Focus
- บทความนี้ของ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพียงไม่นานในต่างประเทศ และหลังจากนั้นได้ถูกนํามาตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง อาทิ ในหนังสือ อันเนื่องมาแต่ 6 ตุลา 2519 พิมพ์โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง เมื่อปี 2523 ถือเป็นหลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ทรงคุณค่าและสะท้อนข้อเท็จจริงใกล้เคียงกับวันเวลาที่่เกิดเหตุการณ์ชิ้นสำคัญผ่าน ดร.ป๋วย ผู้ที่มีประสบการณ์ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์บาดแผลในครั้งนั้น
เจตนาและความทารุณโหดร้าย
1. ในวันพุธที่ 6 ตุลาคม 2519 เวลาประมาณ 7.30 น. ตํารวจไทย โดยคําสั่งของรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช ได้ใช้อาวุธสงครามบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยิงไม่เลือกหน้า และมีกําลังของคณะกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และนวพล เสริม บ้างก็เข้าไปในมหาวิทยาลัยกับตํารวจ บ้างก็ล้อมมหาวิทยาลัยอยู่ข้างนอก เพื่อทําร้ายผู้ที่หนีตํารวจออกมาจากมหาวิทยาลัย ผู้ที่ถูกยิงตายหรือบาดเจ็บ ก็ตายไป บาดเจ็บไป คนที่หนีออกมาข้างนอก ไม่ว่าจะบาดเจ็บหรือไม่ ต้องเสี่ยงกับความทารุณโหดร้ายอย่างยิ่ง
บางคนถูกแขวนคอ บางคนถูกราดน้ำมันแล้วเผาทั้งเป็น คนเป็นอันมากก็ถูกซ้อม ปรากฏตามข่าวทางการว่าตายไป 40 กว่าคน แต่ข่าวที่ไม่ใช่ทางการ ว่าตายกว่าร้อย และบาดเจ็บหลายร้อย
ผู้ที่ยอมให้ตํารวจจับแต่โดยดีมีอยู่หลายพันคน เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หลายมหาวิทยาลัยเป็นประชาชนธรรมดาก็มี เป็นเจ้าหน้าที่และอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งได้รับคําสั่งให้เฝ้าดูอาคารสถานที่ และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยก็มิใช่น้อย
เมื่อนําเอาผู้ต้องหาทั้งหลายไปยังสถานีตํารวจและที่คุมขังอื่น มีหลายคนที่ถูกตํารวจซ้อมและทรมานด้วยวิธีต่าง ๆ บางคนถูกทรมานจนต้อง ให้การตามที่ตํารวจต้องการจะให้การและซัดทอดถึงผู้อื่น
2. เจตนาที่จะทําลายล้างพลังนักศึกษาและประชาชนที่ใช้เสรีภาพนั้นมีอยู่นานแล้ว ในตุลาคม 2516 เมื่อมีเหตุทําให้เปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นรูปประชาธิปไตยนั้น ได้มีผู้กล่าวว่า ถ้าฆ่านักศึกษาประชาชนได้สักหมื่นสองหมื่นคน บ้านเมืองจะสงบราบคาบ และได้สืบเจตนานี้ต่อมาจนถึง ทุกวันนี้ ในการเลือกตั้งเมษายน 2519 ได้มีการปิดประกาศและโฆษณาจากพรรคการเมืองบางพรรคว่า “สังคมนิยมทุกชนิดเป็นคอมมูนิสต์” และ กิตติวุฑโฒนวพลภิกขุ ยังได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า การฆ่าคอมมิวนิสต์นั้นไม่เป็นบาป ถึงแม้ในกันยายน-ตุลาคม 2519 เอง ก็ยังมีผู้กล่าวว่า การฆ่าคนที่มาชุมนุมประท้วงจอมพลถนอม กิตติขจร สัก 30,000 คน ก็เป็นการลงทุนที่ถูก
3. ผู้ที่ได้สูญเสียอํานาจทางการเมืองในเดือนตุลาคม 2516 ได้แก่ ทหารและตํารวจจบางกลุ่ม ผู้ที่เกรงว่าในระบบประชาธิปไตย ตนจะสูญเสียอํานาจทางเศรษฐกิจไป ได้แก่พวกนายทุนเจ้าของที่ดินบางกลุ่ม และผู้ที่ไม่ประสงค์จะเห็นระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย กลุ่มเหล่านี้ได้พยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะทําลายล้างพลังต่าง ๆ ที่เป็นปรปักษ์แก่ตนด้วยวิธีต่าง ๆ ทางวิทยุและโทรทัศน์ ทางหนังสือพิมพ์ ทางใบปลิวโฆษณา ทางลมปากลือกัน ทางบัตรสนเท่ห์ ทางจดหมาย ซึ่งเป็นบัตรสนเท่ห์ขู่เข็ญต่าง ๆ และได้ก่อตั้งหน่วยต่าง ๆ เป็นเครื่องมือ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในข้อ 20 และข้อต่อ ๆ ไป
วิธีการของบุคคลกลุ่มเหล่านี้คือ ใช้การปลุกผีคอมมูนิสต์โดยทั่วไป ถ้าไม่ชอบใครก็ป้ายว่าเป็นคอมมูนิสต์ แม้แต่นายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ หรือเสนีย์ หรือพระราชาคณะบางรูปก็ไม่เว้นจากการถูกป้ายสี อีกวิธีหนึ่งก็คือการอ้างถึง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมือในการป้ายสี ถ้าใครเป็นปรปักษ์ ก็แปลว่าไม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
4. ในกรณีของกันยายน-ตุลาคม 2519 นี้ เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร เข้ามาในประทศไทย ก็อาศัยกาสาวพักตร์ คือศาสนา เป็นเครื่องกําบัง และในการโจมตีนักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นข้ออ้าง
การแขวนคอ
5. จอมพลถนอมเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 กันยายน นักศึกษา กรรมกร ชาวไร่ชาวนา ประชาชนทั่วไปมีการประท้วง แต่การประท้วงคราวนี้ ผิดกับคราวก่อน ๆ ไม่เหมือนแม้แต่เมื่อคราวจอมพลประภาส จารุเสถียร เข้ามา คือกลุ่มผู้ประท้วงแสดงว่าจะให้โอกาสแก่รัฐบาลประชาธิปไตยแก้ปัญหาจะเป็นโดยให้จอมพลถนอมออกจากประเทศไทยไป หรือจะจัดการกับจอมพลถนอมทางกฎหมาย ในระหว่างนั้นก็ได้มีการปิดประกาศในที่สาธารณะต่าง ๆ เพื่อประณามจอมพลถนอม และได้มีการชุมนุมกันเป็นครั้งคราว (จนกระทั่งถึงวันที่ 4 ตุลาคม)
การปิดประกาศประท้วงจอมพลถนอมนั้น ได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มที่เป็นปรปักษ์ต่อนักศึกษาประชาชน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 คน และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 คน ถูกทําร้ายในการนี้ บางคนถึงสาหัส
ที่นครปฐม พนักงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2 คน ออกไปปิดประกาศประท้วงจอมพลถนอม ได้ถูกคนร้ายฆ่าตายและนําไปแขวนคอสาธารณะ ต่อมารัฐบาลยอมรับว่าคนร้ายนั้นคือตํารวจนครปฐมนั่นเอง
6. ในการประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอมนั้น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาได้รับความร่วมมือจาก “วีรชน 14 ตุลาคม 2516” คือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกันในตุลาคม 2516 (บางคนก็พิการตลอดชีวิต) และญาติของ “วีรชน” นั้น ๆ ญาติของวีรชนทําการประท้วงโดยนั่งอดอาหารที่ ทําเนียบรัฐบาลในราว ๆ ต้นเดือนตุลาคม แต่เจ้าหน้าที่ตํารวจและเจ้าหน้าที่ที่ทําเนียบพยายามขัดขวางด้วยวิธีต่าง ๆ ในวันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคมด้วยความร่วมมือของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชุมนุมพุทธศาสตร์ประเพณี ญาติวีรชนจึงได้ย้ายมาทําการประท้วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริเวณลานโพธิ์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยคาดว่าคงจะมีการก่อฝูงชนกันที่นั่นในวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม เป็นอุปสรรคต่อการสอบของนักศึกษาจึงได้มีหนังสือถึง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ ขอให้รัฐบาลจัดหาที่ที่ปลอดภัยให้ผู้ประท้วง ประท้วงได้โดยสงบและปลอดภัย
7. ในเที่ยงวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคมนั้นเอง เหตุการณ์ก็เป็นไปอย่างคาด คือได้เกิดการชุมนุมกันขึ้น มีนักศึกษาธรรมศาสตร์ นักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตลอดจนประชาชน ไปชุมนุมกันที่ลานโพธิ์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประมาณ 500 คน ได้มีการอภิปรายกันถึง (1) เรื่องจอมพลถนอม (2) เรื่อง การฆ่าพนักงานไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่นครปฐม และได้มีการแสดงการจับพนักงานไฟฟ้านั้นแขวนคอ โดยนักศึกษาสองคน คนหนึ่งชื่ออภินันท์ เป็นนักศึกษาศิลปศาสตร์ปีที่ 4 และเป็นสมาชิกชุมนุมการละคอนแสดงเป็นผู้ที่ถูกแขวนคอ
