น รัชกาลที่ 5 ก็พบว่าทุกอย่างไม่ได้สิ้นสุดลงอย่างราบเรียบ เพราะระบบราชการที่ได้สร้างขึ้นมานั้น รวมถึงบรรดาสยามหนุ่มเองได้เติบโตและมุ่งมั่นแก่การปฏิรูปประเทศให้ก้าวหน้าจนอาจจะ "ไกลเกินกว่าธง" ที่รัชกาลที่ 5 ตั้งใจไว้แต่แรก
ร่องรอยความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์และบรรดาข้าราชการในกระทรวง ที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น ในกรณีความขัดแย้งกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ที่เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม, หรือกรณี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ที่เคยเขียนจดหมายเสนอให้มีการปรับปรุงระบบการเมืองไปสู่ระบบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตามชนวนเหตุความไม่พอใจทั้งหลายดูจะยังไม่มีขยายตัวมากนักในรัชกาลที่ 5 หากทว่ามันกลับขยายตัวมากขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 6 ด้วยความที่กษัตริย์มีข้อขัดแย้งกับบรรดาพระยูรญาติและพระราชวงศ์ในควบคุมระบบราชการ รวมถึงอดีตที่มีความขัดแย้งกับบรรดาทหารและกองทัพ
กล่าวคือ สมัยรัชกาลที่ 6 ยังเป็นพระบรมโอรสาธิราช คุมกองทหารมหาดเล็กหลวง สมัยรัชกาลที่ 5 ทหารในสังกัดมหาดเล็กหลวง มีเรื่องวิวาทกับทหารในกองทัพเนื่องจากแย่งกันจีบผู้หญิง ผลคือพระบรมโอรสาธิราช (รัชกาลที่ 6) ยืนกรานให้ลงโทษทหารในกองทัพที่มาวิวาทกับทหารมหาดเล็ก โดยร้องขอให้โบยและเฆี่ยนทหารเหล่านั้น แม้ว่ารัชกาลที่ 5 จะยกเลิกโทษดังกล่าวไปแล้ว แต่ลงท้ายที่สุดบรรดาทหารในกองทัพก็ต้องโดนลงโทษเพราะพระบรมโอรสาธิราช (รัชกาลที่ 6) ขู่ว่าหากรัชกาลที่ 5 ไม่ลงโทษตามความต้องการ จะลาออกจากตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราช
นอกจากนี้การที่รัชกาลที่ 6 ปลีกวิเวกออกจากระบบราชการและกองทัพ โดยมาสร้างหน่วยงานใหม่คือ "กองเสือป่า" ขึ้นแทน ยิ่งเป็นการสร้างความไม่พอใจให้แก่บรรดาข้าราชการทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบรรดา "กระฎุมพีข้าราชการ" เกิดการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและกษัตริย์มากขึ้น และแม้ว่ารัชกาลที่ 6 จะพยายามนำแนวคิดเรื่องชาตินิยมและขบวนการเสือป่ามาใช้เพื่อสร้างความนิยม แต่ก็พบว่าประสบความล้มเหลว หรือไม่ได้ผลมากเท่าที่ควร
เหตุผลสำคัญหนึ่งก็คือ การสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาในสยาม นำพามาซึ่งระบบราชการสมัยใหม่ และค่านิยมแบบใหม่ คือค่านิยมที่สนับสนุนคนที่มีความสามารถ การศึกษาสมัยใหม่ และหน้าที่การงาน รวมถึงความเจริญก้าวหน้าในชีวิต หากทว่าชนชั้นนำไทยกลับพยายามป้องกันและควบคุมระบบราชการอย่างมาก สามัญชนทั้งหลายอาจได้รับการศึกษาเล่าเรียนและจบมาทำงานเป็นข้าราชการได้ หากแต่การเลื่อนขั้นนั้นยังคงพิจารณาที่ชาติกำเนิดมากกว่าความสามารถ กลายเป็นสภาวะย้อนแย้งที่ทำให้ข้าราชการจำนวนมากรู้สึกถึงความอยุติธรรม และเห็นว่าระบบราชการไทยใช้เรื่องเส้นสายอุปถัมภ์มากกว่าพิจารณาความสามารถของบุคคลอย่างแท้จริง
ลงท้ายที่สุดแล้วความขัดแย้งที่บ่มเพาะมาก็กลายเป็นชนวนเหตุของ กบฏ ร.ศ.130 ที่แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จในการก่อการ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ ที่ "คณะราษฎร" จะสานต่อให้สำเร็จในอีก 20 ปีต่อมา
โดยส่วนตัว เนื้อหาในช่วงแรกที่ อ.กุลลดา บรรยายถึงการต่อสู้ขับเคี่ยวระหว่างรัชกาลที่ 5 และบรรดาขุนนางเสนาบดีทั้งหลายนั้น สนุกและอ่านเพลินมาก ๆ ครับ หลายเรื่องเป็นเรื่องที่เราอาจจะไม่ได้ฉุกคิดหรือเคยรู้กันมาก่อน หรือในช่วงกบฏ ร.ศ. 130 ความเคลื่อนไหวของ ‘เจ้านาย’ ชั้นผู้ใหญ่ หรือบุคคลแวดล้อมหตุการณ์ก็น่าสนใจ อย่างเช่น ข้าราชการหลายคนที่ล่วงรู้แผนของกลุ่มกบฏ แล้วไม่ได้เข้าร่วม แต่ก็ไม่ได้นำเรื่องนี้ไปแจ้งแก่รัฐบาล เพราะลึก ๆ ก็แอบเห็นด้วยกับความคิดของกลุ่มกบฏ เป็นต้น

photo : Pratarn Teeratada
กว่าจะมาเป็นหนังสือ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย”[4]
รศ.ดร.กุลลดา ได้ให้สัมภาษณ์กับ มติชนสุดสัปดาห์ ถึงที่มาของการทำงานวิจัย วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกฉบับที่ใช้เวลาเกินกว่าสองทศวรรษ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย” ก่อนถูกนำมาสร้างเป็นละครเวที “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่ฉันรู้จัก “MY ABSOLUTE” MONARCHY ในแนว (Playformance Lecture)
ยุคนั้น โดยเฉพาะการศึกษาเรื่อง Thai Absolutism? คือ…พอต้องทำปริญญาเอกก็ต้องทำวิจัยเรื่องไทย ตอนแรกความสนใจมันอยู่ที่หนังสือของ อาจารย์อคิน รพีพัฒน์ ที่พูดถึงการจัดองค์กรทางสังคมในยุคต้นรัตนโกสินทร์ เราก็เลยถามคำถามว่า อ้าว..แล้วตรงนี้มันยังมีสิ่งนี้อยู่หรือเปล่า ไอ้ที่เรียกว่า patronage system หรือ patron-client relationship แล้วเราก็เป็นเด็กต่างจังหวัด ดูเรื่องพฤติกรรมทางสังคมของคน ก็พบว่า patron-client relationship มันยังมีบทบาทสำคัญในสังคมไทยในแบบที่เรารับรู้
ในขณะที่ตอนนั้นดีเบตสำคัญก็คือหลัง 14 ตุลาคม 2516 เกิดตื่นตัวในการรับรู้ทฤษฎี MARXISM ที่จะมาอธิบายสังคมไทย เราก็เป็นคนเดียวที่บอกว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาพูดเท่าไหร่ในประสบการณ์ส่วนตัวของเรา ก็เลยเป็นดีเบตกับนักวิชาการหัวก้าวหน้าสมัยนั้น
วรวิทย์ - อาจารย์ให้คำอธิบายที่แตกต่างไปจากงานศึกษาตอนนั้นด้วย?
จากงานที่ค่อนข้าง popular สมัยนั้น ก็อยากจะรู้ว่าไอ้ patronage system ในสังคมไทยปัจจุบันเป็นไง พอถึงเวลามันก็มีทางเลือกว่า ถ้าจะศึกษาสังคมสมัยใหม่ มันก็ต้องเลือกไปสัมภาษณ์คน ไปอะไร ซึ่งเราก็ไม่ค่อยถนัด กับเลือกที่จะทำวิจัยในงานเอกสารประวัติศาสตร์ ครูก็ถามมาคำนึงว่าอยากจะพูดกับคนเป็นหรือคนตาย (หัวเราะ) เราก็ว่า “คนตายดีกว่า” (เลือกทำวิจัยจากงานเอกสารประวัติศาสตร์แทน)
ตอนนั้นยุค 80 ก็มีการรื้อฟื้นลัทธิชาตินิยมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมันก็สะท้อนความขัดแย้งในสังคมไทยช่วงทศวรรษ 70 ระหว่างฝ่ายที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ กับฝ่ายที่จะรักษาโครงสร้างเดิมไว้ เราก็คิดว่าโอเค งั้นก็ไปศึกษากำเนิดซึ่งใคร ๆ ก็รู้กันว่า ‘ลัทธิชาตินิยม’ สร้างมาในรัชกาลที่ 6 เราก็ลงไปศึกษาอ่านเอกสารของรัชกาลที่ 6 ทั้งหมด ศึกษาเรื่องความคิดของท่าน เรื่อง movement ที่ท่านสร้างขึ้นมาเพื่อซัพพอร์ตลัทธิชาตินิยม ก็คือ ‘เสือป่า’ ศึกษาทั้งหมดแล้วได้ข้อสรุปว่า ท่านกำลังสู้กับอะไรที่สำคัญมาก ที่มันเกิดขึ้นก่อนหน้ารัชสมัยท่าน ก็แปลว่าต้องไปทำความเข้า ร.5...
