ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

พระยาพหลพลพยุหเสนากับโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง

14
กุมภาพันธ์
2567

Focus

  • การรำลึกถึง “พระยาพหลพลพยุหเสนา” หัวหน้าคณะราษฎร ผู้อภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิ.ย. 2475 และอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศสยาม ปรากฏในทางวัตถุ ทั้งในรูปอนุสรณ์สถานและอนุสาวรีย์หลายแห่ง รวมถึง “อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา” ที่โรงงานน้ำตาล อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อันเป็นที่เคารพสักการะของพนักงานโรงงานน้ำตาลและประชาชนทั่วไปกระทั่งทุกวันนี้
  • “โรงงานน้ำตาลลำปาง” (เปิดดำเนินงาน พ.ศ. 2480 – ปัจจุบัน) (เป็นของบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแม่วัง จำกัด) เกิดจากความคิดริเริ่มของพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลสมัยนั้น และเป็นตัวอย่างหนึ่งขององค์กรวิสาหกิจของรัฐ สังกัดกระทรวงเศรษฐการ ตามแนวเศรษฐกิจชาตินิยมของคณะราษฎร อันสืบเนื่องมาจากการผลิตน้ำตาลที่ซบเซามาตั้งแต่สมัยรัฐบาลในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
  • การที่รัฐบาลหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ปฏิเสธโครงการโรงงานน้ำตาลของเอกชนหลายโครงการ หรือการที่รัฐบาลสนับสนุนหรือร่วมลงทุนกับเอกชนด้วยแล้ว แต่เอกชนดำเนินการต่อไปไม่ได้ (เช่น ผลดำเนินการไม่ดี ขายหุ้นไม่ได้ตามเป้าหมาย) นำไปสู่การตัดสินใจของรัฐบาลที่จะดำเนินการผลิตน้ำตาลเอง และให้โรงงานน้ำตาลตกอยู่กับคนไทย โดยจัดตั้งโรงงานในบริเวณที่คนไทยจำนวนมากปลูกอ้อย คือ บริเวณอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง

 

เมื่อกล่าวถึงอนุสรณ์สถานที่เกี่ยวข้องกับ “พระยาพหลพลพยุหเสนา” หัวหน้าคณะราษฎร ผู้อภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศสยาม คนทั่วไปมักจะนึกถึง “ถนนพหลโยธิน” ซึ่งเป็นชื่อทางหลวงแผ่นดินตามนามสกุลของพระยาพหลฯ โดยทางหลวงสายนี้มีจุดเริ่มต้นจากจังหวัดกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่จังหวัดเชียงราย ระยะทางรวมประมาณ 1,005 กิโลเมตร หรืออาจจะเป็น “อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา” ที่ปรากฏหลายแห่งในประเทศไทย อาทิ อนุสาวรีย์บริเวณหน้าโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งสร้างขึ้นพร้อมกับโรงพยาบาลจากงบประมาณของรัฐ พร้อมด้วยเงินบริจาคของประชาชนทั่วประเทศ และประกอบพิธีเปิดในปี พ.ศ. 2496 หรืออนุสาวรีย์ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายภูมิพล (เดิมชื่อ ค่ายพหลโยธิน) จังหวัดลพบุรี ซึ่งประกอบพิธีเปิดในปี พ.ศ. 2503 และปัจจุบันได้ถูกเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ทหารปืนใหญ่ลพบุรี[1]

 


ไร่อ้อยที่จังหวัดลำปางในปี พ.ศ. 2480
ที่มา : Robert L. Pendleton Collection

 

