Focus
- บทความนี้เสนอภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2567 และวิเคราะห์จาก World Economic Forum (WEF) ที่ได้ประกาศการจัดระดับโลกด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว (Travel & Tourism Development Index 2024 : TTDI) โดยเสนอให้เห็นการวัดผลลัพธ์เชิงนโยบายที่ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวจากประเทศต่าง ๆ จำนวน 119 ประเทศ เปรียบเทียบกับประเทศไทย สรุปจากสถิติพบว่าลำดับการท่องเที่ยวของประเทศไทยลดลงมา 6 ลำดับ จากเดิมที่ได้ลำดับที่ 41 เมื่อเปรียบเทียบจากข้อมูลในปี 2562 และในระดับโลกประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศระดับกลาง
- ผู้เขียนสรุปและเสนอต่อรัฐบาลไว้ว่า สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ ไม่ใช่เพียงแต่คำนึงถึงนโยบายดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่คุณภาพของการท่องเที่ยวก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ประเด็นอื่น ๆ นอกจากที่กำหนดไว้ในตัวชี้วัดนี้ เช่น คุณภาพการให้บริการ ราคาสินค้า และบริการที่เป็นธรรม ถือเป็นเรื่องสำคัญและควรใส่ใจ
การท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย หากพิจารณารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วงก่อนโควิด-19 คิดเป็นประมาณ 18% ของ GDP ซึ่งแน่นอนว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวไม่ใช่ภาพรวมของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด เพราะถ้ารวมรายได้โดยอ้อมจากการบริโภคของแรงงานในภาคการท่องเที่ยวกว่า 8 ล้านคน จะเห็นได้ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
โจทย์สำคัญหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างหนึ่งก็คือ จะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวไทยกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรายได้ให้กับประเทศ
อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปดูภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2567 ที่ผ่านมา World Economic Forum (WEF) ที่ได้ประกาศการจัดระดับโลกด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว (Travel & Tourism Development Index: TTDI) โดยเป็นการวัดผลลัพธ์เชิงนโยบายที่ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวจากประเทศต่าง ๆ จำนวน 119 ประเทศ พบว่าจากการจัดลำดับประเทศไทย อยู่ลำดับ 47 จากทั้งหมด เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ลำดับการท่องเที่ยวของประเทศไทยลดลงมา 6 ลำดับ จากเดิมที่ได้ลำดับที่ 41 เมื่อเปรียบเทียบจากข้อมูลในปี 2562 โดยในระดับโลกประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศระดับกลาง
ดัชนีชี้วัด TTDI นี้แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย (enabling environment) นโยบายด้านการท่องเที่ยวและเงื่อนไขที่เหมาะสม (T&T policy and enabling conditions) โครงสร้างพื้นฐานและบริการ (infrastructure and services) ทรัพยากรด้านการท่องเที่ยว (T&T resources) และความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว (T&T sustainability) โดยในแต่ละด้านจะมีเสาหลักย่อย ๆ ลงไปอีก ดังปรากฏตามภาพข้างท้ายนี้
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาผลสำรวจตามตัวชี้วัดต่าง ๆ จะพบว่าในกรณีของประเทศไทยจากตัวชี้วัดจำนวน 17 เรื่อง นั้นในหลาย ๆ เรื่องประเทศไทยได้คะแนนการประเมินอยู่ในเกณฑ์พอใช้ (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย) และมีคะแนนส่วนใหญ่ไม่ถึงคะแนนเต็ม 7 ซึ่งอาจจะไม่เป็นที่น่าพอใจนัก โดยเฉพาะหากพิจารณาในบริบทที่ประเทศไทยพยายามแสดงตนว่าเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยว
หากพิจารณาในเนื้อหาของตัวชี้วัด จะพบว่าในด้านที่ประเทศไทยค่อนข้างอ่อนแอนั้นมาจากหลายปัจจัย เช่น ตามเสาหลักเรื่องสุขภาพและสุขอนามัย (health and hygiene) พบว่าประเทศไทยได้รับการประเมินอยู่ที่ 4.31 คะแนน จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน เมื่อพิจารณาสาเหตุสำคัญที่ได้คะแนนน้อยจะพบว่า เงื่อนไขที่นำมาใช้ในการประเมินก็คือ ความเพียงพอของแพทย์ (และบุคลากรทางการแพทย์) ความเพียงพอของเตียง และการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด หรือในเสาหลักเรื่องความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย (safety and security) จะพบว่าประเทศไทยได้รับการประเมินอยู่ที่ 4.87 จากคะแนนเต็ม 7 และถ้าพิจารณาสาเหตุสำคัญที่ได้คะแนนน้อยจะพบว่า มาจากเงื่อนไขที่นำมาใช้ในการประเมินก็คือ ความเชื่อมั่นต่อตำรวจในพื้นที่ ความปลอดภัยในการเดินทางตอนกลางคืน และอัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากฆาตกรรม ในรายละเอียดของเสาหลักแต่ละเรื่องจะเห็นได้ว่า การประเมินดังกล่าวเกิดมาจากการพิจารณาโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ทั้งนั้น