ทุกคนก็บอกว่า มันเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วนี่.. รัชกาลที่ 5 นำการเปลี่ยนแปลง แล้วรัชกาลที่ 6 ก็สร้างลัทธิชาตินิยม คนศึกษาประวัติศาสตร์ ร.5 ถี่ถ้วนหมดแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรอีกแล้ว โดยเฉพาะมีงานนักวิชาการคนนึงที่ Cornell University ชื่อ David K. Wyatt ก็ทำให้เกิดความเข้าใจรัชสมัยท่านลึกซึ้งมากขึ้น เราก็เลยบอกว่า “ขอลอง” ตอนนั้นทำวิจัยชุดหนึ่งเรื่อง ร.6 หมดแล้ว ต้องกลับเมืองไทยมานั่งอ่านเอกสาร ร.5 พออ่านเสร็จมันไม่พอ ต้องไปอ่านเอกสาร ร.4 มันก็ไม่พออีก ต้องไปอ่าน ร.3 เพื่อจะให้เข้าใจว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมันคืออะไรกันแน่
แล้วก็เลยได้ข้อสรุป (ซึ่งกว่าจะได้ข้อสรุปนี้ก็นานพอสมควร) ว่าจะต้องเข้าใจระบบทุนนิยมโลก ว่ามันมากระทบเรายังไง และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงยังไง นั่นก็คือจุดเริ่มต้นคำอธิบาย ‘การเปลี่ยนแปลงรัฐฟิวดัล’ (feudalism) มาสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์”
เพราะฉะนั้น definition ของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของเรา มันไม่ใช่รัฐโบราณ แต่มันเป็นรัฐสมัยใหม่ ที่อาศัยกลไกระบบราชการสมัยใหม่เป็นพื้นฐานการสร้างอำนาจ...
วรวิทย์ - เป็นบทสรุปที่สร้างรากฐานการศึกษาใหม่เรื่องรัฐไทยยุคนั้นด้วย?
“มันจำเป็นต้องสร้างคำอธิบาย แล้วคำอธิบายของเรามันก็ไม่มันก็ต่างไปจากคนอื่น ก็คือในทางทฤษฎีมันมีนักวิชาการบอกว่า “สงครามสร้างรัฐ” เราพบว่าไม่ใช่สงคราม แต่เป็น “ระบบทุนนิยมสร้างรัฐ” ก็โต้เถียงกันในทางทฤษฎี ใครจะเถียงยังไงก็ว่ากันไป ให้ไปคิดกันเอง”...
วรวิทย์ - วิธีการรวบรวมข้อมูลในยุคสมัยนั้นที่อาจารย์ศึกษา มันยากยังไง ใช้เวลานานแค่ไหนครับ
มันเกิดจากคนที่ challenge คือเราก็บอกว่าเท่าที่ศึกษาข้อมูลทางไทย เราก็เห็นว่าสนธิสัญญาเบาว์ริง มีความสำคัญ แต่เสร็จแล้วก็ถูก challenge โดยนักวิชาการต่างชาติว่าแล้วสำคัญยังไง ก็บอกเราก็ไม่รู้ เพราะว่าประวัติศาสตร์ยุคสมัยศตวรรษที่ 19 เท่าที่คำอธิบายมีมาในทฤษฎี คือมันเกิดระบบทุนนิยมโลกโดยการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ว่าเราไม่สามารถเชื่อมโยงการปฏิวัติอุตสาหกรรมกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยและสนธิสัญญาเบาว์ริงได้ ก็รอไว้ก่อนรอคำอธิบาย
จนกระทั่งวันนึงก็ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งในร้านหนังสือที่ Oxford ตอนเราไปอังกฤษ มันตกลงมา เราเห็นคิดว่าหนังสือเล่มนี้รูปสวยจังเลย หยิบมาอ่าน มันเป็น volume1 ของการศึกษาทุนนิยมในตะวันตก เราดูรูปก็เกิดสนใจขึ้นมา
ค้นพบว่า คำอธิบายของของหนังสือเล่มนี้ก็คือทุนนิยมที่เกิดมาก่อน ทุนนิยมอุตสาหกรรม ก็คือ ทุนนิยมการค้า และทุนนิยมการค้ามีบทบาทที่ไปทำให้เกิด วิวัฒนาการระบบการปกครองในที่ต่าง ๆ ทุนนิยมการค้าอาจจะมีศูนย์กลางหลายศูนย์ ไปดูที่จีนมันก็มีทุนนิยมจีน ไปดูที่ตะวันออกกลางก็มี แต่ว่าสิ่งที่เขาให้ความสนใจก็คือทุนนิยมในโลกตะวันตก ซึ่งเขาบอกว่ามันเริ่มต้นจากการที่ตะวันตกไปค้าเครื่องเทศกับบริเวณที่ห่างไกล เอาสินค้าที่มีมูลค่า ให้กำไรสูง เอามาปล่อยให้ผู้บริโภคในโลกตะวันตก เราก็ปิ๊งขึ้นมาเลยว่าแล้วมันเกิดอะไรขึ้น?
ในหนังสือเล่มนี้เขาก็เล่าว่ามันจะมีศูนย์กลางของการค้าแบบที่เริ่มต้นที่เวนิส แล้วก็ย้ายมาสู่ยุโรปตะวันตกที่เบลเยี่ยม ฮอลแลนด์ แล้วในที่สุด อังกฤษก็เป็นผู้ dominate กับการค้าระยะทางไกล มันก็มาสวมเข้ากับสนธิสัญญาเบาว์ริง เพราะฉะนั้นทุนนิยมที่เข้ามาในเมืองไทย มันไม่ใช่ทุนนิยมอุตสาหกรรมแต่เป็นทุนนิยมการค้า สร้างคำอธิบายว่าเราอ่านหนังสือเล่มนี้ไปเกิดความคิดมากมายว่า ทุนนิยมมันพัฒนาไปยังไง แล้วเกือบจะถึงปัจจุบัน เขาอธิบายยังไง
วรวิทย์ - ในยุคสมัยที่อาจารย์ศึกษา ยังไม่เคยมีใครเอากรอบคิดนี้มาศึกษา?
ไม่มี
วรวิทย์ - ผลจากการศึกษางานชิ้นนี้ เป็นฐานคิดในการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย กระทั่งอธิบายการกลับมาของอำนาจของขบวนการอนุรักษ์นิยมในปัจจุบันได้ด้วย?