อย่างไรก็ตาม อนุสรณ์เกี่ยวกับพระยาพหลฯ ที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงมากนักคือ “อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา” ที่โรงงานน้ำตาล อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง โดยอนุสาวรีย์แห่งนี้มีทั้งอนุสาวรีย์แบบครึ่งตัว ซึ่งประกอบพิธีเปิดในปี พ.ศ. 2505 กับอนุสาวรีย์แบบเต็มตัว ซึ่งประกอบพิธีเปิดในปี พ.ศ. 2535 และปัจจุบันอนุสาวรีย์ทั้งสองยังคงอยู่ที่โรงงานน้ำตาลลำปางและเป็นที่เคารพสักการะของพนักงานโรงงานและประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้ “โรงงานน้ำตาลลำปาง” ถือเป็นโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลสมัยใหม่แห่งแรกของประเทศสยาม ที่เกิดจากความริเริ่มของรัฐบาลพระยาพหลฯ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2478 โดยพระยาพหลฯ เป็นผู้กำหนดสถานที่สร้างโรงงานแห่งนี้ด้วยตัวเอง เนื่องจากเห็นว่าอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง มีคนไทยปลูกอ้อยจำนวนมากแตกต่างจากพื้นที่อื่นที่ส่วนใหญ่เป็นคนจีน ดังนั้นการสร้างโรงงานน้ำตาลที่ลำปางย่อมเป็นการส่งเสริมความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมไทยพร้อมกับสนับสนุนให้คนไทยมีงานทำมากขึ้น[2]

การตั้งโรงงานน้ำตาลไทยลำปางนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินงานทางเศรษฐกิจของรัฐบาลคณะราษฎรภายใต้แนวคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยรัฐบาลได้จัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภทที่รับผิดชอบโดยหน่วยงานราชการหรือการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ตัวอย่างเช่น โรงงานกลั่นน้ำมันของกระทรวงกลาโหม โรงงานกระดาษของกระทรวงกลาโหม โรงงานสุราและโรงงานยาสูบของกระทรวงการคลัง เป็นต้น[3]

บทความชิ้นนี้ต้องการนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนากับอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศสยาม ในช่วงหลังการปฏิวัติ 2475  โดยเริ่มต้นจากการกล่าวถึงกิจการน้ำตาลของสยามก่อนการปฏิวัติ 2475 โครงการโรงงานน้ำตาลของเอกชนและความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนในอุตสาหกรรมน้ำตาลหลังการปฏิวัติ 2475 การจัดตั้งและการดำเนินกิจการโรงงานน้ำตาลสมัยใหม่ของรัฐบาลพระยาพหลฯ ที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง และอนุสรณ์เกี่ยวกับพระยาพหลฯ ในโรงงานน้ำตาลลำปาง

 

กิจการน้ำตาลของสยามก่อนการปฏิวัติ 2475

กิจการโรงงานน้ำตาลของสยามเริ่มปรากฏหลักฐานนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาผ่านเอกสารต่างชาติที่กล่าวถึงการส่งออกน้ำตาลให้แก่บรรดาพ่อค้าต่างชาติ น้ำตาลได้ทวีความสำคัญมากขึ้นจนกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของสยามนับตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อันสัมพันธ์กับความต้องการน้ำตาลของตลาดโลก โดยชาวจีนได้นำพันธุ์อ้อยมาปลูกและดำเนินการผลิตน้ำตาลอย่างเป็นล่ำเป็นสันนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 และการส่งออกน้ำตาลของสยามได้เฟื่องฟูที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 3 ผ่านระบบการค้าผูกขาดและระบบเจ้าภาษีนายอากรของรัฐ โดยมีตลาดรับซื้อที่สำคัญคือ อเมริกาและอังกฤษ[4]

แม้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 4 การส่งออกน้ำตาลจะขยายตัวอย่างมากและเกิดการสร้างโรงงานน้ำตาลที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำริมแม่น้ำนครชัยศรีหลายแห่ง แต่จากปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อนทั้งภาษีเตาตาล ภาษีน้ำตาลหม้อ ภาษีน้ำตาลอ้อย และภาษีน้ำตาลทราย ส่งผลให้กิจการโรงงานน้ำตาลแบกรับภาษีอากรไม่ไหว ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศผู้สั่งซื้อน้ำตาลในยุโรปได้พัฒนากรรมวิธีการผลิตน้ำตาลจากหัวบีท หรือ หัวชูการ์บีท ทดแทนน้ำตาลจากอ้อย ดังนั้นราคาน้ำตาลในตลาดโลกจึงลดต่ำลง อุตสาหกรรมน้ำตาลของสยามจึงซบเซาลงนับตั้งแต่ทศวรรษ 2440 จนถึงขนาดต้องนำเข้าน้ำตาลทรายจำนวนมากจากฟิลิปปินส์และชวามาบริโภคภายในประเทศสยามนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6[5]

