ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การฟื้นคืนชีพของอำนาจเผด็จการ และความหมายของศัพท์คำว่า "ปฏิวัติ" ในการรัฐประหาร พ.ศ. 2501

20
ตุลาคม
2567

Focus

  • นายปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนบทความให้ข้อคิดนิสิตนักศึกษา และประชาชนหลัง 'เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516' ถึงการฟื้นกลับมาของอำนาจเผด็จการหลังการรัฐประหาร ปี 2490 คือ การรัฐประการของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ พ.ศ. 2500 และ พ.ศ. 2501 จนมาถึงการรัฐประหารตัวเองของจอมพล ถนอม กิตติขจร เมื่อ พ.ศ. 2514
  • ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 จนถึง 20 ตุลาคม 2501 มีการถกเถียงสำคัญที่เกี่ยวกับศัพท์คำว่า “ปฏิวัติ” อาทิ คอมมิวนิสต์บางสาขาไม่ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงโดยคณะราษฎรเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ว่าเป็นการ “ปฏิวัติ” โดยเฉพาะในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 มีเหตุการณ์ที่จอมพล สฤษดิ์จัดตั้งคณะรัฐประหารที่เรียกตนเองว่า “คณะปฏิวัติ” เพื่อล้มระบอบการปกครองโดยรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย และปกครองด้วยวิธีเผด็จการอำนาจนิยมภายใต้รัฐธรรมนูญแบบเผด็จการ จากการที่จอมพล สฤษดิ์ และคณะฯ ใช้คำว่า ปฏิวัติ เรียกการรัฐประหารจึงทำให้ความหมายคำว่า ปฏิวัติของคณะราษฎรถอยกลับไปเป็นการปกครองในรูปแบบเผด็จการอำนาจนิยม นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน บัญญัติศัพท์คำว่า อภิวัฒน์ ให้ใช้เรียกการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยในหนังสือความเป็นอนิจจังของสังคม นายปรีดีให้ถ่ายทอดคำศัพท์ว่า Revolution  เป็นศัพท์ภาษาไทยว่า อภิวัฒน์ ซึ่งมีความหมายว่า  ความงอกงามอย่างยิ่งหรืออย่างวิเศษซึ่งนำมาใช้กับการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์และการผลิตทางเศรษฐกิจ เช่น Industrial Revolution หรืออภิวัฒน์อุตสาหกรรมได้อีกด้วย

 

 

ไม่ช้าธาตุแท้ของจอมพล สฤษดิ์ก็แสดงออก โดยได้รับคําปรึกษาของหลวงวิจิตรวาทการ ทํารัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 โดยเลิกล้มระบบรัฐธรรมนูญทุกฉบับ แล้วปกครองประเทศโดยสิ่งที่เรียกว่า “คณะปฏิวัติ” มีอํานาจยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาฯ มีอํานาจจับคนมายิงเป้าได้ โดยไม่ต้องนําตัวขึ้นศาล…”

ปรีดี พนมยงค์

 

 


วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516 และจงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม

 

ปรากฏการณ์ต่อไปนี้ ย่อมเป็นบทเรียนว่า อํานาจเผด็จการปฏิกิริยาฟื้นคืนชีพได้อย่างไร

-1-

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรได้พระราชทานรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ คือ ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกของพฤฒสภา (Senate) โดยทางอ้อม และเลือกสมาชิกสภาผู้แทน (House of Representatives) โดยตรง อันเป็นการพระราชทานให้ราษฎรของพระองค์ได้ใช้อํานาจอธิปไตย โดยผ่านผู้ที่ตนเลือกตั้งขึ้นอย่างสมบูรณ์ แทนที่จะมีกึ่งประชาธิปไตยมีสมาชิกประเภทที่ 2 หรือวุฒิสมาชิกที่ได้รับแต่งตั้ง  ฝ่ายซากโต้ประชาธิปไตยก็ไม่พอใจในประชาธิปไตยทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ เมื่อพวกเขาสู้ไม่ได้ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ พวกเขาก็ใช้วิธียุแหย่ให้เกิดมีรัฐประหารขึ้น

ในระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชยังทรงพระเยาว์ รัฐสภาได้ลงมติตั้งผู้สําเร็จราชการ 2 ท่าน คือ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวราชเสวี ซึ่งทั้งสองท่านได้ปฏิญาณต่อรัฐสภาที่จะรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ได้มีนายทหารจํานวนน้อยไม่กี่คนฝืนเจตนารมณ์ ประชาธิปไตยของทหารส่วนมากที่เป็นลูกหลานกรรมกรและชาวนาได้ทํารัฐประหารโค่นล้มระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยทางการเมืองที่สมบูรณ์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลพระราชทานด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวแล้ว ครั้นแล้วคณะรัฐประหารก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 9 พฤศจิกายน 2490 ของพวกเขา ซึ่งมีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” โดยกรมขุนชัยนาทฯ ผู้เดียวยอมเป็นผู้ลงนามอ้างพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์เองมิได้ทรงรู้เห็นด้วย ส่วนพระยามานวราชเสวีมิได้ลงนาม

รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มนั้น มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลงตําแหน่งว่า “ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” จึงเป็นการยอมรับให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่พ้นจากตําแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดไปแล้วในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นกลับฟื้นคืนอํานาจขึ้นมาอีก

 

-2-

เรื่องที่ผู้รักชาติประชาธิปไตยคาดคิดไปไม่ถึง คือ คณะอภิรัฐมนตรีที่เป็นสถาบันใหม่ตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม ทําหน้าที่เป็นคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ได้ตั้งนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายควง อภัยวงศ์ ก็ได้จัดตั้งคณะรัฐบาลของตนประกอบด้วยขุนนางเก่าและสมาชิกประชาธิปัตย์หลายคน  ส่วนพฤฒสภาที่เปลี่ยนชื่อใหม่เรียกว่า “วุฒิสภา” โดยสมาชิกได้รับแต่งตั้งจากการที่คณะรัฐบาลประชาธิปัตย์เสนอคณะผู้สําเร็จราชการให้แต่งตั้งในพระบรมปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ก็ประกอบด้วยขุนนางเก่าผู้มีบรรดาศักดิ์สูงหลายคน ดังปรากฏรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2490 นั้นแล้ว ซึ่งเป็นการตัดสิทธิของมวลราษฎรไทยในการมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489

การตัดสิทธิมวลราษฎรเพียงเท่านั้น ก็ยังไม่สาสมใจของรัฐบาลประชาธิปัตย์ คือ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้อาศัยวุฒิสภาซึ่งทําหน้าที่เป็นรัฐสภาชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มนั้น แก้กฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนตามรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม มีข้อความปรากฏตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว (ฉบับใต้ตุ่ม) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2490 ดังต่อไปนี้

 

“ในการเลือกตั้งในวาระเริ่มแรกนี้ ให้นําบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2479 และที่จะแก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับ เว้นแต่อายุของผู้สมัครรับเลือกตั้งตามความในมาตรา 16 (1) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2479 นั้น ให้กําหนดเป็นไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์ และยกเว้นการห้ามตามความในมาตรา 17 (1) แห่งพระราชบัญญัตินั้น

“เมื่อได้มีการเลือกตั้งในวาระเริ่มแรกแล้ว ถ้าตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนว่างลงเพราะเหตุอื่น นอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาหรือยุบสภา และจะมีการเลือกตั้งสมาชิกขึ้นแทน ก็ให้นําบทบัญญัติแห่งวรรคก่อนมาใช้บังคับ

ผู้สนองพระบรมราชโองการ
ควง อภัยวงศ์
นายกรัฐมนตรี”

 

นิสิตนักศึกษาผู้ศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญย่อมชี้แจงแก่เยาวชนหญิงชายได้ว่า มีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของประเทศใดในโลกนี้บ้าง ที่กําหนดอายุขั้นต่ําของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาล่างไว้ 35 ปี ท่านจะพบว่า ทุกประเทศในโลกได้กําหนดอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาล่างไว้เพียงไม่ต่ำกว่า 25 ปี ส่วนสภาสูง (Senate) ซึ่งรัฐธรรมนูญใต้ตุ่มเรียกว่า “วุฒิสภา” นั้น ต้องการผู้มีอายุสูงกว่าสมาชิกสภาล่างหรือสภาผู้แทน เขาจึงกําหนดอายุขั้นต่ำไว้เพียง 30-40 ปี เช่น ของสหรัฐอเมริกากําหนดอายุขั้นต่ำของสมาชิกไว้ 30 ปี ส่วนสภาผู้แทนหรือสภาล่างเขากําหนดไว้เพียงไม่ต่ำกว่า 25 ปี

