ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

“OCTOBER FEST” เทศกาลเดือนตุลา ตลาดนัดประชาธิปไตย

1
พฤศจิกายน
2567

 

เมฆทะมึนหน้าผีหน้าปีศาจ                     ร้องประกาศก้องสกลคำรณขาน
ทวงชีวิตสัตว์โศกที่โลกดาล                     แล้วสื่อสารสายฟ้าผ่าลงดิน
จงกระหน่ำต่อไปเถิดสายฝน                   กระหน่ำจนแรงหมุนนั้นสูญสิ้น
ครั้นความโหดหมดลงตรงเริ่มทิน           ธรณินทร์จะเงียบเฉยเหมือนเคยเป็น
มหรรณพสงบเงียบเรียบเช่นเก่า            ไร้รอยเศร้ารอยแผลให้แลเห็น
ไม่ปรากฏอนุสรณ์ตอนลำเค็ญ                ไม่เหมือนเช่นทารุณแรงแห่งมนุษย์
เมื่อกระหน่ำลงมาสักคราหนึ่ง                 จะกัดตรึงอักเสบเจ็บที่สุด
เลือดจากใจสีแดงไหลแรงรุด                  ห้ามไม่หลุดแรงเหือดเลือดกระเซ็น
ความทารุณโหดร้ายทั้งหลายหลาก      จะฝังฝากรอยแผลให้แลเห็น
และทิ้งรอยอนุสรณ์ตอนลำเค็ญ             คือแผลเป็นฝังใจไปจนตาย

‘กวีปราบกบฏ’
วัฒน์ วรรลยางกูร
พ.ศ. 2515

 

 

เทศกาลศิลปะการแสดง ครั้งที่ 13
P.A.P. #13 : Performative Art Project #13

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เป็นอีกหนึ่งพื้นที่หลักซึ่งให้การสนับสนุนต่อศิลปะการแสดงได้สร้างงานอย่างมีเสรีในการแสดงออกตลอดมา โดยร่วมกับกลุ่มศิลปินสาขาศิลปะการแสดงทุกแขนง สร้างสรรค์งานในหลากรูปแบบหลายแนวทางในนาม “โครงการศิลปะการแสดง BACC” หรือวาระ เทศกาลศิลปะการแสดง ครั้งที่ 13 (P.A.P. #13 : Performative Art Project #13) เพื่อส่งเสริมให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิด ประสบการณ์ และสร้างบทสนทนาระหว่างศิลปินและผู้ชมงานศิลปะการแสดง ตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคม – 24 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลป์กรุงเทพฯ ในปี 2567 แบ่งงานออกเป็น 5 ส่วนสำคัญร่วมกันสร้างสรรค์ ได้แก่

1. เทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ (BICT Fest)

2. All about Queer : Art Lab Showcase โดยศิลปินในโครงการ

3. ละครเวที “รักดงดิบ” (Wilderness I&II)

4. October Fest :  เทศกาลศิลปะ workshop ร้านค้า เสวนา หนังสือ ดนตรี กวี ละคร และเบียร์

5. เทศกาลละครกรุงเทพ 2024 (9-24 พฤศจิกายน 2567)

 

ในปีที่ 13 ของ โครงการศิลปะการแสดง หอศิลป์ฯ กรุงเทพ ได้ประกาศถึงแนวทางการพัฒนางานอย่างต่อเนื่องระยะยาว นอกเหนือจากงานการแสดงโดยกลุ่มศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเคยร่วมจัดในโครงการนี้เหมือนเช่นทุกปีแล้ว ยังมีโครงการบ่มเพาะศิลปินและนักจัดการศิลปะรุ่นใหม่ภายใต้ โครงการ “Performative Art Lab : All about Queer” ที่เข้าร่วมกระบวนการอบรมเป็นระยะเวลา 2 เดือน และมีผลผลิตของโครงการในเดือนสิงหาคม รวมถึงการแสดงละครเวที “รักดงดิบ : Wilderness I&II” โดย ธนพนธ์ อัคควทัญญู Splashing Theatre ที่ผ่านการคัดเลือกจากประเด็น Fiction & Reality มาเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ นับเป็นการสร้างมิติที่หลากหลายสำหรับงานร่วมสมัยในแวดวงศิลปะการแสดงของไทยอีกด้วย

นอกเหนือจากโครงการดังกล่าวแล้ว โครงการศิลปะการแสดง ครั้งที่ 13 ยังประกอบด้วย เทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ อันเป็นโครงการที่เปิดมุมมองของศิลปะการแสดงสำหรับกลุ่มผู้ชมรุ่นเล็กที่จะเกิดเป็นวัฒนธรรมการรับชมงานได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต

รวมถึงการแสดงจากกลุ่ม B-Floor Theatre และเทศกาลละครกรุงเทพ (Bangkok Theatre Festival) ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเปิดพื้นที่ให้ศิลปินรุ่นใหม่และกลุ่มผู้ชมได้มีส่วนร่วมในการเชื่อมโยง ปะทะสังสรรค์ และสร้างโอกาสในการเกิดปฏิสัมพันธ์กันต่อในอนาคต จนเกิดการถ่ายทอดประสบการณ์ ส่งต่อแรงบันดาลใจ และสร้างความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องให้แก่แวดวงศิลปะการแสดงต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างและขยายฐานผู้ชมให้เกิดขึ้นอันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในกระบวนการแสดงอีกด้วย

 

 

“OCTOBER FEST”  เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการศิลปะการแสดง ครั้งที่ 13” (The Performative Art Project #13) PAP#13 จัดขึ้นที่สตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นเทศกาลศิลปะ workshop ร้านค้า เสวนา หนังสือ ดนตรี กวี ละคร และเบียร์ (บวกความชิล) จากการออกแบบงานโดย ธีระวัฒน์ มุลวิไล ในนาม B-floor ร่วมด้วย กลุ่มดินสอสี ที่ได้แนวคิดมาจากช่วงเคลื่อนไหวทางการเมืองของเหล่าเยาวชนคนรักประชาธิปไตย ที่มีส่วนของการสร้างสรรค์งานศิลปะเข้ามาเป็นสีสันบรรยากาศในแบบ “MOB FEST” เมื่อปี 2563OCTOBER FEST 2024” จึงไม่ได้แสดงออกเพียงความคิดทางการเมืองด้วยเจตจำนงร่วมกันต่อสู้ตามแนวทางของคนรักประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ 'เทศกาลเดือนตุลา ตลาดนัดประชาธิปไตย' บอกถึงการรวมตัวกันอย่างมีหลักการ ภายในงานแบ่งออกเป็น 3 Cluster เปลี่ยนโรงละครให้เป็นเทศกาลศิลปะ มีออกร้านจากหลากหลายร้านค้าในกลุ่มชุมชนคนรักศิลปะ และประชาธิปไตยในแถวหน้า อาทิ

 

1. Art Merket ตลาดนัดศิลปะ 13.00-18.00 น.  หลากหลายร้านค้ามาร่วมสร้างบรรยากาศตลาดย้อนยุคลุคสุขสันต์ทั้งกลางวันกลางคืน ชื่นมื่นกับอาหาร-เครื่องดื่ม ไม่ลืมซุ้มยิงปืนงานวัดที่จัดมาเอาใจให้อยู่กันได้ทั้งวันกับสารพันกิจกรรม เป็นพื้นที่รวมผลงานสไตล์ศิลปะ Democracy Design และ Political Art หนังสือปลูกปัญญาเนื้อหาประชาธิปไตย Free Arts and Friends , ประชาธิปไทป์ (กลุ่มนักออกแบบที่ใช้ศิลปะของตัวอักษรสื่อสารประเด็นสังคมและการเมือง), ฟ้าเดียวกัน , สีสันชนเผ่า (ร้าน เล็ก จำหน่ายเครื่องประดับเงินแท้ที่ตีด้วยมือจากหมู่บ้านปกาเกอะญอ) ร้านต้นประชาธิปไตย See-Sow-Seeds (ร้านขายต้นไม้ พิเศษสำหรับใครที่สามารถอธิบายได้ว่าจะปลูกที่ไหน แบบใด และจะดูแลให้เติบโตได้อย่างไร See-Sow-Seeds พร้อมแจกให้ไม่คิดเงิน) ฯลฯ

และรายการพิเศษในเวลา 15.30 - 18.00 น. เสริฟอาหารสมอง Duo Talk Series ‘ตุลาแล้วไง?’ ทุกหัวข้อเข้ม จัดเต็มโดยคนรักประชาธิปไตยหัวใจเดียวกันจากหลากหลายวงการ ร่วมประสานความคิดเห็นในประเด็นรอบด้านผ่านบริบทเดือนตุลาคมผสมภาพความทรงจำของคนต่างยุค ต่างรุ่น มาร่วมเป็นแขกรับเชิญ เพลินไปกับ ดนตรี กวี ศิลป์ โดยศิลปินจากฝากฝั่งประชาธิปไตยเทใจมารวมกัน

