Focus
- ตลาดน้ำเมืองโบราณ เป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ที่ บางปู จังหวัดสมุทรปราการ ก่อตั้งโดยคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้มีใจรักในศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมไทย โดยรวบรวมอาคารไม้เก่าจากทั่วประเทศมาสร้างเป็นเมืองลอยน้ำ ตลาดน้ำนี้สะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนริมน้ำในอดีต และเป็นพื้นที่ที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยโบราณกับศิลปะร่วมสมัย
- วิกฤตโควิด-19 ทำให้ตลาดน้ำหยุดพักชั่วคราว แต่กลายเป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนให้ตลาดน้ำเมืองโบราณเป็นแหล่งเรียนรู้งานศิลปะนานาแขนงและกำลังถูกพัฒนาให้เป็น “Community Theatre” และ Life Museum ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ สัมผัสวัฒนธรรมไทยในอีกมิติอย่างเข้าถึงและทั่วถึง โดยได้เปิดตัวใหม่เฟสแรกไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2568 ด้วย ZONE ที่ 1 Culture พร้อมกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การสอนศิลปะการแสดง วาดภาพ เสวนา ฉายหนัง ฟังดนตรี ฯลฯ
- ตลาดน้ำเมืองโบราณยังเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ การแสดงงานศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ฯลฯ ส่วนที่พิเศษคือการเปิดสอนหลักสูตร ‘ศิลปะการแสดงไทย’ ทั้งการแสดงละคร ภาพยนตร์ นาฏศิลป์ไทย ศิลปะการต่อสู้แบบไทยและแบบผสมผสาน โดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์และสร้างสรรค์ให้ร่วมสมัย ผ่านศิลปะการเคลื่อนไหวและทักษะการแสดงต่าง ๆ
‘ตลาด’ คือ ‘ชีวิตของชุมชน’ ที่รวมคนหลากเผ่าหลายพันธุ์มาร่วมสังสันทน์ แบ่งปัน แลกเปลี่ยน เวียนหลอม ให้เกิด ‘พหุวัฒนธรรมประจำถิ่น’ ตามวิถีธรรมชาติ เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถทำให้นักลงทุนคำนวนความเสี่ยงได้ว่าต่ำสุดในบรรดาหมุดธุรกิจทั้งมวล แต่มีความหมายสำคัญที่ซ่อนคำขยายภายใต้ Key ที่เป็นหัวใจของตลาด คือต้องไม่ขาด ‘ความหลากหลาย’ และสำหรับ ‘ตลาดน้ำ’ ความหลายหลากมากตัวเลือกอย่างมีเอกลักษณ์ของพื้นที่ก็ยังไม่พอ เพราะจุดที่จะ ‘เป็นต่อ’ คือต้องมี ‘อัตลักษณ์พื้นถิ่นตามวิถีธรรมชาติ’ และมีบรรยากาศชวนวาดให้ถวิลอดีต จารีต ประเพณี ที่หล่อหลอมผู้คนให้มี ‘วัฒนธรรมร่วม’ มารวมในแหล่งเดียวกัน แต่ต้องถ่องแท้แก่ความเป็น Mass’ ด้วยแผนการตลาดที่กวาดกิจกรรมเฉพาะกลุ่มมารุมในจุดเดียวให้ได้อย่างเบิกบาน บนฐานที่ได้เลือกแล้วซึ่งแนวทางที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง คือสิ่งที่เป็น ‘หัวใจหลัก’ และต้องมี ‘ลักษณะเฉพาะ’ ให้ทีมบริหารต้องทำงานหนักกว่าตลาดทั่วไปในเงื่อนไขธุรกิจสากล บนแนวทางของงานรักษาคุณค่าความหมายในอดีตของ ‘ตลาดน้ำไทย’
‘ตลาดน้ำเมืองโบราณ สมุทรปราการ บางปู’ พื้นที่อันเป็น OASIS ของ เมืองโบราณ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘โรงถ่ายเมืองโบราณ’ ในสายงานการผลิต (production) ทั้งภาพยนตร์ ละครทีวี ซีรีส์ สารคดี ตลอดจนเวทีเฉพาะกิจ ฯลฯ จึงมีสถานะเป็น ‘เมืองจำลอง’ ในบทบาทของ ‘ฉาก’ ส่วนประกอบสำคัญของงานสร้างมาตลอดช่วงเวลาที่มากกว่าศตวรรษ จวบจนการมาถึงของ วิกฤตโควิด-19 ตลาดน้ำได้หยุดพัก เหมือนคนได้มีเวลาทักถามใจ เพื่อจัดการความเป็นไปในชีวิตของตัวเอง วิกฤตจึงกลายเป็นโอกาสต่อการปรับเปลี่ยนตลาดให้เป็นแหล่งรวมของศาสตร์และปราชญ์นานาแขนง สมสถานะ ‘เมืองโบราณ’ ที่เป็นทั้ง พิพิธภัณฑ์ เมืองจำลอง และอุทยานประวัติศาสตร์ แหล่งรวมโบราณสถานสำคัญของประเทศไทย ให้มีบทบาทใหม่ในฐานะ ‘ตัวเอก’ สามารถเสกให้พื้นที่กว่า 800 ไร่แห่งนี้ มีความเป็น ‘โรงมหรสพชุมชน’ (Community Theatre) ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ ให้เป็นหมุดหมายสำคัญอีกจุดของจังหวัดสมุทรปราการ อดีตเมืองหน้าด่านน่านน้ำในอ่าวไทย
เมืองแห่งวิริยะอุตสาหะ
