ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เพียงสิบเจ็ดวันของนายกรัฐมนตรีนาม “ทวี บุณยเกตุ”

10
พฤศจิกายน
2566

Focus

  • นายทวี บุณยเกตุ  นายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ของประเทศไทย จบการศึกษาจากประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นสมาชิกคณะราษฎรผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เข้าร่วมปฏิบัติงานกับขบวนการเสรีไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุด (31 ส.ค. - 17 ก.ย. พ.ศ. 2488) แต่เร่งทำงานตามนโยบายอย่างแข็งขัน
  • นายทวี บุณยเกตุ เข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎร โดยกล่าวคำสาบานว่าจะต้องปฏิบัติตนตามอุดมคติ 10 ประการ คือ (1) ต้องให้มีพระเจ้าแผ่นดินตลอดไป (2) ต้องทำเพื่อประชาธิปไตย (3) ต้องเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน (4) ต้องมีความเห็นอันเที่ยงตรง (5) ต้องทำเพื่อมุ่งจรรโลงประเทศให้ก้าวหน้า (6) ต้องไม่ทรยศต่อประเทศชาติ (7) ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต (8) ต้องไม่เย่อหยิ่งลืมตัว (9) ต้องมีความประพฤติดี และ (10) ต้องรักษาหน้าที่โดยเด็ดขาดและเที่ยงตรง
  • คณะรัฐมนตรีที่นายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้ (1) รัฐบาลจะยึดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (2) รัฐบาลจะปฏิบัติตามพระบรมราชโองการประกาศสันติภาพ วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 (3) รัฐบาลจะร่วมมือกับสหประชาชาติในทุกวิถีทาง และส่งเสริมสัมพันธไมตรีให้ดียิ่งขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ และ (4) รัฐบาลจะรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และเข้มงวดกวดขันในการแก้ปัญหาโจรผู้ร้ายชุกชุม อันเนื่องมาจากภาวะสงคราม

 

ทวี บุณยเกตุ นายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ของไทย น่าจะเรียกขานได้ว่าเป็น “คนเดือนพฤศจิกา” เพราะเขามีทั้งวันเกิดและวันตายในเดือนพฤศจิกายน

ทวี  ลืมตาดูโลกหนแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447  โลดแล่นลมหายใจมาเกือบจะ 67 ปีเต็ม หากกลับถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อนเมื่อวันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514

ในความทรงจำและรับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่ ทวี เป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงอยู่ในตำแหน่งเป็นระยะเวลาสั้นที่สุด นั่นคือเพียงแค่ 17 วัน ส่วนผลงานด้านอื่นๆ ที่อาจจะมีผู้ทราบอยู่บ้างก็ได้แก่การเป็นสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือนร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมปฏิบัติงานกับขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นตลอดช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้การนำโดย นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการ ทั้งสองได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกันจนสนิทแนบแน่น

ทวี เกิดที่กันตัง จังหวัดตรัง อันเป็นหัวเมืองปักษ์ใต้ เขาเป็นบุตรชายของ พระยารณชัยชาญยุทธ (ถนอม บุณยเกตุ) และ คุณหญิงทับทิม (เดิมใช้นามสกุล ศรีเพ็ญ) ถ้าพิจารณาจากถิ่นกำเนิด หลายคนจึงนับว่า ทวี เป็นคนใต้และเป็นนายกรัฐมนตรีชาวภาคใต้คนแรกสุด แต่หลายคนก็ไม่นับ ถือว่าไม่ได้มีรกรากอยู่ภาคใต้มาแต่เดิม เพราะจริงๆแล้ว เจ้าคุณรณชัยชาญยุทธ เป็นผู้มีถิ่นฐานอยู่แถวคลองบางผักหนาม ย่านบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี เมื่อเติบใหญ่ได้เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก และเคยเป็นเสมียนกรรมการฎีกาทำหน้าที่รวบรวมสำนวนของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) ก่อนจะก้าวเข้าสู่ชีวิตข้าราชการนักปกครอง 

แรกเริ่มทีเดียวนั้น ขุนนางชั้นผู้ใหญ่จะส่งตัวให้ไปเป็นปลัดอ่างทอง เพื่อแก้ปัญหาการโกงกินของเจ้าเมืองอ่างทอง แต่ ท่านเจ้าคุณ มิค่อยสมัครใจ ด้วยคิดว่าการต้องไปอยู่หัวเมืองนั้น จะถูกคนมองเป็นขุนนางบ้านนอก ครั้นต่อมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียกไปเข้าเฝ้าแล้วบอกว่า ไม่เห็นพ้องที่จะให้ไปเป็นปลัดเมืองอ่างทอง ควรที่จะส่งไปเป็นปลัดเมืองตรังอยู่กับ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) แม้ลึกๆ ในใจแล้ว เจ้าคุณรณชัยชาญยุทธ จะมิได้สมัครใจเท่าใดนัก แต่ก็ยินยอม เจ้าพระยาเทเวศร์ฯ จึงปลอบใจว่า ลองไปทำดูสักสองปีก่อน หากพอไปอยู่ที่กันตังแล้วกลับรู้สึกชอบใจในการอยู่หัวเมือง กระทั่งที่สุด  ท่านเจ้าคุณ ก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นเทศาภิบาลหรือเจ้าเมือง (ปัจจุบัน คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด) ของตรัง จึงไม่แปลกเลยที่บุตรชายอย่าง ทวี จะเกิดที่เมืองตรัง

ทว่าในช่วงวัยเยาว์  ทวี  ได้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี ก็เพราะ ท่านเจ้าคุณ ผู้เป็นบิดาย้ายมาเป็นปลัดมณฑลจันทบุรี ก่อนจะเลื่อนขึ้นเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลแห่งนี้ จวบจนปลายทศวรรษ 2450 ทวี ถูกส่งตัวเข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แล้วย้ายไปเป็นนักเรียนประจำในโรงเรียนราชวิทยาลัยจนสำเร็จชั้นมัธยม

