ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรุปประเด็นเสวนา PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ “สิทธิมนุษยชนกับความเท่าเทียมทางเพศในรัฐธรรมนูญไทย”

10
มกราคม
2566

เมื่อวันอาทิตย์วันที่ 8 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา เนื่องในวาระ 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ (2 มกราคม 2455 - 2566) ภริยาของรัฐบุรุษอาวุโส นายปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้หญิงพูนศุข คือสตรีผู้ซึ่งอยู่ท่ามกลางความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย ด้วยบทบาทของสตรีผู้กล้าต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม ท้าทายต่อทุกความอยุติธรรมที่ผันผ่านเข้ามาในชีวิต และเผชิญหน้าต่อมรสุมทางการเมืองเคียงข้างนายปรีดีในทุกช่วงขณะ

สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้ดำเนินการจัดงานเสวนาทางวิชาการ PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ “สิทธิมนุษยชนกับความเท่าเทียมทางเพศในรัฐธรรมนูญไทย” ขึ้น ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี โดยได้รับเกียรติจากนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมไปถึงบุคคลในแวดวงบันเทิง อาทิ ชานันท์ ยอดหงษ์, ศ.ดร.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น, ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล, ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ และภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ดำเนินรายการโดย ธนกร วงษ์ปัญญา

ในช่วงกล่าวเปิดงาน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของการจัดงานในครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นจากจุดประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้มีความหลากหลายทางเพศตลอดจนสตรี โดย รศ.ดร.อนุสรณ์ ยังได้ระบุถึงประวัติศาสตร์พัฒนาการของความเสมอภาคทางเพศในประวัติศาสตร์ ซึ่งความเท่าเทียมทางเพศนั้นปรากฏเด่นชัดอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่การอภิวัฒน์สยาม 2475

วาระเร่งด่วนต่อประเด็นสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ

ชานันท์ ยอดหงษ์ กล่าวถึงความตระหนักของสังคมในปัจจุบัน ที่รู้ถึงการมีอยู่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการทางสังคมอย่างหนึ่ง พร้อมทั้งระบุถึงปัญหาที่เกิดจากการไม่ยอมรับในเชิงปัจเจกและสังคม และภาพที่ใหญ่ไปมากกว่านั้นคือปัญหาที่เกิดจากรัฐ เช่น การไร้สวัสดิการ การมีกฎหมายและโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่ไม่รองรับความหลากหลายทางเพศ เมื่อรัฐมองภาพเพียงชายและหญิง ความหลากหลายทางเพศจึงไม่ถูกให้ความสำคัญในเรื่องกฎหมาย

ศ.ดร.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ระบุถึงช่องว่างของส่วนรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ว่า “ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน” สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือกฎหมายมิได้สะท้อนถึงความเป็นจริงในชีวิตของประชาชนทุกคนในเชิงปฏิบัติ

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ระบุว่าในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศนั้น มีส่วนยากอยู่ด้วยกัน 2 ประการ ประการแรกคือ ความเชื่อส่วนตัว และประการที่สอง การควบคุมมิติทางเพศของรัฐ

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษา คือความเชื่อ การปฏิบัติ ตลอดจนหลักสูตรทางการศึกษาที่มิได้เอื้อให้คนเข้าใจต่อสิทธิมนุษยชนและความหลากหลาย สิ่งเหล่านี้กดดันและกดทับความเป็นมนุษย์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมทั้งยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่ตนเองเคยประสบในวัยเด็ก ซึ่งเกิดการกดทับทางสังคมรอบข้าง สิ่งเหล่านั้นเป็นแรงขับให้ธัญญ์วารินทำงานเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของกลุ่มมีผู้ความหลากหลายทางเพศ

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ระบุว่าพื้นฐานทางความคิดที่ยังตีกรอบและจำกัดโดยใช้เพศเป็นตัวแบ่งแยกหรือกำหนด ในปัจจุบันมีองค์ความรู้ที่ก้าวหน้าไปไกลมากแล้ว มนุษย์ไม่จำเป็นต้องใช้เพศเป็นตัวชี้วัด หากเราทำลายกรอบตรงนี้ได้ เราจะเห็นศักยภาพของมนุษย์ในฐานะบุคคลจริงๆ