จากปากคําของอาจารย์หลายคน ที่ได้ไปดูการชุมนุมกันในเที่ยงวันจันทร์ ที่ 4 ตุลาคมนั้น ผู้แสดงแสดงได้ดีมาก ไม่มีอาจารย์ผู้ใดที่ไปเห็นแล้วจะสะดุดใจว่าอภินันท์แต่งหน้า หรือมีใบหน้าเหมือนเจ้าฟ้าชายมกุฎราชกุมารเป็นการแสดงโดยเจตนาจะกล่าวถึงเรื่องที่นครปฐมโดยแท้
เมื่ออธิการบดีลงไประงับการชุมนุมนั้น เป็นเวลาเกือบ 14 น. แล้ว การแสดงเรื่องแขวนคอนั้นเลิกไปแล้ว ก่อนหน้านั้นมีการประชุมคณบดีจนถึง เกือบ 13 น. อธิการบดีรับประทานอาหารกลางวันที่ตึกเศรษฐศาสตร์ราว ๆ 13 น. ถึง 13.30 น. พอกลับจากตึกเศรษฐศาสตร์จะไปห้องอธิการบดี เห็นว่า มีการชุมนุมกัน เป็นอุปสรรคต่อการสอบไล่ของนักศึกษา จึงได้ไปห้าม
8. รุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ หลายฉบับ ได้ลงรูปถ่ายการชุมนุม และการแสดงแขวนคอนั้น จากรูปหนังสือต่าง ๆ เห็นว่านายอภินันท์นั้นหน้าตาละม้ายคล้ายมกุฎราชกุมารมาก แต่ไม่เหมือนทีเดียว แต่ในภาพของหนังสือพิมพ์ดาวสยาม (ซึ่งเป็นปรปักษ์กับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาตลอดมา) รูปเหมือนมาก จนกระทั่งมีผู้สงสัยว่า ดาวสยามจะได้ไปจงใจแต่งรูปให้เหมือน
เรื่องนี้ สถานีวิทยุยานเกราะ (ซึ่งก็เป็นปรปักษ์กับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา และเคยเป็นผู้บอกบทให้หน่วยกระทิงแดงโจมตีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยอาวุธและลูกระเบิด เมื่อสิงหาคม 2518) ก็เลยนําเอามาเป็นเรื่องสําคัญ กล่าวหาว่าศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเป็นคอมมูนิสต์ เจตนาจะทําลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงได้พยายามแต่งหน้านักศึกษาให้เหมือนมกุฎราชกุมาร แล้วนําไปแขวนคอในการกระจายเสียงของยานเกราะนั้นได้มีการยั่วยุให้ฆ่ากันอยู่ในธรรมศาสตร์นั้นเสียยานเกราะได้เริ่มโจมตีเรื่องนี้เวลาประมาณ 18 น. ในวันอังคารที่ 5 ตุลาคม และได้มีการกระจายเสียงติดต่อกันมาทั้งคืนวันอังคารต่อเนื่องถึงเช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคม
การชุมนุมประท้วง 4 ตุลาคม 2519
9. ส่วนทางศูนย์กลางนิสิตนักศึกษานั้น ได้จัดให้มีการชุมนุมที่ สนามหลวงประท้วง (1) ให้รัฐบาลจัดการกับจอมพลถนอม กิตติขจร (2) ให้จับผู้ที่เป็นฆาตกรแขวนคอที่นครปฐมมาลงโทษ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม เป็นการทดลอง “พลัง” ตามที่นักศึกษากล่าว แล้วเลิกวันเสาร์ที่ 2 วันอาทิตย์ที่ 3 เพราะมีตลาดนัดที่ท้องสนามหลวง แล้วนัดชุมนุมกันอีก ในเย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม
การชุมนุมประท้วงดังกล่าว ได้ทราบจากนักศึกษาว่า กําหนดจัดกัน ในช่วงต้นเดือนตุลาคม เพราะเป็นระยะที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่เปลี่ยนตําแหน่งที่สําคัญ ๆ เนื่องจากมีผู้ครบเกษียณอายุไป 30 กันยายน ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาสืบทราบมาว่า อาจจะมีการกระทํารัฐประหารโดยนายทหารผู้ใหญ่บางกลุ่มที่ไม่พอใจการสับเปลี่ยนตําแหน่งที่สําคัญ จึงต้องการจะแสดงพลังนักศึกษาเป็นการป้องกันการรัฐประหาร ในขณะเดียวกันก็เพื่อเรียกร้อง ให้รัฐบาลกระทําสองอย่างข้างต้นฝ่ายทางสภากรรมกรก็กําหนดว่าจะมีการสไตรค์สนับสนุนการประท้วงเพียง 1 ชั่วโมงเป็นขั้นแรกในวันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม
เรื่องการชุมนุมประท้วงของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาที่สนามหลวงนั้น มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับไปถาม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีว่า ถ้าเขาจะมาชุมนุมกันที่ในธรรมศาสตร์ นายกรัฐมนตรีเห็นเป็นอย่างไร นายกรัฐมนตรีตอบว่า ถ้าย้ายไปชุมนุมกันที่ธรรมศาสตร์ก็จะดีมาก (ต่อมาหนังสือพิมพ์ได้มาถามอธิการบดีธรรมศาสตร์ว่าเห็นเป็นอย่างไรในคําตอบของ นายกรัฐมนตรี อธิการบดีตอบว่า ไม่ดีเลย)
10. ในการชุมนุมประท้วงที่สนามหลวง เย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคมนั้น เหตุการณ์ก็เหมือนกับการชุมนุมประท้วงในเดือนสิงหาคม เมื่อจอมพล ประภาสเข้ามา คือพอฝนตกเข้า ผู้ชุมนุมก็หักประตูทางด้านสนามหลวงเข้ามา ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่เวลา 20 น.
ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัย ได้ไปแจ้งความต่อตํารวจชนะสงคราม ตามระเบียบ ทางตํารวจชนะสงครามได้ส่งกําลังตํารวจประมาณ 40 คน ไปคุม เหตุการณ์ที่ด้านวัดมหาธาตุร่วมกับรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ชุมนุมประมาณ 25,000-40,000 คนนั้น ตํารวจ 40 คนคงจะทําอะไรมิได้ นอกจากจะใช้อาวุธห้ามผู้ชุมนุมมิให้เข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะเกิดจลาจล ซึ่งมิใช่สิ่งที่ใคร ๆ หรือรัฐบาลต้องการ ฉะนั้น จึงเป็นภาวะที่ต้องจํายอมให้เข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฝ่ายกระทิงแดงและนวพลนั้น ก็มาชุมนุมกันอยู่ที่วัดมหาธาตุอีกมุมหนึ่ง แต่เนื่องจากมีกําลังน้อยเพียงไม่กี่สิบคนจึงมิได้ทําอะไร ทางด้านศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาก็ชุมนุมค้างคืนอยู่ในธรรมศาสตร์ ตลอดมาจนถึงเช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคม ซึ่งเป็นเวลาที่เกิดเหตุ
11. ทางฝ่ายผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อมีประชาชนจํานวนมากไหลบ่ากันเข้ามาในเวลา 20 น. ของวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม ก็ได้ โทรศัพท์ไปหารือกับ ดร.ประกอบ หุตะสิงห์ องคมนตรี นายกสภามหาวิทยาลัย และด้วยความเห็นชอบของ ดร.ประกอบ ได้สั่งปิดมหาวิทยาลัยทันที ป้องกันมิให้นักศึกษาอื่นและอาจารย์ ข้าราชการมหาวิทยาลัย ต้องเสี่ยงต่ออันตราย (คราวจอมพลประภาสเข้ามา ได้มีการสั่งปิดมหาวิทยาลัยเมื่อมีการยิงกันและทิ้งระเบิดตายไป 2 ศพแล้ว) และได้โทรศัพท์หารือรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ ก็ได้รับความเห็นชอบ จึงมีหนังสือเป็นทางการ รายงานท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการทบวงอีกโสตหนึ่ง
ครั้นแล้ว ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ย้ายสํานักงานไปอาศัยอยู่ที่สํานักงานการศึกษาแห่งชาติชั่วคราว ทิ้งเจ้าหน้าที่รักษาทรัพย์สินและอาคารของมหาวิทยาลัยไว้ประมาณ 40-50 คน และได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่เหล่านั้นตลอดเวลาโดยทางโทรศัพท์และทางอื่น
การปลุกระดมมวลชนและกฎหมู่
12. ฝ่ายยานเกราะและสถานีวิทยุในเครือของยานเกราะ ก็ระดมปลุกปั่นให้ผู้ฟังเคียดแค้นนิสิตนักศึกษาประชาชนที่ประท้วงอยู่ในธรรมศาสตร์ ตลอดเวลา โดยข้ออ้างว่าจะทําลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยระดมหน่วยกระทิงแดง นวพล และลูกเสือชาวบ้าน ให้กระทําการ 2 อย่าง คือ (1) ทําลายพวก “คอมมูนิสต์” ที่อยู่ในธรรมศาสตร์ (2) ประท้วงรัฐบาลที่จัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยไม่ให้นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมบุญ ศิริธร ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