 

ทวี บุณยเกตุ
ทวี บุณยเกตุ

 

ห้วงเวลาดังกล่าว ทวี ได้รู้จักกับเพื่อนคนหนึ่งนาม วิลาศ โอสถานนท์ แม้ว่าเขาจะอายุอ่อนกว่าหลายปี แต่ทั้งสองคนก็ทันได้พบปะกันและเล่นฟุตบอลด้วยกัน

หลังจากที่ ทวี และ วิลาศ สำเร็จชั้นมัธยม ทั้งสองคนก็ได้เดินทางไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ โดยช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2464-2466 บุตรชายของเจ้าคุณรณชัยชาญยุทธ เริ่มเข้าศึกษาที่ Ongar Grammar School ประจำมณฑลเอสเซ็กซ์ (Essex) และสำนักคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน (King's College London) ประเทศอังกฤษ

วิลาศ เคยให้สัมภาษณ์ถึงเพื่อนนาม ทวี ไว้ว่า

 

“ผมมีเพื่อนสนิท คือ ทวี บุณยเกตุ เขาอยู่โรงเรียนราชวิทยาลัย เราเล่นฟุตบอลแข่งกันทุกปีเลยครับ ทวีมาเป็นนักเรียนอังกฤษด้วยกัน เขารู้นิสัยผมดี ผมตัดสินใจ ผมชกฉิบหายหมดครับ เด็กฝรั่งไม่กล้ามาย่างกรายผมหรอก คือ อายุมันมากแล้วครับ เจ้าคุณภะรตราชาผู้ดูแลนักเรียนโกงอายุผมนะ ผมอายุ 19 แล้ว เจ้าคุณภะรตฯ บอกอายุ 13 เองไปทำพาสปอร์ตใหม่ให้ผม แล้วผมบอกครูครับนี่ครูทำผิดกฎหมาย (หัวเราะ) ท่านบอกเออน่าแกอย่าซน นิ่งๆ ไว้ ท่านเอาพาสปอร์ตผมไปเปลี่ยนใหม่ ผมมาดูเอ๊ะ ที่ต้องโกงเพราะว่าเราเป็นนักเรียนผู้ใหญ่แล้ว ถ้าไปเข้าโรงเรียนเด็กใครเขาจะรับล่ะครับ นักเรียนเขาอายุ 14 ทั้งนั้นแหละรับ แต่เจ้าคุณภะรตฯ ไม่ให้เราไปเข้าโรงเรียนผู้ใหญ่ถึงเป็นผู้ใหญ่ โกงได้ก็ให้ไปเข้าโรงเรียนเด็ก อยากจะให้ใช้ชีวิตอย่างเด็กนักเรียนอังกฤษ จะได้รู้จักว่ามันเป็นยังไง”

 

และยังบอกเล่าวีรกรรมในอังกฤษ

 

“ทวีเป็นเพื่อนเรียนกับผมมา แกซนครับ แกชอบสูบบุหรี่ แกไปขุดจอมปลวกที่หลังโรงเรียน ทำเป็นโครงเข้าไปด้วยสูบบุหรี่ควันมันก็ขึ้น ปล่องเขาเจาะรูไว้ ผมต้องไปเรียก บอกครูเขากำลังจะตรวจ สูบบุหรี่ควันมันออกน่ะ แกยังไม่กลัว ผมไปฉุดแกออกมา พอฉุดเข้าไปในห้องน้ำครูมาถึง เขาซนที่สุด ผมต้องคอยห้ามแก เจ้าคุณภะรตฯ ยังบอก คุณทวีนี่แกซนมหาศาล ซนอย่างร้ายกาจที่สุด

แกไปกินน้ำชาที่โรงเรียนนี่  พวกนักเรียนฝรั่งหนุ่มๆ มานั่งอยู่ตรงประตูนะครับ ประตูใหญ่ที่เขาเปิดให้วัวเข้าออก พอเราก้าวไปเสียงประตูมันดังเช้งๆ มันถามว่าเราเป็นเจ๊กหรือ ทวีบอกว่า นี่คุณวิลาศ ไอ้พวกนี้เราต้องปราบมัน สองคนปราบอยู่ไหม ผมบอกลองดู ก็ปรึกษากันว่านี่พรุ่งนี้เราไปเดินฝั่งที่มันนั่งนะ แล้วมันก็จะต้องว่าเช้งๆ อีกนะ ไอ้คนที่ออกปากเช้งน่ะ คุณระวังให้ดีนะ มันกำลังเช้งๆ อย่างนี้ผมจะชกมันให้มันดิ้นอยู่ตรงนั้นแหละ คุณคอยดูซิ ผมเดิน มันเช้งๆ 3 หน พอถึงตรงนี้ผมตบหน้ามันทีเดียวด้วยหลังมือชักดิ้นลงไปตรงนั้น เด็กฝรั่งมันไม่เก่งจริงหรอกครับ แหม ผมเห็นเลือดมันออกเลย พวกเพื่อนมันเปิด ไม่มีใครช่วยเลยสักคน แล้วเราสองคนกับทวีต้องไปอุ้มมัน ตั้งแต่นั้นคนในอองก้า เมืองเล็กๆ ที่เราไปเรียนนับถือเราหมด เออ แปลกแฮะไอ้ฝรั่งนี่” 

 

ในหนังสือ ผจญไทยในแดนเทศ ของ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ยังเปิดเผยข้อมูล ตอนที่ ทวี เดินทางจากประเทศสยามไปเรียนต่อยังทวีปยุโรปว่า พอเรือเดินสมุทรแวะจอดเทียบท่าที่โคลอมโบ ประเทศศรีลังกา ทวี ได้แวะเข้าไปตระเวนชมเมือง โดยใช้บริการรถแท็กซี่ แต่โชเฟอร์กลายเป็นโจรปล้นทรัพย์สินของเขา ทั้งยังจับเขามัดเอาไว้ข้างถนน กว่าที่มิตรสหายจะมาเจอตัว ก็ใช้เวลาออกตามหาอยู่นาน