เมื่อรัฐบาลประชาธิปัตย์ได้สมาชิกผู้แทนที่สูงอายุประกอบด้วยวุฒิสมาชิกที่ส่วนมากเป็นขุนนางรุ่นเก่าแล้ว พวกเขาก็ได้จัดร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ขึ้น โดยอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุด แต่จะเป็นประชาธิปไตยที่สุดได้อย่างไร เพราะร่างขึ้นโดยวุฒิสมาชิกที่มิได้รับเลือกตั้งจากราษฎรโดยตรงหรือโดยทางอ้อม และสภาผู้แทนที่ประกอบด้วยสมาชิกมีอายุกว่า 35 ปี  แม้รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 จะแสดงความกรุณาแก่ชนรุ่นหนุ่มกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มบ้าง คือ ได้แก้อายุสมาชิกสภาผู้แทนขั้นต่ำจาก 35 ปีบริบูรณ์มาเป็น 30 ปีบริบูรณ์ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นความกรุณามากมายอะไรเลย เพราะอายุขั้นต่ำ 30 ปีบริบูรณ์นั้น เท่ากับอายุขั้นต่ำของสมาชิก วุฒิสภาอเมริกันซึ่งเป็นสภาของคนมีอายุสูง

ขอให้เยาวชนหญิงชายรับทราบไว้ว่า ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชทานเป็นครั้งแรกนั้น มาตรา 11 ได้กําหนดอายุของผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้เพียง 20 ปีบริบูรณ์เท่ากับอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ต่อมาในการร่างกฎหมายเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้รับสั่งให้พระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎร กับข้าพเจ้า เข้าเฝ้าเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายการเลือกตั้ง ณ พระตําหนักจิตรลดา ทรงมีพระราชปรารภว่า ชายไทยจะต้องรับราชการทหาร ฉะนั้นการกําหนดอายุผู้รับสมัครเลือกตั้งขั้นต่ำไว้เพียง 20 ปี ก็จะไม่สะดวกแก่ชายไทยจํานวนมากที่รับราชการทหาร เพราะถ้าจะอนุญาตให้ลาไปทําการหาเสียงเลือกตั้งก็จะต้องใช้เวลาขาดราชการทหารไปหลายวันหลายเดือน จึงสมควรขยายอายุขั้นต่ำของผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้เป็น 23 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้ผู้ซึ่งต้องรับราชการทหารเวลาปลดเป็นกองหนุน และอุปสมบทเป็นพระภิกษุครบถ้วน 1 พรรษาเสียก่อน  พระยาพหลฯ และข้าพเจ้าเห็นชอบด้วยพระราชดํารัสจึงได้ร่างกําหนดอายุผู้รับสมัครเลือกตั้งขั้นต่ำไว้ 23 ปีบริบูรณ์ กฎหมายเลือกตั้งนี้ก็ได้ใช้สืบต่อมาจนกระทั่งถูกยกเลิกโดยกฎหมายเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ดังกล่าวแล้ว

ข้าพเจ้ามีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งว่า คณะบุคคลที่เพียรพยายามโฆษณาตนเองว่าเป็นผู้นับถือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และเป็นเดือดเป็นแค้นคณะราษฎรที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้สละราชสมบัตินั้น เหตุใดเขาไม่เคารพพระราชประสงค์ของพระองค์ที่พระราชทานสิทธิประชาธิปไตยดังกล่าวนั้น

 

-3-

เราย่อมเห็นได้ว่า การที่จอมพล ป. พิบูลสงครามกับคณะได้กลับฟื้นขึ้นมาอีกนั้น โดยการเกื้อกูลร่วมมือจากบุคคลที่มีทรรศนะตกค้างจากระบอบเก่าที่โต้ประชาธิปไตย

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยอมให้รัฐบาลประชาธิปัตย์ครองอํานาจได้เพียงไม่กี่เดือน แล้วก็มีนายทหารไม่กี่คนไปขอให้นายควงลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้นแล้วคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้แต่งตั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลขึ้นแทนที่ นายควง ทั้ง ๆ ที่วุฒิสภาที่ได้รับแต่งตั้งดังกล่าวแล้ว และสมาชิกสภาผู้แทนที่เลือกตั้งตามกฎหมายตัดสิทธิราษฎรที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ยังคงมีอํานาจควบคุมราชการแผ่นดินอยู่นั้น ก็ได้ให้ความไว้วางใจ จอมพล ป. ในการบริหารราชการแผ่นดิน