‘เมืองโบราณ’[1] ก่อตั้งขึ้นด้วยความตั้งใจและความอุตสาหะวิริยะของ เล็ก วิริยะพันธุ์[2] (ครบรอบ 110 ปี ชาตกาล เมื่อ พ.ศ. 2567) นักธุรกิจที่มีใจรักในศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และวิถีไทย เป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณ พิพิธภัณฑ์เอราวัณ และประสาทสัจธรรม ล้วนอภิมหาสถาปัตยกรรมล้ำค่าที่คนไทยภูมิใจ ในวาระ 100 ปีชาตกาลเมื่อปี 2557 สด แดงเอียด อดีตอธิบดีกรมการศาสนา กล่าวถึงคุณเล็กว่า “เป็นคนที่มีความมุ่งมั่น ทำงานบรรลุผลทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ ท่านเข้าถึง ‘เบญจภูมิ’ ที่เป็นภูมิพื้นฐานชีวิตและสังคม ได้แก่ ภูมิศาสตร์, ภูมิปัญญา, ภูมิธรรมะ, ภูมิรู้ และภูมิใจ”
เมืองโบราณเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งระดับโลกบนพื้นที่กว่า 800 ไร่ เริ่มก่อสร้างในปี 2506 ใช้เวลากว่า 10 ปี จึงสำเร็จในโครงสร้างหลัก ‘ตลาดน้ำเมืองโบราณ’ เป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณ เกิดจากการที่คุณเล็ก ได้ออกเดินทางไปสำรวจท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย จนเข้าใจลักษณะทางภูมิวัฒนธรรมของพื้นที่ต่าง ๆ อย่างถ่องแท้ คุณเล็กได้เกิดความประทับใจเมืองริมน้ำที่ยังหลงเหลืออยู่ จึงนำมาเป็นแนวคิดในการสร้างเมืองลอยน้ำและตลาดน้ำของเมืองโบราณขึ้นที่ บางปู จังหวัดสมุทรปราการ
แรกเริ่มก่อสร้างได้มีการรวบรวมอาคารไม้เก่าที่ยังหลงเหลืออยู่จากหลาย ๆ พื้นที่ นำมาสร้างและจัดวางให้สอดคล้องคล้ายคลึงกับร่องรอยเมืองริมน้ำตามแบบเมืองเก่าในภาคกลาง รวมถึงศึกษาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณและภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เพื่อให้สภาพภูมิสถาปัตย์มีความสมบูรณ์สอดคล้องใกล้เคียงบรรยากาศของเมืองลอยน้ำที่ยังเฟื่องฟู การสร้างตลาดน้ำเมืองโบราณนี้ นับเป็นการวางรากฐานของการเป็น ‘พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง’ ที่ชัดเจนและดีที่สุด ในอันที่จะสะท้อนให้แลเห็น วิถีชีวิต วัฒนธรรม ของผู้คนที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เพื่อสืบสานมรดกอารยธรรมของสยามประเทศผ่านสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าจากทุกภาคทั่วประเทศไทย
ตลาดน้ำ ‘วัฒนธรรมตลาดไทย’ ที่ปรากฏอยู่คู่ชุมชนคนริมน้ำ ยังปรากฏมีและเป็นที่ชื่นชอบทั้งของคนไทยและโดยเฉพาะชาวต่างชาติ ตลาดน้ำเมืองโบราณมีปณิธานสืบสาน ‘วิถีชุมชนชนคนริมน้ำ’ ด้วยการร่วมกันต่อยอด ‘ตลาดน้ำไทย’ ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สร้างการรับรู้สู่สากล เมื่อมาเยือนตลาดน้ำแห่งนี้ เท่ากับได้มาท่อง ‘เมืองโบราณ อุทยานประวัติศาสตร์’ ที่ดำรงมายาวนานกว่า 6 ทศวรรษ กับการพัฒนาเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งยิ่งใหญ่ในระดับโลก ที่สามารถเที่ยวชมโบราณสถานทั่วประเทศไทยได้ในเวลาเพียง 1 วัน มีความสุขกับเมืองที่จำลองวิถีคนเมืองน้ำของสยาม ทั่วบริเวณตลาดเป็นเวิ้งที่เย็นฉ่ำด้วยสายน้ำ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ให้ท่องเที่ยวชมความเป็นไทยได้ตลอดทั้งวัน ที่สำคัญเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีระบบการจัดการน้ำที่ดีเยี่ยม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้วยความสมบูรณ์ของ ตลาดน้ำเมืองโบราณ สมุทรปราการ ซึ่งสร้างขึ้นจากการรวบรวมเรือนไทยอาคารเก่ามาจัดวางอย่างเต็มไปด้วยองค์ประกอบงดงามทางศิลปะ ที่นี่จึงเป็นสถานที่ที่มีกองถ่ายทำ ทั้งชาวไทย และต่างประเทศ มาใช้ถ่ายทำ ละคร ซีรีส์โฆษณาภาพยนตร์ เป็นอันดับหนึ่ง ตลาดน้ำแห่งนี้จึงอยู่ในภาพจำของคนไทยทั้งประเทศ และเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ 60 ปีที่ผ่านมา ‘ตลาดน้ำเมืองโบราณ’ ดำรงคงอยู่เพื่อรักษาคุณค่าความหมายในอดีตของ ‘ตลาดน้ำไทย’ ที่พร้อมเปิดรับความต่างระหว่างยุคสมัย ให้ตลาดน้ำไทยนำไปสู่ความ ‘ร่วมสมัย’ ที่เปิดรับทุกเพศ ทุกวัย ทั้งชาวไทยและนานาชาติ
ตลาดน้ำเมืองโบราณ Life Museum