การทําลายพวก “คอมมูนิสต์” ในธรรมศาสตร์นั้นได้ใช้ให้กระทิงแดง และอันธพาลใช้อาวุธยิงเข้าไปในธรรมศาสตร์ ตั้งแต่เที่ยงคืนจนรุ่งเช้าของวันพุธที่ 6 ตุลาคม ฝ่ายทางธรรมศาสตร์ก็ได้ใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้เป็นครั้งคราว
13. การปลุกระดมของยานเกราะได้ผล ทางด้านรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการด่วนในตอนดึกของวันอังคารที่ 5 ตุลาคม และได้มีมติให้มีการนําตัวหัวหน้านักศึกษาและนายอภินันท์ ผู้แสดงละคอนแขวนคอมาสอบสวน
พอเช้าตรู่ของวันพุธที่ 6 ตุลาคม นายสุธรรม เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา พร้อมด้วยผู้นํานักศึกษาจํานวนหนึ่งกับนายอภินันท์นักแสดงละครแขวนคอ ได้ไปแสดงความบริสุทธิ์ใจที่บ้านนายกรัฐมนตรี เผอิญนายกรัฐมนตรีออกจากบ้านไปทําเนียบเสียก่อน นายกรัฐมนตรีจึงได้โทรศัพท์แจ้งให้อธิบดีกรมตํารวจคุมตัวนายสุธรรม นายอภินันท์และพวกไปสอบสวน ผู้เขียนบันทึกในขณะนี้ยังไม่ทราบผลของการสอบสวนดังกล่าว
14. การบุกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยตํารวจ ตามคําสั่งของนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นการกระทําของรัฐบาลโดยเอกเทศ มิได้มีการหารือกับ อธิการบดีเลย แม้ว่าในตอนดึกของวันอังคารที่ 5 ตุลาคม อธิการบดีจะได้พูดโทรศัพท์กับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีก็ตาม นายกรัฐมนตรีมิได้แจ้งให้อธิการบดีทราบว่ารัฐบาลจะเรียกตัวหัวหน้านิสิตนักศึกษาหรือนายอภินันท์มาสอบสวน ถ้านายกรัฐมนตรีประสงค์เช่นนั้น ก็มีวิธีที่จะเรียกตัวได้ให้มาสอบสวนโดยสันติ ไม่ต้องใช้กําลังรุนแรงจนควบคุมมิได้ และจนเกินกว่าเหตุ
15. การโจมตีนักศึกษาประชาชนที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เที่ยงคืนโดยมีการยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยจากภายนอกนั้น ได้ใช้กําลังตํารวจล้อมมหาวิทยาลัยตั้งแต่ 03.00 น. และได้เริ่มยิงเข้าไปอย่างรุนแรงโดยตํารวจตั้งแต่เวลา 05.00 น. ผู้ที่อยู่ในธรรมศาสตร์ขอให้ตํารวจหยุดชั่วคราว เพื่อให้ผู้หญิงที่อยู่ในมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสออกไป ตํารวจก็ไม่ฟัง
อาวุธในธรรมศาสตร์
16. ในการบุกธรรมศาสตร์นั้น วิทยุยานเกราะประโคมว่า ภายในธรรมศาสตร์มีอาวุธร้ายแรง เช่น ลูกระเบิด ปืนกลหนัก และอาวุธร้ายแรงอื่น ๆ ข้อนี้เป็นการกล่าวหาโดยปราศจากความจริงตั้งแต่ 2517 มาแล้ว แต่เมื่อมีเหตุการณ์ที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้แต่ละครั้ง เช่น เมื่อกระทิงแดงบุก ในเดือนสิงหาคม 2518 หรือเมื่อตํารวจบุกเข้าไปกวาดล้าง หลังจากการชุมนุม ประท้วงจอมพลประภาส ก็มิได้มีหลักฐานประการใดว่าได้มีอาวุธสะสมไว้ในธรรมศาสตร์
ถึงคราวนี้ก็ดี สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตํารวจนํามาแสดงว่าเป็นอาวุธที่จับได้ในธรรมศาสตร์ ก็มีแต่ปืนยาวสองกระบอก ปืนพก และลูกระเบิด หาได้มีอาวุธร้ายแรงขนาดปืนกลไม่ เป็นเรื่องที่สร้างข้อกล่าวหาจากอากาศธาตุทั้งสิ้น
ตั้งแต่ปลายปี 2517 เป็นต้นมา นักการเมืองและหัวหน้านักศึกษาบางคน มีความจําเป็นต้องพกพาอาวุธไว้ป้องกันตัว เพราะหน่วยกระทิงแดง และตํารวจ ทหาร ฆาตกร มักจะทําร้ายหัวหน้ากรรมกร หัวหน้าชาวนาชาวไร่ หัวหน้านักศึกษาและนักการเมืองอยู่เนือง ๆ และการฆ่าบุคคลเหล่านี้ ทางตํารวจไม่เคยหาตัวคนร้ายได้ (ขณะเดียวกัน ถ้าตํารวจฆ่าตํารวจ หรือ มีผู้พยายามฆ่านักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ตํารวจจับคนร้ายได้โดยไม่ชักช้า) พูดไปแล้ว การมีอาวุธไว้ป้องกันตัวในเมื่อรู้ว่าจะเสี่ยงต่ออันตราย ก็มีเหตุผลพอสมควร
ระหว่างคืนวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม จนถึงเช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคมนั้น นักศึกษาและประชาชนที่เข้ามาชุมนุมในธรรมศาสตร์ มีโอกาสที่จะนําอาวุธเหล่านั้นเข้าไปในมหาวิทยาลัยตลอดเวลา น่าเสียดายที่เจ้าหน้าที่ตํารวจมิได้ตั้งด่านสกัดค้นอาวุธ ทั้งทางด้านผู้ชุมนุมประท้วงและทางฝ่ายกระทิงแดงเสียแต่ต้นมือ และเท่าที่ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงตลอดมา ฝ่ายกระทิงแดงได้พก อาวุธร้ายในที่สาธารณะเนือง ๆ โดยเจ้าหน้าที่ตํารวจไม่กล้าห้ามหรือตรวจค้น ถึงกระนั้นก็ดี ผู้เขียนบันทึกนี้เห็นว่าการชุมนุมประท้วงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม ต้องกระทําโดยสันติและปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมาย และรับรองโดยรัฐธรรมนูญ
17. จากการ “สอบสวน” และ “สืบสวน” ของตํารวจและทางการ เท่าที่ปรากฏในเวลาที่เขียนบันทึกนี้ มีข้อกล่าวหาว่า ในธรรมศาสตร์มีอุโมงค์อยู่หลายแห่ง แต่เจ้าหน้าที่ก็มิได้แสดงภาพของอุโมงค์ให้ดูเป็นหลักฐาน เป็นการปั้นน้ำเป็นตัวสร้างข่าวขึ้นแท้ ๆ คุณดํารง ชลวิจารณ์ อธิบดีกรมโยธาธิการและประธานกรรมการสํารวจความเสียหายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้แจงเมื่อกลางเดือนตุลาคมว่า ไม่พบอุโมงค์ในธรรมศาสตร์เลย และย้ำว่าไม่มี เป็นข่าวลือทั้งนั้น อุทิศ นาคสวัสดิ์ กล่าวในโทรทัศน์ถึงห้องแอร์และส้วมที่อยู่บนเพดานตึก คงจะหมายถึงชั้นบนสุดของตึกโดม ซึ่งก็ไม่มีอะไรเร้นลับประการใด และใครเล่านอกจากอุทิศ นาคสวัสดิ์ จะไปใช้ส้วมบนเพดานตึก นอกจากนั้น อุทิศยังอุตส่าห์พูดว่า บรรดาผู้ที่ไปชุมนุมในธรรมศาสตร์นั้น ใช้รองเท้าแตะเป็นจํานวนมาก แสดงว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เพราะผู้ก่อการร้าย ใช้รองเท้าแตะ ถ้าเป็นเช่นนี้คนในเมืองไทย 40 ล้านคนซึ่งใช้รองเท้าแตะ ก็เป็นผู้ก่อการร้ายหมด ที่กล่าวถึงอุทิศ นาคสวัสดิ์นั้น เป็นตัวอย่างของโฆษก ฝ่ายยานเกราะเพียงคนเดียว คนอื่นและข้อใส่ร้ายอย่างอื่นทํานองเดียวกันยังมีอีกมากที่ใช้ความเท็จกล่าวหาปรปักษ์อย่างไม่มีความละอาย
กฎหมู่ทําลายประชาธิปไตย
18. ข้อเรียกร้องอีกข้อหนึ่งของยานเกราะและผู้ที่อยู่เบื้องหลังยานเกราะ คือ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งนายสมัครและนายสมบุญเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย และให้ขับไล่รัฐมนตรี “ฝ่ายซ้าย” 3 คนออก คือ นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ นายชวน หลีกภัย และนายดํารง ลัทธพิพัฒน์ เรื่องนี้ยานเกราะ เจ็บใจนัก เพราะเมื่อ ม.ร.ว.เสนีย์ลาออกในเดือนกันยายนนั้น สถานีวิทยุยานเกราะได้ระดมจ้างและวานชาวบ้านมาออกอากาศเป็นเชิงว่าเป็นมติมหาชน คนที่จ้างและวานมาให้พูดนั้น ก็พูดเกือบเป็นเสียงเดียวกันว่า ให้ ม.ร.ว.เสนีย์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่ให้กําจัดรัฐมนตรีที่ชั่วและเลวออก การกลับกลาย เป็นว่า ม.ร.ว.เสนีย์ นายกรัฐมนตรี กลับเอานายสมัครและนายสมบุญออกไปเป็นเชิงว่า นายสมัครและนายสมบุญซึ่งเป็นพรรคพวกกับยานเกราะนั้น เป็นคนเลวไป
19. ยานเกราะระดมกําลังเรียกร้องให้ลูกเสือชาวบ้าน, นวพล กระทิงแดง และกลุ่มอื่น ๆ ในเครือ ชุมนุมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเรียกร้องเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล การเรียกร้องกระทําตลอดคืนวันอังคารที่ 5 คาบเช้าวันพุธที่ 6 แล้วก็สามารถระดมพลเพื่อการเรียกร้องจัดตั้งรัฐบาลใหม่ต่อไป จนถึงเวลาบ่าย ม.ร.ว.เสนีย์จึงยอมจํานน และรับว่าจะคิดจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ตามคําเรียกร้อง
ต่อมาอีกประมาณ 1 หรือ 2 ชั่วโมง ก็มีการยึดอํานาจกระทํารัฐประหารขึ้นในเวลา 18 น.
20. เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ผู้ที่เป็นปรปักษ์กับพลังนักศึกษา กรรมกรและชาวไร่ชาวนา พยายามกล่าวหาว่า นักศึกษา กรรมกร และชาวไร่ชาวนา “ใช้วิธีปลุกระดมมวลชน” และ “ใช้กฎหมู่บังคับกฎหมาย” การกระทําของยานเกราะ กระทิงแดง นวพล และลูกเสือชาวบ้าน และกลุ่มต่าง ๆ นั้นเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่วิธี ปลุกระดมมวลชน และไม่ใช่การใช้กฎหมู่บวกกับอาวุธมาทําลายกฎหมาย
เรื่องที่กล่าวมานี้มิใช่จะเริ่มเกิดขึ้นในปี 2519 แต่เริ่มมาตั้งแต่ 2517 กระทิงแดงเป็นหน่วยที่ฝ่ายทหาร กอ.รมน. จัดตั้งขึ้นจากนักเรียนอาชีวะ ซึ่งบางคนก็เรียนจบไปแล้ว บางคนก็เรียนไม่จบ บางคนก็ไม่เรียน กอ.รมน. เป็นผู้จัดตั้งขึ้นเพื่อหักล้างพลังนักศึกษาตั้งแต่พวกเรากําลังร่างรัฐธรรมนูญอยู่ หนังสือพิมพ์ต่างประเทศลงข่าวอยู่เนือง ๆ และระบุชื่อ พันเอกสุตสาย หัสดินทร์ ว่าเป็นผู้สนับสนุน แต่ก็ไม่มีการปฏิเสธข่าว กอ.รมน. แต่เป็นผู้จัดตั้งเป็นผู้ฝึกอาวุธให้ นําอาวุธมาให้ใช้ และจ่ายเงินเลี้ยงดูให้จากเงินราชการลับ
และตั้งแต่กลางปี 2517 เป็นต้นมา หน่วยกระทิงแดงก็พกอาวุธ ปืนและลูกระเบิดประเภทต่าง ๆ อย่างเปิดเผย ไม่มีตํารวจหรือทหารจะจับกุม หรือห้ามปราม ไม่ว่าจะมีการประท้วงโดยสันติอย่างไรโดยนิสิตนักศึกษากระทิงแดงเป็นต้องใช้อาวุธขู่เข็ญเป็นการต่อต้านทุกครั้ง นับตั้งแต่การประท้วง บทบัญญัติบางมาตราของรัฐธรรมนูญในปี 2517 การประท้วงฐานทัพอเมริกัน ในปี 2517-2518 การบุกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเดือนสิงหาคม 2518 การประท้วงการกลับมาของจอมพลประภาสและจอมพลถนอมแต่ละครั้งจะต้องมีผู้บาดเจ็บล้มตายเสมอตลอดมาแม้แต่ช่างภาพหนังสือพิมพ์ที่พยายามถ่ายภาพกระทิงแดงพกอาวุธ ก็ไม่วายถูกทําร้าย ในการเลือกตั้งในเมษายน 2519 กระทิงแดงก็มีส่วนขู่เข็ญผู้สมัครรับเลือกตั้ง และในการโจมตีทําร้ายพรรคบางพรรคที่เขาเรียกกันว่าฝ่ายซ้ายหมดอาย
21. สมควรจะกล่าวถึง กอ.รมน. ในที่นี้ เพราะนอกจากจะเป็นผู้ชักนำกระทิงแดงให้ปฏิบัติการรุนแรงแล้ว ยังมีส่วนในการจัดตั้งกลุ่มและหน่วยอื่น ๆ เป็นประโยชน์แก่กลุ่มทหารด้วย เช่น นวพล ทั้งนี้โดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดินประเภทราชการลับตลอดเวลา
กอ.รมน. เดิมมีชื่อว่า บก.ปค. แปลว่า กองบัญชาการปราบคอมมูนิสต์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กอ.ปค. กองอํานวยการปราบคอมมูนิสต์ ต่อมาเมื่อรัฐบาลมีนโยบายที่จะคบกับประเทศคอมมูนิสต์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศเป็นองค์กรที่จอมพลประภาสตั้งขึ้น และเป็นมรดกตกทอดต่อมาถึงทุกวันนี้
ความสําเร็จของ กอ.รมน. วัดได้ดังนี้ เมื่อแรกตั้งประมาณ 10 ปีกว่ามาแล้ว เงินงบประมาณสําหรับ บก.ปค. มีอยู่ประมาณ 13 ล้านบาท และเนื้อที่ในประเทศไทยที่เป็นแหล่งคอมมูนิสต์ในการปฏิบัติงานของ บก.ปค. มีอยู่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปัจจุบันนี้ กอ.รมน. มีงบประมาณ กว่า 800 ล้านบาท และเนื้อที่ที่ประกาศเป็นแหล่งคอมมูนิสต์มีอยู่เกือบทั่วราชอาณาจักร ประมาณ 30 กว่าจังหวัด
การปราบคอมมูนิสต์ของ กอ.รมน. เป็นวิธีลับ ที่ปราบคอมมูนิสต์จริง ก็คงมีแต่ที่ปราบคนที่ไม่ใช่คอมมูนิสต์ก็มีมากตั้งแต่ก่อน 2516 มาแล้ว เรื่องถังแดงที่พัทลุง เรื่องการรังแกชาวบ้านทุกหนทุกแห่งมีอยู่ตลอด แล้วใส่ความว่าเป็นคอมมูนิสต์จึงทําให้ราษฎรเดือดร้อนทั่วไป และที่ทนความทารุณโหดร้ายต่อไปไม่ได้ เข้าป่ากลายเป็นพวกคอมมูนิสต์ไปก็มากมาย รัฐสภาประชาธิปไตยในปี 2517-2518 และ 2519 ในเวลาพิจารณางบประมาณของ กอ.รมน. แต่ละปีได้พยายามตัดงบประมาณออก หรือถ้าไม่ตัดออก ก็ให้ตั้งเป็นงบราชการเปิดเผยแทนที่จะเป็นงบราชการลับได้ประสบความสําเร็จเพียงบางส่วน กอ.รมน. ยังสามารถใช้เงินเกือบร้อยล้านบาทแต่ละปีเป็นงบราชการลับ ทำการเป็นปรปักษ์ต่อระบบประชาธิปไตยได้ตลอดมา
22. นวพล ถือกําเนิดมาจาก กอ.รมน. เช่นเดียวกับกระทิงแดง แต่เป็นหน่วยสงครามจิตวิทยา ไม่ต้องใช้อาวุธเป็นเครื่องมือสําคัญ แต่ทํางานร่วมกับกระทิงแดง เป็นองค์กรที่พยายามรวบรวม คหบดี นายทุน ภิกษุ ที่ไม่ใคร่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ให้ร่วมกันต่อต้านพลังนิสิต นักศึกษาและกรรมกร วิธีการก็คือ ขู่ให้เกิดความหวาดกลัวว่าทรัพย์สมบัติ ต่าง ๆ ของตนนั้นจะสูญหายไปถ้ามีการเปลี่ยนแปลง แม้จะเป็นไปตามระบบประชาธิปไตย เครื่องมือของนวพล คือ การประชุม การชุมนุม การเขียน บทความต่าง ๆ นายวัฒนา เขียววิมล ซึ่งเป็นผู้จัดการนวพล เป็นผู้ที่พลเอก สายหยุดชักจูงมารับใช้ กอ.รมน. จากอเมริกา มีผู้ที่เคยหลงเข้าใจผิดว่า นวพลจะสร้างสังคมใหม่ให้ดีขึ้นด้วยวิธีสหกรณ์ เช่น คุณสด กูรมะโรหิต ต้องประสบความผิดหวังไป เพราะนวพลประกาศว่าจะสร้างสังคมใหม่ แต่ ๆ แท้จริงต้องการสงวนสภาวะเดิมเพื่อประโยชน์ของนายทุนและขุนศึกนั่นเอง
23. ลูกเสือชาวบ้านก่อตั้งขึ้นมาโดยแสดงวัตถุประสงค์ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่แท้จริงเป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มนายทุน และขุนศึก โดยเห็นได้จากการเลือกตั้งในเมษายน 2519 ลูกเสือชาวบ้าน มีส่วนในการชักจูงให้สมาชิกและชาวบ้านทําการเลือกตั้งแบบลําเอียง วิธีนี้ เป็นวิธีที่อเมริกันเคยใช้อยู่ในเวียดนาม แต่ไม่สําเร็จ มาสําเร็จที่เมืองไทย เพราะใช้ความเท็จเป็นเครื่องมือ ว่าเป็นการจัดตั้งเพื่อชาติ ศาสนา พระมหา กษัตริย์ กระทรวงมหาดไทยมีส่วนสําคัญในการจัดตั้งลูกเสือชาวบ้านขึ้น มักจะใช้คหบดีที่มั่งคั่งเป็นผู้ออกเงิน เป็นหัวหน้าลูกเสือและการชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 6 ตุลาคมของลูกเสือชาวบ้านเป็นหลักฐานอย่างชัดในวัตถุประสงค์ของขบวนการนี้
24. นอกจากกระทิงแดง นวพล และลูกเสือชาวบ้านฝ่าย กอ.รมน. และมหาดไทยยังใช้กลุ่มต่าง ๆ เรียกชื่อต่าง ๆ อีกหลายกลุ่ม บางกลุ่มก็เป็น พวกกระทิงแดงหรือนวพลแอบแฝงมา เช่น ค้างคาวไทย ชุมนุมแม่บ้านผู้พิทักษ์ชาติไทย เป็นต้น เครื่องมือปฏิบัติงานของกลุ่มเหล่านี้ ได้แก่ บัตรสนเท่ห์ ใบปลิว โทรศัพท์ขู่เข็ญ เป็นต้น
25. ฆาตกรรมทางการเมืองได้เริ่มมาตั้งแต่กลางปี 2517 โดยผู้แทน ชาวไร่ชาวนาและกรรมกร ถูกลอบทําร้ายทีละคนสองคนต่อมาก็ถึงนักศึกษา เช่น อมเรศ และนักการเมือง เช่น อาจารย์บุญสนอง บุณโยทยาน แต่ละครั้ง ตํารวจไม่สามารถหาตัวคนร้ายได้ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าตํารวจคงจะมีส่วนร่วมนักการเมืองแน่ ๆ เพราะถึงที่มีผู้ร้ายทําร้ายตํารวจหรือนักการเมืองฝ่ายขวา ตํารวจจับได้ โดยไม่ชักช้า
