ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

PRIDI Interview 101 ปี ชาตกาล สุพจน์ ด่านตระกูล : ชีวิต และงานจากคำบอกเล่าของภรรยาและบุตรสาว โสภณ พันธุ์ไททิพย์ และดอม ด่านตระกูล

28
กันยายน
2567

 

 

 

 

 

ภาพนายปรีดี พนมยงค์ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประธานโฮจิมินห์ และนายสุพจน์ ด่านตระกูล ที่ติดผนังอยู่ภายในบ้านของนายสุพจน์ ณ ปัจจุบัน

 

คำถาม :

สวัสดีทุกท่านค่ะ วันนี้กลับมาพบกันอีกครั้งในรายการ PRIDI Interview ดิฉันชญานิษฐ์ แสงสอาด รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการโดยทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ขอชวนทุกท่านมาพูดคุยเนื่องในวาระ 101 ปีชาตกาลของนายสุพจน์ ด่านตระกูล กับครอบครัวของคุณสุพจน์ นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญผู้มีบทบาทในการปกป้องประชาธิปไตยและการอภิวัฒน์ 2475 และเป็นบุคคลสำคัญที่ใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันความชอบธรรมให้กับนายปรีดี พนมยงค์ ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิตค่ะ

บุคคลที่จะมาร่วมพูดคุยกับเราในวันนี้มี 3 ท่าน ได้แก่ ท่านแรกเป็นภรรยาของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล ต่อมาเป็นบุตรสาวทั้งสองท่าน ท่านแรก คือคุณพันธุ์ไททิพย์ ด่านตระกูล และท่านที่สอง คือคุณดอม ด่านตระกูล ค่ะ 

แรกเริ่มอยากสอบถามคุณแม่และทั้งสองท่านถึงชีวประวัติของคุณสุพจน์ตั้งแต่วัยเยาว์ไปจนถึงช่วงขบวนการสันติภาพปี 2495 ว่ามีความเป็นมาอย่างไรบ้าง ขอเริ่มจากคุณแม่โสภณค่ะ

 

ภาพจากซ้าย คุณดอม คุณโสภณ และคุณพันธุ์ไททิพย์ ด่านตระกูล

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

เดิมนายสุพจน์เขาก็อยู่ที่ปักษ์ใต้ พออายุได้เวลาเข้าเรียนก็เข้าโรงเรียนประชาบาลจนจบชั้น ป. 4 แล้วมาเรียนต่อที่โรงเรียนในอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช พอเรียนได้สักพักหนึ่งก็ตามพี่ชายมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ

 

คำถาม :

พื้นเพของคุณสุพจน์เป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้วก็มาที่กรุงเทพฯ อยากให้คุณแม่เล่าเพิ่มเติมค่ะว่าคุณแม่กับคุณสุพจน์พบกันที่ไหนคะ ที่ภาคใต้หรือว่าเป็นที่กรุงเทพฯ

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

พบกับคุณสุพจน์ที่กรุงเทพฯ ค่ะ ที่บ้านนี้ เรามาเรียนกรุงเทพฯ ตอนอายุ 18 คือจบ ม.6 แล้วมาเรียนต่อเลยพบกันที่บ้านหลังนี้ที่จะมีนักเรียนชาวใต้ 20 กว่าคนที่มาเรียนได้มาพบ มารู้จักกัน

 

คำถาม :

ก็คือเป็นแวดวงคนใต้ที่เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ และรู้จักกันมาก่อนอยู่แล้วใช่ไหมคะ


คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

จะเป็นเหมือนหอพัก แต่สมัยก่อนมันไม่ใช่ จะเป็นบ้านมาอยู่ มารู้จักกัน คือบอกต่อ ๆ กัน แล้วก็มาเพราะว่าลุง พี่ชายคุณสุพจน์ แล้วก็คุณสุพจน์จะเป็นคนแรกที่มากรุงเทพฯ ของเชียรใหญ่ ทุกคนที่นั่นก็จะรู้เวลาเขามาเรียนก็มาอยู่ที่บ้านแล้วแม่ของคุณสุพจน์ก็เป็นคนใต้เหมือนกัน ทำอาชีพค้าขายมาก่อนก็มาอยู่ และมีญาติพี่น้องในตำบลนั้นมาพอสมควร 

 

คำถาม :

ก็คือเจอกันมาตั้งแต่ตอนคุณแม่ตั้งแต่อายุ 18 เลยนะคะ

และอยากให้เล่าถึงเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมืองของคุณสุพจน์ค่ะ เพราะว่ารู้จักกันมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น อยากทราบว่าความสนใจทางด้านการเมืองของคุณสุพจน์มีจุดตั้งต้น หรือจุดเปลี่ยนมาจากเหตุการณ์ไหน หรือว่ามาจากการอ่านหนังสือเล่มใด หรือบุคคลใดเป็นพิเศษไหมคะ

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

ตอนนั้นพอรู้บ้างว่าคุณสุพจน์มีอุดมการณ์อย่างไร เพราะว่าแม่อ่านหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ตอนที่เป็นนักเรียนประมาณ ม.4 ม.5 แล้วเจอหนังสือพิมพ์ก็ลงว่า สุพจน์ ด่านตระกูล ถูกจับในข้อหาคอมมิวนิสต์ถึงได้รู้ว่าเขามีความคิดเกี่ยวกับการเมือง(แนวคิดก้าวหน้าแต่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์)อย่างไร ในยุคนั้นญาติพี่น้อง ไม่กล้าที่จะมาคบค้าสมาคมด้วยเพราะเขากลัวว่าการถูกจับในข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์มันไม่ใช่จะจับเฉย ๆ แต่มีฆ่าแกงกันด้วย ทำให้เขาไม่ได้คบค้ากับพี่น้องเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะคบค้ากับเพื่อนที่มีความคิดเดียวกัน

