ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

“ลำปางยังหวานอยู่” โรงงานน้ำตาลเกาะคา ดาราภาพยนตร์ และชีวิตคนในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

6
พฤศจิกายน
2567

Focus

  • บทความนี้มุ่งเน้นการนำเสนอ “เรื่องเล่าประวัติศาสตร์และปฏิบัติการเสรีไทยในลําปาง” บทความจะสอดรับกับกิจกรรม PRIDI Sanjorn โดยมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และสถาบันปรีดี พนมยงค์ในช่วงเช้าถึงเที่ยงของวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน ณ ห้อง 1208 อาคารสิรินธรารัตน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลําปาง ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, คุณวีระ สตาร์, คุณวันใหม่ นิยม และ คุณอาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ 
  • ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของ จ. ลำปาง ในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่สะท้อนให้เห็นชีวิตของผู้คนธรรมดา และปฎิบัติการเสรีไทยใน จ. ลำปาง ที่ใช้สถานที่ของโรงงานน้ำตาลเป็นฐานที่มั่น โดยภารกิจลับของขบวนการเสรีไทยในเขตจังหวัดลำปางนั้นเป็นการประสานงานช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร โดยยึดเอาโรงงานน้ำตาลที่เกาะคาเป็นศูนย์กลางการประสานงาน หัวหน้าขบวนการเสรีไทยในเขตลำปางคือ ทศ พันธุมเสน บทบาทที่โดดเด่นของขบวนการเสรีไทยในลำปางคือ การสืบข่าวความเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่นในพื้นที่ลำปาง และกำหนดจุดยุทธศาสตร์เพื่อแจ้งให้เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีได้แม่นยำ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้โรงงานน้ำตาลที่เกาะคารอดพ้นจากการทิ้งระเบิดมาได้ด้วย นอกจากนี้ ก็ยังมีบุคคลอย่าง ถนอม ใยบัวเทศ ซึ่งแม้จะเป็นชาวปากเกร็ด นนทบุรี แต่ก็ทำงานประจำโรงงานน้ำตาล จึงตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยด้วย
  • โรงงานน้ำตาลที่อำเภอเกาะคา ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ซึ่งผลิตความหวานอันนำมาสู่เศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นของทั้งประเทศไทยและจังหวัดลำปาง แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์แห่งวันวานและผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของหญิงสาวชาวลำปางผู้อ่อนหวานที่ได้รับการส่งเสริมจากโรงงานน้ำตาลจนกลายเป็นนางงามและดาราภาพยนตร์ มิเว้นกระทั่งบทบาทของสถานที่ผลิตความหวานซึ่งกลายเป็นสถานที่ปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทยท่ามกลางสถานการณ์คับขันของสงครามอันน่าขื่นขม ดังนั้น ลำปางจึงยังคงเป็นดินแดนที่มีความหวานอยู่ในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทย และรอคอยให้ผู้ที่สนใจไปลองลิ้มรส! โรงงานน้ำตาลไทยลำปางหาได้แสดงออกถึงบทบาทเพียงแค่ด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมด้านอื่นๆด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศิลปวัฒนธรรม ดังในปี พ.ศ. 2483 ทางโรงงานน้ำตาลจัดประกวด “นางงามโรงงานน้ำตาลไทย” ซึ่งหญิงสาวชาวลำปางผู้ได้รับตำแหน่งคือ นางสาวอารีย์ ปิ่นแสง

 

 

นับเป็นความน่ายินดีปรีดาและชวนให้นึกตื่นเต้นมิใช่น้อย เมื่อผมรับทราบว่าตนเองจะสบโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานน้ำตาล ที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง สืบเนื่องจากในวาระที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ได้จัดกิจกรรมโครงการสนับสนุนการศึกษาและเสวนาสัญจรขึ้นช่วงระหว่างวันที่ 7-10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เสรีไทยในท้องถิ่น ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาด้วยการมอบทุนการศึกษาและสื่อการเรียนการสอนให้แก่โรงเรียนและนักเรียน รวมถึงจัดสัมมนานอกสถานที่เพื่อส่งเสริมความรู้และประสบการณ์ของพนักงานของทางสถาบันอีกด้วย

