Focus
- จากข้อสังเกตและข้อถกเถียงเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือ ‘สมุดปกเหลือง’ ในปัจจุบันที่ย้อนกลับไปสู่การวิเคราะห์แบบแนวทางอำนาจนิยมและบิดเบือนการสอบสวนกรณีที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นคอมมิวนิสต์ในทิศทางที่สงสัยว่านายปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์จึงมีการสอบสวนฯ ขึ้น
- ข้อเท็จจริงจากบริบทประวัติศาสตร์ในยุคนั้นผ่านข้อเขียนของนายไสว สุทธิพิทักษ์ เรื่อง ‘ญัตติเสนอให้มีการสอบสวนนายปรีดี พนมยงค์ กรณีคอมมิวนิสต์’ ชี้ให้เห็นว่าการเสนอญัตติดังกล่าวของนายฟัก ณ สงขลา กลับเป็นไปเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของนายปรีดี และเพื่อให้นายปรีดีสามารถทำงานเพื่อชาติต่อไปได้อย่างราบรื่นไร้มลทิน ตามมติของสภาผู้แทนราษฎรจึงตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาว่า หลวงประดิษฐมนูธรรม สมาชิกประเภทที่ ๒ และรัฐมนตรีที่ต้องคำกล่าวหาว่าเปนคอมมิวมิสต์ในสมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเปนนายกรัฐมนตรี ได้ปิดสภาผู้แทนราษฎรนั้น ว่ามีมลทินจริงดั่งนั้นหรือไม่
- บทความนี้จะนำเสนอหลักฐานชั้นต้นทรงคุณค่าคือ การประชุมคณะกรรมาธิการสอบสวนว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเปนคอมมิวนิสต์ ครั้งที่ 1 ในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2476 และเอกสารประกอบสำคัญเพื่อยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ให้เป็นที่ประจักษ์
(สำเนา)
ที่ ๔๔๘/๒๔๗๖
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
วันที่ ๒๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖
เลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ทูลหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ
ด้วยในคราวประชุมสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๒/๒๔๗๖ วันจันทร์ที่ ๒๕ ธันวาคม ศกนี้ ที่ประชุมได้ตั้งผู้มีนามต่อไปนี้เป็นกรรมาธิการวิสามัญ คือ–
๑. หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ประธานกรรมาธิการ
๒. พระยานลราชสุวัจน์ กรรมาธิการ
๓. พระยาศรีสังกร กรรมาธิการ
เพื่อพิจารณาว่า หลวงประดิษฐมนูธรรม และรัฐมนตรีที่ต้องคำกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์จริงหรือไม่ ความพิสดารแจ้งอยู่ในสำเนาญัตติของนายฟัก ณ สงขลา ซึ่งแนบมานี้
อนึ่ง ที่ประชุมได้ลงมติอนุมัติให้เชิญ เซอร์โรเบิตฮอแลนด์ กับ มองสิเออร์กียอง มาเป็นที่ปรึกษาในฐานเป็นผู้ชำนาญการพิเศษ และทั้งให้กรรมาธิการมีสิทธิเชิญบุคคลใดๆ มาชี้แจงแสดงความเห็นได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๓.
ฉะนั้นจึงทูลมาเพื่อทรงทราบมติของที่ประชุมสภาต่อไป.
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด.
(ลงนาม) หลวงคหกรรมบดี
(สำเนา)
รับที่ ๒๖๑ ลงวันที่ ๑๖/๙/๗๖
สภาผู้แทนราษฎร
วันที่ ๑๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖
เรียน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทราบ
ด้วยข้าพเจ้าขอเสนอญัตติต่อสภา ดั่งต่อไปนี้ คือ -
๑. ขอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรทั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาว่า หลวงประดิษฐมนูธรรม สมาชิกประเภทที่ ๒ และรัฐมนตรีที่ต้องคำกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ในสมัยพระยามโนปกรณ์มิติธาดาเป็นนายก รัฐมนตรีได้ปิดสภาผู้แทนราษฎรนั้น ว่ามีมลทินจริงดั่งนั้นหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อความบริสุทธิ์ในตัวหลวงประดิษฐฯ เองและสภาผู้แทนราษฎรอันมีเกียรตินี้ด้วย.