วันที่ 5 ตุลาคม 2024 สนทนาหัวข้อ “ตุลา MEMO”
โดย : ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล (Video) , รศ. ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ และ ภัควดี วีระภาสพงษ์
การแสดง Rap โดย :  Iseast

วันที่ 6 ตุลาคม 2024 สนทนาหัวข้อ “ตุลา TIKTOK”
โดย ปู่กับหลาน : ศ. ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล
การแสดงดนตรี โดย :  วงสามัญชน

วันที่ 12 ตุลาคม 2024 สนทนาหัวข้อ “ตุลามายา”
โดย : สมบัติ บุญงามอนงค์
การแสดงดนตรีโดย : ปิงปอง ศิรศักดิ์

วันที่ 13 ตุลาคม 2024 สนทนาในหัวข้อ “ตุลาประชาชน”
โดย : พรรณิการ์ วานิช และ ทนายแจม ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์
การแสดงดนตรีโดย : วง HOPE

ร่วมด้วยการอ่านบทกวีโดย กลุ่ม “กวีสามัญสำนึก

 

 

2. Art of Freedom Workshop : Democracy Design & Politic Art  ถูกออกแบบให้เป็น workshop เพื่อเสรีภาพแบบมีส่วนร่วมผ่านงานศิลปะ  Craft ในแบบของตัวเอง พร้อมเพลิดเพลินไปกับเบียร์คราฟต์ อาหารอร่อย  และกาแฟสด จัดเสิร์ฟตลอดงาน “Art of Freedom Workshop” หลายรายการสำราญใจก่อนชมละครร่วมกันในช่วงค่ำ

- Democracy Cookie Design by Mad Sugar : เรียนรู้การออกแบบและแต่งหน้า Sugar Cookie สไตล์ Democracy Design ด้วย  Icing หลากสี รส Lemon หอมละมุน บนคุ้กกี้ home made อร่อยแบบอาร์ตๆ กัน

- Indy-pendant polymer clay by Roma Hola : Workshop : เครื่องประดับทำมือ ปั้นดินโพลิเมอร์ ผสมสีดินได้ตามใจในสไตล์ตัวเอง ก่อรูปทรง จัดรูปร่างอิสระอย่างไร้กรอบใด ๆ ไม่เหมือนใคร เป็น จี้ ต่างหู Griptok หรือ jibbitz

- พิมพ์ใจ Lino Cut by Alive Studio : ออกแบบเสรีภาพในใจ ผ่านศิลปะภาพพิมพ์ LinoCut แกะยาง จุ่มหมึก พิมพ์ลงบนกระเป๋าผ้า และ ปกสมุด สร้างสรรค์ได้สุดจินตนาการ

 

 

3. Performance : ละครเวที โดย B-floor Theatre ชมการแสดงเรื่อง ‘เดอะ เมคกิ้งออฟ ดิ อะเธอร์แลนด์ อินเดอะ อาฟเตอร์นูน เลท ๆ จีเอ็มที บวกเจ็ด ออน เดอะแบ็ค ออฟ ดิ อัลโมสต์ ฟิฟท์ ไทเกอร์ บีไฮด์ เดอะ เบอร์ลิน วออล์ (นอท เรียลลี่)’ กำกับการแสดงโดย ธีระวัฒน์ มุลวิไล (คาเงะ)   จัดแสดงวันละ 1 รอบ เวลา 18.00 - 20.00 น.

 

 

ตุลาแล้วไง : DUO TALK SERIES หัวข้อ “ตุลาประชาชน”
โดย พรรณิการ์ วานิช และ ทนายแจม ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ (iLow) ดำเนินรายการ 13 ตุลาคม 2567
จะโหวตความมั่นคงของรัฐหรือความยุติธรรมของประชาชน

เป็นอีกรายการที่ออกแบบได้ น่ารัก น่าหมั่นไส้ แต่สะเทือนใจในประเด็น ตากใบ ที่คนไทยคุ้นเคยกับการฆ่าอย่างโหดเหี้ยมผิดวิสัยมนุษย์ แล้วไม่มีใครรับผิดชอบ 85 ชีวิต ที่หมดสิทธิ์เรียกร้องความยุติธรรมต่อรัฐที่ขาดมนุษยธรรม ผ่านการแสดงของสองทนายสาว (เรื่องอื้อฉาวแรงพอแล้ว การใช้ความนุ่มนวลของหญิงสาวช่วยเบรกให้บรรยากาศไม่ขาดเสียงหัวเราะ จากท่านผู้ชมที่ถูกยกสถานะให้เป็น คณะลูกขุน (รวยอารมณ์ขัน) ตัวแทนฝ่ายโจทก์คือ ทนายช่อ ฝ่ายจำเลยคือ ทนายแจม ที่ออกมาส่งเสียงแทนสองฝ่ายที่ต่างมีเหตุผลหักล้างกันมันหยด ความหมายสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่การเยียวยา เหมือนใช้เงินปิดปากญาติเพื่อฝังคดี แล้วปล่อยให้ฆาตกรลอยนวลพ้นผิด!!!

 

 

ทนายช่อ แสดงเป็นทนายฝ่ายโจทก์ที่ยื่นขอความยุติธรรม เปิดเวทีด้วยการย้อนทวนที่มาสาเหตุของการสังหารโหด ตากใบ (ซึ่งหมดอายุคดีความ ในวันที่ 25 ตุลาคม 2567) เป็นเวลา 20 ปี ที่ผ่านการเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่องแต่เรื่องไม่ mass เพื่อเฉลยให้ ‘ไทยเฉย’ ทราบว่า คนรักประชาธิปไตยและความยุติธรรมไม่เคยนิ่งเฉยต่อเรื่องนี้ และร่วมกันต่อสู้มาตลอด พร้อมกับฉายภาพความอำมหิตของรัฐที่กำจัดประชาชนด้วย Licence to kill  (คำสั่งฆ่า ซึ่งอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจระดับสูง) ด้วยบทบาทที่เป็นปากเสียงแทนญาติผู้เสียชีวิต ช่อเล่าเรื่องจริงที่สะเทือนใจไม่ให้ตึงเครียด ดูผ่อนคลายกับความเป็นความตายที่เกิดขึ้น ช่วยให้คนที่ยังไม่เคยรู้เรื่องหันมาสนใจและเข้าใจได้ด้วยทักษะการแสดง โดยไม่จำเป็นต้องแสดงเลย เหมือนเธอถูกฝังบทพูดเป็น Microchip ไว้ในสมองในหัวใจมานานเท่ากับอายุคดี ยืนว่าความนาน นิ่ง หนักแน่น น่าเชื่อถือถึง 30 นาที โดยไม่มีการอ่านบทหรือโน้ตเตือนความจำ ร่ายยาวแบบไม่สะดุดเลย (นี่แค่ title เท่านั้นนะ)

 

 

ส่วนทนายแจมที่เป็นทนายฝ่ายจำเลยก็โคตรน่ารัก ฟังแล้วไม่รู้สึก โกรธ เกลียด หรือแม้แต่รู้สึกเครียดกับเหตุผลของคน ไร้หัวใจ (ไม่ใช่แค่ไร้มนุษยธรรม) ด้วยบทบาทที่จงใจไม่คัดค้านเอาเป็นเอาตาย แต่สบายชิล ๆ เพราะเป็นเรื่องสิว ๆ ของรัฐบาลทุกสมัย เห็นชีวิตคนตัวเล็กเป็นผักปลาน่ามองข้าม จึงได้อารมณ์ที่ตรงข้ามกับความน่าจะเป็นคือ ‘ขบขัน’ เพราะทนายแจม ‘ขบ’ ผู้เสียหาย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจงใจให้เห็น ‘ขัน’ ด้วยถ้อยคำด้อยค่าผู้เสียหาย เสียชีวิต ว่า “การเสียชีวิตของโจทก์อาจมาจากความเป็นคนบ้านนอกไร้การศึกษา ไร้สติ  เจ้าหน้าที่ ทหารที่ยิงคนตายหลายคน อาจทำด้วยอารมณ์ ไม่ได้คิดอะไรในขณะเกิดการปะทะ โชคไม่ดีจึงมีคนเสียชีวิต  ยืนยันว่าจำเลยไม่ได้ทำผิด แต่ทำตามหน้าที่ที่ได้รับคำส้่งมาทุกอย่าง และสาเหตุการตายที่แท้จริงอาจไม่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเลย” ฟังแล้วสลดแต่ไม่หดหู่เพราะรู้สึกเหมือนเป็นคำพูดที่เสียดสีตีกระทบ (ผู้ชมหัวเราะขำกับมุขของทนาย ที่ละอายใจในบทบาทของตัวเอง) แต่ความจริงมันคือคำพูดที่มาจากความคิดและเหตุผล ของบรรดาทนายและพยานที่ให้การในศาล ทำให้มีหลายคนติดคุกเพราะการสืบพยานที่ตลกแบบนี้ อัยการแจมถ่ายทอดเรื่องนี้เพื่อให้เห็นว่า “เรากำลังต่อสู้อยู่กับอะไร แล้วต้องใช้ความอดทนอดกลั้นในการที่จะผ่านเรื่องแบบนี้ไปอย่างไร” กว่าจะได้ชัยชนะเช่นผลโหวตจากผู้ชมที่ให้คะแนนฝ่ายโจทก์อย่างท่วมท้นเป็นเอกฉันท์เหมือนวันนี้

