ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

“ปรีดี พนมยงค์ ไม่มีมลทินเป็นคอมมิวนิสต์” รายงานคณะกรรมาธิการสอบสวนว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเปนคอมมิวนิสต์หรือไม่

14
กันยายน
2567

Focus

  • คณะกรรมาธิการสอบสวนว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเปนคอมมิวนิสต์หรือไม่ ได้ส่งรายงานคณะกรรมาธิการฯ และหลักฐานประกอบส่งไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อแจ้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับทราบ ทั้งหมด 26 ข้อ โดยคณะกรรมาธิการลงมติเปนเอกฉันท์ว่า หลวงประดิษฐฯ ไม่มีมลทินเปนคอมมิวนิสต์ดังที่กล่าวหา

 

 

ที่กระทรวงการต่างประเทศ
วังสราญรมย์, กรุงเทพฯ


วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๖.

ประธานกรรมาธิการสอบสวนหลวงประดิษฐมนูธรรรม เรียน ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ข้าพเจ้าขอส่งรายงานคณะกรรมาธิการสอบสวนว่า หลวงประดิษฐ์ฯ เปนคอมมิวมิสต์หรือไม่นั้น มาพร้อมกับจดหมายนี้.

อนึ่ง เพื่อจะให้เข้าใจบันดาลักษณะฉะเพาะของคอมมิวนิสม์ชัดแจ้งนั้น ข้าพเจ้าขอส่งเอกสารประกอบ คือ

๑- ๒. กำหนดการคอมมิวนิสต์ระหว่างประ เทศ เปนภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส

๓. กำหนดการคณะคอมมิวนิสต์อังกฤษ เปนภาษาอังกฤษ

๔. กำหนดการคณะคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส เปนภาษาฝรั่งเศส

๕. สำเนาบันทึกร่วมกันของเซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ และนายกียอง เปนภาษาอังกฤษ กับคำแปลเปนภาษาไทย

๖. สำเนาบันทึกอุปกรของเซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ เปนภาษาอังกฤษ กับคำแปลเปนภาษาไทย

๗. สำเนาบันทึกอุปกรของนายกียอง เปนภาษาอังกฤษ และคำแปล เปนภาษาไทย.

ส่วนรายงานการประชุมของกรรมาธิการนั้น มีอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกผู้ใดจะไปขอดูได้ คณะกรรมการไม่ขัดข้อง.

 

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ

ประธานกรรมาธิการ

 

 

รายงาน

คณะกรรมาธิการสอบสวนว่า

หลวงประดิษฐมนูธรรมเปนคอมมิวนิสต์หรือไม่ ?

 

 

๑. คณะกรรมาธิการเลือกทั้งหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เปนประธาน และพระยานลราชสุวัจน์ เปนเลขาธิการ.

๒. ตามมติของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ข้อที่จะพึงพิจารณาคือว่า หลวงประดิษฐมนูธรรม สมาชิกประเภทที่ ๒ และรัฐมตรีที่ต้องคำกล่าวหาว่าเปนคอมมิวนิสต์ในสมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เปนนายกรัฐมนตรี ได้ปิดสภาผู้แทนราษฎรนั้นว่ามีมลทินจริงดังนั้นหรือไม่.

๓. โดยที่คำกล่าวหาที่ว่านั้น เปนคำกล่าวหาทั่วไปในทางการเมืองและมิใช่ข้อหาในทางตุลาการ และโดยที่ประเด็นซึ่งตั้งมานั้นอยู่ว่า หลวงประดิษฐฯ เปนคอมมิวนิสม์หรือไม่ และมิใช่ว่าเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจของหลวงประดิษฐฯ มีลักษณะเปนคอมมิวนิสต์หรือไม่ คณะกรรมาธิการจึงตกลงว่าข้อที่จะพึงพิจารณาก็คือ คอมมิวนิสม์มีลักษณะฉะเพาะอย่างไรบ้าง และหลวงประดิษฐฯ มีความเห็นทางการเมืองเนื่องในลักษณะนั้น ๆ อย่างไรบ้าง แล้ววินิจฉัยว่า หลวงประดิษฐฯ เปนคอมมิวนิสต์หรือไม่.

