ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สืบทอดเจตนารมณ์ประชาธิปไตยรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์

14
สิงหาคม
2567
 

Focus

  • สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ เล่าประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยนับตั้งแต่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จนถึงเหตุการณ์ที่นักศึกษาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับขบวนการสันติภาพหรือต่อมาคือกบฏสันติภาพในปี 2495 มาจนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และชี้ว่าตนได้รับการสืบต่อแนวคิดประชาธิปไตยมาจากนายปรีดี พนมยงค์
  • สัมผัสให้การเคารพนายปรีดีในหลายประการทั้งในมิติได้ปักธงประชาธิปไตยลงบนผืนแผ่นดินไทย และได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงก้าวหน้าและก้าวขยายไปสู่ประชาชนตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นเสาหลักประชาธิปไตยโดยแท้ และมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองซึ่งเป็นฐานที่มั่นประชาธิปไตย

 

 

จากซ้ายคือ ปาล พนมยงค์, อารีย์ อิ่มสมบัติ, สิงหชัย บังคดานรา (เจ้าของนามปากกา นเรศ นโรปกรณ์) และสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ นักศึกษาที่ถูกจับในกรณีกบฏสันติภาพ เมื่อ พ.ศ. 2495

 

วัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม เป็นวันรำลึกถึงท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้มีบุญคุณต่อประชาชาติไทยและผู้ก่อกำเนิดประชาธิปไตยแก่สยามประเทศ ซึ่งทำให้ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยมาจนถึงปัจจุบันด้วยปณิธานที่รำลึกเกียรติคุณ หนุนกตเวที สามัคคีปวงประชา เพื่อชาติและราษฎรไทย ซึ่งเป็นคำขวัญชมรม ต.ม.ธ.ก.สัมพันธ์

ในขณะเดียวกันก็ให้หวนนึกถึงเหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ที่คณะทหารกลุ่มหนึ่งทําการรัฐประหารยึดอํานาจปกครองทําให้รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ต้องลี้ภัยการเมืองไปจากผืนแผ่นดินไทยตลอดชีวิตท่านทําให้พวกเราต้องหวนอาลัยถึงท่านด้วยความเคารพรักตลอดเวลาไม่เพียงแต่เท่านั้นรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ยังเป็นเหตุให้ประเทศชาติที่กําลังเข้าสู่ความเป็นเอกราช ประชาธิปไตยถอยหลังกลับไปสู่ยุคที่ปกครองด้วยอํานาจเผด็จการทหารหันกลับไปสู่ความด้อยพัฒนาและเข้าสู่ยุคมืดที่ประชาชน

ในทางกลับกันก็เป็นเหตุการณ์ที่ให้บทเรียนแก่การต่อสู้ทางการเมืองนับตั้งแต่รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24  มิถุนายน 2475 ถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 61 ปีมาแล้ว นั้นว่าการต่อสู้ระหว่างอํานาจเผด็จการกับประชาชนผู้รักประชาธิปไตยหาได้หยุดยั้งเลยไม่ถึงแม้จะถูกคุกคามปราบปรามอย่างไรก็ไม่ทําให้การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยของประชาชนถดถอยแต่อย่างใด แต่กลับจะพัฒนาก้าวขยายและลงลึกสู่ประชาชนกว้างขวางยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นบทเรียนที่แสดงให้เห็นว่า กาลเวลาที่ล่วงเลยไปแล้วนั้นย่อมไม่อาจหวนทวนกลับมาได้อีก แต่สําหรับเผด็จการนั้น แม้กาลเวลาจะผ่านล่วงเลยไปเผด็จการย่อมที่จะหวนทวนกลับมาได้อีกเสมอเพราะอํานาจเผด็จการที่ครองอํานาจปกครองประเทศมาเป็นเวลานับร้อย ๆ ปี ย่อมไม่อาจที่จะยอมวางอํานาจหรือขุดรากถอนโคนให้หมดสิ้นไปได้โดยง่าย ภายในระยะเวลาสั้น ๆ เผด็จการหน้าเก่าสิ้นไปหน้าใหม่ก็เข้ามาแทนเพื่อรักษา อํานาจเผด็จการไว้ จนกว่าจะสูญสิ้นไปด้วยพลังประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตย

การต่อสู้กับอํานาจเผด็จการเป็นกระบวนการต่อสู้ของประชาชนที่ยาวนานในช่วงระยะเวลาประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ไม่อาจสถาปนาขึ้นได้ง่าย ๆ ดังใจคิดหรือเพียงแค่ได้อํานาจปกครองประเทศแล้วเท่านั้น หากแต่ จะต้องผ่านกระบวนการต่อสู้ทางความคิดการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สืบทอดต่อกันไปด้วยเลือดด้วยชีวิตที่ดุเดือดยาวนาน คนแล้วคนเล่าตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน และสืบต่อไปในอนาคต

ดังนั้น เมื่อรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ได้ปักธงประชาธิปไตยลงบน ผืนแผ่นดินไทย และได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงก้าวหน้าและก้าวขยายไปสู่ประชาชนตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นเสาหลักประชาธิปไตยโดยแท้ และมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองซึ่งเป็นฐานที่มั่นประชาธิปไตยจึงตกเป็นเป้าหมายของการถูกบ่อนทําลายเพื่อมิให้ประชาธิปไตยเจริญเติบโตบนผืนแผ่นดินไทยด้วยอํานาจเผด็จการตลอดมา

 

เมื่อประชาธิปไตยเติบโต เผด็จการจ้องทําลาย

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงด้วยการยอมพ่ายแพ้สงครามของญี่ปุ่นต่อฝ่ายสัมพันธมิตร สันติภาพกลับคืนมา การปกครองด้วยอํานาจเผด็จการทหารในระหว่างสงครามโลกยุคเชื่อผู้นําชาติพ้นภัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยุติลง ประเทศไทยได้กลับคืนสู่ประเทศที่มีเอกราชอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นผลอันสืบเนื่องจากการต่อสู้กู้ชาติกับการรุกรานจากญี่ปุ่นของขบวนการเสรีไทยที่มีรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยร่วมกับประชาชน ผู้รักชาติ ประเทศไทยที่บอบช้ําจากสงครามทั้งเศรษฐกิจการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ได้เข้าสู่ภาวะแห่งสันติ ประชาธิปไตย และการบูรณะฟื้นฟูประเทศ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีการก่อตั้งพรรคการเมืองและเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งมีสมาชิกพฤฒสภาที่มาจากการเลือกตั้งของ ส.ส. ระยะหนึ่งตามบทเฉพาะกาลซึ่งขณะนั้นมีพรรคการเมืองใหญ่ 4 พรรค คือพรรคแนวรัฐธรรมนูญ มีพลเรือตรีหลวงธํารงนาวาสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าพรรค พรรคสหชีพ มี ดร.เดือน บุนนาค เป็นหัวหน้าพรรค พรรคอิสระ มีอาจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ เป็นหัวหน้าพรรค และพรรคประชาธิปัตย์ มี พ.ต. ควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรครณรงค์เลือกตั้ง

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคแนวรัฐธรรมนูญ พรรคสหชีพ และพรรคอิสระซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรทางการเมืองกันและมีสมาชิกส่วนใหญ่มาจากผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 อดีตพลพรรคขบวนการเสรีไทย และผู้ที่สําเร็จจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นส่วนใหญ่ประสบชัยชนะเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาลโดยมีพลเรือตรีหลวงธํารงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ประสบความปราชัยทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพฤฒสภา

รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สําเร็จราชการและได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโสเกียรติภูมิของท่านเป็นที่ยกย่องสรรเสริญทั้งภายในประเทศและนานาประเทศในฐานะผู้นําทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและผู้นําขบวนการเสรีไทยที่ได้ต่อสู้กู้ชาติจากการรุกรานของญี่ปุ่นร่วมกับประเทศสัมพันธมิตรจนประสบชัยชนะทําให้ประเทศไทยได้เป็นประเทศที่มีเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ด้วยความปรีชาสามารถของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์

ขณะที่ประชาชนทั่วประเทศกําลังแซ่ซ้องสรรเสริญร่าเริงด้วยบรรยากาศแห่งสันติภาพ เอกราช ประชาธิปไตย “รัฐประหาร” 8 พฤศจิกายน 2490 ก็ได้ฟาดเปรี้ยงลงมา โดยคณะนายทหารบกกลุ่มหนึ่งที่มีจอมพลผิน ชุณหะวัณ นายทหารนอกราชการเป็นหัวหน้าสมคบกับนักการเมืองศักดินายึดอํานาจปกครองประเทศจากรัฐบาลที่พลเรือตรีหลวงธํารงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากรัฐประหารแล้วก็ได้แต่งตั้ง พ.ต. ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรีและในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนเป็นจอมพล ป. พิบูลสงคราม

