Focus
- บทความนี้สะท้อนทัศนะของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่องชายแดนใต้ที่เชื่อมโยงกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย ความขัดแย้งหรือความไม่สงบในพื้นที่ส่วนใดของรัฐ อาจมิได้เกิดขึ้นเองโดยความประสงค์ของประชาชนที่มีเชื้อสายและหรือศาสนาเดียวกันเท่านั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐที่ปกครองดินแดนแห่งนั้นว่าเป็นเช่นไรด้วย ดังที่มีปรากฏการณ์จากความประสงค์ของการจัดการตนเองและความพยายามแบ่งแยกดินแดน และการโต้ตอบด้วยการใช้อำนาจรัฐเพื่อจัดการกับผู้นำประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ในอดีต
- แม้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ผู้นำชาวมุสลิมในบางจังหวัดชายแดนใต้จะแสดงออกถึงความต้องการแบ่งแยกดินแดนออกจากประเทศไทย จนทางรัฐบาลต้องส่งกำลังไปปราบปรามก็ตาม แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรโดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นกำลังสำคัญได้ปรับแนวนโยบายรักษาความสัมพันธ์อันดีกับชาวมุสลิม โดยให้โอกาสการดำรงเอกลักษณ์ของตนในการอยู่ภายใต้รัฐบาลไทย
- การหายสาบสูญของหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา พร้อมบุตรชาย และผู้ติดตามรวม 4 คน เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2497 เกิดขึ้นในช่วงของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ใช้อำนาจปกครองแบบเผด็จการ โดยละเลยการรักษาเอกลักษณ์ของชาวมุสลิมผู้นับถือศาสนาอิสลาม ทั้ง ๆ ที่หะยีสุหลงมิใช่กบฏแบ่งแยกดินแดน เขาเพียงแต่เรียกร้องต้องการให้ชาวมุสลิมสามารถจัดการตนเองได้มากขึ้นโดยอิงหลักศาสนาอิสลามอย่างสันติวิธีและตามหลักการประชาธิปไตย
ตามที่คณะผู้จัดงานชุมนุมประจําปี 2514 ของชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร ได้ขอให้ข้าพเจ้าเขียนบทความลงในหนังสือที่ระลึกนั้น ข้าพเจ้าจึงขอรวบรวมข้อสังเกตเกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย ซึ่งนักศึกษาในต่างประเทศบางคนได้เคยมาถามข้าพเจ้า หวังว่าผู้อ่านที่อยู่ในสหราชอาณาจักรที่ทราบข่าวเป็นประจําเกี่ยวกับเรื่องนี้คงจะได้ช่วยกันสังเกตต่อไป
-1-
ปัจจุบันนี้มีข่าวเป็นประจําเกี่ยวกับการต่อสู้ระหว่างราษฎรฝ่ายถือศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิกกับฝ่ายถือนิกายโปรเทสทันท์ในไอร์แลนด์เหนือ และในปี ค.ศ. 1969 ก็มีข่าวแพร่ไปเกือบทั่วโลกถึงการที่ชาวเวลล์ส่วนหนึ่งพยายามต่อต้านการสถาปนาเจ้าฟ้าชารลส์เป็นเจ้าแห่งเวลส์