26. ในตอนที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นได้เริ่มมีการครอบคลุมสื่อมวลชน คือหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ทางวิทยุและโทรทัศน์นั้น พลตรีประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคชาติไทยเป็นผู้คุมอยู่ ผู้ที่พูดวิทยุและโทรทัศน์ได้จะต้องเป็นพวกของตน ถ้าไม่ใช่พวกไม่ยอมให้พูด และต้องโจมตีนักศึกษา กรรมกร ชาวนา อาจารย์ มหาวิทยาลัย ขาประจําเรื่องนี้ได้แก่ ดุสิต ศิริวรรณ ประหยัด ศ. นาคะนาท ธานินทร์ กรัยวิเชียร อุทิศ นาคสวัสดิ์ ทมยันตี อาคม มกรานนท์ พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ เป็นต้น และการครอบคลุมเช่นนี้มีมาจนกระทั่งทุกวันนี้
27. นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่มีเจตนาบริสุทธิ์ ต้องการประชาธิปไตย ต้องการช่วยเหลือผู้ยากจน แก้ไขความอยุติธรรมในสังคม ฉะนั้นพลังนิสิตนักศึกษาจึงเป็นพลังที่สําคัญสําหรับประชาธิปไตย และข้อกล่าวหาว่านิสิตนักศึกษาทําลายชาตินั้น เป็นข้อกล่าวหาที่บิดเบือนป้ายสีเพื่อทําลายพลังที่สําคัญนั้น แต่ในสภาวการณ์ในปี 2518-19 ฝ่ายนิสิตนักศึกษาก็ไม่มีวิธีการผิดแผกไปจากตุลาคม 2516 เมื่อทํางานได้ผลใน 2516 นักการเมืองต่าง ๆ พากันประจบนิสิตนักศึกษา อยากได้อะไรก็พยายามจัดหาให้ ถึงกับสนับสนุน ให้ออกไปตามชนบทเพื่อ “สอนประชาธิปไตย” ในโลกนี้ไม่มีที่ไหน ใครจะสอนประชาธิปไตยกันได้ และนักศึกษาโอหัง เมื่อออกไปตามชนบทก็สร้างศัตรูไว้ โดยไปด่าเจ้าหน้าที่คหบดี ชาวบ้านต่าง ๆ ต่อมานักศึกษาก็ยังคิดว่าพลังของตนนั้นมีพอที่จะต่อต้านองค์การต่าง ๆ ใหม่ ๆ ของ กอ.รมน. มหาดไทย และนายทุนขุนศึก จับเรื่องต่าง ๆ ทุกเรื่องให้เป็นเรื่องใหญ่ พร่ําเพรื่อ ๆ จนประชาชนเกิดความเบื่อหน่าย เช่นชุมนุมกันที่ใดก็ต้องมีการด่ารัฐบาลไม่ว่า รัฐบาลไหน เรื่องการถอนทหารอเมริกันก็จัดชุมนุมแล้วชุมนุมอีก แม้ว่ารัฐบาลจะได้สัญญาว่าจะมีกําหนดถอนไปหมดแน่ การจัดนิทรรศการก็จัดแต่เฉพาะ เป็นการโอ้อวดประเทศคอมมูนิสต์ เป็นต้น
ที่ที่นักศึกษาไม่มีความเกรงใจก็คือ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้มหาวิทยาลัยพร่ําเพรื่อจนเกินไป และทําให้ มหาวิทยาลัยล่อแหลมต่ออันตรายแห่งเดียว แทนที่จะกระจายฐานของนักศึกษาให้แพร่หลายออกไป ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเรื่องต้อง ขัดแย้งกับนักศึกษามากครั้งบ่อยที่สุด แต่ที่สําคัญที่สุดนั้นคือ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแทนที่จะเปลี่ยนวิธีการยังใช้วิธีการเดิมแทนที่จะปลูกนิยมในหมู่ประชาชนกลับนึกว่าประชาชนเข้าข้างตนอยู่เสมอ แทนที่จะบํารุงพลังให้กล้าแข็งขึ้น กลับทําให้อ่อนแอลงพบปัญหาขณะกําลังบันทึกภาพหน้าจอ อธิการบดีและที่ประชุมอธิการบดี
28. เมื่อมีข่าวว่าจอมพลถนอมจะเข้าประเทศไทยนั้น ผู้เขียนได้รับบทเรียนจากคราวที่จอมพลประภาสเข้ามาเมืองไทยเดือนสิงหาคม จึงได้เห็นว่า มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะต้องได้รับความกระทบกระเทือนแน่ จึงได้เรียกประชุมอธิการบดีทั้งหลายที่ทบวงมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ โดยรัฐมนตรีทบวงเห็นชอบด้วยที่ประชุมอธิการบดีได้มีมติตอนต้นเดือนกันยายน ให้เสนอขอให้รัฐบาลพยายามกระทําทุกอย่าง มิให้จอมพลถนอมเข้ามาในประเทศไทย เพราะจะทําให้เกิดความยุ่งยากในการศึกษา และจะทําให้สูญเสียการเรียน ในขณะเดียวกันก็มีข้อตกลงกันภายในระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งหลายว่า ถ้าจอมพลถนอมเข้ามาจริง แต่ละมหาวิทยาลัยก็ต้องใช้ดุลยพินิจว่า มหาวิทยาลัยใด ควรปิดมหาวิทยาลัยใดควรเปิดต่อไป ทั้งได้วางมาตรการร่วมกันหลายประการ
29. เมื่อจอมพลถนอมเข้ามาจริงในวันที่ 19 กันยายน ผู้เขียนในฐานะประธานในที่ประชุมอธิการบดีสําหรับ 2519 ได้เรียกประชุมอธิการบดี อีกทันทีในวันที่ 20 กันยายน โดยมีรัฐมนตรีทบวงร่วมด้วยที่ประชุมได้ เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเรื่องจอมพล ถนอมโดยด่วน และขอทราบว่ารัฐบาลจะทําเด็ดขาดอย่างไร เพื่อจะได้ชี้แจงให้นักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยทราบ เป็นการบรรเทาปัญหาทางด้านนักศึกษา แต่รัฐบาลหาได้ตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ เพียงแต่ออกแถลงการณ์อย่างไม่มีความหมายอะไร ต่อมาได้มีการประชุมอธิการบดีเรื่องนี้อีก 2 ครั้ง แต่ละครั้งก็ไม่ได้รับคําตอบจากรัฐบาลเป็นที่แน่นอนอย่างไร ดร.นิพนธ์ ศศิธร รัฐมนตรีทบวงได้ให้ความพยายามอย่างมากและเห็นใจอธิการบดีทั้งหลายในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ประสบความสําเร็จในอันที่จะให้คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีแสดงท่าทีอย่างไร
30. ในคืนวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม เมื่อนักศึกษาและประชาชนหักเข้ามาในธรรมศาสตร์นั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ประกาศปิดมหาวิทยาลัย ตามที่ได้กล่าวมาข้อ 11. ทั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลงกันในที่ประชุมอธิการบดีต่อมา ในคืนวันอังคารที่ 5 ตุลาคม ผู้เขียนได้พูดโทรศัพท์กับ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ในเวลาประมาณ 23 น. ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีตั้งใครที่มีอํานาจเจรจากับนักศึกษา ไปเจรจาในธรรมศาสตร์ เพราะที่แล้วมารัฐบาลเป็นเพียงฝ่ายรับ คือเมื่อนักศึกษาต้องการพบนายกรัฐมนตรีจึงให้พบ ผู้เขียนเสนอว่าการตั้งผู้แทนนายกรัฐมนตรีไปเจรจากับนักศึกษานั้น จะช่วยให้การชุมนุมสลายตัวได้ง่ายขึ้น นายกรัฐมนตรีตอบว่าจะต้องนําความหารือในคณะรัฐมนตรีก่อน หลังจากนั้น ผู้เขียนปลดโทรศัพท์ออกกระทั่งรุ่งเช้า เพราะเหตุว่า ในคืนวันนั้นได้มีผู้โทรศัพท์ไปด่าผู้เขียนอยู่ตลอดคืน
พอรุ่งเช้าก็เกิดเรื่องหลังจากนั้น
31. ก่อนหน้านั้นได้มีการนัดหมายอยู่แล้วว่า จะมีการประชุมสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม เวลา 10 น. ดร.ประกอบ หุตะสิงห์ นายกสภามหาวิทยาลัยเป็นประธานในที่ประชุม ท้ายการประชุมนั้น ผู้เขียนได้แถลงลาออกจากตําแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยอ้างว่า จะอยู่เป็นอธิการบดีต่อไปไม่ได้ เพราะนักศึกษาและตํารวจได้ถูกทําร้ายถึงแก่ความตายมากมาย สภามหาวิทยาลัยก็แสดงความห่วงใยในความปลอดภัยส่วนตัวของอธิการบดี
32. ในตอนบ่ายมีเพื่อนฝูง อาจารย์หลายคน แนะให้ผู้เขียนเดินทาง ออกไปจากประเทศไทยเสีย เพราะยานเกราะก็ดี ใบปลิวก็ดี ได้ยุยงให้มีการประชาทัณฑ์อธิการบดีธรรมศาสตร์ทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้เขียนเห็นว่าอยู่ไปก็ไม่เป็นประโยชน์ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ระวังกระสุนจึงตัดสินใจว่าจะไปอยู่กัวลาลัมเปอร์ ดูเหตุการณ์สักพักหนึ่ง เพราะขณะนั้นยังไม่มีการรัฐประหาร