 

คำถาม :

ถ้าเทียบกับยุคนั้นก็ค่อนข้างเป็นเรื่องที่รุนแรง

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

ใช่ (ข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์-กองบรรณาธิการ) เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก

 

คำถาม :

แล้วมีเหตุการณ์อื่น ๆ อีกไหมคะที่คุณสุพจน์ได้ไปเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

แรกเริ่มก็ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไปอยู่อำเภอละอุ่น จังหวัดระนองไปเป็นเสมียนและส่งข่าวให้กับพวกญี่ปุ่นแต่แม่ไม่รู้หรอกว่านายสุพจน์เป็นเสรีไทยหรือเปล่า เพราะว่าการส่งข่าวเป็นความลับเหมือนกัน ต่างคนต่างก็ทำหน้าที่กันไปคือมองตาก็รู้กัน

 

คำถาม :

อยากให้คุณแม่เล่าบรรยากาศช่วงนั้นให้ฟังค่ะ ที่คุณแม่ก็บอกว่าอาจจะมีหลายคนที่เคยแวะเวียนมาที่บ้านนี้เช่นกันใช่ไหมคะ คนที่เคลื่อนไหวด้วยกัน ด้วยความที่บรรยากาศยุคนั้นอาจจะต้องปิดเป็นความลับในเรื่องที่คุณสุพจน์ได้ไปเคลื่อนไหวด้านการเมืองหรือคบค้าสมาคมกับใครบ้าง

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

ก็มีบ้างแต่คล้าย ๆ ว่าเขาก็ไม่ให้รู้ว่าเป็นใครมีความคิดเดียวกัน มีไปมาหาสู่ที่บ้านนี้ ก็มีคุณสุภัทร สุคนธาภิรมย์ก็มาประจำ ลุงไหว คุณไสว มาลยเวช ก็มาหรือคุณปาล พนมยงค์ ก็เคยมาที่บ้านนี้

 

คำถาม :

เดี๋ยวเราจะให้ดูรูปขบวนการสันติภาพ และบุคคลที่มาพบคุณสุพจน์กันอีกทีนะคะว่ามีท่านใดบ้าง ในมุมมองของลูกสาวทั้งสองคนที่อยู่กับคุณพ่อ อยากทราบว่าคุณพ่อเป็นอย่างไรบ้างคะ เริ่มจากเรื่องของนิสัยของการเป็นนักคิดนักเขียนหรือว่าความสนใจทางด้านการเมือง

 

คุณพันธ์ุไททิพย์ ด่านตระกูล :

ตั้งแต่จำความได้ พอเกิดมาก็เห็นคุณพ่อนั่งเขียนหนังสือประจำ นั่งเขียนข้างในตลอด พอมีเวลาว่างก็จะเขียน เขียน เขียนข้างในบ้านตรงห้องนี้ค่ะ (ชี้ไปทางด้านในบ้าน-กองบรรณาธิการ) เขียนตลอดตั้งแต่ตื่นนอนหรือว่านึกอะไรได้ก็จะลุกขึ้นมาเขียน คือคุณพ่อจะนอนไม่เป็นเวลา ก็จะเป็นภาพที่เราจำได้ตลอดว่าคุณพ่อเขียนอยู่ตลอด

 

คุณดอม ด่านตระกูล :

เหมือนกับพี่เดี๊ยน(ชื่อเล่นของคุณพันธุ์ไททิพย์ ด่านตระกูล) ก็คือ ถ้าเราตื่นมาเข้าห้องน้ำกลางดึกอะไร บางทีตี 2 ตี 3 จะเจอก็ถามว่า ป๋ายังไม่นอนอีกเหรอ ป๋าบอกว่านอนไปแล้วแต่ตื่นขึ้นมาเขียนต่อ

 

คำถาม :

ในชีวิตของคุณสุพจน์จึงมีหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมาหลายเล่ม มีผลงานการเขียนจำนวนมากเลยนะคะ

 

ผลงานบางส่วนของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล

 

คุณดอม ด่านตระกูล :

คุณพ่อมีผลงานเขียนเยอะมาก เขียนใช้นามปากกาบ้าง ไม่ใช้นามปากกาบ้าง เพราะคุณแม่เป็นคนให้ใช้ชื่อจริง

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

เพราะว่ามันเสี่ยง เรื่องที่คุณสุพจน์เขียนเป็นเรื่องเสี่ยง ๆ เ เราก็ให้ใช้ชื่อจริงเพราะเป็นอะไรขึ้นมาก็จะได้รู้ว่าเป็นฝีมือใคร

 

คำถาม :

ดังนั้นก็เลยชื่อใช้ชื่อสุพจน์ ด่านตระกูล โดยตรงในการเขียนงานเกือบทั้งหมด ถัดมาอยากให้เล่าถึงหนังสือเล่มสำคัญ คุณแม่หรือเป็นคุณดอมเล่าก็ได้ค่ะ เพราะว่ามีเล่มที่คุณดอมเขียน และเคยสัมภาษณ์คุณสุพจน์ไว้ด้วยจึงอยากให้เล่าถึงตอนนั้นค่ะว่าได้สัมภาษณ์อะไรคุณพ่อบ้าง และเล่าถึงหนังสือเหล่านี้ค่ะ (ชี้ไปที่บรรดาหนังสือของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล บนโต๊ะด้านหน้าที่นั่งสัมภาษณ์-กองบรรณาธิการ) 

 

หนังสืออนุสรณ์งานศพของสุพจน์ ด่านตระกูล

 

คุณดอม ด่านตระกูล :