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ไอร์แลนด์เหนือซึ่งเคยร่วมกับไอร์แลนด์ใต้ (IRE) ก่อนแยกตนเป็นเอกราชนั้น ได้ร่วมอยู่ในสหราชอาณาจักรซึ่งมีพระราชาธิบดีเป็นประมุขมาเป็นเวลาประมาณ 800 ปีแล้ว ก็ยังมีบุคคลส่วนหนึ่งรักปิตุภูมิท้องที่ (Local Partriotism) มีความรักศาสนานิกายของตน โดยเฉพาะแคว้นเวลส์ก็อยู่ภายใต้ราชบัลลังก์อังกฤษกว่า 400 ปี ซึ่งมีมกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์อังกฤษดํารงพระอิสริยยศเป็นเจ้าแห่งเวลส์ แต่ชาวเวลส์ส่วนหนึ่งก็ยังมีความรักปิตุภูมิท้องที่ของตน ซึ่งไม่ยอมรับนับถือเจ้าแห่งเวลส์เป็นสัญลักษณ์แห่งเอกภาพของชาติ
คานาดา ซึ่งเป็นชาติในเครือจักรภพอังกฤษได้ยอมรับนับถือพระราชาธิบดี (หรือพระราชินีนาถ) อังกฤษ เป็นสัญลักษณ์แห่งเอกภาพของชาติ ซึ่งประกอบด้วยคนเชื้อชาติอังกฤษและฝรั่งเศส ภาษาฝรั่งเศสซึ่งเป็นภาษาของชนส่วนน้อยในคานาดา เป็นภาษาทางราชการเคียงคู่กันไปกับภาษาอังกฤษของชนส่วนข้างมาก เมื่อพระเจ้ายอร์ชที่ 6 และต่อมาพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 ได้เสด็จไปคานาดา ทรงทําพิธีเปิดรัฐสภานั้น ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชดํารัสเป็นภาษาฝรั่งเศส แม้กระนั้นก็ดี มีข่าวแพร่ออกมาว่า บางครั้งพลเมืองเชื้อชาติฝรั่งเศสจํานวนไม่น้อยในคานาดาทําการแสดงกําลังดิ้นรนที่จะแยกตนจากสหภาพ
ชาวนอรเว ซึ่งมีภาษาในตระกูลสแกนดิเนเวียนเช่นเดียวกับสวีเดน จะมีผิดเพี้ยนกันบ้างก็ไม่มากนัก เปรียบเหมือนภาษาไทยกับภาษาลาว นอรเวเคยรวมเป็นชาติเดียวกับสวีเดนเมื่อก่อน ค.ศ. 1905 โดยมีพระราชาธิบดีแห่งราชวงศ์ Bernadette เป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของชาติ ชาวนอรเวก็นับถือพระราชาธิบดีแห่งราชวงศ์นี้เป็นอย่างมาก
เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส (1920-1927) นั้น มีชาวนอรเวที่เคยอยู่ในขบวนการต่อสู้เพื่อแยกตนจากสวีเดนเมื่อ ค.ศ. 1905 เล่าว่า ขณะต่อสู้อยู่นั้น เขาได้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีราชวงศ์ Bernadette เพราะพวกเขานับถือราชวงศ์นี้ ซึ่งแม้กษัตริย์องค์แรกเป็นคนฝรั่งเศสพระนาม Jean Bernadette เคยเป็นจอมพลของนโปเลียนที่ 1 แต่ต่อมาพระเจ้าชารลส์ที่ 13 แห่งสวีเดนได้ทรงรับเป็นราชโอรสบุญธรรมแล้วได้สืบสันตติวงศ์ เมื่อ ค.