อนึ่ง ข้าพเจ้าขอสงวนสิทธิ์ในการที่จะอภิปรายเรื่องนี้โดยตลอด
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด.
(ลงนาม) นายฟัก ณสงขลา
ข้าพเจ้าขอรับรอง (ลงนาม) นายมงคล รัตนวิจิตร์
(ลงนาม) นายไสว อินทรประชา
สำเนาถูกต้อง
นายสนิท ผิวนวล.
สง่า พิมพ์
—-------------------------------------------
ด่วน.
กระทรวงการต่างประเทศ
วังสราญรมย์, กรุงเทพฯ
วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๖.
เรียน หลวงคหกรรมบดี เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ข้าพเจ้าได้นัดประชุมกรรมาธิการสอบสวนหลวงประดิษฐมนูธรรม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันพุฒ ที่ ๒๑ เดือนนี้ เวลา ๙.๐๐ น.
ขอคุณหลวงได้โปรดจัดสถานที่ และเจ้าหน้าที่ชวเลข ให้ด้วย.
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
วรรณไวทยากร วรวรรณ
ประธานกรรมาธิการ
—-------------------------------------------
กรรมาธิการสอบสวนว่าหลวงประดิษฐมนูธรรมเปนคอมมิวนิสต์หรือไม่
รายงานการประชุมครั้งที่ ๑
กรรมาธิการประชุมครั้งที่ ๑ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันที่ ๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๖.
เวลา ๙.๐๐ น. เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดประชุม มีผู้มาประชุม คือ
หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ กรรมาธิการ
พระยาศรีสังกร กรรมาธิการ
พระยานลราชสุวัจน์ กรรมาธิการ
เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญ
นาย ร. กียอง ผู้เชี่ยวชาญ
พระยาศรีสังกร เสนอให้ หน่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เปนประธานกรรมาธิการ พระยานลราขสุวัจน์ รับรอง.
พระยาศรีสังกร เสนอให้ พระยานลราชสุวัจน์ เปนเลขาธิการ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ รับรอง.
กรรมาธิการตกลงตามนี้ แล้วเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมอบหน้าที่ประธานให้แก่ประธานกรรมาธิการ.
ประธานกรรมาธิการกล่าวว่า ตามมติของสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการวิสามัญนี้ ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาว่า หลวงประดิษฐมนูธรรม สมาชิกประเภทที่ ๒ และรัฐมนตรีที่ต้องคำกล่าวหาว่าเปนคอมมิวนิสต์ในสมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเปนนายกรัฐมนตรี ได้ปิดสภาผู้แทนราษฎรนั้น ว่ามีมลทินจริงดั่งนั้นหรือไม่, ตามมติของสภาผู้แทนราษฎรที่ว่านี้ ถ้าจะสรุปความเข้าแล้ว ก็มีประเด็นอันจะพึงพิจารณาว่า หลวงประดิษฐมนูธรรมเปนคอมมิวนิสต์หรือไม่.
ประธาน
-------------------------------------------
. ๒ .
ประธานกรรมาธิการขอให้คณะกรรมาธิการทำความตกลงกันเสียก่อนว่าจะดำเนินการพิจารณาอย่างไร.
ประธานกรรมาธิการเสนอว่า คณะกรรมาธิการนี้ ไม่ใช่คณะกรรมาธิการตุลาการ และประเด็นอันจะพึงพิจารณาก็ไม่ใช่ประเด็นข้อทางตุลาการ หากเปนประเด็นคำกล่าวหาทั่ว ๆ ไปในทางการเมือง เพราะฉะนั้น ประเด็นอันจะพึงพิจารณาจึงมิใช่ประเด็นข้อกฎหมาย แต่หากเปนประเด็นข้อการเมือง คือว่า หลวงประดิษฐมนูธรรมมีความเห็นการเมืองเปนคอมมิวนิสต์หรือไม่. ในการพิจารณาจึงจะต้องวางบทวิเคราะห์ว่า คอมมิวนิสม์ คืออะไรเสียก่อน. ในข้อนี้ ขอเสนอให้เปนหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญทั้ง ๒ จะทำบันทึกร่วมกัน เพื่อวางบทวิเคราะห์ศัพท์ คอมมิวนิสม์ ดั่งที่ว่ามานั้น.