 

 

วันที่ 5 ตุลาคม 2024 เวลา 3:30 PM - 5:00 PM
การเสวนาในช่วง ตุลาแล้วไง : DUO-TALK SERIES
"ตุลา MEMO " การก้าข้ามความขัดแย้ง vs ความยุติธรรม
กับแขกรับเชิญ 3 ท่าน
ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล (VDO : ให้ความเห็น 4 ประเด็นหลัก ในการสนทนา)
รศ.ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์
และ นักแปลหนังสือสะท้อนสังคม ภัควดี วีระภาสพงษ์

 

 

ประเด็นที่ 1 การก้าวข้ามความขัดแย้ง เรียกร้องหาความสามัคคี สมานฉันท์

ดูเหมือนในสังคมไทยจะมีนัยยะว่า อย่ามัวแต่เรียกหาความยุติธรรม เอาเข้าจริงผมเชื่อว่าทุกคนจะบอกว่าแคร์สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ทั้งการก้าวข้ามความขัดแย้ง สมานฉันท์ สามัคคี และความยุติธรรม แต่เราอาจจะให้น้ำหนักกับสิ่งเหล่นี้ต่างกัน นี่ผมไม่นับคนที่ใช้สิ่งเหล่านี้เป็นข้ออ้างอย่างมักง่ายนะ ผมนับแค่คนที่เชื่ออย่างนั้นจริง ๆ คำถามคือ เราจะคิดกับปัญหานี้ยังไง ในความเห็นผมหลักการสำคัญที่ต้องตระหนักและยึดให้มั่นก็คือว่า ถ้าหากเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับประโยชน์สาธารณะ หรือมีน้อยมาก ความขัดแย้งเช่นนั้นจะก้าวข้ามเมื่อไหร่ก็เป็นเรื่องระหว่างบุคคลนั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับสาธารณะเลย

แต่ความขัดแย้งที่กระทบต่อผลประโยชน์ของสาธารณะ การที่ใครจะมาบอกให้ก้าวข้ามความขัดแย้ง จึงเป็นการพูดอย่างมักง่าย เพราะเราต้องจัดการให้เกิดความยุติธรรม เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะก่อน อย่างน้อยที่สุดไม่ใช่การเอาใครเข้าคุกหรือลงโทษกันอย่างสาหัสสากรรจ์ อันนั้นแล้วแต่กรณี อย่างน้อยที่สุดต้องเกิดการตัดสินให้ชัดเจนว่า บรรทัดฐานที่สังคมเชื่อว่า ยอมรับว่าเป็นความยุติธรรมนั้นเป็นยังไง นี่เป็นขั้นต่ำสุดของประโยชน์สาธารณะ

เมื่อเกิดความยุติธรรมแล้วหลังจากนั้นจึงมาพูดกันว่า “เราควรจดจำไว้ แต่ move on กันเถอะ” คนที่ใช้เรื่องก้าวข้ามความขัดแย้งมาเป็นข้ออ้างราวกับว่าคนที่เรียกหาความยุติธรรมนั้นไม่ต้องการเดินไปข้างหน้า เข้าใจผิด (ส่ายหน้า) ทุกคนต้องการปล่อยให้อดีตเป็นอดีต ในความหมายที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ใช่แกล้งลืม แล้วเกิดการทำผิดแล้วผิดเล่า เพราะฉะนั้นการ move on ผมต้องการทุกคนก็ต้องการ สิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้ในวันนี้คือว่า ถ้าหากเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ

ต้องกระทำเมื่อเกิดความยุติธรรมแล้ว แต่เท่าที่เกิดขึ้นมาในสังคมไทยกลับมีการเรียกร้องให้ก้าวข้ามความขัดแย้งที่กระทบต่อสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความขัดแย้งที่เจ้าหน้าที่รัฐ อภิสิทธิ์ชน และคนมีอำนาจ กระทำผิดต่อประชาชน ต่อชีวิตของประชาชน ผมคิดว่าเป็นความไม่รับผิดชอบ การขอให้สมานฉันท์ ลืม ๆ เสียเถอะ เป็นเหตุหนึ่งของการลอยนวลพ้นผิด ไม่ใช่ก้าวข้ามความขัดแย้ง

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีผู้หลักผู้ใหญ๋ในบ้านเมืองบอกว่า เขายังจำอยู่ตลอดนะแต่ขอให้ก้าวข้าม การจำ เป็นไปเพื่ออะไร เพื่อให้สังคมรู้จักเผชิญหน้ากับมัน แล้วอย่างน้อยจัดการให้เกิดความยุติธรรม ความยุติธรรมเป็นอย่างไร แค่ไหน สังคมนั้นถกเถียงกันได้ แต่ไม่ใช่การบอกว่าเดินไปข้างหน้าเถอะ โดยที่ไม่จัดการให้เกิดความยุติธรรมเสียก่อน แต่ในเวลาเดียวกันสังเกตไหมว่า ในสังคมไทยนั้นถ้าเป็นความขัดแย้งในหมู่อภิสิทธิ์ชนคนมีอำนาจกันเอง ไม่ว่าจะเป็นการแย่งหรือจัดสรรอำนาจ บางเรื่องก็สามารถสมานฉันท์กลบเกลื่อนจับมือยิ้มแย้มกันได้ง่ายเหลือเกิน บางเรื่องกลับไม่ยอมก้าวข้าม

เช่นความขัดแย้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่เกิดขึ้น ในขณะมีคนที่เรียกร้องให้ก้าวข้ามความขัดแย้งนั้น เขากลับไม่ยอมก้าวข้ามความขัดแย้ง ถ้าหากความขัดแย้งนั้นเป็นความขัดแย้งส่วนตัว ที่เกิดกับเขา กับครอบครัวของเขา นั่นแปลว่าความขัดแย้งสำหรับเขาแล้ว ความขัดแย้ง หรือความแค้นที่สำคัญกับความตายของประชาชนเสื้อแดง 99 คน คือความขัดแย้งและความแค้นที่เกิดต่อตัวของเขาเอง นี่หรือคือหลักการที่สังคมควรจะยึดถือ ผมคิดว่ามันควรจะกลับกัน

 

 

ประเด็นที่ 2 มักเกิดการกล่าวอย่างพล่อย ๆ ว่า การเรียกหาความยุติธรรม การเรียกร้องไม่ให้ลืม เป็นเพราะยังหมกมุ่นคั่งแค้นกับอดีต

กลายเป็นว่าคนที่พูดถึงความยุติธรรม คนที่ยังพูดถึง 6 ตุลา พูดถึงการสังหารหมู่ในคดีเสื้อแดง กรณีชายแดนใต้ กรณีตากใบ และคดีอื่น ๆ ก็เพราะพวกเขายังแค้นอยู่ ผมอยากถาม ถ้าพวกเขายังรู้สึกเจ็บปวด จนถึงแค้น เป็นความผิดของพวกเขาหรือ ในทางกลับกันน่าจะสะท้อนว่า กรณีเหล่านั้นยังไม่เกิดการจัดการให้ลงต้น กลับคั่งค้างอยู่ในใจของพวกเขา แต่แม้กระนั้นคนจำนวนมากที่เรียกร้องให้เกิดความยุติธรรม ไม่ใช่เพราะเขามีความแค้นอยู่ ความเจ็บปวดกับความแค้นไม่ใช่เท่ากัน เป็นคนละเรื่องด้วยซ้ำไป การเอามาปะปนกันทำให้เหมือนการเรียกร้องความยุติธรรม กลายเป็นเรื่องลบ เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ

อันที่จริงทั้งโลกมีการพูดถึงการก้าวข้ามความขัดแย้ง ความตายในสังคมที่มีอารยธรรม เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ เขาจะเรียกร้องให้ move on ก็ต่อเมื่อจัดการให้เกิดความยุติธรรมแล้วเท่านั้น ไม่ใช่พูดไปก่อนที่จะเกิดความยุติธรรมอย่างที่ทำในสังคมไทย เพราะถ้าอย่างนั้นมันเป็นการลอยนวลพ้นผิด เป็นการกวาดเอาฝุ่น ปัญหากองเบ้อเริ่มไว้ใต้พรมต่อไป แกล้งปิดไว้ไม่ให้เราเห็น แต่เมื่อหมักหมมนานเข้ามันก็จะเลอะเทอะเหม็นเน่าลงทุกที