แผนการสร้างชุมชนจึงถูกออกแบบจัดวางตามแนวทาง ความรัก ความฝัน ของผู้ร่วมสร้างร้าน (Character Design) เชื้อเชิญพี่น้องชาวตลาดน้ำไทยมาร่วมสานสร้างความสุขให้กับผู้มาเยือน ยินดีและรอต้อนรับผู้ที่มีใจรักในตลาดน้ำ นำสินค้ามาร่วมจำหน่าย และขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาร่วมนิยมชมชื่นตื่นตากับสินค้าจากตลาดน้ำไทย เพลินใจกับกิจกรรมหลากหลายสายศิลป์ การเกิดใหม่ครั้งนี้ของตลาดน้ำเมืองโบราณ จึงพร้อมเปิดเป็น ‘ตลาดน้ำนานาชาติ’ พร้อมสินค้าหลากหลาย เชิญชวนนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาถ่ายภาพบนฉากหลังของภาพยนตร์ดี ซีรีส์ดัง ที่เคยเป็นความหลังอันงดงาม ยิ่งใหญ่ สุดประทับใจ ให้ได้ตามรอย ร้อยรังสรรค์ประวัติศาสตร์ร่วมกัน ด้วยการแต่งกายแบบเดียวกับดารานักแสดงที่ทุกคนชื่นชอบ มอบความประทับใจให้กับคนที่พบเห็น เป็นความสุขที่สัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรม
Soft Opening 11 มกราคม ปี 2568 วันเปิดตลาดน้ำเมืองโบราณ ครูอี๊ด ชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ อดีต นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ให้เกียรติมาเยือน ถ่ายรูปกับ mascot น้องนะโม & น้องนามามิ
การเกิดใหม่ครั้งนี้เริ่มเปิดใหม่เมื่อ 11 มกราคม ปี 2568 ด้วย ZONE ที่ 1 Culture ตามด้วยวาระพิเศษวันตรุษจีนเพิ่มความเป็นศิริมงคลมั่งมีศรีสุข 29 มกราคม ปี 2567 การออกแบบงานกิจกรรมสัมพันธ์บอกแนวคิด ‘เหนือธุรกิจ คือวิถีชีวิต และอารยธรรม’ เป็นตัวอย่างกิจกรรมที่จะมีขึ้นตลอดปีในวาระต่าง ๆ เพื่อสร้างให้ตลาดน้ำเมืองโบราณเป็น ‘สุนทรียสถาน’ เพื่อการผ่อนกายคลายใจ ท่องเที่ยวในอุทยานประวัติศาสตร์ เรียนรู้ในตลาดอย่างรื่นรมย์ เปิดโซนแรกด้วย Village Market พร้อมต้อนรับทุกคนด้วยร้านค้า Food Street, Tea Bar ฯลฯ ในบรรยากาศ Vintage Shops ท่ามกลางสถาปัตยกรรมเรือนไทยสมัยรัชกาลที่ 5 คืนมนต์เสน่ห์แห่ง ‘เวนิสตะวันออก’ สู่สยามประเทศ ด้วยวิถีไทยริมน้ำ ท่ามกลางบรรยากาศตลาดชุมชนคน Community Theatre เสมือนบ้านที่สองของครูกับศิษย์
- เพลิดเพลินกับ Workshop สอนศิลป์โดยศิลปินไทยร่วมสมัย สนุกได้ความรู้จากกูรูในการจัดกิจกรรมแบบ Member Club กับ Siam Samai Teabar ร่วมกับ Happypeople Culture Connect
- ช็อปปิงสินค้า ของฝากหลากสไตล์ Beauty Fashion, Health & Wellness, Food Souvenir, ชมการแสดง MUSIC AND ART PERFORMANCE จากนักแสดงศิลปินไทย และนานาชาติ
อานุภาพของศิลปะในการสร้างภาพลักษณ์ อัตลักษณ์ร่วมสมัย ในตลาดน้ำเมืองโบราณ Workshop พู่กันจีน จากศิลปิน ‘ต๊ะ พู่กันจีน’ ณ ศาลาหยก เมืองโบราณ
จุดนัดพบ สังสันทน์ เสวนา ‘สภาชา-กาแฟ’ ใช้หัวใจก่อร่างสร้างฝัน สร้างสรรค์ “สยามสมัยชาบาร์” (Siam Samai Teabar) ใช้ความเป็นศิลปินในการออกแบบ ใช้ความเป็น manager ในการจัดการ ใช้การเป็นนักออกแบบเทศกาลทำให้พื้นที่มีชีวิต บนเวิ้งน้ำในมุมที่สวยที่สุดของตลาดน้ำ เป็นจุดเริ่มต้นของ ‘สังคมศิลป์’ ชุมชน ของคนรักศิลปะก่อตัวขึ้นในตลาดเล็ก ๆ กลาง เมืองโบราณ สมุทรปราการ บางปู
TEA TALK ล้อมวงเล่าจับเข่าวงน้ำชา ณ สยามสมัยชาบาร์ คุยกันเมื่อ วันที่ 29 มกราคม ปี 2568 ในประเด็นที่เป็น ‘จุดร่วม’ ของ ‘อารยะตะวันออก’
“ขุมทรัพย์ถ้วยชามโบราณ บ้านขุนสมุทรจีน สู่ศิลปะเครื่องลายครามบนโต๊ะอาหาร โดยอาจารย์ วัฒนชัย ชูมาก (จาก ม.ราชภัฏธนบุรี) และ จิรายุ วัยวุฒิ จาก IKTHAI Clay Craft Creation Thailand พร้อมแผนแลกเปลี่ยนพัฒนา นำงานปั้นโบราณสู่การผลิตสร้างสรรค์ร่วมสมัย ต่อยอด เพื่อสร้างเป็นอัตลักษณ์ของ ‘เครื่องปั้นตลาดน้ำเมืองโบราณ’ ต่อไป
สาธิตการแต่งกาย ชุดเสื้อผ้าจากละคร และภาพยนตร์ ออกแบบสร้างสรรค์โดย ผู้ออกแบบเสื้อผ้า รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม สุกัญญา มะเรืองประดิษฐ์ (ซ้าย)
ฉายหนังกลางแปลงกลางแสงจันทร์วันตรุษจีน ชมหนังขายยา โฆษณาโบราณ จัดฉายด้วยเครื่องฉายหนังโบราณ ฉายหนังจีน ไทย กำลังภายใน “อัศวินดาบกายสิทธิ์” กิจกรรมสุนทรียะที่ ตลาดน้ำเมืองโบราณ สมุทรปราการ บางปู
ทุกจุดสามารถจัดเป็นโรงมหรสพกลางแจ้งได้ เพลินการแสดงกับแหล่งเรียนรู้ไปพร้อมกัน วันตรุษจีนพบการบรรเลงเพลงจากซอจีน โดย ครูเหนือ นำภาค ศรีบัณฑิตมงคล[3] ผู้ก่อตั้งวงดนตรี “ซอผสมผสานสยามหูฉิน” และ page “Erhu Lover Thailand”
