Focus
- บุญชู โรจนเสถียร เขียนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวาระครบรอบการก่อตั้ง 50 ปี โดยลำดับเวลาและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ก่อตั้งทั้งจิตวิญญาณธรรมศาสตร์จนมาถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองในทุกยุคสมัย โดยมีข้อเสนอต่อมหาวิทยาธรรมศาสตร์ในวาระดังกล่าวไว้ 2 ประการ ดังนี้
- (1) ธรรมศาสตร์ยังเหลือระยะทางอีกยาวไกล และมีโอกาสมหาศาลที่จะดำเนินบทบาทร่วมกับสถาบันอื่น ๆ ภายในชาติของเรา พัฒนาสร้างสรรค์สังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศต่อไป โดยไม่ลดละความเพียรพยายาม แต่กลับจะต้องเพิ่มมานะมากขึ้นเป็นทวีคูณ
- (2) ธรรมศาสตร์ยังจะต้องปรับปรุงเพิ่มพูนคุณภาพทาง วิชาความรู้ และประสิทธิภาพการบริหาร เพื่อปฏิบัติภาระหน้าที่ประการแรกให้สัมฤทธิ์ผลอย่างสมบูรณ์
คำถามทั้ง ๒ นี้ จำเป็นต้องมีคำตอบที่ชัดแจ้ง หากการมีอายุล่วงเข้า ๕๐ ปีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความหมายมากกว่าความยืนยาวของกาลเวลาที่ผ่านไปตามปกติของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง เฉพาะอย่างยิ่งในความหมายที่ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยซึ่งมีบทบาทสำคัญ และไม่อาจแยกจากความเป็นไปของการพัฒนาสังคม ไทย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา
แน่นอน ธรรมศาสตร์ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของประเทศไทย ก็เป็นเพียงสถาบันการศึกษาระดับสูงของประเทศเท่านั้น การนำเอาความสำคัญใด ๆ ของธรรมศาสตร์มาเอ่ยให้เห็นเด่นเหนือไปกว่าสถาบันการศึกษาอื่นอย่างที่ผมจะสาธยายต่อไป ถ้าหากเห็นว่าออกจะเกินเลยหรืออาจก่อให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นการฟื้นฝอย ทำให้ระคายเคืองอารมณ์ของคนบางคนบ้าง ก็ขอได้โปรดอภัย เพราะไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้นจริง ๆ
ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาสำคัญ ๆ ในโลกนี้ ต่างก็มีวิญญาณและบุคลิกของตนด้วยกันทั่วทุกแห่ง และวิญญาณและบุคลิกนั้น ก็ติดตัวกลายเป็นคุณสมบัติของผู้ผ่านการศึกษาจากสถาบันนั้นมากบ้างน้อยบ้างทั่วกัน อย่างเมื่อเอ่ยถึงมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด หรือเคมบริดจ์ ของอังกฤษ มหาวิทยาลัยซอร์บอร์นของฝรั่งเศส วิญญาณและบุคลิกของสถาบันเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะเป็นภาพที่เด่นชัดในความรู้สึกของผู้คนทั่วไปเท่านั้น แต่ในตัวบุคคลที่ผ่านการกศึษาจากสถาบันเหล่านี้จะมีวิญญาณและบุคลิกของสถาบันติดตัวอยู่ด้วย
วิญญาณและบุคลิกจะบอกว่า เขาคนนั้นคือใคร มาจากไหน มีธาตุมีสำนึกอย่างไร ?
ธรรมศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เช่นกัน ไม่เพียงแต่จะมีวิญญาณอันเด่นชัดของตนเท่านั้น แต่วิญญาณนั้นได้ฉาบฉายอยู่ในบรรดาผู้ที่ผ่านสถาบันแห่งนี้มาด้วย ไม่มากก็น้อย ซึ่งจะบอกแก่ผู้คนได้ว่า เขาคือชาวธรรมศาสตร์เสมอ เพราะฉะนั้น ความยืนยาวของอายุ ๕๐ ปีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีความหมายมากกว่าที่เป็นเพียงกาลเวลาอันบ่งถึงอายุขัย ซึ่งล่วงเข้าครึ่งศตวรรษของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งของประเทศเท่านั้น
ออกจะเป็นการยากที่จะมองเห็นความหมายของธรรมศาสตร์ ในทางที่เกินเลยจากความเป็นสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง หากเราไม่ย้อนกลับไปมองระบบและปรัชญาการศึกษาของประเทศเราในสมัยก่อนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะได้รับการสถาปนา
ในยุคหลายร้อยปีที่แล้วมา เราไม่ได้ถือกันว่า การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนสามัญทั้งหลาย และแม้แต่ในระดับขุนน้ำขุนนาง ผู้บริหารประเทศในยุคนั้น ก็ดูจะถือว่าไม่สำคัญนัก ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า แม้จะล่วงเข้ามาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังปรากฏหลักฐานว่า ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๒๗ หรือเมื่อ ๑๐๐ ปีมานี่เอง ซึ่งพระองค์ทรงประกาศยอมรับว่า บ้านเมืองมีความจำเป็นที่ต้องได้คนรู้หนังสือ ที่จะใช้ราชการได้จริง และอยากจะได้เร็วมาก แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ เพราะในวงราชการเองในเวลานั้นข้าราชการเก่าที่รู้หนังสือดีมีอยู่บ้าง ผู้ซึ่งจะเลือกได้นั้น ยังมีน้อย (จากการไล่หนังสือที่โรงเรียนพระตำหนักเดิมสวนกุหลาบ: ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑ จ.ศ. ๑๒๔๖ หน้า ๑๒๘)
