สมัยอยู่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ข้าพเจ้ามีรถลากอยู่คันหนึ่งเป็นกระเป๋าผ้าเคลือบยางลายสก็อตสีแดง ด้านหลังของกระเป๋ายึดด้วยโครงโลหะเบาแต่แข็งแรง รถลากคันนี้เคลื่อนที่ด้วย ๒ ล้อ
วันอังคาร วันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ ข้าพเจ้าไปจ่ายตลาดที่ตลาดนัดอองโตนี ส่วนวันจันทร์ วันพุธ และวันเสาร์ไปตลาดนัดบูรก์ ลา แรน สลับกันไปตามวันที่เทศบาลของเมืองนั้นๆ กำหนดไว้เป็นวันตลาดนัด หิมะจะตกในฤดูหนาวหรือแดดจะออกในฤดูร้อนก็ไม่เป็นอุปสรรคใด ๆ
แล้วข้าพเจ้าก็ลากรถกระเป๋าผ้าลายสก็อตไปด้วย บ้านอองโตนีอยู่กึ่งกลางระหว่างชุมชนเมืองอองโตนี (Antony) และชุมชนเมืองบูรก์ ลา แรน (Bourg La Reine) ระยะทาง ๓ กิโลเมตร ขาไปตลาด รถลากเบาโหวง ข้าพเจ้าเลือกที่จะเดินไปตามทางบาทวิถี คอยหลีก "ทุ่นระเบิด" ของสุนัขที่ขับถ่ายออกมาเป็นระยะๆ สุนัขหล่านี้ไม่ใช่ “หมาจรจัด” แต่เป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักของชาวฝรั่งเศส เป็นเพื่อนยามแก่และยามเหงา คนฝรั่งเศสส่วนมากพำนักในอาคารห้องชุด ไม่มีที่วิ่งหรือเดินเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ดังนั้น เจ้าของจะจูงมันมาเดินเล่น กินลมชมวิวยามเช้าและยามค่ํา พร้อมกันนั้นก็ปล่อยทุกข์เรี่ยราดตามบาทวิถี จนภายหลังเทศบาลเมืองปารีสต้องมีมาตรการจัดการกับมูลสุนัข คือถ้าเทศกิจจับได้คาหนังคาเขา เจ้าของสุนัขก็จะถูกปรับเป็นเงิน นอกจากนั้นจะมีรถมอเตอร์ไซค์สีเขียวคอยใช้อุปกรณ์ดูดมูลสุนัข เก็บกวาดให้ไร้สิ่งปฏิกูลบนบาทวิถี
ส่วนขากลับ ข้าพเจ้าขึ้นรถประจําทางที่แล่นบนถนนหลวงหมาย เลข ๒๐
และผ่านบ้านอองโตนี กว่าจะก้าวเท้าให้พ้นพื้นบาทวิถี ต้องใช้ สุดแรงยกรถลากที่เต็มไปด้วยของกินของใช้ ยังดีที่คนฝรั่งเศสมีน้ำใจช่วยเหลือคนชรา มักจะมีคนอาสายกขึ้นยกลงจากรถประจำทางเสมอ
ลูกๆ ของข้าพเจ้าติดงานสอนที่มหาวิทยาลัย การไปตลาดเป็นหน้าที่ของแม่บ้านอย่างข้าพเจ้า แต่ก็เป็นความสุขที่ได้เลือกปลาสด ๆ อย่างปลาบาร์ (bar) มาทําอาหารให้นายปรีดีรับประทาน หรือซื้อผักสดอย่างหัวแรดิช (radish) มาไว้จิ้มน้ำพริกปลาแอนโชวี (anchovy) ซึ่งใช้แทนปลาร้า ข้าพเจ้าเพลิดเพลินกับการที่ได้เลือกซื้อสินค้ามีคุณภาพ ในราคาย่อมเยา อย่างจานชามกระเบื้องสีขาวเนื้อดีของเมืองลีมอชส์ (Limoges) รูปทรงแปลกๆ น่ารักน่าใช้
หลายคนทักว่า ข้าพเจ้าเดินเหินคล่องแคล่ว ไม่เหมือนคนวัย ๙๐ กว่าแล้ว (ปัจจุบันอีก ๗ ปี ข้าพเจ้าจะมีอายุ ๑๐๐ ปี) ข้าพเจ้าอยากยกความดีความชอบให้กับการเดินไปจ่ายตลาด การเดินเป็นการออกกำลังกายที่วิเศษ ที่ใด เวลาใด ก็เดินได้ทั้งนั้น เมื่อก่อนนี้ เวลาพาญาติมิตรจากเมืองไทยไปเป็น “พญาน้อยชมตลาด” ข้าพเจ้ามักจะเดินนำหน้าเสมอ จนญาติมิตร “ยอมแพ้” ด้วยการขอขึ้นรถประจำทางแทนการเดิน