มันเป็นการต่อสู้… (หัวเราะ) เราเห็นขบวนการต่อสู้ระหว่าง 2 พลังในปัจจุบัน

photo : Arpakorn Kongpermpool
ละครเวที “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่ฉันรู้จัก : My Absolute Monarchy เปิดมิติใหม่ให้ละครไทยได้สร้างสรรค์การแสดงในเนื้อหาเชิงวิชาการสายประวัติศาสตร์การเมืองสืบเนื่อง Play for MARX มาจาก ‘หนังสือย่อยยาก’ ฟากรัฐศาสตร์ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย” หนังสือประกอบการเรียนการสอนนิสิต คณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เจ้าสำนัก “กุลลเดี้ยน” นับเป็นหนังสือที่เบิกโลกโขกกะลาแต่ต้องวนกลับมาอ่านแล้วอ่านอีก ถูกนำมาฉีกให้เป็นละครผสม lecture เซอร์สุดหยุดโลกแบบบรรยายพิเศษผ่านการแสดง โดยแฝงเอาตำราเล่มเท่าตึกมาย่อยอย่างตกผลึกให้สนุกนึกในเนื้อหา ประเทืองปัญญาเปิดตาสว่าง ไม่ใช่อย่าง “An Imperial Sake Cup and I” ในแนว Lecture Performance ของ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แต่เป็น Playformance Lecture ที่สนานสนุกทุกก้าวขยับไปกับตัวละคร on stage
เริ่มต้นจากเนื้อหาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นสงครามนโปเลียนในภาคพื้นยุโรปที่ส่งผลกระทบให้เกิดสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง (Bowring treaty) ไปจนถึงความไม่พอใจกับระบบราชการไทยในสมัย รัชกาลที่ 6 และเบื้องหลังการทำงานมากมายหลายมิติของผู้เขียน รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ทั้งในหน้าที่แม่ลูกอ่อนซ้อนซ้อนนักวิชาการได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็น ‘ฉบับย่อยง่าย’ ฉายผ่านละครเวที comedy ที่ตัวละครบุคลิกเหมือนการ์ตูน น่ารักแม้ตัวผู้ร้าย ก็ช่วยอธิบายขยาย ‘คนแตกต่างหลากหลายทางความคิด’ ให้รู้สึกใกล้ชิดเสมือนเป็นผู้คนรอบข้างในสังคม
นำแสดงโดย
- ทิพย์ตะวัน อุชัย (เตย) แสดงเป็น อาจารย์กุลลดา
- วรินทร ญารุจนนทน์ (บลูม) แสดงเป็น อาจารย์ดิเรก
- สวนีย์ อุทุมมา (เอี้ยง) แสดงเป็น อาจารย์ชญาณี
- เสฎฐวุฒิ จันทร์เพ็ญสุข (คังโป้ย) แสดงเป็น ปุ๊
จัดทั้งหมด 5 รอบการแสดง ราคาบัตรใบละ 890 บาท
วันที่ 28 - 30 มีนาคม 2025 หอประชุมศรีบูรพา ม. ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
เป็นการแสดงที่นำประวัติชีวิตและผลงานของ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด นักวิชาการผู้ศึกษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยอย่างลึกซึ้ง มาถ่ายทอดในรูปแบบที่ทั้งย่อยง่าย แหลมคม และมีอารมณ์ขันขื่น หยิกให้เจ็บลึกแสบนาน ละครเปิดประม่านด้วยประเด็นหนัก ๆ เช่น รัฐไทยคืออะไร, อำนาจในประวัติศาสตร์ไทยถูกสร้างและรักษาไว้อย่างไร แต่นำเราไปอย่างแยบยล ทั้งกลการเล่าเรื่อง เฟื่องลีลานักแสดงที่แฝงความทรงภูมิ
หนึ่งในสาระสำคัญคือการพูดถึงเนื้อหาของหนังสือ 'ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย' ที่กลายเป็นแก่นในการตั้งคำถามต่อโครงสร้างอำนาจของรัฐไทย พร้อมทั้งฉายภาพให้เห็นว่า แนวคิดของอาจารย์กุลลดาไม่ใช่แค่ 'ทฤษฎี' แต่เกี่ยวพันกับชีวิต ความคิด และความกล้าหาญของ ‘ปัญญาชนคนหนึ่ง’ ในสังคมที่ขีดเส้นไม่ให้ตั้งคำถามต่อ 'สิ่งศักดิ์สิทธิ์' ที่ลิขิตชะตาชีวิตของประเทศ
.png)
Playformance Lecture : Act 1
เป็นการแสดงที่ผู้ชมรู้สึกสนุกเหมือนฟัง Lecture สลับกับดูตลกโชว์ไปพร้อมกัน ด้วยเทคนิคการนำเสนอเนื้อหาย้อนยุคในรูปแบบร่วมสมัย เพลงแร็พ ภาพบนจอ มุกแพรวพราวของนักแสดงสาดเสน่ห์ใส่ให้สีสันขำขันตลอดเรื่อง
ปุ๊ - ตัวแทนนิสิตผู้ช่วยอาจารย์กุลลดามาในมาดเด็ก nerd เกิดมาเพื่อสงสัยไคร่รู้ ทำหน้าที่นักศึกษาตั้งคำถามแทนผู้ชม
“สรุปว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คืออะไรกันแน่ครับ”
อาจารย์กุลลดา ทำหน้าที่เป็นครูผู้ประสิทธิ์ประสาทองค์ความรู้สู่มวลชน บนบทสนทนายาว ๆ ที่ถูกย่อยมาให้ ‘อร่อย’ ร่วมกัน
“คำว่า ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช’ หรือ ‘รัฐสมบูรณาญาสิทธิราช’ คนมักเข้าใจว่าเป็นระบอบที่ให้อำนาจกับกษัตริย์สูงสุดใช่ไหม? แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ ตัวมันเองมีวิวัฒนาการมาจาก ‘รัฐศักดินา’ ซึ่งอำนาจในการจัดการและจัดสรรทรัพยากรกระจัดกระจายไปอยู่ในมือของขุนนาง”
ปุ๊ - แล้วรัฐศักดินาในยุคต้นรัตนโกสินทร์ถูกเปลี่ยนให้เป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ยังไงครับอาจารย์
ในปลายรัชกาลที่ 6 มีความต้องการจากตะวันตกที่จะเข้ามาเขียนสนธิสัญญากับเรา พอรัชกาลที่ 4 มันก็มีตัวเร่งอันนึงที่มาทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไปไกลมากขึ้นคือ สนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring treaty)
อาจารย์ชญาณี - ตัวแทนสลิมผู้ห้าวหาญ คัดค้านความคิด ผู้เป็นมิตรร่วมชาติ
ใช่เหรอคะ สนธิสัญญาเบาว์ริง ก็เป็นแค่อะไรบางอย่างที่มากับลัทธิล่าอาณานิคมที่อยากจะเข้ามาฮุบดินแดน เพื่อจะไปเสริมสร้างอำนาจบารมีมันแค่นั้นล่ะค่ะ
อาจารย์กุลลดา - ดิฉันคิดว่าเราควรจะมาวิเคราะห์กันในเชิงปัจจัยโครงสร้างค่ะ
แบ่งเป็นปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก (act เหมือนกำลังอ่านคำแถลงการณ์)
ปัจจัยภายใน ผลประโยชน์ของขุนนาง อำนาจในการควบคุมภาษี การเปิดรับแนวคิดตะวันตกของรัชกาลที่ 4 อำนาจต่อรองระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง แนวความคิดการค้าเสรี การยกเลิกการผูกขาดสินค้า อนุญาตให้นำเข้าฝิ่น กิจการค้ากับจีนซบเซา แรงงานมหาศาลที่อพยพเข้าสู่สยามสูญเสียสถานะผู้ผลิตน้ำตาล
ปัจจัยภายนอก เริ่มที่นโปเลียน สงครามที่นโปเลียนเริ่มที่ยุโรป และการขยายตัวของจักรวรรดินิยมทำให้เกิดการขาดแคลนข้าวในตะวันตก ตะวันตกจึงอยากจะเข้ามาทำการค้าเสรีกับสยาม เลยใช้เศรษฐกิจมาช่วยผลักดันให้เราเปิดการค้าเสรีให้เอกชนเข้ามาค้าขาย เพราะตอนนั้นเราค้าขายกับจีนเท่านั้น ส่วนทางตะวันตกได้เปรียบมากกว่าตรงเขามีเรือกลไฟ สามารถบรรทุกสินค้าได้มากกว่าเรือสำเภา ต้นทุนต่ำกว่า เรากับพ่อค้าจีนก็เลยจับมือกันตั้งกำแพงภาษีให้สูง ๆ ในทางปฏิบัติเป็นการให้อำนาจผูกขาดกับเจ้าภาษีนายอากร ตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษเขาก็ไม่พอใจ แล้วก็เลยอยากจะเข้ามาเซ็นสัญญาการค้ากับเราด้วย เลยส่ง Sir James Brooke พร้อม ‘หลักการค้าเสรี’ มาเรียกร้องให้สยามลดภาษี แล้วเปิดการค้าข้าวกับเอกชน ให้เป็นเสรี