ในปี ค.ศ. 1923 (ตรงกับ พ.ศ. 2466) ทวี ได้ย้ายจากอังกฤษข้ามฟากไปศึกษาต่อในฝรั่งเศส เริ่มด้วยการเข้าเรียนด้านการเกษตรและการปลูกองุ่นที่ Ecole Superieure d’Agriculture et de Viticeelture d’Angers  ก่อนจะไปเรียนวิชากสิกรรมชั้นสูงที่ L'École d'agriculture de Grignon

ทวี สำเร็จการศึกษาและหวนคืนมาถึงเมืองไทยในปี พ.ศ. 2471 แล้วเข้ารับราชการตำแหน่งพนักงานบำรุงพันธุ์สัตว์ในกรมเพาะปลูก กระทรวงเกษตราธิการ ครั้นถึงปี พ.ศ. 2474 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการบำรุงพันธุ์สัตว์ที่ท่าพระ จังหวัดขอนแก่น

ทวี เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรตั้งแต่ครั้งที่เขายังเรียนหนังสือในฝรั่งเศส ได้ร่วมกันเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม โดยเฉพาะกรณีความขัดแย้งระหว่างอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสกับบรรดานักเรียนว่าด้วยเรื่องค่าใช้จ่ายจนถึงกับจะส่งตัว นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำนักเรียนกลับเมืองไทย ผู้ที่ชักชวน ทวี คือ แนบ พหลโยธิน และ ประยูร ภมรมนตรี เริ่มจากนัดพบกันที่ร้านกาแฟ ดังเสียงเล่าของเขาที่ว่า

 

“เมื่อเข้าไปในร้านนั้นก็พบกับนายปรีดี พนมยงค์ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ และนายทัศนัย มิตรภักดี จึงได้ร่วมสนทนาและกินกาแฟกัน เรื่องที่คุยกันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองตลอดเวลา ในที่สุด ก็ถูกชักชวนให้เข้าร่วมทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งก็รับปากโดยทันทีโดยไม่ต้องตรึกตรอง”

 

แนบ รับรองว่า ทวี เป็นผู้มีอุดมการณ์และเชื่อถือได้ ทุกคนจึงยินดีรับบุตรชายของเจ้าคุณรณชัยชาญยุทธเข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎร โดยกล่าวคำสาบานว่าจะต้องปฏิบัติตนตามอุดมคติ 10 ประการ อันได้แก่

  1. ต้องให้มีพระเจ้าแผ่นดินตลอดไป
  2. ต้องทำเพื่อประชาธิปไตย
  3. ต้องเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน
  4. ต้องมีความเห็นอันเที่ยงตรง
  5. ต้องทำเพื่อมุ่งจรรโลงประเทศให้ก้าวหน้า
  6. ต้องไม่ทรยศต่อประเทศชาติ
  7. ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต
  8. ต้องไม่เย่อหยิ่งลืมตัว
  9. ต้องมีความประพฤติดี
  10. ต้องรักษาหน้าที่โดยเด็ดขาดและเที่ยงตรง

 

ต่อจากนั้น ทวี ก็ได้รับมอบหมายภารกิจให้ไปลองจับตาดูและศึกษาความคิดความอ่านทางการเมืองของ เรือโทสินธุ์ กมลนาวิน ซึ่งกำลังศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือของประเทศเดนมาร์ก แต่ได้เดินทางแวะมาเยือนกรุงปารีสช่วงระหว่างพักผ่อนจากการเรียน เพื่อพิจารณาว่าจะสามารถไว้ใจและชักชวนให้เข้าร่วมคณะราษฎรได้หรือไม่ 

ทวี จึงเดินทางไปทัศนาจรที่เยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์พร้อมกับ เรือโทสินธุ์ จนชักชวนนายทหารเรือหนุ่มมาเข้าร่วมคณะราษฎรได้สำเร็จ อีกทั้งเขายังทยอยชักชวนเพื่อนคนอื่นๆ ได้อีกมากราย ทั้งตอนที่อยู่ต่างประเทศ และตอนกลับมาอยู่เมืองไทยแล้ว เช่น วิลาศ โอสถานนท์ และ จรูญ สืบแสง เป็นต้น นับว่า ทวี คือคนสำคัญที่คอยประสานงานให้ใครๆ มาร่วมคณะผู้ก่อการ บ้านของเขามักจะเป็นสถานที่จัดประชุมวางแผนต่างๆ อยู่เนืองๆ

ช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 แม้ ทวี เองจะอยู่ไกลถึงขอนแก่น แต่เขาก็ตามสืบข่าวคราวจาก แนบ อยู่เป็นระยะเสมอๆ กระทั่งในวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน ทวี ได้รับมอบหมายให้ไปควบคุมตัวนายทหารคนสำคัญอย่าง พระประยุทธอริยั่น (เชื้อ มโหตตร) ผู้บัญชาการกองรถรบ ซึ่งเป็นหน่วยที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งรถรบและรถเกราะ จำเป็นจะต้องควบคุมให้ได้ ถ้ามิเช่นนั้น คณะราษฎรอาจจะทำการไม่สำเร็จ และถูกปราบปรามจนกลายเป็นเหตุนองเลือด

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลคณะราษฎรจัดให้มีสภาผู้แทนราษฎร ทวี ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก ขณะเดียวกัน เขาก็ยังรับราชการในกระทรวงเกษตราธิการ ช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2475 ทวี รั้งตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าชั้น 1 กรมสหกรณ์ ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2476  เขาจะได้เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงซึ่งตอนนั้นคือ พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์)