หนังสือเล่มนี้คือหนังสืออนุสรณ์งานศพ ตอนที่คุณพ่อเสียชีวิตแล้วนะคะ ส่วนเล่มนี้ (หนังสือปฏิวัติประชาธิปไตยสยาม 24 มิถุนายน 2475-กองบรรณาธิการ) เป็นเล่มที่คุณพ่อเขียนไม่จบแต่เสียชีวิตไปก่อน เป็นเล่มสุดท้ายแต่ว่าก็ได้ตีพิมพ์หลังจากที่คุณพ่อเสียชีวิตไปแล้วนะคะ

 

 

ในตอนที่สัมภาษณ์คุณพ่อได้บอกว่า สามเล่มนี้ (ภาพหนังสือข้างต้น-กองบรรณาธิการ) เป็นเล่มที่ ณ ตอนนั้นอยากให้คนหนุ่มสาวยุคปัจจุบันเนี่ยได้อ่านก็คือ แถลงการณ์คอมมิวนิสต์สยาม พุทธศาสนาสอนอะไร และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (ฉบับสมบูรณ์) อยากให้รู้ประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่กระจ่างในยุคนั้นจนมาถึงยุคนี้ก็ยังไม่กระจ่าง คุณพ่อได้ใช้หลักฐานประวัติศาสตร์ประกอบเพื่อให้คนอ่าน ได้อ่านแล้วคิดได้เองว่ามันคืออะไรนะคะ แต่ไม่ได้บอกชัดเจน ส่วนแถลงการณ์คอมมิวนิสต์สยามก็คืออยากให้รู้จักว่า คอมมิวนิสต์จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คนเข้าใจ และเล่มพุทธศาสนาสอนอะไรนั้นทางคุณพ่อเอง นอกจากเป็นคนมีความคิดเห็นทางด้านการเมืองแล้วก็ยังศึกษาสายธรรมะด้วยค่ะ 

 

คำถาม :

เมื่อครู่ที่ได้นั่งคุยกับคุณแม่โสภณจึงทราบว่าก็ชอบธรรมะและฟังธรรมะเหมือนกันใช่ไหมคะ อยากให้เล่าถึงเรื่องของความเลื่อมใสในพุทธศาสนาของคุณสุพจน์ค่ะ

 

คุณดอม ด่านตระกูล :

ป๋าเคยเล่าว่าตอนที่อยู่ในคุก (คุณสุพจน์ติดคุกในกรณีขบวนการสันติภาพช่วงทศวรรษ 2490-2500-กองบรรณาธิการ) ก็มีพระมาเทศน์

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

ใช่มีพระพิมลธรรมมาเทศน์ในคุกให้ทุกสัปดาห์ แล้วก็ให้มาฝึกเดินจงกรม ทำสมาธิ ที่ป๋าเคยเล่าให้ฟังแล้วป๋าก็เคยเล่าถึงตอนเด็ก ๆ ที่อยู่กับคุณยายซึ่งบวชชีแล้วก็มีเพื่อนฝูงละแวกบ้าน คนแถวนั้นมาปฏิบัติธรรมกับคุณยาย และเดินจงกรมแต่ตอนนั้นคุณสุพจน์ไม่รู้ไม่เข้าใจทั้งหมด จนพอเข้าคุกก็พลกับพระพิมลธรรมไปสอนถึงได้รู้ว่าคือ การเดินจงกรมนั่นเอง

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

แล้วคุณยายที่บวชเป็นแม่ชีศึกษาธรรมะก็ได้เขียนหนังสือธรรมะด้วยเล่มหนึ่ง

 

คุณดอม ด่านตระกูล :

ชื่อหนังสือที่คุณยายเขียนคือ อธิษฐานธรรม

 

คำถาม :

คุณสุพจน์ มองว่าอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยคะ

 

คุณดอม ด่านตระกูล :

คุณพ่อเขียนหนังสือเรื่องนี้แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฯ นะคะ

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

อันนี้ก็ไม่ค่อยรู้ชัดเจนก็เพราะเขาเข้าคุกตั้งแต่ปี 2493 ตอนนั้นแม่ยังเป็นนักเรียนมัธยมฯ อยู่เลยยังไม่ได้รู้จักกัน และก็มาเจอกันหลังจากนั้นเพราะว่าจบมัธยมฯ แล้วแม่ก็มาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ที่เจอกันเพราะมีแนวคิดอะไรคล้ายคลึงกันคือ ในสมัยเด็ก ๆ แม่ก็จะมีกลุ่มเพื่อนที่พูดคุยเรื่องการเมืองอยู่บ่อย ๆ ก็เข้าใจบ้างเป็นบางเรื่อง เช่น เรื่องความไม่ยุติธรรมการเมืองซึ่งไม่ถูกต้องค่ะ

 

คำถาม :

ถ้าเป็นมุมมองของคุณแม่ต่อคุณสุพจน์ในฐานะคนรุ่นเดียวกันที่สนใจเรื่องประชาธิปไตย สนใจการเมืองทางคุณสุพจน์สนใจเรื่องความยุติธรรม เป็นคนที่รักความยุติธรรม รักการต่อสู้เพื่อความถูกต้องเหมือนกันไหมคะ

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

คุณสุพจน์จะพูดเรื่องนี้บ่อย เล่าให้ฟังว่าคนนี้ คนนั้นมีแนวคิดการเมืองเป็นอย่างไร สังคมไม่ยุติธรรมอย่างไร เขารักความเป็นธรรมมาตั้งแต่เด็ก ๆ และสนใจหนังสือ ครั้งหนึ่งเขาเคยอ่านหนังสือพบว่าตัวเอกไปปล้นคนรวยแล้วเอาเงินมาช่วยคนจน เขาก็ประทับใจหนังสือเล่มนั้นคือ ไม่ชอบความไม่เป็นธรรม 

 

คุณดอม ด่านตระกูล :