เมื่อผู้เชี่ยวชาญทั้ง ๒ ได้ทำบันทึกยื่นต่อคณะกรรมาธิการ และคณะกรรมาธิการได้รับรองแล้ว ก็ควรจะเชิญหลวงประดิษฐมนูธรรมมาถามว่า พอใจในบทวิเคราะห์นั้น ว่าเปนบทวิเคราะห์หนึ่งเปนธรรมแล้วหรือยัง. เมื่อหลวงประดิษฐมนูธรรมพอใจในบทวิเคราะห์นั้นแล้ว คณะกรรมาธิการพึงถามว่า ในลักษณะแต่ละข้อแห่งคอมมิวนิสต์. หลวงประดิษฐมนูธรรมมีความเห็นทางการเมืองอย่างไรบ้าง.
เมื่อได้รับคำตอบอย่างไรแล้ว คณะกรรมาธิการจึงจะพึงวินิจฉัยว่า หลวงประดิษฐมนูธรรมเปนคอมมิวนิสต์หรือไม่.
ข้อวินิจฉัยอันเปนประเด็นสำคัญย่อมอยู่ที่ความเห็นทางการเมืองของหลวงประดิษฐมนูธรรม ซึ่งควรจะถามเอาจากปากคำของหลวงประดิษฐมนูธรรมเอง และโดยที่มติสภาผู้แทนราษฎรตั้งปัญหาว่า หลวงประดิษฐมนูธรรมเปนคอมมิวนิสต์หรือไม่ และมิได้ตั้งปัญหาว่าเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรมคอมมิวนิสต์หรือไม่ ฉะนั้น เค้าโครงการณ์เศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรมจึ่งมิได้เปนตัวประเด็นอันจะพึงพิจารณา.
ตัวประเด็นอยู่ที่ว่าหลวงประดิษฐมนูธรรมมีความเห็นทางการเมืองที่เปนคอมมิวนิสต์หรือไม่ เพราะฉะนั้น จึงได้เสมอวิธีดำเนินการพิจารณาดั่งที่ว่าแล้วข้างต้นนั้น.
ประธานกรรมาธิการถามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้ง ๒ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ.
เซอร์ รอเบอร์ต
—-------------------------------------------
.๓.
เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ แสดงความเห็นว่า ถ้าจะวางบทวิเคราะห์แห่งคอมมิวนิสต์ตามความหมายของศัพท์แล้ว ก็พอจะทำได้โดยไม่สู้จะเปนการยากลำบากนัก แต่ถ้าจะพูดถึงลัทธิการเมือง ในประเทศใดประเทศหนึ่ง ว่าเปนคอมมิวมิสต์หรือไม่ไซร้ จะวินิจฉัยได้โดยยากยิ่งนัก เช่นประเทศรัสเซียในขณะนี้เปนคอเมิวมิสต์หรือไม่ ก็เปนปัญหาที่จะตัดสินให้แน่นอนได้ยาก.
แต่ถ้าจะพูดโดยทั่วไปแล้ว ลัทธิใด ๆ ที่มีความมุ่งหมายจะโค่นล้มด้วยพลการซึ่ง (ลายมือเขียนจากต้นฉบับ-กองบรรณาธิการ)ระเบียบการของชุมนุมชน ซึ่งมีอยู่ บัดนี้ไซร้ ก็มักจะถือกันว่า เปนลัทธิคอมมิวนิสต์.
นาย ร. กียอง กล่าวว่า การที่จะวางบทวิเคราะห์แห่งคอมมิวนิสม์นั้นจะต้องคำนึงถึงนัย ๒ ทาง คือ
๑. นัยทางเทฆนิค กล่าวคือ คอมมิวนิสม์ประกอบด้วยลักษณะสาระสำคัญอย่างใดบ้าง และ
๒. นัยทางการเมือง ซึ่งมักจะกล่าวหากันง่าย ๆ ว่าเปนคอมมิวนิสม์ โดยมิได้อาศัยหลักเกณฑ์ที่แน่นอนอย่างไร.