 

-4-

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 ได้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งลงมติโดยรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนดังกล่าวแล้ว โดยซ่อนเงื่อนไว้หลายประการ ที่ควรกล่าวในที่นี้คือ มาตรา 181 มีความว่า

“ให้สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) เป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ และกําหนดเวลาแห่งสมาชิกภาพให้นับแต่วันที่ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกชุดนั้น”

ผู้ศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญย่อมเห็นได้ไม่ยากว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 ได้ยกเอาวุฒิสมาชิกที่แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว คือรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม มาเป็นวุฒิสมาชิกของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 คือ เป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ระหว่างคณะรัฐประหารและพลังเก่า

 

-5-

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 มีนายพลบก นายพลเรือ นายพลอากาศ รวม 9 คน ได้ประกาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ตั้งตนเองเป็น “คณะบริหารประเทศชั่วคราว" ครั้นแล้วได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานนํารัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 มาใช้อีก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดพระราชทานให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 นั้น ได้โดยให้สภาผู้แทนราษฎรปรับปรุงตามความเหมาะสม

 

-6-

ภายหลังที่นายเฉลียว ปทุมรส  นายชิต สิงหเสนี  นายบุศย์ ปัทมศริน ถูกประหารชีวิต ฐานต้องหาว่าปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 แล้ว จอมพล ป. ได้ข้อเท็จจริงใหม่หลายประการที่แสดงความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาเหล่านั้น จึงส่งตัวแทนไปแจ้งกับข้าพเจ้าที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนว่าจะดําเนินการยุติธรรม โดยให้มีพิจารณาคดีกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ขึ้นใหม่ ตามวิธีพิจารณาของบางประเทศที่อารยะแล้ว ส่วนการปกครองประเทศนั้นจะดําเนินตามวิธีประชาธิปไตยสมบูรณ์ แต่จอมพล ป. จะทําจริงตามนั้นหรือไม่ เป็นอีกปัญหาหนึ่ง

 


จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

ฝ่ายซากทรรศนะระบบทาสได้โฆษณาใส่ร้ายจอมพล ป. ว่าไม่เคารพพระมหากษัตริย์ ทําให้คนรุ่นใหม่สมัยนั้นจํานวนหนึ่งหลงเชื่อ ครั้นแล้วพวกซากทรรศนะทาสได้สนับสนุนให้จอมพล สฤษดิ์ทํารัฐประหารโค่นล้มจอมพล ป. แล้วช่วยโฆษณาให้แก่จอมพล สฤษดิ์ว่าเป็นผู้รักษาพระราชบัลลังก์ไว้

ในระยะเริ่มแรก จอมพล สฤษดิ์ยกให้นายพจน์ สารสิน แล้วต่อมา พลเอก ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ปกครองประเทศตามรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 แก้ไขเพิ่มเติม แต่ไม่ช้าธาตุแท้ของจอมพล สฤษดิ์ก็แสดงออก โดยได้รับคําปรึกษาของหลวงวิจิตรวาทการ ทํารัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 โดยเลิกล้มระบบรัฐธรรมนูญทุกฉบับ แล้วปกครองประเทศโดยสิ่งที่เรียกว่า “คณะปฏิวัติ” มีอํานาจยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาฯ มีอํานาจจับคนมายิงเป้าได้ โดยไม่ต้องนําตัวขึ้นศาล แม้ในระหว่างนั้นพวกเขาประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งตั้งศาลสนามได้ พวกเขาก็ไม่ทําดังนั้น พวกเขาได้จับคนบางรายแล้วยิงเป้าที่กําแพงวัดมหาธาตุ อันเป็นวัดที่หลวงวิจิตรวาทการบวชเรียนจนเป็นเปรียญ ทําให้พระภิกษุและอุบาสก อุบาสิกา อนาถใจยิ่งนัก ไม่สมกับที่ซากทรรศนะทาสโฆษณาว่า  จอมพล สฤษดิ์กับพวกเป็นผู้เคารพพระบวรพุทธศาสนาที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2502 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้รัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรที่ตัดพระราชอํานาจหลายประการ รวมทั้งมีความตามมาตรา 17 ที่ให้รัฐบาลสั่งประหารชีวิตคนได้ โดยไม่ต้องส่งตัวให้ศาลชําระซึ่งตัดพระราชอํานาจที่ทรงพระราชทานอภัยโทษ อันเป็นประเพณีมาตั้งแต่สมัยพ่อขุน รามคําแหง และเป็นหลักตามรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ รวมทั้งรัฐธรรมนูญสมัยจอมเผด็จการมุสโสลินี อันที่จริงถ้าเห็นว่า กฎหมายที่มีอยู่เดิมลงโทษน้อยแก่โจรผู้ร้ายก็ควรแก้กฎหมายนั้นวางกําหนดโทษให้สูงขึ้น และถ้าวิธีพิจารณาอาญาล่าช้าก็แก้กฎหมายนั้นให้มีการพิจารณาเร็วขึ้น แต่จอมพล สฤษดิ์กับพวกซากทรรศนะทาสที่อ้างว่าเคารพพระมหากษัตริย์ กลับตัดพระราชอํานาจที่พระองค์จึงมีตามระบอบประชาธิปไตยและตามราชประเพณีแห่งทศพิธราชธรรม