ทั้งนี้ในช่วงทศวรรษ 2470 ชนชั้นนำสยามได้พยายามเข้ามาลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ซึ่งดำเนินกิจการบริษัทป่าไม้ศรีราชาที่จังหวัดชลบุรี เห็นว่าที่ดินสัมปทานป่าไม้สามารถนำมาปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลทรายได้ ดังนั้นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงนำเสนอโครงการโรงงานน้ำตาลให้รัฐบาลสยามพิจารณา และรัฐบาลได้มอบหมายให้พระยามไหสวรรย์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมบัญชีกลาง ไปศึกษาดูงานกิจการน้ำตาลที่ชวาและไต้หวัน รวมถึงส่งผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติมาสำรวจที่ดินและชลประทานบริเวณพื้นที่ที่จะปลูกอ้อยและสร้างโรงงานน้ำตาล[6]

อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการโรงงานน้ำตาลของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเข้าสู่การพิจารณาของสภาเผยแพร่พาณิชย์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2470 ที่ประชุมเห็นว่าการตั้งบริษัทน้ำตาลด้วยการขอพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษ เพื่อรับสิทธิพิจารณาคำขอใบเหยียบย้ำที่ดินของราษฎรจังหวัดชลบุรีสำหรับบุกเบิกที่ดินในการปลูกอ้อย นั้นเป็นการให้สิทธิพิเศษเหนือบริษัทเอกชนรายอื่น ดังนั้นจึงลงมติไม่อนุมัติโครงการโรงงานน้ำตาลของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี[7]

 

โครงการโรงงานน้ำตาลหลังการปฏิวัติสยาม 2475

หลังการปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีชาวไทยหลายคนทั้งพ่อค้าไทย เจ้านาย และขุนนาง พยายามเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยยื่นเรื่องเข้ามายังรัฐบาลระบอบใหม่ขอให้ช่วยสนับสนุนโครงการโรงงานน้ำตาลของพวกเขา  อันสะท้อนถึงความคาดหวังของบุคคลต่างๆ ให้รัฐบาลระบอบใหม่เข้ามาอุดหนุนหรือช่วยเหลือกิจการเศรษฐกิจของคนไทย ให้สามารถแข่งขันกับพ่อค้าและนักลงทุนต่างชาติได้ เริ่มต้นจากนายมังกร สามเสน พ่อค้าไทย ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ลงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2475 ขอให้รัฐบาลระบอบใหม่สนับสนุนการก่อตั้งบริษัททำไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดชลบุรี มีทุนจดทะเบียน 4,000,000 บาท โดยเสนอให้รัฐบาลช่วยระงับการเก็บภาษีน้ำตาลจากโรงงานนี้กำหนดเวลา 15 ปีและไม่อนุญาตให้ผู้ใดตั้งโรงงานทำน้ำตาลแข่งขัน ขอสิทธิจับจองที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่เกิน 120,000 ไร่สำหรับทำไร่อ้อย โรงงาน รางขนส่ง และท่อน้ำ รวมถึงขอใช้ทุนของคนไทยและคนจีนในประเทศไทยเท่านั้น สำหรับการจัดตั้งบริษัท อย่างไรก็ตามโครงการโรงงานน้ำตาลของนายมังกรกลับถูกปฏิเสธจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เนื่องจากรัฐบาลยังไม่พร้อมที่จะดำเนินโครงการใหญ่และมีระยะเวลายาวนานถึง 15 ปี[8]

หม่อมหลวง ยวง อิศรเสนา เป็นชาวไทยอีกคนหนึ่งที่ได้เสนอโครงการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลมายังรัฐบาลระบอบใหม่ กล่าวคือ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2476 หม่อมหลวงยวงได้มีหนังสือถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ขอตั้งโรงงานน้ำตาลทรายขาวที่จังหวัดชลบุรี มีกำลังผลิตปีละ 300 ตัน โดยให้คนปลูกอ้อยและโรงงานรับหีบได้น้ำตาลแบ่งคนละครึ่ง มีงบประมาณเริ่มต้นประมาณ 500,000 บาท ทั้งนี้หม่อมหลวงยวงขอให้รัฐบาลไม่เก็บภาษีการปลูกอ้อย โรงงานน้ำตาล และการซื้อขายน้ำตาลในประเทศสยามในระยะเวลา 7 ปี ขอให้รัฐบาลช่วยควบคุมราคาน้ำตาลที่ผลิตในประเทศ ตลอดจนขอให้รัฐบาลร่วมลงทุนในโครงการนี้ร้อยละ  25-51 ของทุนทั้งหมด หรือให้รัฐรับประกันการขาดทุนให้แก่บริษัทนี้[9]

