ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ที่เขาเรียกกันว่า “ลัทธิแก้” นั้นหมายความว่ากระไรและความเป็นมาแห่งลัทธิ “รีวิสชันนิสม์”

26
กรกฎาคม
2567

Focus

  • ในบริบททางการเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 นายปรีดี พนมยงค์ได้รับความสนใจในด้านผลงานและความคิดในสังคมไทยอีกครั้งผ่านข้อเขียนเป็นหลัก อาทิ กรณีที่อาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เขียนจดหมายถึงนายปรีดีเพื่อขอให้ท่านเขียนอธิบายเรื่อง “ลัทธิแก้” ใน 2 ประการ ได้แก่ 1. ที่เรียกว่า “ลัทธิแก้” นั้น มีความเป็นมาและความหมายอย่างไร และ 2. ในประเทศไทยมีผู้เรียกลัทธิแก้ว่า “ลัทธิแก้ไทย” ท่านมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร
  • นายปรีดีได้ค้นคว้าเรื่องลัทธิแก้มาอธิบายแก่อาจารย์ และนิสิตนักศึกษาไว้ในหนังสือที่เขาเรียกกันว่า “ลัทธิแก้” นั้นหมายความว่ากระไร และ ความเป็นมาแห่งลัทธิ “รีวิสชันนิสม์” อย่างละเอียด และได้มีการแบ่งรูปแบบสังคมนิยมมีประมาณกว่า 80 ชนิด ซึ่งอาจจัดรวมเป็นประเภทได้ 8 ประเภท (Genus) ใหญ่คือ  (1) ประเภทสังคมนิยมศักดินา (2) ประเภทสังคมนิยมผู้มีทุนน้อย (3) ประเภทสังคมนิยมจารีตนิยม (4) ประเภทสังคมนิยมเจ้าสมบัติ (5) ประเภทสังคมนิยมเพียงแต่อุดมคติหรือจินตนาการ (6) ประเภทสังคมนิยมของชนชั้นผู้ไร้สมบัติ (7) ประเภทสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ (8) ประเภทสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ และสังคมนิยมยังจำเเนกออกได้เป็นหลายชนิด (Species) และหลายนิกายชนิดปลีกย่อย (Sub-species)
 

 


หนังสือ “ที่เขาเรียกกันว่า “ลัทธิแก้” นั้นหมายความว่ากระไร และ ความเป็นมาแห่งลัทธิ “รีวิสชันนิสม์” โดย ปรีดี พนมยงค์

 

คำแถลงของฝ่ายสาราณียกร

เรื่อง “ลัทธิแก้” นี้เคยลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “ประชาธิปไตย” เมื่อไม่นานมานี้เอง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้เขียนได้อนุญาตและมอบต้นฉบับให้สมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสดร์ จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มออกจำหน่ายได้

คำว่า “ลัทธิแก้” ได้แพร่หลายในหมู่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ฝ่ายก้าวหน้า มาเป็นเวลาสัก 2-3 ปี แล้ว คือ หลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 มาไม่นานนัก ว่าคำนี้มีความเป็นมาอย่างไร หมายความว่ากระไร

หนังสือเล่มนี้คงให้ความสว่างแก่ท่านผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย สมาคมฯ รู้สึกซาบซึ้งในไมตรีจิตของท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง และขอกราบขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ทวี หมื่นนิกร
แทนสาราณียกร
1 พฤษภาคม 2519

 

จดหมายของนายพีรพันธุ์ พาลุสุข

อาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ผู้ประสานงานกลุ่มไทยในยุโรป

๕ ธันวาคม ๒๕๑๘

เรียน ท่านปรีดี พนมยงค์

เมื่อพูดถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมไทยปัจจุบัน เป็นที่น่าสังเกตว่า ฝ่ายปฏิกิริยาใช้วิธีการต่างๆ ที่รุนแรงขึ้น เพื่อบั่นทอนปราบปรามและทำลายหลังการต่อสู้ ของฝ่ายรักความเป็นธรรม ในขณะที่ฝ่ายปฏิกิริยาเพิ่มความรุนแรงขึ้น ฝ่ายก้าวหน้าก็เริ่มโจมตีกันเอง โดยกล่าวหาว่าเป็นพวกจอมปลอมบ้าง บิดเบือนการต่อสู้บ้าง ซึ่งรวมเรียกว่าเป็นพวก “ลัทธิแก้” จนกระทั่งคำว่า “ลัทธิแก้” เป็นคำที่ใช้ประณามและทำลายกันเอง