มีสินค้าอย่างหนึ่งที่อังกฤษผลิตในอินเดียแล้วอยากจะเอาเข้ามาขายในสยามให้ถูกกฎหมาย คือ ฝิ่น แต่รัชกาลที่ 3 ไม่อนุญาต แล้วก็คัดค้านด้วยเหตุผลทางศาสนา แต่ก็ยังมีการลักลอบเข้ามาค้าขายกันอย่างกว้างขวางอยู่ดี การคัดค้านสยามก็หวั่นว่าอังกฤษจะใช้กำลังเหมือนที่ทำกับจีนหรือเปล่า แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดอะไร
ปุ๊ - ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งเกิดห่างไกลหลายพันกิโลเมตรจะส่งผลกลับมาถึงประเทศที่ขอได้มาก ขนาดนี้นะครับ
อาจารย์ชญาณี - คำก็เศรษฐกิจ คำก็การเมือง นี่ไม่มีอะไรจะพูดถึงพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์เราเลยรึยังไงคะ (พอสิ้นเสียงนางผีเสื้อสมุทรคำราม ลูกน้อยของอาจารย์กุลลดาที่กระเตงมาทำงานก็แผดเสียงสนั่นคั่นจังหวะ กระจองอแงอย่างมีนัยให้ฉุกคิดถึงอนาคตลูกหลานกับบ้าน เมือง)
ปุ๊ - เรื่องนี้ที่จริงอังกฤษเขาต้องการอะไรแน่ครับอาจารย์
อาจารย์ดิเรก - สุดหล่อนักเรียนนอกน่ารัก น่าหมั่นไส้ น่าชวนไปเป็นดาราตลก ผมขอตอบข้อนี้ในฐานะนักเรียนเก่าอังกฤษนะครับ… (อวดอ้างประวัติการศึกษากับสถาบันอันทรงเกียรติยาวเป็นหางว่าว ก่อนตอบด้วยท่าทีน่าหมั่นไส้ให้ฮา) อังกษต้องการซื้อข้าวขายฝิ่นกับเรา ต้องการเอาข้าวไปทำอาหารสัตว์ครับ
ปุ๊ - แล้วสนธิสัญญาเบาว์ริงเปลี่ยนแปลงรัฐไทยได้ยังไงครับ
อาจารย์กุลลดา - มหาศาล … ด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจสยาม lock in เข้ากับเศรษฐกิจโลก เปลี่ยนจากเศรษฐกิจแบบยังชีพให้เข้าสู่เศรษฐกิจแบบการค้า เปลี่ยนการค้าผูกขาดให้เป็นการค้าเสรี ข้าวกลายเป็นสินค้าหลักของสยาม แรงงานและที่ดินทั้งหมดของสยามถูกจัดสรรเพื่อใช้ในการผลิตข้าวเพื่อการค้า ทำให้รายได้จากภาษีอากรในประเทศขยายตัว
ด้านการเมือง สนธิสัญญาเบาว์ริงทำให้พระมหากษัตริย์ต้องพึ่งพาขุนนางผู้ใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม ขุนนางสกุลบุนนาคได้กำกับดูแลภาษีอากรที่ให้ผตอบแทนสูงเป็นส่วนใหญ่ รวมกับภาษีฝิ่น ทำให้ผลประโยชน์ของพระคลังข้างที่และพระคลังหลวงลดลง
ด้านรูปแบบของรัฐ การปลดปล่อยแรงงานให้เป็นอิสระ การบริหารอำนาจรัฐตกอยู่ในมือขุนนางมากกว่าพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์สื่อสารกับประชาชนชั้นล่างมากขึ้นกว่าที่จะสื่อสารกับชนชั้นปกครอง ก็อะไรประมาณนี้แหละค่ะ
.jpg)
หลังจบการแสดงมีคิวพูดคุยกับ อาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ผู้เขียน “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย” โดยมี เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ดารารับเชิญในละครตอนพิเศษ เป็นพิธีกร เมื่อเปลี่ยนบรรยากาศมาเป็นการสนทนาแม้ในเรื่องหนักหน่วง แต่เป็นช่วงชื่นมื่นเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในละครตอนฟัง lecture เซอร์ไม่น้อยหน้า playformance สนุกสนานก่อนกลับบ้านอย่างมีความสุข
เนติวิทย์ - ขอขยายความจุดที่อาจารย์เน้นย้ำตรงคำว่า ‘ชาติ’ ในมุมมองของอาจารย์คืออะไรครับ
อ.กุลลดา - ชาติ แบ่งออกเป็น 2 ความคิด ความคิดแรกคือชาติที่ผูกพันจงรักภักดีกับสถาบันกษัตริย์ และ ชาติคือประชาชนที่เป็น community ของผู้คน
เนติวิทย์ - ชาติที่ว่านี่ก็คือ 2475 ที่ถือว่าเป็นจุดสำคัญ
อ.กุลลดา - เป็นจุดที่เริ่มต้นให้ความสำคัญของ ในความหมายที่ 2 ชาติ คือ ชน ที่ รวมตัวกัน
เนติวิทย์ - ตอนนี้เราเป็นชาติแบบไหนกันแน่ครับ
อ.กุลลดา - ก็ยังผสมกันอยู่
เนติวิทย์ - ก็คือ ต่อสู้ต่อไปนะครับ
ผู้ชมนักศึกษา ป.เอก - ชื่นชมทีมงานนะคะ เห็นภาพตัวอย่างแล้วอยากจะร้องไห้ อยากเห็นภาพตัวเองตอนทำ Thesis จบบ้าง ขอถามอาจารย์ว่าปัจจุบันระบอบทุนนิยมที่มันเข้มข้นมากขึ้นมันเก็บความคิดชาตินิยมในประเทศไทยมายังไงบ้าง เศรษฐกิจในปัจจุบันมันทำให้ความขัดแยังของราชการกับสถาบันกษัตริย์ความสัมพันธ์ระหว่างสองอย่างเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้างคะ
อ.กุลลดา - ต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในระบบ ‘E หยุดโลก’ มันเกิดการเคลื่อนไหวสำคัญคือว่า กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบทุนนิยมอันหนึ่ง ไปสู่ศูนย์กลางทุนนิยมอีกอันหนึ่ง ศูนย์กลางอันนั้นถ้าจะให้เดาก็ฝั่งตะวันออกก็คือประเทศจีนนะคะ ดิฉันไม่สามารถจะมองบทบาทของอีกบทบาทของจีนในอนาคตได้ เพราะไม่ได้ศึกษาเศรษฐศาสตร์เมืองจีน ขอฝากเอาไว้ว่า คนที่สนใจการเปลี่ยนแปลงในอนาคตก็คงต้องเข้าใจว่าทุนนิยมจีนจะมีหน้าตายังไง
ดิฉันได้ศึกษาทุนนิยมที่สหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลางหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนกระทั้งถึงยุควิกฤตเศรษฐกิจ ก็ขอฝากไว้เป็นภาระของรุ่นต่อไป ทุนจีนอาจหน้าตาเปลี่ยนไปจากตะวันตก เราต้องเข้าใจบทบาทผู้นำจีนที่จะแสดงต่อไป ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าบทบาทของสถาบันฯ ตอนนี้อยู่ตรงไหนไป…คิดเอาเอง (ได้ฮากันทั้ง hall)
ขบวนการชาตินิยมที่เกิดขึ้นในระดับที่เป็นมวลชนชั้นล่าง จะส่งผลอย่างไรต่อบทบาทของสถาบันฯ …ช่วยกันดูต่อไป
ผู้ชม - คำถามแรก การทำงานในส่วนวิชาการระดับปริญญาเอก เหตุการณ์ในละครที่มีตอนสู้รบตบตีกับอาจารย์ในภาควิชาเดียวกันมันเกิดขึ้นจริงมากน้อยแค่ไหน การทำหัวข้อที่มันแหลมคมเช่นนี้ต้องผ่านอะไรกดดัน มีสถาวะแบบนี้มากน้อยแค่ไหน / คำถามที่สอง เท่าที่ดูละครเหมือนว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เหมือนมันสร้างความขัดแย้งในตัวเอง ขอสอบถามความคิดเห็นอาจารย์ว่า ในระบอบมันนำไปสู่จุดจบของตัวเอง มันมีระเบิดเวลาในตัวเองเสมอหรือไม่ หรือมันมีปัจจัยอย่างอื่นในทางเศรษฐกิจที่ทำให้ของบางประเทศก็ยังดำรงอยู่ได้