เมื่อกลับมาอยู่เมืองไทย ข้าพเจ้าคงรับหน้าที่จ่ายตลาดเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่มีรถลากใส่ของเช่นเคย
ทุกเช้าวันศุกร์ ข้าพเจ้านั่งรถตู้ไปตลาดนัดจุฬาฯ (บริเวณลานจอด รถหน้าคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) จากนั้นไปซื้อของกินของใช้ต่อที่ซูปเปอร์มาร์เกตแห่งหนึ่งย่านพัฒน์พงศ์
จากซูปเปอร์มาร์เกตจะกลับบ้านซอยสวนพลู รถเลี้ยวเข้าถนนสุรวงศ์แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนนราธิวาสราชนครินทร์ กังหันลมโลหะปะทะสายตาข้าพเจ้า อย่างหนึ่งเป็นเพราะศิลปกรรมชิ้นนี้ดูออกจะแปลกสําหรับกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นกังหันลมที่ทำด้วยโลหะเช่นนี้มาก่อนเลย อีกอย่างหนึ่งที่สําคัญที่สุด ข้าพเจ้าไม่มีวันลืมเลือนเลย ก็เพราะว่าตรงที่ตั้งกังหันติดกับเรือนหอข้าพเจ้ากับนายปรีดีเมื่อ ๗๗ ปีก่อนใน บริเวณ “บ้านป้อมเพชร์” ถนนสีลม ลูก ๆ ข้าพเจ้าหลายคนเกิดที่เรือนหลังนี้
แทนที่จะตรงกลับบ้านซอยสวนพลู ข้าพเจ้าขอให้คนขับรถเลี้ยวเข้าถนนสีลม สำรวจถนนสายที่ข้าพเจ้าคุ้นเคยในอดีตทว่าแปลกตาใน ปัจจุบัน ธนาคาร โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร เสมือนป่าคอนกรีตโผล่ขึ้นเรียงรายสองฟากถนน ไหนจะรถไฟฟ้าลอยฟ้าที่ผ่าถนนสีลมออกเป็นสองซีก คลองสีลมถูกถมให้เป็นพื้นผิวถนนคอนกรีต ส่วนรถรางนั้นรื้อถอนหมดสิ้นไปเมื่อหลายสิบปีก่อน
ข้าพเจ้าเป็นชาวสีลมเต็มตัวในช่วง พ.ศ. ๒๔๖๕ - ๒๔๘๕ หรืออีกนัยหนึ่ง อยู่ถนนสายนี้มาตั้งแต่ ๑๑ ขวบจนถึงอายุ ๓๐ ปี และ อีกช่วงหนึ่งจาก พ.ศ. ๒๔๙๐- ๒๔๙๖
บิดาข้าพเจ้าเคยรับราชการเป็นเจ้าเมืองสมุทรปราการ ต่อมาย้ายเข้าพระนคร พำนักที่บ้านคลองสานฝั่งธนบุรีซึ่งเป็นที่ดินพระราชทาน บ้านหลังนี้อยู่คั่นกลางระหว่างอู่ซ่อมเรือกับร้านขายหอมขายกระเทียมเวลาพวกเราพี่ ๆ น้อง ๆ จะไปโรงเรียนต้องนั่งเรือจ้างจากบ้านมาขึ้นที่ กรมเจ้าท่า ฝั่งพระนคร แล้วต่อด้วยนั่งรถประทุนแยกย้ายกันไปโรงเรียนอัสสัมชัญบ้าง โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์บ้าง การเดินทางเช่นนี้ไม่สะดวกนัก
ก่อนหน้านี้ มารดาข้าพเจ้ารับจำนองที่ดินแปลงหนึ่งประมาณ ๖๐๐ ตารางวาที่ริมคลองถนนสีลมในราคา ๘ พันบาท ซึ่งนับว่าราคาแพงมากในสมัยนั้น เจ้าของเดิมไม่สามารถถ่ายถอนคืนได้ บิดาข้าพเจ้าจึงตกลงจะสร้าง “บ้านป้อมเพชร์” บนที่ดินผืนนี้
สถาปนิกที่ออกแบบ “บ้านป้อมเพชร์” เป็นชาวอิตาเลียน มิสเตอร์ Tavella (พวกเราเด็กๆ เรียก “ตาเวลา”) อยู่ในกลุ่มนายช่างที่ก่อสร้าง พระที่นั่งอนันตสมาคม