33. เครื่องบินไปกัวลาลัมเปอร์จะออกเวลา 18.15 น. ผู้เขียนได้ไปที่ดอนเมืองก่อนเวลาเล็กน้อย ปรากฏว่าเครื่องบินเสีย ต้องเลื่อนเวลาไป 1 ชั่วโมง จึงนั่งคอยในห้องผู้โดยสารขาออก ต่อมาปรากฏว่ามีผู้เห็นผู้เขียนและนําความไปบอกยานเกราะ ยานเกราะจึงประกาศให้มีการจับกุมผู้เขียน และยุให้ลูกเสือชาวบ้านไปชุมนุมที่ดอนเมือง ขัดขวางมิให้ผู้เขียนออกเดินทางไปเวลาประมาณ 18.15 น. ได้มีตํารวจชั้นนายพันโทตรงเข้ามาจับผู้เขียนโดยที่กําลังพูดโทรศัพท์อยู่ ได้ใช้กิริยาหยาบคายตบหูโทรศัพท์ร่วงไป แล้ว บริภาษผู้เขียนต่าง ๆ นานา บอกว่าจะจับไปหาอธิบดีกรมตํารวจ ผู้เขียนก็ ไม่ได้โต้ตอบประการใด เดินตามนายตํารวจนั้นออกมาบรรดา สห. ทหารอากาศ และตํารวจกองตรวจคนเข้าเมือ ได้ออกความเห็นว่า ไม่ควรนําตัวผู้เขียนออกไปทางด้านห้องผู้โดยสารขาออก เพราะมีลูกเสือชาวบ้านอยู่เป็นจํานวนมาก เกรงว่าจะมีการทําร้ายขึ้นจึงขออนุญาตทางกองทัพอากาศจะขอนําออกทางสนามกอล์ฟกองทัพอากาศระหว่างที่คอยคําสั่งอนุญาตนั้น ตํารวจทั้งหลายได้คุมตัวผู้เขียนไปกักอยู่ในห้องกองตรวจคนเข้าเมืองทางด้านผู้โดยสารขาเข้า
34. เมื่อถูกกักตัวอยู่นั้น ตํารวจกองปราบฯ ได้ค้นตัวผู้เขียน ก็ไม่เห็นมีอาวุธอย่างใด มีสมุดพกอยู่เล่มหนึ่ง เขาก็เอาไปตรวจ และกําลังอ่านหนังสือ Father Brown ของ G.K. Chesterton อยู่ เขาก็เอาไปตรวจกระเป๋าเดินทางก็ตรวจจนหมดสิ้น
35. นั่งคอยคําสั่งให้เอาตัวไปคุมขังอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง ระหว่างนั้นได้ทราบแล้วว่ามีการปฏิวัติรัฐประหารขึ้น ก็นึกกังวลใจว่าเพื่อนฝูงจะถูกใส่ความ ได้รับอันตรายหลายคน ส่วนตัวของตัวเองนั้นก็ปลงตกว่า แม้ชีวิตจะรอดไปได้ ก็คงต้องเจ็บตัว ประมาณ 20 น. ตํารวจมาแจ้งว่า มีคําสั่งจากเบื้องบนให้ปล่อยตัวได้ และให้เจ้าหน้าที่จัดหาเครื่องบินให้ออกเดินทางไปต่างประเทศ ขณะนั้นเครื่องบินที่จะไปกัวลาลัมเปอร์หรือสิงคโปร์ออกไปเสียแล้วมีแต่เครื่องบินไปยุโรปหรือญี่ปุ่น จึงตัดสินใจไปยุโรปนายตํารวจที่เอาสมุดพกไปตรวจ นําสมุดพกมาคืนให้ ผู้เขียนก็ขอบใจเขา แล้วบอกเขาว่า คุณกําลังจะทําบาปอย่างร้าย เพราะผมบริสุทธิ์จริง ๆ นายตํารวจผู้นั้นกล่าวว่า นักศึกษาที่เขาจับไปนั้น 3 คนให้การซัดทอดว่า ผู้เขียนเป็นคนกํากับการแสดงละครแขวนคอในวันจันทร์ที่ 4 โดยเจตนา ทําลายล้างพระมหากษัตริย์ และเติมด้วยว่า นักศึกษาที่ให้การซัดทอดนั้นพวกกระทิงแดงเอาไฟจี้ที่ท้อง จึง “สารภาพ” ซัดทอดมาถึงผู้เขียน
36. ระหว่างที่นั่งรอคําสั่งอยู่นั้น มีอาจารย์ผู้หญิงของธรรมศาสตร์ที่เป็นนวพลเข้ามานั่งอยู่ 2 คน นัยว่าต้องการเข้ามาเยาะเย้ย แต่ผู้เขียนจําเขา ไม่ได้ เลยไม่ได้ผล และขณะนั้นก็มีคําสั่งให้ปล่อยตัวเดินทางได้แล้ว เข้าใจว่า อาจารย์ทั้งสองคืออาจารย์ราตรี และอาจารย์ปนัดดา ต่อมาอีกสักครู่ นายวัฒนา เขียววิมล ก็เข้ามาในห้องที่ผู้เขียนถูกคุมขังอยู่ เคยรู้จักกันมาก่อน เขาจึงเข้ามาทัก ผู้เขียนก็ทักตอบ แต่แล้วก็หันไปจัดการจองเครื่องบินกับเจ้าหน้าที่ นายวัฒนาอยู่สักครู่เล็ก ๆ ก็ออกไป
การปฏิวัติรัฐประหาร
37. คณะที่กระทําการปฏิวัติ เรียกตนเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครอง” เพื่อมิให้ฟังเหมือนกับการ “ปฏิวัติ” ของจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอม ที่แล้วมาซึ่งเป็นที่เบื่อหน่ายของประชาชน แต่ความจริงก็เป็นการปฏิวัติ รัฐประหารนั่นเองโดยทหารกลุ่มหนึ่งโดยมีพลเรือนเป็นใจด้วย เพราะ (1) ได้มีการล้มรัฐธรรมนูญ (2) ได้มีการล้มรัฐสภา (3) ได้มีการล้มรัฐบาล โดยผิดกฎหมาย (4) คําสั่งของหัวหน้าคณะ “ปฏิรูป” เป็นกฎหมาย (5) มีการจับกุมปรปักษ์ทางการเมืองโดยพลการเป็นจํานวนมาก และยังมี ลักษณะอื่น ๆ มา ๆ ที่ไม่ผิดแผกแตกต่างไปจากการปฏิวัติรัฐประหารที่แล้ว
38. มีพยานหลักฐานแสดงว่า ผู้ที่ต้องการจะทํารัฐประหารนั้น มีอยู่อย่างน้อย 2 ฝ่าย ฝ่ายที่กระทํารัฐประหารเมื่อเวลา 18 น. วันที่ 6 ตุลาคม กระทําเสียก่อนเพื่อต้องการมิให้ฝ่ายอื่น ๆ กระทําได้ ข้อนี้อาจจะเป็นจริง เพราะปรากฏว่า พลเอกฉลาด หิรัญศิริ นักทํารัฐประหารถูกปลด และไปบวชอาศัยกาสาวพักตร์อยู่ที่วัดบวรนิเวศน์เช่นเดียวกับจอมพลถนอม (วัดบวรนิเวศน์ ต่อไปนี้คงจะจํากันไม่ได้ ว่าแต่ก่อนเป็นวัดอย่างไร) และพลโทวิฑูร ยะสวัสดิ์ ก็รีบรับคําสั่งไปประจําตําแหน่งพลเรือนที่ประเทศญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตาม ยังเป็นปฏิวัติรัฐประหารอยู่วันยังค่ำ
39. ตามประเพณีการรัฐประหารของไทยในระยะ 20 ปีที่แล้วมาคณะรัฐประหารจัดให้มีการปกครองออกเป็น 3 ระยะ (ก) ระยะที่ 1 เพิ่งทําการรัฐประหารใหม่ ๆ มีการล้มรัฐธรรมนูญล้มรัฐสภาจับรัฐมนตรีและศัตรูทางการเมือง ประกาศตั้งหัวหน้าและคนรอง ๆ ไป ตั้งที่ปรึกษาฝ่ายต่าง ๆ เช่น การต่างประเทศ เศรษฐกิจ ฯลฯ ให้ปลัด กระทรวงทําหน้าที่รัฐมนตรี ออกประกาศและคําสั่งต่าง ๆ เป็นต้น ระยะนี้เป็นระยะที่เผด็จการมากที่สุด (ข) ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มีธรรมนูญการปกครอง ตั้งคณะรัฐมนตรีตั้งสภาออกกฎหมายโดยสภาแต่ยังเป็นระยะที่เผด็จการอยู่มาก เพราะคณะรัฐมนตรีก็ดี รัฐสภาที่แต่งตั้งขึ้นก็ดี หัวหน้าปฏิวัติยังเป็นผู้คุมอยู่ (ค) ระยะที่ 3 เป็นระยะที่รัฐสภาแต่งตั้งนั้นได้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เสร็จแล้ว จะมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร แต่หัวหน้าปฏิวัติยังสามารถ บันดาลให้การเลือกตั้งนั้น ลําเอียงเข้าข้างตนเอง แต่ระยะเวลาจะกินเวลาเท่าใดนั้น แล้วแต่หัวหน้าคณะปฏิวัติ เช่น สมัยจอมพลสฤษดิ์ ระยะที่ 2 กินเวลากว่า 10 ปี การจับกุมศัตรูทางการเมืองและใช้อํานาจเผด็จการนั้น ทุกเมื่อทุกระยะโดยอาศัยกฎหมายป้องกันการกระทําอันเป็นคอมมูนิสต์ และอาศัยธรรมนูญการปกครองหรือรัฐธรรมนูญ (ปกติมาตรา 17) ให้อํานาจแก่หัวหน้าคณะปฏิวัติและนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่
40. ในการรัฐประหารปัจจุบัน ระยะที่ 1 กินเวลาตั้งแต่ 6 ตุลาคม ถึง 22 ตุลาคม นับแต่นั้นมาเราอยู่ในระยะที่ 2 ขณะนี้แต่นายกรัฐมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียร ยังขยายความต่อไปอีกว่า ระยะที่ 2 จะกินเวลา 4 ปี และระยะที่ 3 จะแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนละ 4 ปี โดยจะกุมอํานาจไว้ต่อไปในระยะที่ 3 ตอนต้น “เพื่อให้เวลาประชาชนไทยสามารถเรียนรู้การใช้สิทธิตามระบบประชาธิปไตย”