อ.กุลลดา - ไม่ได้ไปสู้รบตบมือกับใครทั้งนั้น คือเราทำตามความคิดของเรา ใครไม่สนใจก็ ignore ไป ปล่อยให้เราทำคนเดียว ก็เป็นเส้นทางที่ค่อนข้างจะโดดเดี่ยว คนไม่สนใจความคิดของเรา ไม่คิดว่าสิ่งที่เราค้นพบมันมีความสำคัญยังไง แค่ไหน ก็เป็นความแตกต่างทางความคิดของแต่ละคน
ข้อสอง (ถอนหายใจ) เราก็เห็นแล้วว่าในกระบวนการสร้างอำนาจ มันก็สร้างอีกกระบวนการหนึ่งที่มันจะต่อต้านกระบวนการสร้างอำนาจตรงนั้น เราก็จะอยู่ในช่วงนี้ มันจะลงเอยอย่างไร มันจะมีจุดเงื่อนไขยังไงก็ต้องรอการทำงานของคนอิสระ จุดที่จะไปทริกเกอร์ในจุดเปลี่ยนแปลงนี่เราทำมันไม่ได้ แต่ว่าในประวัติศาสตร์ทั่วไปมันก็มีจุดในสังคมต่าง ๆ เราก็คงต้องรอให้มันเกิดขึ้นในสังคมไทยด้วย เพื่อที่จะให้ความขัดแย้งเรื่องนี้มันสามารถลงตัวไปได้ในอนาคต
ผู้ชม - หนูมาจากสายนิติศาสตร์นะคะ Thesis ของ อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เรื่องกษัตริย์กับ “พระราชอำนาจยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญ” อยากถามความเห็นที่อาจารย์มองว่า ชาติ=ประชาชน จริง ๆ แปลว่า อาจารย์เชื่อว่าประชาชนคือเจ้าของอำนาจอธิปไตยไหมคะ แล้วในความคิดของนิติ เจ้าของอำนาจอธิปไตยคือเจ้าของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญค่ะ ปัจจุบันมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นทั้งฉบับ หรือว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่อาจมีผลใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ได้ หักกษัตริย์ไม่ลง ประมาณนี้ค่ะ
อ.กุลลดา - (ถอนหายใจอย่างหนักหน่วงเรียกเสียงฮาก่อนตอบว่า) เราก็อยู่ในกระบวนการที่จะทำให้ประชาชนเป็นตัวกำหนดรูปแบบรัฐธรรมนูญในอนาคต มันยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบันนะคะ แต่ตอนนี้อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการรับรู้ถึงพลังอำนาจของพลังที่จะมาต่อสู้กันนะคะ
ผู้ชมสายนิติ - คุยกันไว้ว่าอาจจะได้เห็นเร็ว ๆ นี้ค่ะ เพราะว่าจะมีความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้วไม่ว่าฝั่งใด เราจะได้เห็นเลยว่าถ้ากษัตริย์ไม่ลงนามผลจะเป็นอย่างไร (ได้ฮือกันลั่น hall อีกครั้ง พร้อมเสียงปรบมือสนั่นก่อนจบงาน)
.jpg)
Exclusive Interview : เตชิต หร่มระฤก
เขียนบท กำกับการแสดง และอำนวยการสร้าง
สถาปนิก เตชิต หร่มระฤก อดีตนักศึกษานักกิจกรรมคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้เขียนบทการแสดงแนว Playformance Lecture “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่ฉันรู้จัก (“MY ABSOLUTE” MONARCHY) ร่วมกับ ธนพล เจนวัฒนวิทย์ เพื่อนสถาปนิกที่เรียนมาด้วยกัน ทำงานทีมเดียวกัน ปัจจุบันคือ THE MEERKAT โดยมีทีม ไบแพม เป็นที่ปรึกษา (กลุ่มนักละครหัวก้าวหน้าที่เข้มแข็งมีคุณภาพ BIPAM - International Platform ด้านศิลปะการแสดง ก่อตั้งโดยกลุ่มนักละคร Dramaturg รุ่นใหม่ เปี่ยมอุดมการณ์ด้านสังคม วัฒนธรรม, สนับสนุนความแตกต่างหลากหลาย, เสริมสร้างศักยภาพ ขยายเครือข่ายศิลปิน-คนทำงานในประเทศ, เป็นสื่อกลางสร้างเครือข่ายศิลปิน- โปรดิวเซอร์ ทั้งในประเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำทีมโดย ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ - ปูเป้ (Sasapin Siriwanij : Artistic Directer, performer, director and producer)
“เราเป็นกลุ่มคนที่ทำ graphics (รับออกแบบสื่อ สัญลักษณ์ ด้วยภาพวาด กราฟ แผนภูมิ ฯลฯ ) ชื่อ THE MEERKAT [5] เขียนเพจลงก็เขียนเล่น ๆ ไม่ได้อะไรมาก แต่เราสนใจการเมืองอยู่แล้ว ผมเป็นสถาปนิกรับเหมาก่อสร้างด้วย ผมเป็นช่างอยู่แล้วเรารู้ว่าเราชอบละคร อยากทำ ทุกคนในทีมก็อยากทำ ปกติผมเป็นคนอ่านหนังสือเยอะพอสมควร ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นพัฒนาการทั่วไปของรัฐทั่วโลกก็เกิดขึ้นมาแล้ว เพียงแต่ว่าประเทศไทยจะเกิดขึ้นช้ากว่าที่อื่น แต่ก็จบลงด้วยความรวดเร็วเช่นเดียวกัน เพียง 3 รัชกาลเท่านั้นในเวลาไม่ถึง 100 ปี ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 รวมแล้ว 70 กว่าปี (รัชกาลที่ 7 ใช้เวลา 9 ปี ถือว่าน้อย) ในมุมมองของคนทั่วไปเวลาพูดถึงเรื่องนี้จะรู้สึกเหมือนนานแต่จริงแล้วไม่เลย
ผมเป็นแฟนหนังสืออาจารย์กุลลดา รู้จักกับอาจารย์เพราะมีพี่ที่รู้จักแนะนำให้ เลยได้โอกาสเข้าไปคุยกับอาจารย์เมื่อประมาณสองปีกว่าแล้ว เราออกแบบงานสร้างเองทั้งหมด การเตรียมงานที่ใช้เวลานานเป็นเรื่องของบทมากกว่า อาจารย์ช่วยเรื่องบทกับความถูกต้องของเนื้อหา ก็แก้เยอะเพราะคำบางคำมันต้องเป็นคำพูดของท่าน เพราะต้องดูวิชาการ ด้านออกแบบบุคลิกตัวละครก็ไม่ได้ให้อาจารย์ตลกสักเท่าไหร่ ยังดูเป็นนักวิชาการมากที่สุด นอกนั้นก็เป็นบริบททั่วไปแทน ก็เลยออกมาเป็น 4 บุคลิกที่ต่างกันของนักแสดงนำ ‘ละครถาปัด’ ได้ชื่อว่าตลกโปกฮาอยู่แล้ว พอมาผสมกับวิชาการก็มีความสนุกสนานอีกแบบหนึ่ง เพราะหนังสือของอาจารย์อ่านยากจริง ๆ มีคนถามว่าหนังสือของอาจารย์มี ‘น้ำ’ เยอะไหม? ไม่เลยครับ มีแต่เนื้อล้วน ๆ ใครอ่านหนังสือของท่านถ้าไม่มีพื้นฐานมาก่อนจะอ่านไม่รู้เรื่องแน่นอน ไม่มีทางผมพูดได้เลย
ทำไมใคร ๆ เรียกอาจารย์ว่าเป็น ‘กุลลเดี้ยน’ เป็นคำเรียกนักศึกษาที่เป็นแฟนคลับของอาจารย์ เรียกว่าเป็นสาขาของ ‘กุลลเดี้ยน’ คือตามฝั่งนี้เลย มีวิธีคิดแบบ ‘กุลลเดี้ยน’ อาจารย์จะเป็นสายเศรษฐศาสตร์เอามุมมองทางเศรษฐกิจเข้ามาจับ ก็ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็กลัวก่อนเลย จะไม่กล้ามองมุมนี้ว่าพระองค์ตัดสินใจแบบนั้นเพราะอะไร เรื่องแบบนี้ผมว่าถ้าเป็นสังคมปัญญาชนเราไม่ต้องพูดอะไรกันมาก บางครั้งเราเป็น ‘สังคมอารมณ์’ ก็จะเหนื่อย ต้องยอมรับว่ามันมีอยู่จริง
.jpg)