๔. คณะกรรมาธิการขอให้ผู้เชี่ยวชาญทั้ง ๒ คือ เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ และ นาย ร. กียอง ทำบันทึกร่วมกันเพื่อวางบทวิเคราะห์ลักษณะฉะเพาะของคอมมิวนิสต์โดยอาศัยกำหนดการณ์ของคณะคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ มีอาทิคือ กำหนดการณ์คณะคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศ  กำหนดการณ์อังกฤษ และกำหนดการณ์คณะคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสนั้นด้วย.

๕. เมื่อได้รับกำหนดการณ์ต่าง ๆ นี้มาแล้ว ผู้เชี่ยวชาญทั้ง ๒ ได้ทำบันทึกร่วมกันขึ้นฉะบับหนึ่งเพื่อวางบทวิเคราะห์ลักษณะฉะเพาะของคอมมิวนิสม์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง ๒ เห็นพ้องต้องกันโดยอาศัยหลักที่ว่าอะไรที่มีอยู่ฉะเพาะแต่ในกำหนดการณ์คอมมิวนิสต์เท่านั้น และไม่อยู่ในกำหนดการณ์ของคณพรรคการเมืองอื่น ๆ ไซร้จึงจะเปนส่วนหนึ่งของคอมมิวนิสม์โดยไม่เปนปัญหา ส่วนลักษณะซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้ง ๒ ไม่เห็นพ้องกันนั้นได้ทำเปนบันทึกเพิ่มเติมแต่ละคน.

 

 

๖. คณะกรรมาธิการได้ให้โอกาศแก่หลวงประดิษฐฯ ในอันจะตั้งข้อสังเกตเนื่องในบันทึกร่วมกันนั้น. เนื่องจากข้อสังเกตของหลวงประดิษฐฯ ผู้เชี่ยวชาญทั้ง ๒ ได้แก้ไขบันทึกร่วมกันนั้นบางประการ

๗. เมื่อได้ทำความตกลงกันในบันดาลักษณะฉะเพาะของคอมมิวนิสม์ดั่งนี้แล้ว คณะกรรมาธิการได้ขอให้หลวงประดิษฐฯ แสคงความเห็นทางการเมืองในลักษณะ เหล่านั้นเปนข้อ ๆ ไป.

๘. หลวงประดิษฐฯ ได้แสดงความเห็นเปนข้อ ๆ ดังต่อไปนี้.

๙.

ลักษณะการเมือง

(๑) การตั้งรัฐบาลโซเวียต (คณกรรมการ คนงาน ชาวนา และทหาร) To establish a Government by Soviets (councils of the workmen, peasants and soldiers).

หลวงประดิษฐฯ : ข้าพเจ้าไม่คิดที่จะตั้งรัฐบาลโซเวียตเลย เพราะว่ามีความเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้าพเจ้าได้มีส่วนในการตั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม และมีส่วนในการออกกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งนี้เปนหลักพยานให้เห็นว่า ข้าพเจ้าเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญและรัฐสภาอยู่แล้ว.

เซอร์ รอเบอร์ต : หลวงประดิษฐฯ คิดจะแก้หลักการอันเปนสารสำคัญในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฉะบับที่ใช้อยู่ ณ บัดนี้หรือไม่ ?

หลวงประดิษฐฯ : ตั้งใจจะรักษาหลักสารสำคัญนั้น ๆ ไว้ จะมีการแก้ไขบ้างก็เช่นว่า การเลือกตั้ง ๒ ชั้นนั้น คิดว่าต่อไปจะแก้ไขให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนราษฎรโดยตรงทีเดียว และการแก้ไขต่าง ๆ นั้นก็จะได้แก้โดยวิถีทางรัธรรมนูญและไม่คิดจะใช้วิธีปกครองโดยโซเวียตเลย.

๑๐.

ลักษณะการคลัง

(๑) การริบเอาธนาคารเอกชนมาเปนของประชาชาติ และโอนทองคำสำรอง หลักทรัพย์ เงินฝาก ฯลฯ ทั้งหมดที่มีอยู่ในธนาคารนั้น ๆ มาเปนของยังรัฐ. To nationalize by confiscation private Banks and to transfer to the State all gold reserve, securities, deposits, etc., found therein.

หลวงประดิษฐฯ : ไม่มีความคิดเลยที่จะรับเอาธนาคารเอกชนมาเปนของชาติ และโอนทองคำสำรอง หลักทรัพย์ เงินฝาก ฯลฯ ทั้งหมดที่มีอยู่ในธนาคารนั้น ๆ มาเปนของรัฐ เพราะว่าเลื่อมใสในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเอกชนที่จะเปนเจ้าของ

 

 

๑๑. (๒) การเพิกถอนและปฏิเสธหนี้สินต่อนายทุนต่างประเทศและในประเทศ. To cancel and repudiate the debts to foreign and home capitalists.