 

“รัฐประหาร” 8 พฤศจิกายน 2490 ทําให้ประเทศไทยที่เป็น เอกราช สันติภาพ ประชาธิปไตยเปลี่ยนโฉมหน้าไปในฉับพลัน

กําลังรถถังที่นําโดย ร.ท. ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้บุกเข้าจู่โจมทําเนียบ ท่าช้างซึ่งเป็นที่พํานักของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ในกลางดึกของวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ด้วยความหมายมั่นที่จะทําลายรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรมท่านจึงรอดพ้นไปได้แต่เพื่อให้ท่านต้องมีชะนักติดตัวตลอดไปได้ถูกนํากรณีสวรรคตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 มาใส่ร้ายท่านโดยหวังที่จะอาศัยสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพของประชาชนมาทําลายรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ให้พินาศไป เข่นฆ่านักการเมืองที่มีความคิดก้าวหน้า ประชาธิปไตยที่เป็นแกนนํา ประชาชนและสนับสนุนรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ดังเช่นการสังหาร 4 อดีต รัฐมนตรี คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล, จําลอง ดาวเรือง, และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ถูกจับกุมและนําไปยิงทิ้งขณะอยู่ในรถยนต์ตํารวจที่ถนนพหลโยธิน ก.ม. 14 บางเขน ส.ส. พร มะลิทอง ถูกจับยิงทิ้งที่จังหวัดสมุทรสงคราม ส.ส.เตียง ศิริขันธ์ ถูกจับนําไปยิงทิ้งและเผาซากศพที่ในป่าจังหวัดกาญจนบุรี ดร.ทวี ตะเวทิกุล และพ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ถูกยิงทิ้งขณะถูกจับกุมเป็นอาทิ

หมายมุ่งทําลายมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเป็นสถาบันที่เป็นฐานกําลังสําคัญของระบอบประชาธิปไตยด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้ง ลิดรอนสิทธิ คุกคาม ข่มขู่ บ่อนทําลาย ปราบปราม แบ่งแยกทําลายความคิด อย่างชนิดที่เรียกว่าครบวงจร เพื่อให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้หายสิ้นไปเลยทีเดียว นับตั้งแต่ลิดรอนสิทธิผู้ที่สําเร็จปริญญาธรรมศาสตร์ มิให้เข้าเป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภามิให้สิทธิเข้ารับราชการตําแหน่งปลัดอําเภอ และเป็นนายตํารวจชั้นสัญญาบัตรตามสิทธิที่เคยได้รับลงโทษลบชื่อนักศึกษาที่คัดค้านคําสั่งระเบียบมหาวิทยาลัยและผู้ที่เคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายรัฐบาลส่งบุคคลในคณะรัฐประหารเข้าดํารงตําแหน่งบริหารมหาวิทยาลัยตั้งแต่ตําแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ เลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ จนถึงหัวหน้าส่วนเพื่อควบคุมมหาวิทยาลัยและนักศึกษา ส่งสายลับติดตาม คุกคามการเคลื่อนไหวนักศึกษาเปลี่ยนชื่อจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็น ธรรมศาสตร์ โดยตัดคําว่าการเมืองออกเพื่อมิให้นักศึกษาเรียนรู้หรือมีความคิดทางการเมือง แยกสลายการรวมตัวของนักศึกษาด้วยการแบ่งแยกนักศึกษาออกเป็นคณะต่าง ๆ เพื่อมิให้นักศึกษารวมตัวกันและง่ายต่อการปกครองตามวิธีการที่ฝรั่งตะวันตกใช้ปกครองเมืองขึ้น ส่งกําลังทหารเข้าควบคุมมหาวิทยาลัยโดยใช้กรมการรักษาดินแดนเข้ามาตั้งสถานที่ทําการที่อาคารตึกโดมด้านซ้ายมือซึ่งเป็นคณะรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ขณะนี้