ทุนสร้างเป็นของผมเองทั้งหมดครับ กว่าเราจะหานักแสดงได้ไม่ง่ายเลย เพราะบทค่อนข้างจะหนักหน่วงมาก เผชิญได้คนที่เก่งมากถือว่าเราโชคดี เพราะเรามีที่ปรึกษา (BIPAM) เขาทำละครกันอยู่แล้ว เป็นรุ่นน้องที่อักษร จุฬาฯ ถ้าไม่มีทีมนี้ละครก็เกิดไม่ได้ เราก็ส่งบทให้ก่อนเพื่อทำ casting การแสดงของเราเป็นแนว Playformance Lecture (รูปแบบการแสดงละครเวทีกึ่งงานการบรรยายพิเศษ เน้นการถ่ายทอดความรู้) ก่อนหน้านี้มี Performance Lecture (รูปแบบการแสดงกึ่งบรรยายพิเศษ) ที่อาจารย์ชาญวิทย์ทำ “An Imperial Sake Cup and I” (เรื่องราวระหว่างถ้วยสาเกจักรพรรดิ มุมมองประวัติศาสตร์ และชีวิตของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ) แต่จริง ๆ แล้วการแสดงแนวนี้มันมีต้นแบบมาจากรางวัลโนเบล คือเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะประกาศรางวัลโนเบล นักวิทยาศาสตร์ของสวีเดนจะมาเล่นละคร แทนที่จะอธิบายด้วยบทความทางวิชาการก็มาเล่นก่อนประกาศรางวัลในแต่ละปี ก็จะมีการเล่นเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นแนว Performance Lecture เขาเอานักวิทยาศาสตร์ตัวจริงมาเล่นเลย แต่นี่เรา ‘บิด’ นิดหนึ่งเพราะอาจารย์ไม่ได้เล่นเอง ตอนแรกก็จะเล่นเองนะแต่ผมบอกไม่ไหวหรอก จากที่ผมประสพมาเราเคยเทสต์แล้ว มันเป็นไปไม่ได้ครับ
แล้วเราก็มา audition อยู่หลายคนพอสมควร พอเลือกได้แล้วก็นัดมาเจอกัน อ่านบท ซ้อม ดูว่าจะพัฒนาคนแสดงให้เขาเข้ากับบทได้ยังไงก่อน คนนี้หล่อน่ารักนะเอายังไงอีกดี เลือกว่าอะไรเข้ากับเขาได้ยังไงอีกบ้าง (บทอาจารย์ดิเรก แสดงโดย วรินทร ญารุจนนทน์ - บลูม (เป็นคุณชายนักเรียนนอกจากอังกฤษ charisma มาเต็มแบบ A star is born)
อย่างคนที่เป็นอาจารย์กุลลดา (แสดงโดย ทิพย์ตะวัน อุชัย - เตย) ก็ให้เป็นตัวท่านเลย เพราะเป็นชื่อเป็นหนังสือของอาจารย์ที่เฉพาะเจาะจงอยู่แล้ว สังเกตว่า 70 เปอร์เซ็นต เป็นอาจารย์ที่ออกเกือบทุกฉาก คนอื่นก็ผสมผสานกันมา คุณปุ๊ (แสดงโดย เสฎฐวุฒิ จันทร์เพ็ญสุข - คังโป้ย) ก็เหมือนคนช่วยทำหนังสือให้อาจารย์ ที่ความจริงมีอยู่หลายคนแต่เรารวบเข้ามาให้เป็นตัวละครในคนคนเดียว หรืออย่าง อาจารย์ชญานี (แสดงโดย สวนีย์ อุทุมมา - เอี้ยง) เหมือนที่อาจารย์พูดบนเวทีคือมันไม่ได้มีคนมาว่าอะไรหรอก แต่มันคือภาพรวมตัวแทนของคนที่ต่อต้าน ละครจะสนุกต้องมีตัวร้ายเราก็ทำให้เป็นร้ายน่ารัก ส่วนอาจารย์ดิเรก (แสดงโดย วรินทร ญารุจนนทน์ - บลูม) แสดงให้เห็นว่าอาจารย์เขามีคนคอยให้การช่วยเหลือสนับสนุน healing ทางจิตใจ เป็นกำลังใจช่วยส่งเสริมให้คำแนะนำ (ไม่ได้เป็นเรื่องวิชาการ) เป็นภาพรวมของคนที่คอยช่วยเหลืออาจารย์ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง
สัญลักษณ์ที่แฝงไว้ก็พอสมควร อย่างซีนที่เป็นไฟช่วงที่รัชกาลที่ 5 รวบอำนาจ ต่างคนต่างแยกกันไปพอรวบอำนาจเสร็จเรียบร้อย พอรวมกันแล้วดึงเข้ามาเพื่อให้ไฟเป็นสีชมพู (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันอังคาร ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 สีประจำพระชนมวารคือ สีชมพู) สัญลักษณ์อีกอันคือ Jenga (กลัก กล่อง ทำด้วยไม้ 54 ชิ้น ที่เล่นโดยใช้ทักษะการต่อชั้นขึ้นรูปทรงหอคอย จบเกมเมื่อถูกทำให้ไม่สมดุลจนเสียศูนย์ทลายราบลงสภาพเดิม) ที่เป็นกิจกรรมการเล่นตัวต่อ ดึงเข้า ต่อออก มันเป็นตัวที่บอกว่าสร้างขึ้นและล้มลงด้วยตัวมันเอง ในมุมมองของอาจารย์คือสร้างขึ้นและถูกทำลายไปพร้อม ๆ กัน ไม่มีอะไรที่เหมาะเท่า Jenga อีกแล้ว ฉากแรก ๆ เราต่อเติมขึ้นไป พอฉากหลังก็ดึงออก สร้างขึ้นและทำลายลงไปพร้อม ๆ กัน เป็นสัญลักษณ์แทนได้ทุกเรื่อง พูดเรื่องหนึ่งก็วางลงไปหนึ่งชิ้น เมื่อขัดแย้งกันก็ถูกดึงออกไปทีละชิ้น แต่ละชิ้นมีส่วนที่ทำให้มันพังลง
การแช็ทกลุ่มเป็นเรื่องการต่อเนื่องของละครมากกว่าครับไม่ได้อะไรมากกว่านั้น เนื่องจากอาจารย์ใช้เวลาในการทำวิทยานิพนธ์นานมากมี timeline 25 ปี ในเรื่องมันจะ timeless ไม่ใช่ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง เพราะฉะนั้นมันผ่านตั้งแต่ pager จนถึงโทรศัพท์มือถือ เราจะเห็นว่าผ่านเครื่องมืออะไรเยอะแยะเต็มไปหมดตั้งแต่ แผ่นใส (เครื่องฉายเรียก Overhead Projector มีพลาสติคแผ่นใสไว้เขียนหรือวาดรูปแทนกระดาษกระดาน ) คอมพิวเตอร์ แบทเทิล ก็เป็นอุปกรณ์การสอนต่าง ๆ ทะเลาะกันในห้องเรียน รวมไปถึงการต่อสู้กันทางวิชาการในรูปแบบที่คนใดคนหนึ่งมองเห็น
ผมไม่อยากเปิดตัวเพราะผมทำอาชีพอื่นอยู่ เราอยากทำอะไรเพื่อให้มันมีประโยชน์ งานละครอยากทำให้เป็นระยะยาว เรื่องนี้ขาดทุนด้วยในความเป็นจริง เราอยากจะให้มีคนเห็นคุณค่าช่วยผลักดัน สำหรับผมเราอยู่ในช่วงที่นักวิชาการคือ Pop Star คือ ‘ดารา’ ออกสื่อเต็มไปหมด สื่อต่าง ๆ ก็ต้องการความเห็นจากนักวิชาการ มีหนังสือดี ๆ ออกมาเต็มไปหมด เพียงแต่เราแปลงเรื่องแบบนั้นมาเป็นความสนุกได้ไหม แล้วผมเชื่อว่าขบวนการต่อสู้บางอย่างในสังคมต้องใช้ความสนุกเข้าสู้ มันคือรูปแบบหนึ่งของการต่อสู้ เรื่องนี้คือเรื่องสำคัญคนไทยชอบ ไม่จำเป็นต้องปราศรัยอะไรยังไงเราทำแบบนี้เขาเชื่อ ไม่เชื่อเราก็ไปอ่านต่อสิก็แค่นั้น ขอให้เราเป็นจุดเริ่มต้น จุดกระตุ้น ให้เขารู้สึกว่า “อ๋อมันเป็นยังงี้เหรอ” แค่นี้เราก็รู้สึกว่าได้ประโยชน์แล้ว แต่ถ้าสามารถที่จะพัฒนาไปแบบที่มีสปอนเซอร์แล้วคุ้มทุนได้ก็คงจะดี มันคงจะยั่งยืน เราสามารถทำละครดี ๆ เรื่องนี้เรื่องนั้นออกมาได้อีกเต็มไปหมด
ผมเลือกเรื่องนี้เพราะมันยากที่สุดและเสี่ยงที่สุด สำหรับตัวผมนะถ้าเราทำเรื่องนี้ได้เรื่องอะไรก็ทำได้ ตอนเตรียมงานตอนทำก็ไม่มีใครมายุ่งวุ่นวายกับเรา เราไม่ได้กลัวประเด็นนี้เลย ผมเชื่อว่าต่อให้มีเราก็บริสุทธิ์ใจ หนังสืออาจารย์อยู่มา 30 ปี มันนานมากพอจะเป็นอะไรที่ไม่ใช่ศรัตรูแล้ว เป็นสิ่งที่คุณจะต้องเข้าใจมันด้วยมากกว่า มีอะไรไม่จริงก็พูดมาสิ ในเรื่องเราไม่ได้ว่าใครเลยนะ ถ้าดูตั้งแต่ต้นจนจบจะชื่นชมด้วยซ้ำ ผมอ่านหนังสืออาจารย์ตอนแรกก็รู้สึกมีคำถามว่านี่มันเป็นการ against (ต่อต้าน) กันหรือเปล่า แต่พอพิจารณาจริง ๆ มันไม่ใช่เลยนี่หว่า กลายเป็นการเชิดชูความสามารถของรัชกาลที่ 5 ในอีกรูปแบบหนึ่งด้วยซ้ำ ในอีกมุมมองหนึ่งก็มีข้อเสียอยู่ ซึ่งเราต้องยอมรับให้ได้ ทุกอย่างมันถูกพูดไปในฝั่งเดียวไง จนกลายเป็นว่าไม่ได้มองข้อเสียเลย เราไม่ได้พูดว่า ‘ข้อเสีย’ นั้นสุดท้ายแล้วมันดีหรือไม่ดีนะ เมื่อทำสิ่งดี ๆ ขึ้นมามันก็ต้องมีข้อเสียอยู่แล้ว แต่ว่าถ้าข้อดีมันเยอะกว่า มันพาให้เรามาถึงจุดนี้ นั่นคือสิ่งที่คุณต้องเข้าใจมันแค่นั้นเลยครับ คือการคลี่คลาย เหตุและผล ที่มาที่ไปของหลาย ๆ เรื่อง ผมว่ามันเป็นมุมมองที่ใช้มองทุกเรื่องได้ ซึ่งเราไม่มีทางรู้ว่าเรื่องนี้ที่เราเข้าใจ มันจะตอบให้เราเข้าใจเรื่องอื่น ๆ อีกหรือเปล่า