อันที่จริงชาวพุทธน่าจะคุ้นเคยกับภาวะของจิต อารมณ์ อย่างที่เราพร่ำพูดอยู่เรื่อยว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าปัจจัยเหล่านั้นประกอบกันทำให้เกิดอารมณ์ เกิดสังเวช เกิดเวทนา เกิดสภาวะของจิตนานาชนิด แต่ชาวพุทธเมืองไทยจำนวนมหาศาล กลับไม่เข้าใจว่าความเจ็บป่วยกับความคับแค้นเป็นคนละเรื่องกัน กลับไม่เข้าใจว่าความเจ็บปวดนั้นยังมีอยู่ได้ โดยไม่นำไปสู่การเรียกร้องความยุติธรรมก็ได้ กลับไม่เข้าใจว่าการเรียกร้องความยุติธรรมสามารถเกิดขึ้นได้ และเกิดเป็นปกติโดยไม่ได้มีความเจ็บปวดแก่ตัวเองก็ยังได้ด้วยซ้ำไป

ความเจ็บปวดไม่ได้นำไปสู่ความแค้น การเรียกหาความยุติธรรม ไม่ได้เกิดจากความแค้น ไม่ได้เกิดเพราะถูกครอบงำด้วยความเจ็บปวดแต่อย่างใด เป็นคนละเรื่องกัน คำพูดเหล่านั้นจึงเป็นความเลอะเทอะ ที่เหมาการเรียกหาความยุติธรรมว่าเป็นเพราะเกิดจากความคั่งแค้น ข้ามไม่พ้นสักที เป็นการพูดอย่างเลอะเทอะ ทั้งในทางกฎหมายและในทางศีลธรรม คนที่พูดเช่นนั้นบางคนผมได้ยินมากับหูว่า เป็นปราชญ์ที่ถือว่าตัวเองเป็นปราชญ์ชาวพุทธด้วยซ้ำไป ผมขอแนะนำว่าหยุดพูดพล่อย ๆ เสียทีเถอะ เพราะยิ่งพูดยิ่งเป็นการประจานตัวเองว่า ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์เลย แล้วยังเป็นการประจานสังคมว่าเป็นพุทธชนิดไหนกัน จึงไม่มีความเข้าใจเรื่องที่สำคัญขนาดนี้ ละเอียดอ่อนขนาดนี้ กลับเทศนาสั่งสอนอย่างส่งเดช มักง่าย ให้เอาความหมักหมม ความสกปรกซุกไว้ใต้พรมต่อไป

 

 

ประเด็นที่ 3 อาชญากรรมในทางสาธารณะ กรณีที่เกี่ยวกับการเมือง เป็นเรื่องสวนบุคคล หรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับองค์กร เครือข่าย ? เรียกว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางสังคมหรือไม่ ?

ผมฝากให้คิด…หลายทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำไมรัฐบาลและผู้นำเยอรมันจึงต้องขอโทษต่อเหยื่อในเหตุการณ์สังหารชาวยิวหลายล้านคนในช่วงสงคราม หรือรู้จักกันดีว่า  HOLOCAUST[1] ทำไมประเทศเยอรมนีจึงถือเป็นความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นในอดีต ทั้งรัฐบาลและผู้นำในหลายทศวรรษต่อมา แม้คนเหล่านั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับอาชญากรรมแต่อย่างใด (ไม่ใช่ความผิดที่เกิดขึ้นจากพวกเขาเอง) และประเทศเยอรมนีหลังสงครามโลกก็ต่างจากยุคนาซี เป็นคนละรัฐกันด้วยซ้ำไป ประชากรก็เป็นคนที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือยังเป็นเด็กเล็ก ๆ ในช่วงนั้นแค่นั้นเอง ถ้าหากอาชญากรรมของรัฐ เป็นเรื่องส่วนบุคคลของผู้นำไม่กี่คน ลูกหลานและสังคมเยอรมัน หรือประเทศเยอรมัน จะต้องไปขอโทษให้กับบุคคลที่กระทำผิดเหล่านั้นทำไมกัน คำตอบคือ เพราะอาชญากรรมเหล่านั้นเป็นเรื่องที่สาธารณะ องค์กร หรือรัฐต้องรู้สึกรับผิดชอบไปด้วย เพราะมีส่วนไม่มากก็น้อยที่ทำให้เกิด และถึงแม้คนที่มาขอโทษเป็นคนที่พ้นจากสถาบัน องค์กร หรือรัฐในยุคนั้นไปแล้วก็ตาม ก็ยังถือว่าบาปนั้นติดตัวอยู่กับ  องค์กร รัฐ หรือสถาบันนั้นด้วย เพราะไม่ใช่เพียงการกระทำผิดส่วนบุคคลของคนไม่กี่คน

แต่ในประเทศไทยถ้าหากเป็นชนชั้นนำ เรามักจะถือว่าอาชญากรรมนั้นเกิดขึ้นโดยรัฐ และการกระทำต่อสาธารณะด้วยเหตุที่เกี่ยวข้องกัน เป็นแค่ความผิดส่วนบุคคล (สถาบัน องค์กร และรัฐ ไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบ) นี่เป็นการบอกปัดอย่างง่าย สิ้นคิด เมื่อเร็ว ๆ นี้เราก็ได้ยินการพูดแบบโง่ว่า ผู้นำพรรคการเมืองหนึ่งในปัจจุบันไม่เกี่ยวข้องแล้ว กับการสังหารคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ถึงแม้พรรคการเมืองนั้นจะเกี่ยวข้องกับการสังหารคนเสื้อแดงก็ตาม เราคงไม่มีวันเห็นพรรคการเมืองออกมาขอโทษ และยิ่งไม่มีวันเห็นกองทัพไทยออกมาขอโทษกับอาชญากรรมครั้งนั้น หรืออาชญกรรมในครั้งอื่น ๆ เช่นกรณี ตากใบ หรือว่าพุทธศาสนาแบบไทย ๆ สอนให้เราเอาตัวรอดแบบศรีธนญชัยไปหมด หรือว่าพุทธศาสนาไม่เคยสอนให้คนไทยรู้จักแยกแยะความผิดพลาดส่วนบุคคล กับความผิดพลาดที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ ว่ามันเกี่ยวข้องต่างกันในกรณีไหนบ้าง และในหลักการแล้ว ความผิดพลาดซึ่งองค์กร สถาบัน และรัฐ เป็นผู้กระทำนั้น มันติดตัวเป็นความรับผิดชอบของ องค์กร สถาบัน และรัฐ เช่นกัน แม้ว่ามันจะผ่านยุคสมัยนั้นไปตั้งนานแล้วก็ตาม

คนไทยรู้จักแค่หาข้ออ้างแก้ตัวเพื่อปัดภาระความรับผิดชอบให้พ้นไปจากตัว โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ เจ้าหน้าที่รัฐ และอภิสิทธิ์ชนทั้งหลาย โดยเฉพาะถ้าเป็นอาชญากรรมต่อประชาชนผู้ไร้อำนาจ

 

 

ประเด็นที่ 4 หรือว่าความคิด ความมักง่ายเหล่านั้นทั้งหมดเป็นเอกลักษณ์ของไทย

ช่วงหลังมานี้เราได้เห็นแล้วว่าการกระทำหลายอย่างซึ่งดูจะผิดแผกแปลกไปจากอารยธรรมของมนุษย์ในโลกเขาทำกัน เรากลับมีข้ออ้างว่า นั่นเพราะเอกลักษณ์ไทย เป็นประวัติศาสตร์ไทยที่มีมายาวนานไม่เหมือนที่ไหนในโลก จึงละเมิดหลักกฏหมายก็ได้ ตัดสินคดีความอย่างไร้เหตุผลก็ได้ เพราะกฏหมายและจารีตนิติศาสตร์ต้องสอดคล้องกับสังคมไทย ข้ออ้างนี้ฟังขึ้นจริงหรือ หรือว่าเป็นข้ออ้างมักง่ายเพื่อปัดทิ้งหลักเกณฑ์เหตุผล และความเคารพในวิชาชีพ และปัดทิ้งความเคารพในศักดิ์ศรีของตัวเองออกไปด้วยซ้ำ ข้ออ้างครอบจักรวาลเหล่านี้เหรอครับจะเชื่อว่าเป็นเอกลักษณ์ไทย หรือความเชื่อในเอกลักษณ์ไทยทั้งหมด เป็นความเชื่อที่ไร้สาระ มีไว้ใช้เพื่อปกป้องทุจริตชน ซึ่งเป็นอภิสิทธิ์ชนที่มีอำนาจเท่านั้น