ศ. 1818 กษัตริย์ทุกพระองค์แห่งราชวงศ์นี้ได้ให้ความเป็นธรรมแก่พสกนิกรนอรเวและสวีเดนเป็นอย่างดีที่สุด แต่รัฐบาลสวีเดนในสมัยนั้นไม่ปฏิบัติให้เป็นที่พอใจของชาวนอรเว พวกเขาจึงต่อสู้เพื่อปลีกตนออกมาตั้งเป็นชาติเอกราชต่างหาก และสภาผู้แทนของชาวนอรเวก็ได้มีมติอัญเชิญเจ้าแห่งราชวงศ์ Bernadette องค์หนึ่งขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระราชาธิบดีของนอรเว แต่เจ้าแห่งราชวงศ์นั้นได้ทรงปฏิเสธ ชาวนอรเวจึงมีประชามติอัญเชิญเจ้าคาร์ลแห่งเดนมาร์กขึ้นครองราชในพระปรมาภิไธย “พระเจ้าฮากอนที่ 7” ทั้งนี้ แสดงว่า การที่นอรเวแยกจากสวีเดนนั้น มิใช่เพราะไม่เคารพราชวงศ์ Bernadette แต่เป็นเพราะรัฐบาลสวีเดนในสมัยนั้นไม่ปฏิบัติให้เป็นที่พอใจของชาวนอรเว พระราชาธิบดีสวีเดนจึงไม่อาจทรงช่วยเอกภาพได้
เบลเยี่ยม ซึ่งประกอบไปด้วยพลเมืองเชื้อชาติเฟลมิง (พูดภาษาเฟลมิช คล้าย ๆ ภาษาดัทช์) ประมาณ 55.7 เปอร์เซ็นต์ของพลเมืองทั้งหมด เชื้อชาติวาลลูน (พูดภาษาฝรั่งเศส แต่มีคำเฉพาะบ้าง) ประมาณ 32.4 เปอร์เซ็นต์ของพลเมืองทั้งหมด เชื้อชาติเยอรมันประมาณ 0.6 เปอร์เซ็นต์ของพลเมืองทั้งหมด พูดได้ทั้งภาษาเฟลมิช และภาษาฝรั่งเศสประมาณ 11.3 เปอร์เซ็นต์ของพลเมืองทั้งหมด
เมื่อก่อน ค.ศ. 1830 เบลเยียมอยู่ในอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีพระราชาธิบดีแห่งราชวงศ์ Orange-Nassau เป็นประมุข ซึ่งได้ทรงให้ความเป็นธรรมแก่พสกนิกรทุกเชื้อชาติของพระองค์ แต่ใน ค.ศ. 1830 คนเชื้อชาติต่าง ๆ ในเบลเยี่ยมดังกล่าวข้างต้น ก็ทำการอภิวัฒน์แยกตนออกจากเนเธอร์แลนด์ แล้วสมัชชาแห่งชาติมีมติเลือกเจ้าชายเลโอโปลด์แห่งราชวงศ์ Saxe Cobourg (ราชวงศ์หนึ่งในประเทศเยอรมัน) ขึ้นเป็นพระราชาธิบดี และมีเจ้าในราชวงศ์นี้สืบสันตติวงศ์ต่อมาจนทุกวันนี้ ส่วนเอกภาพของชาติในเบลเยียมระหว่างคนเชื้อชาติต่าง ๆ นั้นมีวิธีการหลายอย่างที่น่าศึกษา
การรักปิตุภูมิท้องที่มิได้หมดไปง่าย ๆ และยิ่งประกอบด้วยท้องที่นั้นมีศาสนาต่างกันหรือศาสนาเดียวกันแต่นิกายต่างกันกับพลเมืองส่วนข้างมากของชาติที่รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว การรักปิตุภูมิท้องที่ก็ยิ่งลึกซึ้ง
-2-