บิดาข้าพเจ้าสนใจในเรื่องการช่าง ในบ้านมีโรงกลึงเล็กๆ ท่านจึงเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง “บ้านป้อมเพชร์” ด้วยตนเอง
เราย้ายมา “บ้านป้อมเพชร์” ใน พ.ศ. ๒๔๖๕ ขณะนั้นบิดาข้าพเจ้ารับราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นคนแรกและคนสุดท้ายในตำแหน่งนี้ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (พ.ศ. ๒๕๕๘ - ๒๔๖๔) และถูกดุลยภาพสมัยรัชกาลที่ ๗ จึงต้องออกจากราชการ
บ้านเรือนฝั่งเหนือของถนนสีลม (เรียกกันว่า “ฝั่งคลอง”) มีคลองขวางกั้นระหว่างบ้านกับถนน ดังนั้น แต่ละบ้านทำสะพานข้ามคลองบ้านใครบ้านคนนั้น “บ้านป้อมเพชร์” อยู่ฝั่งคลองสีลม และด้านตะวันตกติดกับลำรางสาธารณะ
น้ำในคลองสีลมเหลืองขุ่นในฤดูฝน แต่มิได้เน่าเสีย เรือขายถ่านแล่นผ่านลำคลองส่งสินค้าตามบ้านผู้อยู่อาศัย
สะพานไม้ทอดข้ามคลองมายังอาณาบริเวณ “บ้านป้อมเพชร์”
ครอบครัวข้าพเจ้าเป็นครอบครัวใหญ่ พี่น้องมีถึง ๑๒ คนนอกจากนี้ “บ้านป้อมเพชร” เป็นที่รวมญาติจากต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนหนังสือในพระนคร ญาติทางมารดาข้าพเจ้ามาจากสุพรรณบุรี ญาติทางบิดาข้าพเจ้ามาจากพระนครศรีอยุธยา แล้วยังมีลูกน้องเก่าบิดาข้าพเจ้า จากกรมราชทัณฑ์อีก สมาชิก “บ้านป้อมเพชร” ร่วมๆ ๓๐ คน
เปิดประตูบ้านบานใหญ่ซี่กรงเหล็กเข้ามา ขวามือเป็นตึกห้องเดียว สำหรับคนเฝ้าประตูและด้านข้างมีชื่อ “บ้านป้อมเพชร์” ทาด้วยสีดำ ตัวหนังสือใหญ่พอเป็นที่สังเกตของผู้คนผ่านไปมา ต่อจากนั้นเป็นโรงรถซึ่งชั้นบนมีห้องพักอาศัย
ถัดไปมีเรือนไทยอยู่ ๒ หลัง น้อง ๆ รุ่นเล็กของข้าพเจ้าอยู่กับพี่เลี้ยง
ใต้ถุนเรือนไทย เป็นโรงกลึงของบิดาข้าพเจ้า ต่อมาได้ย้ายเครื่องมือช่างไปไว้ที่โรงรถ
ตึกหลังใหญ่ทรงยุโรป เป็นที่อยู่ของบิดามารดาข้าพเจ้า และลูกผู้หญิงรุ่นโต ตั้งเด่นอยู่กลางบริเวณบ้าน ระเบียงตึกด้านหน้าและด้านซ้ายปูพื้นด้วยหินอ่อน หน้าตึกประดับด้วยรูปปูนปั้นหญิงสาวชาวตะวันตก อ่อนช้อยตามสมัยนิยม
ใครที่เป็นแขกที่ไปมาหาสู่เป็นประจำของ “บ้านป้อมเพชร” คงจำได้ ระเบียงด้านหน้าเป็นเสมือนที่รับแขก นั่งพับเพียบคุยกันบนพื้น หินอ่อนบ้าง ตามบันไดหน้าตึกบ้าง
พื้นที่ด้านตะวันตกของ “บ้านป้อมเพชร” จรดลำรางสาธารณะ จึงไม่จำเป็นต้องสร้างรั้วบ้าน ด้านหลังของตึกใหญ่เป็นตึก ๒ ชั้น มีดาดฟ้า แบ่งเป็นส่วนที่พี่ชายข้าพเจ้าพำนัก ชั้นบนและล่างเป็นที่พักของคนในบ้าน รวมทั้งห้องครัว
เมื่อข้าพเจ้าแต่งงาน บิดาข้าพเจ้าได้สร้างเรือนหลังกะทัดรัดมุมคลองสีลมกับลำรางอีกหลังหนึ่ง ให้เป็นเรือนหอของข้าพเจ้ากับนายปรีดี
ลลิตา ปาล และสุดา บุตร ๓ คนแรกของข้าพเจ้าเกิดที่เรือนหอหลังนี้