หลวงประดิษฐฯ : ยิ่งการเพิกถอนหรือปฏิเสธหนี้สินต่อนายทุนในประเทศ และนอกประเทศแล้ว ยิ่งไม่มีความคิดที่จะกระทำเช่นนั้นเลยเพราะมีความประสงค์จะรักษาความสัมพันธ์กับนานาประเทศไว้ให้มั่นคง. เมื่อข้าพเจ้าร่างคำแถลงการณ์ของรัฐบาลพระยามโนฯ ก็ได้บรรจุความเช่นนี้ไว้ในคำแกลงการณ์เหมือนกัน ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะปฏิเสธหนี้สินทั้งภายในและภายนอกประเทศเลย

๑๒.

ลักษณะการชุมชน

(๑) การใช้กำลังบังคับเลิกล้มระเบียบการชุมชน ซึ่งมีอยู่ตามประเพณีนั้นทั้งหมดเพื่อเปนทางเดียวที่จะบรรลุวัตถุประสงค์คอมมิวนิสต์ To overthrow forcibly the whole of the existing traditional social order, as the only means of realising communist aims.

หลวงประดิษฐฯ : คำว่า "ระเบียบการชุมชน ซึ่งมีอยู่ตานประเพณี" นั่น ขอซ้อมความเข้าใจในความหมายเสียก่อน หมายความถึงการครอบครัว...ฉะนี้ไม่ใช่หรือ ?

เซอร์ รอเบอร์ต : หมายความถึงการครอบครัว การปกครอง การแบ่งชั้นและโครงร่างของชุมชนทั้งมวล แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าจะกระทำการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ให้ตั้ง ๑ กันใหม่ หรือจะเปลี่ยนแปลงตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ถ้าเปนการเปลี่ยนเแปลงอย่างตั้ง ๑ กันใหม่แล้ว จึงจะเปนลักษณส่วนหนึ่งของคอมมิวนิสม์

หลวงประดิษฐฯ : ไม่มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงเปนการนับ ๑ ใหม่เลย. ในการปกครอง ข้าพเจ้าเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญ ดังกล่าวแล้วข้างต้น. ในการครอบครัว ข้าพเจ้าก็ได้มีส่วนร่างประมวลกฎหมายแพ่งในเรื่องนี้ และความเห็นของข้าพเจ้าในเรื่องนี้ ก็เปนไปในทางรักษาประเพณีเมืองไทย. ในทางอื่น ๆ ก็เหมือนกัน หลักประเพณีอันใดที่เหมาะสมแก่สมัยก็ตั้งใจจะรักษาไว้ ส่วนข้อที่จะแก้ไขก็จะได้แก้ไขตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ส่วนการเปลี่ยนแปลงเปนการนับ ๑ ใหม่นั้นเห็นว่าไม่เปนประโยชน์. ในเรื่องสงครามระหว่างชั้นนั้นได้พยายามชี้แจงให้คนต่าง ๆ เข้าใจว่าไม่เปนการบังควรเพราะจะเปนการทำให้นองเลือดเปล่า ๆ

 

 

๑๓. (๒) การกระทำสงครามเนืองนิจในความบงการของชนกรรมาชีพเพื่อทำลายกำลังและประเพณีต่าง ๆ ของชุมชนอย่างเก่า และทำลายพวกกระฎุมพีที่อาจโผล่ขึ้นมาใหม่.

(หมายเหตุ : มาร์คซ อธิบายว่า คำว่า  “พวกกระฎมพี" (bourgeoisie) นั้น มาร์คซหมายความถึงชนชั้นนายทุนในปัจจุบัน ซึ่งเปนเจ้าของอุปกรณ์ประดิษฐกรรมของชุมชน และเปนผู้จ้างพวกกรรมกรรับจ้าง. ส่วนคำว่า "ชนกรรมาชีพ" (proletariat) นั้น หมายความถึงชนชั้นคนงานรับจ้างในปัจจุบับ ซึ่งไม่มีอุปกรณ์ประดิษฐกรรมของตนเองจึงจำต้องขายแรงงานของตนเพื่อจะให้ยังชีพอยู่ได้ Under the dictatorship of the proletariat, to wage perpetual war against the forces and traditions of the old society and against any upshoots of new bourgeoisie that may appear.)