ในที่สุดได้ส่งกําลังทหารเข้ายึดครองทั้งมหาวิทยาลัยหลังจากเกิดเหตุการณ์กบฏแมนฮันตันเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2494 โดยให้นักศึกษาคณะธรรมศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ไปเรียนที่อาคารสํานักงานเนติบัณฑิตยสภาที่อยู่บริเวณศาลแพ่งใต้ปัจจุบัน ส่วนคณะบัญชีและคณะพาณิชยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ไปเรียนที่อาคารโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจุฬาลงกรณ์ และท้ายที่สุดของการทําลายล้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองก็คือ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ซื้อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองด้วยจํานวนเงิน 5 ล้านบาทเพื่อใช้เป็นสถานที่ทางราชการทหาร

 

รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย เอามหาวิทยาลัยคืนมา

ทันทีที่ข่าวซื้อมหาวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นสถานที่ทางราชการทหารด้วยมติคณะรัฐมนตรี ได้แพร่สะพัดออกไปเท่านั้นเองได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่ทุกคนไม่อาจอดทนอีกต่อไปได้แล้ว เพราะมันหมายถึงชีวิตและอนาคตที่จะต้องประสบ กับความมืดมน จิตใจที่ขมขื่นตลอดมาจากการถูกคุกคาม ข่มขู่ปราบปราม ลิดรอน สิทธิต่าง ๆ นานา ด้วยความไม่เป็นธรรม จนถึงขั้นยุบเลิกมหาวิทยาลัยด้วยอํานาจเผด็จการเช่นนี้ จึงถึงจุดที่ทุกคนต้องสู้อย่างชนิดเป็นอย่างไรเป็นกันถ้าไม่ได้มหาวิทยาลัยคืนมาภายใต้คําขวัญว่า

“รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย เอามหาวิทยาลัยของเราคืนมา”

“ถ้าขาดโดมเจ้าพระยาท่าพระจันทร์ ก็เสมือนขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม”

อนาคตขึ้นอยู่กับการต่อสู้ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีที่จะต่อสู้กับอํานาจเผด็จการเพื่อให้ได้มหาวิทยาลัยคืนมา จึงได้ผุดและเกิดขึ้นด้วยพลังนักศึกษาและประชาชนที่รักความเป็นธรรม “คณะกรรมการนักศึกษาเพื่อรณรงค์ให้ได้มหาวิทยาลัยคืนมา” จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างลับ ๆ เพื่อเป็นแกนนําการต่อสู้เรียกร้องให้ได้มหาวิทยาลัยคืนมาโดยยึดถือหลักการต่อสู้เรียกร้องด้วยสันติวิธีและอาศัยพลังนักศึกษาประชาชนที่รักความเป็นธรรมเป็นพลังการต่อสู้ซึ่งได้แบ่งแยกภาระหน้าที่ออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งมุ่งไปสู่ประชาชนโดยเฉพาะศิษย์เก่าและนักศึกษาที่ทํางานอยู่ตามหน่วยราชการและองค์การต่าง ๆ ฝ่ายที่สองมุ่งไปสู่หนังสือพิมพ์และผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฝ่ายที่สามมุ่งไปสู่นักการเมืองโดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอให้ช่วยเหลือสนับสนุนการต่อสู้เพื่อให้ได้มหาวิทยาลัยคืนมาของนักศึกษาในครั้งนี้ด้วยปรากฏว่าได้รับการสนองรับจาก ทุกฝ่ายด้วยความเห็นอกเห็นใจอย่างท่วมท้นเป็นเหตุให้นายเพทาย โชตินุชิต ส.ส. จังหวัดธนบุรีขณะนั้นยื่นกระทู้ถามรัฐบาล คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลมหาวิทยาลัยอยู่ในขณะนั้นโดยสภาผู้แทนราษฎรได้กําหนดตอบกระทู้ถามของ ส.ส.เพทาย โชตินุชิต ในวันที่ 11 ตุลาคม 2494

 

11 ตุลาคม 2494 ต้นกำเนิดขบวนการนักศึกษาไทย

เช้าตรู่วันที่ 11 ตุลาคม 2494 ถนนทุกสายที่ไปสู่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เต็มไปด้วยนักศึกษาชาย หญิง ทั้งศิษย์เก่าและนักศึกษาปัจจุบัน ร่วมด้วยประชาชนต่างมุ่งหน้าไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อฟังคำตอบกระทู้ของรัฐบาลด้วยความระทึกใจ ด้วยความหวังที่จะได้รับคำตอบจากรัฐบาลว่าจะคืนมหาวิทยาลัยให้แก่นักศึกศึกษาเพื่ออนาคตของนักศึกษาจำนวนหมื่นที่กำลังศึกษาอยู่ หรือถ้าไม่ยอมคืนให้เพื่อความดำรงอยู่ของอำนาจเผด็จการที่ต้องการกำจัดมหาวิทยาลัยแห่งนี้ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนให้สิ้นไปแล้ว จะทำอย่างไร