ทั้งนี้รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้ส่งเรื่องโครงการโรงงานน้ำตาลของหม่อมหลวงยวงให้กระทรวงการคลังและสภาเศรษฐกิจพิจารณา ผลการพิจารณาปรากฏว่า โครงการนี้มีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ เงินทุนน้อย เทคนิคการผลิตยังล้าหลัง และปริมาณการผลิตน้อยมากไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ การจำกัดการแข่งขันยังขัดกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

นอกจากนี้การขอยกเว้นภาษีเป็นเวลา 7 ปีและรับประกันการขาดทุน ยังเป็นเงื่อนไขให้ธุรกิจอื่นเรียกร้องขอดำเนินการตามบ้าง ดังนั้นรัฐบาลจึงปฏิเสธข้อเสนอของหม่อมหลวงยวง เนื่องจากรัฐบาลต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำตาลขนาดใหญ่ ที่มุ่งเน้นการผลิตให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศเป็นอันดับแรก และพยายามหลีกเลี่ยงการช่วยเหลืออุตสาหกรรมขนาดเล็กที่ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้[10]

ถึงแม้ว่ารัฐบาลระบอบใหม่ได้ปฏิเสธโครงการโรงงานน้ำตาลของเอกชนหลายโครงการ แต่รัฐบาลพระยาพหลฯ กลับให้ความสนใจโครงการ “บริษัทน้ำตาลศรีราชา” ของ พระยามไหสวรรย์ ซึ่งเป็นโครงการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลร่วมทุนระหว่างรัฐบาลกับเอกชน มีผู้เริ่มก่อตั้งได้แก่ พระยามไหสวรรย์ หลวงพิบูลสงคราม นายม้าเลียบคุณ (จินเสง) หม่อมหลวงยวง อิศรเสนา และนายกวงเอี่ยม[11] เดิมนั้นโครงการนี้ได้เสนอให้รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาพิจารณานับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2475 (พ.ศ. 2476 ตามปฏิทินใหม่) โดยขอให้รัฐมีหุ้นส่วนร้อยละ 25 ของเงินทุน พร้อมกับมีผู้แทนของรัฐมาเป็นกรรมการบริษัท ขณะเดียวกันยังขอให้รัฐออกกฎหมายคุ้มครอง ตั้งกำแพงภาษีป้องการการทุ่มตลาดจากต่างชาติ ให้รัฐตั้งสำนักงานน้ำตาลดูแล อุตสาหกรรมนี้ รวมถึงอำนวยความสะดวกในการจับจองที่ดิน[12] จากการพิจารณาของรัฐบาลเห็นว่า โครงการของพระยามไหสวรรย์ควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และได้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณารายละเอียดของโครงการอย่างรอบคอบ

 


อาคารสำนักงานและโรงงานน้ำตาลของรัฐที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ขณะก่อสร้างในปี พ.ศ. 2480
ที่มา : Robert L. Pendleton Collection

 

จากการศึกษาโครงการโรงงานน้ำตาลของพระยามไหศวรรย์ของนนทพร อยู่มั่งมี พบว่า โครงการนี้ประสบปัญหาความล่าช้า อันเป็นผลมาจากความเห็นต่างระหว่างกระทรวงการคลังกับกระทรวงเศรษฐการเกี่ยวกับปัญหาสัดส่วนการถือหุ้น กล่าวคือ กระทรวงเศรษฐการเห็นว่ารัฐควรลงทุนร้อยละ 25 ตามข้อเสนอของเอกชน ขณะที่กระทรวงการคลังเห็นว่ารัฐควรเข้าหุ้นร้อยละ 50 แม้ว่ารัฐบาลพระยาพหลฯ จะตัดสินใจให้รัฐร่วมทุนบริษัทน้ำตาลนี้ในร้อยละ 25 รวมถึงได้รับความสนใจจากบุคคลที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมลงทุนจำนวนมาก แต่การดำเนินงานของบริษัทกลับประสบปัญหาจากการจำหน่ายหุ้นไม่ได้ตามเป้าหมาย ประกอบกับไม่สามารถระดมทุนจากนักลงทุนต่างชาติได้เนื่องจากขัดต่อนโยบายรัฐบาล ดังนั้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2478 รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้มีมติว่ากิจการโรงงานน้ำตาลควรให้รัฐบาลดำเนินการเอง โดยว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมาอำนวยการแทนคนไทย ส่วนบริษัทน้ำตาลที่ร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนที่อยู่ระหว่างดำเนินนั้น ทางบริษัทได้พยายามระดมทุนด้วยการขายหุ้นแก่ชาวต่างชาติ ส่งผลให้รัฐบาลระงับความร่วมมือกับเอกชนด้วยการถอนหุ้นทั้งหมดออกจากบริษัทในกลางปี พ.ศ. 2479[13]

 

กำเนิดโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง

จุดเริ่มต้นของกิจการโรงงานน้ำตาลของรัฐบาลคณะราษฎรนั้น เป็นผลมาจากการผลักดันของกระทรวงเศรษฐการสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา โดยนายพันเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการในขณะนั้น ได้เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งโรงงานน้ำตาลทรายขาว และรัฐบาลได้ลงมติอนุมัติในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2478 จากนั้นรัฐบาลได้เปิดประมูลการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลในเดือนมกราคม พ.ศ. 2479

ผลปรากฏว่าบริษัทสโกคาเวอร์ค จำกัด ประเทศเชโกสโลวาเกีย ชนะการประมูลการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรโรงงานน้ำตาลเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 827,000 บาท[14]

 


โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2482 (ที่มา : ไทยสมัยรัฐธรรมนูญ)

 

สำหรับสถานที่ตั้งโรงงานน้ำตาลที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง นั้น เกิดจากดำริของพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งหมายต้องการให้โรงงานน้ำตาลตกอยู่กับคนไทย แต่เมื่อพิจารณาพื้นที่ปลูกอ้อยทำน้ำตาลส่วนมากนั้นตกอยู่กับคนจีนเป็นส่วนใหญ่ทั้งชลบุรีและนครปฐม ทางราชการจึงได้สำรวจพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศสยามและพบว่าบริเวณอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง มีคนไทยจำนวนมากปลูกอ้อย ประกอบกับในจังหวัดลำปางยังไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดังนั้นพระยาพหลฯ จึงเสนอให้ตั้งโรงงานน้ำตาลเพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อยและสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจให้แก่พลเมืองในจังหวัดลำปาง[15]

ทั้งนี้ ในการคัดเลือกที่ตั้งโรงงานน้ำตาลของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ได้กำหนดคุณสมบัติของที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลไว้หลายประการ อาทิ ต้องเป็นพื้นที่เหมาะสมแก่การปลูกอ้อยและมีการปลูกอ้อยเป็นอาชีพอย่างยาวนาน ผู้ที่ปลูกอ้อยต้องเป็นคนไทย กรรมกรหาง่ายและค่าจ้างถูก พื้นที่มีน้ำบริบูรณ์หรือสามารถทำชลประทานได้อย่างประหยัด และพื้นที่มีการคมนาคมสะดวกทั้งการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานและขนน้ำตาลออกสู่ตลาด โดยกระทรวงเศรษฐการได้เปรียบเทียบจังหวัดชลบุรี นครปฐม และลำปาง แล้วเห็นว่า จังหวัดลำปางเป็นบริเวณที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มต้นอุตสาหกรรมน้ำตาลของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลจึงมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเศรษฐการเสนอมา[16]

โรงงานน้ำตาลลำปางได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2480 มีนายพันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ เป็นประธานในพิธี และมีบริษัทสโกคาร์เวิร์คแห่งประเทศเชโกสโลวาเกียเป็นผู้ก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร โดยทางกระทรวงเศรษฐการได้มอบหมายให้นายสาย นิธินันทน์ หัวหน้ากองอุตสาหกรรม ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโรงงาน เป็นผู้ควบคุมดูแลและกำกับการก่อสร้างทั้งหมด[17]

เมื่อโรงงานน้ำตาลลำปางได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงได้ทำการทดลองผลิตน้ำตาลจนประสบความสำเร็จ จากนั้นโรงงานน้ำตาลไทยลำปางได้ทำพิธีเปิดฤดูหีบอ้อยเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2480 และได้ตั้งชื่อโรงงานอย่างทางการว่า “โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง”[18]

ในส่วนของการบริหารงานโรงงานน้ำตาลนั้นนายสาย นิธินันทน์ ผู้จัดการโรงงานน้ำตาลไทยลำปางคนแรก (พ.ศ. 2480-2487) ได้นำแนวคิดการดำเนินงานโรงงานน้ำตาลของฟิลิปปินส์มาประยุกต์ใช้ กล่าวคือ วัตถุดิบป้อนโรงงานมาจากการซื้ออ้อยของชาวไร่ ไม่ใช่โรงงานปลูกอ้อยเอง เพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อยของประชาชน โดยโรงงานมีหน้าที่จ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอ้อย การพัฒนาพันธุ์อ้อยและจ่ายพันธุ์อ้อยแก่ชาวไร่ ด้านการขนส่งอาศัยวิธีการรถไฟเป็นหลักเพื่อความสะดวกและประหยัดในการตัดและส่งอ้อยเข้าโรงงาน และการจ่ายเงินค่าอ้อยใช้วิธีทำสัญญารับจ้างหีบอ้อย แบ่งน้ำตาลตามคุณภาพและปริมาณอ้อยถือตามจำนวนที่ทำได้จริง[19]

 


เครื่องจักรภายในโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2482 (ที่มา : ไทยสมัยรัฐธรรมนูญ)

 

การดำเนินงานระยะแรกของโรงงานมีกำลังหีบอ้อยได้ในอัตราวันละ 500 ตันต่อวัน (22 ชั่วโมง) ด้วยวิธีการผลิตน้ำตาลทรายที่เรียกว่า Plantation White ชนิด Sulpitation Process ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและลงทุนน้อย[20] โรงงานมีเงินทุนหมุนเวียนดำเนินงานอยู่ 1,000,000 บาท วิธีการดำเนินงานเป็นรูปแบบองค์กรวิสาหกิจของรัฐ สังกัดกระทรวงเศรษฐการ โดยมีคณะกรรมการดำเนินการ 6 นาย มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเป็นประธาน และหัวหน้ากองอุตสาหกรรมเป็นผู้จัดการ[21]

ถึงแม้ว่าการเปิดฤดูหีบปีแรกมีจำนวนอ้อยเข้าหีบเพียง 16,971 ตัน ซึ่งส่วนมากเป็นอ้อยที่โรงงานทดลองปลูกไว้ แต่การดำเนินงานในฤดูหีบที่ 2 ในปี พ.ศ. 2481 มีอ้อยเข้าหีบถึง 77,892 ตัน ผลิตน้ำตาลได้ 4,988 ตัน จนโรงงานน้ำตาลต้องเพิ่มกำลังการผลิตด้วยการเพิ่มเครื่องหีบและหม้อต้มเคี่ยวน้ำตาล เพื่อให้สามารถทำการหีบอ้อยได้วันละ 800 ตันในฤดูการผลิตปี พ.ศ. 2483[22] จากความสำเร็จของโรงงานน้ำตาลไทยลำปางจึงเป็นต้นแบบของการดำเนินกิจการโรงงานน้ำตาลสมัยใหม่แห่งอื่นๆ ในเวลาต่อมา โดยรัฐบาลคณะราษฎรได้ขยายกิจการอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของรัฐ ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลและก่อสร้างโรงงานน้ำตาลไทยอีกแห่งที่ตำบลวังกะพี้ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484[23]

 

อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ที่โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง

 


อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนาแบบครึ่งตัวที่หน้าโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง พ.ศ. 2505
(ที่มา : อนุสรณ์ 25 ปี โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง)

 

จากความริเริ่มของรัฐบาลพระยาพหลฯ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายสมัยใหม่ของประเทศสยามได้ก่อให้เกิดการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายของรัฐแห่งแรกที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ในปี พ.ศ. 2480 การดำเนินงานของโรงงานน้ำตาลไทยลำปางแห่งนี้ยังสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไทยที่เพาะปลูกอ้อยและแรงงานที่ทำงานในโรงงาน รวมถึงมีส่วนช่วยนำความเจริญทางเศรษฐกิจมาสู่จังหวัดลำปาง

ด้วยเหตุนี้ในโอกาสครบรอบ 25 ปีแห่งการก่อตั้ง “โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง” ในปี พ.ศ. 2505 ทางพนักงานโรงงาน พ่อค้า ประชาชนที่เป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อย จึงร่วมใจกันบริจาคทรัพย์ก่อสร้าง “อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา” โดยมีลักษณะเป็นอนุสาวรีย์ครึ่งตัวบนฐานสูง มีขนาดเท่าครึ่งของตัวจริง ประดิษฐานอยู่หน้าโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีของพระยาพหลฯ ผู้ก่อตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ เมื่ออนุสาวรีย์ก่อสร้างแล้วเสร็จได้ประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2505[24]

 


เหรียญหลวงพ่อเกษม เขมโก ปี พ.ศ. 2531 รุ่นสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนาที่โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง
ที่มา : http://pralanna.com/pramoolpage.php?pramoolid=108184

 

เมื่อโรงงานน้ำตาลไทยลำปางได้ดำเนินกิจการมาครบ 50 ปีในปี พ.ศ. 2530 ทางโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ใหม่ในรูปแบบเต็มตัว เพื่อเป็นการระลึกถึงผู้ก่อตั้งโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลสมัยใหม่ของประเทศไทย โดยอนุสาวรีย์นี้เริ่มแรกระดมทุนจากเงินบริจาคของพนักงานโรงงานน้ำตาลไทยลำปางและชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ แต่ยังไม่เพียงพอต่อการสร้างอนุสาวรีย์

ดังนั้น โรงงานน้ำตาลจึงได้นมัสการ หลวงพ่อเกษม เขมโก พระเกจิที่พุทธศาสนิกชนชาวลำปางและชาวไทยให้ความเคารพนับถือ ขออนุญาตจัดสร้างเหรียญรูปหลวงพ่อเกษม เพื่อนำเงินรายได้จากการเช่าบูชาพระมาเป็นทุนก่อสร้างอนุสาวรีย์นับตั้งแต่ พ.ศ. 2531 อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ แบบเต็มตัวได้ก่อสร้างสำเร็จ โดยตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงงานน้ำตาลไทยลำปางและมีการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ แบบครึ่งตัวไปประดิษฐานในอาคารสำนักงานโรงงานน้ำตาล อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ แบบเต็มตัวได้ประกอบพิธีเปิดในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 มี ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มาเป็นประธานพิธี[25]

 


อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนาแบบเต็มตัว ณ โรงงานน้ำตาลลำปางในปัจจุบัน
ที่มา : ประชาไท

 

ปัจจุบันอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ที่โรงงานน้ำตาลลำปาง ยังคงเป็นอนุสรณ์แห่งการระลึกถึงหัวหน้าคณะราษฎรและอดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นที่เคารพสักการะของพนักงานโรงงานน้ำตาลและประชาชนทั่วไปในฐานะ “บิดาแห่งวงการอ้อยและน้ำตาลทรายไทย ผู้ก่อตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งนี้”[26]


[1] ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์, 111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” 29 มีนาคม 2541 (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552), น. 402-407.

[2] เรื่องเดียวกัน, น. 412.

[3] ผาณิต ทรงประเสริฐ, “นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งแต่ พ.ศ. 2481-2487,” ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และสมภพ มานะรังสรรค์ (บรรณาธิการ), ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย จนถึง พ.ศ. 2484 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527), น. 658-661; ชาติชาย มุกสง, ปฏิวัติที่ปลายลิ้น ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินในสังคมไทย หลัง 2475 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2565), น. 206.

[4] ชาติชาย มุกสง, “น้ำตาลกับวัฒนธรรมการบริโภครสหวานในสังคมไทย พ.ศ. 2504-2539,” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548), น. 27-28; นนทพร อยู่มั่งมี, “น้ำตาลไม่หวานของคณะราษฎร: ภาพสะท้อนกิจการร่วมทุนทางธุรกิจระหว่างรัฐบาลคณะราษฎรและเอกชน,” ศิลปวัฒนธรรม 33, 9(กรกฎาคม 2555): 102.

