“...ประชาธรรมเป็นคำที่ผมต้องการใช้มากกว่าประชาธิปไตย เพราะในวงการเมืองนั้น คำว่าประชาธิปไตยใช้กันจนเฝือ เช่น ในโรงเรียนไทย แม้จะอยู่ในระบบเผด็จการ เขาก็ยังสอนให้นักเรียนท่องว่า ประเทศไทยเป็นเสรีประชาธิปไตย อีกประการหนึ่ง การเป็นประชาธิปไตยนั้น ถ้าไม่อาศัยหลักธรรมะแล้ว ย่อมไม่สมบูรณ์และบกพร่องแน่ เพราะถึงแม้เราจะปกครองกันด้วยเสียงข้างมาก ถ้าเสียงข้างมากโน้มเอียงไปเชิงพาลแล้ว ก็ต้องเปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อยสามารถถกเถียงเรียกร้องให้สิทธิแสดงความคิดเห็นได้ จึงจะเป็นธรรม...”
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์, แนวทางสันติวิธี (2521).
ชื่อ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" นั้น เป็นที่รู้จักพอสมควรในสังคมไทย ในหลายๆ แง่มุมทั้งในฐานะการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เทคโนแครตตัวอย่างผู้คอยรั้งรัฐบาล นักพัฒนา และนักสันติวิธีคนหนึ่ง รวมถึงจะรู้จักอุดมการณ์สันติประชาธรรมของอาจารย์ป๋วยเป็นอย่างดี สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและในบทความนี้ที่ได้หยิบยกมา คือ สังคมปัจจุบันนี้ไม่ได้ก้าวพ้นในสิ่งที่อาจารย์ป๋วยได้เคยพูดเสมือนถูกแช่แข็งเอาไว้ และในแง่นี้คำพูดของอาจารย์ป๋วยจึงยังคงอยู่กับสังคมมากกว่าปณิธานของอาจารย์ที่ได้แสดงไว้
อีกครั้งหนึ่งกับสันติประชาธรรม
บ่อยครั้งที่เมื่อพูดถึงอุดมคติของรัฐในทรรศนะของอาจารย์ป๋วยจะเริ่มต้นพูดถึงสิ่งที่อาจารย์เรียกว่า “สันติประชาธรรม” คืออะไร และมีความหมายอย่างไร
“สันติประชาธรรม” นั้น เป็นมรรควิธีสำคัญที่อาจารย์ป๋วยมองว่าเป็นหนทางสำหรับการปกครองและนำสังคมไปสู่ประชาธิปไตย โดยมีแก่นแกนสำคัญอยู่ที่การมีสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการเข้าถึงโอกาสในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางของบ้านเมืองโดยไม่จำกัดฐานะ เพศ และชาติกำเนิด ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย[1] อย่างไรก็ดี ด้วยบริบทของการเป็นเผด็จการแปลงรูปมาในชุดผ้าคลุมของระบอบประชาธิปไตยในยุคสมัยนั้น อาจารย์จึงเลือกที่จะใช้คำอื่นแทนที่จะเรียกประชาธิปไตย ซึ่งคำๆ นั้นก็คือ “สันติประชาธรรม”
“ประชาธรรม คือ ธรรมเป็นอำนาจไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม…
บ้านเมืองที่มีประชาธรรมนั้นมีขื่อมีแป
ไม่ใช่ปกครองกันตามอำเภอใจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง...”
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์, จดหมายของ นายเข้ม เย็นยิ่ง
เรียน นายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ (2515).