บิดาข้าพเจ้าเป็นคนรักต้นไม้ใบหญ้า จึงไม่ได้ตัดต้นไม้ใหญ่ประเภทมะขาม มะม่วง มะตูม มะกอก ที่มีอยู่เดิม ปล่อยให้ต้นไม้พวกนี้เติบโตตามธรรมชาติ แล้วปลูกต้นไม้อื่นๆ ขึ้นแซมให้ร่มรื่นอีกมากมายต้นไม้ใหญ่อุ้มน้ำอุ้มดินแล้วยังทำให้อากาศไม่ร้อนอบอ้าวด้วย
เมื่อแรกมาอยู่ “บ้านป้อมเพชร์” ถนนสีลมยังเปลี่ยวอยู่ มีนิวาสถานของเจ้านาย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้าคหบดีและชาวต่างประเทศ หลายชาติอยู่บ้าง ลึกเข้าไปด้านในฝั่งคลองสีลม คนพื้นเพเดิมในละแวกนี้เป็นชาวบ้านประกอบอาชีพทำสวนพืชผักผลไม้
ถนนสีลมตะวันตกจรดถนนเจริญกรุง ตะวันออกจรดถนนพระรามที่ ๔ เป็นถนนที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ราว ๑๔๐ กว่าปีมาแล้ว มีความยาวเกือบ ๓ กิโลเมตร เดิมชาวบ้านเรียกว่า “ถนนขวาง” และเรียกถนนพระราม ๔ ว่า “ถนนตรง” ต่อมา ได้มีชาวตะวันตกมาตั้งโรงสีลม “ถนนขวาง” จึงกลายมาเป็น “ถนนสีลม” จนกระทั่งทุกวันนี้
คลองที่ขนานคู่กับถนนสีลม จึงมีชื่อว่า “คลองสีลม” ทิศตะวันตกไหลสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันออกไหลสู่คลองเตย
ข้าพเจ้าเป็นชาวถนนสีลมได้ ๔ - ๕ ปี จึงมีรถรางมาจากถนนเจริญกรุง แล่นผ่าน
“บ้านป้อมเพชร” ไปสุดทางที่ตำบลศาลาแดง ใครจะไปปากน้ำ สมุทรปราการ สามารถต่อรถไฟที่ “ถนนตรง” หรือถนนพระราม ๔ ถึงปลายทางโดยสะดวก
หัวถนนสีลมด้านฝั่งใต้ หรือ “ฝั่งถนน” ด้านเหนือจรดคลองเตย ซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมผ่านหัวลำโพง กับคลองพระโขนง ไหลสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ทั้งสองทาง
เมื่อครั้งที่ยังไม่ได้ย้ายมาอยู่บ้านป้อมเพชร พ.ศ. ๒๔๖๐ น้ำท่วมใหญ่ มีอยู่วันหนึ่ง ข้าพเจ้านั่งเรือพายกับญาติผู้ใหญ่จากบ้าน ศาลาแดงไปถึงบ้านเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร) ตรงถนนสุนทรโกษา เขตคลองเตยในปัจจุบัน ท่านเจ้าของบ้านสร้างหลังคามุงสังกะสีคร่อมคลอง มีเรือมาจากที่ไกล ๆ เข้ามาหลบแดดหลบฝน วันนั้นข้าพเจ้าสนุกสนานตามประสาเด็ก
“ฝั่งถนน” เริ่มด้วย “บ้านศาลาแดง” ซึ่งเป็นบ้านที่ในหลวงรัชกาล ที่ ๕ พระราชทานเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ตัวตึกสวยงามมากเด่นด้วยสีขาวสลับสีแดง เชิงชายหลังคาตึกห้อยย้อยลงมาเป็นลูกไม้ ปูนปั้น สร้างอย่างวิจิตรบรรจง
ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นสถาปนิก คาดเดาว่าน่าจะเป็นการออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียน “บ้านศาลาแดง” มีความงดงามเช่นอาคารสมัยเรอเนสซองส์ของอิตาลี
หลายคนถามข้าพเจ้าว่า “บ้านศาลาแดง” อยู่ตรงไหน? ยังมีอยู่ หรือเปล่า? เพราะหลายสกุลใหญ่ๆ ในปัจจุบันที่มีถิ่นพำนักตำบลศาลาแดงต่างก็เรียกบ้านตนว่า “บ้านศาลาแดง”