เมื่อ พ.ศ. 2506 จอมพล สฤษดิ์ถึงแก่กรรมแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลถนอมต้องยอมทําตามคําเรียกร้องของผู้รักชาติไทย ในการชําระสะสางบัญชีเงินของรัฐเท่าที่จะเป็นไปได้ ปรากฏว่า จอมพลสฤษดิ์ได้ยักยอกเอาไปใช้บํารุงฮาเร็มของตนกว่า 2 พันล้านบาท เมื่อความทุจริตปรากฏขึ้นมาเช่นนี้ เชื้อพระวงศ์บางองค์ที่มิได้เกาะแน่นอยู่ในทรรศนะโต้ประชาธิปไตย ก็ทรงเห็นความว่า จอมพล สฤษดิ์ไม่ซื่อสัตย์ต่อราชบัลลังก์ แต่คนหนุ่มจํานวนหนึ่งที่มีซากระบบทาสได้โฆษณาแก้ตัวแทนจอมพล สฤษดิ์ว่า “แม้จอมพล สฤษดิ์จะโกงเงินของชาติไปสักกี่พันล้านก็ตาม แต่การที่จอมพลสฤษดิ์ได้รักษาราชบัลลังก์ไว้นั้นมีค่าสูงสุด”

วิญญชนย่อมเห็นได้ว่า คําแก้ตัวแทนจอมพล สฤษดิ์โดยพวกปฏิกิริยาเก่าใหม่เช่นนี้เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะประชาชนไทยเป็นผู้รักษาราชบัลลังก์ และทําให้เสียพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ว่า ราชบัลลังก์อยู่ได้โดยจอมพล สฤษดิ์ ผู้ซึ่งได้นําเงินของชาติไปบําเรอความสุขสําราญและเอาหญิงไทยร่วมร้อยมาเป็นนางบําเรอ

 

-7-

 


จอมพล ถนอม กิตติขจร

 

จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี แทนจอมพล สฤษดิ์ และมีจอมพล ประภาส จารุเสถียร เป็นรองนายกรัฐมนตรี ได้ปกครองประเทศตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ที่ตัดพระราชอํานาจพระมหากษัตริย์หลายประการ  ต่อมาอีกหลายปี จนกระทั่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับมิถุนายน 2511 ที่ได้ใช้เวลาว่างถึง 10 ปี นับเป็นประวัติการณ์ของโลก ซึ่งไม่เคยมีการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศใดใช้เวลานานถึงเพียงนั้น และต้องใช้จ่ายเงินของชาติไปเป็นจํานวนมาก แม้รัฐธรรมนูญของจอมเผด็จการมุสโสลินีก็ใช้เวลาร่างไม่กี่เดือน รัฐธรรมนูญ 2511 นี้ใช้มาประมาณ 3 ปีเท่านั้นคือ ในเดือนพฤศจิกายน 2514 จอมพล ถนอม กิตติขจร กับคณะก็ได้ทํารัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนั้นโดยปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการของตน ต่อมาอีกประมาณ 1 ปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ฉบับ 15 ธันวาคม 2515 ซึ่งใช้อยู่ต่อมาจนถึงขณะที่ข้าพเจ้าเขียนบทความนี้

 

-8-

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวแล้ว ย่อมเห็นได้ว่า ซากทรรศนะทาสเป็นภยันตรายต่อชาติและราษฎรไทย และไม่ช้าก็เร็วจะเป็นกําลังเกื้อกูลสนับสนุนให้อํานาจเผด็จการที่ปกครองราษฎรอย่างทาส ได้กลับฟื้นคืนมามีอํานาจอีก เพียงแต่จะเปลี่ยนตัวผู้เผด็จการจากคนเก่ามาเป็นคนใหม่เท่านั้น