41. การรัฐประหารปัจจุบัน มีข้อแตกต่างจากการรัฐประหารที่แล้วมา อยู่ 3 ข้อใหญ่ ๆ คือ (1) หัวหน้าปฏิวัติไม่เป็นนายกรัฐมนตรีเสียเองกลับแต่งตั้งพลเรือนเป็นนายกรัฐมนตรี และมีการแต่งตั้งล่วงหน้า 14 วัน (2) ตามธรรมนูญการปกครองที่ประกาศใช้เมื่อ 22 ตุลาคม 2519 (เขาเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญ) นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีอิสรภาพในการบริหาร น้อยกว่าที่แล้วมา เพราะมีสภาที่ปรึกษา (ทหารล้วน) ค้ําอยู่ และ (3) มีการเทอดทูนความเท็จในทางปฏิวัติมากกว่าคราวก่อน ๆ
42. ในการรัฐประหารแต่ละครั้งในประเทศไทย หัวหน้าปฏิวัติเป็นนายทหารบก คราวนี้หัวหน้าเป็นนายทหารเรือ และรองก็เป็นนายทหารอากาศเป็นที่เข้าใจกันว่า พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นผู้ที่ถูกอุปโหลกขึ้นมามากกว่า เพราะนิสัยใจคอและลักษณะการคุมกําลังนั้น คงจะไม่ทําให้คุณสงัดกระทํารัฐประหารได้เอง การที่รีบตั้งพลเรือนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนที่จะเป็นเสียเองก็ทําให้เกิดความฉงนมากขึ้น ปัญหาที่มีผู้กล่าววิจารณ์กันมากก็คือ ใครเล่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารคราวนี้ ซึ่งรู้สึกว่ากระทํากันแบบรีบด่วน อาจจะวางแผนไว้ก่อนหน้าแล้ว แต่รู้สึกว่ารีบจัดทําขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม หลังจากฆาตกรรมในธรรมศาสตร์นั่นเองจะว่าพวกของพลเอกฉลาด ก็ไม่ใช่จะว่าพวกของพลโทวิฑูร ก็ไม่ใช่ จอมพลถนอมก็ยังไม่ออกหน้ามา และคงจะไม่แสดงหน้าออกมา จะเป็นใครเล่า เป็นประเด็นที่นักประวัติศาสตร์คงจะค้นหาความจริงได้
43. รัฐธรรมนูญ 22 ตุลาคม ก็ยังให้อํานาจแก่นายกรัฐมนตรีอย่าง กว้างขวาง เช่น จะใช้อํานาจตุลาการลงโทษผู้ใดก็ได้ตามอําเภอใจตามมาตรา 21 ซึ่งถอดมาจากมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองเดิม แต่คราวนี้มีสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมาค้ําคอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (มาตรา 18 และมาตรา 21) สภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ “คณะปฏิรูปการปกครอง” นั่นเอง คือเป็นกลุ่มนายทหารและตํารวจ (1 คน) ที่ยึดอํานาจเมื่อ 6 ตุลาคม 2519
44. มาตรา 8 ของ “รัฐธรรมนูญ” เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของบุคคล มีข้อความประโยคเดียว คือ “บุคคลมีสิทธิเสรีภาพภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” และเราก็พอจะทราบว่าใครเป็นผู้บัญญัติกฎหมายนอกจากนั้น ในทางปฏิบัติเท่าที่เป็นมา ประชาชนจะไม่มีสิทธิ์ทราบ ความจริงอย่างไรเลย นอกจาก “ข้อเท็จจริง” ที่รัฐบาลอนุญาตให้ทราบได้ เพราะ “คณะปฏิรูป” ได้ตั้งกรรมการขึ้น 2 คณะ คณะหนึ่งเป็นผู้วินิจฉัยว่าจะอนุญาตให้หนังสือพิมพ์ใดบ้างออกตีพิมพ์ได้ และอีกคณะหนึ่งเป็นผู้เซ็นเซอร์ หนังสือพิมพ์ที่ออกได้ บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการทั้ง 2 คณะนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการกล่าวเท็จเขียนเท็จทั้งนั้น และหนังสือพิมพ์ที่ได้รับอนุญาตให้ออกจําหน่ายได้ก็มีแต่หนังสือที่เชี่ยวชาญในความเท็จ
ฉะนั้นในระยะนี้และระยะต่อไปนี้ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะหมดสิ้นเมื่อใด หนังสือพิมพ์ของเมืองไทย ส่วนใหญ่จะมีแต่ความเท็จเป็นเกณฑ์เชื่อถือไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ดาวสยาม ลงข่าวว่านายตํารวจตามจับนายคําสิงห์ ศรีนอกแล้ว นายทหารได้หลักฐานยืนยันว่า คําสิงห์กับป๋วยกับเสน่ห์กับ สุลักษณ์ ไปประชุมกันที่โคราชกับ เค จี บี เพื่อทําลายชาติ ศาสนา พระมหา กษัตริย์แล้วลงรูปถ่ายหมู่มีฝรั่งอยู่ด้วย อ้างว่าเป็น เค จี บี (รัสเซีย) ความจริงนั้นรูปถ่ายหมู่ถ่ายที่เขื่อนน้ำพรม การประชุมนั้นเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนผามอง ผู้ร่วมประชุมนอกจากอาจารย์มหาวิทยาลัย ชาวบ้าน ข้าราชการ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นแล้วยังมีผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตด้วย
และคนที่ดาวสยามอ้างว่าเป็นรัสเซีย เค จี บี นั้น คือนายสจ๊วต มีแซม ชาวอเมริกัน ศาสนาคริสเตียน นิกายเควกเก้อ ขณะนั้นเป็นผู้อํานวยการสัมมนาของเควกเก้ออยู่ที่สิงคโปร์ เวลานี้เควกเก้ออยู่ที่สิงคโปร์ เวลานี้กลับไปอเมริกาแล้ว ความเท็จที่หนังสือพิมพ์เหล่านี้ค้าอยู่มีอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2517 ส่วนวิทยุโทรทัศน์นั้นก็ยังค้าความเท็จอยู่ตลอดเวลาเช่นเดิม ในคืนวันที่ 5 ต่อวันที่ 6 ตุลาคม สถานีวิทยุ ท.ท.ท. ได้พยายามเสนอข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงอย่างเป็นกลาง
แต่สถานีวิทยุยานเกราะไม่พอใจเพราะ ท.ท.ท. เสนอความจริง ทําให้การปลุกระดมของยานเกราะเสียหายจึงได้ประณาม ท.ท.ท. อยู่ตลอดเวลาด้วยครั้นมีการรัฐประหารขึ้นก็ได้มีการปลดผู้รับผิดชอบทาง ท.ท.ท. ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ออก โดยไม่มีเหตุผลเป็นอันว่าจะหาความจริงจากหนังสือพิมพ์หรือวิทยุโทรทัศน์เมืองไทย มิได้เลย แม้แต่ข่าวว่าตํารวจหรือทหารได้จับใครต่อใครไปบ้าง หรือใครข้ามไปลาว หรือใครทําอะไร อยู่ที่ไหน พูดว่าอย่างไร นอกจาก “ข่าว” ที่ “รัฐบาล” ป้อนให้
คณะรัฐมนตรี 22 ตุลาคม 2519
45. นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี เป็นคนสะอาดบริสุทธิ์เท่าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการแผ่นดินเป็นผู้ที่ได้ออกวิทยุโทรทัศน์แบบนิยม “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” และสอนกับเขียนหนังสือเกี่ยวกับการต่อต้าน ปราบปรามคอมมูนิสต์มากพอสมควร จนมีผู้กล่าวกันว่าเป็น “ขวาสุด” เมื่อยังหนุ่ม ๆ อยู่ กลับจากศึกษาที่ประเทศอังกฤษใหม่ ๆ นายธานินทร์ เป็นผู้ที่รักการเขียนอยู่เป็นนิสัยแล้วได้เขียนบทความหลายเรื่อง โดยอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของไทย ครั้งนั้นวงการตุลาการมีเสียงกล่าวหาว่านายธานินทร์เป็นคอมมูนิสต์ จะด้วยเหตุนั้นกระมังที่มีปฏิกิริยาต่อต้านคอมมูนิสต์อย่างไม่หยุดยั้งนายธานินทร์มีความรู้ดี มีสติปัญญาเฉียบแหลม และรู้ตัวว่าฉลาดและสามารถ ปัญหามีอยู่ว่าจะทนให้สภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีค้ําคออยู่ได้นานเท่าใด เฉพาะอย่างยิ่งถ้าสภาที่ปรึกษานั้นเข้าข้างคนทุจริตในราชการ หรือทําการทุจริตเสียเอง