“บ้านศาลาแดง” ที่เป็นบ้านพระราชทานนั้นไม่มีแล้ว ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงแรม ดุสิตธานี
น่าเสียดายว่า บ้านเมืองเราขาดความสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งก่อสร้างเก่าๆ การทุบตึกเก่าทิ้งเป็นเรื่องง่าย เพียงไม่กี่วันไม่กี่สัปดาห์ อาคารหลังงามก็ราพณาสูร แต่ทว่าการทุบทิ้งนั้นก็เท่ากับทำลายหลักฐานวัตถุทางประวัติศาสตร์ไปโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ
ข้าพเจ้ามีความผูกพันกับ “บ้านศาลาแดง” เป็นพิเศษ เป็นบ้านญาติผู้ใหญ่ที่ครอบครัวข้าพเจ้าเคารพนับถือ และท่านได้ให้ความเมตตา แก่หลานๆ บ้านป้อมเพชร์ ซึ่งอยู่ในความทรงจำข้าพเจ้าเสมอมา
ประวัติของเจ้าพระยายมราชน่าสนใจทีเดียว จากบุตรคหบดีสามัญชนในจังหวัดสุพรรณบุรี แล้วได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นมหาอำมาตย์นายก “เจ้าพระยายมราช” ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชการปกครองมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา
วัยเด็กบวชเรียนเป็นสามเณร ต่อมาบวชเป็นพระภิกษุ สอบได้ ๓ ประโยคเป็น “มหา” จึงได้ลาสิกขารับราชการเป็นครูสอนภาษาไทยที่โรงเรียนพระตําหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง ถวายการสอนพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และได้ตามเสด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ๔ พระองค์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กรมหลวงปราจิณกิตติบดี กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช และเมื่อเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ ซึ่งต่อมาทรงครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ก็ได้ตามถวายการสอนภาษาไทยด้วยเป็นเวลา ๓ ปี
ใน พ.ศ. ๒๔๓๐ พระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์ได้เสด็จกลับประเทศไทยชั่วคราวได้เดินทางผ่านสหรัฐอเมริกาและประเทศญี่ปุ่นโดยเรือเดินสมุทร ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก เจ้าคุณยมราชตามเสด็จด้วย
กลับมาพระนครในคราวนี้ เจ้าคุณยมราชได้เข้าสู่พิธีวิวาห์กับคุณตลับ บุตรสาวคนโตของพระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรา (นาค ณ ป้อมเพชร) ผู้รักษากรุงศรีอยุธยา แล้วได้พามาอังกฤษด้วยกัน เมื่อต้องกลับมาอภิบาลพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์อีกวาระหนึ่ง เป็นเวลา ๖ ปี
ขณะอภิบาลพระเจ้าลูกเธอที่ประเทศอังกฤษ เจ้าคุณยมราชมีบรรดาศักดิ์ เป็นขุน หลวง และพระวิจิตรวรสาส์นตามลำดับ ได้ตามเสด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในฐานะเลขานุการส่วนพระองค์ ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักของประเทศต่างๆ ในยุโรป อาทิ เยอรมนี เดนมาร์ก รัสเซีย ตุรกี กรีซ อิตาลี ฯลฯ
ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ เจ้าคุณยมราชและท่านผู้หญิงตลับได้เข้าเฝ้า สมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียในฐานะผู้แทนประเทศไทยอีกด้วย
๙ ปีในประเทศอังกฤษ (พ.ศ. ๒๔๒๙ - ๒๔๓๗) ท่านได้ใช้เวลาว่างจากการถวายอภิบาลเจ้านาย ศึกษาภาษาอังกฤษจนแตกฉาน ทั้งยังได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ของอังกฤษ วิชาพื้นฐานทางด้านรัฐศาสตร์ การปกครองในยุคพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียเป็นกษัตริย์ปกครองประเทศอังกฤษตามระบอบประชาธิปไตย และศึกษาการพัฒนา อุตสาหกรรม ฯลฯ
เมื่อร้อยกว่าปีก่อน น้อยนักที่จะมีคนไทยเดินทางเกือบรอบโลกอย่างท่าน ประสบการณ์ในต่างแดนกอปรกับปณิธาณที่จะรับใช้บ้านเมือง ทำให้เจ้าคุณยมราชสร้างความเจริญให้แผ่นดินมากมาย จึงเป็นที่พอพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “บ้านศาลาแดง” บนเนื้อที่ประมาณ ๒๐ กว่าไร่ ณ ตำบลศาลาแดง อำเภอบางรัก เดิมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต)
ด้วยเจ้าพระยายมราชมีนิวาสถานที่บ้านศาลาแดง ข้าพเจ้าและพี่ ๆ น้อง ๆ จึงเรียกท่านว่า “คุณตาศาลาแดง”
คุณตาศาลาแดงอยู่อังกฤษมานาน นิยมรับประทานอาหารฝรั่ง สำรับอาหารฝรั่งของท่านเริ่มด้วยซุปใส (consommé) ตามด้วยปลา หมูหรือไก่ชุปแป้งขนมปังทอด เคียงด้วยเมล็ดถั่วลันเตากระป๋อง (petits pois) และมันฝรั่งฝานเป็นแผ่นบางๆ ทอดกรอบ ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าตามคุณพ่อคุณแม่ไปกราบคุณตาศาลาแดง ข้าพเจ้าได้ลิ้มรสอาหารฝรั่ง consommé น้ำซุปใสหอมหวลชวนรับประทาน มีแป้งตัวจิ๋ว ๆ เป็นรูปดาวบ้างตัวอักษรบ้างลอยอยู่ในโถซุป ยังติดตาติดจมูกข้าพเจ้าจนถึงเดี๋ยวนี้ ในเวลาต่อมาจะหารับประทานเช่นนี้ไม่ได้แล้ว
สิ่งแปลกใหม่ที่บ้านศาลาแดง นอกจากอาหารฝรั่งแล้วยังมีนิตยสารภาษาอังกฤษซึ่งมีรูปภาพเหตุการณ์ในโลกตะวันตก แม้ข้าพเจ้าจะอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก แต่รูปภาพในนั้นทำให้ข้าพเจ้าได้เปิดหูเปิดตารับรู้โลกกว้างที่ไกลออกไปจากสยามประเทศ
เพื่อสะดวกในการติดตามของผู้อ่าน ข้าพเจ้าขอเล่าเรื่องบ้านเรือน ฝั่งถนนต่อจาก “บ้านศาลาแดง” ก่อนแล้วค่อยถึงบ้านเรือนฝั่งคลอง ซึ่งการกล่าวถึงบ้านเรือนเหล่านี้ อาจกระโดดข้ามไปบ้าง เล่าเฉพาะที่ท่านเจ้าของบ้านเป็นบุคคลสำคัญหรือมีความรู้จักมักคุ้นกับครอบครัวข้าพเจ้า
เอกสารอ้างอิง :
- พูนศุข พนมยงค์. ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2551), 273-286.