สำหรับเนื้อหาหลักของเสวนาสัญจรในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปยังการสืบสาว “เรื่องเล่าประวัติศาสตร์และปฏิบัติการเสรีไทยในลําปาง” ซึ่งจะมีกิจกรรมในช่วงเช้าถึงเที่ยงของวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน ณ ห้อง 1208 อาคารสิรินธรารัตน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลําปาง ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, คุณวีระ สตาร์, คุณวันใหม่ นิยม มิเว้นกระทั่งตัวผมเอง

แน่นอนว่า ผมคงมิยอมพลาดการเดินทางไปดูโรงงานน้ำตาลให้เห็นชัดเต็มสองตา ซึ่งเดิมทีเคยถูกเรียกขานกันว่า “โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง” หรือ “โรงงานน้ำตาลเกาะคา” ถือเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในห้วงเวลาภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และยุคสมัยที่รัฐบาลคณะราษฎรครองบทบาทในการบริหารประเทศ

 


โรงงานน้ำตาล อ. เกาะคา จ. ลำปาง

 

ความคิดที่จะสร้างโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลแบบสมัยใหม่นั้นได้เริ่มริมาตั้งแต่หลังการอภิวัฒน์สยามเพียงไม่กี่เดือน โดยปรากฏทั้งเจ้านาย ขุนนาง และพ่อค้าที่ทำหนังสือเสนอมายังรัฐบาลคณะราษฎรเพื่อขอให้สนับสนุนโครงการสร้างโรงงานน้ำตาลของพวกตน พร้อมกล่าวอ้างว่าจะช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจของไทยให้สามารถแข่งขันกับนายทุนชาวต่างชาติได้

ดังช่วงปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2475 พ่อค้าอย่าง นายมังกร สามเสน ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ขอให้รัฐบาลสนับสนุนการก่อตั้งบริษัททำไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดชลบุรี โดยไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นใดตั้งโรงงานน้ำตาลขึ้นมาแข่งขันอีก แต่รัฐบาลที่มี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ปฏิเสธโครงการนี้ เพราะรัฐบาลยังไม่พร้อมจะดำเนินโครงการขนาดใหญ่

 


อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนาแบบเต็มตัว ณ โรงงานน้ำตาลลำปางในปัจจุบัน

 

ล่วงมาถึงสมัยที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี  หม่อมหลวงยวง อิศรเสนา ได้เสนอโครงการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลทรายขาวที่จังหวัดชลบุรีเช่นกัน พระยาพหลฯ มอบหมายให้กระทรวงการคลังและสภาเศรษฐกิจพิจารณาโครงการของหม่อมหลวงยวง แต่ยังพบข้อจำกัดหลายประการ รัฐบาลจึงปฏิเสธข้อเสนอ

อย่างไรก็ดี รัฐบาลพระยาพหลฯ มีความสนใจต่อโครงการบริษัทน้ำตาลศรีราชาที่เสนอโดย พระยามไหสวรรย์ (กอ สมบัติศิริ) มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ซึ่งจะให้ทั้งรัฐบาลและเอกชนลงทุนร่วมกันในการจัดตั้งโรงงานน้ำตาล พระยาพหลฯ จึงพยายามจะยกข้อเสนอนี้มาพิจารณาอีกหนในสมัยรัฐบาลของตน แต่ท้ายที่สุด เกิดความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างกระทรวงการคลังกับกระทรวงเศรษฐการว่าด้วยการร่วมเข้าหุ้นและการลงทุนของรัฐ นำไปสู่การที่รัฐบาลตัดสินใจล้มเลิกโครงการนี้ในเวลาต่อมา

โครงการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลประสบผลสำเร็จเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2478 กล่าวคือ เมื่อ พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ (เภา เพียรเลิศ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการได้เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งโรงงานน้ำตาลทรายขาวขึ้นเสียเอง ในฐานะนายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯ เห็นด้วยอย่างยิ่ง รัฐบาลจึงลงมติอนุมัติให้สร้างโรงงานน้ำตาลขึ้นในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน  โดย พระยาพหลฯ ยังเป็นผู้กำหนดเองว่าให้จัดสร้างโรงงานน้ำตาลขึ้นที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เนื่องจากเล็งเห็นว่ามีชาวไทยทำไร่อ้อยเป็นจำนวนมาก ขณะที่ในพื้นที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดชลบุรีหรือจังหวัดนครปฐม ผู้ประกอบอาชีพทำไร่อ้อยส่วนใหญ่มักจะเป็นชาวจีน การสร้างโรงงานน้ำตาลขึ้นที่อำเภอเกาะคา จึงจะช่วยสนับสนุนคุณภาพชีวิตและสภาพเศรษฐกิจของคนไทยด้วยกัน

ต่อมาทางรัฐบาลไทยได้เปิดประมูลการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลที่ลำปาง ซึ่งปรากฏว่าบริษัทสโกคาเวอร์ค จำกัดของประเทศเชโกสโลวาเกียเป็นผู้ชนะการประมูล จึงได้ดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรโรงงานแห่งนี้  โดยมีการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ในการก่อสร้างเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2480 ผู้ที่เป็นประธานในพิธีคือ หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันทน์) อีกทั้งกระทรวงเศรษฐการยังได้มอบหมายให้ นายสาย นิธินันทน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโรงงาน รับหน้าที่ควบคุมดูแลและกำกับการก่อสร้าง

 

 


โรงงานน้ำตาล อ. เกาะคา จ. ลำปาง

 

การก่อสร้างโรงงานน้ำตาลที่เกาะคาเสร็จสิ้นลง และมีพิธีเปิดโรงงานขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2480 ทางรัฐบาลกำหนดให้ตั้งชื่อโรงงานว่า “โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง”  โดย นายสาย นิธินันทน์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงงานน้ำตาลไทยลำปางคนแรกสุด

ด้านการดำเนินงานของโรงงานน้ำตาลที่เกาะคานั้น ทางผู้จัดการได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากการดำเนินงานของโรงงานน้ำตาลที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งส่งผลทำให้สามารถผลิตน้ำตาลอย่างมีประสิทธิภาพ ในโรงงานยังมีนายช่างชาวฟิลิปปินส์เข้ามาปฏิบัติงานด้วย อีกทั้งยังปรากฏชาวฟิลิปปินส์รายอื่นๆเดินทางมาพำนักในพื้นที่จังหวัดลำปางเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

โรงงานน้ำตาลไทยลำปางประสบผลสำเร็จในการสร้างความเจริญทั้งทางด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยและจังหวัดลำปางยิ่งนัก  จนกลายเป็นต้นแบบให้รัฐบาลคณะราษฎรอนุมัติการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลไทยขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่ตำบลวังกะพี้ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์เมื่อปี พ.ศ. 2484

ผมเองเคยอ่านพบข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานน้ำตาลไทยที่อุตรดิตถ์อีกว่า สืบเนื่องจากโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งในประเทศฟิลิปปินส์ต้องหยุดกิจการ จึงมีคณะคนไทยเดินทางไปซื้อกิจการ ตอนแรกผมเข้าใจว่าเมื่อซื้อทั้งโรงงานแล้วคงดำเนินกิจการต่ออยู่ที่นั่น ทว่าจริงๆคือพอซื้อแล้ว ก็รื้อทั้งสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรของโรงงานเพื่อขนย้ายข้ามประเทศนำมาสร้างเป็นโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่วังกะพี้ บุคคลหนึ่งในคณะคนไทยที่เดินทางไปซื้อโรงงานในครั้งนั้นมีนามว่า นายชื้น อยู่ถาวร