สิ้นปีเดียวกันนี้ ทวี ได้สมรสกับ อำภาศรี บุตรสาวของ พระยาวิทยาปรีชามาตย์ (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้มีบทบาททางด้านการศึกษาของไทย

ล่วงมาถึง พ.ศ. 2478 ทวี ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมประมง เขารับราชการในกระทรวงเดิมเรื่อยมา จวบจนปี พ.ศ. 2482 ก็เข้ามาร่วมงานกับรัฐบาลคณะราษฎรทางด้านการเมืองอย่างเต็มตัว ซึ่งตอนนั้นเป็นยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เขาต้นเริ่มจากการเป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แล้วเลื่อนขึ้นมาเป็นรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พอปีถัดมาก็เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2  ทวี ยังคงร่วมงานกับรัฐบาลจอมพล ป. ในฐานะเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายแสดงออกถึงการสนับสนุนกองทัพญี่ปุ่น แม้อีกด้านหนึ่ง เขาจะเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยที่นำโดย นายปรีดี เพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ทวี จึงต้องคอยประสานงานอย่างรอบด้าน เขาให้การช่วยเหลือนายปรีดีอย่างแข็งขัน สมดังที่หัวหน้าขบวนการเสรีไทยกล่าวว่า “นายทวีเป็นผู้ส่งข่าวความเคลื่อนไหวของคณะรัฐมนตรี”

ช่วงปลายสงคราม ทวี เกิดความไม่ลงรอยกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มากขึ้นเรื่อยๆ ครั้นจอมพล ป. ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องมาจากรัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์เข้าสู่สภา แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ลงมติไม่เห็นชอบด้วย ควง อภัยวงศ์ จึงเป็นนายกรัฐมนตรีแทนเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2487 ทวี ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลชุดนี้

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงเมื่อกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรอให้ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกาเพื่อมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นผู้ที่ทางฝ่ายสัมพันธมิตรให้ความไว้วางใจ ช่วงเวลาที่เมืองไทยยังว่างเว้นผู้นำประเทศนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ทวี เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 โดย นายปรีดี ลงนามในประกาศ และ พระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา) ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ต่อมาในวันที่ 1 กันยายน  พ.ศ. 2488 จึงมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีรวมทั้งหมด 29 ตำแหน่ง

ด้าน ทวี เองนอกจากจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ส่วนรัฐมนตรีอื่นๆ ประกอบด้วย

  • พลโท ชิต มั่นศิลป์  สินาดโยธารักษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  • ดิเรก ชัยนาม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
  • นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย  เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  • สพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  • พลเรือตรี สังวรณ์ สุวรรณชีพ  เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
  • พลอากาศโท หลวงเทวฤทธิพันลึก (กาพย์ ทัตตานนท์) เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
  • ประจวบ บุนนาค  เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  • เดือน บุนนาค  เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
  • พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส  เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • ทวี ตะเวทีกุล  เป็นรัฐมนตรี
  • วิจิตร ลุลิตานนท์  เป็นรัฐมนตรี
  • พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์)  เป็นรัฐมนตรี
  •  พระตรีรณสารวิศวกรรม (ตรี ตีรนสาร)  เป็นรัฐมนตรี
  • ทองอินทร์ ภูริพัฒน์  เป็นรัฐมนตรี
  • เตียง ศิริขันธ์  เป็นรัฐมนตรี
  • ถวิล อุดล  เป็นรัฐมนตรี
  • พึ่ง ศรีจันทร์  เป็นรัฐมนตรี
  • ทอง กันทาธรรม  เป็นรัฐมนตรี
  • สงวน ตุลารักษ์  เป็นรัฐมนตรี
  • หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก) เป็นรัฐมนตรี
  • จำลอง ดาวเรือง เป็นรัฐมนตรี
  • วุฒิ สุวรรณรักษ์ เป็นรัฐมนตรี

สังเกตจากรายนามของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นบุคคลผู้เคยมีบทบาทเกี่ยวข้องกับขบวนการเสรีไทย

ทวี พร้อมคณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันเสาร์ที่ 1 กันยายน 2488 มีสาระสำคัญคือ

(1) รัฐบาลจะยึดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

(2) รัฐบาลจะปฏิบัติตามพระบรมราชโองการประกาศสันติภาพ วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488

(3) รัฐบาลจะร่วมมือกับสหประชาชาติในทุกวิถีทาง และส่งเสริมสัมพันธไมตรีให้ดียิ่งขึ้น เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ

(4) รัฐบาลจะรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และเข้มงวดกวดขันในการแก้ปัญหาโจรผู้ร้ายชุกชุม อันเนื่องมาจากภาวะสงคราม

เป็นที่ทราบกันดีว่า ทวี เป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งระยะสั้นที่สุด นั่นคือเพียงแค่ 17 วัน แต่แม้จะเป็นช่วงเวลาน้อยนิด หากรัฐบาลนี้ก็พยายามสร้างผลงานเอาไว้หลายอย่างทีเดียว

สำหรับการทำงานตลอดช่วงวันที่ 1-17 กันยายน พ.ศ. 2488 นั้น คณะรัฐมนตรีได้ร่วมประชุมกัน 3 ครั้ง และพิจารณาเรื่องที่จะต้องลงมติทั้งสิ้น 28 เรื่อง

วันถัดมาคือ 2 กันยายน ทวี ได้นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คือ นายปรีดี เพื่อรายงานตัว ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวรายงานว่าด้วยการส่งเสริมความสัมพันธไมตรีกับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยอ้างถึงความเป็นเมืองพุทธศาสนาของไทย ดังความตอนหนึ่งว่า

 

“เมืองไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา มีหลักพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ฉะนั้นจึงไม่เป็นการเกินความเป็นจริงไปเลยว่า ประชาชาติไทยพร้อมอยู่เสมอที่จะร่วมมือกับฝ่ายสหประชาชาติที่จะรักษาเสถียรภาพแถบนี้ของโลกไว้”

 

นายปรีดี กล่าวตอบขอบคุณ ทวี ทั้งยังย้ำว่าสภาพบ้านเมืองห้วงยามนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ การตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยความรวดเร็วและแม่นยำพร้อมอวยพรให้การปฏิบัติงานของรัฐบาลชุดใหม่ประสบความสำเร็จ

ปฏิเสธมิได้ว่า ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สังคมไทยเผชิญเข้ากับสภาวะเต็มไปด้วยปัญหายุ่งยาก ค่าครองชีพของพลเมืองก็ดีดตัวสูงขึ้น การขนส่งสินค้าก็ยังไม่สะดวก ความเสียหายของบ้านเมืองที่ถูกทำลายไปยังซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จ อีกทั้งความฝืดเคืองของประชาชนและคนว่างงาน กลายเป็นชนวนนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม มีผู้ประพฤติตนเป็นโจรปล้นและผู้ร้ายกันแพร่หลาย

วิกฤตเศรษฐกิจการคลังถือเป็นอีกปัญหาที่น่าวิตกของรัฐบาลทวี  เพราะประสบปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย ภาษีต่างๆ ที่เคยเก็บได้ก็มีอันลดน้อยลง มิหนำซ้ำ ยังเกิดปัญหาเงินเฟ้อ สืบเนื่องจากในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. ได้พิมพ์ธนบัตรเพิ่มเติมออกใช้หมุนเวียนในประเทศ และมีอัตราการแลกเงินที่เสียเปรียบทางญี่ปุ่น ปัญหานี้จึงตกทอดมาจากช่วงระหว่างสงคราม

ในการประชุมสภาช่วงระยะ 17 วันนี้ สิ่งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นกังวลคือ เกรงว่ารัฐบาลจะอาศัยมาตรการผูกขาดเศรษฐกิจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีทวีได้ตอบข้อซักถามทำนองว่า

 

“เรื่องการผูกขาดนั้น จำเป็นต้องพิจารณาดูให้รอบคอบ สินค้าทุกอย่างรัฐบาลต้องขอร้องที่จะผูกขาดต่อไป  ทั้งนี้เพราะเหตุว่าสินค้าผูกขาดย่อมนำรายได้มาชดเชยแก่รัฐบาลที่จะใช้จ่ายในการบำรุงประเทศ แต่เพราะว่าสินค้าผูกขาดนี้ส่วนมากเป็นสินค้าทางอ้อม ไม่กระทบกระเทือนอย่างสินค้าธรรมดา”

 

การแก้ไขปัญหาข้าราชการก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่รัฐบาลทวีเอาใจใส่ โดยมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิธีพิจารณาข้าราชการและพนักงานเทศบาลผู้ประพฤติผิดวินัยและหย่อนสมรรถภาพ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เหตุผลที่ต้องผลักดันเรื่องนี้สืบเนื่องจาก

 

  1. ในช่วงสภาวะสงครามส่งผลให้ค่าครองชีพสูง แต่ประชาชนพลเมืองกลับมีรายได้ไม่เพียงพอ  ข้าราชการจำนวนมากจึงตัดสินใจกระทำการทุจริตในหน้าที่การงานเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว 

 

รัฐบาลทวีแถลงต่อเรื่องนี้ว่า

 

“รัฐบาลนี้ปรารถนาที่จะปรับปรุงสมรรถภาพข้าราชการ เพื่อให้การปฏิบัติงานภายในประเทศเป็นไปอย่างสงบนั้น รัฐบาลเห็นว่าการกระทำทั้งหลายนั้นเพื่อให้ได้ผลทันท่วงทีย่อมทำได้ยาก แต่เห็นว่าวิธีนี้เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้ข้าราชการทั้งหลายมีสมรรถภาพดียิ่งขึ้น”

 

  1. รัฐบาลเล็งเห็นว่า การใช้พระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนและวินัยทหารตำรวจฉบับเดิม นอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว ยังเป็นช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้ข้าราชการช่วยเหลือกันเอง ดังนั้น ควรจะมีกฎหมายอีกฉบับที่เข้มงวดและเด็ดขาดยิ่งกว่ามาควบคุมดูแล
  2. เป้าประสงค์ของพระราชบัญญัตินี้คือหวังว่าจะทำให้ประชาชนสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษต่อข้าราชการผู้ใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต จนสร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่น

 

ข้าราชการที่อยู่ภายใต้ข้อบังคับของร่างพระราชบัญญัตินี้ยังครอบคลุมไปถึงกลุ่มของทหาร ตำรวจ และฝ่ายตุลาการ รวมทั้งพนักงานเทศบาลด้วย รัฐบาลเสนอให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง จำนวนไม่เกิน 9 นาย เพื่อพิจารณาข้าราชการฝ่ายต่างๆ ที่ประพฤติผิดวินัยหรือหย่อนความสามารถ แต่หากผลการพิจารณาโทษถึงขั้นให้ปลดออกหรือไล่ออก คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะต้องรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ เพื่อตัดสินผลชี้ขาดอันเป็นที่สุด และผลนี้จะไม่มีกฎหมายใดมาลบล้างได้

แม้รัฐบาลทวีจะอ้างว่าความพยายามเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้เปี่ยมล้นด้วยเจตนาดี แต่กลับมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลุกขึ้นอภิปรายคัดค้าน โดยมองว่าเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจเด็ดขาดแก่รัฐบาลมากเกินไป ความคิดที่จะให้ประชาชนเป็นโจทก์ฟ้องข้าราชการได้นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การให้รัฐมนตรีชี้ขาดอาจเป็นการใช้อำนาจมากเกินไป ที่สำคัญจะต้องพิจารณาอย่างถ่องแท้ เพราะการที่ข้าราชการถูกร้องเรียน บางครั้งอาจจะเกิดจากการถูกกลั่นแกล้งก็เป็นได้