ขอให้เราพิจารณากลุ่มชนขนาดใหญ่ ซึ่งมีสภาพในองค์การสหประชาชาติ ก็จะพบว่า แต่ละชาติประกอบขึ้นด้วยการรวมชนหลายเชื้อชาติเข้าเป็นชาติเดียวกัน บางเชื้อชาติที่เข้ารวมอยู่เป็นเวลาช้านานหลายสิบหรือหลายร้อยศตวรรษแล้วก็หมดร่องรอยที่แสดงเชื้อชาติเฉพาะของตน บางเชื้อชาติที่เข้ารวมอยู่ไม่นานก็ยังมีร่องรอยแห่งเชื้อชาติของตนอยู่มากบ้างน้อยบ้างตามกาละ เช่น สําเนียงพูดแปร่งจากชนส่วนข้างมาก และยังมีภาษาท้องที่ของตน เช่น ชาวแคว้นเวลส์ในสหราชอาณาจักร และในท้องที่ของประเทศไทย ซึ่งคนสัญชาติไทยในท้องที่นั้น ๆ พูดไทยไม่ได้ หรือบางคนพูดไทยได้แต่แปร่งมากจนคนไทยภาคกลางเข้าใจยาก หรือเรียนหนังสือไทยพูดไทยได้แล้วพูดไทยกับข้าราชการ หรือคนไทยในท้องที่อื่น ส่วนภายในคนท้องที่เดียวกันชอบพูดภาษาท้องที่หรือสําเนียงตามท้องที่ของตน อันแสดงถึงริ้วรอยแห่งความแตกต่างในเชื้อชาติหรือเชื้อท้องที่โดยเฉพาะ
ยิ่งกว่านั้น บางแคว้นบางเขตภายในชาติยังแสดงสัญลักษณ์ว่ามีเจ้าของตนโดยเฉพาะ แม้เป็นเพียงในนาม เช่น เจ้าแห่งแคว้นเวลส์ดังกล่าวแล้ว และแม้คนเวลส์โดยทั่วไปจะพูดภาษาอังกฤษ ส่วนประเทศไทยนั้น เจ้าผู้ครองนครและราชาแห่งรัฐต่าง ๆ ยังมีอยู่ภายหลังอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 เช่น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ถึงแก่พิราลัยประมาณ 6 ปี ภายหลังอภิวัฒน์นั้น เจ้าผู้ครองลําพูนถึงแก่พิราลัยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พระยาพิพิธราชาแห่งยะหริ่ง และพระยาภูผาราชาแห่งระแงะสิ้นชีพราว ๆ ปลายสงครามโลกครั้งที่สองหรือภายหลังนั้นไม่นาน พระเจ้ามหาพรหมสุรธาดา ซึ่งทรงศักดิ์เป็นพระเจ้าน่านนั้นพิราลัยราว ๆ พ.ศ. 2474 ราชาแห่งสายบุรีสิ้นชีพราว ๆ พ.ศ. 2473
ขอให้เราค้นคว้าถึงเหตุที่ชนเชื้อชาติต่าง ๆ และกลุ่มชนที่มีลักษณะเป็นชาติเล็กอยู่ก่อนแล้วเข้ารวมกับชาติที่ใหญ่กว่าเป็นชาติเดียวกันนั้น เพราะเหตุใด แล้วจึงจะพิจารณาปัญหาการรักษาเอกภาพของชาติไว้ให้ได้
ในตอนปลายระบบปฐมสหการนั้นได้เริ่มมีระบบทาส โดยผู้ที่เป็นหัวหน้าของสังคมหนึ่งไปคร่าเอาคนของอีกสังคมหนึ่งมาใช้งานอย่างสัตว์พาหนะ สังคมที่มีชัยมากก็มีทาสมาก เป็นกําลังใช้รบกับสังคมที่อ่อนแอกว่า สังคมนั้นก็ขยายใหญ่โตขึ้นทุกที ครั้นต่อมาเมื่อสังคมทาสได้พัฒนาไปเป็นสังคมศักดินาหรือสังคมส่วย ซึ่งหัวหน้าสังคมได้รับยกย่องเป็นเจ้าใหญ่ มีอิทธิพลมากขึ้นทุกที่นั้น ก็ยิ่งถือว่าที่ดินและสรรพสิ่งทั้งหลายรวมทั้งคนและสัตว์เป็นทรัพย์สินของตน ดังปรากฏในกฎหมาย “ตราสามดวง” ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า “ที่ดินทั้งหลายในแคว้นกรุงศรีอยุธยาเป็นของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยพระบรมเดชานุภาพ” ส่วนทาสนั้นถือว่าเป็นทรัพย์ชนิดหนึ่งในจําพวกทรัพย์ที่เรียกว่า “วิญญาณทรัพย์”
