วันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา เนื่องในวาระ 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (2 มกราคม 2455 - 2566) สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้ดำเนินการจัดงานเสวนาทางวิชาการ PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ “สิทธิมนุษยชนกับความเท่าเทียมทางเพศในรัฐธรรมนูญไทย” ขึ้น ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี กล่าวเปิดงานโดย รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมเสวนาโดย ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย, ศ.ดร.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย University of Wisconsin-Madison สหรัฐอเมริกา, ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานคณะกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลและผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กลุ่มราษฎร ดำเนินรายการโดย ธนกร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าวในประเทศ สำนักข่าว THE STANDARD
โดยในช่วงต้น คณะนักร้องประสานเสียงวงสวนพลูคอรัส ร่วมขับร้องบทเพลง คนดีมีค่า, แม่จ๋า และ This is me ซึ่งสำหรับบทเพลงสุดท้าย This is me เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Greatest Showman ต้นฉบับขับร้องโดย คีลา เซตเทิล (Keala Settle) สื่อความหมายของการยอมรับในความแตกต่างของมนุษย์ซึ่งกันและกัน มนุษย์ทุกคนย่อมมีคุณค่าในตนเอง และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวเปิดงานเสวนาพร้อมทั้งระบุถึงความสำคัญของการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ โดยระบุว่าความเท่าเทียมทางเพศนั้นปรากฏเด่นชัดอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่การอภิวัฒน์สยาม 2475
พร้อมกันนี้ภายในงานยังมีวงเสวนาย่อย “สตรีที่ไม่ท้อต่อผองภัย : จาก 111 ปี ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ถึง 100 ปี คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร” โดย ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร อดีตรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และกษิดิศ อนันทนาธร กรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ พูดคุยถึงความเป็นมาของเพลง “คนดีมีค่า” และ “แม่จ๋า” รวมไปถึงบทบาทในฐานะแม่ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และ คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างสองครอบครัว และแง่มุมการเป็นลูกของสตรีที่ปฏิบัติงานเพื่อสังคม ในช่วงท้ายของวงเสวนา ยังได้แนะนำหนังสือ “รำลึก คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร”
ชานันท์ ยอดหงษ์ กล่าวถึงบทบาทของสตรีเพศนับตั้งแต่ก่อนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปจนถึงภายหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475 ซึ่งปรากฏความเคลื่อนไหวและการมีส่วนร่วมของสตรี พร้อมทั้งบอกเล่าการขับเคลื่อนต่อประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศในฐานะผู้ผลักดันและมีส่วนร่วมในการทำงานด้านการเมืองเชิงอัตลักษณ์
ศ.ดร.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น กล่าวถึงการเคลื่อนไหวภาคประชาชนและการเรียกร้องสิทธิสตรีและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในระดับสากล พร้อมทั้งระบุถึงปัญหาการตีความต่อประเด็นความเท่าเทียมในกระบวนการยุติธรรมและในเชิงหลักการของตัวบทกฎหมาย อีกทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญในการรวมแนวร่วมของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศให้เป็นหนึ่งเดียวกันกับขบวนการประชาธิปไตยที่ยังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล กล่าวถึงการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ อีกทั้งปัญหาและอุปสรรคของการผลักดันและการเคลื่อนไหวที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เช่น ปัญหาความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา อนามัยเจริญพันธุ์ และสิทธิการยุติการตั้งครรภ์ ฯลฯ อีกทั้งยังระบุถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อความเปลี่ยนแปลงผ่านกลไกของกระบวนการยุติธรรมและรัฐธรรมนูญ พร้อมระบุถึงความจำเป็นในการผลักดันประเด็นความเท่าเทียมทางเพศไปสู่การเป็นวาระทางการเมือง เฉกเช่นเดียวกันที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ อาทิ ในประเทศอาร์เจนตินา
ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ กล่าวถึงพัฒนาการทางวัฒนธรรมของความหลากทางในแวดวงสื่อและวงการบันเทิง โดยระบุถึงการมาถึงของกระแสซีรีส์วาย (Boy's love Series) นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้เปิดพื้นที่ให้แก่ความหลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงความพยายามของคนในสายพานการผลิตในแวดวงบันเทิงที่จะขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมทางเพศลงสู่ผลงาน นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงบทบาทเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งทางการเมืองจากการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา ซึ่งธัญญ์วารินได้มีส่วนสำคัญในการร่วมผลักดันให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมเพื่อยกระดับความเสมอภาคให้แก่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศให้ทัดเทียมกัน
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กล่าวถึงปัญหาอันเกิดจากอคติทางเพศที่นำไปสู่การตีกรอบบทบาทและหน้าที่ของบุคคลในสังคมปัจจุบัน ปัญหาในประเด็นดังกล่าวยิ่งเด่นชัดมากขึ้นในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในปัจจุบัน ที่ยังคงปรากฏการตีตราและอคติทางเพศ ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ล้วนส่งผลโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตในมิติต่างๆ เช่น การประกอบอาชีพ การดำรงตำแหน่งในสายอาชีพผู้บังคับบัญชา และการเข้าถึงโอกาส ฯลฯ
งานเสวนาครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากแขกผู้เกียรตินำโดยทายาทปรีดี-พูนศุข พนมยงค์, พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ทายาทพระยาพหลฯ, คุณชรินทร์ หาญสืบสาย อ.เอกชัย ไชยนุวัติ และคณะกรรมการกลางมูลนิธิปรีดี พนมยงค์, คุณสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส, คุณรสนา โตสิตระกูล นักการเมือง, คุณสันติสุข โสภณสิริ นักเขียนอิสระ, ดร.วรวิทย์ กนิษฐะเสน อดีตเอกอัครราชทูต, ดร.มนู และ ผศ.ประภัสสร เลียวไพโรจน์ พร้อมด้วยนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ เป็นต้น
รับชมย้อนหลังได้ที่ : PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
- PRIDI Talks
- PRIDI Talks 19
- สถาบันปรีดี พนมยงค์
- พูนศุข พนมยงค์
- จันทนี สันตะบุตร
- อนุสรณ์ ธรรมใจ
- ชานันท์ ยอดหงษ์
- ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น
- ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล
- ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
- ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล
- ธนกร วงษ์ปัญญา
- จริย์วัฒน์ สันตะบุตร
- กษิดิศ อนันทนาธร
- สิทธิสตรี
- ความเท่าเทียมทางเพศ
- ความหลากหลายทางเพศ
- LGBTQ+
- รัฐธรรมนูญ