ขอเสริมนิดหนึ่งค่ะในส่วนที่ถามว่าคุณพ่อมีความคิดเห็นอย่างไรกับหนังสือเล่มนี้ (แถลงการณ์คอมมิวนิสต์สยาม-กองบรรณาธิการ) คุณพ่อมีความคิดความเชื่อเรื่องความเท่าเทียมเพราะว่ารักความเป็นธรรม คือน่าจะทำให้สนใจแนวคิดมาร์กซิสต์แต่ก็ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

 

คำถาม :

นอกจากเรื่องของแนวคิดคอมมิวนิสต์ และขบวนการสันติภาพแล้ว มาถึงเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ค่ะว่ามีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้คุณสุพจน์ได้รู้จักกับอาจารย์ปรีดีหรือว่าประทับใจแนวคิด หรือเรื่องใดที่ทำให้เลือกที่จะเขียนเกี่ยวกับเรื่องคดีสวรรคต รัชกาลที่่ 8 คำถามหลักคือ มีจุดเริ่มต้นอย่างไรที่คิดและเขียนเกี่ยวกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์คะ

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

คุณสุพจน์จะบอกว่าอาจารย์ปรีดี พนมยงค์บริสุทธิ์แต่ว่าใครทำอะไรบ้างก็ดูในหนังสือเล่มนี้ (ชี้ไปที่หนังสือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (ฉบับสมบูรณ์)-กองบรรณาธิการ)

 

คำถาม :

แปลว่าจุดเริ่มต้นทางคุณสุพจน์ไม่ได้รู้จักกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นการส่วนตัว

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

ไม่เคยรู้จักส่วนตัวมาก่อนเลย ไม่ได้เป็นลูกศิษย์ลูกหาอะไรกันโดยตรงแต่เชื่อมต่อมาทางคุณสุภัทร สุคนธาภิรมย์ เชื่อมต่อมาทางคุณปาล พนมยงค์แล้วก็มาถึงสุพจน์

 

คำถาม :

ถ้าอย่างนั้นในช่วงปี 2495 ที่เกิดขบวนการสันติภาพเองก็จะมีคุณปาล พนมยงค์ บุตรชายคนโตของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่คุณสุพจน์เคยพบได้แวะเวียนมาที่บ้านนี้บ้างใช่ไหมคะ

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

ใช่ ๆ ก็สัมพันธ์กัน และก็ทำอะไรกันแต่เราไม่ทราบหรอก เพราะนายสุพจน์แกก็เก็บความลับเก่ง

 

คุณพันธุ์ไททิพย์ ด่านตระกูล :

ใช่ คุณพ่อไม่เคยพูด ไม่เคยเล่าอะไรให้ครอบครัวทราบ คือคุณพ่อจะไม่เล่าถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง และจะไม่เล่าชี้นำ หรือเป็นแบบอย่าง อย่างเช่นถ้าเราอยากรู้ว่าใครเป็นคนกระทำบางเรื่องจริง ๆ ก็เคยถามป๋าว่าใครทำ ป๋ามักจะบอกว่าให้ไปหาอ่านเอาเองโดยจะไม่ชี้นำความคิดว่าอะไรถูกอะไรผิด ให้เราไปศึกษาเองและตัดสินด้วยตัวเองว่าอันไหนถูกอันไหนผิด นี่คือคุณสุพจน์

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

อย่างในช่วงนั้นนายสุพจน์จะไป ๆ มา ๆ ระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด บางทีก็ไม่รู้ตัวว่าถูกไล่ล่า หรือไม่รู้ว่ามีตำรวจนอกเครื่องตามหรือไม่ก็จะต้องระวัง เช่น แกขึ้นรถคันนี้ ตำรวจก็ขึ้นตาม ลงไป แล้วขึ้นใหม่ทำแบบนี้จนกระทั่ง ตี 1 ตี 2  กว่าจะมาถึงบ้านนี้ และมาทางถนนไม่ได้ด้วยตอนนั้นต้องลงเรือมาขึ้นที่หน้าบ้าน พอเราถามว่ามีเรื่องอะไร เขาก็บอกว่าตำรวจไล่ล่า ถูกหมายหัว ก็เสี่ยงภัย

 

คำถาม :

การเป็นนักเขียนในเรื่องที่คุณสุพจน์สนใจเป็นอันตรายในยุคนั้นนะคะ ทีนี้อยากถามในมุมของลูกสาวบ้างค่ะว่าได้รับการซึมซับและรับมรดกการรักการอ่านการเขียนจากคุณพ่อมาอย่างไรบ้างคะ ทางคุณดอมน่าจะมีในมุมมองของการเป็นนักเขียนและการอ่านเพราะว่าเคยทำงานด้านนี้โดยตรงในเรื่องของการเขียนการอ่านของคุณพ่อตั้งแต่เราเล็กจนโตได้เห็นอะไรบ้าง

 

คุณดอม ด่านตระกูล :

ก็คงซึมซับโดยไม่รู้ตัวมาตั้งแต่เด็กเพราะที่บ้านเต็มไปด้วยหนังสือ ของเล่นมีน้อย มีแต่หนังสือนิทานให้อ่าน เราก็อ่านหนังสือนิทานแล้วก็อ่านหนังสือที่ผู้ใหญ่อ่านกัน เพราะบางทีหนังสือนิทานเราอ่านจนหมดบ้านแล้วเราก็อ่านหนังสือผู้ใหญ่ที่มีอยู่ในบ้านอ่านและก็ซึมเข้ามาโดยที่ไม่รู้ตัว คือตัวคุณพ่อเองก็ไม่ได้สนับสนุนหรือว่าอยากให้ลูกมาเป็นนักเขียนอย่างตนแต่ว่าเราชอบเองเป็นการซึมซับมาส่วนหนึ่ง ก็มีคุณพ่อเป็น ฮีโร่ 

 

คำถาม :