ในทรรศนะของอาจารย์ป๋วยนั้นคำว่า “ประชาธรรม” คือ การที่ธรรมเป็นอำนาจไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม กล่าวคือ ธรรมนั้นเป็นที่มาและวิธีการของอำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นที่มาและวิธีการของการเป็นธรรม โดยอาจารย์ป๋วยมีทรรศนะว่า โดยธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตยนั้นหากปราศจากธรรมแล้ว ย่อมไม่สมบูรณ์กลายเป็นการปกครองกันด้วยเสียงข้างมากไป
ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องมีธรรมเป็นเครื่องกำกับการใช้อำนาจ ซึ่งคำว่า “ธรรม” ที่อาจารย์ป๋วยพูดถึงนั้นน่าจะหมายถึง “ความชอบธรรม” (legitimacy) ซึ่งเป็นเรื่องของการที่อำนาจได้รับการยอมรับจากสาธารณชน รวมถึงเปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อยได้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้อำนาจดังกล่าว อย่างไรก็ดี เพียงประชาธรรมอย่างเดียวนั้นในทรรศนะของอาจารย์ป๋วยไม่เพียงพอ หากแต่ประชาธรรมอันเป็นมรรควิธีนั้นจะต้องเป็นไปโดยสันติ[2]
“ถ้ายึดหลักประชาธรรมแล้ว
ไม่มีวิธีอื่นใดเพื่อได้มาซึ่งประชาธรรมนอกจากสันติวิธี”
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์, บันทึกประชาธรรมไทยโดยสันติวิธี (2515).
นอกจากนี้ ในทรรศนะของอาจารย์ป๋วยแล้ว การได้มาซึ่งประชาธรรมนั้นจำเป็นต้องยึดหลักการสันติวิธี ดังที่อาจารย์ได้เคยแสดงทรรศนะเอาไว้ว่า “ถ้ายึดหลักประชาธรรมแล้ว ไม่มีวิธีอื่นใดเพื่อได้มาซึ่งประชาธรรมนอกจากสันติวิธี” กล่าวคือ การได้อำนาจทางการเมืองใดๆ นั้นจะต้องอาศัยวิธีการโดยสันติ ดังนั้น หากรัฐบาลพยายามใช้กำลังทหารหรือตำรวจเพื่อเข้าห้ำหั่นประชาชนหรือใช้กำลังทหารเพื่อเข้าควบคุมฝูงชนในการชุมนุม
การใช้ความรุนแรงนี้รวมไปถึงการใช้วิธีการทางกฎหมายเพื่อปิดปากมิให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพของตนตามวิถีทางประชาธิปไตยอย่างเหมาะสม ลักษณะดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดนี้ ย่อมไม่สามารถนำไปสู่สังคมที่เป็นประชาธรรมได้ และกลายเป็นความเกลียดชังของคนในสังคมด้วยซ้ำ ซึ่งนำมาสู่การใช้อาวุธประหัตประหารกันไม่รู้จบ ดังนี้แล้วสังคมใดจะเป็นประชาธรรมอย่างแท้จริงได้ จะต้องเกิดขึ้นบนสันติวิธี ปราศจากการใช้กำลังประหัตประหารกัน[3]
สังคมทำไมต้องเป็นสันติประชาธรรม
“...ในสังคมที่มีประชาธรรม เราจะต้องแก้ปัญหาเรื่องช่องว่างหรือความแตกต่างระหว่างรัฐบาลกับประชาชน เจ้าหน้าที่กับราษฎร หญิงกับชาย คนมีกับคนจน ท้องถิ่นที่อุดมกับท้องถิ่นที่กันดาร การมีโอกาสการศึกษากับการปราศจากโอกาส การมีโอกาสด้านสุขภาพอนามัยกับการปราศจากโอกาส ฯลฯ
ทั้งนี้มิได้เกิดจากลัทธิการเมืองหรือลัทธิอื่นใด เป็นเรื่องของความชอบธรรม ความเมตตากรุณา การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การปรองดองกัน และการที่มีผู้แทนราษฎรเป็นปากเสียงให้แก่ผู้ตกยาก การมีอิสระที่จะรวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กับรวมถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน ซึ่งควรเคารพ ไม่ว่าฐานะกำเนิดของเขาจะเป็นอย่างไร ย่อมสามารถช่วยให้เราแก้ปัญหาต่างๆ ที่ว่านั้นได้โดยสันติภาพ...”
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์, แนวทางสันติวิธี (2515).