เมื่อยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านทุกคนลองจินตนาการถึงภาพข่าวเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวถูกทำร้ายหรือฆาตกรรม หรือข่าวอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในเมืองท่องเที่ยวจะเห็นได้ว่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนความปลอดภัย ไม่ใช่เพียงแต่กับนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่กับคนในพื้นที่ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ตามปกติทุกวันด้วยเช่นกัน หรือปัญหาความไม่เพียงพอของบุคลากรทางการแพทย์หรือจำนวนเตียงในโรงพยาบาล สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับนักท่องเที่ยว แต่เกิดขึ้นกับคนไทยทุกคนที่หากเจ็บป่วยแล้วมาเข้ารับการรักษามักต้องเผชิญความแออัดในโรงพยาบาล
ปัญหานี้สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา แม้ว่าคณะรัฐมนตรีในชุดที่แล้วและชุดปัจจุบันจะมุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในฐานะของแหล่งรายได้และซอฟท์พาวเวอร์ อาทิ การให้ฟรีวีซ่า หรือการยกเว้นการเก็บค่าเหยีบแผ่นดิน นโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ในด้านหนึ่งก็เป็นการพยายามส่งเสริมด้านอุปสงค์ของการท่องเที่ยว โดยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวและใช้จ่ายเงินภายในประเทศ
แต่การเพิ่มเฉพาะอุปสงค์เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอมีประโยชน์ เพราะโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาจจะยังไม่ดีพอสำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยว อาทิ ระบบขนส่งที่เพียงพอและสะดวกสบาย (ไม่ต้องพึ่งพาแท็กซี่ราคาแพงในการเดินทาง) หรือความปลอดภัยในการท่องเที่ยว แต่สำหรับนักท่องเที่ยวเดินทางคนเดียว สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นพื้นฐานที่ต้องกลับมาใส่ใจ รวมถึงเป็นผลกระทบที่รัฐบาลต้องตระหนักถึงก่อนจะจัดทำนโยบายบางอย่างเช่น การยกเว้นการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินที่แม้แง่หนึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่เงินดังกล่าวกลับมีความสำคัญในการนำมาใช้จัดทำประกันภัยภาคบังคับให้กับนักท่องเที่ยว และนำมาใช้ในการบูรณะดูแลหรือส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว
หากคำนึงถึงลักษณะของแหล่งท่องเที่ยวในบริบทประเทศไทยที่มีอิงกับแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติแล้ว การกลับมาสนใจและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพราะหากแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเสื่อมโทรมไปแล้วจะต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นฟูดูแล และระหว่างนั้นประเทศไทยก็อาจจะเสียโอกาสในการหารายได้จากการท่องเที่ยวไป
ท้ายที่สุดสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ ไม่ใช่เพียงแต่คำนึงถึงนโยบายดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่คุณภาพของการท่องเที่ยวก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ประเด็นอื่น ๆ นอกจากที่กำหนดไว้ในตัวชี้วัดนี้ เช่น คุณภาพการให้บริการ ราคาสินค้า และบริการที่เป็นธรรมก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องกลับมาใส่ใจ ความต้องการเพียงแค่จะชักจูงให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก ๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงความพร้อมของประเทศ ความคุ้มทุน และผลประโยชน์ที่จะได้อาจจะเป็นการคิดแบบละโมบเกินไป
สิ่งที่รัฐบาลควรจะตระหนักอีกประการคือ การกลับมาหาประเด็นพื้นฐานที่สุดว่า ถ้ายังจัดการเรื่องภายในบ้านของตัวเองให้ดีและเรียบร้อยไม่ได้ การเปิดบ้านเพื่อต้อนรับแขกก็อาจจะกลายเป็นเรื่องขายหน้าไปที่สุด
เอกสารอ้างอิง :