อยากให้คุณดอมเล่าเรื่องหลังจากเรียนจบคณะศิลปศาสตร์แล้วไปทำงานที่สำนักพิมพ์ใช่ไหมคะ ในช่วงนั้นได้ไปทำอาชีพอะไรและเกี่ยวกับการหนังสืออย่างไรบ้างคะ

 

คุณดอม ด่านตระกูล :

ตอนเริ่มแรกก็เป็นบรรณารักษ์ก่อนแล้วก็อยากเขียน ทีนี้พออยากเขียนหนังสือเราก็เลยไปสมัครที่มูลนิธิสานแสงอรุณ ซึ่งตอนนั้นเขาเปิดรับกองบรรณาธิการโดยมูลนิธิฯ จะทำนิตยสารที่ชื่อว่า นิตยสารสานแสงอรุณ เราก็สมัครเป็นกองบรรณาธิการและได้เป็นคอลัมนิสต์นับเป็นโอกาสอันดีตอนช่วงนั้นเพราะว่าก่อนหน้านี้เราสัมพันธ์กับคุณพ่อก็ในฐานะพ่อลูก จะพูดคุยกันเรื่องทั่ว ๆ ไป มีความใกล้ชิดสัมผัสแต่ก็ยังไม่ได้ใกล้ชิดลึกซึ้งถึงเนื้องานของคุณพ่อและทราบความเป็นมาก่อนที่จะมาเขียนหนังสือ 

แต่พอมาทำงานทางพี่บรรณาธิการก็ให้ไปเลือกคนสัมภาษณ์ซึ่งพี่เขาก็แนะนำว่า ให้สัมภาษณ์คนใกล้ตัวดอมที่น่าสัมภาษณ์ เราก็ถามว่าใครเหรอ พี่เขาก็บอกว่า ให้สัมภาษณ์ป๋าเพราะประวัติของป๋าหรือคุณสุพจน์มีน้อยมากอยากเก็บเอาไว้ เราก็เลยได้มาสัมภาษณ์คุณพ่อ และการสัมภาษณ์กับเขียนประวัติของคุณพ่อในตอนนั้น ต่อมาก็ได้นำมาลงในหนังสืออนุสรณ์งานศพของคุณพ่อโดยคัดและตัดตอนมาบางส่วน 

 

 

คำถาม :

จากบทสัมภาษณ์ชิ้นนั้นในนิตยสารสานแสงอรุณ ทำให้คุณดอมได้รู้จักคุณพ่อมากขึ้นไหมคะ ในฐานะคนที่ขับเคลื่อนด้านการเมือง หรือว่าคนที่สนใจด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทยค่ะ

 

คุณดอม ด่านตระกูล :

ก็ได้รู้จักมากขึ้น และรู้สึกว่าพ่อเรานี่เจ๋งเนอะ ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ นา ๆ อยู่ในสิ่งที่ตนเองยึดมั่น ทั้งที่ตอนเขียนเล่มนี้ (หนังสือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (ฉบับสมบูรณ์)-กองบรรณาธิการ) ก็ไม่ได้รู้จักอาจารย์ปรีดี มีแต่ความยึดมั่นสำหรับความถูกต้อง มีแต่ความอยากจะเขียนเพราะรู้สึกว่าคนที่ไม่ได้ทำผิดแต่ถูกกระทำมันทำให้คุณพ่อก็อยากเผยแพร่ความจริง เราก็เลยรู้สึกว่าพ่อเราเก่งเนอะ ยืนอยู่โดดเดี่ยวทั้งที่ในยุคนั้นมีแต่คนโจมตีอาจารย์ปรีดีไม่มีใครกล้าเขียนถึงอาจารย์ปรีดี ไม่มีใครกล้าปกป้องท่าน

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :  

นายสุพจน์เขาบอกว่าอยากจะทำเพราะว่าเขานับถืออาจารย์ปรีดีมากเลยเหมือนเป็นคุณพ่อ

 

คุณดอม ด่านตระกูล :

คุณพ่อยังบอกว่าเพราะว่าอาจารย์ปรีดีทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศ

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

ใช่ ๆ ทำประโยชน์โดยเฉพาะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เสี่ยงตายเหมือนกันแต่ก็ผ่านพ้นมาได้

 

คุณดอม ด่านตระกูล :

สิ่งที่อาจารย์ปรีดีทำไม่ได้ทำเฉพาะประโยชน์แก่ส่วนตน แต่เป็นประโยชน์ที่ยิ่งใหญ๋เพื่อประเทศเลย คุณพ่อจึงมองว่าจะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ฉะนั้นจึงต้องปกป้องคนที่ทำความดีเหมือนที่ท่านโต้เรื่องของท่านพุทธทาสที่มีคนกล่าวหาว่าท่านพุทธทาสเป็นเดียรถีย์เพระาว่าท่านพุทธทาสเป็นพระที่ยึดมั่นในธรรมะแต่กลับมาโจมตีท่านฯ โดยที่คุณพ่อก็ไม่ได้รู้จักกับท่านพุทธทาสเหมือนกันในตอนแรกแต่ภายหลังก็ได้ไปกราบท่านฯ ก็คือเขียนหนังสือปกป้องเหมือนกันกับอาจารย์ปรีดี 

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

พอไปที่วัดสวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานีก็จะเห็นหนังสือของนายสุพจน์ที่วัดก็เก็บเอาไว้เป็นมุมหนังสือดีของวัด

 

คำถาม :

ขอถามต่อเนื่องค่ะ ว่าหนังสือเล่มแรกที่คุณสุพจน์เขียนถึงอาจารย์ปรีดีก็คือเล่มใดคะ 

 

คุณดอม ด่านตระกูล และคุณพันธุ์ไททิพย์ ด่านตระกูล :

เล่มนี้น่าจะเป็นเล่มแรกที่เขียน (ชี้ไปที่หนังสือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (ฉบับสมบูรณ์)-กองบรรณาธิการ)

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

เล่มนี้ (หนังสือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (ฉบับสมบูรณ์)-กองบรรณาธิการ) จัดพิมพ์หลายครั้งแล้วก็เปลี่ยนแปลงขึ้นมาโดยลำดับจนกระทั่งมาเป็นฉบับสมบูรณ์แล้วก็อยู่ยงยืนนาน และนายสุพจน์ก็ตอบโต้และปกป้องนายปรีดีมาตลอดเขียนหนังสือไว้ประมาณยี่สิบกว่าเล่ม

 

คุณพันธุ์ไททิพย์ ด่านตระกูล :

คือเวลาใครบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนายปรีดีหรือกรณีสวรรคต คุณพ่อก็จะเขียนโต้กลับไป

 

 

คุณดอม ด่านตระกูล :

แต่มีสิ่งที่ป๋าเขียนแล้วไม่ได้ออกความคิดเห็นส่วนตัวเลยส่วนใหญ่จะเป็นเอกสารประวัติศาสตร์

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

ถ้าเป็นข้อเท็จจริงก็คือ ข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ล้วน ๆ คือถ้าใครอ่านก็จะรู้ และศึกษาประวัติศาสตร์ไทยได้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร

 

คำถาม :

ในคำนำฉบับพิมพ์ครั้งแรกของหนังสือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตตั้งแต่ปี 2517 ยังเขียนไว้ว่าครั้งแรกที่พิมพ์เสร็จแล้วแต่ไม่กล้าวางแผงจำหน่ายแสดงว่ายังเป็นกรณีฯ ที่ค่อนข้างรุนแรงอยู่และตอนเขียนหนังสือทางคุณสุพจน์ได้ไปรวบรวมข้อมูลหรือว่าหาเอกสารจากที่ไหนมาบ้างคะ 

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

นายสุพจน์จะสอบถามคนที่ใกล้ชิดอาจารย์แล้วก็นำหลักฐานประวัติศาสตร์จากศาล เช่น สำนวนคดีความฯ ในวังฯ คำให้การของบุคคลในวัง คนรอบตัวในสถานที่เกิดเหตุ และคำตอบ-คำถามของศาลกับผู้ที่ไปเป็นพยาน 

 

 

 

คำถาม :

ขอถามถึงตอนที่คุณสุพจน์ไปฝรั่งเศสและเดินทางไปพบกับอาจารย์ปรีดีที่บ้านอองโตนี อยากทราบว่าประมาณช่วงปีใดคะ

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

พ.ศ.ไหนก็จำไม่ได้แต่เขาจัดงานวันเกิดอาจารย์ปรีดีอายุ 80 ปีของอาจารย์ปรีดี(ปี 2523-กองบรรณาธิการ) ที่ไปกันก็มีลุงชิต (ชิต เวชประสิทธิ์) นายสุพจน์ และใครอีกคนไม่ทราบ จำไม่ได้รวมเป็น 3 คน ก็เป็นครั้งแรกที่นายสุพจน์ได้เจออาจารย์ปรีดี 

 

คำถาม :

คุณสุพจน์เล่าให้ฟังไหมคะว่าได้มีการพูดคุยอะไรในครั้งนั้น

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

ไม่ได้เล่า ก็ไม่ทราบแต่เขาปลื้มใจว่าได้ไปเจอ แล้วก็ได้มาเขียนหนังสือถึงไว้หน่อยหนึ่ง เรื่องคล้าย ๆ ว่าอาจารย์ปรีดีท่านเคยอยู่จีนแล้วก็มาฝรั่งเศสแล้วทีนี้นายสุพจน์อาจจะเขียนกระเทือนรุนแรงไปหน่อยซึ่งอาจารย์ก็ท้วงติงมา จนนายสุพจน์ก็เสียใจร้องไห้เลยเพราะไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะเขียนถึงข้อเท็จจริง ทั้งค้นหลักฐานฯ สารพัดอย่าง เงินทองก็ใช่ว่าจะอุดมสมบูรณ์แต่ว่าก็ไม่โกรธท่านอาจารย์ปรีดีนะ คือนายสุพจน์มองว่าอาจจะเข้าใจผิดกันและก็เป็นเรื่องที่อาจจะทำให้อาจารย์ปรีดีลำบาก

 

คำถาม :

ก็เป็นช่วงหลังจากไปเจออาจารย์ปรีดีที่บ้านอองโตนีแล้ว

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

ใช่นานหลายเดือนหลังจากนั้นถึงจะเขียนจดหมายถึงกัน มีการส่งจดหมายติดต่อกัน แล้วนายสุพจน์วิเคราะห์ผิดไปว่าอาาจารย์ต้องการแบบนี้เลยเขียนลงไปแต่ก็ยังเคารพรักอาจารย์ปรีดีอยู่

 

คำถาม :

แล้วหลังจากนั้นยังมีการติดต่อกับทางอาจารย์ปรีดี หรือครอบครัวของอาจารย์ปรีดีอย่างไรบ้างคะ

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

ก็ยังมีการเขียนตอบโต้ให้อาจารย์ปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุจ นายสุพจน์ซื่อสัตย์ เขารักครอบครัวของอาจารย์ปรีดีจริง ๆ  เขารักปาล พนมยงค์ รักทั้งหมดอย่างคุณศุขปรีดามาที่บ้านประมาณเดือนหนึ่งครั้งหนึ่งก็จะถามว่า “ทำอะไรทานวันนี้” จะเข้ามาทักทายปราศรัยกันเหมือนญาติเลย

 

คุณพันธุ์ไททิพย์ ด่านตระกูล :

คุณศุขปรีดา พนมยงค์ ใจดี

 

 

ภาพของจำเลย 54 คน ในคดีขบถสันติภาพ

 

คำถาม :

อยากให้คุณแม่เล่าให้ฟังเกี่ยวกับกบฏสันติภาพในภาพนี้หน่อยได้ไหมคะ มีคนไหนที่เราจะพอคุ้นหน้าคุ้นตาหรือว่าเคยเห็นว่าสนิทกับคุณสุพจน์หรือเล่าให้ฟังบ่อย ๆ ไหมคะ หรือถ้ามองจากรูปพอจะจำได้ไหมคะว่าเป็นใครจากภาพจำเลย 50 คนในคดีขบถสันติภาพค่ะ

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

(ชี้ไปที่ภาพคุณสุภัทร สุคนธาภิรมย์) คุณสุภทรเขาก็มาประจำ นี่คุณไสว มาลยเวท คุณพินิจ ปทุมรสก็มา เพราะว่าพี่ชายแกคือ คุณเฉลียวที่โดนประหารชีวิตไปแล้วก็มาประจำ 

 

คุณดอม ด่านตระกูล :

(ชี้ไปที่บุคคลในภาพ) คุณสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ 

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

นี่คุณปาล พนมยงค์เคยมาที่บ้าน แต่จะเจอข้างนอกกันตามในงานต่าง ๆ 

 

คำถาม : 

ภาพจำเลยคดีขบถสันติภาพ 54 คนชุดนี้ คุณพ่อหยิบมาดูบ่อยไหมคะ

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

ก็ดูบ้างเป็นครั้งคราว คือดูว่าไปแล้วทีละคน ๆ คนที่ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน คนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา

 

คุณดอม ด่านตระกูล :

อย่างถ้าไปงานศพใคร ก็จะกลับมาเล่าให้ฟังแล้วชี้ให้ดูภาพนี้ว่าคนนี้เสียชีวิตไปแล้ว

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล : 

พวกหนู ลูกหลานจะต้องต่อสู้สืบทอดอุดมการณ์

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

อย่างคดีขบถสันติภาพ นายสุพจน์ติดคุก 2 รอบจากข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์และข้อหาเป็นขบถในราชอาณาจักรก็ตัดสิน 3 ปีต้องอยู่ในคุกแล้วก็ออกจากคุก 

 

คำถาม :

ในวาระสุดท้ายช่วงบั้นปลายชีวิต คุณพ่อเป็นอย่างไรบ้างคะ มีกิจวัตรประจำวัน มีความสนใจอะไรเป็นงานอดิเรก หรือทำอะไรบ้างที่บ้าน หรือว่าชอบไปเที่ยวที่ใด

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

ส่วนใหญ่จะอ่านหนังสือกับเขียนแล้วทำงานบ้านบ้าง เพราะว่าคุณแม่ต้องไปทำงานข้างนอก ส่วนงานบ้านเขาก็ทำกับลูก ๆ

 

คุณดอม ด่านตระกูล :

คุณพ่อทำกับข้าวอร่อยมาก และทำกับข้าวที่เราไม่เคยทาน เช่น ผัดมันแกว หรือผัดมะละกอใส่ไข่ เราก็ถามว่ามันกินได้ด้วยเหรอ ไม่ใช่กินแบบทำส้มตำหรือว่ามันแกวกินเป็นผลไม้ ? คุณพ่อก็บอกว่าไม่ใช่ กินอย่างนี้เป็นกับข้าวได้ คุณพ่อทำอาหารอร่อยแล้วก็ซักผ้าให้ลูก ๆ

 

คุณพันธุ์ไททิพย์ ด่านตระกูล :

เวลาคุณพ่อซักผ้าเสร็จ เขาจะสอนว่าถ้าจะตากให้สลัดก่อนไม่ใช่เอาไปตากเลยเพราะว่าเขาเห็นเราซักผ้าเสร็จแล้วบิดแล้วแขวน เขาจะบอกว่าไม่ได้ต้องเอามาสลัดแล้วก็กลับนอกกลับในและตากผ้าโดยใช้ไม้หนีบ หนีบผ้าให้เรียบร้อย ถึงเวลาแห้งก็เก็บเลยไม่ต้องรอให้ผ้าไหม้

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

นายสุพจน์จะสอนให้วางของเป็นที่เป็นทางโดยเฉพาะพวกลูก ๆ พวกน้ำดื่มก็วางหรือตามเก็บให้เข้าที่ เป็นคนมีระเบียบเรียบร้อยงานทุกอย่างก็สมกับชื่อว่า สุพจน์ สุ แปลว่า ดี ใช่ไหม พจน์ แปลว่า พูด สมชื่อเขาเลย นายสุพจน์พูดจาดีกับทุกคนนุ่มนวล ไม่ก้าวร้าว

 

คำถาม :

อยากให้คุณดอมเพิ่มเติมหน่อยค่ะว่าในช่วงเวลาบั้นปลายได้ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับคุณพ่อบ้างไหมคะ เช่นในเรื่องของการเขียนการอ่านค่ะ

 

คุณดอม ด่านตระกูล :

คุณพ่อเคยเขียนคำนำให้เรื่องหนึ่ง ตอนนั้นเราเขียนเรื่องเกี่ยวกับลูกสาว พอเรามีลูกก็ออกจากงานมีสามีรับราชการที่สุพรรณฯ ทางพี่บรรณาธิการก็บอกว่าอย่ากลับไปอยู่เฉย ๆ เลยพอมีลูกแล้วก็เขียนเรื่องลูกส่งมาละจนเขียนออกมาเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มหนึ่ง และให้คุณพ่อมาเขียนคำนำให้