มากกว่าความเป็น ‘ตลาด’ คือ ‘แหล่งเรียนรู้’
วันเกิดใหม่ของ ตลาดน้ำเมืองโบราณ เปิด 11 มกราคม ปี 2567 (Soft Opening) รวมพลคนรักศิลปะ และนักท่องเที่ยวที่สนใจร่วมกิจกรรม ครูหนืด นิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนการแสดง ‘Monta Performing Arts’ นำพูดคุยในประเด็นของการสร้าง Art Community แห่งใหม่อย่างเปิดใจในฐานะผู้มีประสบการณ์ ‘งานพัฒนาชุมชนด้วยศิลปะการแสดง’ มาแล้วมากมายหลายแหล่งทั่วประเทศ ได้นำแนวทางของการสร้าง ‘หอศิลป์ชุมชน’ (โครงการพัฒนาหอศิลป์ร่วมสมัยสู่ภูมิภาค กระทรวงวัฒนธรรม)[4] มาเป็นโมเดลในงานบริหารจัดการ Art Space แห่งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดระหว่าง พื้นที่ กับ Community และผู้ที่ร่วมเรียนรู้ทุกคน
“ถ้าเราอยากจะสร้าง ‘หอศิลป์ในชุมชน’ ขอให้มองก่อนว่าเราต้องทำความนิยามตัวนี้ให้ชัดว่า อะไรคือหอศิลป์ อะไรคือพิพิธภัณฑ์ อะไรคือพื้นที่ศิลปะ อะไรคือแหล่งเรียนรู้ เพราะสิ่งเหล่านี้จะคาบเกี่ยวกันอยู่ แต่จริง ๆ แล้ว ทุกอย่างอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ พอเราไปจำกัด นิยาม หรือ ความหมายว่าหอศิลปจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ บางทีมันทำให้พื้นที่ไม่ได้ถูกทำงาน เพราะเราต้องเข้าใจว่า ‘ชุมชนคือ Community’ ถ้าไปทำงานร่วมกับชุมชนต้องเข้าใจว่านี่คือ ‘พื้นที่กลาง’ ที่ทุกคนน่าจะเข้ามามีบทบาทใช้สอยให้เกิดประโยชนร่วมกันได้ครับ
ผมศึกษาเรื่อง Community Theatre มานานแล้ว ลักษณะของโรงละครชุมชนก็คือ Art Space นั่นเอง ที่ถูกทำมาตั้งนานแล้วในหลายประเทศหลายพื้นที่ ‘space’ ในที่นี้อาจจะเป็นพื้นที่เปล่า ๆ ก็ได้ อาจเป็นพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ในทางสาธารณะก็ได้ ถ้าเราจะสร้างให้เกิดศิลปะไม่ว่าจะอยู่ในอาคาร หรือในพื้นที่ที่เราไปสร้างให้มันเป็น พื้นที่ศิลปะ หรือ Art Space เราก็ทำได้ทั้งคู่ โดยที่ไม่จำกัดว่าจะต้องเพื่อศิลปิน เพื่อแสดงผลงาน หรือเพื่อที่จะนำเสนอเฉพาะศิลปะเท่านั้น แต่ว่ามันได้ทำหน้าที่ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นด้วย ภายใต้การดำรงอยู่ร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน และใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ
อย่างแรกพอเราคิดอยากจะทำ ‘หอศิลป์’ สิ่งแรกที่ทุกคนคิดคือ เงินทุน อยากบอกก่อนว่า คำว่า ‘ทุน’ ในที่นี้คือ ต้องเริ่มต้นมาจาก ทุนของเราเอง คือ ตัวเราเอง ความชอบที่เราอยากจะทำ ความชอบที่เราอยากจะสื่อสาร ต้นทุนที่เรามีที่เราอยากจะเอาไปขับเคลื่อน อย่ามองว่าหอศิลป์คือพื้นที่หาผลงานที่อื่น หรือหาผลงานคนอื่นมาใส่ เพราะเมื่อไรที่เราทำอย่างนั้น มันจะทำให้ความเป็นตัวตนของเรามันปรากฏชัดเจน แม้กระทั่งการสร้างสรรค์เราจะไปต่อยากเพราะว่า เราจะต้องพึ่งพาต้นทุนจากหลายที่ เพราะฉะนั้นอะไรที่เรารู้ อะไรที่เรามี อะไรที่เราเป็น คือต้นทุนแรกที่เริ่มต้น แล้วเราก็ไปฝังตัวกับพื้นที่เพื่อหาแนวร่วม
อันดับต่อมาคือ ให้มองหอศิลป์ในฐานะที่เป็น พื้นที่ (space) อย่าไปมองว่ามันคือ อาคาร (building) ถ้าเรามองอย่างนั้นมันจะมีต้นทุนสร้างที่ค่อนข้างสูง มันจะมีการดูแลที่ทำให้เราค่อนข้างจะยากลำบากในการที่จะพัฒนาดูแลระยะยาว ถ้าเราสร้างหรือดูแลไม่ได้ ความฝัน หรือ การพัฒนา มันก็ไปต่อไม่ได้ เพราะฉะนั้นให้มองว่ามันคือ ‘พื้นที่’ ดังนั้น พื้นที่ใด ๆ ที่มีอยู่แล้วในชุมชน พื้นที่ใด ๆ ที่ขอความร่วมมือได้ พื้นที่ใด ๆ ที่สามารถส่งเสริมร่วมกันได้ พื้นที่ใด ๆ ที่สามารถทำงานร่วมกันได้ ตรงนั้นน่าจะเป็นหอศิลป์ที่ดีได้ เพราะหมายความว่ามันเกิดขึ้นมาจากการทำงานร่วมกัน ยึดโยงกระบวนการร่วมกัน ซึ่งมันจะไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืนมากกว่าครับ”