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า “สันติประชาธรรม” เป็นมรรควิธีในการและหนทางสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เหตุที่อาจารย์ป๋วยคิดเช่นนั้น ตั้งอยู่บนความเชื่อว่า ระบอบประชาธรรมนั้นเกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง และเอื้ออำนวยให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคม และช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและช่องว่างด้านอื่นๆ ระหว่างท้องถิ่นและในหมู่ประชาชน[4]
ภาพของสังคมสันติประชาธรรมในทรรศนะของอาจารย์ป๋วย จึงไม่ใช่เพียงสังคมที่ผู้ปกครองมีการใช้อำนาจโดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ในทรรศนะของอาจารย์ สังคมสันติประชาธรรมจะต้องเป็นสังคมที่ประชาชนจะต้องมีเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพระหว่างคนในสังคมทั้งหมด โดยรัฐควรจะมีบทบาทในการเกื้อกูลระหว่างประชาชนในแต่ละกลุ่ม ทรรศนะดังกล่าวนี้อาจารย์ป๋วยแสดงผ่านข้อเขียนของอาจารย์ป๋วยที่ชื่อว่า คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 10 ตุลาคม 2516
ใจความสำคัญของงานเขียนชิ้นนี้ก็คือ การพยายามสื่อสารให้สังคมตระหนักถึงความจำเป็นของการเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ ซึ่งลำพังการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพียงอย่างเดียว โดยไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์นั้น การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อคนในประเทศยังคงมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและโอกาสทางการศึกษา[5]
มองสังคมไทยในวันที่ไม่เป็นสันติประชาธรรม
สถานการณ์สังคมไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นอาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยกำลังติดอยู่ในกับดักของการหยุดยั้งการพัฒนาทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ สถานภาพของสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนั้นถูกละเลยจากรัฐบาลที่มาจากผลพวงของการรัฐประหาร และความล้มเหลวของการบริหารงานของรัฐบาลที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ในส่วนนี้ผู้เขียนจึงอยากชวนมองสังคมไทยในวันที่ไม่เป็นสันติประชาธรรมนั้นมีปัญหาอะไรบ้าง
เมื่ออำนาจกลายเป็นธรรม
ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยนั้นถูกตั้งคำถามเป็นอย่างมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งในแง่ของการตีความบทบัญญัติกฎหมายชนิดที่เรียกได้ว่า สองมาตรฐาน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาจากการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่ยึดโยงอยู่กับเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งประชาชน หรือเป็นการตีความกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ให้กับผู้มีอำนาจ ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และความชอบธรรมของกฎหมายในมือของรัฐบาล
สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับการตีความบทบัญญัติของกฎหมายในช่วงที่ผ่านมาเรื่องหนึ่งคือ การพิจารณาให้ประกันตัวผู้ต้องหาในคดีทางการเมืองของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดย ไอลอว์ (iLaw) ในช่วง 9 กุมภาพันธ์ 2564 – 29 เมษายน 2564 นั้น ในการยื่นขอประกันตัวทั้งหมด 9 ครั้ง ศาลได้ให้เหตุผลในการไม่ให้ประกันตัว 2 ครั้ง โดยอ้างว่า เนื่องจากอัตราโทษสูง อาจไปก่อความผิดซ้ำ หรืออาจนำความเสื่อมเสียมาสู่สถาบันกษัตริย์และเกรงว่าจะหลบหนี นอกจากนั้นแล้วศาลให้เห็นเหตุผลว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม[6] ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมนั้นถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนถึงความชอบธรรมของการใช้อำนาจ ซึ่งบัดนี้การใช้อำนาจตามกฎหมายซึ่งเป็นกติการ่วมกันของสังคมได้ถูกตั้งคำถามมากขึ้น สิ่งนี้อาจนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาในระบอบกฎหมายต่อไปในอนาคต
ในสังคมที่ห้ามเห็นต่างทางการเมือง
ตลอดช่วงระยะเวลาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามามีอำนาจบริหารประเทศ และสืบทอดอำนาจต่อมาด้วยรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 นี้ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล คสช. นี้เองศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้จัดทำรายงานสรุปสถิติผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 16 กรกฎาคม 2562 เอาไว้[7] ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน มีนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และประชาชน ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเมื่อมีการชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สถานการณ์ของการมีรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ แต่ในทางตรงกันข้ามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนกับหลุดลอยไปเนื่องจากกระบวนการใช้อำนาจของรัฐนั้นละเลยต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ถูกเรียกรายงานตัว / ควบคุมตัวในค่ายทหาร | 930 คน |