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางรายยังมีข้อสงสัยว่า

 

“การปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ไม่น่าจะสำเร็จ และข้าราชการที่ทำผิดนั้นมิได้มีแต่ข้าราชการชั้นผู้น้อยเสมอไป แต่การทำความผิดนั้นความจริงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็ได้กระทำผิดเหมือนกันและเมื่อผู้ใหญ่ได้กระทำผิดแล้วก็เลยเป็นเครื่องหมายที่จะให้ผู้น้อยได้กระทำผิดตามผู้ใหญ่ ถ้าแม้นว่ากฎหมายนี้จะออกไปเมื่อผู้น้อยทำผิดโจทก์ก็มาฟ้องผู้ใหญ่เองก็ผิด แล้วอย่างที่เรียกว่า ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ อะไรเหล่านี้ผู้ใหญ่ก็พยายามไกล่เกลี่ยหรือนิ่งเสีย....”

 

สภาผู้แทนราษฎรลงความเห็นให้ตั้งคณะกรรมธิการวิสามัญ 9 นาย และมอบหมายให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งคณะกรรมการชุดนั้นประกอบด้วย

  1. พระยาอรรถการีนิพนธ์
  2. พระยาศรีรณสารวิศวกรรม
  3. นายดิเรก ชัยนาม
  4. นายเดือน บุนนาค
  5. นายเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์
  6. นายเลียง ไชยกาล
  7. นายผล แสนสระดี
  8. ร้อยโท ประจวบ มหาขันธ์
  9. นายเลื่อน พงษ์โสภณ

 

ผลสรุปคือ คณะกรรมาธิการได้ลงความเห็นให้แก้ไขเพิ่มเติมบางมาตรา กำหนดให้

 

“...บุคคลใดประสงค์จะร้องฟ้องต่อคณะกรรมการว่าข้าราชการ หรือพนักงานเทศบาล ผู้ใดประพฤติผิดวินัย ก็ให้มีสิทธิ์ร้องเรียนได้ และถ้าคณะกรรมการเห็นว่าคำร้องฟ้องนั้นได้กล่าวหาในกรณีซึ่งสอบสวนพิจารณาด้วยความจริงทุกถูกกล่าวหาจะต้องได้รับโทษถึงปลดออก หรือไล่ออกแล้ว ก็ให้คณะกรรมการมีอำนาจรับไว้สอบพิจารณาได้”

 

แต่

 

“การสอบสวนพิจารณาของคณะกรรมการตามความในพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาทราบข้อหาและให้ยื่นคำให้การ และให้มีอำนาจออกหมายเรียกพยานหลักฐาน และบังคับให้พยานสาบาน หรือปฏิญาณได้ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ”

 

รวมถึงมีถ้อยความในบางมาตราที่ระบุว่า

 

“ผู้ใดนำความที่ตนรู้อยู่ว่าเป็นเท็จมาร้องฟ้องหรือให้การต่อคณะกรรมการ มีความผิดต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี”

 

ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้มีการกลั่นแกล้งกัน โดยมาร้องเรียนกล่าวหาว่าข้าราชการกระทำทุจริต ทั้งๆ ที่ไม่มีมูลความจริง

ท้ายที่สุด ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ยอมรับร่างพระราชบัญญัติข้างต้นและให้ประกาศใช้ได้เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2488 ซึ่งถึงแม้จะเป็นช่วงที่ ทวี พ้นไปจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงลงนามรับสนองพระราชโองการโดย หม่อมราชวงศ์เสนีย์  นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่ก็ต้องถือว่า “พระราชบัญญัติกำหนดวิธีพิจารณาข้าราชการและพนักงานเทศบาลผู้ประพฤติผิดวินัยหรือหย่อนความสามารถ พ.ศ. 2488” เป็นผลงานการผลักดันของรัฐบาลทวี

อีกบทบาทสำคัญของรัฐบาลทวีย่อมมิแคล้วการเสนอให้มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สืบเนื่องจากพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8  ซึ่งทรงประทับในสวิตเซอร์แลนด์ กำลังจะทรงบรรลุนิติภาวะในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2488 ทางรัฐบาลได้มีโทรเลขไปอัญเชิญพระองค์เสด็จนิวัติสู่พระนคร แต่การเดินทางช่วงหลังสงครามอาจเป็นไปอย่างไม่สะดวกเท่าใดนัก เกรงว่าในหลวงจะนิวัติพระนครมาไม่ทันเวลา อีกทั้งถ้าจะให้พระองค์เสด็จกลับทางเครื่องบินก็เสี่ยงอันตราย

แม้ตอนนั้น นายปรีดี จะดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่พอถึงวันที่ 20 กันยายนแล้ว ถ้ายังไม่มีการแต่งตั้ง นายปรีดี ก็จะพ้นจากตำแหน่งไป รัฐบาลทวีจึงขอให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติแต่งตั้ง นายปรีดี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ก่อน

 

รัฐบาลทวีอ้างเหตุผลว่า

 

“ถ้าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับไม่ได้ ก็จะไม่มีผู้ใดปฏิบัติฉลองพระราชภาระกิจ ก็คงไม่สามารถแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งจะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาให้ทันการได้ฉะนั้น จึงให้ขอให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน ศกนี้ ต่อไปจนกว่าจะเสด็จกลับสู่พระนคร”

 

นายกรัฐมนตรียังหยิบยกเอาเรื่องการจะต้องติดต่อกับสหประชาชาติและนานาประเทศมาสนับสนุนความจำเป็นที่จะต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังถ้อยความที่ว่า

 

“บรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่ก็ตาม ผู้ที่เป็นสหประชาชาติก็ตาม ทุกคนที่มาเมืองไทยได้ยอมเคารพต่อผู้สำเร็จราชการทุกคน ทั้งนี้ก็ย่อมถือเป็นเกียรติอย่างสูงของชาติที่เขายังคงเคารพต่อผู้สำเร็จราชการของเรา แต่เมื่อใดในการสนทนากันมีบางกรณีบางท่านถามว่าในวันที่ 20 นี้พระเจ้าอยู่หัวท่านไม่มาใครจะเป็นผู้สำเร็จราชการ ท่านจะตอบอย่างไร หรือว่าผมจะเป็นผู้สำเร็จราชการต่อไปจนกว่าสภาจะให้คำมั่นว่า ถ้าท่านไม่กลับแล้ว ท่านเองแหละจะเป็นผู้สำเร็จราชการต่อไป นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองเพื่อให้ความสำคัญระหว่างสหประชาชาติกับผู้สำเร็จราชการ และรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่ให้เป็นผลเท่านั้นเอง”

 

อย่างไรก็ดี ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางรายคัดค้านทำนอง

 

“มาตรา 10 บัญญัติว่าในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง จะทรงบริหารพระราชภารกิจไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้น ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าหากกษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะส่งตั้งได้ไซร้ ท่านให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันตั้งขึ้น และในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรยังไม่ได้ตั้งผู้ใด ท่านให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่นั้นเป็นการชั่วคราว...”

 

ทวี รับฟังแล้ว ก็ชี้แจงว่า

 

“ความจริงรัฐบาลไม่ได้ขอตั้งเดี๋ยวนี้ คือเตรียมทางไว้ ถ้าท่านไม่เสด็จกลับเมื่อถึงวันที่ 20 กันยายน ก็จะได้มีการประกาศตั้งลงวันที่ 20 กันยายน”

 

ในที่สุด ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติยอมรับข้อเสนอของรัฐบาล นายปรีดี จึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกหน

 

ปัญหาด้านการเมืองระหว่างประเทศถือเป็นภารกิจหลักที่รัฐบาลทวีจะต้องรีบเร่งดำเนินการแก้ไข เพราะตอนนั้นในสายตาโลกกำลังเพ่งเล็งอยากจะให้ไทยเป็นผู้พ่ายแพ้สงครามด้วย เพื่อจะได้เรียกค่าเสียหายแบบขูดรีด สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำก็คือพยายามเจรจากับมหาอำนาจของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา เสริมสร้างความเข้าใจว่าไทยหาใช่ศัตรูของฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ต้องประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นเกิดจากภาวะจำยอม การมีอยู่ของขบวนการเสรีไทยย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ชาวไทยมิได้ถือข้างฝ่ายกองทัพญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็พยายามส่งมอบดินแดนทั้งหลายที่เคยได้รับมาสมัยสงครามเพราะการช่วยเหลือจากกองทัพญี่ปุ่นกลับคืนไปให้ฝ่ายสัมพันธมิตร

อีกปัญหาหนึ่งที่เป็นผลพวงมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 คือการจัดการกับทรัพย์สินของชาติที่ตกเป็นศัตรูของสหประชาชาติ หรือกล่าวง่ายๆ ว่าเป็นทรัพย์สินของพวกที่เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม รัฐบาลทวีต้องเข้ามาดูแลแก้ไขในเรื่องนี้ด้วยการออก “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกักกุมและควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ พ.ศ. 2488”  โดยเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อแสดงให้ทางสหประชาชาติเห็นว่าเมืองไทยยินดีให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติอย่างเป็นมิตร รวมถึงยืนยันความมีอธิปไตยของประเทศ  อีกทั้งกฎหมายที่ทางการไทยเคยออกมาครั้งหนึ่งเพื่อการกักกุมและควบคุมทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นชาติศัตรูนำมาใช้การไม่ค่อยเป็นผล  รัฐบาลเลยพยายามปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยเรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สิ่งที่รัฐบาลจะต้องกระทำก็คือการประกาศว่าบุคคลใดบ้างที่ถือเป็นบุคคลต่างด้าว ซึ่งเป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ โดยบุคคลเหล่านั้นจะถูกเจ้าพนักงานควบคุมไว้โดยมิให้ติดต่อกับบุคคลภายนอก ทั้งยังมีการตั้งคณะกรรมการควบคุมพวกเขา

พระราชบัญญัติข้างต้นนี้นับเป็นอีกหนึ่งผลงานของรัฐบาลทวี ซึ่งมิได้มุ่งเน้นว่าจะต้องไปยึดครองทรัพย์สินหรือข่มเหงซ้ำเติมต่อชาติฝ่ายที่พ่ายแพ้สงคราม แต่เป็นการดำเนินกุศโลบายเพื่อที่แสดงออกให้ชาติฝ่ายที่ชนะสงครามเห็นถึงความพยายามสร้างสัมพันธไมตรี เพราะตอนนั้น ไทยเองก็กำลังถูกเพ่งเล็ง การแก้ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศจึงต้องอาศัยการตัดสินใจที่เฉียบขาด และอ่านสถานการณ์ทางการเมืองของโลกได้แม่นยำ เพื่อจะได้ไตร่ตรองว่าประเทศเราจะต้องแสดงท่าที่อย่างไรให้เป็นผลประโยชน์และรอดพ้นอันตรายให้ได้มากที่สุด

ช่วงที่รัฐบาลทวีบริหารประเทศค่อนข้างจะเป็นไปอย่างราบรื่น อาจมีบ้างที่เกิดปัญหาความขัดแย้งในสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็สามารถคลี่คลายลงได้

ขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรี ทวี  ยังได้ประกาศให้กลับไปเรียกชื่อประเทศว่า “สยาม” ตามเดิม หลังจากที่รัฐบาลจอมพล ป. เคยเปลี่ยนให้มาเรียกชื่อประเทศว่า “ไทย” เมื่อต้นทศวรรษ 2480