เพราะเหตุที่เราไม่เห็นคุณค่าของการศึกษา ความอับจนคนรู้หนังสือจึงเป็นปัญหาที่แม้ในวงราชการก็มีมาก นอกจากนั้น จากหลักฐานที่ได้นำมาอ้างไว้ข้างต้นแสดงว่า ปรัชญาในการปกครอง หรือการบริหารบ้านเมือง ในสมัยโบราณผู้ปกครองของเรามิได้คำนึงถึงคุณภาพในทางการศึกษาของทรัพยากรบุคคลมาโดยตลอด จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๓ ของราชวงศ์จักรี จึงปรากฏว่าได้เริ่มเล็งเห็นความจำเป็นที่ต้องมีผู้มีการศึกษาในชาติขึ้น ทั้งนี้ ก็โดยคำจารึกที่ปรากฏอยู่ในวัดโพธิ์ที่ว่า “ทุกวันนี้มีแต่พาลสันดานหยาบ ประพฤติบาปไปเสียสิ้นแผ่นดินกระฉ่อน จะหาปราชญ์จวนจะขาดพระนครขอไหว้วอนพระไตรสรณะ” แต่ถึงกระนั้น การจัดการทำนุบำรุงการศึกษาอย่างจริงจัง รวมทั้งการนำการศึกษามาใช้เป็นปัจจัยในการพัฒนาบ้านเมือง ก็ยังไม่ปรากฏในช่วงเวลานั้น การศึกษาของคนไทยในสมัยนั้น ก็เป็นแต่เพียงเริ่มต้นมีมากขึ้นในหมู่ลูกผู้ดีมีตระกูลจำนวนน้อย และเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงแผ่ขยายกว้างขึ้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เริ่มวางรากฐานการศึกษาสำหรับยุคนั้น ด้วยปรัชญาที่ว่า “วิชาหนังสือเป็นวิชาที่นับถือ และเป็นที่สรรเสริญมาแต่โบราณว่าเป็นวิชาอย่างประเสริฐ ซึ่งผู้ที่เป็นใหญ่ยิ่ง นับแต่พระมหากษัตริย์เป็นต้น จนตลอดราษฎรพลเมือง สมควรและจำเป็นต้องรู้ เพราะเป็นวิชาที่อาจทำให้การทั้งปวงสำเร็จไปได้ทุกสิ่งทุกอย่าง” และด้วยปรัชญาดังกล่าวโรงเรียนต่าง ๆ และวิธีการให้การศึกษาจึงได้เริ่มต้นมีการคิดอ่าน มีการดำเนินการกันขึ้น ซึ่งในการดำเนินการวางพื้นฐานการศึกษา พระองค์ได้ทรงปรารภไว้ว่า “เจ้านายในราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นลงไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด จะได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้า ว่าขุนนาง ว่าไพร่ เพราะฉะนั้นจึงบอกได้ว่า การเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้ จะเป็นข้อสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันจะอุตส่าห์จัดขึ้นให้เจริญจงได้”
จากนั้นเป็นต้นมา การศึกษาของเราก็เริ่มขยายตัวติดต่อกันมาเป็นลำดับ แต่ส่วนกลางก็คงจำกัดอยู่เฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงที่เป็นข้าราชการ เป็นขุนน้ำขุนนาง ส่วนเนื้อหาของ การศึกษานั้น เมื่อพิจารณาจากหลักสูตรที่ใช้กันในสมัยนั้นก็จะพบว่าเป็นเนื้อหาที่ค่อนข้างแคบ คือ มุ่งเพียงให้ “รู้หนังสือ” ซึ่งหมายถึงการอ่านออกเขียนได้เป็นสำคัญ การร่ำเรียนที่ขยายค่อนข้างจะกว้างไกลออกไปทั่วทั้งประเทศนั้น ก็คือการศึกษาปริยัติธรรมของหมู่สงฆ์ ซึ่งก็เป็นการศึกษาเพื่อความก้าวหน้าทางสมณศักดิ์ ฐานันดรอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งคนที่ไม่มีโอกาสเข้ารับราชการมุ่งหมายจะบรรลุ
สรุปแล้ว พื้นฐานการศึกษายุคนั้นในส่วนที่เป็นศิลปวิทยาการทุกด้านที่ก้าวหน้าของโลก เป็นสิ่งที่ถูกจำกัดให้ได้รับกันเฉพาะแต่กลุ่มคนที่มีโอกาสได้ออกไปศึกษาเล่าเรียนในต่างประเทศเท่านั้น และบุคคลที่ได้มีโอกาสร่ำเรียนศิลปวิทยาการอันก้าวหน้ามาจากต่างประเทศ ก็นำความรู้ทางวิชา ติดตัวมาทำหน้าที่ “รับราชการ” เสียแทบทั้งนั้น การเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการที่ได้ร่ำเรียนมา จึงอยู่ในวงที่จำกัดมากถึงแม้ในช่วงก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕ จะได้มีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาขึ้นบ้างแล้วหลายแห่ง แต่จุดมุ่งหมายของการให้การศึกษา ก็ดูจะมุ่งเตรียมคนไปเป็น “ข้าราชการ” หรือเตรียมเป็นเจ้าคนนายคนเท่านั้น
หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความคิดในด้านการศึกษาได้เริ่มเปลี่ยนไปในทางขยายโอกาสออกสู่มวลชนทั่วทุกชั้น ในลักษณะที่จริงจังและเร่งรีบ ทั้งนี้ รวมทั้งการศึกษาในระดับสูง เจตนาและความคิดในด้านการศึกษาดังกล่าว ปรากฏอยู่ในคำกราบบังคมทูลของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ต่อสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เนื่องในวาระเปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ เวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา ซึ่งมีความตอนหนึ่งดังนี้