.jpg)
“สมบูรณาญาสิทธิราช” ชื่อนี้หาสปอนเซอร์ยากมากครับ ผมไม่สามารถใช้ชื่ออื่นได้จริง ๆ เพราะมันคือชื่อหนังสือของอาจารย์ เราก็ไม่หลอกตัวเองนะ นี่เราก็ไม่ได้มีใครสนับสนุนเลยครับ ผมเองก็อยากเปิดการแสดงที่อื่นด้วย ยิ่งถ้าคนที่เรียนรัฐศาสตร์แล้วได้ดูจะ perfect เลย ใครมีทางไหนที่ได้อยากให้เราไปจัดแสดงก็ยินดีนะครับ อยากให้ได้ดูกันให้ครบ ขอมาหลายที่แต่ก็ต้องบอกกันตรง ๆ ว่ามันมีต้นทุนมีค่าใช้จ่ายพอสมควร เรื่องนี้เป็นละครที่ Educate ผู้คน ละครเวทีมีข้อจำกัดที่ไม่เหมือนสื่ออื่น สมมุติเราทำหนังมันก็อาจจะไปได้อีกแบบหนึ่ง ละครเวทีก็เป็นอีกแบบ อารมณ์ร่วมก็อีกแบบ เราเป็นคนรุ่นกลาง ๆ นะไม่ได้ใหม่มาก แต่ก็ไม่ได้เก่าอยู่กลาง ๆ ที่เราจัดด้านนี้เลือกละครเวทีเพราะเราเชื่อว่าอีก 10 ปี มันก็ยังไม่ถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยี ยังจะเป็น Human Touch อยู่
อีกอย่างผมเชื่อว่าครั้งนี้เรามีเวลาน้อยเกินไป ในเชิงพื้นที่เราก็หาหลาย ๆ แห่ง แต่ว่าก็มีธรรมศาสตร์ที่ให้ใช้ ที่อื่นพอบอกชื่อเรื่องก็จะกลัว สถานที่จัดงานแรกเลยเราได้คิวเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2567) เป็นเดือนที่เหมาะกับการที่คนจะมาดู มี season ของมันอยู่ เพราะว่าไม่มีวันหยุดไปต่างจังหวัดมาก ครั้งแรกที่เราจองพื้นที่ก็มีปัญหาถูก cancel พอพัฒนางานมาเราก็ดูว่าช่วงไหนจะเหมาะกับละครเวที รอบที่ 2 นักแสดงขอถอนตัวเพราะมันยากเขาไม่พร้อมก็เข้าใจ ครั้งที่ 3 ถึงได้คิวตอนต้นปี 2568 รู้ตอนมกราก็ confirm นะ เวลาเราน้อยเอาไงดี เลยออกมาเป็นแบบนี้ ถ้ามีเวลาโปรโมทอีกสักเดือนหนึ่งนะผมว่าน่าจะดีกว่านี้
ทำละครถาปัดสมัยนั้นกับตอนนี้ต่างกันเยอะมาก ละครนิสิตน่ะมันก็อีกแบบหนึ่ง เอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาผสมปนเปขำ ๆ กันไปได้โดยที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก เรื่องนี้เป็นอะไรที่เราต้องคงเนื้อหาให้มันยังพอมีอยู่ ไม่ใช่ตลกสนุกกันจนไม่ได้อะไรเลย แล้วต้องคำนึงถึงบทพูดของอาจารย์ด้วย บางบทพูดเราก็อยากจะเกลี่ยไปที่ตัวละครตัวอื่นบ้าง แต่ว่าอาจารย์เป็นนางเอกก็จะต้องเป็นคนพูดเอง ต้องบอกขึ้นมา เรากับคนดูก็จะรู้สึกว่าพออาจารย์เปิดตอนสุดท้ายทุกคนรู้สึกได้ว่า ฮู๊…อาจารย์เจ็บมา เหล่านั้นคือความรู้สึกที่เราอยากให้เป็น มันก็คือความยากของเรื่องนี้ แต่ความแตกต่างก็คือว่าเราได้ใช้นักแสดงมืออาชีพ ซึ่งนิสิตไม่น่าทำได้ เรื่องนี้ทั้ง 4 คนเป็นนักแสดงมืออาชีพทั้งหมดเลยนะครับ 3 คน คือรุ่นใหม่ของวงการละครเวที (ยกเว้น สวนีย์ อุทุมมา - เอี้ยงรุ่นเก๋า) เราออกแบบให้ตัวละคร ‘กลม’ แบบน่ารัก ๆ ตามสไตล์ ‘ละครถาปัด’
เรามีอัดไว้เผื่อ Streaming (การรับส่งสัญญาณด้วย Multi Media ทั้งภาพและเสียงผ่านเครือข่ายระบบ Internet ด้วยการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ) เผยแพร่สาธารณะด้วยแต่ต้องดูจังหวะดี ๆ ต้องคุยกับอาจารย์กุลลดาด้วยว่ามองยังไง ตัดต่อแล้วออกมาเป็นแบบไหน ได้อรรถรสเหมือนที่ดูละครเวทีหรือเปล่า เพราะความเป็นละครเวทีกับการเอาไปตัด feeling มันไม่เหมือนกันนะ มันค่อนข้างที่จะไม่ง่ายเท่าไหร่ ต้องมีการวางแผนดูอย่างละเอียด ว่าจะทำยังไงให้ได้ feeling นั้นออกมาจริง ๆ คนแสดงจริงกับใน VDO ไม่เหมือนกัน
ก่อนหน้านี้มีละครเนื้อหาเชื่อมโยง เรื่อง “before 2475”[6] (2-11 สิหาคม 2567) กำกับการแสดงโดย เอมอัยย์ พลพิทักษ์ นำเสนอเรื่องคณะราษฎรในมุมใหม่ ๆ พาเรากลับไปสู่ ปี พ.ศ. 2468 ก่อนการเปลี่ยนแปลงจะมาถึงสยาม กลุ่มนักเรียนสยามวัยยี่สิบกว่า 7 คน เฝ้าฝันถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเปลี่ยนประเทศของพวกเขาไปตลอดกาล (ประยูร ภมรมนตรี/แปลก ขีตตะสังคะ/ทัศนัย มิตรภักดี/ตั้ว ลพานุกรม/จรูญ สิงหเสนี และ แนบ พหลโยธิน ณ หอพัก ท้องถิ่น Rue du Sommerard กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส)
เรื่องนี้ก็ดีครับเป็นการแตกไลน์จักรวาล 2475 ไปในอีกมุมมองหนึ่ง บทเขียนได้ดีเป็นการตีความว่า ก่อนที่เขาจะทำเขาคิดอะไรยังไงกัน รูปแบบก็จะเป็นการตีความว่ามีการทะเลาะกันต่าง ๆ นานา มีบทที่เพิ่มเติมพอสมควร มีการขมวดปม เป็นรายละเอียดว่าใครจะทำอะไรมากกว่า น่าสนใจ นักแสดงเก่งมาก แต่เรื่อง “สมบูรณาญาสิทธิราชฯ” เป็นเรื่องของเหตุและผลที่เกิดขึ้นแล้ว ทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้น ผมว่ามันมีความแตกต่างเพราะเราสร้างเรื่องนี้จาก fact แต่ 2475 มีความคาดเดาว่าเขาจะพูดแบบนั้นแบบนี้ ฟอร์มละครอาจจะไม่เหมือนกัน ก็สนุกต่างกันในประเด็นความคิดที่ต่อเนื่อง ของเรามันชัดตรงที่ว่ามี ‘แกน’ อยู่เลยว่าคือหนังสือ ไม่รู้ตรงไหนก็ไปเปิดอ่น แล้วเราก็เติมความสนุกลงไปแค่นั้น ผมว่า “before 2475” ยากกว่าอีกแบบหนึ่งนะ ยากที่จะทำให้มันออกมายังไงมากกว่า แต่ของเราเห็นภาพชัดว่าเอาหนังสือเล่มนี้มาทำให้สนุก นี่คือ core (แกน) ของมัน พอชัดตรงนี้ก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น ความยากจึงอยู่ที่ว่าทำยังไงไม่ให้ไป ‘บิด’ สิ่งที่อาจารย์เขียน ทำยังไงให้ความรู้นี่คือความยากของ“สมบูรณาญาสิทธิราชฯ” แค่นั้นเลย เรื่องตลกก็ไม่ใช่ประเด็น คนไทยชอบตลกเป็นหลัก
.png)
ในละครบทสุดท้ายนี่คือ delicate ให้อาจารย์ปรีดีเลยนะครับ ในเรื่องราวของละครทั้งหมดเราพยายามทำลายวาทกรรมที่ว่า “ชิงสุกก่อนห่าม” เพราะผมรู้สึกว่ามันไร้สาระเหลือเกินสำหรับผมเที่รู้ว่าความจริงคืออะไร สิ่งที่อาจารย์กุลลดาศึกษาก็เพื่อที่จะบอกว่า “ปัญหาไม่ได้เพิ่งมาเกิด มันเกิดมานานแล้ว เกิดมาพร้อม ๆ กับสิ่งที่มันสร้างมา” เพราะฉะนั้นในบทสุดท้ายที่ให้กับอาจารย์ปรีดี ผมตั้งใจเขียนเลยว่า
“ถ้าผมเกิดในรัชกาลที่ 5 ได้รับการศึกษาในรัชกาลที่ 6 และรับราชการในรัชกาลที่ 7 ก็คงจะรู้สึกถึงปัญหาเหล่านี้อยู่เหมือนกัน แล้วมันก็เลยทำให้ผมรู้สึกอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรในรูปแบบของประชาชนคนธรรมดาอีกเช่นกัน”