การรวมชาติเล็กเข้ากับชาติที่มีกําลังมากกว่านั้น เป็นไปโดยวิธีที่ชาติที่มีกําลังมากกว่าทําการโจมตีรบพุ่งเอามาเป็นวิธีสําคัญ รองลงไปใช้วิธีคุกคามให้ชาติที่เล็กกว่าเกรงขามยอมมาเป็นเมืองขึ้นส่งส่วยหรือบรรณาการเป็นคราว ๆ ในยุโรปยังมีวิธีการเอาแคว้นที่อยู่ใต้อํานาจของชาติใหญ่กว่านั้นเป็นสินเดิม หรือเป็นของขวัญให้แก่คู่บ่าวสาวที่สมรสกัน วิธีรวมชาติต่าง ๆ เข้าเป็นชาติหนึ่งชาติเดียวกันเช่นวิธีระบบศักดินานั้น ราษฎรของชาติที่ถูกรวมกับชาติใหญ่ไม่มีเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วย คือ สุดแท้แต่หัวหน้าของตน
ดังนั้น ในความรู้สึกของราษฎรจึงยังมีการรักปิตุภูมิท้องที่อยู่ มากบ้างน้อยบ้างตามความช้านานแห่งการรวมเป็นเอกภาพเดียวกันกับชาติที่มีอํานาจเหนือ
-3-
เมื่อกลุ่มต่าง ๆ ภายในชาติหนึ่ง ๆ ยังมีจิตสํานึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชนอยู่ ซึ่งอาจเบาบาง เพราะการล่วงเลยมาหลายสิบหลายร้อยศตวรรษ และอาจเหนียวแน่น ถ้าการรวมกับชาติอื่นเพียงไม่กี่ชั่วคน และเหนียวแน่นยิ่งขึ้นถ้าท้องที่นั้น ๆ มีภาษาพูดของตนโดยเฉพาะต่างกับภาษาของชนชาติส่วนข้างมาก และถ้ามีทั้งภาษาและศาสนาที่แตกต่างกันกับชนส่วนข้างมากของชาติ ก็ยิ่งเหนียวแน่นมาก ซึ่งถ้าเราจะติดตามข่าวการต่อสู้ภายในชาติหนึ่ง ๆ ในโลกนี้ ก็จะพบว่ามีหลายชาติที่ประสบปัญหาการรักษาความเป็นเอกภาพของชาติ
ในประเทศไทยเรานั้น ข่าวสารทางราชการที่เปิดเผยแล้ว ซึ่งหนังสือพิมพ์บางฉบับได้นําลงเกี่ยวกับการต่อสู้ทางอาวุธในประเทศไทยนั้น ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่ไม่ปรากฏว่าต้องการแยกดินแดนไทย และมีฝ่ายที่ต้องการแยกดินแดนไทยออกเป็นเส้นเมื่อประมาณไม่กี่เดือนมานี้ [ใน พ.ศ. 2514 … บ.ก.] ทางราชการแถลงแจ้งความว่ามีคนไทยเชื้อชาติมลายูเป็นลูกชายของตวนกู โมหะ ยิดดิน ที่สืบเชื้อสายจากราชาปัตตานีได้เป็นหัวหน้าทำการต่อสู้เพื่อแยกดินแดนส่วนหนึ่งทางปักษ์ใต้ตั้งขึ้นเป็นรัฐอิสระ หรือรวมเป็นสหพันธรัฐกับรัฐต่าง ๆ แห่งมลายูตะวันออก
ถ้าเราถอยหลังไปพิจารณาข่าวภายหลังรัฐประหารประเทศไทยปี ค.ศ. 1947 (8 พ.ย. 2490) ก็เคยมีคดีที่รัฐบาลสมัยนั้นได้จับกุมอดีตผู้แทนราษฎรชาวอิสานหลายคนมาฟ้องศาลฐานกบฏแยกดินแดน ศาลพิจารณาแล้วไม่มีมูลความจริงจึงตัดสินยกฟ้อง แต่ถ้าถอยหลังไปอ่านประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นเวลา 150 ปีมานี้ ก็จะทราบว่า เจ้าอนุแห่งเวียงจันทน์ซึ่งสืบสายจากพระราชาธิบดีแห่งกรุงศรีสตนาคณหุตได้ทำการยึดดินแดนอิสาน เพื่อเอาไปรวมกับดินแดนลาว ฟื้นอาณาจักรศรีสตนาคณหุต ขึ้นมาอีก