“การตั้งสถานศึกษาตามลักษณะของมหาวิทยาลัยย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ และเป็นปัจจัยในการแสดงความก้าวหน้าของประเทศ ประชาชนชาวสยามจะเจริญในอารยธรรมได้ก็โดยอาศัยการศึกษาอันดีตั้งแต่ชั้นต่ำ ตลอดจนถึงการศึกษาชั้นสูง เพราะฉะนั้น ในการที่จะอำนวยความประสงค์และประโยชน์ของราษฎรในสมัยนี้ จึงจำเป็นต้องมีสถานการศึกษาให้ครบบริบูรณ์ทุกชั้น มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้รับตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น”
และจากคำกราบบังคมทูลจะเห็นเจตนาของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองว่า เพื่อให้มีสถานการศึกษาชั้นสูงขึ้นสนองความต้องการของราษฎรตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา ซึ่งเป็นหลักหนึ่งของหลัก ๖ ประการที่คณะราษฎรได้ประกาศเป็นเจตนาในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากนั้นเจตนาอีกประการ หนึ่ง ก็คือ ประสงค์จะให้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองผลิตบุคคลที่มีความรู้ให้มาก ให้บริบูรณ์ เพื่อใช้ธำรงระบอบประชาธิปไตยให้ยั่งยืนและมีความพัฒนาต่อไปด้วยเจตนาประการหลังนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีสถานะเป็นองค์กรพัฒนาคน เพื่อรองรับการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศเรา ซึ่งในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. ๒๔๗๖ ก็ได้ปรากฏข้อความที่ยืนยันสถานะดังกล่าวไว้ว่า
“เมื่อได้มีการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เป็นการสมควรที่จะรีบจัดบำรุงการศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้ได้ระดับมหาวิทยาลัยในอารยะประเทศ และให้แพร่หลายยิ่งขึ้นโดยเร็ว จึงเป็นการสมควรที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นเป็นพิเศษ”
ชื่อว่าธรรม แล้วเราเทิดให้สมไทย
ทุกอย่างไป งานหรือเล่น ต้องเป็นธรรม เอย
ใครรักชาติ ใครรักธรรม เหมือนกับเรา
จงมาเข้าและโปรดเอาใจช่วยเหลืองกับแดง
ทำนองเพลงที่ใช้ คือ “เพลงมอญดูดาว” นั้น ได้ยืนยันหลักการหนึ่งในสองหลักการสำคัญ ซึ่งสลักแน่นอยู่ในดวงใจชาวธรรมศาสตร์ นั่นคือ “เพื่อไทย เพื่อธรรม” ชาวธรรมศาสตร์จะไม่เพียงเพียรหมายเจริญในศาสตร์ทั้งหลายเพื่อความทัดเทียม รวมทั้งเพื่อเป็นฐานมั่นให้แก่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศเราเท่านั้น แต่ความทัดเทียม และความเป็นฐานมั่นนั้น จะต้องสลักแน่นอยู่กับหลักการ “เพื่อไทย เพื่อธรรม” ด้วยทุกกรณี สีเหลืองกับแดง อันเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ไม่ใช่หมายแต่เพียงให้รู้เผ่าพันธุ์เพื่อจำแนกตัวจากนักศึกษาในสถาบันอื่น ความจริง สีนั้นหมายลึกและทรงไว้ซึ่งความขลังในจิตใจของชาวธรรมศาสตร์มาก เพราะ “เหลืองของเรา คือธรรมประจำจิต และแดงของเรา คือโลหิตอุทิศให้” ให้กับ “ไทย”
ฉะนั้น ต่อคำถามที่ว่า ธรรมศาสตร์คืออะไร และอะไรคือธรรมศาสตร์นั้น สิ่งที่ผมได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด ก็เห็นจะพอประกอบเป็นคำตอบที่ทำให้เห็นได้ว่า ธรรมศาสตร์หาได้เป็นเพียงแค่สถาบันการศึกษาระดับสูงของประเทศสถาบันหนึ่ง แต่เป็นสถาบันที่ประกอบด้วย “วิญญาณ” อันผิดแปลกแตกต่างไปจากสถาบันการศึกษาอื่น ซึ่งเราชาวธรรมศาสตร์ทุกรูปทุกนามภาคภูมิกันทั่ว
จากเจตนาที่กำหนดให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแหล่งประสิทธิประศาสน์วิทยาการเพื่อรองรับ หรือเป็นเสาค้ำระบอบประชาธิปไตยในลักษณะ “เพื่อไทย เพื่อธรรม” มหาวิทยาลัยของเราจึงเป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งสอนวิชาแขนงธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นหลักมาตลอด และเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้ผู้แสวงความรู้ได้เข้ารับการศึกษาอย่างกว้างขวางมากที่สุดเป็นประวัติการ
กล่าวได้ว่า ผลการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามเจตนาประการนี้ บุคคลจำนวนมากที่ได้ผ่านร่มไม้ชายคามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ จึงได้สำแดงวิญญาณ “เพื่อไทย เพื่อธรรม” ต่อการเคลื่อนไหวเพื่อการพัฒนาสังคมไทยมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการพัฒนาทางการเมืองในระยะใด หรือเลี้ยวใดของประวัติศาสตร์ไทยหลังจากที่ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นมา ชาวธรรมศาสตร์ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างถึงลูกถึงคนด้วยทุกคน ไม่เคยเว้นเลยสักคนเดียว