ผลคำตอบกระทู้ถามของ ส.ส.เพทาย โชตินุชิต โดยพลโทสวัสดิ์ ส.สวัสดิ์เกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สรุปได้ว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่ไม่สามารถคืนมหาวิทยาลัยให้ได้

พอสุดสิ้นเสียงคำตอบจากรัฐบาลเท่านั้น บรรดานักศึกษาที่เรียงรายอยู่รอบ ๆ บริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อฟังคำตอบจากรัฐบาล ด้วยหัวใจที่รู้สึกตรงกันว่า ไม่ยอม เป็นอย่างไรเป็นกัน ถ้าไม่ได้มหาวิทยาลัยคืนมา ต่างลุกวิ่งฮือตรงไปยังสนามหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อได้ยินเสียงตะโกนดังขึ้นว่า “มาทางนี้ ๆ จอมพล ป.ลงมาทางบันไดหน้าพระที่นั่งฯ แล้ว” และในทันใดนั้นเอง จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีก็ตกอยู่ในวงล้อมของนักศึกษาจำนวน 3 พันกว่าคน ที่บริเวณสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมท่ามกลางแสงแดดจ้าอย่างที่ไม่อาจหลบเลี่ยงได้

สายตาของนักศึกษาทุกคนจ้องเขม็งไปที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม อย่างไม่หวาดหวั่นพรั่นกลัวใด ๆ ทั้งสิ้น เหมือนดังที่พลังนักศึกษาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างองอาจกล้าหาญเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 หรือพลังประชาชนที่คัดค้านเผด็จการร.ส.ช. อย่างไม่กลัวตายเมื่อเดือนพฤษภาคม 2534 ฉันนั้น

เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามได้เผชิญหน้ากับนักศึกษาที่นั่งอยู่รอบ ๆ ด้วยอาการที่สงบเงียบแล้ว การเจรจาระหว่างนักศึกษากับจอมพล ป.พิบูลสงคราม หัวหน้ารัฐบาลก็ได้เริ่มขึ้นโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในสภาพที่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในนาทีวิกฤตเช่นนี้ได้กล่าวขึ้นก่อนด้วยใบหน้ายิ้มแย้มเหมือนจะซ่อนอารมณ์ชนิดใจดีสู้เสือว่า “มีอะไรก็ค่อย ๆ พูดกันได้ ไม่ใช่คนอื่น ลูก ๆ หลาน ๆ ทั้งนั้น”

นักศึกษาต่างช่วยกันพูดช่วยกันถาม สรุปได้ว่า “พวกผมเดือดร้อนไม่มีที่เรียน พวกหนึ่งต้องไปเรียนที่เนติบัณฑิตยสภา อีกพวกหนึ่งต้องไปเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจุฬาลงกรณ์ สถานที่เรียนคับแคบ อยู่ไกล ต้องเรียนถึงกลางคืน กลับบ้านมืดลำบากมาก และขณะนี้ก็ใกล้จะสอบแล้ว”

“จะสอบเมื่อไหร่ล่ะ”

“สิ้นเดือนตุลาคม ครับ” การโต้ตอบหยุดเงียบลงชั่วครู่เพื่อรอคำตอบจากจอมพล ป.พิบูลสงความ “ถ้าอย่างนั้นจะคืนให้สิ้นเดือนตุลาคม ก่อนสอบ”

ทุกคนพอใจคำตอบของจอมพล ป. พิบูลสงครามด้วยความชื่นชมยินดี แต่ก็ยังเป็นที่งุนงงสงสัยไม่แน่ใจว่าจะจริงหรือ เพราะพลโทสวัสดิ์ ส.สวัสดิ์เกียรติเพิ่งตอบกระทู้ ส.ส. ไปหยก ๆ ว่า ไม่คืนให้ ดังนั้น เพื่อให้เป็นที่แน่ใจ นายเฉลียว พิศลยบุตร รองประธานนักศึกษาขณะนั้นจึงได้ประกาศสรุปผลต่อหน่าที่ชุมนุมว่า “ท่านนายกรัฐมนตรีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ให้คำมั่นสัญญากับพวกเราต่อหน้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่อหน้าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ และต่อหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมว่า จะคืนมหาวิทยาลัยให้แก่พวกเราภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้”