การอภิวัฒน์จะสำเร็จก็ต้องอาศัยแนวทางที่ถูกต้อง ฉะนั้นการคัดค้าน “ลัทธิแก้” จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ แต่การที่ฝ่ายก้าวหน้าในประเทศไทยประณามกันเองว่า เป็นพวกลัทธิแก้นั้น ดูจะเป็นเรื่องที่สับสนก่อให้เกิดความระแวงสงสัย และเป็นการบั่นทอนกำลังฝ่ายก้าวหน้าด้วยกันเอง เพราะไม่ทราบว่า “ลัทธิแก้” นั้นหมายความอย่างไร

โดยที่เพื่อนไทยหลายคนสนใจติดตามเรื่องนี้ และเห็นว่าควรจะศึกษาและทำความเข้าใจเรื่อง “ลัทธิแก้” ฉะนั้น จึงขอเรียนท่านให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ

๑. ที่เรียกว่า “ลัทธิแก้” นั้น มีความเป็นมาและความหมายอย่างไร

๒. ในประเทศไทยมีผู้เรียกลัทธิแก้ว่า “ลัทธิแก้ไทย” ท่านมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร

ทั้งนี้หวังว่าคงจะได้รับความกรุณาจากท่าน และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย

นายพีรพันธุ์ พาลุสุข
อาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ผู้ประสานงานกลุ่มไทยในยุโรป

 


ภาพของนายปรีดี พนมยงค์ ระหว่างการทำงาน ค้นคว้า และศึกษาหาความรู้ ณ บ้านอองโตนี ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 

จดหมายตอบของนายปรีดี พนมยงค์

ชานกรุงปารีส
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙

สวัสดีมายัง คุณพีรพันธุ์ พาลุสุข อาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ประสานงานกลุ่มไทยในยุโรป

ผมได้รับจดหมายของคุณลงวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๘ ปรารภถึงการที่มีผู้นำเอาคำว่า “ลัทธิแก้” มาใช้ประณามทำลายฝ่ายก้าวหน้าด้วยกันเอง อันเป็นการบั่นทอนพลังการต่อสู้ของฝ่ายรักความเป็นธรรม เพื่อนไทยหลายคนจึงขอให้ผมช่วยอธิบายว่า (๑) ที่เรียกว่า “ลัทธิแก้” นั้นมีความหมายและความเป็นมาอย่างไร และ (๒) ในประเทศไทยมีผู้เรียกลัทธิแก้ว่า “ลัทธิแก้ไทย” นั้น ผมมีความเห็นอย่างไร ผมขอตอบโดยคำชี้แจงดังต่อไปนี้

๑. เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ ผมได้กล่าวไว้ในปาฐกถาที่เมืองตูรส์ (ฝรั่งเศส) ว่า สังคมนิยมมีประมาณกว่า ๘๐ ชนิด (บัดนี้มากกว่านั้น) ซึ่งอาจจัดรวมเป็นประเภทได้ ๘ ประเภท (Genus) ใหญ่คือ

(๑) ประเภทสังคมนิยมศักดินา
(๒) ประเภทสังคมนิยมผู้มีทุนน้อย
(๓) ประเภทสังคมนิยมจารีตนิยม
(๔) ประเภทสังคมนิยมเจ้าสมบัติ
(๕) ประเภทสังคมนิยมเพียงแต่อุดมคติหรือจินตนาการ
(๖) ประเภทสังคมนิยมของชนชั้นผู้ไร้สมบัติ
(๗) ประเภทสังคมนิยมวิทยาศาสตร์
(๘) ประเภทสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

สังคมนิยมประเภท (Genus) หนึ่งๆ ก็จำเเนกออกได้เป็นหลายชนิด (Species) และหลายนิกายชนิดปลีกย่อย (Sub-species)

ต่อมาเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ผมได้กล่าวไว้ในปาฐกถาที่ชานนครเอดินเบอเรอ สกอทแลนด์ ตอบปัญหาที่นักเรียนไทยในอังกฤษถามว่า ระบบสังคมนิยมและระบบคอมมิวนิสต์จะเหมาะสมแก่เมืองไทยหรือไม่ ซึ่งผมได้ชี้แจงให้พิจารณาเป็นราย ๆ ไป ผมได้อ้างชื่อสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ไว้หลายชนิดหลายนิกายที่ปรากฏจากวารสารในประเทศไทยและในต่างประเทศ

  1. ส่วนลัทธิซึ่งเรียกตามภาษาอังกฤษว่า “รีวิสชันนิสม์” (Revisionism) หรือเรียกตามภาษาเยอรมัน รุสเซีย ฝรั่งเศส ที่เทียบได้กับคำอังกฤษนั้น เป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ชนิดหนึ่งในบรรดาลัทธิคอมมิวนิสต์มากมายหลายชนิดหลายนิกาย นอกจากลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิมาร์กซ์-เลนินตามแนวทางเหมาเจ๋อตง ลัทธิบลองกิสม์ ลัทธิตรอทสกิสม์ ลัทธิมาร์กซิสม์-อิสลามิค ลัทธิที่บางคนเรียกเป็นคำไทยว่า “สังคมจักรพรรดินิยม” และลัทธิที่บางคนเรียกว่า “ลัทธิสากลนิยมของชนชั้นกรรมาชีพ” นิกายของนายหลีลี่ซาน ซึ่งดำเนินตามแนวทาง “อนาร์โค-ซินดิกาลิสม์” นิกายของนายหลิวเซ่าฉีซึ่งดำเนินตามแนวทางทุนนิยม นิกายของนายหลินเบียวซึ่งดำเนินตามแนวทางลัทธิขงจื้อ นิกายของบุคคลซึ่งเหมาเจ๋อตงเรียกว่า “มาร์กซิสต์เปลือกนอก” (Formalistic Marxism) เปรียบประดุจคนที่ใส่เสื้อคลุมยี่ห้อมาร์กซ์ แต่ภายในความคิดและการปฏิบัติเป็น ไปตามธาตุแท้ที่เขามีซากชนชั้นนายทุนใหญ่ กลาง น้อย ติดตัวมาจากชนชั้นเดิมของเขา และมีนิกายที่เรียกว่า “คอมมิวนิสต์ปีกซ้ายความคิดระส่ำระสายอย่างเด็กไร้เดียงสา” (Left-wing Communism, An Infanile Disorder) นิกายตามแนวทางกิมอิลซุงแห่งเกาหลีเหนือ นิกายตามแนวทางคาสโตรแห่งคิวบา นิกายแห่งองค์การคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศครั้งที่ ๔ (Fourth International) นิกายคนงานระหว่างประเทศ (Internationale ouvriere) ฯลฯ 

คณะกรรมการจีนผู้ทรงคุณวุฒิทางการเมืองและภาษาศาสตร์ของจีนได้ตั้งศัพท์จีนขึ้นใหม่คำหนึ่งว่า “ซิวเจิ้ง จู่อี้” เพื่อถ่ายทอดศัพท์อังกฤษ “รีวิสชันนิสม์” หรือศัพท์เยอรมัน รุสเซีย ฝรั่งเศส ที่เทียบได้กับศัพท์อังกฤษนั้น ต่อมาบางคนได้แปลศัพท์จีนนั้นเป็นภาษาไทยว่า “ลัทธิแก้”

๒. ในบทความที่ผมเขียนขึ้นเพิ่มเติมต่อจากปาฐกถาที่ตำบลโอแบร์ก (เยอรมนี) พ.ศ. ๒๕๑๘ นั้น ผมได้ให้ข้อสังเกตว่า นักปรัชญาเอเชียที่ก้าวหน้าผู้หนึ่งได้ เตือนผู้แปลตำรามาร์กซ์-เลนินไว้ว่า ต้องใช้ความประณีตระมัดระวังแปลศัพท์ที่มีความหมายเฉพาะ (เทคนิคัล เทอม) เพราะถ้าแปลความหมายผิดไปแม้แต่คำเดียว ก็อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดทฤษฎีนั้นไปทั้งระบบหรือส่วนสำคัญของระบบได้ ท่านทั้งหลายก็อาจเห็นได้เองว่า มีคำแปลหลายคำที่ผู้แปลเป็นไทยได้แปลขึ้นตามอัตวิสัยของตน โดยไม่คำนึงทางด้านภววิสัยว่ามวลราษฎรไทยจะเข้าใจอย่างไรนั้น ก็ทำให้ราษฎรและกรรมกรและชาวนาไทยเข้าใจผิด หรือไม่เข้าใจคำที่มีผู้แปลเช่นนั้น