ว่ากันในเชิงวิชาการ การจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้สรรพวิชาทางธรรมศาสตร์และการเมืองอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรกในประเทศไทย นับเป็นความกล้าหาญยิ่งสำหรับสังคมไทยที่ไม่ค่อยจะได้พบกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ตลอดช่วงเวลาอันยาวนานก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง วิชาการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดให้มีการสอนขึ้นเหล่านั้นจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ และสอดคล้องกับรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย การริเริ่มด้วยทัศนะที่เปิดกว้าง เป็นคุณอย่างมหาศาลต่อประเทศและประชาชนชาวไทย เพราะเป็นทัศนะที่นำมาซึ่งแนวคิดแบบอารยะเหมาะสมกับสมัยที่โลกกำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และเป็นการริเริ่มในขณะที่การเตรียมตัวทางการปกครองตามระบอบ ประชาธิปไตยกำลังเริ่มต้น จึงกล่าวได้ว่า การก่อกำเนิดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการก่อกำเนิดที่สนองความต้องการของสังคมและประเทศชาติได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับกาลสมัย
ผมเป็นผู้หนึ่งที่ได้มีโอกาสเดินเข้าประตูที่เปิดกว้างของธรรมศาสตร์เพื่อแสวงวิชาความรู้ ถึงแม้วิชาที่ผมร่ำเรียนจะเป็นวิชาบัญชี ไม่เกี่ยวกับวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองโดยตรงก็ตาม แต่ผมรู้สึกว่า ในช่วงเวลาที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในรั้วธรรมศาสตร์ อิทธิพลของหลักการ “เพื่อไทย เพื่อธรรม” หรือ “เหลืองของเรา คือ โลหิตอุทิศให้” ก็ได้ค่อย ๆ ฝังลงในจิตใจของผม เช่นเดียวกับชาวธรรมศาสตร์อื่น ๆ อย่างแน่นแฟ้น ผมยังจำได้ว่า สมัยนั้นบรรยากาศทางการเมืองในบ้านเรา อบอวลไปด้วยการปลุกเร้าความรักชาติ ความเสียสละเพื่อชาติ ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว ก็เป็นการปลูกเพื่อเสริมสร้างบารมีของเผด็จการ ด้วยการทำให้หลงในคติที่ว่า “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” รวมทั้งยังได้พยายามปลูกฝังวัฒนธรรมใหม่ โดยหนีจากไทยเป็นเทศอย่างน่าตลกขบขัน เป็นการฝืนจิตใจ ก่อให้เกิดผลสะเทือนต่อความรู้สึกของคนหนุ่มสาวในยุคนั้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ผู้นำยุคนั้นประสงค์จะครอบงำความคิด
การบังคับให้ประชาชนต้องสวมหมวก ผูกเน็กไท นุ่งผ้าถุง ใส่รองเท้า เลิกกินหมากกินพลู อันล้วนเป็นสิ่งที่มุ่งหมายจะอวดว่า ประเทศไทยได้บรรลุถึงซึ่งธอารยรรมสมัยใหม่แล้ว เหล่านี้ถึงแม้จะมีเจตนาดี แต่ถ้าจะต้องปฏิบัติกันด้วยการถูกบังคับ ต้องปฏิบัติกันเพื่อเอาใจ “ผู้นำ” โดยดำเนินการกันอย่างฉาบฉวยเพียงเพื่อสนองตัณหาของเผด็จการ อีกทั้งเป็นการฝืนขนบธรรมเนียม ผืนความเป็นอยู่อันแท้จริง ทำให้ประชาชนจำต้องปฏิบัติอย่างขมขื่น และบางกรณีก็ปฏิบัติกันทั้งด้วยอาการแดกดันและเย้ยหยันผลจึงได้ปรากฏออกมาเป็นภาพที่น่าทุเรศ เป็นที่เศร้าหมองแก่ผู้ปฏิเสธคติ “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” ทั่วกันทุกคน และในช่วงเวลาที่ประชาชนถูกครอบงำด้วยคติ “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” และมีการปลุกระดมให้คนหนุ่มสาวหลงตกเป็นพลังของขบวนการคลั่งชาติ คลั่งความเป็นมหาอำนาจยุคนั้นภายในรั้วธรรมศาสตร์หาได้ตกอยู่ในภาวะที่ครอบงำด้วยอิทธิพลของเผด็จการอย่างที่ “ผู้นำ” มุ่งหมายไม่ แม้ธรรมศาสตร์ในขณะนั้นจะมีอายุค่อนข้างเยาว์วัยมากก็ตามแต่อุดมการณ์ “เพื่อไทย เพื่อธรรม” ก็ดูจะได้ฝังรากหยั่งลึกอยู่ในมโนสำนึกของชาวธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่ จนยากที่จะแปรเปลี่ยน ยากที่เผด็จการจะครอบงำได้เสียแล้ว