“2 เดือนกว่า ที่ผมย่ำอยู่บนตลาดน้ำ กับการทำ ‘ตลาดโบราณ’ ให้มีชีวิต ใน พ.ศ.นี้ ที่ต้องไม่เก่ามากแต่ไม่ใหม่เกินไป รักษาอารมณ์และบรรยากาศของพื้นที่เดิมที่เคยเป็น เปิดให้ผู้ค้าร่วมเล่าในแบบของเขา แต่รักษาความเก่าในแบบของเรา 11 มกราคม 2568 เป็นเพียงการเปิดเฟสแรก แต่ใช้เวลาในการจัดและวางอย่าง “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่” เพราะ ตลาดที่นี่ไม่ใช่การแบ่งห้องเป็นล็อค แต่เป็นบ้านที่บุคลิกต่างกัน พื้นที่ใหญ่เล็กไม่เท่ากัน ไม่สามารถกำหนดการใช้แบบบูทได้สำเร็จ แต่ต้องทำให้พื้นที่ทำหน้าที่ขับ ‘character’ ให้ออกมาพอดี และมี function ที่ตอบสนองการใช้งานให้ได้ น่าชื่นชมที่ผู้มาร่วมเป็นชาวตลาดต่างรับรู้จากบรรยากาศพื้นที่ และพยายามปรับเปลี่ยนการจัดวาง วัสดุ สี ป้าย ไปจนถึงเคลียร์การใช้ภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นตลาดเก่าที่กลับมาเกิดใหม่ ‘การสร้างใหม่’ จึงเป็นโอกาสที่ดีของการเริ่มต้น ขอบคุณเมืองโบราณที่ให้โอกาสในการเริ่มต้น ขอบคุณทีมทุกฝ่ายทุกคนที่ร่วมด้วยช่วยกันครับ
ส่วนหลักสูตรของโรงเรียนสอน ‘ศิลปะการแสดงแบบไทย’ เป็นอย่างไร? มีหลายคนถามด้วยความที่เคยทำโค้ชแอคติ้ง กำกับโชว์ ละครเวที แสงสีเสียง ล้วนแล้ว แต่เป็นงานสไตล์ พีเรียด โบราณ ของไทย แทบทั้งสิ้น เมื่อจะกลับมาเปิด โรงเรียนสอนการแสดง Monta Performing Arts อีกครั้ง จึงชวนครูก้องและผองมิตร จากหลากหลายแขนงมาเปิดคอร์สสอน ‘ศิลปะการแสดงไทย’ โดยรวบรวมหลักสูตร มาจัดแบบผสมผสาน นั่นคือ ผู้เรียนจะได้เรียน บทละครไทย การออกเสียงคำไทย ภาษาเก่า การแสดง ละคร ภาพยนตร์ ซีรีส์ พีเรียด แบบโบราณ ไปจนถึงจะมีคอร์สที่ทุกคนต้องได้เรียน คือ ลีลาการเคลื่อนไหวของไทย การเต้นรำท้องถิ่นไทย การร่ายรำไทย ไปจนถึง ศิลปะการต่อสู้ของไทย ที่ต้องเข้าใจ เข้าถึง เชิงมวย เชิงดาบ กำซาบ ถึงเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์ชาติไทย
ที่พิเศษสุด คือ จะได้เรียนใน ‘โรงเรียนสอนศิลป์’ ที่ตั้งอยู่กลางตลาดน้ำเมืองโบราณ ให้ได้ซึมซับความเป็นไทย ในหลักสูตรพิเศษนี้ เริ่มเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 เป็นต้นไปครับ”
ด้วยหลักการของงานสร้าง ‘หอศิลป์ชุมชน’ จึงเป็นที่มาของ ตลาดน้ำเมืองโบราณ เปิดลานกลางชุมชน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชน และบุคคลทั่วไป เพื่อสืบทอด วัฒนธรรม องค์ความรู้ ภูมิปัญญา พร้อมพัฒนาหลักสูตร หลากหลาย และกิจกรรม Workshop ศิลปะมากมายทั้งระยะสั้น ระยะยาว เพื่อชาวไทย และชาวต่างประเทศ อาทิ การเรียนการสอนนาฏศิลป์ไทยบนลานวัฒนธรรมท่ามกลางความงดงาม บรรยากาศรื่นรมยของตลาดน้ำเมืองโบราณ ที่พร้อมเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ด้านศิลปศาสตร์และวัฒนธรรม กับโรงเรียนเมืองโบราณ ณ สำนักศึกษาศาลาหยก ตลาดน้ำเมืองโบราณ
หลักสูตร ศิลปะการแสดง
ลงเรียนคอร์ส 1 ได้ถึง 3 การแสดงแบบไทย ลีลาไทย รำไทย การต่อสู้แบบไทย ที่สำคัญได้เรียนท่ามกลางบรรยากาศของความเป็นไทย ในตลาดน้ำเมืองโบราณ เรียนจบ เพลิดเพลินสำราญกับอาหารจานอร่อยในตลาดน้ำ เปิดรับจองลงคอร์สเรียนแล้ว สอนโดย ครูหนืด นิมิตร พิพิธกุล ร่วมกับทีมครูกูรูอีกหลายท่านมาร่วมกันปล่อยความรู้แบบไม่กั๊ก ใครรักจะเป็นนักแสดงเหมือนดาราในหนังย้อนยุคที่ถ่ายทำ ณ ตลาดน้ำเมืองโบราณ โรงเรียนเมืองโบราณ จัดให้กับหลักสูตรการแสดง แบบ 3 in 1 ควบคุมหลักสูตรโดย ครูก้อง จากละครโทรทัศน์ “หมอหลวง” (ถ่ายทำที่ เมืองโบราณ) บริหารหลักสูตรโดย Monta Performing Arts เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าเรียนหลักสูตร ‘ศิลปะการแสดงไทย’ เปิดการเรียนการสอน ณ ตลาดน้ำเมืองโบราณ สมุทรปราการ บางปู (Community Theatre)
หลักสูตร ศิลปะการแสดงไทย Thai Performance ประกอบด้วย
- หลักสูตรการแสดงเพื่อละคร ภาพยนตร์และซีรีส์
- หลักสูตรนาฏศิลป์ไทย
- หลักสูตรการต่อสู้ผสมผสาน (Martial Arts Mixed Combat Training)
สนใจติดต่อสอบถาม เมืองโบราณ 02-026-8800
วิธีการสมัคร : สมัครออนไลน์ ส่งเอกสารได้ที่ https://shorturl.asia/FYwN5
หลักสูตรเรียนต่อเนื่อง 4 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมงรวม 8 ชั่วโมง
เลือกรอบเรียนได้ 10.00 น. - 12.00 น. / 13.00 น. - 15.00 น.