ในรัชกาลที่ 5 ก็มีกรณี “ผีบุญผีบ้า” ในภาคอิสาน กรณีเงี้ยวในภาคพายัพ กรณีราชาแห่งปัตตานีชื่ออับดุลกาเด ซึ่งถูกย้ายไปกักตัวอยู่พิษณุโลก แต่เมื่อได้โปรดเกล้าให้กลับไปปัตตานี แล้วก็คิดแยกดินแดนอีกในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงส่งทหารรักษาวังจากนครศรีธรรมราชไปปราบ แต่อับดุลกาเดหนีไปลี้ภัยในกลันตัน แล้วต่อมาได้ตาย ณ ที่นั้น ส่วนทายาทนั้น ตวนกู โมหะ ยิดดินนั้น ภายหลังอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 ได้เข้ามากรุงเทพฯ แสดงความจํานงขออยู่ร่วมในสยามต่อไป เพราะเห็นว่า สยามมีระบบรัฐธรรมนูญเป็นที่พอใจแล้ว แต่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองได้เล็ดลอดเดินทางไปถึงอินเดียของอังกฤษ
เสรีไทยคนหนึ่งได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ที่กรุงเดลฮีมีชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่ง เลี้ยงเป็นเกียรติแก่ตวนกูผู้นี้และดื่มให้พรว่า “Long Live King of Pattani” ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสยามได้กลับมามีประชาธิปไตยสมบูรณ์อีก ตวนกูผู้นี้ก็แสดงภักดีต่อสยาม แต่ภายหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เกิดกรณีที่ครูศาสนาอิสลามปัตตานีบางคนถูกตํารวจจับแล้วหายตัวไป โดยมีผู้รู้เห็นว่าถูกเอาตัวไปถ่วงทะเลตาย ตวนกูผู้นี้เลยไม่ยอมกลับมาเมืองไทย โดยตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ในกลันตัน
แม้ว่ารัฐบาลของตวนกูอับดุลราห์มันและอับดุลราซักแห่งมาเลเซีย จะได้แถลงว่าไม่ต้องการเอาดินแดนไทย มีชนเชื้อชาติมลายูเป็นส่วนมาก ไปรวมกับมาเลเซียซึ่งข้าพเจ้าก็เชื่อว่า ท่านทั้งสองมีเจตนาบริสุทธิ์เช่นนั้น แต่มีข้อที่น่าสังเกตสําหรับทายาทแห่งอดีตราชาบางคนได้ไปอาศัยอยู่ในรัฐตะวันออกแห่งมาเลเซีย บางคนอยู่อย่างสงบแต่บางคนเคลื่อนไหว โดยมีผู้ให้ความเห็นว่าสุลต่านหรือราชาแห่งรัฐต่าง ๆ ที่เคยรวมอยู่กับไทยในอดีต เช่น เคดาห์ (ไทรบุรี) ปลิส กลันตัน ตรังกานู นั้นได้รับเลือกเป็นพระราชาธิบดีองค์ละ 5 ปีมาแล้ว ตามระบอบปกครองของสหพันธรัฐมาเลเซีย
สมัยที่วิทยุกรมประชาสัมพันธ์ไทยโต้ตอบกับวิทยุพนมเปญอย่างรุนแรงเรื่องเขตแดนนั้น วิทยุพนมเปญเคยอ้างว่า เขมรปัจจุบันก็เป็นทายาทของขอมที่เขาเรียกตัวเองว่า “ขะแมร์” และอ้างว่ามีคนเขมรอยู่ในไทยบริเวณติดต่อกับกัมพูชาที่พูดได้แต่ภาษาเขมรหรือพูดภาษาเขมรและไทย ประมาณ 2 ล้าน 5 แสนคน เขาได้เรียกร้องให้คนเชื้อชาติเขมรนับถือกษัตริย์เขมร
เรื่องต่าง ๆ ข้างบนนี้เราต้องสังเกตไว้เพื่อหาทางที่ถูกต้องป้องกันมิให้เรื่องขยายตัวไปเพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของชาติไว้
-4-
ขอให้เราศึกษาวิธีการต่าง ๆ ที่ประเทศต่าง ๆ รักษาเอกภาพไว้คือ
4.1 วิธีอังกฤษ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ดังที่ได้ยกเป็นอุทาหรณ์ในข้อ 1 นั้น ก็จะเห็นได้ว่ามิใช่ความผิดของพระราชาธิบดีที่รักษาความเป็นเอกภาพของชาติไว้ไม่ได้ แต่เป็นเพราะความรักปิตุภูมิท้องที่อย่างแรงกล้าของกลุ่มชนในท้องที่นั้นเอง และที่สําคัญ คือ รัฐบาลของชนส่วนข้างมากในชาตินั้น ๆ ไม่คํานึงให้เพียงพอถึงความรู้สึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชนว่ามีมากมายเหนียวแน่นขนาดไหน ผลจึงบังเกิดขึ้นตามธรรมชาติแห่งการรักปิตุภูมิท้องที่
4.2 วิธีเผด็จการแบบนาซีหรือฟาสซีสต์หรือมิลิแทริสต์ ซึ่งเป็นไปได้ชั่วคราว เช่น ฮิตเล่อร์ใช้กําลังรวมคนออสเตรีย ที่เป็นเชื้อชาติเยอรมันเข้ากับอาณาจักรเยอรมันครั้งที่ 3 ก็ไม่ทําให้ชาวออสเตรียหมดความรักปิตุภูมิท้องที่ของตนไปได้ จึงได้ดิ้นรนตลอดมาเพื่อตั้งเป็นชาติเอกเทศจากเยอรมัน
มุสโสลินีใช้วิธีบังคับให้ชนในดินแดนที่โอนมาเป็นของตน ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อาทิ ส่วนหนึ่งของแคว้นตีโรล ซึ่งพลเมืองเป็นเชื้อชาติเยอรมันนั้น ต้องเรียนหนังสือ อิตาเลียนและพูดภาษาอิตาเลียน
ชาวตีโรลคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเพื่อนข้าพเจ้าในมหาวิทยาลัยปารีส เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เวลากลางวันชาวตีโรลต้องพูดภาษาอิตาเลียน แต่ตอนกลางคืนปิดประตูบ้านแล้ว พูดภาษาเยอรมันภายในครอบครัว ซึ่งทําให้เขาเบิกบานสําราญใจยิ่งนัก
พวกลัทธิทหารญี่ปุ่น เมื่อเอาดินแดนอิสานของจีน (แมนจูเรีย) ตั้งเป็นรัฐแมนจูกั้วะขึ้น โดยรวมหลายเชื้อชาติในเขตนั้น เช่น แมนจูและบางส่วนของมองโกล เกาหลี ฮั่น (จีน) ฯลฯ แล้วเอาอดีตจักรพรรดิจีน “ปูยี” เป็นจักรพรรดิแห่งรัฐใหม่เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่ง เอกภาพ แต่ก็ไม่สามารถทําลายจิตใจรักปิตุภูมิท้องที่ของชนชาติต่างๆ ในเขตนั้นได้ แม้แต่ชนชาติแมนจูเองก็ต่อต้านจักรพรรดิปูยี ดังปรากฏในคําวิจารณ์ตนเองของคนผู้นี้แล้ว