 

 

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การเว้นวรรค และการสะกดคำตามต้นฉบับ

 

ภาคผนวก

 

ความหมายของศัพท์คำว่า “ปฏิวัติ” ในการรัฐประหาร พ.ศ. 2501

และกำเนิดคำว่า “อภิวัฒน์” 

ปรีดี พนมยงค์

 

10. ในระหว่างเวลา 12 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2489 ซึ่งมีการโต้แย้งกันเรื่องศัพท์ใหม่ของไทยว่า “ปฏิวัติ” และคอมมิวนิสต์บางสาขามิให้สานุศิษย์ถือว่า การเปลี่ยนแปลงโดยคณะราษฎรเมื่อ 2475 เป็น “ปฏิวัติ” นั้นก็เกิดเหตุการณ์เมื่อ 20 ตุลาคม 2501 คือจอมพลสฤษดิ์กับพวกร่วมกันจัดตั้งเป็นคณะเรียกว่า “คณะปฏิวัติ” ขึ้นทำการล้มระบบปกครองตามรัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไขเพิ่มเติมแล้วปกครองประเทศตามระบบเผด็จการ คือใช้วิธีปกครองโดย “คำสั่งคณะปฏิวัติ” ซึ่งมีผลเป็นกฎหมายสูงสุด ทำให้คนไทยอกสั่นขวัญหาย เพราะคณะปฏิวัติจับคนไปประหารชีวิตได้โดยไม่ต้องส่งตัวไปให้ศาลชำระ เป็นอันว่าจอมพลสฤษดิ์กับพวกได้ถือเอาคำว่า “ปฏิวัติ” ไปใช้เรียกการกระทำของตนสมดังความหมายตามมูลศัพท์ว่า การเปลี่ยนหลักมูลกลับหรือถอยหลังกลับไปสู่ระบบเผด็จการอย่างเจ้าทาสเจ้าศักดินายิ่งกว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์สมัยพระปกเกล้าฯ คำสั่งของคณะปฏิวัตินั้น รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มารวมทั้งฉบับ 2517 ก็รับรองว่าเป็นกฎหมายใช้อยู่จนทุกวันนี้ (ยกเว้นรัฐสภาให้ยกเลิกบางฉบับ) จึงเป็นอันว่าคำ “ปฏิวัติ” ในภาษาไทยนั้นได้รับรองโดยรัฐสภาไทยตามความหมายที่แสดงออกโดยการกระทำของจอมพลสฤษดิ์กับพวก

ผมจึงเห็นว่า ไม่สมควรที่ผู้รักชาติและประชาธิปไตยไทย ซึ่งต้องการพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์จะใช้คำว่า “ปฏิวัติ” เพื่อเรียกการกระทำของตน คือควรปล่อยให้เป็นคำไทยที่มีความหมายเฉพาะเรียกการกระทำของจอมพลสฤษดิ์กับพวก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนระบบสังคมให้ถอยหลังกลับ

11. ในหนังสือของผมเรื่อง “ความเป็นอนิจจังของสังคม” พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2500 และในปีนั้นเองได้พิมพ์อีก 2 ครั้ง และต่อมามีผู้พิมพ์อีกไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง ผมได้เสนอให้ถ่ายทอดคำอังกฤษ “Evolution” (อีโวลูชัน) เป็นศัพท์ไทยว่า “วิวัฒน์” ผมมีความยินดีที่ข้อเสนอของผมตรงกับคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปฯ เป็นนายกและประธานกรรมการฯ ได้ถ่ายทอดคำ “Evolve” อันเป็นกิริยาของ “Evolution” เป็นศัพท์ไทยว่า “วิวัฒน์”

ส่วนคำอังกฤษว่า “Revolution” (เรฟโวลูชัน) 'นั้นราชบัณฑิตยสถานยังมิได้กล่าวไว้ในหนังสือว่าด้วย “บัญญัติศัพท์” พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2517 ส่วนผมได้เสนอไว้ในหนังสือเรื่องความเป็นอนิจจังของสังคมให้ถ่ายทอดคำอังกฤษนั้นเป็นศัพท์ไทยว่า “อภิวัฒน์” มีคำอธิบายดังต่อไปนี้