อัตราค่าเล่าเรียน 4,500 บาท ต่อคน
อัตรานี้รวมสิทธิพิเศษ
- บัตรเข้าเมืองโบราณ ตลอดทั้งปีใช้สำหรับผ่านเข้าออก และเข้าท่องเที่ยวในทุกพื้นที่ของเมืองโบราณ
- รวมชุดผ้าโจงกระเบน หรือผ้าถุง สำหรับใช้แต่งกายในการเรียนศิลปะการแสดง (กำหนดให้ใช้ชุดของหลักสูตรการสอน)
- นักเรียนการแสดงที่เรียนจบคอร์ส จะได้ร่วมจัดแสดงผลงานผ่านละครสั้น หรือหนังสั้น โดยใช้สถานที่แสดงของตลาดน้ำ หรืออาคารสถานที่ในเมืองโบราณ
- นักเรียนการแสดง หลักสูตรศิลปะการแสดงไทย สามารถนำแก้วส่วนต้วมา Refil น้ำดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ
หลักสูตร ศิลปะการแสดงไทย Thai Performance
หลักสูตรการแสดงเพื่อละคร ภาพยนตร์และซีรีส์
หลักสูตรนี้ออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะการแสดงที่เหมาะสมกับงานใน ละคร ภาพยนตร์ และซีรีส์ ซึ่งมีความแตกต่างจากการแสดงบนเวที โดยเน้นการปรับตัวให้เข้ากับการถ่ายทำ การทำงานร่วมกับทีมงาน และการแสดงผ่านกล้อง
เป้าหมายของหลักสูตร
- พัฒนาทักษะการแสดงที่เน้นความสมจริงและละเอียดอ่อนตามแบบขนบไทย
- เรียนรู้เทคนิคการแสดงหน้ากล้อง เช่น การควบคุมอารมณ์ การใช้ภาษากาย และการสื่ออารมณ์ผ่านดวงตา
- เข้าใจกระบวนการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ เช่น การทำงานกับผู้กำกับ ทีมงาน และนักแสดงร่วม
- สร้างความมั่นใจในการแสดงและการเข้าถึงตัวละคร
หัวข้อการเรียนในหลักสูตร
1. พื้นฐานการแสดง (Acting Fundamentals)
- การเข้าใจบทบาทและตัวละคร
- เทคนิคการแสดงอารมณ์และสร้างตัวละครให้สมจริง
- การใช้เสียงและการเคลื่อนไหว
2. การแสดงหน้ากล้อง (On-Camera Acting)
- การปรับตัวให้เหมาะสมกับระยะกล้องและมุมกล้อง
- การสื่ออารมณ์ในลักษณะที่ละเอียดอ่อนและชัดเจน
- การทำงานกับมุมกล้องและการปรับการแสดงตามการจัดแสง
3. การเตรียมตัวสำหรับบทบาท (Character Development)
- การวิเคราะห์บทละครและตัวละครในวรรณกรรม บทสะคร บทภาพยนตร์พีเรียด
- การทำความเข้าใจภูมิหลัง แรงจูงใจ และเป้าหมายของตัวละคร
- การซ้อมบทและการด้นสด
4. การแสดงในสถานการณ์ต่าง ๆ (Scene Work)
- การทำงานในฉากดราม่า ตลก แอ็กชัน หรือแฟนตาซี พีเรียด
- การแสดงที่ต้องทำงานร่วมกับ CGI หรือเทคนิคพิเศษ
- การแสดงฉากที่มีอารมณ์ซับซ้อน
5. การออดิชันและแคสติ้ง (Audition and Casting Skills)
- การเตรียมตัวและสร้างความประทับใจในระหว่างการออดิชัน
- เทคนิคการด้นสดและการปรับตัวกับบทใหม่
6. การทำงานร่วมกับผู้กำกับและทีมงาน (Collaboration on Set)
- การฟังคำแนะนำและปรับการแสดงให้ตรงกับวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ
- การทำงานร่วมกับนักแสดงร่วมและทีมงานละคร ภาพยนตร์
กิจกรรมในหลักสูตร
- การฝึกแสดงบทบาทสมมติจากบทละครโบราณ บทภาพยนตร์หรือซีรีส์พีเรียด
- การถ่ายทำฉากสั้น ๆ เพื่อฝึกฝนการแสดงหน้ากล้อง
- การรับคำแนะนำและปรับปรุงจากผู้กำกับมืออาชีพ
- การวิเคราะห์บทละคร บทภาพยนตร์และซีรีส์เพื่อสร้างตัวละครที่สมจริง
คุณสมบัติผู้เรียนที่เหมาะสม
- ผู้ที่สนใจในงานแสดงหรือมีประสบการณ์แสดงในละครเวที ละคร ภาพยนตร์ ซีรีส์และต้องการต่อยอด
- ผู้ที่ต้องการทำงานในอุตสาหกรรม ละครเวที ละคร ภาพยนตร์และซีรีส์
- นักแสดงที่ต้องการพัฒนาทักษะและเข้าใจการทำงานสำหรับการแสดงแนวโบราณ ละคร ภาพยนตร์ ซีรีส์พีเรียด (ละครย้อนยุค)
ผลลัพธ์ที่คาดหวัง
- มีความมั่นใจและความสามารถในการแสดงที่เหมาะสมกับละครภาพยนตร์และซีรีส์
- เข้าใจวิธีการสร้างตัวละครที่ลึกซึ้งและมีมิติตามแบบประวัติศาสตร์
- สามารถปรับการแสดงให้เหมาะสมกับความต้องการของการแสดงไทยในรูปแบบต่าง ๆ
หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับทั้งผู้เริ่มต้นและผู้ที่มีประสบการณ์ในวงการแสดงที่ต้องการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมเพื่อประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมละครภาพยนตร์ และซีรีส์พีเรียด
หลักสูตรนาฏศิลป์ไทย
หลักสูตรนาฏศิลป์ไทยมุ่งเน้นการอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยผ่านการเรียนรู้และฝึกฝนการแสดงในรูปแบบต่าง ๆ ของนาฏศิลป์ เช่น การรำไทย การแสดงโขน ละครใน และการเต้นพื้นบ้าน โดยมุ่งพัฒนาทักษะทั้งทางร่างกาย จิตใจ และความเข้าใจในวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้ง
เป้าหมายของหลักสูตร
- ให้ผู้เรียนเข้าใจรากฐานและความสำคัญของนาฏศิลป์ไทย
- พัฒนาทักษะการแสดงการเคลื่อนไหวลีลาตามขนบไทย และการรำไทยในรูปแบบต่าง ๆ
- สร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไทยและกระตุ้นจิตสำนึกในการอนุรักษ์
- ฝึกการแสดงออกด้วยท่ารำและท่าทางที่สง่างามและสมมาตร
หัวข้อการเรียนในหลักสูตร