สิ่งเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์ไทยหรือ ? การเข้าใจว่าอาชญากรรมสาธารณะเป็นแค่เรื่องส่วนบุคคล สถาบัน องค์กร และรัฐไม่เกี่ยว การเข้าใจว่า การเรียกหาความยุติธรรม เรียกร้องไม่ให้ลืม เป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องลบ เพราะคนที่เรียกร้องยังหมกมุ่นคั่งแค้นกับมันอีก ในการพูดถึงการก้าวข้ามความขัดแย้งกันอย่างพล่อย ๆ  และทำให้มันเป็นคู่ตรงข้ามกับการเรียกหาความยุติธรรม ทั้งที่ประชาชนทั่วไปต้องการทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราต้องการให้ก้าวข้ามก็ต่อเมื่อเกิดความยุติธรรมแล้วเท่านั้น

 

 

“เดอะ เมคกิ้งออฟ ดิ อะเธอร์แลนด์ อินเดอะ อาฟเตอร์นูน  เลท ๆ จีเอ็มที บวกเจ็ด ออน เดอะแบ็ค ออฟ ดิ อัลโมสต์ ฟิฟท์  ไทเกอร์ บีไฮด์ เดอะ เบอร์ลิน วออล์ (นอท เรียลลี่)”
(The Making of the Otherland in the Afternoon Late Late GMT+7 on the Back of the Almost Fifth Tiger Behind the Berlin Wall (Not Really).)

เมื่อมองย้อนถึงเหตุการณ์ที่สำคัญทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 การรำลึกถึงวีรชนผู้เสียสละที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังคงถูกจัดขึ้นทุกปี แต่ขณะเดียวกันความเจ็บปวดเหล่านั้นยังคงตามหลอกหลอน และเป็นร่องรอยที่สังคมยังคงต้องสืบค้น และร่วมพิสูจน์หลักฐาน มาถึงปัจจุบันกิจกรรมของประชาชนคนรักเสรีมีกลิ่นอายตลาดศิลปะปะทะงานวัด จัดให้ทุกคนที่สนใจได้สำรวจและเปิดรับประสบการณ์เกี่ยวกับช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจลืม (แม้ไม่อยากจำ) นำมาสู่การเฉลิมฉลองผ่านศิลปะการแสดงที่ท้าทาย เสียดสี ตีกระตุ้น ลุ้นให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกสู่สำนึก ในรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างไปจากเดิม โดย กลุ่ม B-Floor Theatre ในชื่อและรูปแบบที่ absurd สุด ๆ ว่า “เดอะ เมคกิ้งออฟ ดิ อะเธอร์แลนด์ อินเดอะ อาฟเตอร์นูน เลทๆ จีเอ็มที บวกเจ็ด ออน เดอะแบ็ค ออฟ ดิ อัลโมสต์ ฟิฟท์ ไทเกอร์ บีไฮด์ เดอะ เบอร์ลิน วออล์ (นอท เรียลลี่)” (THE MAKING OF THE OTHERLAND IN THE AFTERNOON LATE LATE GMT+7 ON THE BACK OF THE ALMOST FIFTH TIGER BEHIND THE BERLIN WALL (NOT REALLY) ) กำกับการแสดง เขียนบทโดย ธีระวัฒน์ มุลวิไล และ จารุนันท์ พันธชาติ โปรดิวเซอร์ โดย วสุ วรรลยางกูร และร่วมบริหารจัดการโดย ดินสอสี นักกิจกรรมกลุ่มเก่งสายศิลปะ วัฒนธรรม การศึกษา และพัฒนาชุมชน

ละครแนะนำตัวกับผู้ชมว่า …เราจะพาคุณไปพบกับกองถ่ายภาพยนตร์หนึ่งที่พยายามผลิตผลงานในยุคที่ Propaganda ครองเมือง ท่ามกลางโลกแห่งวงการบันเทิงอันแสนดุเดือด ศิลปินตัวเล็กตัวน้อยจะเอาตัวรอดกันอย่างไร พวกเขาจะสละความอับอายทิ้ง ละทิ้งอุดมคติแห่งความเป็นศิลปินได้หรือไม่ ชีวิตแสนตลกร้ายจะดำเนินต่อไปอย่างไรในยุคสงครามเย็น?!  …และขยายความตามท้องเรื่อง …เมื่อกองถ่ายภาพยนตร์พยายามผลิตผลงานในยุคที่หนังโฆษณาชวนเชื่อครองเมือง พวกเขาต้องดิ้นรนหาทางรอดในวงการบันเทิงที่ดุเดือดและแสนจะพลิกผันกดดัน และการเอาชีวิตรอดของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยในกองถ่ายแห่งนี้ นำพามาซึ่งความสับสนชวนหัว ท่ามกลางฉากหลังของสงครามเย็นและการเมืองที่บีบคั้น เมื่อเหล่าศิลปินต้องพยายามปรับตัว ไม่ว่าจะด้วยความกล้าหรือความไม่อาย และทางเลือกที่พวกเขาต้องทำจะเปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล! เตรียมพบกับเรื่องราวตลกร้าย สุดเข้มข้น ผสมการแสดง Physical Theater จาก B-floor พาคุณสำรวจชีวิตของเหล่าผู้คนในอุตสาหกรรมบันเทิงในแบบที่คุณไม่เคยเห็น (B-floor ทำมาก่อน)

 

 

ผู้กำกับ คาเงะ ธีระวัฒน์ มุลวิไล นอกจากผลงานดีเด่นด้านละครเวทีที่มีมาตลอดอายุการทำงานแล้ว ช่วงหลังยังมีผลงานการสร้างหนังสั้นผสมสองศาสตร์ในแนวทางและเนื้อหาที่น่าสนใจไม่ต่างกัน ล่าสุด เรื่อง "The Border Town" ได้รับรางวัลชนะเลิศ 'รางวัลภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม ระดับบุคคลทั่วไป' ประจำปี พ.ศ. 2565 จาก ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 31 และ เรื่อง "Blue Territory" เข้ารอบสุดท้าย รางวัลรัตน์ เปสตันยี (ระดับบุคคลทั่วไป) ใน “เทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 26” ปี 2565 จัดโดย หอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ มูลนิธิหนังไทย ประสบการณ์จากกองถ่ายหนังในบทบาทของ Acting Coach  นักแสดง ผู้ช่วยฯ  ผู้กำกับ ลำดับภาพ ฯลฯ ถูกถ่ายทอดต่อยอดรวมกับเหตุการณ์ทางการเมืองช่วง 14 ตุลา 2516 และ 16 ตุลา 2519 ที่มาพร้อมการตั้งคำถามต่อผู้คนและสังคมหลายประเด็นเป็นสาระสำคัญ สร้างสรรค์ผ่านละคร Absurd ที่ทั้งแสบทั้งคันเป็น ขันขื่น ที่ชื่นมื่นและขื่นขม จนผู้ชม ‘ฮาน้ำตาเล็ด’ เพราะรู้เรื่องเบื้องหลังที่ฝังลึกผนึกรวม ซึ่งไม่จำเป็นต้องกำกวมกันอีกต่อไป ในนาม ‘ละครสะท้อนการเมือง’ ที่เสียดสีลงแซ่แม้กระทั่งตัวเอง ผู้ซึ่งได้รับเกียรติยศสูงส่งเป็นถึง ‘ศิลปินศิลปาธร กระทรวงวัฒนธรรม’ (สาขาศิลปะการแสดง ปี 2561) เพื่อสะท้อนบริบททางสังคมให้ครบทุกด้านผ่าน ‘ศิลปะการแสดงแกงโฮะ’ (Drama Dance Movement etc. ออกมาเป็น Physical Theater)

 

 

“The Making of The Otherland”  เป็นผลงานสเกลใหญ่ที่สุดของ B- Floor ได้รับแรงบันดาลใจมาจากซีนหนึ่งในหนังนำมาขยาย หลังจากที่ต้องหยุดทำงานช่วงโควิดระบาดหนักในปี 2562-2563 วิกฤตการณ์ที่เหมือนโลกหยุดหมุนไปชั่วขณะ ทำให้ทุกคนมีเวลาหยุดพัก นิ่งพอที่จะคุยกับตัวเอง มีเวลาได้ทบทวนวิธีคิด แนวทางพร้อมตั้งคำถามสำรวจการทำงานที่ผ่านมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และอนาคตว่าจะไปต่ออย่างไร ปกติผลงานของ B- Floor Theatre จะเป็นละคร dance ครั้งนี้งานถูกออกแบบให้เป็น ‘เทศกาล’ จำลองบรรยากาศ Art Marget (ใน Mob Fest ปี 2563) มีขายของ work shop เสวนา ดนตรี จากแนวร่วมของคนรักประชาธิปไตยมารวมกันสร้างสรรค์ในแนวทาง  Art of Democrazy ที่รวมผู้คนหลากกลุ่มหลายวงการมาร่วมกันส่งเสียงสื่อสารประเด็นทางสังคม การเมือง โดยเฉพาะในประเด็นที่เรียกร้องความยุติธรรม การรวมกำลังทำให้ เสียงดัง เพิ่มพลังมากขึ้น ตามวิถีศิลปีสากล