“อภิวัฒน์” ประกอบด้วยคำ “อภิ” ซึ่งเป็นคำใช้นำหน้าศัพท์ มีความหมายว่า ยิ่ง, วิเศษ, เหนือ กับคำว่า “วัฒน์” ซึ่งแปลว่า ความเจริญ, ความงอกงาม เมื่อรวมความหมายของคำทั้งสองแล้วได้ความว่า “ความงอกงามอย่างยิ่งหรืออย่างวิเศษ” ทั้งนี้ตรงกับความหมายทางวิทยาศาสตร์สังคมดังกล่าวมาแล้ว คือการเปลี่ยนระบบเก่าตามแนวทางกู้อิสรภาพของมนุษย์ที่ถูกกดขี่เบียดเบียนนั้น เป็นการเปลี่ยนที่ก้าวหน้า ซึ่งเป็นการเปลี่ยนอย่างวิเศษ

คำว่า “อภิวัฒน์” นี้นำมาใช้ได้แก่การเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้ายิ่งใหญ่ในวิทยาศาสตร์ และเทคนิคแห่งการผลิตทางเศรษฐกิจ เช่น “Industrial Revolution” นั้นเราอาจเรียกเป็นศัพท์ไทยได้ว่า “อภิวัฒน์อุตสาหกรรม”

ท่านที่สนใจในกสิกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญแห่งผลิตผลของสยามเวลานี้ก็ไม่ควรมองแต่ด้านการเมืองซึ่งเป็นโครงสร้างเบื้องบนเท่านั้น ขอให้นึกถึงชาวนาและกสิกรให้มากๆ ว่าเวลานี้ก็มีอภิวัฒน์อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “Green Revolution” แปลตามตัวว่า “อภิวัฒน์เขียว” หรือการอภิวัฒน์ทางวิทยาศาสตร์และเทคนิคกับเครื่องมือกสิกรรม อันเป็นการอภิวัฒน์ที่ก้าวหน้าอย่างวิเศษที่เปลี่ยนวิธีการผลิตกสิกรรมของเทคนิค และเครื่องมือผลิตที่ใช้กันอยู่ตามระบบเศรษฐกิจศักดินา

ส่วนวิธีที่จะทำให้บรรลุถึงการ “อภิวัฒน์” นั้นเป็นเรื่องของ “วิธีการ” ซึ่งทุกตำราของเมธีสอนให้พิจารณาตามความเหมาะสมแก่สภาพ ท้องที่ กาละ ของแต่ละสังคมสำหรับผู้ที่อ้างว่านับถือลัทธิมาร์กซ์ตามแนวทางเลนินนั้น ถ้าอ่านคำสอนของเลนินโดยตลอดก็จะพบว่าท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ที่พูดว่าจะเอาวิธีนั้นหรือไม่เอาวิธีนี้เป็นผู้ที่ไม่เข้าใจแม้แต่หลักการเบื้องต้นของสสารธรรม ประติการ และวิวรรตการ ท่านว่าอาจมีวิธีที่มนุษย์ไม่เคยทำมาก่อน แต่เป็นวิธีที่เหมาะสมแก่สภาพ ท้องที่ กาละ ของแต่ละสังคมก็ได้ เหตุฉะนั้นใน ค.ศ. 1920 ท่านจึงคัดค้านพวกที่ท่านเรียกว่า “คอมมิวนิสต์ปีกซ้าย, ความคิดระส่ำระสายอย่างเด็กไร้เดียงสา” (LEFT-WING COMMUNISM, AN INFANTILE DISORDER) รวมทั้งคอมมิวนิสต์อังกฤษส่วนหนึ่งที่คัดค้านการต่อสู้ทางรัฐสภา ท่านจึงกล่าวสำหรับสังคมอังกฤษที่มีสภาพพิเศษโดยเฉพาะซึ่งมีระบบรัฐสภาประชาธิปไตย และมีระบบเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยต่างกับหลายสังคมที่รัฐสภาและการเลือกตั้งมีขึ้นเพื่อชนชั้นเจ้าสมบัตินายทุนนั้น ว่า

“พรรคคอมมิวนิสต์ในบริเตนใหญ่ต้องใช้การเลือกตั้งทางรัฐสภาเสมอไปโดยไม่หยุดยั้ง และโดยไม่บ่ายเบี่ยง”

(The communists in Great Britain should constantly unremittingly and undeviatingly utilise parliamentary elections…)