โดยเฉพาะคำว่า “แก้” ซึ่งมีผู้นำมาประกอบกับคำว่า “ลัทธิ” เป็น “ลัทธิแก้” นั้น เคยมีผู้รักชาติประชาธิปไตยหลายท่านได้ปรารภกับผมว่า กรรมกร ชาวนา และสามัญชนคนไทยทั่วไปจำนวนมากนั้น เข้าใจว่า หมายถึงการทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมให้เป็นสิ่งที่เหมาะสม เช่นคนที่ซื้อเสื้อคับไปหรือหลวมไป ก็จ้างช่างแก้เสื้อนั้นให้ใส่ได้เหมาะสมแก่ตัว ท่านที่ปรารภกับผมจึงข้องใจว่าเหตุใดจึงมีผู้เปลี่ยนความหมายที่สามัญชนคนไทยเข้าใจเช่นนั้น ให้มีความหมายในทางเลวร้ายเพื่อใช้ประณามกัน

นักเรียนไทยชั้นประถมและมัธยมที่ใช้พจนานุกรมสำหรับนักเรียน ซึ่งอนุกรรมการจัดทำตำราฝ่ายภาษาไทยของค์การคุรุสภาจัดทำขึ้นนั้น ก็ย่อมทราบว่าคำว่า “แก้” นั้น พจนานุกรมได้ให้ความหมายตรงกับราชบัณฑิตยสถานดังต่อไปนี้

แก้ น. (นาม) ชื่อเบี้ยตัวโตๆ สำหรับขัดผ้า (อีแก้ ก็เรียก) ก. (กิริยา) ขยาย คลาย เปลี่ยนแปลง ทำให้ดี ทำให้หลุดทำให้หาย เช่น แก้เก้อ แก้ขวย แก้โรค, ปลดเปลื้องจากข้อหา เช่น แก้คดี, อธิบายให้เข้าใจ อธิบายให้หายสงสัย เช่นแก้ปัญหา แก้ผืน, แก้เกี่ยว ก. แก้อย่างย้อนรอยให้ทายกัน ก. แก้ข้อขัดข้องให้ลุล่วงไปชั่วคราว, แก้ไข ก. ทำส่วนที่เสียให้คืนดีอย่างเดิม ดัดแปลงให้ดีขึ้น, แก้แค้น ก. ทำตอบแทนให้หายแค้น, แก้ตัว ก. ปลดเปลื้องความผิดของแล้ว พยายามให้ชนะคืนหรือได้เงินคืนในการที่ตนได้แท้การแข่งขันหรือเสียพนันไว้, แก้บน ก. ทำการเซ่นสรวงให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนได้บนบานไว้, แก้เผ็ด ก. ทำการตอบแทนผู้นี้ก็ทำความเผ็ดร้อนเจ็บปวดแก่ตัวไว้, แก้มือ ก. ขอสู้ใหม่, แก้ลำ ก. ตอบแทนให้เท่าเทียมหรือให้หนักมือขึ้น, แก้หน้า ก. พยายายามกู้หน้าที่ทำขายหน้าเอาไว้ พยายามให้หายขายหน้า

บัดนี้รูปธรรมก็ปรากฏขึ้นแล้วตามที่คุณพรรณนามาในจดหมาย คือ มีผู้ใช้คำว่า “ลัทธิแก้” ฯลฯ อันเป็นคำที่มีลักษณะซึ่งเรียกตามหลักภาษาศาสตร์ว่า “การวิบัติ” (corruption) แห่งความหมายของศัพท์ แล้วใช้คำนั้นประณามผู้รักความเป็นธรรมที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ด้วย อันเป็นการโจมตีเกินขอบเขตที่เลนินและเหมาเจ๋อตงมิได้ทำเช่นนั้น เพราะฝ่ายมาร์กซิสต์และฝ่ายเลนินนิสต์คัดค้านลัทธิ “รีวิสชันนิสม์” อันเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ชนิดหรือนิกายซึ่งมีชื่อเฉพาะเช่นนั้น มิได้ใช้คำนี้เรียกชื่อคอมมิวนิสต์ชนิดอื่น ๆ ที่แม้ขัดแย้งย้งรุนแรงกับลัทธิมาร์กซ์-เลนิน เช่นมิได้พาลเรียกลัทธิตรอทสกิสม์ว่าเป็น “รีวิตชันนิสม์” หรือ “ซิวเจิ้ง จู่อี้” ซึ่งบางคนแปลเป็นไทยว่า “ลัทธิแก้”