ผลจากการร่วมแสดงละครแนว Street Art ใน MOB เยาวชน ปี 2563 และร่วมสุมหัวรัวสมองประลองกึ๋นกัน คั้นข้นจนออกมาเป็นชื่อที่ยาวเกินยั้งว่า “เดอะ เมคกิ้งออฟ ดิ อะเธอร์แลนด์ อินเดอะ อาฟเตอร์นูน  เลทๆ จีเอ็มที บวกเจ็ด ออน เดอะแบ็ค ออฟ ดิ อัลโมสต์ ฟิฟท์  ไทเกอร์ บีไฮด์ เดอะ เบอร์ลิน วออล์ (นอท เรียลลี่)” The Making of the Otherland in the Afternoon Late Late GMT+7 on the Back of the Almost Fifth Tiger Behind the Berlin Wall (Not Really) ผ่านละครซ้อนหนัง สอดไส้หนังด้วยละคร กับ movement บอกเรื่องราวของคนทำงานศิลปะที่มีสถานะเป็น ‘ศิลปิน(อิสระ)’ ในประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการรองรับ กับความพยายามที่จะดิ้นรนเอาชีวิตรอด โดยเฉพาะ ‘คนละคร’ ที่ต้องศึกษาหาวิธีใหม่ด้วยการไปรับงานทำหนัง สิ่งที่ตามมาคือภาวะ ที่ผู้กำกับใช้คำว่า suckering (sucker n. คนที่ถูกหลอกต้มง่าย คล้ายจะเป็นศัพท์แสลงจากอาการของคนที่อยู่ระหว่างการปรับตัว เวียนหัวกับวัฒนธรรมที่แตกต่างในแนวทางของสังคมที่ไม่คุ้นเคย) จึงเกิดคำถามต่อตัวเองว่า “ศิลปะ(ที่แท้)คืออะไร? แล้วควรไปต่อยังไงดีวะ?”

 

 

ผู้กำกับคาเงะให้สัมภาษณ์สื่อ a day ว่า “เราเติบโตมากับหนังยุคระเบิดภูเขาเผากระท่อม เห็นการยิงต่อสู้กัน  พระเอกชนะความไม่ดี ความไม่ดีคือคอมมิวนิสต์ มันมีรากที่ยังต่อเนื่องมา เราเห็นหนังแนวนี้เยอะขึ้น แม้มันเป็นช่วงท้ายของสงครามเย็น ผมก็เลยนึกย้อนกลับไปว่า ถ้าเราจะลองนำกลับมาสร้างซ้ำ ในช่วงเวลาที่เราเคยรับรู้ร่วมประสบการณ์ มันจะออกมาเป็นยังไงใน พ.ศ. นี้ เพราะสงครามเย็นเป็นมรดกที่ยังตกทอดอยู่ในปัจจุบัน คือการใช้สงครามจิตวิทยา คือการแบ่งเขา แบ่งเรา

เดือนตุลาก็เป็นหมุดหมายอันหนึ่ง ในอดีตทุกคนก็จะจำได้ว่ามันเกิดการเรียกร้องประชาธิปไตย ลากยาวมาตั้งแต่รุ่นเก่าจนถึงรุ่นใหม่ เดือนนี้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ หรือเป็นสัญลักษณ์ของการลุกขึ้นมาเพื่อจะทวงสิทธิ์ของภาคประชาชนในหลาย ๆ ภาคส่วน มีการทำกิจกรรมรำลึกต่างรูปแบบกัน แต่เราอยากร่วมรำลึกในวิถีทางของเรา

เราเห็นว่าละครหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เหมือนเป็นการทบทวนตัวเอง ทบทวนวิธีคิด ทบทวนแนวทาง ทบทวนว่าเราจะไปต่ออย่างไร งานเกี่ยวกับเหตุการณ์เดือนตุลาผมทำมาหลายเรื่องแล้ว แต่ตอนนี้เหมือนกับว่าเราอยากหาวิธีการใหม่ ๆ ที่ยังมีความเกี่ยวโยงพาดพิงมาถึงยุคปัจจุบันได้มากขึ้นมากกว่า ผมคิดว่าในบรรดาศิลปะที่หลากหลาย ศิลปินเขาก็หาวิธีที่จะต่อสู้ของเขาอยู่ งานของผมก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเท่านั้นเอง คนรุ่นใหม่ที่ทำละครอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็มีแนวทางที่น่าสนใจมากขึ้น มีทิศทางของตัวเองมากขึ้น คนรุ่นใหม่เปิดตัวเยอะแยะมากขึ้น ตรงนี้แหละที่น่าสนใจ เพราะว่าการเมืองมันอยู่ในทุกที่ ผมก็เลยรู้สึกว่ามันมีความหลากหลายมากขึ้น ผมเห็นความหลากหลายนี้กำลังเจริญเติบโตงอกงามมากขึ้น ”

The Making of the Otherland จึงเป็นงานโครงการทดลองที่รวมศิลปินละครเวทีรุ่นใหม่มากมาย มีรุ่นพี่ร่วม lead  (ธีระวัฒน์ มุลวิไล , จารุนันท์ พันธชาติ , ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ ฯลฯ) อีกหลายคนปนกันไปเป็นอีกหนึ่ง Dream Team ที่มีแนวทางที่ยืนยันให้มั่นใจว่าละครเวทีไทยไม่ไร้หวัง

 

 

องก์แรก[1]องเรื่องเป็นบรรยากาศกรี๊ดกร๊าดตลาดแตกแถกเถิดเทิงไปกับกองถ่าย ปูทางสู่สารสำคัญ กระสันเสียดสีบริบทเก่าของหนังไทย กับประวัติศาสตร์การเมือง ผ่านตัวละครนำสถานะ พระเอก ชื่อ ‘ชาติ’ ผู้เป็นตัวแทนของ ‘ความรักชาติ’ ที่ไม่อาจแบ่งฝ่าย แต่ยอมตายเพื่ออุดมการณ์ ผู้ชมสะท้านไปกับปัญหาเก่าทียังคงใหม่อยู่ในปัจจุบัน คือเรื่อง ‘ทุน’ กับ ‘สปอนเซอร์’ ที่ยังคงความเว่อร์เป็น เทวดา มาทุกยุค ล้วนเป็นสิ่งดลบันดาลความปั่นป่วนให้คนรักการสร้างงานศิลป์รวนเพราะต้องเลือก ว่าจะกินแกลบหากต้องการ ‘กล่อง’ (รางวัล) หรือตามใจนายทุนผู้กำหนดโจทย์ด้วยการตลาดที่ขาดสุนทรีตามทฤษฎีศิลป์ชั้นสูง แต่ละครถูกออกแบบให้สนุกไปกับ acting ที่ล้อเลียนเสียดเย้ยความเชยของยุคสมัย เพลิดเพลินไปกับเสียงเพลงและ dancer ที่เซอร์ล้ำยุคในลุคหางเครื่องจริตดกไม่สะทกกับปัญหาโลกแตก

องก์หลังถูกออกแบบให้นิ่งขึ้น แต่เข้มขลังพลังสูงด้วยสารที่สื่อตรงและแรงในทุกเรื่อง ทั้งการเมืองและวิถีที่ต้องต่อสู้กับสงครามเย็นซึ่งเป็น ‘ศัตรูผู้มองเห็น’ แต่ทำอะไรมันไม่ได้ ละครถูกออกแบบให้เข้าใจง่ายด้วยสัญลักษณ์ที่รู้จักกันดี โดยไม่มีการหมกเม็ด ตัดสลับละครกับ movement ที่เค้นมาจาก ‘เครื่องชี้นำทางความคิด’ (สื่อสารพัดพิษ) ที่หมักหมมในสังคมไทย ด้วยเทคนิคเหนือระดับ สามารถกระชับรวบหลายประเด็นที่เป็นปัญหาได้ด้วย บทกวี, วรรคทองของคัมภีร์ที่เป็นอมตะ ,ประวัติศาสตร์ชาติไทยในบริบทสังคมโลก ฯลฯ โศกแรงไปกับ “KING LEAR”[2] (คนชอบเลีย) บทประพันธ์อมตะของ Shakespeare ที่ถูกนำมารำลึกร่วมอีกครั้งหลังจากที่ B-Floor เคยจัดแสดงมาแล้วในแนว Physical Theater เมื่อหลายปีก่อน ณสถาบันปรีดี พนมยงค์ ที่มีนัยทางการเมืองในทุกระดับเหมาะกับธรรมเนียม ‘เลียนาย’ ทุกยุค