ผมจำได้ว่า รัฐบาลที่นำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในยุคแรกของระบอบเผด็จการหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งหลงไปว่า โดยอำนาจกฤษฎาภินิหารของ “ผู้นำ” รัฐบาลสามารถยัดเยียด หรือบีบบังคับให้ประชาชนทำอย่างโน้นอย่างนี้ รวมทั้งแม้จะบังคับให้ยอมรับเอาความคิดทางวัฒนธรรมของต่างชาติมาเป็นวิถีชีวิต ก็ล้วนเป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้อย่างแน่นอน แต่ว่าวิญญาณของธรรมศาสตร์ก็ได้เริ่มปลุกความสำนึกขึ้นในใจนักศึกษายุคนั้นมากเสียแล้ว พวกเราได้รวมกลุ่มหารือกันถึงการกระทำอันไม่ชอบด้วยเหตุด้วยผลของรัฐบาลในทุกโอกาส และได้ลงมือแสดงปฏิกิริยาคัดค้านการกระทำที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นระยะ ในขอบเขตและในรูปแบบที่พวกเราในฐานะนักศึกษาจะพึงกระทำได้ ทั้ง ๆ ที่เต็มไปด้วยอันตรายรอบด้าน แต่ด้วยวิญญาณธรรมศาสตร์ทำให้พวกเราสำนึกว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องระงับยับยั้งการกระทำอันไม่บริสุทธิ์ไม่เป็นธรรมในสังคมของเรา ไม่ว่าผู้กระทำจะมีบุญญาภินิหาร หรือฤทธิ์เดชยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม
ทั้งนี้ ก็เนื่องจากความเข้าใจในสิทธิของประชาชน และความรู้คุณค่าของเสรีภาพ ซึ่งพวกเราได้เรียนได้รู้จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใดก็ตาม เมื่อชาวธรรมศาสตร์ได้เห็นการกระทำที่มิได้เป็นไปเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศแต่เป็นการกระทำเพื่อรักษา เพื่อเสริมอำนาจของคนกลุ่มใดโดยเฉพาะเป็นสำคัญแล้ว การเคลื่อนไหวและปฏิกิริยาอันเป็นไป “เพื่อไทย เพื่อธรรม” ก็จะต้องปรากฏขึ้นเสมอธรรมศาสตร์เป็นขุมกำลังแห่งปรัชญา และอุดมการณ์ที่มุ่งสู่ความเป็นไทย เป็นธรรมตลอดไป ไม่มีวันสิ้นสุด
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ธรรมศาสตร์กำลังรุ่งโรจน์ เป็นขุมกำลังของวิญญาณ “เพื่อไทย เพื่อธรรม” นั้น สังคมไทยซึ่งได้ก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยมาหยก ๆ ก็เริ่มอาภัพอับเฉาความอัปมงคลซึ่งก่อตัวขึ้นด้วยเหตุแห่งอำนาจเผด็จการทั้งอ่อนทั้งแก่แต่ละช่วง ได้เริ่มแผ่ฤทธิ์เข้าชำระล้างวิญญาณ “เพื่อไทย เพื่อธรรม” ในธรรมศาสตร์เป็นระยะ ๆ โดยมุ่งหมายที่จะให้วิญญาณอันทรงพลังนั้น อันตรธานถึงสิ้นชาติสิ้นเชื้อลงให้จงได้
ความขัดแย้งระหว่างธรรมศาสตร์กับระบอบการปกครองที่สวนทางกับหลักการ “เพื่อไทย เพื่อธรรม” จึงปรากฏขึ้น อย่างต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย หนักบ้าง เบาบ้าง จนเกือบกล่าวได้ว่า ตลอดระยะเวลา ๕๐ ปีที่ผ่านมา ไม่มีช่วงใดเลยที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางการเมืองของไทย ฉะนั้น ถ้าจะกล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเราเป็นมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทสำคัญ และไม่อาจแยกออกจากกระบวนการพัฒนาของสังคมไทยในช่วงเวลาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองตลอดมา จึงย่อมจะเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่เกินความจริง และทั้งหมดที่ได้เกิดขึ้นในชีวิตของธรรมศาสตร์ก็สืบเนื่องมาจากวิญญาณ “เพื่อไทย เพื่อธรรม” ที่ได้ฝังรากหยั่งลึกในจิตใจของชาวธรรมศาสตร์ โดยไม่มีวันจะเปลี่ยนแปลงได้ แม้บางครั้งจะดูว่าสงบเยือกเย็นลง หรือเกิดภาวะจำยอมขึ้นด้วยเหตุประการใดก็ตาม แต่ก็เชื่อเถิดว่าเป็นไปไม่ได้แน่ที่วิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์นั้นจะถูกลบหรือท่าลายให้จางหายไปจากจิตสำนึกของชาวธรรมศาสตร์ได้สำเร็จ
ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน แม้ระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งใจปลูกฝังลงในแผ่นดินไทย จะมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา จนต้องอับเฉาน่าสลด แต่สิ่งหนึ่งซึ่งได้สร้างขึ้นเพื่อสนองเจตนาของการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น และยังคงแกร่งฉกรรจ์เติบกล้าอยู่อย่างทนงองอาจ ก็คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิญญาณที่จุติขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ อันมีส่วนเกื้อหนุนระบอบประชาธิปไตย ก็นับวันเจริญงอกงาม กอปรด้วยความรัก ๔ ประการ คือ รักประเทศชาติ รักประชาชน รักประชาธิปไตย และรักความเป็นธรรม วิญญาณนี้ได้ฝังลงในใจชาวธรรมศาสตร์อย่างล้ำลึก จนเจตนาและความพยายามกำราบ หรือ “ตราสัง” วิญญาณนี้ ดังที่ได้ปรากฏขึ้นแต่ละยุคแต่ละสมัยต่างก็ต้องไร้ผลเป็นหมันไปทุกคราว
การเข้าควบคุมธรรมศาสตร์ของชนชั้นปกครองโดยตรงหรือการส่งสมัครพรรคพวกเปลี่ยนกันเข้ามารับผิดชอบกำราบ เพื่อเหยียบขยี้วิญญาณของธรรมศาสตร์ให้ยับเยินลงให้ได้นั้น ไม่เคยมีใครประสบความสำเร็จ ไม่มีเผด็จการและผู้ล้าหลังคนใดจะทำหน้าที่ “หมอผี” ข่มวิญญาณธรรมศาสตร์ลงได้ ถึงแม้ในแต่ละช่วงเวลาของการย่ำยี จะทำให้เห็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตกอยู่ในอาการสงบขรึมเหมือนซากไม้แห้งก็ตาม แต่ส่วนลึกของภาพ ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ในระดับต่าง ๆ ก็ล้วนยังธำรงวิญญาณของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์ ไม่มีรูปโฉมโนมพรรณใดบิดเบี้ยวเลยแม้แต่น้อย