นั่นแหละคืออาจารย์ปรีดีล้วน ๆ ผมคิดว่าผมไม่จำเป็นต้องพูดอะไรมาก ผมได้ทำให้ละครเรื่องนี้มันอธิบายประเด็นนี้ชัดเจนอยู่แล้ว รูปที่ขึ้นบนจอมันคือรูปที่เปลี่ยนแปลงด้วย Architecture ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุค มีรูปที่ไปฝรั่งเศส คาเฟ่ที่อยู่ในรูปรองสุดท้ายก็คือคาเฟ่ที่เขาใช้คุยกันที่ฝรั่งเศส มีสัญญะแทรกอยู่เสมอ ละเอียดพอสมควร เงาสุดท้ายคือรูปของอาจารย์ปรีดี เพลงสุดท้ายเราเลือกเมโลดี้ของเพลงให้ความรู้สึกว่าเด็กน้อยคนหนึ่งที่เขาอะไรคิดมานาน จากคำพูดของอาจารย์ปรีดีที่บอกว่า “ชาติ=ประชาชน” พูดย้ำลงไปอีก ผมว่ามันพอดี ไม่ต้องพูดอะไรมาก มันคืออย่างนั้นเลย เพราะว่าสิ่งที่ท่านทำไม่ใช่การชิงสุกก่อนห่าม ไม่ใช่แน่นอน แล้วเราเข้าใจดีมากว่านั่นคือความ ‘กล้าหาญ’ ต่างหาก” เตชิต หร่มระฤก
.jpg)
เหตุผลที่ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ฯ” เหมาะสำหรับเป็นละครเพื่อการศึกษา
- เป็นละครที่ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศไทย ในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใน รัชกาลที่ 3 จากปี 2325 ถึง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยใน รัชกาลที่ 7 ปี 2488 แสดงถึงระบอบการปกครองของไทยที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์โลก และมีผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ในแต่ละช่วงเวลา
- มีเนื้อหาที่เหมาะกับงานการศึกษาเพื่อวิเคาระห์เชิงวิชาการ ในแนวทางรัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ จากประวัติศาสตร์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ในระบบของรัฐไทย เป็นแนวทางต่อการพัฒนาประเทศ ความความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
- มีรูปแบบและเนื้อหาที่เหมาะกับการชมเพื่อความบันเทิงเชิงสาระในทุกระดับของการรับรู้ ที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ง่าย สนุกไปกับมุกขี้เล่นเน้นสาระ การออกแบบงานสร้างสามารถสื่อสารเพื่อการตระหนักรู้ในวงกว้างได้อย่างดี เพราะมีความเป็นงาน Edutainment ที่ไม่จุดประเด็น เน้นสื่อสารความจริง (fact) อย่างมีอารมณขัน
- ‘น้ำเสียง’ของบท (voice) เฉลี่ยการนำเสนอ (presentation) อย่างเป็นกลาง ไม่สร้างความรู้สึกแบ่งฝ่าย ไม่ยุให้แตกแยก แต่จำแนกความหลากหลาย ให้เห็นรายะเอียดที่แตกต่างทางแนวคิด เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้พิจารณาข้อมูลความจริงอย่างเสรีตามหลักประชาธิปไตย
- เหมาะกับ ‘กระบวนงาน การวางรากฐานประชาธิปไตย’ ในหมู่มวลชน เอกชน ราชการ ฯลฯ ทุกระดับ เพื่อปรับทัศนคติให้เหมาะกับการรองรับความเคลื่อนไหวทุกมิติในระดับสากล บนความเข้าใจว่า เราอยู่ที่ไหน เรามาจากไหน และเรากำลังจะก้าวสู่อะไร
ปัจจุบันประเทศไทยตกอยู่ในเงาของ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ โดยไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ มีฐานรองหนุนคือ ‘ทุนนิยม(การค้า)’ อย่างเต็มรูปแบบ แนบอำนาจเหนือชีวิตเหมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์แทรกแซงอยู่ในทุกภาคส่วน ก่อกวนให้เกิด ‘วิกฤต’ ด้วยฤทธิ์เดชที่มองเห็นเป็นประจักษ์ แม้ ‘ประชาชน’ พยายามช่วยกันป้องปักษ์รักษา แต่ทว่า…เหมือนแผ่นดินถูกเคลื่อน เลื่อนออกเป็นรอยแยกยาวจนหาจุดบรรจบไม่เจอ รอเวลาเผลอเพราะทะเลาะกันเพลินจนเดินตกเหวทั้งคู่ … ได้เวลาแล้วที่ ‘ลัทธิอำนาจนิยม’ ซึ่งเคยกดข่มจิตวิญญาณควรอันตรธานไปจากแผ่นดินไทยเสียที สิ่งที่ช่วยได้ไม่ใช่อัศวิน (กินอุดมการณ์) ขี่ม้าขาว (แม้ก้าวอย่างเคารพในกติกาประชาธิปไตย แต่ไม่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยที่ได้มาโดยปวงชนชาวไทยอย่างที่ควรจะเป็น ตามที่ทุกคนรู้เห็นและเป็นอยู่) ในขณะที่เราต้องสู้กับโลกของทุนนิยมเสรีซึ่งกำลังมาถึงจุดที่ล่มสลายแล้ว…
หนึ่งในหลายกลไกซึ่งใช้ได้ผลดีมีอิทธิพลต่อการรับรู้และเปลี่ยนแปลงคือ ‘ศิลปะการแสดง’ ที่แฝงความรู้ความเข้าใจในบริบทของการเมืองการปกครอง เสมือนเครื่องมือต่อรองกับอำนาจ หากเราสามารถใช้อย่างถูกวิธี มีความจำเป็นต้องเคลือบสิ่งจรรโลงใจในนาม ‘ความบันเทิง’ ตามความชอบของคนส่วนใหญ่ จึงต้องใส่ ‘ความเป็น MASS’ มา พร้อมเนื้อหาที่หนักหน่วง เพื่อถ่วงสมดุล ซึ่งละคร “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ฯ” ทำได้ดีในระดับที่ยอมประณีประนอมกับฝ่ายความคิดตรงข้าม ด้วยมุก ‘ขำขัด’ เพื่อจัดบทอธิบายความหมายขยายความรู้ในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ตามคุณสมบัติที่เหมาะกับงาน ‘ละครเพื่อการศึกษา’ มีคุณค่าที่ให้ทั้งความรู้และความบันเทิง (Edutainment) ในทุกระดับ สมกับที่มีดีเอ็นเอของ ‘ละครถาปัด’ ที่จัดอยู่ในประเภท ‘ตลกปัญญาชน’ เพื่อผู้คนจะได้สำราญไปกับการเรียนรู้ เพื่อเราจะได้สู้กับความมืดบอดของสุดยอดมายาคติที่เป็นเหมือน ‘ปกติ’ มานาน ให้ผ่านออกไปจากสังคมไทยเสียที.

"ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย" โดย รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด
สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ https://sameskybooks.net/index.php/collection/col-2/
[1] คืนความจริง ประเทศไทย, จักรพล ผลละออ : ถ้าไม่มีอิฐก้อนแรก กำแพงก็สร้างไม่สำเร็จคืนความจริง ประเทศไทย, สืบค้น 29 มีนาคม 2568 https://youtu.be/62Ki-D0FO7U?si=x8nIVcjpRLzZ0KId
[2] จักรพล ผลละออ , “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย” , สืบค้น 29 มีนาคม 2568 https://www.facebook.com/photo/?fbid=9510864418936003&set=a.215135558508982
[3] กว่าจะมาเป็นหนังสือ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์, matichonweekly.com, สืบค้น 25 มีนาคม 2568 https://www.matichonweekly.com/special-report/article_834528
[4] THE MEERKAT, www.facebook.com, สืบค้น 25 มีนาคม 2568 https://www.facebook.com/TheMeerkatTH/videos/207963914281337
[5] THE MEERKAT, www.facebook.com, สืบค้น 25 มีนาคม 2568 https://www.facebook.com/TheMeerkatTH/videos/207963914281337
[6] Thanapat Wongwisit / before 2475 / สืบค้น 25 มีนาคม 2568, https://www.facebook.com/photo/?fbid=8370023956375739&set=a.7985097124868426