 

 

ครั้งนี้ “KING LEAR” นำบางช่วงสำคัญกลับมา restage สั้น ๆ แต่สั่นสะเทือนต่อสัญญาณเตือนที่พูดถึงความหายนะกับชะตากรรมของผู้กุมอำนาจ ด้วยบทบาทของคิงผู้ยโสโอหังไม่อาจปล่อยวางตามทางของอายุขัย กลับพิศมัยคำประจบสอพลอ ยกยอปอปั้น อันเป็นมายาย้อนแย้งแต่ยึดว่าคือเรื่องจริง สังเวยปิศาจที่สิงอยู่ภายในใจให้อาละวาดตามสัญชาตญาณของมัน สัญลักษณ์ที่ทุกคนเข้าใจได้โดยไม่ต้องอธิบาย ว่าต้นเหตุของความวุ่นวายภายในบ้านเมือง ล้วนสืบเนื่องมาจากอะไร “Nothing come out of nothing.” กลิ่นอายชวนให้ทบทวนถึง “KING LEAR” ที่ถูกนำมาสร้างเป็นหนังเมื่อปี ค.ศ 2000 ที่ดัดแปลงบทเป็น version เชื่อมกับปัจจุบัน ตัวนำเป็นนักสร้างหนัง หลังการตีความตามยุคสมัย) เพราะได้รับความนิยมสูง บทละครจึงมีหลากหลาย version บทที่ถูกดัดแปลงให้จบแบบ Happy Ending ได้รับความนิยมสูงมากอยู่ช่วงหนึ่ง แต่เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 ผู้คนถึงได้กลับไปหา Original  Version ของ Shakespeare บอกความนิยมของยุคสมัยในผู้คน ที่อาจวนกลับไปมาเหมือน ‘ค่านิยมผสมแฟชั่น’ และละครทำหน้าที่สะท้อน ‘ศิลปะแห่งยุคสมัย’

ธีระวัฒน์ มุลวิไล แสดงเป็นผู้กำกับทั้งสององก์ ฉายอัจฉริยภาพความเป็นนักแสดงที่แค่ขยับก็ขับได้ทั้งความ ‘ขัน’ ควบ ‘ขื่น’ เคลื่อนพร้อมกันไปในเวลาเดียว โดยไม่ต้อง Over Act (ชวนให้หวนคิดถึงที่มาของฉายา ‘คาเงะ’ เพราะหน้าตาน่ารักน่าหมั่นไส้คล้ายความเป็นเหมียวจอมเซี้ยวในการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อ ‘คาเงะชิโยะ’  影千代  เป็นแมวนินจาโคงะ ของ เคมุมากิ เคมุโซ นินจาจากสำนักโคงะ คู่ปรับกับ "ชิชิมารุ" เจ้าสุนัขนินจาของ "ฮาโตริ" แม้มันถูกออกแบบมาให้หน้าตาขี้โกงเหมือนเจ้านาย ดูเป็นแมววายป่วง ขี้อิจฉา จอมก่อกวน แต่กลับยวนยีมีเสน่ห์ ที่เป็นสีสันเฉพาะตัว) โดยเฉพาะรอบแรกวันแรก 5 ตุลาคม 2567 ที่มาในบทบาท King Lear กับบทแนว Satire Comedy ที่รับกับบุคลิก จิกกัดตัวเองแบบตีวัวกระทบคราด ฉลาดแกมเกม

 

 

ในองก์แรก ครูคาเงะ แสดงเป็นผู้กำกับที่แบกอุดมการณ์สู้กับนายทุน ลุ้นกับสปอนเซอร์ ไม่เว่อร์แต่เป็นตัวของตัวเองนักเลงพอ ตรงข้ามกับองก์สองสนอง need นายทุนหนุนทุนนิยมกลมกลืน ‘กล้ากลายพันธุ์’ ไปสู่ความเป็นผู้กำกับระดับชาติประกาศสถานะผ่าน (เขาให้ผมกำกับเพราะเป็น…) ‘ศิลปินศิลปาธร’ ลุคใหม่น่าสะออนสะท้อนบริโภคนิยม ทับถม ‘อุดมการณ์กินไม่ได้’ ให้หายไปจากหัวใจศิลปิน จนสิ้นศรัทธาจากบรรดาผู้คน(ที่เคย)ร่วมอุดมการณ์ จนต้องกลับมาทบทวนหวนคิด

ดิ้นด่านสุดท้ายสวยขลังพลังขรึม แต่ความอึมครึมแบบอาร์ตที่อ่านยาก มากไปด้วยความหมายปลายเปิด เพื่อให้เกิดการปะทะสังสรรค์ทางความคิด แต่ mass เข้าไม่ถึง ไม่สามารถดึงความคิดของผู้คน จนเกิดการตั้งคำถามด้วยความผิดหวังอย่างตรงไปตรงมา เป็นซีนที่สวยด้วยงานออกแบบ movement ที่เน้นสัญลักษณ์ลึก เล่นกับแสงเงา ความมืดความสว่างส่องนำทางสำรวจตัวตน ทิ้งให้ฉงนด้วยสไตล์ที่ทำให้ทบทวนถึงทฤษฎีของ Bertolt Brecht[3] ศิลปะการแสดงที่ดึงประเด็นจิตสำนึกระหว่างความจริงกับสิ่งที่เป็นมายา ดึงผู้ชมกลับมาอยู่กับความจริงด้วยพาร์ท real ขณะผู้คนกำลังเคลิ้ม นักแสดงทนไม่ไหวลุกขึ้นด่าประดังประเด เท่ด้วยทิ้งปริศนารอบด้านที่ต้องการหาคำตอบทั้งผู้สร้างงาน ผู้ร่วมงาน และรวมถึงท่านผู้ชมด้วย

 

 

 

ผลงานละครเวทีกึ่งทดลองของ B- Floor Theatre ที่ถ้าเป็นอาหารก็คือการนำเสนอกรรมวิธีปรุงรสชาติใหม่ของ ‘แกงโฮะ’ ที่รสชาติจัดจ้าน ไม่ได้นำแค่อาหารเหลือมารวมกันแล้วปั้นรสใหม่แบบในวัฒนธรรมเดิม แต่เป็นแกงโฮะในแบบ Fusion Food เพราะไม่ได้นำแค่ แกงฮังเล มาเป็นส่วนผสม-เครื่องปรุงแบบในปัจจุบันเท่านั้น แต่คือรสชาติแบบหลายสัญชาติมารวมกันเป็น เมนูใหม่ บนความใส่ใจที่จะผสานความหลากหลายของวัฒนธรรมการเสพศิลป์ของคนทุกรุ่นให้ออกมา ‘คุ้นลิ้น-กินอร่อย-ย่อยสะดวก’ มาก ต่างจากเอกลักษณ์ของ B- Floor Theatre ซึ่งชัดเจนตามแนวทางมามากกว่า 20 ปี ตามเจตจำนงที่มั่นคงต่ออุดมการณ์ โดยมีงานศิลปะการแสดงเป็นเครื่องมือสื่อสาร เป็นอาวุธต่อสู้กับปิศาจเผด็จการ ร่วมล้างผลาญความอยุติธรรมในสังคม สะท้อนความโสมมที่ควรได้รับการสะสาง อย่างพลเมืองที่รักในประชาธิปไตยตลอดมา เมนูใหม่อาจกลายไปสู่ ‘ลายเซ็น’ เป็นที่ยอมรับชื่นชอบในรสชาติของศิลปะยุคพหุวัฒนธรรม  เพราะหัวใจของ ‘โลกใหม่’ คือ ‘ความหลากหลายที่หลอมรวม’

 

 

ความเห็นจาก ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

 

เมื่อบ่ายและเย็นวันที่ ๖ ตุลา
ผมได้ไปชมการแสดงลครของ B-Floor
ซึ่งดีมาก ๆ และประทับใจมาก ๆ
ทีแรกคิดว่ามันจะมืดค่ำไป ยาวตั้ง 2 ชั่วโมง
เลยคิดว่า จะดูเพียงครึ่งเรื่องแล้วกลับบ้าน
แต่ดูแล้ว กลับไม่ได้
ค้างคาใจ ทำไม เชคสเปียร์
จึงมาพบปะกับเหตุการณ์ ๑๖ ตุลา ???
สงสัยเปนอย่างยิ่ง เลยต้องดูต่อจนจบ
แล้วก็พบว่าทั้งคนรุ่น ๑๔ ตุลา ทั้งคนรุ่น ๖ ตุลา
จนกระทั่งถึงคนรุ่นใหม่ ๆ รุ่น ๑๖ ตุลานั้น
ต่างก็ยังติดอยู่กับวังวนการเมืองไทย
ที่หมุนขึ้น หมุนลง
แม้จะดูเหมือนจะไม่มีทางออก
จากภาวะไร้ตรรกะเช่นนี้
แม้ว่า จะยังหาข้อสรุปไม่ได้
(อย่างวลีสุดท้าย ตอนจบของลคร)
แต่อยากเชื่อว่า คนรุ่นเก่า ๆ รุ่นแก่ ๆ
น่าจะฝากความหวังไว้ได้
กับคนรุ่นใหม่ ๆ ครับ