อย่างไรก็ตาม เรายอมรับกันว่า ธรรมศาสตร์ที่ผ่านกระแสการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ด้วยความทนงองอาจมาถึง ๕๐ ปีนั้น หาได้มีอะไรวิเศษเลอเลิศไปกว่าสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ของชาติแต่อย่างใด ความจริง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผจญกับเหตุการณ์ทั้งในลักษณะที่ถูกและผิด ทั้งที่ควรและไม่ควร เราไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่องไปในทุกกรณี ด้วยเหตุที่เป็นจริงประการนี้ บทบาทและภารกิจที่ธรรมศาสตร์ได้ปฏิบัติต่อสังคมไทย จึงมีทั้งกรณีที่งดงามและที่ผิดพลาดไม่น่าดูคละกัน ซึ่งล้วนเป็นกรณี เป็นผลที่เกี่ยวเนื่อง และผูกพันกับความเป็นไปของการเมือง และสังคมไทยอย่างแน่นแฟ้น
ในด้านภาระหน้าที่ผลิตบุคลากรเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์เบื้องต้นนั้น ผลปรากฏว่า ในช่วง ๕๐ ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ผลิตบุคลากรจำนวนมากกว่า ๕๐,๐๐๐ คน ออกมารับใช้สังคม ไม่เฉพาะทางภาครัฐเท่านั้น แต่ได้มีส่วนสร้างบุคลากรที่เป็นหัวกะทิให้แก่ธุรกิจภาคเอกชนด้วยไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นสังคมในระดับใด จะปรากฏชาวธรรมศาสตร์ยืนนำหน้าอยู่ทั่ว ในด้านการบริหารราชการแผ่นดินมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถานศึกษาสำคัญที่ได้สร้างสรรค์บุคลากรให้กับการเมือง และการบริหารราชการอย่างสม่ำเสมอมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยบริหารใดชาวธรรมศาสตร์ล้วนมีส่วนคลุกคลีอยู่ด้วยเสมอทุกด้าน โดยเฉพาะในวงการปกครองของประเทศ ชาวธรรมศาสตร์ได้มีบทบาทร่วมในฐานะต่าง ๆ เช่น เป็นกรรมการบริหาร และสมาชิกสำคัญของพรรคการเมือง เป็นสมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก รัฐมนตรี ตลอดจนนายกรัฐมนตรี มากกว่าสถาบันอื่นใดทั้งสิ้น ในส่วนที่เป็นธุรกิจเอกชนนั้น ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าบุคลากรที่ผ่านรั้วธรรมศาสตร์เป็นบุคลากรชั้นนำของวงการธุรกิจแทบทุกแขนง
ส่วนบทบาทในทางสังคมประเทศชาตินั้น ชาวธรรมศาสตร์ก็ทำหน้าที่ในหลายกรณี เช่น
เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกรุกเข้ายึดครองแผ่นดินไทย ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นผลให้เกิดขบวนการกู้ชาติขึ้นในหมู่คนไทยผู้รักเอกราชทั้งหลายนั้น การจัดตั้ง “ขบวนการเสรีไทย” ก็ได้จุติ และเกี่ยวพันกับตัวมหาวิทยาลัยและชาวธรรมศาสตร์อย่างแนบแน่น คนไทยทุกสถาบันทุกหมู่เหล่าไม่ว่าจะเป็นเชื้อพระวงศ์และประชาชนสามัญ ต่างร่วมกันอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ กระทํากิจกู้ชาติ ภายใต้นาม “ขบวนการเสรีไทย” ประวัติศาสตร์ของงานกู้ชาติที่มหาวิทยาลัยและชาวธรรมศาสตร์มีส่วนร่วมในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ย่อมต้องได้รับการจารึกในดวงใจชาวไทยด้วยความคารวะชั่วกัลปาวสาน
กรณี ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ กับกรณี ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ก็เป็นประวัติอีกด้านหนึ่ง ซึ่งแม้จะต่างกรรมต่างวาระกัน แต่ก็ได้กระจายชื่อของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายไปทั่วโลก กล่าวคือ ในขณะที่ “๑๔ ตุลาคม” เบิกทางให้ขบวนการประชาธิปไตย กับขบวนการอนาธิปไตยแผลงฤทธิ์อย่างเฟื่องฟูควบคู่กันไปนั้น “๖ ตุลาคม” ก็เป็นวาระของการแตกหักขั้นสุดท้ายของขบวนการทั้งสองที่สำคัญ คือ ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองจะอย่างไรก็ตาม เนื้อหาของกรณี ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ซึ่งนักเรียน นิสิตนักศึกษาร่วมกันสะท้อนให้เห็นความต้องการของประชาชนที่ประสงค์จะได้รัฐธรรมนูญ ได้ชี้ชัดว่า ความเป็นประชาธิปไตยกับบรรยากาศการปกครองตนเองเป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะขัดขวางหรือปฏิเสธได้
กิจกรรมทางสังคมระดับต่าง ๆ ที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ริเริ่ม และเข้าดำเนินการมากมายหลายด้านนั้น ก็เห็นจะไม่มีที่ไหนเกินเลยนักศึกษาธรรมศาสตร์ไปได้ ด้วยเจตนาและโครงสร้างทางการบริหารของมหาวิทยาลัยซึ่งกำหนดขึ้นไว้ตั้งแต่ต้น ประกอบกับแนวการเมืองของรัฐบาลแต่ละยุค ได้เปิดทิศทางการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ให้ดำเนินไปในทางที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางการเมืองของประเทศทุกยุคสมัย อาทิ:
นักศึกษาไม่เพียงมีส่วนร่วมส่งเสริมการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ แต่ยังได้ร่วมกระบวนการต่อต้านจักรวรรดินิยมโดยออกโรงเดินขบวนเรียกร้องดินแดนอินโดจีนบางส่วนกลับคืนจากฝรั่งเศส เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
และหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ นักศึกษาบางส่วนก็ได้ร่วมมือกับขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ ที่มีจุดประสงค์โค่นคณะรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐
ต่อมา การเคลื่อนไหวของนักศึกษาเพื่อเรียกร้องเอามหาวิทยาลัยคืนจากการยึดครองของทหาร ซึ่งเข้ายึดครองเนื่องจากกรณีกบฏแมนฮัตตัน ก็เกิดขึ้นอีก และขนานนามการเคลื่อนไหวครั้งนั้นว่า “ขบวนการ ๑๑ ตุลาคม”
ช่วงสงครามเกาหลี นักศึกษาธรรมศาสตร์ส่วนหนึ่งก็ได้ร่วมขบวนการสันติภาพเพื่อคัดค้านสงคราม และถูกจับกุมในกรณีที่เรียกว่า “กบฏสันติภาพ พ.ศ. ๒๔๙๕”
หลังจากวาระการเลือกตั้งสกปรกใน พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมาจนถึงก่อนกรณี ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นช่วงที่รู้จักกันดี ในนาม “ยุคฉันจึงมาหาความหมาย” ซึ่งได้เกิดคําถามที่เกี่ยวกับคุณค่าทางสังคม ที่นักศึกษาพึงมีพึงเกี่ยวข้องอย่างอึงคนึง ทั้งนี้ ก็เนื่องจากการปกครองตลอดทั้งช่วงมีลักษณะผลักดันให้นักศึกษาหลีกห่างจากการเมือง มุ่งส้องเสพย์อยู่กับการถือสี ถือคณะ ถือมหาวิทยาลัย ระเริงอยู่กับงานบอลเป็นหลัก การถือสี ถือคณะ และถือมหาวิทยาลัย เป็นต้นตอของการวิวาทบาดหมางในหมู่ นักศึกษา ทั้งจากภายในและระหว่างมหาวิทยาลัย
เหตุการณ์ที่นักศึกษาธรรมศาสตร์เกี่ยวข้องในช่วงนั้นก็คือ การเดินขบวนประท้วงเลือกตั้งสกปรก เมื่อ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๐ ก่อตั้งกลุ่มอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง (ระดับเทศบาลใน พ.ศ. ๒๕๑๑) และกลุ่มนี้ก็จัดได้ว่าเป็นรากเง่าของสิ่งที่พัฒนาต่อไป คือ ศูนย์นิสิตนักศึกษาอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งแห่งประเทศไทย (ระดับชาติใน พ.ศ. ๒๕๑๒) การก่อตั้งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๓ ซึ่งได้เพิ่มบทบาทของนักศึกษาต่อสังคมไทยมากขึ้นอย่างเด่นชัด นับจาก พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นต้นมา การจัดตั้งองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน พ.ศ. ๒๕๑๖ แม้จะมิได้ชื่อว่าเป็นองค์การนักศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยแต่ก็กล่าวได้ว่า โดยเนื้อหาแล้ว อมธ. เป็นสถาบันปกครองตนเองของนักศึกษา ที่มีเสรีภาพและสิทธิอัตวินิจฉัยมากที่สุดเป็นแห่งแรกของประเทศไทย
เมื่อเทียบกับกาลเวลาของการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่ยุคต้นประวัติศาสตร์ของชาติเราแล้วก็ต้องยอมรับว่า ธรรมศาสตร์ยังอยู่ในภาวะแห่งความเยาว์วัยมาก ระยะการเดินทางของธรรมศาสตร์ยังสั้น การรื้อฟื้นเรื่องราวของธรรมศาสตร์ในอดีต เพื่อทวนความจำด้วยความทนงเท่าที่ได้กระทำมาแล้วทั้งหมดข้างต้นนี้ ด้วยใจจริงแล้ว มิได้มีเจตนาจะก่อให้เกิดความองอาจเหิมเกริมในหมู่ชาวธรรมศาสตร์อย่างขาดเหตุขาดผลแต่อย่างใด ความจริงมีเจตนาเพียงเพื่อชี้ให้เห็นว่า ธรรมศาสตร์ได้ถือกำเนิดเกิดมาภายใต้เงื่อนไขพิเศษสำหรับสังคมไทย นั่นคือ เกิดมาเพื่อวางรากฐานการเมืองระบอบประชาธิปไตยให้แก่ประเทศชาติและสังคมไทย เกิดขึ้นเพื่อผลิตคนที่กอปรด้วยวิญญาณใฝ่ไทย ใฝ่ธรรมให้แก่ประเทศชาติและสังคมไทย ซึ่งจะต้องเจริญก้าวหน้าต่อไปในวิถีทางประชาธิปไตย และด้วยภาระนี้ เราก็ตระหนักดีและยอมรับความเป็นจริงอยู่ในใจเราด้วย อย่างน้อยก็ ๒ ประการ คือ
(๑) ธรรมศาสตร์ยังเหลือระยะทางอีกยาวไกล และมีโอกาสมหาศาลที่จะดำเนินบทบาทร่วมกับสถาบันอื่น ๆ ภายในชาติของเรา พัฒนาสร้างสรรค์สังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศต่อไป โดยไม่ลดละความเพียรพยายาม แต่กลับจะต้องเพิ่มมานะมากขึ้นเป็นทวีคูณ