46. ในคณะรัฐมนตรี ฝ่ายทหารสงวนตําแหน่งไว้ 3 ตําแหน่ง คือ รองนายกรัฐมนตรี 1 รัฐมนตรีกลาโหม 1 และรัฐมนตรีช่วยกลาโหม 1 ทั้ง 3 ตําแหน่งนี้ไม่ต้องกล่าวถึง รัฐมนตรีมหาดไทย ก็เหมาะสมกับฉายาของกระทรวงนี้ที่เราเรียกกันว่ากระทรวงมาเฟีย มีรัฐมนตรีเป็นข้าราชการประจํา ไม่ถึงชั้นปลัดกระทรวงได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี 8 คน คือ รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย รัฐมนตรีต่างประเทศ พาณิชย์ ยุติธรรม ศึกษาธิการ สาธารณสุข และทบวงมหาวิทยาลัย รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 และรัฐมนตรียุติธรรม เป็นเพื่อนส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเลือกมาจากประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รัฐมนตรีว่าการเกษตรเป็นข้าราชการบํานาญอายุ 77 ปี รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรมเป็นข้าราชการบํานาญทหารอากาศ รัฐมนตรีว่าการคมนาคมเป็นเจ้าของรถเมล์ขาวมาแต่เดิม ทั้ง 4 คนนี้ คงจะทําหน้าที่ได้ตามสมควร ตามความประสงค์ของสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แต่เท่าที่ได้ทราบมา นายกรัฐมนตรีได้ทาบทามผู้อื่นก่อน และได้รับการปฏิเสธมาหลายราย รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีโกหกเก่ง และโกหกจนได้ดี
47. คนอื่น ๆ ที่โกหกเก่ง แต่น่าเสียใจที่ยังไม่ได้ดี คือ ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ อาคม มกรานนท์ ทมยันตี วัฒนา เขียววิมล อุทาร สนิทวงศ์ ประหยัด ศ. นาคะนาท และเพื่อน ๆ ของเขาอีกหลายคนที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ นักพูด วิทยุและโทรทัศน์อะไรจะเกิดขึ้น
48. ผู้เขียนได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไว้เมื่อเดือนกันยายน (ซึ่งบางตอนได้นํามาถ่ายทอดใน Far Eastern Economic Review ว่า ถ้าเกิดปฏิวัติ รัฐประหารขึ้นในประเทศไทยจะมีนักศึกษา อาจารย์ นักการเมือง กรรมกร ชาวนาชาวไร่ เข้าป่าไปสมทบกับพวกคอมมูนิสต์ (ทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นคอมมูนิสต์) อีกเป็นจํานวนมาก เท่าที่ฟังดูในระยะยี่สิบวันที่แล้วมาก็รู้สึกเป็นจริงตามนั้น ยังมีเหตุร้ายแรงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกระทบกระเทือนทั่วไปหมด มิใช่แต่นักศึกษาธรรมศาสตร์เท่านั้น ยิ่งมีช่องทางเป็นจริงมากขึ้น
49. ข้อที่น่าเสียดายสําหรับคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่ใฝ่ในเสรีภาพ ก็คือ เหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่เปิดโอกาสให้เขามีทางเลือกที่ 3 เสียแล้ว ถ้าไม่ทําตัวสงบเสงี่ยมคล้อยตามอํานาจเป็นธรรม ก็ต้องเข้าป่าไปทํางานร่วมกับคอมมูนิสต์ ใครที่สนใจในเรื่องสันติวิธี ประชาธิปไตย และเสรีภาพ จะต้องเริ่มต้นใหม่ เบิกทางให้แก่หนุ่มสาวรุ่นนี้และรุ่นต่อ ๆ ไป
50. ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า ทหารทั้งหลายยังแตกกันและยังแย่งทํารัฐประหาร สภาพการณ์ก็คงจะเป็นอยู่เช่นนั้น แม้ว่าตัวการคนหนึ่งจะหลบไปบวช และอีกคนหนึ่งไปญี่ปุ่นจะทําอย่างไรให้เกิด “ความสามัคคี” ในหมู่ทหาร ซึ่งหมายความว่าเป็น “ความสามัคคีในชาติ” ได้ น่าคิดว่าบทบาทของจอมพล ถนอม กิตติขจร น่าจะยังมีอยู่ อาจจะสึกออกมารับใช้บ้านเมืองเพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นได้อย่างที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาหลายครั้งหลายหน เช่น พระมหาธรรมราชา เป็นต้น
51. เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรทางด้านการเมืองก็ตาม เป็นที่แน่ชัดว่า โครงการสร้างระบบประชาธิปไตย 3 ระยะ 12 ปี ของคุณธานินทร์ กรัยวิเชียร กับพวก คงจะไม่เป็นไปตามนั้น “เสี้ยนหนามศัตรู” ของรัฐบาลนี้มีหลายทาง หลายฝ่ายนัก อะไรจะเกิดขึ้นก็ได้ และสภาวะบ้านเมืองก็คงจะอํานวยให้เกิดขึ้นได้หลายอย่าง ข้อที่แน่ชัดก็คือ สิทธิเสรีภาพพื้นฐานจะถูกบั่นทอนลงไป สิทธิของกรรมกร ชาวไร่ชาวนา จะด้อยถอยลง และผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนที่สุด คือประชาชนพลเมืองธรรมดานั่นเอง
52. เมื่อกรรมกรไม่มีสิทธิ์โต้แย้งกับนายจ้าง เมื่อการพัฒนาชนบท แต่ละชนิดเป็นการ “ปลุกระดมมวลชน” เมื่อมีการปฏิรูปที่ดินเป็นสังคมนิยม เมื่อราคาข้าวจะต้องถูกกดต่ําลง เมื่อไม่มีผู้แทนราษฎรเป็นปากเสียงให้ราษฎร เมื่อผู้ปกครองประเทศเป็นนายทุนและขุนศึก การพัฒนาประเทศและการดําเนินงานเศรษฐกิจและสังคมของประเทศคงจะเป็นไปอย่างเดิมตามระบบ ที่เคยเป็นมาก่อน 2516 ฉะนั้นพอจะเดาได้ว่า ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนจะมีมากขึ้นทุกที โดยช่องระหว่างคนมีกับคนจนจะกว้างขึ้น และชนบทและแหล่งเสื่อมโทรมจะถูกทอดทิ้งยิ่งขึ้น ส่วนชาวกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ ๆ ที่ร่ํารวยอยู่แล้วจะรวยยิ่งขึ้น ความฟุ้งเฟ้อจะมากขึ้นตามส่วนการปฏิรูปการศึกษา การกระจายสาธารณสุขไปสู่ชนบท การกระจายอํานาจการปกครองท้องถิ่นอย่างดี ก็จะหยุดชะงัก ปัญหาสังคมของประเทศไทยจะมีแต่รุนแรงขึ้น
53. ทางด้านการต่างประเทศ อเมริกาคงจะมีบทบาทมากขึ้นในประเทศไทย โดยใช้เป็นหัวหอกต่อสู้กับประเทศคอมมูนิสต์เพื่อนบ้านของเรา ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นภาคีในองค์การอาเซียนคงดีใจ เพราะได้สมาชิกใหม่ที่เป็นเผด็จการด้วยกัน แล้วยังเป็นด่านแรกต่อสู้คอมมูนิสต์ให้เขาด้วย ภายในรัฐบาลไทยเอง ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคอมมูนิสต์คงจะไม่ราบรื่นนัก จะเห็นได้จากการที่เอาปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และอธิบดีกรมการเมืองออกจากราชการ นัยว่าพวกทหารไม่ชอบเพราะไปทําญาติดีกับญวน เขมร และลาว โดยสมรู้ร่วมคิดกับรัฐมนตรี ต่างประเทศคนก่อน การ “ปราบ” ญวนอพยพคงจะมีต่อไป การวิวาทกับลาวและเขมรเรื่องเขตแดนหรือเรื่องอื่น ๆ ที่หาได้ง่าย คงจะเป็นเรื่องจริงจัง ขึ้นมา ปัญหามีอยู่ว่าจะเป็นเรื่องวิวาทเฉพาะประเทศเล็ก ๆ ด้วยกันอย่างเดียวหรือจะชักนํามหาอํานาจให้เข้ามาร่วมทําให้ลุกลามต่อไป
54. ผู้เขียนรู้สึกว่าเท่าที่เขียนมานั้น ค่อนข้างจะเป็นเรื่องเศร้า น่าสลดอนาคตมืดมน ใครเห็นแสงสว่างบ้างในอนาคต
โปรดบอก
28 ตุลาคม 2519
หมายเหตุ :
- บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในต่างประเทศ หลังจากนั้นได้ถูกนํามาตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้งในประเทศไทย เช่น ในหนังสือ อันเนื่องมาแต่ 6 ตุลา 2519 พิมพ์โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง ปี 2523
- คงอักขร การสะกด และการเว้นวรรคตามต้นฉบับ
ภาคผนวก
บางส่วนของภาพชุดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จากคุณปฐมพร ศรีมันตะ
ที่มา : เว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา