ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เสรีไทยในภาคเหนือ ปฏิบัติการเสรีไทยในจังหวัดลำปาง ชุมทางใหญ่พายัพ

18
พฤศจิกายน
2567
 

 

Focus

  • บทความนี้นำเสนอเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์สำคัญเกี่ยวกับปฏิบัติการเสรีไทยในลำปางช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาโดยระบุถึงรายชื่อเสรีไทยคนสำคัญที่เข้ามาปฏิบัติการในลำปาง เสรีไทยสายอังกฤษ และภาระกิจการสืบข่าวลับจากญี่ปุ่น รวมถึงชี้ให้เห็นว่าโรงงานน้ำตาลเกาะคา ค่ายทหารหลายแห่ง และตลาด ร้านค้าต่าง ๆ ล้วนมีบทบาทสนับสนุนเป็นฐานที่มั่นในการปฏิบัติงานของเสรีไทยในลำปาง

 

 

ภาพเมืองลำปางในทศวรรษ 2480 ที่มา: เพจ History of Lampang

 

ภูมิหลังขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น

ความสำคัญของปฏิบัติการเสรีไทยในลำปางนั้นสามาารถพิจารณาจากบริบทยุทธศาสตร์ระดับประเทศ และบริบทของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นหรือเสรีไทย เมื่อญี่ปุ่นชาติมหาอำนาจฝ่ายอักษะได้ส่งกองทัพบุกเข้าประเทศไทย ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. 1941) ได้เกิดการต่อต้านอย่างกล้าหาญเข้มแข็งจากทหาร ตำรวจ พลเรือน และประชาชน จนได้รับคำสั่งหยุดยิงจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านดินแดนไทยไปรุกพม่าและมลายา เพื่อไม่ให้ประเทศไทยถูกทำลายเพราะสรรพกำลังไทยไม่อาจสู้ญี่ปุ่นได้ โดยในชั้นแรกไทยจะไม่ผูกมัดพันธะกับญี่ปุ่นและชาติมหาอำนาจฝ่ายอักษะ รวมทั้งไม่ประกาศเป็นศัตรูกับฝ่ายสัมพันธมิตร

หลังจากนั้นญี่ปุ่นบีบบังคับรัฐบาลไทยให้ทำกติกาสัญญาพันธไมตรีทางการเมือง ทหาร และเศรษฐกิจจนรัฐบาลไทยถึงกับต้องส่งกองทัพสนาม คือกองทัพพายัพ รุกเข้ารัฐฉานของอังกฤษเพื่อช่วยป้องกันปีกขวาให้กองทัพญี่ปุ่นที่กำลังรุกพม่าตามข้อเรียกร้องของฝ่ายญี่ปุ่นโดยยินยอมให้ญี่ปุ่นกู้เงิน ได้สิทธิใช้สาธารณูปโภคและทรัพยากรไทย

ที่สำคัญคือ รัฐบาลไทยประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกาแม้ญี่ปุ่นไม่ได้ร้องขอไทยอย่างเป็นเอกภาพจึงนับว่ารัฐบาลไทยได้นำประเทศผูกมิตรใกล้ชิดญี่ปุ่น และประกาศตนเป็นข้าศึกของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างชัดเจน ซึ่งขัดแย้งต่อเจตจำนงคนไทยที่ต้องการต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน และเสี่ยงต่อการสูญเสียเอกราชและอธิปไตยของไทย หากญี่ปุ่นแพ้สงคราม

บริบทภายในประเทศ นายปรีดี พนมยงค์ อดีตหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ซึ่งต่อมาไม่นานจะได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๘ ได้ก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นหรือเสรีไทยในประเทศขึ้น ร่วมกับเพื่อนคณะราษฎรบางส่วน ข้าราชการสำคัญ นักการเมืองและปัญญาชน เช่น นายทวี บุณยเกตุ นายดิเรก ชัยนาม นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเตียง ศิริขันธ์ หลวงบรรณกรโกวิท นายจำกัด พลางกูร เป็นต้น โดยรวบรวมพลพรรค สืบข่าว และแสวงหาทางติดต่อชาติสัมพันธมิตร มีภารกิจสำคัญได้แก่

๑) เพื่อต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน

๒) เพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าเจตนารมณ์อันแท้จริงของคนไทยไม่เป็นศัตรูต่อสัมพันธมิตร

๓) เพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และมีการผ่อนหนักเป็นเบา รวมถึงการให้ประเทศไทยมีสถานะเช่นเมื่อก่อนสงคราม

นอกจากเสรีไทยในประเทศแล้วยังมีกลุ่มคนไทยที่ต่อต้านญี่ปุ่นขณะนั้น ได้แก่ประชาชน “ไทยอิสระ” หลากกลุ่ม (ประชาชนทั่วไป ไทยถีบ นักธุรกิจ ข้าราชการนอกเวลา ฯลฯ) ทั้งการขโมยยุทธภัณฑ์ทหารญี่ปุ่น การช่วยชีวิตซ่อนเชลยศึกสัมพันธมิตร รวมทั้งจีนโพ้นทะเล (ก๊กมินตั๋งและคอมมิวนิสต์) ที่ได้วางระบบการข่าว การเฉื่อยงานในโรงงานที่สนับสนุนญี่ปุ่น การออกเอกสารใต้ดิน แลการจัดเตรียมพลพรรค ฯลฯ

ในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่แม้เป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ในช่วงงต้นสงครามได้มอบภารกิจกลุ่มข้าราชการตำรวจ พลเรือน ทหารหน่วยสำคัญบางส่วน ได้ช่วงชิงจับกุมเชลยศึกสัมพันธมิตรในไทยให้พ้นจากความทารุณของญี่ปุ่น ต่อรองผลประโยชน์และความปลอดภัยของชาติและประชาชนไทย ไม่ให้ญี่ปุ่นเบียดบังเกินสมควร และสืบข่าวทหารญี่ปุ่น ไม่ให้ทำอันตรายต่อเอกราชและอธิปไตยรัฐไทย

ภายนอกประเทศได้เกิดเสรีไทยในสหรัฐอเมริกาจากกลุ่มนักเรียนไทยในสหรัฐฯ ซึ่งต่อมานำโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ  พ.ท. ม.ล.ขาบ กุญชร ทูตทหาร และเสรีไทยในอังกฤษนำโดย พ.ต. ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ และนายเสนาะ ตันบุญยืน มีทั้งพระราชวงศ์ลี้ภัย ข้าราชการ นักเรียนนอก และประชาชน โดยดำเนินงานทางการทูต อาสาสมัครงานวิทยุกระจายเสียง งานข่าว งานใบปลิว และอาสาเป็นนายทหารปฏิบัติพิเศษ ที่รับการฝึกจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เตรียมการแทรกซึมร่วมมือกับขบวนการต่อต้านในประเทศไทยต่อไป

นอกจากนี้ยังมีคนไทยอาสาต่อต้านญี่ปุ่นนอกประเทศที่จีน กลุ่มจีนโพ้นทะเลจากไทยอาสาทำการรบญี่ปุ่น และเตรียมหน่วยการข่าวประสานกับในประเทศไทย และที่ออสเตรเลีย

ทั้งนี้ในช่วงต้นสงคราม ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นฝ่ายต่าง ๆ ในและนอกประเทศยังไม่รับรู้ และไม่ได้ประสานงานร่วมมือกัน

เมื่อเข้าสู่ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. 1943) นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าเสรีไทยในประเทศได้มอบหมายให้คณะนายจำกัด พลางกูร และต่อมาคณะนายสงวน ตุลารักษ์เดินทางไปประเทศจีน เพื่อประสานงานกับชาติมหาอำนาจสัมพันธมิตรทั้งจีน อังกฤษ และสหรัฐฯ รวมทั้งเสรีไทยสายต่างประเทศ เพื่อแสวงหาทางจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นแต่ล้มเหลว หากได้สร้างการรับรู้และเชื่อถือจากชาติสัมพันธมิตรต่อขบวนการเสรีไทยในประเทศ นำไปสู่การส่งเสรีไทยต่างประเทศลักลอบเสี่ยงภัย แทรกซึมเข้าดินแดนไทยในเวลาต่อมา

ฝ่ายรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในครึ่งหลังของสงครามเมื่อมีสิ่งบอกเหตุความพ่ายแพ้สงครามของญี่ปุ่นและชาติฝ่ายอักษะ จึงดำเนินนโยบายใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น ด้วยการส่งนายทหารกองทัพพายัพติดต่อกองทหารจีนด้านชายแดนหยุดยิงและเตรียมแผนสู้ญี่ปุ่น รวมทั้งได้ตั้งฐานทัพเพชรบูรณ์เตรียมกองทัพเขตภายในแดนไทย ทว่าไม่ได้ร่วมมือกับเสรีไทย อีกทั้งจอมพล ป. พิบูลสงครามไม่อาจสร้างความไว้วางใจจากสัมพันธมิตร ด้วยท่าทีรัฐบาลในช่วงก่อนและช่วงต้นของสงคราม

กระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. 1944)  มีจุดเปลี่ยนสำคัญคือการตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แทนที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อเดือนกรกฎาคม ซึ่งผู้นำเสรีไทยได้สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลได้แก่ น.อ. หลวงศุภชลาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ พล.ท. ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและรองแม่ทัพใหญ่ ผู้ทำการแทนแม่ทัพใหญ่และแม่ทัพบก พล.ร.ต. หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) สารวัตรใหญ่ทหาร หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก) อธิบดีกรมศุลกากร นายปฐม คชเสนี อธิบดีกรมทางฯ

ดังนีั ขบวนการเสรีไทยในประเทศจึงสามารถขยายความร่วมมือไปยังหลากหลายกลุ่มต่อต้านในประเทศ ทั้งรัฐมนตรี ผู้แทนราษฎร ข้าราชการตำรวจ ทหาร พลเรือน ครู นิสิตนักศึกษา และประชาชนอย่างกว้างขวาง

ในขณะที่เสรีไทยจากต่างประเทศทั้งอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และจีนสามารถลักลอบเข้ามาประสานกับเสรีไทยในประเทศได้สำเร็จจึงเกิดการขยายพื้นที่ปฏิบัติงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ ทุกภูมิภาค แม้ว่าจะต้องซ่อนพรางจากกองทัพญี่ปุ่น รวมทั้งมีการประสานวางแผนยุทธศาสตร์การต่อสู้ญี่ปุ่นร่วมกัน ระหว่างฝ่ายไทยและสัมพันธมิตร ควบคู่กับการเจรจาทางการทูตใต้ดินกับชาติมหาอำนาจสัมพันธมิตร เพื่อให้ชาติสัมพันธมิตรรับรองเอกราชและอธิปไตยชาติไทยหลังสิ้นสงคราม

 

ปฏิบัติการเสรีไทยในจังหวัดลำปาง ยุทธศาสตร์สู้ญี่ปุ่นภาคพายัพ

จากแผนการทางยุทธศาสตร์ต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในภาพรวมของประเทศ ที่กองทัพไทย ขบวนการเสรีไทย และกองทัพสัมพันธมิตร วางแผนร่วมกันนั้น กำหนดให้กองทัพที่ ๑๒ (อังกฤษ) รุกเข้าประเทศไทยยึดภาคกลางของไทยเป็นหลัก อันเป็นศูนย์กลางการปกครอง และชุมทางคมนาคม

ขณะเดียวกันกองกำลังของไทยในภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสาน จะต้องตัดขาดกองกำลังญี่ปุ่นในภูมิภาคของตนไม่ให้ติดต่อกับภาคกลางได้

ในภาคเหนือเมื่อกองทัพสัมพันธมิตรจะรุกมาทางเมืองตองญี พยาค เชียงตุงในรัฐฉานหรือสหรัฐไทยเดิม แล้วเข้าภาคเหนือของไทยทางท่าขี้เหล็ก แม่สาย แม่จัน เชียงราย อันเป็นปากทางเข้าใหญ่ของพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย จากนั้นอาศัยเส้นทางถนนประชาธิปัตย์ (พหลโยธิน) เข้ายึดพะเยา งาว และลำปางอันเป็นชุมทางคมนาคมสำคัญของภาคเหนือที่ทั้งถนนประชาธิปัตย์และทางรถไฟสายเหนือจะต้องตัดผ่าน แล้วจึงสมทบกับกองทัพสัมพันธมิตรและกองกำลังฝ่ายไทยในภาคกลางตอนบนของประเทศไทย คือพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดตาก และจังหวัดนครสวรรค์

ทั้งนี้กำหนดให้กองทัพพายัพและพลพรรคเสรีไทยซึ่งตั้งกำลังหลักที่ลำปางและเชียงราย มีภารกิจหลักในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นตามเส้นหลักการรุกของกองทัพสัมพันธมิตรคือถนนประชาธิปัตย์ โดยร่วมปฏิบัติการกับกองทัพสัมพันธมิตร

นอกจากภารกิจหลักคือการต่อตีกองทัพญี่ปุ่นในภาคเหนือตามเส้นทางถนนประชาธิปัตย์แล้ว กองทัพพายัพและพลพรรคยังมีภารกิจรองคือการรักษาพื้นที่ชายแดนพม่าด้านจังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ชายแดนอินโดจีนฝรั่งเศสด้านจังหวัดแพร่ อันเป็นปีกซ้ายและปีกขวาของกองทัพพายัพ

กองทัพพายัพ ซึ่งได้เคยรุกรัฐฉานในตอนต้นสงครามจึงได้ถอนกำลังส่วนใหญ่จากนอกประเทศด้านรัฐฉานเข้ามาในดินแดนไทยทางภาคเหนือ เผชิญหน้ากับกองทัพญี่ปุ่นที่ตั้งทหารตามเมืองสำคัญต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์ร่วมกองทัพไทย เสรีไทย และสัมพันธมิตร

 

ลำปาง ชุมทางยุทธศาสตร์ยามศึก

หากกล่าวเฉพาะจังหวัดลำปางลำปาง ตั้งในแอ่งลุ่มน้ำวัง ท่ามกลางแนวทิวเขาผีปันน้ำเป็นชุมทางคมนาคมของบริเวณภาคเหนือทั้งทางรถไฟสายเหนือ ถนนประชาธิปัตย์ (ถนนพหลโยธินในปัจจุบัน) แม่น้ำวัง น้ำตุ๋ย น้ำจาง น้ำต๋ำ น้ำงาว รวมทั้งเส้นทางถนนดินและทางเกวียน ที่เชื่อมหลายจังหวัด เกิดบ้านเมืองมาหลายยุคสมัยตั้งแต่สมัยหริภุญไชย สมัยอาณาจักรล้านนา สมัยราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน สมัยปฏิรูประบบราชการรวมศูนย์ (รัชกาลที่ ๕) จนถึงสมัยปฏิวัติ ๒๔๗๕ สู่สงครามมหาเอเชียบูรพา

ส่วนในด้านประชาชน ลำปางจึงเป็นชุมทางคมนาคมที่เชื่อมหัวเมืองภาคพายัพกับภาคกลาง และข้ามไปพม่าและอินโดจีนได้สะดวก เกิดการค้าสำคัญ ทั้งการค้าคาราวาน (วัว ม้า ลา ฬ่อ เกวียน) การล่องแพค้าขาย การค้าไม้ซุงล่องแม่น้ำ และการค้าทางรถไฟ มีพ่อค้าคหบดีหลากชาติพันธุ์ เช่น คนเมือง พม่า ไทใหญ่ ฯลฯ จนเกิดย่านสำคัญเช่น ท่ามะโอ ตลาดจีน (กาดกองต้า) สบตุ๋ย เก๊าจาว เป็นต้น มีบริษัทสำคัญระดับชาติและนานาชาติตั้งอยู่ เช่น บริษัท บอมเบย์เบอร์ม่า จำกัด (Bombay Burmah Trading Corporation) ของอังกฤษ บริษัทหลุยส์ ที ลีโอโนเวนส์ ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ บริษัทลำปางจังหวัดพาณิชย์ บริษัทป่าไม้ไทย จำกัด และโรงงานน้ำตาลลำปาง (เกาะคา) เป็นต้น อีกทั้งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ ทั้งข้าว อ้อย ถั่วเหลือง เนื้อหมู เป็นต้น และตามเทือกเขาได้เป็นแหล่งสัมปทานป่าไม้ที่สำคัญของประเทศ

ในด้านราชการพลเรือน ลำปางเป็นศูนย์กลางการปกครองภาคเหนือแห่งหนึ่ง นับตั้งแต่สมัยปฏิรูปการปกครองรวมศูนย์อำนาจสยาม เป็นที่ตั้งของศาลาว่าการภาค กองบังคับการตำรวจภูธรเขต ที่มีอำนาจปกครองข้ามจังหวัด ป่าไม้ระดับจังหวัดและภาค พร้อมกับการตั้งโรงเรียนประถมและมัธยมระดับภาคและจังหวัดที่สำคัญ

ความสำคัญของจังหวัดลำปางต่อกองทัพญี่ปุ่น คือพื้นที่จังหวัดลำปางเป็นพื้นที่หลักในการวางกำลังของกองทัพญี่ปุ่นในภาคเหนือ คือกองทัพที่ ๑๕ และกองพลที่ ๔ (ญี่ปุ่น) เพื่อเป็นด่านสำคัญด้านภาคเหนือ ในการรองรับการรุกของกองทัพบกอังกฤษจากพม่า ก่อนจะถอยมาสมทบกองทัพภาคที่ ๑๘ (ญี่ปุ่น) ในภาคกลางของไทย

 


พลตรี สุทธิ์ สุทธิสารรณกร (หลวงสุทธิสารรณกร) ผู้บัญชาการกองพลที่ ๔ รับผิดชอบพื้นที่ลำปาง-เชียงใหม่
ที่มา : อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก หลวงสุทธิสารรณกร ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส, ๕ มิถุนายน ๒๕๑๑.

 


พันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บังคับกรมทหารราบที่ ๑๓ และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกลำปาง
ที่มา: อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลโท สมุท ชาตินันทน์ ป.ช. ป.ม. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส, วันจันทร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๐.

 

แกนนำงานใต้ดินในจังหวัดลำปาง ได้แก่ หลวงศุภการบริรักษ์ (ชลอ จารุจินดา) ข้าหลวงประจำจังหวัดลำปาง พล.ต. สุทธิ์ สุทธิสารรณกร ผู้บัญชาการกองพลที่ ๔  พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑๓ และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกลำปาง และ นายประเวศน์ บริราช ผู้จัดการโรงงานน้ำตาลเกาะคา

ด้วยความร่วมมือจากเครือข่ายทหาร ตำรวจ พลเรือน ประชาชน ที่มีความสนิทสนมทั้งการทำงาน และเรื่องส่วนตัว

 


ร้อยตรี บุญส่ง พึ่งสุนทร นายทหารเสรีไทยจากอังกฤษ ปฏิบัติงานที่ลำปาง - เชียงใหม่
ที่มา : ตำนานเสรีไทย โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แสงดาว ๒๕๔๗

 


ร้อยตรี ทศ พันธุมเสน นายทหารเสรีไทยจากอังกฤษ ประจำที่โรงงานน้ำตาลเกาะคา ลำปาง
ที่มา: ตำนานเสรีไทย โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์แสงดาว ๒๕๔๗

 


ร้อยตรี หม่อมเจ้าจีริดนัย กิติยากร นายทหารเสรีไทยจากอังกฤษ ปฏิบัติงานที่ลำปาง - เชียงใหม่
ที่มา: ใต้ร่มฉัตร โดยหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ / นรุตม์, ลำดับเรื่อง, กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, ๒๕๓๙

 

ทั้งนี้ยังมีเสรีไทยสายอังกฤษชุดปฏิบัติการสะวันนา (Savanna) จากกองกำลัง ๑๓๖ (Force 136) ลักลอบประสานงานในจังหวัดลำปาง ๓ นาย ได้แก่ ร.ต. ทศ พันธุมเสน ร.ต. บุญส่ง พึ่งสุนทร และ ร.ต. ม.จ.จีริดนัย กิติยากร

 

กองพลที่ ๔ ที่ตั้งลำปาง

กองพลนี้มีพื้นฐานจากมณฑลทหารบกที่ ๔ ทหารในกองพลส่วนมากมีภูมิลำเนาภาคเหนือ ในช่วงต้นสงครามได้เป็นกองหน้าและหน่วยด้านปีกของกองทัพพายัพในการรุกรัฐฉานด้านเมืองพยาคจนถึงเมืองยอง และการยุทธประชิดชายแดนยูนนาน เมื่อถึงปีสุดท้ายของสงครามกองพลที่ ๔ ได้ถอนกำลังมาที่ลำปางและเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) มีภารกิจขับไล่รบกวนแนวป้องกันหลักของกองทัพญี่ปุ่นในลำปาง เพื่อยึดกุมชุมทางสำคัญของภาคเหนือ และรองรับการรุกของสัมพันธมิตร โดยมุ่งยึดกองบัญชาการกองทัพที่ ๑๕ ของญี่ปุ่น ที่บริษัท บอมเบย์เบอร์ม่า จำกัด (Bombay Burmah Trading Corporation) เดิม นอกจากนี้กองพลที่ ๔ ยังแบ่งกำลังรักษาพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน อันเป็นพื้นที่ปีกซ้ายของกองทัพพายัพ

กองพลนี้มีพลตรี สุทธิ์ สุทธิสารรณกร เป็นผู้บัญชาการ และพันเอก เติม กนิษฐานนท์ เป็นเสนาธิการ มีหน่วยรองและหน่วยสมทบของกองพลที่ ๔ ได้แก่

๑) กรมทหารราบที่ ๑๓ พันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บังคับการกรม พันโท จิตติ นาวีเสถียร เสนาธิการกรม ตั้งกองบังคับการที่วัดม่อนจำศีล มีหน่วยรอง ได้แก่

  • กองพันทหารราบที่ ๓๐ พันโท ชลอ จารุกลัส เป็นผู้บังคับกองพัน
  • กองพันทหารราบที่ ๓๒ พันตรี สังคม วนะภูติ เป็นผู้บังคับกองพัน
  • กองพันทหารราบที่ ๓๔ พันตรี สงวน อัมพวรรธน์ เป็นผู้บังคับกองพัน

๒) กองพันปืนกลหนักที่ ๑ ตั้งที่ตำบลสบตุ๋ย (ใกล้สถานีรถไฟนครลำปาง) พันตรี อรรถ ศศิประภา เป็นผู้บังคับกองพัน

๓) กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๔ (ลำปาง) พันโท เทพ ปัทมานนท์ เป็นผู้บังคับกองพัน

นอกจากนี้ยังมีกรมทหารราบที่ ๑๑ และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๑ พื้นที่ปฏิบัติงานด้านจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน

ทั้งนี้พันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้เป็นผู้บังคับการจังหวัดทหารบกลำปางอีกตำแหน่งหนึ่ง มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำถิ่น ดูแลการเกณฑ์กำลังพล การส่งกำลังบำรุง และการประสานพลเรือน ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหารญี่ปุ่นในจังหวัดลำปาง

การวางกำลังรบของกองพลที่ ๔ ด้านลำปางจะวางกำลังรอบนอกของเมือง ด้านถนนประชาธิปัตย์ (พหลโยธิน) ด้านม่อนจำศีล สนามบินพระบาท ต่อเนื่องถึงในเมือง เช่น ย่านท่ามะโอ สบตุ๋ย (สถานีรถไฟ) ค่ายทหาร (ค่ายสุรศักดิ์มนตรีปัจจุบัน) และโรงเรียนเทศบาลบางแห่ง จนได้มีการตั้งป้อมสนามประจำจุดเผชิญหน้ากับหน่วยรบกองพลที่ ๔ (ญี่ปุ่น) อยู่ตลอดตัวเมืองลำปาง นับเป็นระยะที่โกลาหลและวิกฤติที่สุด ทุกคืนทหารไทยและญี่ปุ่นต้องเข้าประจำจุดป้อมสนามประจันหน้ากัน ยามกลางวันทหารทั้งสองฝ่ายต่างถอนกำลัง กลับไปฝึกอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ เพราะอยู่ท่ามกลาง “มหามิตร” ญี่ปุ่นและไทยที่พร้อมเกิดการปะทะกลายเป็น “ข้าศึก” ได้ทุกเมื่อ

 

โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง เกาะคา ขุมกำลังพลเรือนลำปาง

 


ภาพวาดจำลองเหตุการณ์ พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พาเชลยนักบินอเมริกันไปซุ่มซ่อนที่โรงงานน้ำตาลเกาะคา
ที่มา: คู่มือประวัติศาสตร์ศึกษายุทธเวหาลำปางเรื่อง ลำปางกับเหตุการณ์ญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยศักดิ์ รัตนชัย ลำปาง, ภาคเหนือนิวส์ - เสียงโยนก, ๒๕๓๔

 


ภาพเก่าโรงงานน้ำตาลเกาะคา
ที่มา: เพจ History of Lampang

 


นายวิชัย โลจายะ เลขานุการโรงงานน้ำตาลลำปาง แกนนำสำคัญเสรีไทยโรงงานน้ำตาลลำปาง
ที่มา: คู่มือประวัติศาสตร์ศึกษายุทธเวหาลำปางเรื่อง ลำปางกับเหตุการณ์ญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยศักดิ์ รัตนชัย ลำปาง, ภาคเหนือนิวส์-เสียงโยนก, ๒๕๓๔

 

โรงงานน้ำตาลแห่งนี้ จะได้มีบทบาทในการเป็นค่ายพลพรรคเสรีไทยลำปางแห่งหนึ่ง จึงสมควรได้บรรยายภูมิหลังโดยสังเขป

เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของจังหวัดลำปางเหมาะสมที่จะปลูกอ้อยมากที่สุด รัฐบาลในสมัยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงตั้งโรงงานน้ำตาลลำปางที่อำเภอเกาะคาเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ใช้ชื่อว่า โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง เพื่อให้เกิดกิจการน้ำตาลในมือคนไทยแทนที่กิจการอ้อยต่างชาติ มีพิธีเปิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นทั้งโรงงานผลิตน้ำตาล มีเครื่องจักรทันสมัยนำเข้าจากเชโกสโลวาเกีย ศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์อ้อย มีแปลงทดลองปลูกอ้อย โรงเรือนคนงาน มีพื้นที่กว้างขวาง พื้นที่เกษตรรอบนอกโรงงาน หลายแห่งเป็นไร่อ้อยพื้นเมืองของประชาชนที่มีอยู่แล้ว ถึงกับมีทางรถไฟและหัวจักรรถไฟนำเข้าจากเยอรมนีเชื่อมเข้าโรงงาน สำหรับบรรทุกอ้อยจากไร่ป้อนโรงงาน

โรงงานแห่งนี้มีพนักงานสำคัญที่ต่อมาเป็นกำลังสำคัญของเสรีไทยลำปาง ได้แก่ นายประเวศน์ บริราช ผู้จัดการโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง นายวิชัย โลจายะ เลขานุการ นายเสน่ห์ วรกุล และนายถนอม ใยบัวเทศ

 

วงเหล้า “ปิยะมิตร” สู่เครือข่ายงานใต้ดินเสรีไทย ณ จังหวัดลำปาง

 


บ้านแม่แดง และนายบุญเที่ยง พานิชพันธ์ (บุตรชาย) พ่อค้าหนุ่มในคณะปิยะมิตร ที่ย่านตลาดจีน (กาดกองต้า)
ที่มา: http://www.m-culture.in.th/album/170437/บ้านแม่แดง

 

คณะปิยะมิตรนี้ คือเครือข่ายนายทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และพ่อค้านักธุรกิจในจังหวัดลำปาง ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๘๘ (ค.ศ. 1943-1945) ที่รวมตัวเที่ยวกลางคืนกินดื่มอย่างไม่เป็นทางการจนถึงกับตั้งภัตตาคาร “ปิยะมิตร” ของตน เพื่อปลุกปลอบใจในชะตากรรมที่ไม่แน่นอนยามสงคราม พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พี่ใหญ่) ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑๓ และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกลำปาง เป็นหัวหน้าคณะกินดื่มปิยะมิตรนี้

จากวงเหล้าเครือข่ายปิยมิตรได้ขยายวงในหมู่ข้าราชการและพ่อค้าประชาชนสำคัญในจังหวัดลำปาง เช่น

  • พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พี่ใหญ่) ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑๓
  • นายอนันต์ หิรัญญชาติธาดา นายอำเภอเมืองลำปาง
  • พ.ต.ต. เทียบ สุทธิมณฑล ผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดลำปาง
  • ร.ต.ท. ประธาน โชติศิริ ผบ.หมวดกองตำรวจภูธร จังหวัดลำปาง
  • ร.ต.ต. สำราญ กรัดสิริ ผบ.หมวดกองตำรวจภูธร จังหวัดลำปาง
  • พ.ท. จิตติ นาวีเสถียร เสนาธิการกรมทหารราบที่ ๑๓
  • พ.ท. ชลอ จารุกลัส ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓๐
  • พ.ต. บุญชัย บำรุงพงศ์ นายทหารฝ่ายเสนาธิการกองพลที่ ๔
  • พ.ต. อรรถ ศศิประภา ผู้บังคับกองพันปืนกลหนักที่ ๑
  • น.ต. บุญชู จันทรุเบกษา กองบินน้อยผสมที่ ๘๕
  • นายบรรเจิด ชลวิจารณ์ ผู้จัดการบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ลำปาง
  • นายบุญเที่ยง พานิชพันธ์ ผู้จัดการลำปางจังหวัดพาณิชย์ จำกัด
  • นายประเวศน์ บริราช ผู้จัดการโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง (เกาะคา)
  • นายวิชัย โลจายะ เลขานุการโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง (เกาะคา)
  • นายพงษ์สวัสดิ์ สุริโยทัย คหบดีป่าไม้หนุ่ม

จากที่วงเหล้า “ปิยะมิตร” นี้กินเที่ยวกันสม่ำเสมอ จึงขยายเป็นวงสังคมที่ใหญ่กว่าวงเหล้า ไปตามหมู่เพื่อนของเพื่อน นำไปสู่ความช่วยเหลืองานสังคม เรื่องส่วนตัว ขยายไปถึงงานส่วนรวมของจังหวัด เช่น การให้คำแนะนำจากพ่อค้าท้องถิ่นแก่บรรดาทหาร ตำรวจ ข้าราชการเกี่ยวกับภูมิประเทศ สภาพท้องที่ และผู้คนในจังหวัดลำปาง การช่วยเหลือด้านสินค้าแก่ทางราชการ ในขณะที่ฝ่ายราชการได้ช่วยประสานลดความตึงเครียดกับฝ่ายญี่ปุ่น ที่เรียกร้องความต้องการจากฝ่ายพลเรือน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ที่ได้ร่วมงานกัน คือการทำงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นในพื้นที่จังหวัดลำปาง

 

ปฏิบัติการสะวันนา : การเข้ามาของเสรีไทยสายอังกฤษในจังหวัดลำปาง

 


ภาพวาดจำลองการสืบข่าวเสรีไทยลำปาง และเสรีไทยสายอังกฤษ ในย่านการค้าและซ่องโสเภณีเมืองลำปาง
ที่มา: คู่มือประวัติศาสตร์ศึกษายุทธเวหาลำปางเรื่อง ลำปางกับเหตุการณ์ญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยศักดิ์ รัตนชัย ลำปาง, ภาคเหนือนิวส์-เสียงโยนก, ๒๕๓๔

 

ในจังหวัดลำปางเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานเสรีไทยสายอังกฤษ มีนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษสังกัดกองกำลัง ๑๓๖ (Force 136) กองกำลังรบพิเศษของอังกฤษในเอเชียอาคเนย์) ชุดปฏิบัติการสะวันนา (Savanna) เข้ามาดำเนินงานได้แก่

  • ร้อยตรี ทศ พันธุมเสน บุตรชายพันเอก พระยาทรงสุรเดช ผู้นำฝ่ายทหารวันปฏิวัติ ๒๔๗๕
  • ร้อยตรี บุญส่ง พึ่งสุนทร น้องชายนายปราโมทย์ พึ่งสุนทร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เสรีไทย และคณะราษฎรผู้ใกล้ชิดนายปรีดี พนมยงค์
  • ร้อยตรี หม่อมเจ้า จีริดนัย กิติยากร พระปิตุลาสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลปัจจุบัน)

ภายหลังเข้ารับการฝึกมาอย่างหนักในอังกฤษและอินเดียแล้ว ชุดปฏิบัติการสะวันนา ได้โดยสารเครื่องบิน Liberator VI - B24 แห่งฝูงบิน ๓๕๗ (อังกฤษ) เดินทางเข้ามาปฏิบัติการในไทย ตั้งแต่วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) ทำการกระโดดร่มที่ภูกระดึง จังหวัดเลย แล้วรายงานตัวต่อผู้สำเร็จราชการปรีดี พนมยงค์ (รู้ธ) หัวหน้าขบวนการเสรีไทยในพระนคร

จากนั้นชุดปฏิบัติการสะวันนาก็ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติงานเสรีไทยด้านจังหวัดลำปางและเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) โดยสารรถไฟไปลงที่สถานีหนองวัวเฒ่า ลำปาง พล.ต. สุทธิ์ สุทธิสารรณกร ผู้บัญชาการกองพลที่ ๔ รับตัวชุดปฏิบัติการเสรีไทยเหล่านี้ด้วยตนเอง หลังจากนั้นมอบให้ ร.ต. ทศ พันธุมเสนไปประจำที่โรงงานน้ำตาลเกาะคา ในขณะที่ ร.ต. บุญส่ง พึ่งสุนทร และ ร.ต. ม.จ. จีริดนัย กิติยากรไปตั้งสถานีวิทยุที่กองบัญชาการกองพลที่ ๔

 

การสืบข่าวทหารญี่ปุ่น

ภารกิจแรกเริ่ม ของนายทหารเสรีไทยเหล่านี้คือการสืบข่าวความเคลื่อนไหวทหารญี่ปุ่นในลำปางและเชียงใหม่ เพื่อเป็นข้อมูลข่าวสารให้แก่กองกำลัง ๑๓๖ (Force 136) ในการวางแผนตัดสินใจต่อต้านญี่ปุ่นในพื้นที่นี้

 


บ้านหม่องโง่ยซิ่น บ้านการค้าสำคัญในย่านตลาดจีน (กาดกองต้า) แหล่งข่าวสำคัญยามสงคราม
ที่มา: https://www.wongnai.com/reviews/ab3587473d654a34b3a5c229a22d5b26

 

เมื่อเสรีไทยจากกองพลที่ ๔ ออกสืบข่าวมักจะมีตำรวจท้องที่และพลเรือน (จากคณะปิยมิตร) เช่น ร.ต.ท. สำราญ กรัดศิริ และนายบุญเที่ยง พานิชพันธ์ จะคอยพาเสรีไทยเข้าไปในเมืองซึ่งมีทั้งย่านราชการ บริษัทห้างร้าน และย่านตลาด เพื่อสืบข่าวเกี่ยวกับทหารญี่ปุ่นที่มักจะวนเวียนในย่านเหล่านี้อยู่เป็นประจำ

 


ภาพวาดจำลองการทิ้งร่มอาวุธยุทธภัณฑ์ ให้แก่พลพรรคเสรีไทยลำปาง ที่ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ โดยมี ร.ต.ทศ พันธุมเสน และนายถนอม ใยบัวเทศ และกลุ่มพนักงานโรงงานน้ำตาลเกาะคาไปร่วมรับร่ม
ที่มา: คู่มือประวัติศาสตร์ศึกษายุทธเวหาลำปางเรื่อง ลำปางกับเหตุการณ์ญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยศักดิ์ รัตนชัย ลำปาง, ภาคเหนือนิวส์-เสียงโยนก, ๒๕๓๔

 


นายถนอม ใยบัวเทศ พนักงานโรงงานน้ำตาล ผู้ขี่จักรยานพา ร.ต.ทศ พันธุมเสน เสรีไทยสายอังกฤษ Force 136 สืบข่าวกองทหารญี่ปุ่นเมืองลำปาง
ที่มา: คู่มือประวัติศาสตร์ศึกษายุทธเวหาลำปางเรื่อง ลำปางกับเหตุการณ์ญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยศักดิ์ รัตนชัย ลำปาง, ภาคเหนือนิวส์-เสียงโยนก, ๒๕๓๔

 

ในขณะที่ ร.ต.ทศ พันธุมเสน ซึ่งประจำที่โรงงานน้ำตาลเกาะคา จะมีพนักงานโรงงาน เช่น นายเสน่ห์ วรกุล และนายถนอม ใยบัวเทศ ชวน ร.ต. ทศ ขี่จักรยานเข้าเมืองไปสืบข่าวทหารญี่ปุ่นเป็นประจำ โดยเฉพาะจากจากซ่องโสเภณีที่ทหารญี่ปุ่นมักใช้บริการ เช่น ซ่องย่าเสส่ง (ป่าขาม) ซ่องปู่เบี้ยวรถม้า ซ่องบ้านปู่เขียน และซ่องบ้านดอกไม้ เป็นต้น

หลายครั้งที่นายทหารเสรีไทยสายอังกฤษต้องทำธุรการส่งข่าววิทยุ คณะปิยะมิตรก็จะลงมือสืบข่าวหาข่าวเอง ส่งต่อให้เสรีไทยสายอังกฤษ

ผลจากการสืบข่าวของนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษเหล่านี้ ได้ทำให้เกิดการโจมตีทิ้งระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตรที่ตรงเป้าหมายกองทหารญี่ปุ่นมากขึ้น เช่นแถบท่าครางน้อย และบริเวณซึ่งจะเป็นหอนาฬิกาในเวลาต่อมา กองบินญี่ปุ่นที่สนามบินลำปาง

 

 


สถานีรถไฟนครลำปาง ย่านสบตุ๋ย จุดคมนาคมสำคัญของภาคเหนือ แหล่งข่าวสำคัญของเสรีไทย
ที่มา: ภาพจากเพจ 50+

 

ในด้านฝ่ายทหารกองพลที่ ๔ ก็ได้หาข่าวอย่างเต็มที่เช่นกัน ช่วงบ่ายถึงเที่ยงคืน นายทหารฝ่ายเสนาธิการของไทยจะตระเวนไปเที่ยวตามตลาด สถานีรถไฟที่สบตุ๋ย ที่ตั้งและคลังต่าง ๆ ของกองทหารญี่ปุ่น ซ่องโสเภณี รวมทั้งบ้านคน เพราะฉะนั้นเพื่อให้เข้าถึงผู้คนระดับต่าง ๆ ให้ได้ข่าวจำนวนทหารญี่ปุ่น การส่งกำลังบำรุง การเลี้ยงดู สภาพกำลังพลญี่ปุ่น เพื่อเตรียมแผนยุทธการสู้รบ

ในขณะเดียวกันฝ่ายทหารญี่ปุ่นได้ป้องกันการข่าวพรางการปฏิบัติ และทำข่าวลวงฝ่ายไทยเช่นกัน ครั้งหนึ่งมีการเคลื่อนขบวนรถไฟบรรทุกรถถัง ๒๐ คัน คลุมผ้าขาวเอาไว้ เมื่อสายสืบไทยเข้าไปเปิดดูปรากฏว่าเป็นเพียงหุ่นไม้เท่านั้น หรืออีกครั้งหนึ่งทหารญี่ปุ่นลำเลียงกระสุนด้วยขบวนเกวียนราว ๑๐๐ เล่มเกวียน เกวียนละ ๒๐- ๓๐ หีบกระสุน ปรากฏว่าวัวเทียมเกวียนตัวหนึ่งมีอาการตื่นคนวิ่งเตลิดไป ลังกระสุนหล่นแตกออกมาเป็นก้อนกรวดก้อนหินไปเสีย

 

ค่ายพลพรรคเสรีไทยในจังหวัดลำปาง

ในขั้นต่อมาได้จัดตั้งหน่วยพลพรรคเสรีไทยในลำปาง เพื่อทำการรบแบบกองโจรประสานกับฝ่ายทหารไทยซึ่งจะทำการรบตามแบบต่อสู้กับญี่ปุ่น ด้วยการสนับสนุนอาวุธจากฝ่ายอังกฤษ มีค่ายพลพรรคลำปางที่ต่าง ๆ ได้แก่

  • ค่ายพลพรรคหุบเขาในอำเภองาว จังหวัดลำปาง กองทัพพายัพได้สำรวจพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. 1944) ต่อมาเมื่อช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) ในพื้นที่ป่าอำเภองาวได้มีค่ายฝึกพลพรรคจัดตั้งขึ้นแล้ว โดยร่วมมือกับเสรีไทยจากอังกฤษ
  • ค่ายฝึกอาวุธในโรงงานน้ำตาล อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ซึ่งมีนายวิชัย โลจายะเป็นผู้จัดการ ร.ต. ทศ พันธุมเสน (เสรีไทยสายอังกฤษ) เป็นผู้ฝึก
  • ค่ายเสรีไทยบ้านป่าโทก ในเขตอำเภอเมือง ห่างจากสถานีรถไฟนครลำปาง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปประมาณ ๑๒.๕ กิโลเมตร พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และเสรีไทยสายอังกฤษ ได้เป็นผู้จัดตั้งและจัดทหารไปประจำค่ายฝึกนี้

ทั้งนี้นายทหารเสรีไทยสายอังกฤษได้ประสานงานในการรับอาวุธจากฝ่ายอังกฤษ มีครั้งหนึ่งที่เครื่องบินฝ่ายอังกฤษได้ทิ้งร่มที่ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ โดยมี ร.ต. ทศ พันธุมเสน และนายถนอม ใยบัวเทศ พนักงานโรงงานน้ำตาลเกาะคาไปร่วมรับร่ม โดยค่ายพลพรรคเหล่านี้มีกำลังพลจากพลเรือน (มหาดไทย ครู โรงงานน้ำตาล และประชาชน) ตำรวจ และทหารบางส่วน เมื่อเกิดเหตุปะทะ พลพรรคจะทำการรบแบบกองโจร (Guerrilla Warfare) ลักลอบจู่โจมและก่อวินาศกรรมกองทหารญี่ปุ่นในและนอกเมือง พร้อมกับที่กำลังทหารกองพลที่ ๔ จะทำการรบตามแบบ (Conventional Warfare)

อย่างไรก็ตามการจัดตั้งหน่วยพลพรรคและการรับอาวุธด้านจังหวัดลำปาง ยังไม่ทันสำเร็จสมบูรณ์ สงครามได้ยุติลงเสียก่อน

 

การคุ้มครองเชลยศึกสัมพันธมิตรจากทหารญี่ปุ่น

นอกจากการจัดตั้งค่ายพลพรรคเสรีไทยและสนามบินลับในพื้นที่จังหวัดลำปางแล้ว ยังมีหน้าที่สำคัญอีกประการคือการให้ความปลอดภัยแก่บุคคลชาติสัมพันธมิตรในจังหวัดลำปาง โดยเฉพาะนักบินสัมพันธมิตรที่รอดชีวิตจากเครื่องบินตก

เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) เครื่องบินขับไล่อเมริกัน Lockheed P-38 Lightning ของ ร.ท. เจมส์ คินซ์ (James Kintz) จากฝูงบิน ๖๐ (สหรัฐ) โจมตีที่สนามบินลำปางและสนามบินห้างฉัตรร่วมกับฝูงบิน แต่เครื่องของเขาเครื่องยนต์ขัดข้อง นักบินต้องกระโดดร่มบริเวณท้องนารอดชีวิตมาได้ ในครั้งแรกชาวบ้านลำปางเป็นผู้พบตัวนักบินก่อน แล้วพาไปซ่อนไว้ที่บ้านชาวบ้านแล้วให้นักบินอเมริกันผู้นั้นถอดเสื้อผ้าเหลือเพียงกางเกงใน

 


อาคารบ้านป่องนัก กองบังคับการจังหวัดทหารบกลำปาง (ปัจจุบันคือมณฑลทหารบกที่ ๓๒ ค่ายสุรศักดิ์มนตรี)
ที่มา: เพจ มณฑลทหารบกที่ ๓๒

 


วัดม่อนจำศีล ลำปาง ที่ตั้งสนามของกรมทหารราบที่ ๑๓ ภายใต้ผู้การสฤษดิ์ ธนะรัชต์
เคยเป็นที่ซ่อนเชลยนักบินอเมริกัน ก่อนส่งกลับฐานทัพในพม่า
ที่มา: เพจ วัดม่อนจำศีล นครลำปาง
https://www.facebook.com/monjumseen?locale=th_TH

 

เมื่อทหารญี่ปุ่นและทหารไทยไปถึงจุดเครื่องบินตกเพื่อค้นหานักบินผู้นั้น แต่ไม่พบตัวแล้วพากันกลับ ชาวบ้านจึงได้ไปกระซิบบอกทหารไทยให้รู้ตำแหน่งที่ซ่อนตัวนักบินผู้นั้น ทางฝ่ายทหารจึงได้นำนักบินผู้นี้ไปคุมขังที่กรมทหารราบที่ ๑๓ ที่ตั้งสนามวัดม่อนจำศีล ในบังคับบัญชาของผู้การสฤษดิ์ ธนะรัชต์(เพื่อพิทักษ์เชลยให้พ้นจากความทารุณของทหารญี่ปุ่น) เมื่อทหารญี่ปุ่นแจ้งไปยังข้าหลวงประจำจังหวัด (หลวงศุภการบริรักษ์) ขอดูตัวเชลยที่เรือนจำประจำจังหวัด ข้าหลวงต้องแกล้งถ่วงเวลาเพื่อส่งข้าราชการไปแจ้งผู้การสฤษดิ์ จนสามารถลักลอบพาเชลยจากกรมทหารส่งไปที่เรือนจำ ตบตาให้ทหารญี่ปุ่นพอใจได้

ต่อมาได้มีการสอบสวนเชลยผู้นี้ภายใต้คณะกรรมการประสานงานพันธมิตรร่วมฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายไทย ปรากฏว่าเชลยอเมริกันสามารถรักษาความลับของตน โดยญี่ปุ่นไม่อาจทารุณบีบบังคับ เพราะเป็นเชลยของฝ่ายไทย ต่อมาจึงได้ส่งเชลยอเมริกันรายนี้ไปกรุงเทพฯ เพื่อส่งกลับฐานทัพที่พม่าต่อไป

อีกครั้งหนึ่งในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) เครื่องบินขับไล่อเมริกัน Lockheed P-38 Lightning ของ ร.ท. ธีโอดอร์ เดเมซัส (Theodore Demazas) จากฝูงบิน ๖๐ (สหรัฐ) โจมตีกองบินญี่ปุ่นที่สนามบินลำปาง แล้วเครื่องบินลำนั้นถูกยิงตก นักบินกระโดดร่มลงที่ตำบลบ่อแฮ้ว คราวนี้ผู้การสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้นำรถยนต์ด้วยตนเองวิ่งเส้นทางอำเภอห้างฉัตรรับเชลยไปไว้ซ่อนตัวที่โรงงานน้ำตาลเกาะคา จังหวัดลำปาง

 

สายสัมพันธ์และปฏิบัติการเสรีไทยของจังหวัดลำปางและจังหวัดแพร่

 


นายทอง กันทาธรรม ผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ และหัวหน้าเสรีไทยจังหวัดแพร่
ที่มา: ตำนานเสรีไทย โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แสงดาว ๒๕๔๗

 

ในจังหวัดแพร่ได้มีหน่วยพลพรรคเสรีไทยใต้การนำของเจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ และนายทอง กันทาธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ โดยร่วมมือกับร้อยตรี ชโรช โล่ห์สุวรรณ นายทหารเสรีไทยจากสหรัฐอเมริกา

 


พลทหาร ชม สีตื้อ อดีตทหารเกณฑ์ชาวแพร่ ประจำกองพันปืนกลหนักที่ ๑ (ลำปาง) พลทหารที่อาสาไปเป็นสายลับปลอมตัวเป็นกรรมกร เพื่อหาข่าวในค่ายทหารญี่ปุ่นที่สบตุ๋ย ลำปาง..(สนับสนุนงานเสรีไทยแพร่/ผู้แทนทอง) พูดอยู่ไม่กี่คำ
"เพื่อชาติ ไม่ตายก็ได้กลับบ้าน"
ที่มา: เฟซบุ๊ค ภุชงค์ กันทาธรรม

 

เสรีไทยสายแพร่ยังได้ขอความร่วมมือจากกองทหารที่ลำปางภายใต้ผู้การสฤษดิ์ จึงส่งพลทหารเกณฑ์จากกองพันปืนกลหนักที่ ๑ มีตั้งใกล้สถานีรถไฟนครลำปาง สบตุ๋ย พันตรี อรรถ ศศิประภา เป็นผู้บังคับกองพัน ทหารมีภูมิลำเนาจากจังหวัดแพร่ได้แก่ พลทหาร ชม สีตื้อ พลทหาร สี บูคำชู พลทหาร ดี วงราษฎร์ พลทหาร จ๋อม วงราษฎร์ พลทหาร ชุ่น วงศ์ราษฎร์ ให้พลทหารเหล่านี้ปลอมไปเป็นกรรมกรทำมาหากินทั่วไปในค่ายทหารญี่ปุ่น ที่สบตุ๋ย (ย่านสถานีรถไฟ) เพื่อสืบข่าวการเคลื่อนไหวและที่ตั้งสำคัญของทหารญี่ปุ่นตามเส้นทางลำปาง-แพร่

เมื่อพลทหารเหล่านี้ได้ข้อมูลข่าวสารแล้วจึงจดใส่กระดาษซ่อนในผ้าขาวม้าที่ผูกต้นขา ซ่อนไว้ใต้กางเกงอีกทีหนึ่ง ไม่ให้ทหารญี่ปุ่นสังเกตเห็น แล้วพลฯ ชม สีตื้อ ได้รายงานให้แก่ผู้บังคับบัญชาทหารตามลำดับขั้น ก่อนจะส่งข่าวให้แก่นายทอง กันทาธรรม หัวหน้าเสรีไทยแพร่แล้วพลวิทยุหน่วยพลพรรคแพร่จึงแจ้งแก่หน่วยเหนือของ OSS.

จนกองบินสหรัฐส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดตามจุดที่ตั้งกองทหารญี่ปุ่นในจังหวัดแพร่ได้อย่างแม่นยำ ลดการทำลายชีวิตและทรัพย์สินราชการและประชาชนไทยไปได้มาก

 

ก้าวสู่สันติภาพ

ญี่ปุ่นได้ประกาศยุติสงคราม ยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) ก่อนที่กองทหารญี่ปุ่นกับกองทหารไทยและพลพรรคลำปาง จะเปิดฉากสู้รบเต็มรูปแบบ วันรุ่งขึ้น ๑๖ สิงหาคม ไทยประกาศสันติภาพ ให้การประกาศสงครามต่อสัมพันธมิตรและข้อตกลงกับญี่ปุ่นเป็นโมฆะ ด้วยขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นเป็นประจักษ์ และพร้อมร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรในการรักษาสันติภาพ โดยประเทศไทยยังคงมีเอกราชและอธิปไตย ไม่ต้องยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร กองทัพไม่ต้องวางอาวุธ และดินแดนไม่ถูกยึดครอง

หลังจากนั้นไทยได้ร่วมมือกับสัมพันธมิตรปลดอาวุธและควบคุมทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย จังหวัดลำปางเป็นอีกจุดหนึ่งในการตั้งค่ายเชลยควบคุมทหารญี่ปุ่นนับหมื่น

 


นายเสน่ห์ วรกุล พนักงานโรงงานน้ำตาลลำปาง ผู้พาเสรีไทยสายอังกฤษสืบข่าว
ที่มา: คู่มือประวัติศาสตร์ศึกษายุทธเวหาลำปางเรื่อง ลำปางกับเหตุการณ์ญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยศักดิ์ รัตนชัย ลำปาง, ภาคเหนือนิวส์-เสียงโยนก, ๒๕๓๔

 


นายบุญเที่ยง พานิชพันธ์ พ่อค้าหนุ่มคนลำปางเชื้อสายจีน ผู้ร่วมมือกับเสรีไทยสายอังกฤษ สืบข่าวทหารญี่ปุ่นในเมืองลำปาง
ที่มา: อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี บุญเที่ยง พานิชพันธ์ ต.ช. ต.ม. ณ เมรุวัดธาตุทอง พระโขนง, วันที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕

 


ร้อยตำรวจตรี สำราญ กรัดศิริ ผู้บังคับหมวดกองตำรวจภูธรเมืองลำปาง หนึ่งในกลุ่มเสรีไทยสืบข่าวทหารญี่ปุ่น
ที่มา: เพจ 77PPP

 

ที่น่าสนใจคือ ในทศวรรษต่อมาเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ขึ้นสู่จุดสูงสุด คือเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะปฏิวัติ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้นำเผด็จการทรงอำนาจแล้วทาวทหาร ตำรวจ พลเรือนในเครือข่ายปิยมิตรที่ลำปางคราวสงครามได้เติบโตในทางราชการหรือธุรกิจ อาจเพราะมีส่วนสนับสนุนอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ไม่มากก็น้อย ได้แก่

  • พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร (สุทธิ์ สุทธิสารรณกร) ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (เทียบเท่าประธานรัฐสภา)
  • พลเอก ชลอ จารุกลัส แม่ทัพภาคที่ ๒ และปลัดกระทรวงกลาโหม
  • พลเอก จิตติ นาวีเสถียร เสนาธิการทหารบก รองผู้บัญชาการทหารบก และผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารสูงสุด
  • พลอากาศเอก บุญชู จันทรุเบกษา ผู้บัญชาการทหารอากาศ
  • พลเอก บุญชัย บำรุงพงศ์ เสนาธิการทหารบกและผู้บัญชาการทหารบก
  • พลโท อรรถ ศศิประภา แม่ทัพภาคที่ ๑
  • พลตำรวจตรี สำราญ กรัดสิริ ผู้บังคับการกองปราบปราม
  • นายบรรเจิด ชลวิจารณ์ ผู้จัดการสหธนาคาร (ธนาคารใหญ่แห่งยุค) และประธานหอการค้าไทย
  • พันตรี บุญเที่ยง พานิชพันธ์ ข้าหลวงพาณิชย์ไทยประจำฮ่องกง และกงสุลใหญ่ไทยประจำฮ่องกง
  • นายวิชัย โลจายะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง และนายกเทศมนตรีเมืองลำปางสามสมัย
  • นายเสน่ห์ วรกุล ผู้จัดการโรงงานน้ำตาลเกาะคา (พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๐๙)

 

เสรีไทยลำปาง เรายังเรียนรู้ไม่จบ

แม้งานเขียนชิ้นนี้จะเล่าเรื่องราวงานใต้ดินลำปางได้มากพอสมควร แต่ผู้เขียนเห็นว่า ยังมีประเด็นให้ศึกษาค้นคว้าต่อไปได้อีกไม่น้อย

บทบาทของผู้นำประชาชนและมวลชนอื่น ๆ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานใต้ดินเพียงใด เช่น ผู้แทนราษฎรลำปางและมวลชนฐานเสียง  กลุ่มประชาคมพ่อค้าท้องถิ่นเชื้อสายอื่น ๆ เช่น ไทใหญ่ (ในขณะที่กลุ่มพ่อค้าพม่าได้สนับสนุนกองทัพพม่าอิสระ ภายใต้นายพลอองซาน) กลุ่มครูประชาบาลท้องถิ่น กลุ่มป่าไม้ที่มีกำลังชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่ง เป็นต้น รวมทั้งยังไม่ได้ค้นพบบันทึกของข้าหลวงจังหวัด นายอำเภอในยุคสงคราม

ที่สำคัญคือเอกสารชั้นต้นฝ่ายอังกฤษ จากหน่วยต้นสังกัดเสรีไทยสายอังกฤษ เช่น Force 136  น่าสนใจว่าบันทึกและรายงานถึงเหตุการณ์ในลำปางตรงยุคสมัยอย่างไร ในขณะที่ฝ่ายไทยจะบันทึกและบอกเล่าได้ ต่อเมื่อสงครามยุติ ไม่ต้องปิดเป็นความลับต่อฝ่ายญี่ปุ่น ทว่าการเข้าถึงเอกสารฝ่ายอังกฤษมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง

ข้อมูลเรื่องราวเสรีไทยลำปางจึงยังมีประเด็นให้ศึกษาได้ต่อไปอย่างกว้างขวาง

 

สรุปส่งท้าย เราเรียนรู้อะไรจากงานใต้ดินเสรีไทยลำปาง

เสรีไทยในลำปาง นับเป็นหนึ่งในการรวมตัวของภาคส่วนสำคัญที่หลากหลายในจังหวัด ทั้งข้าราชการฝ่ายมหาดไทย ทั้งจังหวัดและอำเภอ ตำรวจภูธร ทหารบก ทหารอากาศ นักธุรกิจท้องถิ่น โรงงานน้ำตาล ประชาชน ฯลฯ เพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นผู้รุกราน ที่มีความปึกแผ่นทรงพลัง หากอาศัยรากฐานความสนิทสนมจากวงเหล้า “ปิยะมิตร” ที่ได้กระชับมิตรอย่างเป็นกันเอง โดยร่วมมือกับเสรีไทยนักเรียนอังกฤษที่ลักลอบแทรกซึมเข้าดินแดนไทยเป็นภาพความร่วมมือที่อาจดูแล้วยากในสังคมปัจจุบัน ที่ช่องว่างด้านอาชีพ แวดวง วิธีคิด โลกทัศน์ห่างกันมาขึ้นทุกที

ปรากฏบุคคลที่เหมือนว่าเป็นภาพจำการเมืองต่างฝักฝ่ายในยุคต่อมา ต่างได้ร่วมงานใต้ดินเสรีไทยลำปางอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น พันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทอง กันทาธรรม ร้อยเอก ทศ พันธุมเสน ซึ่งได้เลื่อนยศหลังสงคราม เป็นต้น

จุดเด่นของปฏิบัติการใต้ดินเสรีไทยลำปาง คือการปฏิบัติงานในเขตเมือง ที่มีความซับซ้อนของกลุ่มคน ทั้งด้านสถานที่หลากหลาย เช่น ห้างร้าน บ้านเรือน ร้านเหล้า ซ่องโสเภณี บ่อน เส้นทางเข้าถึงง่าย ทั้งรถไฟ ทางเกวียน ถนน แม่น้ำ ท่ามกลางความเสี่ยงจากฐานทัพญี่ปุ่นและภัยทางอากาศจากสัมพันธมิตร โดยมีฐานสำรองใต้ดินนอกเมือง เช่น โรงงานน้ำตาล และค่ายทหารบางแห่ง ในขณะที่หลายจังหวัดงานใต้ดินเสรีไทยจะปฏิบัติงานนอกเมือง หรือในพื้นที่ป่าเขา

ภาพเสรีไทยหรือสนามรบ ที่มักจะดูเหมือนว่าอยู่ในสถานที่ป่าเขาห่างไกล บางครั้งอาจอยู่ในย่านชุมชนใกล้ตัวหลายคน อย่างไม่คาดคิด

และอาจนับเป็นครั้งแรก ๆ ที่คนลำปางและภาคเหนือของไทย ได้มีส่วนร่วมเพื่อประชาชาติไทยอย่างกว้างขวางถึงขนาดนี้ ทั้งที่เพิ่งได้รวมศูนย์อำนาจรัฐในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา และเพิ่งสร้างสำนึกของประชาชาติอย่างกว้างขวางตั้งแต่ยุคปฏิวัติ ๒๔๗๕

อย่างไรก็ตามเหรียญย่อมมีสองด้าน กลุ่มเครือข่าย “ปิยะมิตร” ที่เคยร่วมงานใต้ดินเสรีไทยลำปาง พร้อมเสียสละเพื่อเอกราชและสันติภาพ ทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน กลับจะได้มีบทบาทเป็นเครือข่ายอำนาจเผด็จการของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ในยุคต่อมา

เราจึงไม่อาจยึดถือความถูกผิดตายตัว ตัดสินขาวดำ จากประวัติศาสตร์และวีรบุรุษเสมอไป

 

หมายเหตุ

  • คงอักขร การสะกด และเลขไทยตามต้นฉบับ

 

บรรณานุกรม

  • กรมยุทธการทหารบก, การจัดหน่วยในสงครามอินโดจีนและมหาเอเชียบูรพา ๒๔๘๓-๒๔๘๔. โดย กรมยุทธการทหารบก, ๒๕๑๐ (เอกสารปกปิด)
  • ศักดิ์ รัตนชัย,คู่มือประวัติศาสตร์ศึกษายุทธเวหาลำปางเรื่อง ลำปางกับเหตุการณ์ญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ , (ลำปาง : ภาคเหนือนิวส์ - เสียงโยนก, ๒๕๓๔).
  • พล.อ. เนตร เขมะโยธิน,งานใต้ดินของพันเอกโยธี ,ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พล.อ.เนตร เขมะโยธิน ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๘, (นครปฐม : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๘).
  • ชีวประวัติของ พล.อ. พล.ร.อ. พล.อ.อ. หลวงสุทธิสารรณกร ธนาคารทหารไทย จำกัด พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พล.อ. พล.ร.อ. พล.อ.อ. หลวงสุทธิสารรณกร ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๕ มิถุนายน ๒๕๑๑, (พระนคร :โรงพิมพ์ศิวพร,๒๕๑๑).
  • ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร,ตำนานเสรีไทย, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว,๒๕๔๗).
  • ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์,น้ำวัง รถไฟ ไฮเวย์: ประวัติศาสตร์ลำปางสมัยใหม่, (ลำปาง : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, ๒๕๖๑).
  • บทบรรยายนายอาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. ในรายการ PRIDI Sanjorn : เรื่องเล่าประวัติศาสตร์และปฏิบัติการเสรีไทยในลําปาง วันศุกร์ที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ โดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง สืบค้นจาก https://www.facebook.com/TULP.pr/videos/3913538595570383
  • ประวัติและผลงานของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ คณะรัฐมนตรี พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๐๗, (พระนคร :โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี,๒๕๐๗).
  • ภุชงค์ กันทาธรรม,รักชาติยิ่งชีพของเรา ปฏิบัติการลับเพื่อชาติของ ผู้แทนฯ ทอง กันทาธรรม และเสรีไทยแพร่ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ , (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ พี.วาทิน พับลิเคชั่น, ๒๕๕๒).
  • พล.อ.อ. ศักดิ์พินิต พร้อมเทพ,รำลึก ๘๐ ปี สดุดีวีรชนสงครามมหาเอเชียบูรพา ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ประวัติกองทัพอากาศไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา,(กรุงเทพฯ: กองประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร กรมสารบรรณทหารอากาศ, ๒๕๖๔).
  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี บุญเที่ยง พานิชพันธ์ ต.ช. ต.ม. ณ เมรุวัดธาตุทอง พระโขนง วันที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕, (นครหลวงฯ: อมรการพิมพ์,๒๕๑๕).
  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก ไพฑูรย์ ขจรพันธุ์ ม.ว.ม. ป.ช. ณ ฌาปนสถานวัดชลประทานรังสฤษฏ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี วันอังคารที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๒
  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลโท เริงฤทธิ์ รุมาคม ม.ว.ม. ป.ช. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๐, (กรุงเทพฯ:อมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,๒๕๔๐).