(๒) ธรรมศาสตร์ยังจะต้องปรับปรุงเพิ่มพูนคุณภาพทาง วิชาความรู้ และประสิทธิภาพการบริหาร เพื่อปฏิบัติภาระหน้าที่ประการแรกให้สัมฤทธิ์ผลอย่างสมบูรณ์
ฉะนั้น นอกจากเราจะต้องตอบคำถามที่ว่า ธรรมศาสตร์คืออะไร และอะไรคือธรรมศาสตร์แล้ว เรายังต้องตอบได้ด้วยว่า ธรรมศาสตร์เตรียมการอย่างจริงจัง และพร้อมที่จะรับภาระหน้าที่ก้าวต่อไป ตามเจตนารมณ์ดั้งเดิมอย่างสมบูรณ์ด้วยการบริหารงานในลักษณะใด
ตราบใดที่โลกยังก้าวไปข้างหน้าอย่างรีบรุด ตราบใดที่สังคมไทยยังจะต้องก้าวหน้าติดตามให้ทันโลก ธรรมศาสตร์จะต้องเตรียมตัวรับภาระหน้าที่จัดเสบียงและฟืนไฟทางปัญญาไว้ พัฒนาบ้านเมืองของเราไว้ให้พร้อม ด้วยการมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการแขนงธรรมศาสตร์ ผลักดันให้แขนงวิชาการต่าง ๆ ในด้านนี้ได้รับการปรับปรุงให้ทันโลกทันสมัยในทุกระยะ ทั้งอาจารย์และศิษย์จะต้องแตกฉานลึกซึ้งในทางทฤษฎี และการวิเคราะห์ การประยุกต์อย่างล้ำเลิศด้วยคุณภาพ และด้วยผลต่อวิชาการ รวมทั้งต่อสังคม
ธรรมศาสตร์จะต้องมุ่งนำวิทยาการเข้าประยุกต์ให้สอดคล้องกับภาวะตรงตามความต้องการของสังคม และประโยชน์ของประเทศชาติด้วยใจจดใจจ่อ ไม่ละเลยหรือเอ้อระเหย ปล่อยให้เวลาผ่านพ้นไปโดยปราศจากผลงานที่จะอวดได้อย่างภาคภูมิใจเป็นอันขาด ธรรมศาสตร์ต้องรีบเร่งสร้างกระบวนการเรียนรู้สังคมไทย และเรียนรู้โลกให้ละเอียดและล้ำลึก เพื่อมอบให้กับชาวธรรมศาสตร์ชั่วลูกชั่วหลาน ต่อเนื่องกันอย่างไม่ขาดสาย หรือกล่าวในเชิงสรุปก็คือ ธรรมศาสตร์ต้องบรรลุเป้าหมาย ๓ ประการ ต่อไปนี้
ประการที่ ๑ ธรรมศาสตร์เป็นคลังตําราความรู้ทั้งปวงทั้งในระดับท้องถิ่น ชาติ และระหว่างประเทศ เป็นศูนย์การแปลวิทยาการของทุกภาษาในโลก
ประการที่ ๒ ธรรมศาสตร์เป็นคลังเทคนิคอันทันสมัยในการสำรวจค้นคว้าวิจัยและการทดลองของศาสตร์แขนงต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติ
ประการ ๓ ธรรมศาสตร์เป็นคลังทรัพยากรมนุษย์ทั้งทางด้านผู้สอน และผู้รับใช้สังคม
นอกจากจะเป็นเลิศทางวิชา ธรรมศาสตร์จะรับใช้สังคมและประเทศชาติ ด้วยการเป็นเลิศทางด้านการปฏิบัติอีกด้วย ธรรมศาสตร์จะมุ่งสู่ความก้าวหน้าทางสร้างสมวิชาการ และประยุกต์วิชาการเข้าสู่การปฏิบัติที่เป็นผล เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ธรรมศาสตร์จะหมั่นตรวจสอบประสิทธิภาพ ความสามารถเพื่อความรู้แจ้งทางทฤษฎีอย่างสม่ำเสมอ และไม่มีวันหยุดยั้ง
เพื่อความเป็นเลิศทางการปฏิบัติ ธรรมศาสตร์จะต้องสร้าง “จิตใจที่เปี่ยมด้วยมานะในการบรรลุความสำเร็จ” แก่ชาวธรรมศาสตร์อย่างแน่นแฟ้นบริบูรณ์ เพราะจิตใจแบบนี้จะก่อพลังที่มุ่งมั่นฝ่าฟันอุปสรรค จนบรรลุความสำเร็จได้ทุกกรณี ไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ งานง่ายหรืองานสลับซับซ้อนยุ่งยากเพียงใดก็ตาม
ผมหวังว่า การบริหารเพื่อเป้าหมาย ๒ ประการข้างต้น มหาวิทยาลัยจะสามารถสร้างคนที่มีคุณภาพ ป้อนวงการทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างไม่ขาดสาย นำอยู่ในแนวหน้าของขบวนการพัฒนาบ้านเมืองโดยไม่มีข้อสงสัยและผมเชื่อมั่นว่า มหาวิทยาลัยนี้จะดำรงอยู่คู่บ้านเมืองเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างสรรค์บุคลากรเข้ารับบทบาททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไทย นำความรุ่งเรืองก้าวหน้ามาสู่ประเทศชาติได้ตลอดไปชั่วกาลนาน
“ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” จะเป็นทั้งอุดมการณ์และคำขวัญที่มีมนต์ขลังตราบเท่าที่จิตสำนึกเหล่านี้ยังสิงสถิตย์อยู่ในดวงใจของชาวธรรมศาสตร์ทั้งมวล และแปรเป็นการกระทำตามเป้าที่หมายแก้ปัญหาของประเทศชาติ และประชาชนอย่างไม่ลดละ ตราบนั้นมหาวิทยาลัยและชาวธรรมศาสตร์ย่อมเป็นความหวังของประชาชนและประเทศชาติสืบไปชั่วนิรันดร์
เอกสารอ้างอิง :
- บุญชู โรจนเสถียร, ธรรมศาสตร์คืออะไร และอะไรคือธรรมศาสตร์, จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2564), น. 52-79.
- บุญชู โรจนเสถียร
- ปรีดี พนมยงค์
- ผู้ประศาสน์การ
- จอมพล ป.พิบูลสงคราม
- จิตวิญญาณธรรมศาสตร์
- 50 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์
- กึ่งศตวรรษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
- พระราชบัญญัติมหาวิทยาลับธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476
- ขบวนการเสรีไทย
- ขบวนการประชาธิปไตย 2492
- กบฏสันติภาพ
- ยุคฉันจึงมาหาความหมาย
- 14 ตุลา 2516
- 6 ตุลา 2519