หลวงประดิษฐฯ : ดิกเตเตอร์ซิบหรือลัทธิบงการแผ่นดินนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบเลย. ที่ไม่ชอบนั้นไม่ใช่ฉะเพาะแต่การที่จะให้คนจนเข้าถืออำนาจบงการเท่านั้น. ถึงแม้ว่าคนชั้นอื่นจะเข้ายึดอำนาจบงการแผ่นดินก็ไม่เห็นชอบด้วยเหมือนกัน

๑๔. (๓) การเลิกมรดก. To abolish inheritance.

หลวงประดิษฐฯ : ข้าพเจ้าไม่มีความคิดที่จะเลิกมรดกเลย. นายกียองย่อมทราบอยู่ว่า ในการร่างประมวลกฎหมายแพ่ง ข้าพเจ้าเคยสนับสนุนให้มีประมวลมรดกอยู่ด้วย.

 

 

๑๕. ลักษณะการโภคกิจ

(๑) การริบโดยไม่มีค่าทดแทน ซึ่งกิจการเอกชน (นายทุน) ใหญ่ ๆ ทั้งหมด เช่น โรงงาน การงาน เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า รถไฟ การขนส่ง การคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ที่ดินใหญ่ ๆ เครื่องจักร์ ฯลฯ To confiscate without indemnity all large private (capitalist) undertakings such as factories, works, mines, electric power stations, railways, transports, communications, large landed estate, machinery, etc.

หลวงประดิษฐ ฯ : ข้าพเจ้าไม่มีความคิดเช่นนี้เลย มีเหตุผลเหมือนกับที่ได้กล่าวมาแล้วว่าด้วยลักษณะการคลัง. ข้าพเจ้ายืนยันว่า มีความเลื่อมใสในทรัพย์สินเอกชน.

๑๖.

(๒) การโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ดิน ซึ่งได้รับมานั้นให้แก่ชาวนา To transfer landed estates so confiscated to peasants.

(๓) ต่อจากนั้น ห้ามมิให้ซื้อขายที่ดินที่ได้โอนมานั้น. To forbid afterwards any sale and purchase of land so transferred.

(๔) ริบอสังหาริมทรัพย์บ้านเรือนใหญ่ ๆ และย้ายคนงานและคนจนไปอยู่ในบ้านเรือนและถิ่นที่อยู่ของเศรษฐีหรือกระฎมพี To confiscate big house property and to remove workers and poor people to rich or bourgeois dwellings and residences.

(๕) การบันเทาภาระหนี้สินของชาวมาที่จนโดยเลิกล้างการจำนองเสียสิ้น (กำหนดการณ์มอสโคว์ หน้า ๒๗, กำหนดการณ์ฝรั่งเศส หน้า ๑๙) To relieve peasants who are poor of their burden of debt by the annulment of all mortgages. (Progr. Moscow p.27; French programme p.19)

หลวงประดิษฐฯ : คำตอบสำหรับลักษณะการโภคกิจ (๒), (๓), (๔) และ (๕) ก็เช่นเดียวกัน เพราะเปนลักษณะเนื่องมาจาก (๑).

 

๑๗. (๖) การรวมรีปัปลิคในท้องที่เข้ากับบันดารีปัปลิคโซเวียตอื่น ๆ เพื่อให้เปนสหปาลีสากล เพื่อรวมบันดาคนงานทั้งหลายให้เปนอันหนึ่งอันเดียวกันในทางโภคกิจโดยให้อยู่ในระเบียบการโภคกิจ โซซลิสต์สากลอันเดียวกัน (กำหนดการมอสโคว์ หน้า ๔๘). To unite the local soviet republic to all other soviet republics in a world union in order to realise the economic unity of the toilers in a single world socialist economic system. (Progr. Moscow p.48).

หลวงประดิษฐ ฯ : ข้าพเจ้าไม่มีความติดเช่นนี้เลย ข้าพเจ้าไม่คิดที่จะตั้งรัฐบาลโซเวียตหรือให้รัฐบาลสยามเข้าร่วมสหปาลีกับสหปาลีโซเวียตเลย.

๑๘. ส่วนข้อที่ผู้เชี่ยวชาญไม่เห็นพ้องกันนั้น เกี่ยวด้วยเรื่องศาสนากับครอบครัว และเรื่องงานซึ่งผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนได้ทำบันทึกเพิ่มเติมมา.