๓. ลัทธิคอมมิวนิสต์ชนิดหนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกว่า “รีวิสชันนิสม์” นั้น ก่อตัวขึ้นภายหลัง ค.ศ. ๑๘๙๕ ภายหลังเองเกลส์ได้วายชนม์แล้ว คือ “เอดวร์ด เบอร์นสไตน์” (Eduard Bernstein) ซึ่งเป็นสานุศิษย์คนหนึ่งของมาร์กซ์เองเกลส์ ขณะที่เบอร์นสไตน์ลี้ภัยอยู่ในอังกฤษนั้น ได้แสดงความเห็นในนิตยสาร และต่อมาในสาส์นฉบับ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๘ ที่ส่งไปยังที่ประชุมพรรคโซเชียลดิโมครัทเยอรมัน (ชื่อของพรรคมาร์กซิสต์ภายหลังที่สันนิบาตคอมมิวนิสต์ยุบตัวเองใน ค.ศ. ๑๘๕๒ แล้ว) และบทความที่ส่งไปยังสมัชชาใหญ่แห่งพรรคนั้นเมื่อค.ศ. ๑๘๙๙

“เบอร์นสไตน์” เห็นว่าคำตอนที่มาร์กซ์ให้ไว้นั้นพ้นสมัยไม่เหมาะสมแก่สภาพจริงที่สังคมได้พัฒนาต่อมาจากสมัยที่มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ ฉะนั้นจึงต้องคัดแปลงแก้ไขลัทธิมาร์กซ์ขึ้นใหม่หลายประการอาทิ

(๑) ในขั้นพื้นฐานปรัชญานั้น แม้เศรษฐกิจเป็นรากฐานของสังคม แต่จะต้องไม่คิดคับแคบเพียงเท่านั้น คือ จะต้องคำนึงถึงศีลธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์ ของแต่ละยุค และอิทธิพลของสภาพภูมิศาสตร์ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติที่มีต่อธรรมชาติและจิตใจของมนุษย์

(๒) ระบบทุนที่พัฒนาต่อมาจากเมื่อครั้งมาร์กซ์เขียนแถลงการณ์ใน ค.ศ. ๑๘๔๗ นั้น ปรากฏว่าระบบมิได้พังทลายไป หากยังคงมีนายทุนใหญ่ และนายทุนกลาง น้อย นานาชนิดเพิ่มจำนวนขึ้น การรวมทุนอยู่ในมือของนายทุนใหญ่เป็นไปล่าช้าและไม่รุนแรงในกิจกรรมพาณิชย์และอุตสาหกรรม ส่วนในทางกสิกรรมนั้นถึงไม่เป็นไปตามที่มาร์กซ์คาดการณ์ไว้ จึงไม่ควรกำหนดยุทธวิธีบนรากฐานที่ทุนนิยมจะพังทลายในเวลาอันใกล้

(๓) กฎหมายแรงงานและการให้สวัสดิการแก่คนงานก็ขึ้นกว่าแต่ก่อน การปกครองประชาธิปไตยท้องถิ่น เสรีภาพของสหภาพแรงงาน การสหกรณ์ ฯลฯ ทำให้การพังทลายของระบบทุนนิยมไม่เป็นไปได้ในเวลาอันใกล้

(๔) การพัฒนาสาตราวุธที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งฝ่ายศัตรูของกรรมกรมีไว้นั้น ทำให้มีการลุกขึ้นสู้ตามถนนในเมืองโดยคนงานนั้นพ้นสมัย ชนชั้นชั้นคนงานจะได้ชัยชนะมั่นคงยืนนานก็แต่โดยวิธีการดำเนินก้าวหน้าเรื่อย ๆ ไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อต่อสู้ตามระบบรัฐสภาประชาธิปไตย ให้ได้ซึ่งอำนาจทางการเมือง แล้วใช้อำนาจนั้นเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเพื่อชนชั้นชั้นคนงาน

(๕) เผด็จการของชนชั้นนั้นเป็นเรื่องของอารยธรรมเบื้องต่ำ ระบบประชาธิปไตยที่พัฒนาภายหลังแถลงการณ์ฯของมาร์กซ์นั้น ทำให้คนตื่นตัวต้องการสิทธิเสรีภาพ ฉะนั้นการสถาปนา “เผด็จการของชนชั้นผู้ไร้สมบัติ” (Dictatorship of the Proletariat) ซึ่งบางคนแปลเป็นไทยว่า “เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ” นั้น จึงพ้นสมัยสำหรับเยอรมนี ฯลฯ