[5] สมภพ มานะรังสรรค์ และกนกศักดิ์ แก้วเทพ, รายงานการวิจัยเรื่องอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทย (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530), น. 1-2.

[6] อำนวย ปะติเส และชุ่มใจ อรรถจินดา, สี่สิบสองปีของอุตสาหกรรมน้ำตาล (พ.ศ. 2470-2511) (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุณรัตน์, 2530), น. 2.อนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศะ นายยงศิลป เรืองศุข วัดเทพศิรินทราวาส 20 ธันวาคม 2530)

[7] เรื่องเดียวกัน, น.2-3.

[8] เรื่องเดียวกัน, น.4-5; หจช. สร.0201.22.2.7/2 เรื่องนายมังกร สามเสน ขอตั้งบริษัททำน้ำตาลที่จังหวัดชลบุรี (18 พฤศจิกายน – 4 มกราคม 2475).

[9] อำนวย ปะติเส และชุ่มใจ อรรถจินดา, สี่สิบสองปีของอุตสาหกรรมน้ำตาล (พ.ศ. 2470-2511) (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุณรัตน์, 2530), น. 5.

[10] เรื่องเดียวกัน, น. 5-6.

[11] เรื่องเดียวกัน, น. 6.

[12] นนทพร อยู่มั่งมี, “น้ำตาลไม่หวานของคณะราษฎร: ภาพสะท้อนกิจการร่วมทุนทางธุรกิจระหว่างรัฐบาลคณะราษฎรและเอกชน,”: 107.

[13] เรื่องเดียวกัน, น.109-111.

[14] อำนวย ปะติเส และชุ่มใจ อรรถจินดา, สี่สิบสองปีของอุตสาหกรรมน้ำตาล (พ.ศ. 2470-2511) (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุณรัตน์, 2530), น. 17.

[15]  “คำปราศรัยของนายพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา กล่าวแก่ชาวไร่อ้อยและเจ้าหน้าที่ของโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2484,” ใน อนุสรณ์ 25 ปี โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง (พระนคร: โรงพิมพ์บริษัทคณะช่าง จำกัด, 2505), น. 11-12.

[16] อำนวย ปะติเส และชุ่มใจ อรรถจินดา, สี่สิบสองปีของอุตสาหกรรมน้ำตาล (พ.ศ. 2470-2511) (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุณรัตน์, 2530), น. 22

[17] เรื่องเดียวกัน, น. 23.

[18] อนุสรณ์ 25 ปี โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง (พระนคร: โรงพิมพ์บริษัทคณะช่าง จำกัด, 2505), น. 5.

[19] อำนวย ปะติเส และชุ่มใจ อรรถจินดา, สี่สิบสองปีของอุตสาหกรรมน้ำตาล (พ.ศ. 2470-2511) (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุณรัตน์, 2530), น. 23.

[20] อนุสรณ์ 25 ปี โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง (พระนคร: โรงพิมพ์บริษัทคณะช่าง จำกัด, 2505), น. 6.

[21] สวัสดิ์ รัตนคำฟู, “โรงงานน้ำตาลไทยเกาะคา ลำปาง,” (วิทยานิพนธ์ปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์เกษตร คณะเศรษฐศาสตร์และสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2504), น. 3

[22] อนุสรณ์ 25 ปี โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง (พระนคร: โรงพิมพ์บริษัทคณะช่าง จำกัด, 2505), น. 5-6; อำนวย ปะติเส และชุ่มใจ อรรถจินดา, สี่สิบสองปีของอุตสาหกรรมน้ำตาล (พ.ศ. 2470-2511) (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุณรัตน์, 2530), น. 23-24.

[23] ทรงวุฒิ อิ่มศูนย์, “โรงงานน้ำตาลไทยอุตรดิตถ์,” (วิทยานิพนธ์ปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์เกษตร คณะเศรษฐศาสตร์และสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2507), น. 3-4.

[24] อนุสรณ์ 25 ปี โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง (พระนคร: โรงพิมพ์บริษัทคณะช่าง จำกัด, 2505), น. คำนำ.

[25] ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์, 111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” 29 มีนาคม 2541 (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552), น. 415-417.

[26] ข้อความในป้ายบริเวณฐานอนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง