ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ:
ถ้าไม่มีสุภาพบุรุษ เราจะมีสภาพสตรีไหม เป็นคำถามที่อาจารย์ชานันท์ ยอดหงษ์ จะตอบได้ เพราะว่าเราคุยกันในที่ประชุมว่า สุดท้ายการที่สุภาพสตรีออกมามีบทบาทต่าง ๆ เป็นบทบาทภายใต้ร่มเงาของสิ่งที่อาจารย์ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เรียกว่า เป็นความคิดที่เป็นชายเป็นใหญ่หรือไม่ ในบทบาทสตรีกับสันติภาพ ผมอยากให้อาจารย์เน้นไปที่บทบาทของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เพราะหลายท่านทราบว่าอาจารย์เขียนเรื่อง “หลังบ้านคณะราษฎร” เชิญครับ
ชานันท์ ยอดหงษ์:
จะขอเริ่มต้นจากท่านผู้หญิงพูนศุขก่อนเลย ท่านผู้หญิงพูนศุขอยู่ทั้งขบวนการชาตินิยมแล้วก็ขบวนการเพื่อสันติภาพ เราจะเห็นได้หลาย ๆ ครั้งว่าขบวนการเคลื่อนไหวของท่านผู้หญิง บางครั้งก็ทำให้ท่านผู้หญิงตกไปอยู่ในสถานการณ์ของการถูกคุกคามโดยอำนาจของรัฐ อันนี้จะเป็นเรื่องปัญหาของอำนาจรัฐ
ผมขอเริ่มต้นจากขบวนการชาตินิยมก่อน เวลาเราพูดถึงลัทธิชาตินิยมหรือว่าอุดมการณ์ชาตินิยม บางครั้งเป็นคำที่เรารู้สึกว่ามันค่อนข้างจะคุกคามจิตใจหรือว่าน่ากลัว มันขวาจัด แต่อย่างไรก็ตาม ขบวนการชาตินิยมเอง หรืออุดมการณ์เหล่านี้ก็มีเรื่องบริบทของมันด้วยว่า ในช่วงเวลาหนึ่งอาจจะนิยามความหมายของคำว่าชาติในรูปแบบใด เรามีสูตรวาทกรรมของชาติในแบบใดบ้าง มันก็จะส่งผลต่อขบวนการหรือลัทธิชาตินิยม ณ ขณะนั้น มีเรื่องบริบทของสถานที่และเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์อยู่ด้วย อย่างเช่น เวลาเราบอกว่าชาตินิยม อาจจะพูดถึงเรื่องการแสวงหาเป้าหมายร่วมกันของพลเมืองในชาติ เราอาจจะพูดถึงเรื่องของแรงจูงใจในการที่เราจะเกลียดกลัวชาวต่างชาติ หรือขบวนการที่จะต้องต่อต้านกับการรุกรานของชาวต่างชาติด้วย หรือจักรวรรดินิยม หรือเราต้องการจะปลดแอกจากเจ้าอาณานิคม รวมไปถึงความพยายามที่จะสร้างเอกราชให้กับรัฐ
ขณะเดียวกัน จะเห็นได้ว่าตอนนี้มีเรื่องของขบวนการต่อต้าน Neo-colonialism โลกาภิวัฒน์ทุนนิยมบ้าง ส่วนหนึ่งก็เป็นขบวนการชาตินิยมเช่นเดียวกัน และท่านผู้หญิงพูนศูขก็อยู่ในขบวนการเหล่านั้น จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาหนึ่งที่เกิดสงครามคาบสมุทรเกาหลี ท่านผู้หญิงพูนศุขเองก็ได้ลงนาม เมื่อลูกชาย ปาล พนมยงค์ เสนอชวนคุณแม่ให้ลงนามในการต่อต้านรัฐบาลไทยให้ถอนตัวจากสงครามเกาหลีท่านผู้หญิงพูนศุขให้ความสำคัญกับสันติภาพ เพราะเคยผ่านสงครามมาก่อน เคยอุ้มลูกหลบระเบิดในช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2 รู้ว่ามันยากลำบากแค่ไหน ก็ให้ความสำคัญว่ารัฐบาลจะต้องถอนทัพ แล้วก็จะสร้างสันติภาพอย่างไรได้บ้าง ซึ่งเหตุการณ์นี้ที่ลงนามก็นำไปสู่การถูกจับเป็นกบฏสันติภาพในปี 2495
ขณะเดียวกัน พูดถึงเรื่องของขบวนการชาตินิยม ท่านผู้หญิงเองก็เคยร่วมขบวนเสรีไทยด้วย ก็คือว่า ขบวนการเสรีไทยเป็นขบวนการใต้ดิน เพราะฉะนั้น เวลาเราจะเคลื่อนไหวหรือบัญชาการใด ๆ ก็ต้องใช้ในพื้นที่ที่เป็นส่วนบุคคล ที่บ้าน ทำให้บรรดาภรรยาของนักเคลื่อนไหวต่าง ๆ จะมีบทบาทด้วยในการที่จะต้อนรับขับสู้ จัดหาอาหาร เครื่องดื่ม คอยรับเลี้ยงดูผู้ที่เข้ามาประชุมด้วย รวมไปถึงท่านผู้หญิงเองก็พยายามติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่าง ๆ และเขียนรหัสต่าง ๆ ในการที่จะสื่อสารกันภายในขบวนการเสรีไทย ก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งของท่านผู้หญิงด้วย เมื่อได้รับปฎิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความลับมาก ๆ ท่านผู้หญิงเองก็เก็บความลับสุดยอดโดยที่ไม่แพร่งพราย แม้เป็นเรื่องสำคัญของเพื่อนสนิท เรื่องของสามีของเพื่อน ก็ไม่ได้เล่าให้ฟัง แม้ว่าจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย
ท่านผู้หญิงพูนศุขเองก็มีบทบาทเรื่องของเรียกร้องสันติภาพด้วย และขบวนการชาตินิยมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงเวลานั้น บรรดาผู้หญิงสมัยใหม่ และผู้หญิงหัวก้าวหน้าก็ตื่นตัวมาก ๆ ในการที่จะทำอย่างไรที่จะช่วยชาติในช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงนำไปสู่การรวมตัวกันเขียนหนังสือ ต่างคนต่างก็เขียนบทความรวมกันเป็นหนังสือที่ชื่อว่า “ประชาชาติสตรี” เป็นหนังสือที่ปลุกใจเชิญชวนให้ผู้คนออกมาช่วยเหลือประเทศชาติในช่วงเวลานั้น เป็นการเขียนที่รวมเงินเพื่อที่จะซื้อเวชภัณฑ์ต่าง ๆ อุปกรณ์ต่าง ๆ ให้กับทางโรงพยาบาลแล้วก็ทหารในช่วงเวลานั้นหนังสือเขียนไว้เลยว่า “เป็นการช่วยชาติในฐานะผู้หญิงไม่ใช่ผู้ชายที่ออกไปรบในยามสงคราม” ในหนังสือประชาชาติสตรีนี้ นอกจากท่านผู้หญิงพูนศุขแล้ว ยังมี พระนางเธอลักษมีลาวัณ, หม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ รัชนี, หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา, และละเอียด พิบูลสงคราม
มีผู้หญิงจำนวนมากในช่วงเวลานั้น สำหรับท่านผู้หญิงพูนศุขเองก็ได้เขียนบทความที่ชื่อว่า “สตรีกับศาสนา” ท่านผู้หญิงเขียนไว้ว่า “สตรีซึ่งเป็นภรรยาที่ดีจะต้องจัดการงานดีสงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดี ไม่ประพฤตินอกใจสามี รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้ และขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง” ถือว่าเป็นการช่วยชาติอีกแรง จะเห็นได้ว่าบทบาทของผู้หญิงในการที่จะอยู่ในขบวนการชาตินิยม กลายเป็นการเคลื่อนไหวหรือบทบาทที่ผ่านสามี ผ่านบทบาทการเป็นแม่บ้านแม่เรือนในช่วงเวลานั้น ซึ่งก็เป็นลักษณะทั่วไปของรัฐประชาชาติที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่
ในช่วงเวลานั้นที่ผู้นำรัฐเองก็คาดหวังให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม พยายามจะทำให้ผู้หญิงเป็นอีกทรัพยากรหนึ่งของรัฐ ขณะที่ในระบอบเก่าที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ได้คำนึงถึงว่าผู้หญิงจะเป็นทรัพยากรที่สำคัญ เป็นแรงหนึ่งในการสร้างรัฐ เห็นจากระบบการเกณฑ์ไพร่ที่เน้นแต่ผู้ชาย เมื่อมีการเกณฑ์ทหารก็จะเน้นแต่ผู้ชาย การบรรจุข้าราชการก็จะบรรจุแต่ผู้ชาย โดยไม่ได้คิดว่าผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นองค์ประกอบสำคัญของรัฐนั้น
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นมาแล้ว ไม่เพียงที่จะเปลี่ยนให้เป็นรัฐสมัยใหม่ กลายเป็นรัฐประชาชาติ แต่ยังทำให้ผู้หญิงถือว่าเป็นพลเมืองเทียบเท่ากับผู้ชาย เห็นได้จากหลัก 6 ประการ เห็นได้จากรัฐธรรมนูญฉบับแรกว่า ผู้หญิงเองก็มีสิทธิพลเมืองในการที่จะเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย ในช่วงเวลานั้นเอง เมื่อรัฐต้องการจะทำให้ผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งกับรัฐเป็นขบวนการชาตินิยม จึงเกิดอุดมการณ์ที่เรียกว่า “แม่ เมีย มิ่ง มิตร” ซึ่งฟังดูแล้ว 4 ม. บทบาทผู้หญิงกลายเป็นบทบาทที่อยู่ภายในร่มเงาของสถาบันครอบครัวเป็นหลักเลย ปัญญาชนนักวิชาการหญิงท่านหนึ่งในช่วงเวลานั้นที่ทำงานเป็นข้าราชการอยู่ในสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ก็จะพยายามบรรยายผ่านวิทยุกระจายเสียงตลอดเวลาว่า “เมีย แม่ มิ่ง มิตร” มีอะไรบ้าง ก็คือคุณเสริมศรี เกษมศรี
บทบาท “แม่ เมีย มิ่ง มิตร” ทำให้ชาติมั่นคง แม่ให้กำเนิด เมียก็คอยปฏิบัติดูแลสามีเมื่อกลับมาบ้าน ผัวไปทำงานนอกบ้านกลับมาได้เงินมาก็คอย Support ผัว แล้วผัวจะได้มีแรงมีกำลังในการไปทำงานนอกบ้านต่อไป การที่เป็นมิ่งก็คือเป็นขวัญใจ ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะเป็นเรื่องของการทำตัวให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ สวยงาม เพื่อให้เห็นว่าเป็นตัวแทนของรัฐนั้น รัฐเจริญรุ่งเรืองเท่าใดก็สะท้อนให้เห็นได้จากผู้หญิงในฐานะที่เป็นดอกไม้ของชาติ เป็นสัญลักษณ์ของชาติในช่วงเวลานั้น
ขณะเดียวกัน มิตรก็คือเราจะทำอย่างไรดี เพื่อที่จะเอาบทบาทของเราไป Support ให้กับรัฐให้อยู่อย่างสงบสุข อย่างเช่น เรื่องของบทบาทสังคมสงเคราะห์ในเวลานั้น ก็จะเป็นเรื่องของการช่วยเหลือดูแลผู้ประสบภัย การช่วยเหลือดูแลคนยากคนจน การมีส่วนร่วมในการสร้างโรงเรียน สร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ เหล่านั้นไป เป็นการกระตุ้นให้ผู้หญิงออกมาทำงานในพื้นที่สาธารณะเพื่อรัฐด้วย อันนี้จะเป็นอุดมการณ์ในช่วงที่เพิ่งจะมีรัฐประชาชาติในยุคสมัยแรก ๆ ก็มักจะเป็นอย่างนั้น เราจะเห็นได้เลยว่าผู้หญิงเองก็มีส่วนร่วมในขบวนการชาตินิยมอย่างมาก
แต่อย่างไรก็ตาม ขบวนการชาตินิยม เมื่อผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปลดแอกจากเจ้าอาณานิคม หรือว่าการมีส่วนร่วมในการที่จะ Support นักปฏิวัติในการที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง สุดท้ายแล้ว มักจะมองว่าบทบาทผู้หญิงไม่มีความสำคัญมากเท่าผู้ชาย การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในขบวนการ หรือบทบาทผู้หญิงที่จะมีส่วนร่วมในชาตินิยม มักจะเป็นเรื่องรองจากผู้ชายเสมอ หรือทำให้ไม่มีตัวตนสม่ำเสมอในหลายประเทศที่มีขบวนการชาตินิยมต่าง ๆ
แม้ว่าจะมีการตีความว่าบทบาทผู้หญิงจะมีส่วนร่วมในขบวนการนั้น แต่สุดท้ายแล้ว ก็ไม่ได้ให้คุณค่าความสำคัญเท่าใด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้า แล้วก็ในหลาย ๆ ครั้ง เวลาที่ขบวนการชาตินิยมจะยืนหยัดในเรื่องของชาติของตัวเอง เพื่อจะกีดกันเจ้าอาณานิคมที่มารุกราน มักจะย้อนกลับไปแสวงหาวัฒนธรรมดั้งเดิมท้องถิ่นของตัวเอง เพื่อที่จะแยกวัฒนธรรมของตนออกจากวัฒนธรรมของเจ้าอาณานิคม แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะว่า เมื่ออยู่ภายใต้ร่มของเจ้าอาณานิคมแล้ว วัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมกับวัฒนธรรมของจักรวรรดินิยมมันผสมเป็น Hybrid Culture เรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นจึงแยกยาก แต่ถึงกระนั้นก็พยายามที่จะแยกอยู่หลาย ๆ ครั้ง ซึ่งก็นำไปสู่เรื่องของการจำกัดสิทธิ บทบาทของผู้หญิงในช่วงเวลาเดียวกัน
ยกตัวอย่าง เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวในอินเดีย ในยุคนั้นช่วงที่อินเดียอยู่ภายใต้อาณานิคมอังกฤษ จะมีกวีที่ผู้หญิงเป็นผู้เขียน เป็นผู้แสดงออกตัวตนที่ชื่อว่า เรขตี (Rekhti) เรขตา (Rekhta) จะมีชื่อสองชื่อนี้ พูดถึงหญิงรักหญิง พูดถึงเรื่องการปลดปล่อยของผู้หญิง แต่เมื่อขบวนการเคลื่อนไหวชาตินิยมอินเดียต้องการจะประกาศเอกราช ต่อสู้เพื่อเอกราช ก็พยายามจะโจมตีว่า เรขตีที่อันเคยเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของอินเดีย ก็เป็นวัฒนธรรมที่พูดถึงเรื่องเสรีภาพทางเพศของผู้หญิงมากเกินไป นี่คือผลผลิตของจักรวรรดินิยม ก็พยายามจะกำจัดความรุ่มรวยในประเด็นต่าง ๆ ในกวีเรขตีเหล่านั้น
เช่นเดียวกันกับใน 3 จังหวัด ช่วงเวลาหนึ่งเราจะเห็นได้เลยว่ามีความเข้มข้นในการที่จะสร้างอิสลามใหม่ขึ้นมา ก็คือพยายามจะผลักเอาความเชื่อท้องถิ่นออกไปจากศาสนาอิสลามในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อสร้างขบวนการในการยืนยันตัวตนต่อต้านกับอำนาจของกรุงเทพฯ ในช่วงเวลานั้น ที่ได้รับอิทธิพลมาจากการปลดแอกของมาเลเซียจากเจ้าอาณานิคมในช่วงปี 2500 จะเห็นได้เลยว่า การคลุมฮิญาบเริ่มมามีบทบาทสำคัญในฐานะกลไกสร้างวัฒนธรรมของชาวมุสลิมตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเครื่องยืนยันถึงอัตลักษณ์ของเขา จนนำไปสู่การประท้วงฮิญาบในปี 2530 ที่รัฐรวมศูนย์กรุงเทพฯ มักจะกีดกันไม่ให้สตรีมุสลิมที่คลุมฮิญาบเข้าเรียน เข้าห้องสอบ หรือปฏิบัติหน้าที่ราชการ เพราะเขาถือว่ามันเป็นเครื่องประดับหัว ผิดกฎระเบียบของโรงเรียน ของสถานศึกษา ของหน่วยงานราชการ ก็เลยนำไปสู่การประท้วงเหล่านั้น
จะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้ก็เป็นผลผลิตเหมือนกัน แม้ว่าเราจะคิดว่ามันคือการควบคุมเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงมากเพียงใด แต่มันก็เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์และวัฒนธรรมในการที่จะเป็นเครื่องมือต่อต้านกับกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจเหนือกว่าในการควบคุมกำกับเนื้อตัวร่างกายอีกที อย่างเช่นการใช้อำนาจของรัฐรวมศูนย์ในการกำหนดรูปแบบของเสื้อผ้าหน้าผมในหน่วยงานราชการ จะเห็นได้เลยว่าวัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะยืนยันถึงความเป็นชาตินิยม ขณะเดียวกัน แนวคิดของชาตินิยมเอง เมื่อยืนยันเหล่านั้นไปแล้วว่าผู้หญิง ผู้ชาย ก็ต้องมีส่วนร่วมได้ แต่ผู้ชายมีส่วนร่วมเหนือกว่ามันเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง Male state หรือรัฐผู้ชาย รัฐที่ให้อำนาจหรือกระจุกอำนาจไว้กับความเป็นชายหรือผู้ชายไว้เท่านั้น ทำให้ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมกับรัฐได้ก็เป็นแค่มิ่ง เป็นดอกไม้ของชาติ เป็นมาตุภูมิ เป็นดินแดนแม่ แต่เมื่อพูดถึงอำนาจของรัฐจริง ๆ นั่นคือบทบาทของผู้ชายเป็นหลัก บทบาทของทหาร
เราจะเห็นได้เลยว่า คำว่า ชาตินิยม (Nationalism) บางครั้งมันแยกไม่ออกเลยกับคำว่า Patriotism ความรักชาติแบบทหาร เพราะเนื่องมาจากเวลาเราบอกว่ารักชาติ มันไปกระจุกอยู่ที่บทบาทผู้ชายเสียส่วนใหญ่เป็นหลัก คำว่า Patriotism อย่าง Patriot แปลว่าทหาร ก็คือผู้ที่ปกป้องรักษาดินแดน อำนาจของพ่อก็คือ Father ซึ่งเมื่อสักครู่ได้พูดถึงเรื่องชายเป็นใหญ่ หรือ Patriarchy ไป มันก็เป็นคำเดียวกันที่เป็นอาณาจักร เป็นดินแดนของพ่อ ของผู้ชายที่เป็น Father Figure ผู้มีอำนาจในการควบคุมกำกับพลเมืองในประเทศนั้น สำหรับผู้หญิงก็เป็นแค่มิ่ง เป็นแค่ดอกไม้ของชาติไปเท่านั้นเอง จะเห็นถึงความแบ่งอย่างชัดเจน
ผมไม่ได้บอกว่า Feminism อยู่เป็นขั้วตรงข้ามกับ Nationalism มันขึ้นอยู่กับว่าเรานิยามความหมายของชาติเป็นอย่างไรมากกว่า เราใช้สูตรชาตินิยมแบบใดมากกว่า ซึ่งความซวย หรือความบังเอิญ เราดันนิยามความหมายของชาติไปคู่กับอำนาจบทบาทของผู้ชาย ชาตินิยมที่ไปผูกขาดกับบทบาทของผู้ชาย เช่น ทหาร ความแย่ตรงนั้นก็คือว่า เมื่อเราบอกว่าชาตินิยมมันผูกกับทหารแล้ว Patriotism กับ Nationalism ความมั่นคงของชาติมันจึงเป็นเรื่องของผู้ชายเป็นหลัก ผู้ที่จะสร้างรักษาความมั่นคงของรัฐไว้จึงเป็นเรื่องของผู้ชาย ยิ่งเราจะเห็นได้เลยว่าในประเทศของเรา ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา มีรัฐประหารบ่อยครั้งมาก ท่านผู้หญิงพูนศุขเอง อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เองก็เผชิญชะตากรรม เผชิญกับภัยทางการเมืองในหลาย ๆ ครั้ง จากการรัฐประหารด้วย
เราจะเห็นได้เลยว่าเมื่อรัฐประหารแต่ละครั้ง บทบาทอำนาจของทหารก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มขยายกินพื้นที่ของพลเรือนมากขึ้น ในช่วงเวลาหนึ่งของสงครามเย็นจะเห็นได้เลยว่าความหมายของคำว่า “ความมั่นคง” ก็คือทหารออกมาต่อสู้กับภัยคุกคามจากต่างประเทศ จากภัยคอมมิวนิสต์เหล่านั้น ความหมายชาตินิยม ความหมายของความมั่นคงจึงไปผูกขาดกับการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ เมื่อ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ล่มสลายไปหลังปี 2525 ความมั่นคงจึงถูกเปลี่ยนความหมายใหม่เป็นเรื่องของความยากจนแทน ไม่ใช่คอมมิวนิสต์อีกต่อไป ทหารแทนที่จะอยู่กับความมั่นคงแบบเก่าคือต่อสู้กับภัยคุกคามต่างชาติ ทหารเริ่มขยายอำนาจมาต่อสู้กับความยากจน ซึ่งความยากจนนั้นเป็นเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม มากกว่าจะเป็นเรื่องที่ทหารที่ถูกฝึกมาอีกรูปแบบหนึ่งจะสามารถรับมือหรือแก้ไขสถานการณ์เหล่านั้นได้
ประเด็นเรื่องของความมั่นคงตามหัวข้อนี้เป็นความมั่นคงแบบเก่ากับความมั่นคงแบบใหม่ ความมั่นคงแบบเก่า มันก็คือการต่อสู้ผู้รุกรานจากต่างแดนเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ความมั่นคงแบบใหม่จะเป็นเรื่องของความยากจน ยาเสพติดทรัพยากรทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การค้ามนุษย์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาสังคมและวัฒนธรรมเป็นหลักที่ทหารเองไม่ได้ถูกฝึกหัดหรือสั่งสอน ในการที่จะจัดการตรงนี้อาจจะไม่ได้มีความรู้มากนัก ขณะเดียวกัน การให้ทหารมีบทบาทในการสร้างความมั่นคง เขาก็จะมองว่าคนที่คิดต่าง คนที่ต่างออกไปจากอุดมการณ์ของเขาถือว่าเป็นภัย เป็นศัตรูที่ต้องปราบปราม ซึ่งก็นำไปสู่ความรุนแรง แล้วเมื่อทหารมีบทบาทในการกำหนดเรื่องของความมั่นคงแล้วมันนำไปสู่ความรุนแรง ทั้งความรุนแรงทางตรงก็คือ การใช้อาวุธ การใช้กำลัง ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ทหารถูกฝึกมาอยู่ตลอดเวลา ในเรื่องของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า ผู้ที่มีอำนาจน้อยลงมาก็จะได้ทรัพยากรที่น้อยลงไป มันเป็นการจำกัดศักยภาพของความเป็นคน รวมไปถึงความรุนแรงในทางวัฒนธรรมด้วยที่ทหารก็ถูกฝึกมาเช่นนั้น เพราะฉะนั้น ในการที่จะแก้ไขปัญหาความมั่นคงหรือการที่จะสร้างความมั่นคงให้กับรัฐในนิยามของความมั่นคงแบบสมัยใหม่ จึงไม่สามารถนิยามด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมแบบดั้งเดิมอุดมการณ์แบบทหารที่มีบทบาทสูงขนาดนี้
ผู้หญิงจึงมีบทบาทสำคัญมาก ๆ ที่จำเป็นที่จะต้องเข้ามาในการร่วมแก้ไขปัญหาความมั่นคงแบบใหม่เหล่านี้ เพราะว่าต้องพึ่งพาความหลากหลาย แนวความคิดที่หลากหลายมาก ๆ ในเรื่องของสังคมวัฒนธรรมต่าง ๆ จะเห็นได้เลยว่า ถ้าเราให้ความสำคัญกับความหลากหลายมาก ๆ ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาความมั่นคง ผมคิดว่ามันน่าจะสามารถทำให้เกิดความมั่นคงได้ แล้วความหมายของคำว่าชาตินิยมก็จะมีทิศทางที่มันบวกมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะนำไปสู่สันติภาพได้เพราะว่าเราไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่ความรักชาติแบบทหารอีกต่อไป การให้ผู้หญิง การให้บุคคลต่าง ๆ ที่หลากหลายเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความมั่นคง มันย่อมนำไปสู่เรื่องของสันติภาพอย่างแน่นอน
ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ:
ขอบคุณครับ ขอเสียงปรบมือให้กับคุณชานันท์ ยอดหงษ์ คุณชานันท์เริ่มประเด็นมาที่ยุคของท่านผู้หญิง มีการพยายามนิยามคำว่าชาติ แล้วก็ชาตินิยมด้วย 4 ม. “แม่ เมีย มิ่ง มิตร” ผมก็ยังสงสัยว่าสิ่งที่บรรดาสุภาพสตรีทำในขณะนั้น แล้วเราก็ตั้งคำถามว่า ทำไมสุภาพสตรีไม่ค่อยได้รับการยอมรับ เป็นเพราะสุภาพสตรีเองด้วยไหมที่เป็นฝ่ายที่ไม่ค่อยอยากจะพูดอะไรมาก เป็นพวกไม่ชอบ Claim ตัวเองหรือไม่
ชานันท์ ยอดหงษ์:
จะทำอย่างไรให้สร้างความมั่นคงให้กับประเทศ หรือป้องกันภัยคุกคามใหม่ได้ และสร้างชาตินิยมไปพร้อม ๆ กัน โดยที่อาศัยความหลากหลาย ก็เลยอยากเสนอในประเด็นบางอย่าง เช่น “การกำหนด” อย่างวันนี้เราพูดถึงเรื่องเพศ ก็อาจจะกำหนดในเรื่องของ Gender Quota System ในการเลือกตั้งว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นระดับหนึ่งเหมือนกัน แม้เราจะบอกว่าผู้หญิง ผู้ชายเท่าเทียมกัน แต่สุดท้ายแล้วเราจะเห็นว่า ตั้งแต่มีการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2476 จนกระทั่งมาถึงปี 2491 ผ่านมา 15 ปี เพิ่งได้ ส.ส.หญิงมาคนเดียว ก็คือคุณอรพินท์ ไชยกาล เราจะเห็นได้เลยว่า อย่างที่อาจารย์ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ บอกว่า เราเพิ่งมีนายกผู้หญิงเพียงแค่ 2 คน และแม้ว่าประเด็นผู้หญิงที่ได้เป็น ส.ส. จะเพิ่มขึ้นมา กลายเป็น 19-20% แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยอย่างมีนัยยะสำคัญ
ถ้ากลับไปดูในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ประมาน 134 ประเทศ มีการกำหนด Gender Quota System ในการเลือกตั้ง ผมคิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีเหมือนกันในการที่จะแก้ไขปัญหาความมั่นคงใหม่ในประเทศโดยให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น ผ่านการกำหนดโควตาไม่ใช่แค่ Gender เท่านั้น อาจจะรวมไปถึงเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มวัฒนธรรมท้องถิ่นต่าง ๆ รวมไปถึงคนที่มีความท้าทายทางกายภาพด้วย มีการจัดโควตาให้คนกลุ่มนี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของภาครัฐด้วย ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่จะสร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้ โดยไม่ผูกขาดอยู่ที่กลุ่มผู้ชาย กลุ่มทหารเท่านั้น
รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=jAcAYTzqiLY
ที่มา : PRIDI Talks #29 : 113 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ “สตรีกับสันติภาพ : บทบาทภายใต้กระแสชาตินิยมและมุมมองความมั่นคง” อาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2568 เวลา 14.00-17.00 น. ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี กรุงเทพฯ