ต่อมาใน ค.ศ.๑๙๐๐ เบอร์นสไตน์ได้กลับไปอยู่ในเยอรมนี เขาได้รับความยกย่องจากคนหนุ่มสาวเยอรมันจำนวนหนึ่งให้เป็นหัวหน้าสำนักลัทธิซึ่งเรียกว่า “รีวิสชันนิสม์” อันเป็นชื่อที่เบอร์นสไตน์กับสานุศิษย์รับว่าเป็นเช่นนั้น

ขณะที่เบอร์นสไตน์ก่อลัทธิ “รีวิสชันนิสม์” อันเป็นการ “ดัดแปลงทฤษฎีมาร์กซ์” นั้น “เวลาติมีร์ อิลลิช อูลิยานอฟ” ซึ่งมีฉายาภายหลังว่า “เลนิน” มีอายุ ๓๐ ปี อยู่ในระหว่างถูกเนรเทศไปอยู่ไซบีเรียตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๙๕

ส่วนสานุศิษย์ของมาร์กซ์ที่ยังเห็นว่าคำสอนของมาร์กซ์ยังสมบูรณ์อยู่ อาทิ “คาร์ล เกาต์สกี” (Kart Kautsky) ผู้จัดพิมพ์เล่มที่ ๔ แห่งหนังสือ “ดาส คาพิทัล” ของมาร์กซ์ จึงได้โต้แย้ง “รีวิสชันนิสม์” ที่ดัดแปลงทฤษฎีมาร์กซ์ การโต้แย้งระหว่างสองฝ่ายได้แพร่หลายมากในยุโรปตะวันตกสมัยนั้น แต่ต่างฝ่ายก็ไม่ใช้วิธีบิดเบือนความหมายของศัพท์ คือมุ่งในทางวิชาการเพื่อ ให้ชาวมาร์กซิสต์เข้าใจว่า อะไรถูก อะไรผิด ในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติตามสภาพทางสังคมที่ประจักษ์ และมิได้พาลเรียกลัทธิสังคมนิยมอื่นๆ ว่า “รีวิตชันนิสม์” และแม้แต่คอมมิวนิสต์บางชนิดที่มีลักษณะดัดแปลงลัทธิมาร์กซ์ เช่นลัทธิของ “ลาซาลล์” (Lassalle) ก็มิได้ถูกพาลหาว่าเป็น “รีวิตชันนิสม์” ซึ่งเป็นชื่อแห่งลัทธิของเบอร์นสไตน์โดยเฉพาะ

๔. ใน ค.ศ. ๑๘๙๙ ขณะที่ลัทธิ “รีวิสชันนิสม์” ก่อตัวขึ้นในเยอรมนีนั้น ในฝรั่งเศสก็ได้มีชาวมาร์กซิสต์อีกกลุ่มหนึ่ง อาทิ “ลาการ์เอลล์” และ “ยอร์ช โญเรล” ได้จัดตั้งลัทธิมาร์กซิสม์ใหม่ (Neo-Marxism) ให้ชื่อลัทธิของตนว่า “ซินดิกาลิสม์”

สำนักนี้อ้างว่า มาร์กซ์รู้ดีเพียงวิวรรตการของระบบทุน แต่มาร์กซ์ไม่อารรู้ถึงการพัฒนาของขบวนการคนงานที่เป็นอยู่ภายหลังที่มาร์กซ์วายชนม์แล้ว สำนักนั้นว่า ต้องดัดแปลงลัทธิมาร์กซ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ซึ่งสหภาพแรงงาน (ซินดิเกต) ได้พัฒนา (ในประเทศอุตสาหกรรม) คือ สหภาพแรงงาน (ซินดิเกต) ที่ประกอบด้วยคนงานแท้จริงต้องเป็นผู้นำในการล้มระบบทุน ในการนั้น กรรมกรอุตสาหกรรมต้องจัดเป็นหน่วยอิสระต่างๆ ขึ้นโดยสมานกันในการล้มระบบทุน และเมื่อล้มได้แล้วก็เข้าควบคุมและบริหารการผลิตเศรษฐกิจของสังคม สหภาพแรงงานต้องทำหน้าที่อันเป็นบทบาทสำคัญในการฝึกฝนคนงานให้มีความสามารถในการดำเนินงานผลิตทางเศรษฐกิจของสังคม และสามารถปกครองสังคมเป็นสหพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานต่างๆ โดยกำจัดสิ่งที่สำที่สำนักนั้นเรียกว่า “เผด็จการของปัญญาชน” (Dictatorship of the Intellectuals) คือปัญญาชนที่ไม่ใช่กรรมกรที่แท้จริงจะต้องไม่เป็นนายหรือผู้มีอำนาจเหนือกรรมกร