๑๙. คณะกรรมาธิการเปิดโอกาสให้หลวงประดิษฐฯ แสดงความเห็นในเรื่องศาสนาและครอบครัวนี้ได้.

หลวงประดิษฐฯ : ในเรื่องครอบครัวนั้น ข้าพเจ้าได้แสคงความเห็นไว้แล้วข้างต้น. ในเรื่องศาสนานั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าจำต้องมีศาสนา แต่ใครจะนับถือศาสนาอย่างไรก็ได้ ทุกคนพึงมีศาสนา แต่เมื่อมีศาสนาอยู่แล้ว ก็ดีแล้ว ข้าพเจ้าไม่คิดที่จะล้างล้มศาสนาเลย.

๒๐. ในเรื่องงานนั้น เซอร์ รอเบอร์ต เห็นว่า อาจอธิบายนโยบายคอมมิวนิสต์ได้ดั่งนี้คือ; การใช้หลักที่ว่า “ผู้ใดไม่ทำงาน ก็ไม่ให้กิน” แต่พวกกระฎุมพีขี้คร้าน โดยไม่มีความปราณีเลย และโดยนัยทั่วไปดำเนินตามแผนการที่กำหนดไว้ล่วงหน้าในอันจะใช้แรงงาน และกำลังทรัพย์สินทั้งปวงเพื่อว่าเมื่อได้เลิกล้างกรรมสิทธิ์เอกชน และการประดิษฐกรรมแบบแข่งขันแล้ว งานจะได้เปนความจำเปนอย่างหนึ่งแห่งชีวิต และมิใช่เปนแต่เพียงทางหาเลี้ยงเลี้ยงชีพเท่านั้น.

 

ส่วนนายกียองนั้นเห็นว่า การที่งานจะได้เปนความจำเปนอย่างหนึ่งแห่งชีวิตนั้น เนื่องมาจากการเลิกล้างกรรมสิทธิ์เอกชนและทรัพย์สินเอกชน. การบังคับให้คนทำงานทำนองเดียวกับที่มีอยู่ในกำหนดการณ์คอมมิวนิสต์นี้มีอยู่ในกำหนดการณ์ของคณพรรคการเมืองอื่น ๆ เช่น คณะนาซีเหมือนกัน. ส่วนการวางแผนการนั้น เปนทางดำเนินอย่างหนึ่ง หาใช่วัตถุที่หมายไม่.

คณะกรรมาธิการเปิดโอกาสให้หลวงประดิษฐฯ แสดงความเห็นในเรื่องบังคับคนให้ทำงานนี้ด้วยเหมือนกัน.

หลวงประดิษฐฯ : ฐานะการเปนไปในประเทศสยามนี้ ต่างกับที่เปนอยู่ในประเทศตวันตก ในประเทศสยาม คนชั้นกลาง (บูร์จัวส์) เปนคนที่ทำงานชาวนาเสียอีกมีเวลาว่างมาก ซึ่งชวนจะให้เกียจคร้าน และใช้เวลาที่ว่างนั้นในทางที่ไม่พึงปรารถนา เช่นการเสพย์สุรายาเมา และการปล้นสดมภ์เปนต้นซึ่งเราควรจะคิดแก้ไข อนึ่ง คนไม่มีงานทำในกรุงเทพฯ ก็มีมาก เขาทั้งหลายนี้จึงควรมีอาชีพเปนหลักแหล่ง จะได้เปนทางป้องกันมิให้คนเหล่านี้กระทำผิดทางอาญา ส่วนอาชีพนั้นจะให้เลือกเอาได้ตามชอบใจ ไม่บังคับว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เปนแต่ขอว่าให้มีอาชีพเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่ความปลอดภัยของประเทศ และเปนการมนุษยสงเคราะห์ตามแบบของสันนิบาตชาติ ข้าพเจ้ามีความมุ่งหมายแต่จะให้พลเมืองได้มีอาชีพและหางานให้พลเมืองทำเท่านั้น ความคิดที่ข้าพเจ้ามีอยู่นั้น ก็คือคิดจะให้ชาวนาเลี้ยงหมูเป็ดไก่ และปลูกผักกินเองบ้าง ดั่งได้เคยทำแล้วที่ภูเก็จ แต่ว่าการทั้งนี้ก็ต้องกระทำด้วยกฎหมายซึ่งจะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ คือคิดจะออกกฎหมายให้คนมีอาชีพ และบำรุงการศึกษาและวิชาชีพ.

