ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ความจริงเกี่ยวกับ ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492

26
กุมภาพันธ์
2567

“ขบวนการประชาธิปไตย 2492” เป็นผลสืบเนื่องจากรัฐประหาร 2490 ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมขวาจัดร่วมมือกับผู้นำฝ่ายทหารเผด็จการ จึงทำให้เกิดการลุกขึ้นสู้เป็นขบวนการประชาธิปไตยใน 2 ปีถัดมา

เมื่อมองมาในยุคปัจจุบันนี้ ได้มีขบวนการที่เรียกว่า IO ได้ปฏิบัติการอย่างลับๆ อย่างยาวนานและไม่ทราบฝ่าย โดยแบ่งได้ 2 ด้านได้แก่ (1) ความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง ว่าแกนนำฝ่ายคณะราษฎร มีความพยายามปล้นชิงพระราชสมบัติ (2) ความพยายามป้ายสี ท่านปรีดี พนมยงค์ ว่าไม่จงรักภักดี และเป็นผู้ก่อเหตุขบวนการหรือเรียกว่าขบถวังหลวง ที่เนื้อหาดังกล่าวนี้ได้ถูกเผยแพร่บนพื้นที่สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ

จากปัญหาดังกล่าวนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาที่ถูกบ่มเพาะมาเป็นระยะเวลายาวนานนั่นคือ แนวความคิดที่ปรปักษ์กับประชาธิปไตย รวมถึงมีผู้คนที่ยึดถือแนวความคิดนี้อยู่มากในสังคมไทย จึงก่อให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลที่มีการบิดเบือนความเป็นจริง หรือมีการนำเสนอเพียงแค่ข้อมูลบางส่วนที่ส่งผลให้ความจริงถูกตีความให้เข้ากับแนวคิดของฝ่ายตนเอง

จากกรณีประวัติศาสตร์ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 หากผู้ที่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลนี้อย่างถี่ถ้วน จะมองว่าขบวนการนี้เป็นขบถวังหลวง ที่ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ในความเป็นจริงของประวัติศาสตร์จะพบว่าเป็นขบวนการที่ต่อสู้กับคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ที่ได้เข้ามาฉีกรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2489 โดยท่านปรีดีได้ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เท่ากับเป็นโมฆะ และไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากการยึดอำนาจในปีพ.ศ. 2490 และผู้ที่ให้การรับรองร่างรัฐธรรมนูญ ณ ขณะนั้นมีเพียงผู้เดียวคือ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ที่เป็นบุคคลที่มีตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รวมถึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคณะรัฐประหารและกลุ่มอนุรักษนิยมขวาจัดฝ่ายชนชั้นนำ

หลังจากการยึดอำนาจในปีพ.ศ. 2492 อดีตสมาชิกของเสรีไทยจำนวนหนึ่งได้มองว่าท่านปรีดีไม่ได้รับความชอบธรรมจากทั้งคดีเหตุการณ์สวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และการถูกยึดอำนาจ โดยในขณะนั้นเป็นช่วงหลังภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่บ้านเมืองมีความวุ่นวายอย่างมาก ทั้งในด้านเศรษฐกิจและความเสี่ยงในการเสียเอกราช ในฐานะผู้แพ้สงครามหลังจากการประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ประเทศไทยสามารถรอดพ้นการตกเป็นเมืองขึ้นได้ จากวีรกรรมของขบวนการเสรีไทยและการใช้ข้อแก้ตัวทางกฎหมายของท่านปรีดี พนมยงค์

 ในช่วงเวลาหลังพ.ศ. 2475 สมาชิกรัฐสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489 คือรัฐธรรมนูญที่สะท้อนอุดมการณ์ของคณะราษฎรมากที่สุดที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง เมื่อประเทศกำลังจะเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันยังคงมีโอกาสถูกยึดอำนาจจากกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ส่งผลให้เหล่าบรรดาทหารชั้นผู้น้อยมีความน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะในสมัยจอมพล ป. มีการทำสงครามยึดพื้นที่ต่างๆ มากมาย เช่น เชียงตุงทางรัฐฉาน หลังจากรัฐบาลที่มาจากพลเรือนขึ้นมามีอำนาจ ทำให้บทบาทของทหารเหล่านี้ลดหายไป และรัฐบาลไม่มีความไว้วางใจให้ทหารสายอื่นขึ้นมามีอำนาจ ซึ่งเหตุการณ์นี้นำไปสู่ความซับซ้อนของเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2492

สุดท้ายแล้ว แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกสั่งสมมาอย่างยาวนานคือ การปลูกฝังแนวคิดระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่จำเป็นต้องทำให้สามารถหยั่งรากลึกมากพอในสังคมไทยได้จริง รวมถึงการส่งเสริมให้คนไทยมีการศึกษาค้นคว้าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อย่างละเอียด เพื่อให้เป็นภูมิคุ้มกันต่อภัยปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์อันเป็นเท็จ

 

ที่มา : รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์รายการย้อนอดีตสู่อนาคต FM96.5 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567

รับชมคลิปเต็ม : https://www.facebook.com/Thinkingradio/videos/1744243296099563/