ชาวมาร์กซิสต์ที่เคร่งต่อคำสอนของมาร์กซ์ถือว่า ลัทธิซินดิกาสิสม์เป็น “รีวิสชันนิสม์จากฝ่ายซ้าย” (Revisionism from the Left) และเพื่อไม่ปะปนกับ “รีวิสชันนิสม์” ของเบอร์นสไตน์ เขาจึงเรียก “รีวิสชั้นนิสม์” ของเบอร์นสไตน์ว่า “รีวิสชันนิลม์จากฝ่ายขวา” (Revisionism from the Right) พึงสังเกตว่าลัทธิซินดิกาลิสม์ยังคงนับถือหลักการพื้นฐานของลัทธิมาร์กซ์ เราจึงไม่ควรปะปนลัทธินี้กับลัทธิอีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า “อนาร์โคซินก็กาลิสม์” (Anarcho-syndicalism)

คือเป็นลัทธิที่เอาทรรศนะอนาร์คิสต์ (อนาธิปัตย์) ผสมกับทรรศนะซินดิกาลิสม์ ลัทธิที่กล่าวนี้มีอิทธิพลทำให้สาวกส่วนหนึ่งของมาร์กซ์ยุ่งเหยิง อาทิ คิดอย่างอนาร์คิสต์ว่ากรรมกรต้องล้มเลิกชาติหรือปิตุภูมิและใช้วิธีของอนาร์คิสต์ในการต่อสู้ระหว่างชนชั้น หรือวิธีเลิกชนชั้น

๕. ใน ค.ศ. ๑๙๐๘ อันเป็นเวลา ๙ ภายหลังที่เลนินได้พ้นจากการถูกเนรเทศไปไซบีเรียแล้วนั้น เลนินได้เขียนบทความให้ชื่อว่า “มาร์กชิสต์กับรีวิตชันนิสม์” ซึ่งคัดค้านรีวิสชันนิสม์จากฝ่ายขวาของเบอร์นสไตน์ และคัดค้านรีวิสชันนิสม์จากฝ่ายซ้ายของลากาเดลล์กับพวก เลนินได้ต่อต้านรีวิสชันนิสม์จาก ๒ ฝ่ายตามหลักวิชา โดยมิได้บิดเบือนความหมายของศัพท์นั้น หรือมิได้เรียกลัทธิคอมมิวนิสต์อื่น หรือสังคมนิยมชนิดอื่นว่าเป็น “รีวิสชันนิสม์” จึงต่างกับที่คุณปรารภมาในจดหมายว่า บางคนแห่งบางกลุ่มในประเทศไทยเอาที่เขาเรียกกันว่า “ลัทธิแก้” ประณามผู้รักความเป็นธรรมที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์

การอ่านบทความของเลนินฉบับดังกล่าวนั้นก็ดี หรือฉบับอื่น ๆ ก็ดีนั้น พรรคมาร์กซ์-เลนิน แท้จริงย่อม ใช้วิธีศึกษาตามที่เลนินสอนเยาวชนรุสเซียไว้เมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๐ ว่า ในการศึกษาลัทธิมาร์กซ์นั้น จะศึกษาเพียง “คำขวัญ” หรือสูตรสำเร็จ เท่านั้นยังไม่พอ คือจำต้องศึกษาสรรพวิชาที่มนุษยชาติสะสมมา ซึ่งลัทธิมาร์กซ์พัฒนาไปจากนั้น อนึ่งมาร์กซ์ เองเกลส์ เลนิน ก็มิได้เขียนบทความเป็นคัมภีร์ตายตัว คือท่านได้ปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นตลอดอายุขัยของท่าน โดยเฉพาะบทกวามฉบับ ค.ศ. ๑๙๐๘ ซึ่งเลนินคัดด้าน “รีวิสชันนิสม์” นั้น ได้มีบทความฉบับอื่น ๆ ต่อมาก่อนการอภิวัฒน์ ตุลาคม ๑๙๑๗ และภายหลังอภิวัฒน์นั้น 