 

 

๒๑. ประธานกรรมาธิการได้ถามความเห็นหลวงประดิษฐ ฯ เพิ่มเติมดังต่อไปนี้ :

ประธานกรรมาธิการ : คำมั่นที่คุณหลวงให้ไว้แก่รัฐบาลก่อนว่าจะไม่ใช้วิธีใหม่ใด ๆ ที่จะบังคับซื้อที่คืน และบังคับจ้างแรงงานเปนวิธีการบำรุงโภคกิจนั้น สำหรับรัฐบาลนี้ ก็ยังเปนการใช้ได้อยู่หรืออย่างไร ?

หลวงประดิษฐฯ : สำหรับรัฐบาลนี้ ก็เปนอันใช้ได้อย่างเดียวกัน การที่คิดจะบังคับให้คนมีอาชีพก็คิดจะดำเนินตามแบบมนุษย์สงเคราะห์ของสันนิบาตชาติเพื่อหางานให้คนทำ และให้คนมีอาชีพเท่านั้น หาได้คิดจะดำเนินตามวิธีการของคอมมิวนิสต์หรือของนาซีไม่.

๒๒. ประธานกรรมาธิการ : หลักความเห็นที่คุณหลวงแสดงมาทั้งนี้เปนหลักการที่คิดเห็นมาแต่ก่อน มิใช่ชั่วแต่ขณะนี้หรืออย่างไร

หลวงประดิษฐฯ : เปนหลักความเห็นที่คิดเห็นมาแต่ก่อน.

๒๓. ประธานกรรมาธิการ : คุณหลวงเปนสมาชิก หรือเกี่ยวพันกับคณะคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศอย่างไรหรือเปล่า ?

หลวงประดิษฐฯ : ไม่ได้เปนสมาชิกหรือเกี่ยวพันกับคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศอย่างไรเลย.

๒๔. ประธานกรรมาธิการ ถามเซอร์ รอเบอร์ต และนายกียองว่า หลวงประดิษฐฯ ได้แสดงความเห็นในลักษณะต่าง ๆ ของคอมมิวนิสต์ ดังที่มีอยู่ในบันทึกรวมนั้น ครบถ้วนทุกข้อแล้วหรือยัง ?

เซอร์ รอเบอร์ต และ นายกียอง : ครบถ้วนทุกข้อแล้ว.

๒๕. ประธานกรรมาธิการ ถามพระยาศรีสังกร และพระยานลราชฯ ว่า: จะตั้งข้อถามเพิ่มเติมอย่างไรหรือไม่ ?

พระยาศรีสังกร และพระยานลราชฯ : พอใจแล้ว ไม่ต้องการตั้งคำถามเพิ่มเติมอย่างไร

๒๖. ประธานกรรมาธิการ ขอให้คณะกรรมาธิการลงมติว่าตามที่ได้สอบสวนมานี้ เห็นว่าหลวงประดิษฐฯ ปราศจากมลทินในการที่ได้มีคำกล่าวหาในสมัยรัฐบาลพระยามโนฯ ว่าเปนคอมมิวนิสต์นั้น หรือไม่ ?

 

 

คณะกรรมาธิการลงมติเปนเอกฉันท์ว่า หลวงประดิษฐฯ ไม่มีมลทินเปนคอมมิวนิสต์ดังที่กล่าวหานั้นเลย.

 

วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๖.

 

วรรณไวทยากร วรวรรณ ประธานกรรมาธิการ

พระยาศรีสังกร กรรมาธิการ

พระยานลราชสุวัจน์ กรรมาธิการ-เลขาธิการ

 

An English translation of the Commission's Report has been communicated to us. The references which it contains to views expressed by us before the Commission are accurate.

คำแปล

คณะกรรมาธิการได้ส่งคำแปลภาษาอังกฤษแห่งรายงานของคณะกรรมาธิการมาให้เราแล้ว บันดาข้อความที่อ้างอิงถึงความเห็นซึ่งเราได้แสดงต่อคณะกรรมาธิการนั้นเปนอันถูกต้องแล้ว.

 

ร. กียอง

ผู้เชี่ยวชาญ.

(Expert) 

 

เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์

ผู้เชี่ยวชาญ.

(Expert) 

 

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำ การเว้นวรรค และเลขไทยตามต้นฉบับ

 

หลักฐานชั้นต้น

  • กรมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รายงานกรรมาธิการสอบสวนว่าหลวงประดิษฐมนูธรรมเปนคอมมิวนิสต์หรือไม่. น. 1-9.