ชาญวิทย์
๗ ตุลา ๒๕๖๗
ฝั่งกรุงธนบุรี

 

ความเห็นจาก ครูแพ็ท รศ. ดร.ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์  สาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ (บรรณาธิการหนังสือ “จากเวทีละคร สู่เวทีการวิจารณ์” : รวมบทความวิชาการ เชิญผู้สนใจดาวน์โหลดหนังสือเพื่อใช้ศึกษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่ shorturl.at/cefzN / ขอบคุณ Credit : Facebook TRF Criticism โครงการวิจัย เครือข่ายวิจารณ์ศิลปะ : การวิจัยและพัฒนา)

“คืนนี้ได้ไปชมงาน ของ B Floor (เรื่อง The Making of the Other Land etc.) ในงาน October Fest ที่จัดร่วมกับกลุ่ม "ดินสอสี" เพื่อสร้างบรรยากาศของ "งานวัด" อันเต็มไปด้วยแสง สี เสียง แห่งดินแดนที่ร่าเริง พร้อมด้วยเวทีเสวนาและตลาด October Festival  เราเคยชมการแสดงเรื่อง “แผ่นดินอื่น” (The Other Land) ของ B Floor เมื่อปี 2012 และประทับใจในความคิดสร้างสรรค์ และทักษะการ Devise การแสดงจาก ภาพนิ่ง costumes props ตัวอักษร คลิปและเสียงพากษ์จากภาพยนตร์ไทยยุคเก่า ๆ เพลง คำพูดจากวรรณกรรม ข่าว เสียงออกอากาศของบุคคลสำคัญ เพื่อนำเสนอตัวละครที่อยู่ภายใต้ concept ของ "กองถ่ายทำภาพยนตร์ไทยย้อนยุค" และยังคงครองอันดับผลงาน Post-modern Performance  ที่ยอดเยี่ยมในใจเสมอ

ดังนั้นเมื่อ 12 ปีผ่านไป ผู้กำกับฯ Ka-ge Mulvilai ได้นำconcept นี้ มาขยายและต่อยอดไปอีกในปี 2024 ให้สามารถทำงานเชิงสัญญะได้มากขึ้นไปอีกกับผู้ชมยุคปัจจุบัน โดยยังคงใช้ concept การถ่ายทำภาพยนตร์ไทยเช่นเดิม หากแต่เป็นการแสดงแบบที่เรียกได้ว่า Absurd หนักมาก ยั่วล้อ เสียดสี ทุกสิ่ง ที่คนชอบดูละครเวทีน่าจะคุ้นเคย เช่น บทพูดเดี่ยวจากละครดังของ Shakespeare หลายเรื่อง ไปจนถึงพฤติกรรมของคนในกองถ่ายภาพยนตร์ไทย ที่ถูกทำให้กลายเป็นสัญญะคู่ขนานกับระบบราชการ หรือ เหตุการณ์ร่วมสมัย ที่คนไทยคุ้นชินกันอยู่แล้ว เป็นต้น แน่นอนการนำเอาโศกนาฏกรรมเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มาปรากฏในละครเวทีนั้น มีได้หลากหลายวิธี และ หลากหลายความหมาย แต่ คาเงะ (ผู้กำกับ) นั้นมีชั้นเชิงในการนำเสนอความซับซ้อนของเหตุการณ์ทางการเมืองนี้ ผ่านความ surreal ที่เป็น "ตลกบ้าบออันเจ็บปวด"  ได้อย่างน่าทึ่งและจับใจมากเลยทีเดียว ในยุคสมัยนี้ ต้องนับว่าเขาเป็นศิลปิน ที่กล้าถอดหัวโขนแม้กระทั่งของตัวเอง ได้อย่างขบขัน สนุกสนาน (และแสบสัน) บนเวทีการแสดง ละครเรื่องนี้ให้อะไรกับผู้ชมที่หลากหลายวัยและความรู้พื้นฐานด้านประวัติศาสตร์การเมือง ไม่ว่าคุณจะคุ้นเคยกับสไตล์การแสดงที่ใช้จังหวะ ดนตรี ความเงียบ แสง เสียง และ physical theatre หรือไม่ก็ตาม แต่คุณจะได้รับอรรถรสแบบสลัดจานใหญ่ ที่ไม่มีในภาพยนตร์ หรือ สื่อปกติทั่วไปแน่นอน ขอบคุณ B-Floor ที่ยืนหยัดทำงานอันแสนยาก ด้วยข้อจำกัดมากมายทั้งงบประมาณและอื่น ๆ แต่เมื่อได้เห็นนักแสดงหน้าใหม่เพิ่มขึ้นหลายคน ก็ให้ใจชื้นว่า ‘คนรุ่นใหม่’ ก็สนใจทำงานในลักษณะนี้กันมากเช่นกัน (ทีมงาน Yimwan Aksharanugraha , Jaa Phantachat , Wasu Takkatan และ Pin Nicha)”

 

6 ตุลาคม 2567 หอศิลป์กรุงเทพฯ

 

 

“ขอบฟ้าขลิบทอง”

        มิ่งมิตร                                                         เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น

  ที่จะบุกดงดำกลางค่ำคืน                                     ที่จะชื่นใจหลายกับสายลม

ที่จะร่ำเพลงเกี่ยวโลมเรียวข้าว                           ที่จะยิ้มกับดาวพราวผสม

ที่จะเหม่อมองหญ้าน้ำตาพรม                            ที่จะขมขื่นลึกโลกหมึกมน

ที่จะแล่นเริงเล่นเช่นหงส์ร่อน                              ที่จะถอนใจทอดกับยอดสน

ที่จะหว่านสุขไว้กลางใจคน                                 ที่จะทนทุกข์เข้มเต็มหัวใจ

ที่จะเกลาทางกู้สู่คนยาก                                       ที่จะจากผมนิ่มปิ้มเส้นไหม

ที่จะหาญผสานท้านัยน์ตาใคร                            ที่จะให้สิ่งสิ้นเธอจินต์จง

          ที่จะอยู่เพื่อคนที่เธอรัก                                         ที่จะหักพาลแพรกแหลกเป็นผง

ที่จะมุ่งจุดหมายปรายทะนง                                ที่จะคงธรรมเที่ยงเคียงโลกา

เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น             เพื่อไผ่โอนพลิ้วพ้อล้อภูผา

เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา                  เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ ฯ

 

อุชเชนี (อ.ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา)
พ.ศ. 2495

 

 

 

 

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลข่าว
โดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
B-floor Theatre และ กลุ่มดินสอสี

 

 

เทศกาลละครกรุงเทพ 2024
BANGKOK THEATRE FESTIVAL ( BTF 2024 )

“เทศกาลละครกรุงเทพ 2024”  (เป็นส่วนหนึ่งของ “เทศกาลศิลปะการแสดง ครั้งที่ 13” หรือ P.A.P. #13 : Performative Art Project #13 จัดโดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ร่วมกับกลุ่มศิลปินสาขาศิลปะการแสดง สร้างสรรค์การแสดงในหลากหลายรูปแบบในนาม “โครงการศิลปะการแสดง BACC”) กลับมาตามคำเรียกร้อง เชิญผู้ชมทุกกลุ่มมารุมเสพศิลป์ ชมศิลปะการแสดงหลากหลายประเภทกว่า 80 รายการ เอาใจทั้งสายละคร , สาย movement สาย performance เทคนิคจัดจ้าน ฯลฯ และ workshop ชวนอิน จากศิลปินมากฝีมือมาแน่น ๆ ดูกันให้หนำไม่ซ้ำแนวตลอด 3 สัปดาห์ วันที่ 9-24 พฤศจิกายน 2567 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) , อุทยานการเรียนรู้ TK Park และพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพ ได้แก่ LiFE Studio , ล้านนาอารีย์เธียเตอร์ , Hoyhon Park Silom , UTCC PA STUDIO และ OpenSchool Art Space

รายการแสดง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

 


[1] HOLOCAUS , annefrank.org , สืบค้น 5 ตุลาคม 2567   https://www.annefrank.org/en/anne-frank/go-in-depth/what-is-the-holocaust/

[2] King Lear - Laurence Olivier and John Hurt , Shakespeare Network , สืบค้น 5 ตุลาคม 2567 https://www.youtube.com/watch?v=Pdn07wgUrno

[3] ละครเบรคชท์กับสังคมไทย , artbangkok.com , สืบค้น 5 ตุลาคม 2567 https://www.artbangkok.com/?p=6437