เสียงไชโย ๆ ๆ โห่ร้องกึกก้องหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วยความปีติยินดีที่ได้มหาวิทยาลัยกลับคืนมาด้วยพลังนักศึกษาประชาชน จากนั้นนักศึกษาและประชาชนได้เดินขบวนออกจากพระที่นั่งอนันตสมาคมด้านลานพระบรมรูปทรงม้ามาตามถนนราชดำเนินผ่านอนุสาวรีย์เป็นริ้วขบวนยาวมาสิ้นสุดลงที่บริเวณหน้าสำนักเนติบัณฑิตยสภาหน้าสนามหลวง ด้วยคำขวัญก่อนจะจากกันว่า “ทหารออกไป เอามหาวิทยาลัยของเราคืนมา”

ในที่สุดนักศึกษาก็ได้เข้าสู่มหาวิทยาลัยด้วยชัยชนะของพลังนักศึกษาประชาชนเมื่อเช้าตรู่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2494 ที่ดังกระหึ่มด้วยเสียงเพลงมาร์ช ม.ธ.ก.เพลงแห่งความหลัง และเพลงหวนอาลัย ที่รำลึกถึงผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ ด้วยความอาลัยรักที่ต้องจากไป ภายหลังการจัดงานชื่นชุมนุมกันที่จังหวัดนครสวรรค์ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2495 ก่อนวันคืนสู่เหย้าเพื่อรวมพลที่ลูกแม่โดมจะยาตราทัพนักศึกษาประชาชนเข้าสู่มหาวิทยาลัยในเช้าวันรุ่งขึ้น

วันที่ 5 พฤศจิกายน ได้ถูกเรียกร้องให้เป็นวัน “ธรรมศาสตร์” แต่ได้ถูกเปลี่ยนกลับไปเป็นวันที่ 10 ธันวาคม คงจะเนื่องด้วยเหตุผลเดียวกันกับการสร้างอนุสาวรีย์วีรชน 14 ตุลาคม และอนุสรณ์ประชาธิปไตย พฤษภาคม 2535 ที่ยังมิได้สร้างมาจนถึงบัดนี้ จึงทำให้วันที่ 11 ตุลาคม 2495 ซึ่งเป็นวันที่ก่อให้เกิดขบวนการนักศึกษาเรียกร้องมหาวิทยาลัยคัดค้านอำนาจเผด็จการ และวันที่ 5 พฤศจิกายน 2495 ซึ่งเป็นวันแห่งชัยชนะของนักศึกษาถูกลบลืมหายไป

11 ตุลาคม 2495 จึงเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่ขบวนการนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ก่อกำเนิดเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของนักศึกษาประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตย และจากขบวนการนักศึกษา 11 ตุลาคม 2495 ได้พัฒนาเจริญเติบโตเป็นขบวนการนักศึกษา 14 ตุลาคม 2516 และจากขบวนนักศึกษา 14 ตุลาคม 2516 ได้เจริญเติบโตมาเป็นพลังมวลชนที่ต่อสู้คัดค้านอำนาจเผด็จการ รสช. พฤษภาคม 2534 ถึงกาลบัดนี้

 