ถูกข่มขู่ คุกคาม ติดตาม | 592 คน |
กิจกรรมสาธารณะถูกปิดกั้นแทรกแซง | 361 กิจกรรม |
ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมาน | 18 คน |
ถูกปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก | 159 กลุ่ม |
ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป | 428 คน |
ถูกตั้งข้อหา มาตรา 116 | 124 คน |
ถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ. ประชามติฯ ร่าง รธน. 2559 | 50 คน |
ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวหรือมีเงื่อนไขปล่อยตัว (MOU) | 31 คน |
ถูกตั้งข้อหา พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการแสดงออกที่เกี่ยวกับการเมือง | 197 คน |
ถูกตั้งข้อหา ดูหมิ่นศาล หรือละเมิดอำนาจศาล | 18 คน |
ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 | 169 คน |
ถูกตั้งข้อหา พ.ร.บ. ชุมนุมฯ | 276 คน |
ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร | 2,408 คน |
จำนวนขั้นต่ำผู้ลี้ภัยทางการเมือง | 102 คน |
สูญหายจากประเทศเพื่อนบ้านระหว่างลี้ภัย | 6 คน |
ตกเป็นเป้าทำร้ายร่างกาย 12 ครั้ง | 4 คน |
ถูกทำให้เสียชีวิตระหว่างลี้ภัย | 2 คน |
ที่มา : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ‘5 ปี คสช. สถิติผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ’
ความเหลื่อมล้ำในวิกฤตเศรษฐกิจ
จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ในช่วงปี 2558 – 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 3.4 ต่อปี แต่ในทางตรงกันข้ามประชาชนกลับไม่รู้สึกถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องมาจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก เงินที่ได้รับจากการทำงานยังไม่พอเลี้ยงปากท้อง และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากแหล่งอื่น โดยร้อยละ 20 (กลุ่มครัวเรือนไทยที่จนที่สุด) มีแหล่งรายได้มาจากเงินช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐและบุคคลนอกครัวเรือน โดยคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของรายได้ที่เป็นตัวเงินทั้งหมด และ ประการที่สอง ครัวเรือนยังต้องบริโภคด้วยการก่อหนี้ โดยสะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2562 ซึ่งอยู่ที่เกือบร้อยละ 80 สูงเป็นอันดับ 2 ในเอเชียรองจากเกาหลีใต้[8]
ปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังจากวิกฤตโควิด-19 สร้างผลกระทบให้กับประชาชนเป็นอย่างมากโดยทำให้รายได้ลด และหนี้สินเพิ่มกลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งกว่าเดิม โดยในปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวสูงถึงร้อยละ 6.1 จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลุ่มลูกจ้างในภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบค่อนข้างมากที่สุด เพราะขาดรายได้หรือรายได้ลดลงมาก จากการเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่น รวมถึงในระยะแรกอาจจะต้องมีการนำเงินออมที่มีอยู่ออกมาใช้จ่ายหรืออาจจะต้องก่อหนี้เพิ่มในช่วงที่ขาดรายได้ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด-19[9] สภาพดังกล่าวยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เนื่องจากลูกจ้างในสังคมไทยเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางสูงเนื่องจากรายได้ต่ำ เมื่อเทียบกับความมั่นคงในตำแหน่งหน้าที่การงานค่อนข้างน้อย
การหลุดลอยออกจากระบบการศึกษา
จากการสำรวจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จากข้อมูลการศึกษาล่าสุดปีการศึกษา 1/2564 มีเด็กยากจนและยากจนพิเศษรวมประมาณ 1.9 ล้านคน ถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับเด็กทั้งหมด ในช่วงวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับที่มีประมาณ 9 ล้านคน ซึ่งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ครอบครัวเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ลดลงเหลือเฉลี่ยเดือนละ 1,094 บาท นอกจากนี้ รายได้จากการเกษตรหรือด้านอื่นๆ ส่วนใหญ่ลดลง แต่รายได้ที่เพิ่มมาจากสวัสดิการรัฐ เงินช่วยเหลือเยียวยา และผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้จำนวนเด็กยากจนพิเศษเพิ่มมากขึ้นจากปีการศึกษา 2/2563[10]
สถานการณ์ดังกล่าวเลวร้ายมากขึ้นจากการสำรวจของ กสศ. ในช่วงภาคเรียนที่ 1/2563 ซึ่งพบว่า ประเทศไทยมีปัญหาการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาเป็นจำนวนมาก โดยมีนักเรียนยากจนจำนวน 1.7 ล้านคน โดยมีนักเรียนยากจนพิเศษ (รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนยากจนพิเศษในปีที่ผ่านมาประมาณ 1,337 บาท/คน/เดือน) 1 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าภาคเรียนที่ 2/2562 มากกว่า 2.4 แสนคน[11]
สิ่งที่จะต้องตั้งคำถามต่อไปก็คือ ภายหลังสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว สถานการณ์การหลุดลอยจากระบบการศึกษาจะเป็นอย่างไรต่อไป
เมื่อชีวิตร่วงหล่นลงอย่างไม่มีคุณค่า : สถิติผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายใหม่
ที่มา : JHU CSSE COVID-19 Data.
สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น แม้ในช่วงต้นของการระบาดประเทศจะรับมือได้ดีเนื่องจากความตั้งใจและความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ของไทยที่ทำงานหนักเพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่การระบาดในเฟสถัดๆ ไปนั้น ประเทศไทยประสบกับปัญหาค่อนข้างมากโดยเฉพาะเมื่อการระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และโอไมครอน สภาพของการระบาดที่เกิดขึ้นก็คือ มีประชาชนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล และจำนวนเตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ ในขณะเดียวกันจำนวนการเข้าถึงวัคซีนที่ดีและมีคุณภาพในประเทศไทยนั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้า และกระจายการเข้าถึงในระดับที่ต่ำ
สังคมไทยในวันนี้ ที่อาจารย์ป๋วยได้จากโลกนี้ไปแล้ว สภาพสังคมโดยรวมนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป สังคมการเมืองไทยยังคงอยู่ในวังวนที่ธรรมนั้นเป็นอำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม ในขณะที่วิถีชีวิตของคนในสังคมยังคงมีความยากลำบากและไม่มีความแน่นอนในชีวิต คุณภาพชีวิตนับตั้งแต่จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนนั้นยังคงไม่ได้ดีขึ้นเท่าใดนัก สังคมไทยยังห่างไกลสู่หนทางของการเป็นสันติประชาธรรม เมื่อนึกดูแล้วก็ได้แต่ “นึกถึงคนชื่อป๋วยในวันที่สังคมไทยไม่เป็นสันติประชาธรรม”
[1] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘สันติประชาธรรมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 20 ตุลาคม 2564) <https://pridi.or.th/th/content/2021/10/873> สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2565.
[2] เพิ่งอ้าง.
[3] เพิ่งอ้าง.
[4] รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, จารีตรัฐธรรมนูญไทยกับสันติประชาธรรรม (คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2550) 169.
[5] พชร สูงเด่น, ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ย้อนอ่านความฝันของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (a day bulletin, 9 มีนาคม 2563) <https://adaybulletin.com/life-feature-from-womb-to-tomb-puey-ungphakorn/47552> สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2565.
[6] iLaw-freedom, ‘รวมสถิติการยื่นคำร้องขอประกันตัว เพนกวิน-พริษฐ์’ (iLaw freedom, 5 พฤษภาคม 2564) <https://freedom.ilaw.or.th/node/906> สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2565.
[7] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ‘5 ปี คสช. สถิติผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ’ (ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน) <https://database.tlhr2014.com> สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2565.
[8] พิรญาณ์ รณภาพ, ‘ความเหลื่อมล้ำ: ตัวฉุดที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้าลง’ (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 11 พฤศจิกายน 2564) <https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_11Nov2021.aspx> สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2565.
[9] เพิ่งอ้าง.
[10] กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, ‘ยากจน ลำบาก หลุดจากระบบการศึกษา’ (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, 25 กันยายน 2564) <https://www.eef.or.th/infographic-06-09-21/> สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2565.
[11] กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, ‘รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหลัง โควิด-19’ (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, 10 ตุลาคม 2563) <https://www.eef.or.th/infographic-10-10-20/> สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2565.