1. ประวัติและความสำคัญของนาฏศิลป์ไทย
- เรียนรู้ประวัติความเป็นมา ความเชื่อ และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับนาฏศิลป์ไทย
- การเชื่อมโยงนาฏศิลป์กับประเพณีและพิธีกรรม
2. พื้นฐานการรำไทย
- การฝึกท่ารำพื้นฐาน เช่น ท่ารำมาตรฐาน ท่าฤาษีดัดตน
- การฝึกฝนการเคลื่อนไหวอย่างอ่อนช้อยและสมดุล
3. โขนและละคร
- การแสดงโขน เช่น โขนสด โขนโรงใน
- การฝึกบทบาทตัวพระ ตัวนาง ตัวลิง และยักษ์
- การแสดงละครในและละครนอก
4. ดนตรีและจังหวะ (Music and Rhythm)
- การเรียนรู้จังหวะดนตรีไทยและการรำประกอบเพลง
- การฝึกการเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับดนตรี
5. การแสดงพื้นบ้าน
- การเรียนรู้และฝึกฝนการเต้นพื้นบ้าน เช่น เซิ้ง โพน ลำตัด หรือรำวง
- การเข้าใจความหลากหลายของนาฏศิลป์ในแต่ละภูมิภาค
6. การแต่งกายและการเตรียมตัว
- การเรียนรู้การแต่งกายแบบนาฏศิลป์ไทย
- การจัดเครื่องแต่งกายและการดูแลรักษา
7. การแสดงและการสื่อสารกับผู้ชม
- เทคนิคการแสดงออกเพื่อถ่ายทอดอารมณ์และเรื่องราว
- การทำงานร่วมกันในทีมการแสดง
กิจกรรมในหลักสูตร
- การฝึกซ้อมท่ารำและการแสดงบทบาท
- การเรียนรู้ผ่านการสาธิตและการชมการแสดงสด
- การแสดงจริงในกิจกรรมหรือพิธีการสำคัญ
- การสร้างสรรค์การแสดงใหม่ที่ผสมผสานความร่วมสมัย
คุณสมบัติผู้เรียนที่เหมาะสม
- ผู้ที่สนใจในวัฒนธรรมไทยและนาฏศิลป์
- นักเรียน นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไปที่ต้องการพัฒนาทักษะทางด้านศิลปะการแสดง
- ผู้ที่ต้องการสืบทอดและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย
ผลลัพธ์ที่คาดหวัง
- ผู้เรียนสามารถแสดงนาฏศิลป์ไทยในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างงดงาม
- มีความเข้าใจในคุณค่าของนาฏศิลป์และสามารถสืบทอดได้
- สามารถนำทักษะนาฏศิลป์ไปใช้ในการแสดง การสอน หรือการเผยแพร่วัฒนธรรม
หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้ที่รักและหลงใหลในศิลปวัฒนธรรมไทย เข้าใจเข้าถึง และประยุกต์ ใช้ในอุตสาหกรรมการแสดง ละครเวที ละคร ภาพยนตร์ ซีรีส์
หลักสูตรการต่อสู้ผสมผสาน (Martial Arts Mixed Combat Training)
หลักสูตรนี้ออกแบบมาเพื่อฝึกฝนทักษะการต่อสู้ตามแบบไทย มวยไทย ดาบไทย และหลากหลายรูปแบบที่ผสมผสานศาสตร์การต่อสู้จากหลายแขนง เช่น มวยไทย กีบ ยูโด บราซิลเลียนยิวยิตสู (BJJ) มวยปล้ำ และเทคนิค MMA (Mixed Martial Arts) มุ่งเน้นทั้งการป้องกันตัว การพัฒนาความแข็งแกร่งของร่างกาย และการพัฒนาจิตใจให้แข็งแกร่ง สอนโดย ครูปราบ วิชยะพงศ์ ปิยะธัญญานนท์ สำนักดาบวายุกร นครราชสีมา
เป้าหมายของหลักสูตร
- ฝึกฝนทักษะการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพในสถานการณ์จริง
- พัฒนาความแข็งแรง ความคล่องตัว และสมรรถภาพทางกาย
- สร้างความมั่นใจในการป้องกันตัวและการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
- เรียนรู้เทคนิคการต่อสู้ที่หลากหลายและปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม
หัวข้อการเรียนในหลักสูตร
1. พื้นฐานการต่อสู้ (Basic Combat Training)
- การฝึกพื้นฐานการเคลื่อนไหว การตั้งท่า และการป้องกันตัว
- การเรียนรู้พื้นฐานการออกหมัด เตะ และทุ่ม
2. การต่อสู้ระยะใกล้ (Close Combat)
- เทคนิคจับล็อก (Grappling) และการทุ่มคู่ต่อสู้
- การฝึกการโจมตีในระยะประชิด เช่น ศอก เข่า และการกดคอ
3. การต่อสู้แบบยืน (Striking)
- เทคนิคมวยไทย เช่น หมัด เตะ เข่า ศอก
- การใช้เทคนิคมวยสากลและคิกบ็อกซิ่ง
4. การต่อสู้บนพื้น (Ground Fighting)
- การฝึกการจับล็อกและการทำซับมิชชัน (Submission) จากบราซิลเลียนยิวยิตสู
- เทคนิคการปลดล็อกและหลบหลีกจากการถูกล็อก
5. การฝึกความคล่องตัวและความสมดุล (Agility and Balance)
- การฝึกความเร็วและการหลบหลีก
- การเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกาย เช่น การกระโดดเชือก การวิ่งเร็ว
6. กลยุทธ์การต่อสู้ (Combat Strategies)
- การวางแผนและปรับตัวในการต่อสู้
- เทคนิคการสังเกตคู่ต่อสู้และวิเคราะห์จุดอ่อน
7. การป้องกันตัว (Self-Defense)
- เทคนิคการป้องกันตัวในสถานการณ์ฉุกเฉิน
- การใช้ทักษะการต่อสู้เพื่อลดความเสี่ยงในชีวิตประจำวัน
กิจกรรมในหลักสูตร
- 1. การฝึกคู่ (Sparring) เพื่อพัฒนาการตอบสนองและทักษะจริง
- 2. การฝึกฉากในการแสดง เช่น การป้องกันตัวจากการถูกโจมตี
- 3. การวิเคราะห์ ละคร ภาพยนตร์ ฉากการต่อสู้เพื่อเรียนรู้ข้อผิดพลาดและกลยุทธ์
- 4. การเข้าร่วมการฝึกฝนการต่อสู้ กับ ผู้เชี่ยวชาญ
คุณสมบัติผู้เรียนที่เหมาะสม
- ผู้ที่สนใจเรียนรู้การต่อสู้ และศิลปะการป้องกันตัวเพื่อใช้ในการแสดง
- ผู้ที่ต้องการเสริมสร้างความแข็งแรงและความมั่นใจ