4.3 วิธีสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพลเมืองประกอบด้วยชนชาติพูดภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน โดยแยกออกเป็นแขวง ๆ (Canton) ซึ่งแต่ละแขวงมีสิทธิการปกครอง ตนเอง ใช้ภาษาของตนเองแล้วรวมกันเป็นสมาพันธรัฐ มีรัฐบาลกลางเดียวกันก็ไม่ปรากฏว่ามีชนชาติใดในสวิตเซอร์แลนด์ดิ้นรนปลีกตนออกมาตั้งเป็นชาติเอกเทศต่างหาก
4.4 วิธีประชาธิปไตยตามหลักที่ประธานาธิบดีลินคอล์นให้ไว้ คือ การปกครองโดย “รัฐบาลของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร” ถ้าทําตามนี้ได้จริงเอกภาพของชาติก็เป็น “เอกภาพของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร” เป็นความเต็มใจของราษฎรเองที่รักษาเอกภาพของชาติ จึงเป็นการรักษาเอกภาพของชาติให้มั่นคงได้ วิธีประชาธิปไตยดังกล่าวนี้เป็นการนําไปสู่รากฐานแห่งจิตสํานึกของมนุษย์ ที่จะให้มีความรู้สึกในการต้องการเอกภาพของชาติ แม้จะตั้งต้นจากโครงร่างเบื้องบนของสังคมก่อน คือ มีระบอบการเมืองดังกล่าวนั้นแล้ว รัฐบาลแห่งระบอบนั้นก็ดําเนินการแก้ไขสมุฏฐานของสังคม คือ สภาพเศรษฐกิจ ให้ราษฎรทั่วหน้ามีความกินดีอยู่ดีทั่วกัน ราษฎรก็ย่อมเห็นคุณประโยชน์ที่ตนได้รับในการรักษาเอกภาพกับชนชาติต่าง ๆ ที่รวมกันเข้าเป็นชาติอันหนึ่งอันเดียวกัน
การรักษาเอกภาพของชาติโดยอาศัยทางจิตที่ปราศจากรากฐานเศรษฐกิจและการเมืองประชาธิปไตยของราษฎร ก็เท่ากับลอยไปลอยมาในอากาศ ซึ่งอาจหล่นลงหรือไปสู่อวกาศนอกพิภพ มนุษย์อยู่ได้ด้วยการมีปัจจัยดำรงชีพและมีระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่ให้สิทธิมนุษยชน ผู้ที่อาศัยสภาพทางจิต โดยไม่กังวลถึงสภาพทางเศรษฐกิจ ก็เพราะเขาเองมีความสมบูรณ์หรือมีพอกินพอใช้ในทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว
แต่คนส่วนมากที่ยังขาดปัจจัยในทางที่ชอบ พร้อมด้วยสิทธิมนุษยชน พวกเขาอาจถือสภาพทางจิตอย่างเดียวตามการโฆษณาไปได้เพียงชั่วคราว แต่เมื่อรอคอยผลแห่งวิธีนั้นชั่วกาละหนึ่งแล้ว ไม่เห็นผลว่าได้ช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนของเขาแล้ว เขาก็อาจไปถือสภาพทางจิตชนิดอื่นที่เขาเห็นว่า อาจช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนของเขาที่ดีกว่าก็เป็นได้ นักปราชญ์ผู้หนึ่งกล่าวว่า ความคิดของคนเจ้าคฤหาสน์ต่างกับคนที่อยู่กระท่อม
เอกสารอ้างอิง :
- ปรีดี พนมยงค์, “ข้อสังเกตเกี่ยวกับ “เอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย”,” ใน ปรีดีสาร ทัศนะของรัฐบุรุษอาวุโสต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2548), น. 5-20.