เผด็จการยังไม่สิ้นการปราบปรามประชาชนยังคงมี

ขบวนการนักศึกษา 11 ตุลาคม 2495 ก่อให้กระแสการคัดค้านเผด็จการ การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย สันติภาพ เอกราช การกินดีอยู่ดี ของประชาชนได้แผ่ขยายกว้างไปสู่ประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา กรรมกร ชาวนาทั้งในกรุงเทพมหานคร และในชนบทมากยิ่งขึ้น จนเป็นที่หวาดหวั่นแก่ผู้ครองอำนาจเผด็จการซึ่งกลัวพลังมวลชน ด้วยเหตุนี้ ภายหลังจากการจัดงานวันที่ 5 พฤศจิกายน ปี 2495 เพื่อเฉลิมฉลองการได้มหาวิทยาลัยกลับคืนมาและเพื่อสร้างสรรค์ความสามัคคีระหว่าง นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยโดยที่ผ่านไปด้วยความชื่นชมยังไม่ทันจางหาย ทุกคนก็ต้องตกตะลึงว่า “เอาอีกแล้ว” ต่อข่าวการจับกุมกวาดล้างประชาชนครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495  ด้วยข้อหากบฏภายในภายนอกราชอาณาจักรหรือที่เรียกว่า กบฎสันติภาพ หรือ กบฏ 10 พฤศจิกายน 2495 ซึ่งมีผู้ถูกจับกุมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง เป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ จากผู้มีอาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่ นักศึกษา นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง นักกฎหมายทนายความ กรรมกร ชาวไร่ ชาวนา ตลอดจนทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ

การจับกุมกวาดล้างประชาชนครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 ทำให้เอกราชอธิปไตย สันติภาพ ประชาธิปไตยของประเทศต้องถอยหลังจมดิ่งไปสู่ยุคแห่งความมืดมนด้วยอำนาจเผด็จการยิ่งขึ้น เนื่องด้วยหลังจากการจับกุมประชาชน 10 พฤศจิกายน 2495 เพียง 3 วัน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้ออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2495 เข้าร่วมสนธิสัญญาร่วมมือทางทหารและเศรษฐกิจกับสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมสนธิสัญญาตะวันออกเฉียงใต้ ที่เรียกว่า ซีอาโต เพื่อร่วมกับประเทศในเอเชียอาคเนย์ต่อสู้ปราบปรามคอมมิวนิสต์ ส่งทหารไทยไปรบในสงครามเกาหลีร่วมกับสหรัฐอเมริกา แซงซั่นสินค้าที่เรียกว่ายุทธปัจจัยไม่ให้ส่งไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน คัดค้านประเทศสังคมนิยม ตามนโยบายสหรัฐอเมริกาเป็นเหตุให้ประเทศไทยต้องสูญเสียความเป็นเอกราชอธิปไตยทางการเมือง ทางทหาร เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ถูกแทรกแซงจากต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และทางความคิด ไม่สามารถดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนได้ จนได้ชื่อว่าเดินตามหลังอเมริกา ภายใต้คำเรียกร้องของประชาชนที่เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบาย เอกราช ประชาธิปไตย เป็นกลาง ไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลเผด็จการสมัยนั้น

นับตั้งแต่ “รัฐประหาร” 8 พฤศจิกายน 2490 ประเทศไทยได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของคณะทหารตลอดมาประชาธิปไตยต้องประสบกับการคุกคาม บ่อนทำลาย ปราบปรามมาโดยตลอด ตั้งแต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สืบต่อมาถึงสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียรนักศึกษา ประชาชน ได้เรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยคัดค้านอำนาจเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศมาเป็นระยะเวลายาวนาน จนเกิดการชุมนุมเรียกร้องคัดด้านของนักศึกษา ประชาชนครั้งยิ่งใหญ่เป็นประวัติการณ์ขึ้น เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร-จอมพลประภาส จารุเสถียร จนออกนอกประเทศ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่พอจะเฟื่องฟูประชาชนพอที่จะได้ร่าเริงเบิกบานในสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยได้ชั่วระยะหนึ่ง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หฤโหด ที่นักศึกษา ประชาชน ถูกปราบปราม เช่นฆ่า จับกุม ทำร้ายอย่างทารุณโหดร้ายก็ได้เกิดขึ้น จนต้องหนีกระเซอะกระเซิงเข้าป่าเข้าดงด้วยอำนาจเผด็จการที่หวนกลับมาอีก