ส่วนคำสอนเรื่องการเขียนจากคุณพ่อก็คือ อย่าเขียนมอมเมา เขียนเรื่องที่มีสาระเป็นประโยชน์ ส่วนในเรื่องความยุติธรรมคิดว่ามีทุกคนในครอบครัว คือจะรู้สึกกับความเป็นธรรม ทุกคนในครอบครัวน่าจะมีเหมือน ๆ กัน อาจจะซึมซับมาโดยไม่รู้ตัว หรือว่าสั่งสอนอบรม ซึ่งเรื่องนี้คุณพ่อแทบจะไม่ได้สอนด้วยการพูด ส่วนใหญ่จะทำให้เราเห็นแต่ส่งที่พูดบ่อยน่าจะเป็นเรื่องบ่น เรื่องความไม่เป็นระเบียบของเรามากกว่า แต่ส่วนในเรื่องความเป็นธรรม หรืออะไรต่าง ๆ จะแสดงให้เห็นเวลาท่านดูทีวี มีข่าว หรือมีอะไร ก็จะบอกจะสอน สมมติว่านักข่าวแสดงความคิดเห็นมากไป ท่านก็จะบอกว่า นักข่าวก็มีหน้าที่ที่จะรายงานข่าว ไม่ควรแสดงความคิดเห็นตัวเองเข้าไปให้มากไป

 

คุณพันธุ์ไททิพย์ ด่านตระกูล :

คุณพ่อก็สอนโดยการกระทำ คือทำให้เราเห็นว่าทำแบบไหนถึงจะดี ทำแบบไหนแล้วไม่ดี แต่จะไม่ชี้นำว่าอันไหนถูก หรืออันไหนผิด ให้เราไปค้นคว้าหาข้อเท็จจริงเอาเอง แล้วก็มาคุยกับเขาว่าอันนี้ถูกใช่ไหม เขาก็จะถามเราว่าแล้วถูกไหมละ ถ้าเป็นข้อแบบนี้ถูกไหม เราก็จะเห็นตรงกันแต่จะไม่ชี้นำความคิดว่าอันนี้ดีนะ อันนี้ไม่ดีนะ อย่างเช่นการเลือกตั้ง หรือเลือกพรรคการเมืองคือพอถึงเวลาที่เราจะต้องไปเลือกตั้งครั้งแรก เราก็ถามว่าป๋า ๆ ไปเลือกพรรคไหนดี เขาก็จะสอนว่าก็ดูสิว่าพรรคไหนมีข้อเสนออะไร มีแนวคิด มีนโยบายอย่างไร ให้เราคิดเองว่าพรรคฯ ไหนดี ก็ให้เราเลือกตามอิสระจะไม่บล็อคความคิดของเราไว้

 

คำถาม :

ในมุมของคุณแม่ที่อยู่ด้วยกันมาตลอดก็จะมีช่วงที่อาจจะยากลำบากใช่ไหมคะ หรือว่าช่วงที่คุณสุพจน์โดนไล่ล่าตัวแต่ตลอดชีวิตคู่มีอะไรที่เราได้ซึมซับจากคู่ชีวิตคุณสุพจน์บ้างคะ

 

คุณแม่โสภณ ด่านตระกูล :

ความอดทนอดกลั้น เขาก็เคยบอกว่าทองทนต่อการพิสูจน์ ทำตัวให้เป็นทอง ตกที่ไหนก็ยังเป็นทองอยู่ อยู่ในตมก็ยังเป็นทอง เขาสอนให้มีความอดกลั้นอดทนถึงจะผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ เพราะมันไม่อยู่กับเราตลอดหรอก เหมือนกับธรรมที่เปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่ว่าทุกข์มันทุกข์ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกข์เดี๋ยวมันก็หาย ทั้งสุขทั้งทุกข์ก็เหมือนกัน สุขไม่นานเดี๋ยวมันก็หาย มันเกิดดับ นะสุขทุกข์คือทุกอย่างเกิด ๆ ดับ ๆ ไม่มีอะไรที่จะถาวรแล้วมันจะเปลี่ยนแปลง มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ทุกสิ่งก็เหมือนอย่างเมื่อเราเด็ก ๆ เราก็เนื้อหนังตึงเต่งอะไร พอนานไปก็เริ่มเหี่ยวย่น ๆ จนกระทั่งฟันฟัก ผมขาวมันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสัจธรรม ต้องยอมรับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงให้ได้ และเราก็จะมีความสุขและไม่ทุกข์ เราถึงจะอยู่ได้ถึงไม่มีอะไรก็อยู่ให้ธรรมะนำแล้วเราก็ปฏิบัติตาม

 

คุณดอม ด่านตระกูล :

ป๋าเป็นคนอดทนจริง ๆ ค่ะ อดทนทั้งต่อสภาวะการทำงานที่ยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยวที่ไม่ได้มีใครมาร่วมทางด้วย และยังอดทนต่ออาการเจ็บป่วยของตัวเองที่เวลาเจ็บป่วยแล้วแทบจะไม่เคยบอกลูกว่าอยากให้พาไปโรงพยาบาลหรืออะไรอย่างนี้ ถ้าไม่ถึงที่สุดจริงอ่ะจะไม่บอกเลยก็จะอดทน

 

คุณพันธุ์ไททิพย์ ด่านตระกูล :

เวลาป่วยสิ่งที่เขาอยากให้เราทำคือทุบหัวเขา เวลาเขาปวดหัวก็จะให้ทุบหัวหน่อย เป็นกิจกรรมที่เคยทำให้คุณพ่อ (ช่วงบั้นปลายของชีวิต-กองบรรณาธิการ) 

 

คำถาม :

วันนี้ทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ ขอขอบคุณครอบครัวคุณสุพจน์ ด่านตระกูลที่ให้เกียรติมาสัมภาษณ์ในวาระ 101 ปี ชาตกาลของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ขอบคุณมากค่ะ

 

 

ผู้สัมภาษณ์ : ชญานิษฐ์ แสงสอาด

ณ วันที่ 6 กันยายน 2567