ปัจจุบัน เราคงจะประจักษ์ต่อข้อเขียนมากชิ้นที่นำเสนอเกี่ยวกับโรงงานน้ำตาลแห่งแรกสุดของเมืองไทยอันตั้งอยู่ที่จังหวัดลำปาง โดยเฉพาะความเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จแห่งยุครัฐบาลคณะราษฎร แต่ผมก็ใคร่เชิญชวนคุณผู้อ่านให้มองเห็นอีกภาพลักษณ์และบทบาทของโรงงานแห่งนี้

 

 


นางสาวอารีย์ ปิ่นแสง

โรงงานน้ำตาลไทยลำปางหาได้แสดงออกถึงบทบาทเพียงแค่ด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมด้านอื่นๆด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศิลปวัฒนธรรม ดังในปี พ.ศ. 2483 ทางโรงงานน้ำตาลจัดประกวด “นางงามโรงงานน้ำตาลไทย” ซึ่งหญิงสาวชาวลำปางผู้ได้รับตำแหน่งคือ นางสาวอารีย์ ปิ่นแสง

ทางโรงงานน้ำตาลไทยลำปางยังได้ส่ง นางสาวอารีย์ เข้าประกวดนางสาวไทยในช่วงงานฉลองรัฐธรรมนูญของเดือนธันวาคม พ.ศ. 2483  ผลปรากฏว่า นางสาวอารีย์ ได้รับตำแหน่งรองนางสาวไทยร่วมกับสาวงามอีก 3  คน ได้แก่ นางสาวสมจิตต์ ลิ้มไพบูลย์, นางสาวฉลาด ลิ่มสวัสดิ์ และ นางสาวประชัญ ศิวเสน

ส่วนนางสาวไทยประจำปีนั้น คือ นางสาวสว่างจิตต์ คฤหานนท์

 


ภาพยนตร์เรื่องบ้านไร่นาเรา ปี 2485

 

ด้วยความงามที่โดดเด่นแบบสาวเหนือชาวลำปาง นางสาวอารีย์ ยังได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง “บ้านไร่นาเรา” ซึ่งสร้างมาจากบทประพันธ์ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดสร้างโดยกองภาพยนตร์ทหารอากาศ ออกฉายที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2485 โดยเธอสวมบทบาทเป็น ขำคม บำรุงชาติ นางเอกของเรื่อง เคียงคู่กับผู้สวมบทบาทเป็น ชาญ บำเพ็ญดี พระเอกของเรื่องอย่าง เรืออากาศเอกทวี จุลละทรัพย์

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาปลุกใจให้รักชาติ เพราะ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องการให้มีการจัดสร้างภาพยนตร์ปลูกฝังความรักชาติและส่งเสริมรัฐนิยม ถือเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จอย่างมาก

ต่อมาทั้ง ทวี  และ อารีย์ พระเอกและนางเอกในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้พบรักและแต่งงานกันในชีวิตจริง

จึงกล่าวได้ว่า โรงงานน้ำตาลไทยลำปางนั้น นับเป็นจุดกำเนิดของเส้นทางไปสู่การเป็นดาราภาพยนตร์ของหญิงสาวชาวลำปางนามว่า อารีย์ ปิ่นแสง

 


ภาพประวัติศาสตร์ จ.ลำปาง

ควรกล่าวอีกว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานน้ำตาลไทยลำปางยังเป็นพื้นที่สำคัญของการปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทย โดยภารกิจลับของขบวนการเสรีไทยในเขตจังหวัดลำปางนั้นเป็นการประสานงานช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร โดยยึดเอาโรงงานน้ำตาลที่เกาะคาเป็นศูนย์กลางการประสานงาน หัวหน้าขบวนการเสรีไทยในเขตลำปางคือ ทศ พันธุมเสน

บทบาทที่โดดเด่นของขบวนการเสรีไทยในลำปางคือ การสืบข่าวความเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่นในพื้นที่ลำปาง และกำหนดจุดยุทธศาสตร์เพื่อแจ้งให้เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีได้แม่นยำ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้โรงงานน้ำตาลที่เกาะคารอดพ้นจากการทิ้งระเบิดมาได้ด้วย

อีกบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในขบวนการเสรีไทยในขตลำปางคือ พันโทสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยรับหน้าที่คอยช่วยเหลือชาวอเมริกันที่กระโดดร่มลงมา แล้วนำตัวไปส่งยังโรงงานน้ำตาลที่เกาะคา

นอกจากนี้ ก็ยังมีบุคคลอย่าง ถนอม ใยบัวเทศ ซึ่งแม้จะเป็นชาวปากเกร็ด นนทบุรี แต่ก็ทำงานประจำโรงงานน้ำตาล จึงตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยด้วย

จะเห็นได้ว่า โรงงานน้ำตาลที่อำเภอเกาะคา ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ซึ่งผลิตความหวานอันนำมาสู่เศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นของทั้งประเทศไทยและจังหวัดลำปาง แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์แห่งวันวานที่ยังหอมหวานน่าลิ้มรสชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของหญิงสาวชาวลำปางผู้อ่อนหวานที่ได้รับการส่งเสริมจากโรงงานน้ำตาลจนกลายเป็นนางงามและดาราภาพยนตร์ มิเว้นกระทั่งบทบาทของสถานที่ผลิตความหวานซึ่งกลายเป็นสถานที่ปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทยท่ามกลางสถานการณ์คับขันของสงครามอันน่าขื่นขม

ดังนั้น ลำปางจึงยังคงเป็นดินแดนที่มีความหวานอยู่ในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทย และรอคอยให้ผู้ที่สนใจไปลองลิ้มรส!

 

 

ภาคผนวก 

โครงการสนับสนุนการศึกษาและเสวนาสัญจรที่จังหวัดลําปาง

PRIDI Sanjorn

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2567 09.00-12.00 น.

ณ ห้อง 1208 อาคารสิรินธรารัตน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลําปาง

 

 

 

หมายเหตุ

  • ภาพประกอบจากเพจ History of Lampang และประชาไท
  • คงลักษณะการอ้างอิงตามต้นฉบับ

 

เอกสารอ้างอิง :

  • หจช. (2) สร 0221.22.2.7/ 5 โครงการอุตสาหกรรมทำน้ำตาล ตอนรัฐบาลจัดทำเองที่จังหวัดลำปาง (16 ต.ค. 2479- 23 มิ.ย. 2482)
  • จรุง ตุลยานนท์. การพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมประเทศให้ก้าวไปสู่กิจการอุตสาหกรรม. พิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเลื่อน บัวสุวรรณ และนายชื้น อยู่ถาวร ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่ 23 พฤษภาคม 2499. พระนคร: โรงพิมพ์ประเสริฐศิริ, 2499
  • ทิพย์วัลย์ ประยูรสุข (บรรณาธิการ). ภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๔๙๙. นครปฐม: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), 2557
  • ศรัญญู เทพสงเคราะห์. “พระยาพหลพลพยุหเสนากับโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง.” สถาบันปรีดี พนมยงค์  PRIDI BANOMYONG INSTITUTE (14 กุมภาพันธ์ 2567)
  • อนุสรณ์ 25 ปี โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง. พระนคร: โรงพิมพ์บริษัทคณะช่าง จำกัด, 2505
  • Nož M, Šitler. J, Todorovová. J, Kučera. K, Pierre. A, Chitrabongs. C, Kroupa. K. J, and Fajfrová. J. Siam Undiscovered, Czech-Thai encounters between the 16th and 21th centuries : rare documents, old photographs, royal visits เรื่องราวที่ยังไม่มีใครค้นพบในสยาม สัมพันธไมตรีระหว่าง ประเทศเชก-ประเทศไทย ช่วงศตวรรษที่ 16-21 เอกสารหายาก ภาพถ่ายอันล้ำค่า และการเสด็จฯเยือนของพระมหากษัตริย์. Bangkok: Amarin Printing and Publishing Public Company Limited, 2004.