ถึงแม้ว่ารัฐบาลเปนผู้วางบทวิเคราะห์แห่งคอมมิวนิสม์ บทวิเคราะนั้น ๆ ก็ไม่เปนหลักอันจะพึงเชื่อถือได้อย่างแน่นอน เพราะว่า รัฐบาลมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ด้วย.
หน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญในการที่จะวางบทวิเคราะห์แห่งคอมมิวนิสม์นี้ นายกียองเข้าใจว่า เกี่ยวด้วยนัยทางเทฆนิค กล่าวคือ หลักมูลย์ของคอมมิวนิสม์มีลักษณะการอย่างไร มิใช่ว่าจะถือเอาง่าย ๆ ตามความนิยมของคณะการเมืองต่าง ๆ เช่นนั้นมิได้.
นายกียอง เสนอว่า หลวงประดิษฐมนูธรรมมิได้ต้องข้อหาในทางตุลาการว่าเปนคอมมิวนิสม์ และเปนประเด็นอันจะพึงพิจารณาก็คือ หลวงประดิษฐมนูธรรมสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสม์หรือไม่ ซึ่งเปนประเด็นเกี่ยวด้วยความเห็นทางการเมืองของหลวงประดิษฐมนูธรรมต่างหาก ไม่ควรจะเอาเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรมมาตั้งเปนประเด็นพิจารณา.
เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ เห็นพ้องด้วยว่า คำกล่าวหาหลวงประดิษฐมนูธรรมนั้น มิใช่ข้อหาในทางตุลาการ และหน้าที่ของกรรมาธิการก็คือ จะสอบสวนดูว่า ทำนองความเห็นทางการเมืองของหลวงประดิษฐมนูธรรมนั้นย้อมด้วยสีคอมมิวนิสม์หรือไม่ เพราะฉะนั้น วัตถุที่จะพึงพิจารณาก็คือความเห็นทางการเมืองของหลวงประดิษฐมนูธรรม และมิใช่เค้าโครงการณ์เศรษฐกิจของหลวงประดิษฐฯ .
พระยา
—-------------------------------------------
.๔.
พระยาศรีสังกร และพระยานลราชสุวัจน์ เห็นชอบด้วยวิธีการที่ประธานกรรมาธิการเสนอนั้น มีอาทิ คือ
๑. พึงมอบให้ผู้เชี่ยวชาญทั้ง ๒ ทำบันทึกร่วมกัน เพื่อวางบทวิเคราะห์ลักษณะสาระสำคัญต่าง ๆ แห่งคอมมิวนิสม์ และ
๒. ข้อที่จะพึงพิจารณานั้น คือ ความเห็นทางการเมืองของของหลวงประดิษฐมนูธรรม และมิใช่เค้าโครงการณ์เศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม. ถ้าดำเนินการพิจารณาไปแล้ว ปรากฏว่า มีข้อความพาดทั้งถึงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจนั้นแล้ว จึ่งจะพิจารณาเปนข้อ ๆ ไป.
คณะกรรมาธิการได้ตกลงตามนี้.
ในการดูอภิปรายถึงวิธีการที่ผู้เชี่ยวชาญจะทำบันทึกร่วมกัน เพื่อวางบทวิเคราะห์แห่งคอมมิวนิสม์นั้น ประธานกรรมาธิการเสนอว่า ควรจะอาศัยกำหนดการของคณะคอมมิวนิสม์แห่งอังกฤษและฝรั่งเศสประกอบความพิจารณาด้วย. ที่ประชุมเห็นชอบตามนี้ และประธานกรรมาธิการรับว่าจะร้องขอให้กระทรวงการต่างประเทศมีโทรเลขไปยังสถานทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน และ กรุงปารีส เพื่อให้รีบส่งกำหนดการที่ต้องการนั้นมาทางไปรษณีย์อากาศ.
ปิดประชุมเวลา ๑๐ น.
วรรณไวทยากร วรวรรณ
ประธาน
หมายเหตุ :
- คงอักขร การสะกดคำ การเว้นวรรค และเลขไทยตามต้นฉบับ
หลักฐานชั้นต้น
- กรมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, กรมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, กรรมาธิการสอบสวนว่าหลวงประดิษฐมนูธรรมเปนคอมมิวนิสต์หรือไม่ รายงานประชุมครั้งที่ 1, น.1-4.