 

 

ภาคผนวก

 

บทความเรื่องความเป็นมาของลัทธิ “รีวิสชันนิสม์”

ภายหลังจดหมายลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ ตอบคำถามนายพีรพันธุ์ พาลุสุข อาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ประสานงานกลุ่มไทยในยุโรปแล้ว ได้มีสถานการณ์เกิดขึ้นใหม่เกี่ยวกับการขัดแย้งทางทรรศนะแห่งลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์โชเวียดกับบางพรรคคอมมิวนิสต์ ที่เคยอยู่ในวงโคจรของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต

๑. พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตได้มีการชุมนุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ ๒๕ ที่กรุงมอสโคว์ระหว่างวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ ๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๗๖ (พ.ศ. ๒๕๑๙)

หลายพรรคคอมมิวนิสต์กับหลายพรรคแห่งลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ได้รับเชิญให้ไปในการชุมนุมนี้ เท่าที่เคยปฏิบัติกันมานั้นพรรคที่ ได้รับเชิญก็ส่งเลขาธิการพรรคซึ่งมีฐานะเป็นหัวหน้าพรรคให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทน แต่พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสได้แต่งตั้งให้นาย “พลิซอนนิเอร์” ที่เป็นเพียงสมาชิกคนหนึ่งแห่งสำนักการเมือง (โปลิตบูโร) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทน

๒. ในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ “เผด็จการของชนชั้นผู้ไร้สมบัติ” (Dictatorship of the Proletariat ซึ่งบางคนแปลว่า “เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ”) นั้น เลขาธิการพรรคฯ โซเวียตแถลงว่า พรรคฯของตนไม่อาจประนีประนอมในหลักการนี้ได้

ฝ่ายคณะผู้แทนพรรคฯ ฝรั่งเศสยืนยันมติของพรรตนที่ตกลงในการประชุมสมัชชาพรรคฯฝรั่งเศสครั้งที่ ๒๔ ว่าการที่พรรคของตนให้ตัดเรื่อง “เผด็จการของชนชั้นผู้ไร้สมบัติ” ออกจากข้อบังคับนั้นเป็นการถูกต้องเหมาะแก่สภาพของฝรั่งเศสและยืนยันว่าลัทธิมาร์กซ์-เลนินนั้นเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด

๓. คณะผู้แทนพรรคฯฝรั่งเศสได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งว่า พรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหลายไม่ต้องถือมาตรฐานเดียวกันในการเข้าสู่ระบบสังคมนิยม หากต้องเป็นไปตามความเหมาะสมแก่สภาพของแต่ละประเทศ

ทรรศนะของพรรคคอมฯฝรั่งเศสเช่นนั้นตรงกับทรรศนะของพรรคคอมฯ รูมาเนีย, อิตาลี, และหลายพรรคคอมมิวนิสต์

๔. ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์สเปนซึ่งนอกจากไม่ส่งคณะผู้แทนไปร่วมชุมนุมที่มอสโคว์แล้ว เลขาธิการพรรคฯก็ยังให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ฝ่ายก้าวหน้าในอิตาลี สนับสนุนการยกเลิก “เผด็จการของชนชั้นผู้ไร้สมบัติ” และการสถาปนาระบบสังคมนิยมตามความเหมาะสมแก่สภาพของแต่ละประเทศอ้างว่าไม่อาจถือตามมาตรฐานโซเวียต เพราะระบบสังคมนิยมในสหภาพโซเวียตมีลักษณะเป็น “สังคมนิยมคล้ายศักดินา” (Socialisme Quasi-Feudal) ซึ่งมีร่องรอยของระบบศักดินาตกค้างอยู่

ชานกรุงปารีส, วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๘
ปรีดี พนมยงค์

 

หมายเหตุ :

  • นายพีรพันธุ์ พาลุสุข อาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ประสานงานกลุ่มไทยในยุโรป
  • คงอักขร การสะกดคำ และเลขไทยตามต้นฉบับ
  • บทความนี้ตีพิมพ์จากต้นฉบับส่วนแรกของนายปรีดี พนมยงค์ 

 

บรรณานุกรม :

  • ปรีดี พนมยงค์, ที่เขาเรียกกันว่า “ลัทธิแก้” นั้นหมายความว่ากระไร และ ความเป็นมาแห่งลัทธิ “รีวิสชันนิสม์” (กรุงเทพฯ: สมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, 2519)