ท่านที่ใช้สามัญสำนึกอันเป็นตรรกวิทยาเบื้องต้นของมนุษยชาติ ย่อมเห็นได้ว่าคำกล่าวของเลนินที่มิให้ถือเอาวิธีใดเป็นคัมภีร์ตามตัวนั้นตรงกับธรรมชาติแท้จริงของมนุษย์ผู้ใดมีความเป็นอยู่อย่างราษฎร ก็ย่อมประสบพบเห็นว่าราษฎรในประเทศหนึ่งๆ ย่อมมีความถนัดต่างๆ กัน แม้ในระหว่างบุคคลที่เข้าลักษณะเป็นกรรมกรนั้น กรรมกรก็มีความถนัดในการทำงานแตกต่างกันตามชนิดและชนิดปลีกย่อยของการงาน เช่นกรรมกรแบกหามก็ถนัดในการนั้น ส่วนกรรมกรในวิสาหกิจที่ใช้เครื่องจักรกลก็มีความถนัด ในงานนั้นต่างกับกรรมกรแบกหาม ส่วนชาวนาก็มีความถนัดในการทำนาต่างๆ กันตามสภาพ ท้องที่ กาละ เช่น ชาวนาไทยไม่ถนัดในการใช้ปุ๋ยอุจจาระมนุษย์ แต่ชาวนาจีนมีความถนัดใช้ปุ๋ยชนิดนั้น แม้ในระหว่างชาวนาจีนด้วยกันก็ถนัดใช้ปุ๋ยอุจจาระมนุษย์ต่างกันตามท้องที่ เช่นชาวนาจีนบริเวณใกล้กรุงปักกิ่งซึ่งผมเคยสังเกตการณ์หลายปีนั้นก็เห็นว่าเขาถนัดใช้ปุ๋ยอุจจาระมนุษย์ที่ตากหรือผึ่งให้แห้งก่อน ส่วนชาวนาและชาวสวนผักบริเวณกวางตุ้งถนัดใช้อุจจาระโดยเขาไม่มีความรังเกียจ

ขอให้ท่านพิจารณาถึงวิธีรับประทานอาหารว่าคนในชาติหนึ่งถนัดวิธีต่างกับอีกชาติหนึ่งตามสภาพ และท้องที่ เช่น ราษฎรไทยส่วนมาก (นอกจากคนสมัยใหม่) ก็ถนัดใช้มือเปิบข้าวที่รับประทานผักจิ้มน้ำพริก ซึ่งถ้าใช้ตะเกียบรับประทานอาหารไทยแท้ก็ไม่ถนัด คนไทยสมัยใหม่ที่ใช้ช้อนส้อมนั้นก็ต้องมีผู้หั่นผักให้พอดีคำก่อน คนฝรั่งเศสถนัดใช้ส้อมกับมีดในการรับประทานอาหาร และถนัดใช้ส้อมเป็นพิเศษ ถ้ารับประทานปลาก็ใช้ส้อมอย่างเดียว โดยเอามือขวาจับส้อม เอามือซ้ายถือขนมปังชิ้นหนึ่งดุนปลาให้เข้าส้อม แต่คนอังกฤษถนัดใช้มีดปลาที่ทำเฉพาะกับส้อม ฯลฯ

ฉันใดก็ดี วิธีที่จะเข้าสู่การอภิวัฒน์ตามความหมายว่า ทุกๆ ก้าวหน้าตามแนวทางกู้อิสรภาพนั้นก็ต้องสุดแท้แต่ความถนัดของบุคคล การที่ผู้ใดอ้างว่าต้องทำตามวิธีที่ตนต้องการจึงจะยกย่องว่าเป็นวิธีอภิวัฒน์นั้น ก็เป็นเรื่องที่เรียกว่าคิดตาม “อัตวิสัย” หรือ “จิตนิยม”คือคิดตามใจตนเองโดยไม่มองถึงความถนัดของแต่ละบุคคล และยิ่งผู้อ้างเองก็ไม่ถนัดในวิธีชักชวนให้คนอื่นทำแล้วก็เป็นการพูดโดยไม่รับผิดชอบ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  • ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นมาของศัพท์ไทย “ปฏิวัติ” “รัฐประหาร” “วิวัฒน์” “อภิวัฒน์”. (กรุงเทพฯ: นีลการพิมพ์, 2510), น. 85-96.
  • ปรีดี พนมยงค์, “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” ในวารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516, (กรุงเทพฯ: องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2516)