- นักกีฬาและผู้ฝึกสอนที่ต้องการพัฒนาทักษะด้าน MMA
ผลลัพธ์ที่คาดหวัง
- ผู้เรียนมีทักษะการต่อสู้หลากหลายแขนงและสามารถปรับใช้ได้จริงในการแสดง
- มีความมั่นใจและความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน
- มีร่างกายที่แข็งแรง คล่องตัว และสมดุล
- เข้าใจกลยุทธ์และเทคนิคการต่อสู้แบบมืออาชีพ
หลักสูตรการต่อสู้ผสมผสาน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการนำศาสตร์การแสดงไปประยุกต์ และต้องการฝึกฝนร่างกาย เรียนรู้การป้องกันตัว หรือมุ่งพัฒนาเป็นนักกีฬาต่อสู้มืออาชีพในสาย MMA[5] (mixed martial arts กีฬาที่ผสมผสานระหว่างมวยปล้ำและศิลปะการต่อสู้เข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว) หรือศิลปะการต่อสู้แบบอื่น ๆ
เป้าหมายสูงสุดของ Dream Team ผู้มองการณ์ไกล (Monta Performing Arts) คืองานสร้าง HUB หอศิลป์ร่วมสมัยในทุกแขนง มีพื้นที่รองรับโรงเรียนสอนศิลปะการแสดง โรงละคร เป็น Community Theatre อย่างเต็มระบบของความเป็น ‘ศิลป์สถาบัน’ สามารถสร้างสรรค์หลักสูตรและกิจกรรมนำ ‘สังคมศิลป์’ สู่เครือข่ายขยายผล ต่อยอดตามแนวทางที่วางไว้ ฯลฯ ในขณะที่ เมืองโบราณ มีความเป็น ‘อุทยานการศึกษา’ ที่มีระบบบริหารและฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงแข็งแรง เหมาะสมต่อการรองรับความเป็น ‘พิพิธภัณฑ์มีชีวิต’ (Life Museum) ในทายาทรุ่นที่ 3 คือความเปลี่ยนแปลง (ปรินปพัชร์ วิริยะพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองโบราณ จำกัด) อย่างผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์แบบ ‘เหนือพานิชย์’ บิดโจทย์จากตลาดน้ำสู่ความเป็น Art Community ที่ให้การสนับสนุนศิลปินได้สร้างงานศิลปะอย่างมีอิสระทางความคิด เท่ากับการเปิดประตูสู่ความเป็น ‘หมุดหมายปลายทาง’ (destination) ของจังหวัดสมุทรปราการ และของประเทศไทยในอนาคต เพราะความเป็นศูนย์การศึกษาที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้ของศิลปศาสตร์นานาแขนง โดยปราชญ์นานาชาติมาร่วมสร้างให้พื้นที่แห่งนี้เป็นศูนยกลางการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างถ้วนหน้า แม้ว่าไม่เคยมีพื้นฐานในด้านที่สนใจไคร่เรียนมาก่อนก็ตาม นั่นคือคุณค่าแท้จริงของ Ancient Mart-Art Community ที่เป็นความฝันของคนไทย.
การเดินทางสู่ตลาด น้ำเมืองโบราณ สมุทรปราการ บางปู (Destination) โดยรถโดยสารสาธารณะ https://g.co/kgs/fVsYyGe
- รถเมล์สาย 511 (เดิม) ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสาย 511 (3-22E) ปากน้ำ-สายใต้ใหม่-ตลิ่งชัน (ทางด่วน)
- โดยรถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าเส้นหลักที่ผ่านย่านนี้คือ รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ สถานี BTS เคหะ ที่ช่วยให้การเดินทางเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯ และปลายทางสายสีเขียวที่สถานีคูคตได้อย่างสะดวกสบาย หรือจะเชื่อมต่อกับสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ได้ที่สถานี BTS สำโรง และถ้าหากต้องการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ ก็สามารถไปเชื่อมต่อที่สถานี BTS อโศก เพื่อต่อกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สุขุมวิท ได้อย่างง่ายดาย
ปลายทางสิ้นสุด ณ สถานีเคหะ บนถนนสุขุมวิท ในพื้นที่เทศบาลตำบลบางปูอำเภอเมือง ตำบลท้ายบ้านใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ สู่จุดหมายปลายทางโดยเลือกทางออก 3 ด้านหน้าซอยเทศบาลบางปู 47 และทางออก 5 ซอยเทศบาลบางปู 45 จากนั้นต่อรถประจำทางหลายสายที่เรียงรายรอรับ (เฉพาะสองแถวเบอร์ 36 ส่งถึงด้านหน้าจุด Information ซื้อบัตรเข้าชมและเช่ารถ) บริเวณด้านหน้าจะมีรถรางวิ่งวนรับส่งทุก 1 ชั่วโมง นำชมยังจุดต่าง ๆ แจ้งลงจุดตลาดน้ำได้ตามแผนที่ ทุกวัน เวลา 10.00 น. -19.00 น.
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลข่าว โดย ตลาดน้ำเมืองโบราณ สมุทรปราการ บางปู
[1] เมืองโบราณ สมุทรปราการ บางปู , สืบค้น 5 มกราคม 2568, https://g.co/kgs/fVsYyGe
[2] วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ , 105 ปี เล็ก วิริยะพันธุ์ เจ้าของเมืองโบราณ , สืบค้น 25 มกราคม 2568, https://www.the101.world/lek-viriyahpant/
[3] คน-เหนือ- ซอ , เอ้ระเหยลอยชาย , สืบค้น 15 มกราคม 2568 https://youtu.be/s4pJxE14XDk?si=l5a-By0IkFdR0ObO
[4] โครงการพัฒนาหอศิลป์ร่วมสมัยสู่ภูมิภาค, หอศิลป์ราชดำเนิน กระทรวงวัฒนธรรม , สืบค้น 5 มกราคม 2568 https://www.youtube.com/watch?v=SthilHJK4oU&t=22s
[5] MMA คืออะไร?, immaf.org , สืบค้น 25 มกราคม 2568 https://immaf.org/about/what-is-mma/