หลังจากสิ้นสุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 เมื่อ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว  ทวี ก็ยังได้ครองตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลเสนีย์ อีกทั้งบางช่วงที่ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ติดภารกิจ ก็มอบหมายให้ ทวี สั่งการแทนนายกรัฐมนตรีได้

สมัยรัฐบาลที่มี นายปรีดี เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงปี พ.ศ. 2489  ทวี ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ทั้งยังได้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

ทว่าครั้นเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2490 ซึ่งกลุ่มทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยตั้งแต่กลางดึกวันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องจนเช้าวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบเผด็จการอันเลวร้ายในเมืองไทย ส่งผลให้ นายปรีดี ต้องลี้ภัยทางการเมืองไประหกระเหินในต่างประเทศอีกยาวนาน

แน่นอนว่า ทวี ย่อมถูกมองว่าเป็นกลุ่มก้อนของนายปรีดี อีกทั้งเมื่อคราวที่เกิดเหตุกบฏเสนาธิการเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2491 เขายังถูกคณะรัฐประหารจับกุมควบคุมตัวไว้นานราว 40 กว่าวัน เพราะระแคะระคายว่าฝ่ายที่ก่อการกบฏจะทาบทามให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีหากยึดอำนาจสำเร็จ ทวี ถูกข่มขู่จึงตัดสินใจลี้ภัยออกนอกประเทศไปพร้อมกับภริยา โดยไปพำนักอยู่เกาะปีนังในเขตมาเลเซีย

นามของ ทวี ปรากฏอีกครั้งในปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ซึ่งขบวนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยนำโดย นายปรีดี  และพลพรรคได้ปฏิบัติการเข้ายึดพระบรมมหาราชวังและประกาศยึดอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. และประกาศแต่งตั้งรัฐบาลใหม่โดยมีชื่อของ ทวี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นั่นส่งผลให้เขาถูกคณะรัฐประหารเพ่งเล็ง และมีการส่งโทรเลขไปล่อลวงให้กลับจากปีนังมายังเมืองไทยเพื่อจัดการสังหาร แต่เกิดเหตุล่าช้าจนเขาไม่ได้กลับมา จึงรอดชีวิต

กว่าที่ ทวี จะได้เดินทางกลับประเทศไทยก็ภายหลังจาก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารโค่นล้มจอมพล ป. เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 แต่เขาก็เก็บตัวไม่ได้เข้ามาข้องเกี่ยวกับการเมือง 

จวบจนกระทั่ง ทวี ได้หวนกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งในยุครัฐบาลถนอม กิตติขจร เขาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ. 2511 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างยาวนานถึง 10 ปี

ทวี ครองชีพมาจนอายุเกือบ 67 ปี เขาสูญสิ้นลมหายใจอำลาจากโลกไปในเดือนเดียวกันกับเดือนที่เขาเกิด นั่นคือวันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514

ในวาระครบรอบ 119 ปีชาตกาลของ ทวี บุณยเกตุ แม้บุคคลทางการเมืองผู้นี้อาจจะไม่เป็นที่รู้จักของคนยุคปัจจุบันมากไปกว่าที่ท่องจำซ้ำๆ ว่าเขาคือ “นายกรัฐมนตรี” ผู้อยู่ในตำแหน่งระยะสั้นที่สุดของเมืองไทย

หากตลอด 17 วันที่เขาบริหารประเทศ ก็ได้แสดงบทบาททางการเมืองอย่างแข็งขันเพื่อประคับประคองบ้านเกิดเมืองนอนให้ดำเนินไปได้โดยปลอดภัยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาอิรุงตุงนังนานัปการ

 

เอกสารอ้างอิง

  • ความพอใจของคน. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยารณชัยชาญยุทธ (ถนอม บุณยเกตุ) ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 2 มิถุนายน 2491. พระนคร: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2491
  • “ประกาศตั้งนายกรัฐมนตรี.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 62 ตอนที่ 47 (1 กันยายน 2488). หน้า 407-408.
  • “ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้นายทวี บุณยเกตุ เป็นรัฐมนตรีสั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรี.”ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 62 ตอนที่ 52 (26 กันยายน 2488). หน้า 1421
  • ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕-๒๕๑๗). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ชุมนุมช่าง, 2517.
  • ปรีดี พนมยงค์. โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส. กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์. 2558.
  • “พระราชบัญญัติกำหนดวิธีพิจารณาข้าราชการและพนักงานเทศบาลผู้ประพฤติผิดวินัยหรือหย่อนความสามารถ พ.ศ. 2488.” ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม 62 ตอนที่ 576 (20 กันยายน 2488). หน้า 576-580.
  • “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกักคุมตัวและการควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ พ.ศ. 2488”ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม 62 ตอนที่ 50 (16 กันยายน 2488). หน้า 520-525.
  • วิจิตร วิชัยสาร. รัฐบาลไทยสมัยนายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรี (31 สิงหาคม-16 กันยายน 2488). วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2516.
  • สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐ และการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ.2491-2500). พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : 6 ตุลารำลึก, 2553
  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี วิลาศ โอสถานนท์. ป.ม., ท.ช., ต.จ. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานครฯ วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2440. กรุงเทพฯ : ศิริชัยการพิมพ์. 2540.
  • อนุสรณ์ทวี บุณยเกตุ. คุรุสภาจัดพิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี บุณยเกตุ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 8 มีนาคม พ.ศ. 2515. พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา. 2515
  • อนุสรณ์พิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี บุณยเกตุ ม.ป.ช.,ท.จ.ว., ท.ม. พระราชทานเพลิง ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2515. พระนคร : มปท. 2515.
  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. ผจญไทยในแดนเทศ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: แซลมอน. 2560.