ภายหลังจากกรณี 6 ตุลาคม 2519 ผ่านไป ประชาธิปไตยที่ถูกทำร้ายล้มฟุบไป เมล็ดพืชประชาธิปไตยของนักประชาธิปไตยรุ่นใหม่ก็ได้ผลิดอกออกผลแตกกิ่งก้านสาขาไปทั่วประเทศ ทั่วทุกสำนัก ทำให้ประชาธิปไตยที่ถูกทำร้ายล้มลงไปกลับฟื้นคืนชีพมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีก มีพรรคการเมือง มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยในอุปแบบของยุคโลกานุวัตร ที่ประสานอำนาจปกครองประเทศด้วยกลุ่มธนาธิปไตย อำมาตยาธิปไตย ธุรกิจธิปไตย กระทั่งมายาธิปไตย ทำให้โฉมหน้าประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน เปลี่ยนไปเป็นเพียงเพื่อชนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร การปกครองซึ่งเป็นประชาธิปไตยของคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นอภิสิทธิ์ชนเท่านั้น บนพื้นฐานของกลุ่มอำนาจเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อสู้ระหว่างกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่-ระหว่างความคิดเก่ากับความคิดใหม่-ระหว่างพรรคการเมืองกับพรรคการเมือง และระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย เพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ทั้งทางศรษฐกิจ การเมืองและเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย ได้

ทำให้บรรยากาศประชาธิปไตยโปร่งใสขึ้นบ้างเป็นที่เชื่อกันว่า การยึดอำนาจปฏิวัติรัฐประหารด้วยการใช้กำลังลังล้มล้างรัฐบาลฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มสภาจะไม่เกิดขึ้นอีก หรือคงไม่มีใครกล้าทำ ทหารก็เป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ครั้นแล้ว “รัฐประหาร” 23 กุมภาพันธ์ 2534 ก็เกิดขึ้นโดยกลุ่มทหารที่เรียกตนเองว่าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ชื่อย่อว่าคณะ ร.ส.ช. ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศ ล้มล้างรัฐบาล เลิกรัฐธรรมนูญยุบสภา ทำให้ประชาธิปไตยที่มีอยู่บ้างเพียงเสี้ยว ๆ ต้องหดถอยหลังกลับไปสู่ยุคเผด็จการ จนเป็นเหตุให้เกิดพลังประชาชนที่คิดค้านอำนาจเผด็จการ ร.ส.ช. อย่างกว้างขวาง และเกิดการปราบปรามประชาชนอย่างทารุณโหดร้ายขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2534 หฤโหดที่กระอ่อนไปทั่วโลก

แม้ว่าปัจจุบันจะได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีรัฐธรรรมนูญมีรัฐบาลหรือนายกที่มาจากการเลือกตั้ง มีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย มีทั้งกลุ่มที่เรียกร้องให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนและกลุ่มที่ต้องการอนุรักษ์พิทักษ์ไว้ซึ่งอำนาจของคณะบุคคล ที่เผชิญหน้ากับ ดังนั้นจึงไม่อาจเป็นที่เชื่อถือได้ว่าประชาธิปไตยจะดำรงอยู่ได้สักเท่าใด เผด็จการจะคืนมาอีกในรูปแบบไหนหรือจะกลับมาด้วยกำลังปฏิวัติรัฐประหารเมื่อใดก็ไม่

อาจที่จะทราบได้ จึงเป็นภาระหน้าที่ของประชาชนรู้รักชาติ รักประชาธิปไตยที่จะต้องช่วยกันระมัดระวังด้วยสติปัญญา ด้วยความไม่ประมาท เก็บรับบทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมาในอดีตเพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และสืบทอดเจตนารมณ์ประชาธิปไตยที่บที่บรรพบุษและวีรชนได้เสียสละ ชีวิตเลือดเนื้อเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิบไตยของประชาชนสืบต่อไป

 

 

หมายเหตุ :

สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ : อดีตประธาน ต.ม.ธ.ก. รุ่น 7 อดีตเลขานุการคณะกรรมการ นักศึกษา ปี พ.ศ. 2495 อดีตบรรณกรหนังสือวันปรีดี พนมยงค์ 11 พ.ค. ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึง พ.ศ. 2535 ปัจจุบันเป็นรองประธานกรรมการมารยาททนายความแห่งสภาทนายความและกรรมการมารยาททนายความแห่งเนติบัณฑิตยสภาผู้รักชาติประชาธิปไตยถูกคุกคามปราบปรามอย่างทารุณโหดร้ายด้วยอํานาจเผด็จการ กระทั่งทําให้เกิดวงจรอุบาทว์ขึ้นจนตราบเท่าทุกวันนี้

 

บรรณานุกรม

  • สัมผัส พึ่งประดิษฐ์, สืบทอดเจตนารมณ์ประชาธิปไตยรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ใน วัน "ปรีดี พนมยงค์" 11 พฤษภาคม 2537 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2537), น. 77-88.