พรรคการเมืองกับการเมืองเชิงอัตลักษณ์

ชานันท์ ยอดหงษ์ กล่าวถึงพรรคการเมืองทั่วโลกนั้นเริ่มให้ความสำคัญกับการเมืองอัตลักษณ์ในระดับสากลโดยเฉพาะการเมืองในประเทศประชาธิปไตย เช่น ชาติพันธุ์ เพศ กลุ่มบุคคลที่มีความท้าทายทางกายภาพ ฯลฯ ที่ส่งผลต่อการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ที่จะนำไปสู่การออกแบบสวัสดิการและการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเหล่านี้อย่างเสมอภาค พร้อมขยายความต่อว่าพรรคการเมืองมีหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างรัฐและประชาชนในการที่จะออกกฎหมาย  สิบปีที่ผ่านมานั้นประเด็นความหลากหลายทางเพศเป็นประเด็นที่สำคัญในประเทศไทย จึงทำให้พรรคการเมืองให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ 

ชานันท์ยังอธิบายลึกลงไปให้ชัดเจนมากขึ้นถึงการทำงานของตนในปัจจุบัน “พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคเก่าแก่ มีความหลากหลายทั้งความคิดความอ่านคล้ายกับครอบครัวใหญ่ ซึ่งมีข้อดีที่ว่าเราสามารถสื่อสารคุยกันเหมือนประหนึ่งคุยกับคนในครอบครัว ว่าปัจจุบันเป็นอย่างนี้แล้ว คนรุ่นเก่ากว่ามองอย่างไรกับความหลากหลายทางเพศ คนรุ่นใหม่มองอย่างไรกับความหลากหลายทางเพศ ยิ่งต้องทำงานด้วยกันแล้วทำให้เรียนรู้เข้าใจซึ่งกันและกันได้ ขณะเดียวกันในการสื่อสารในที่สาธารณะผู้ใหญ่อาจจะพูดอะไรที่เกรงว่าจะไม่มีความเข้าใจในประเด็นนี้ จึงทำคู่มือ เอกสาร เช่นคำนี้เขาไม่ใช้กันแล้วในปัจจุบัน เพราะสังคมเริ่มตระหนักว่าเป็นคำที่เหยียด พูดคุยกันว่าคำนี้ไม่ควรใช้หรือสิ่งเหล่านี้ไม่ควร พรรคการเมืองต้องเรียนรู้ประชาชนจำนวนมาก เขาจะเข้าใจง่ายมากเลยว่าประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว พรรคการเมืองก็ต้องเปลี่ยนตาม”

สถาบันการศึกษากับมิติพัฒนาการทางเพศและความหลากหลาย

ศ.ดร.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ระบุว่ามหาวิทยาลัยมีความอนุรักษนิยมสูง บทบาทสำคัญของคนเป็นครูคือปกป้องนักศึกษาและสร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่นักศึกษาเพื่อให้เขาแสวงหาจุดหมายของชีวิต พร้อมอธิบายว่าแม้การทำงานของตนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง ฝ่ายซ้าย หรือกฎหมาย แต่จุดเปลี่ยนคือการเริ่มทำงานที่ University of Wisconsin-Madison เสียงเรียกร้องจากนักศึกษาที่สนใจต่อประวัติศาสตร์ LGBTQIA+ ทำให้ ศ.ดร.ไทเรลได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับนักศึกษาเหล่านั้น

การเคลื่อนไหวภาคประชาชนและอุปสรรคที่ต้องพบเจอ

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล กล่าวเกริ่นนำถึงภาพรวมการเคลื่อนไหวในระดับสากลและต่างประเทศ การเมืองในระดับสากลนั้นไปไกลมากกว่าการเลือกตั้ง แต่ในปัจจุบันเป็นการต่อสู้ทางวัฒนธรรมสิทธิของคนแต่ละกลุ่มหรือเพศได้กลายเป็นประเด็นสำคัญของคนทั้งโลก ความยากคือแรงต้านจากคนที่ไม่เข้าใจ ฉะนั้น โจทย์ใหญ่คือการสื่อสารกับกลุ่มคนนี้ในประเด็นดังกล่าว 

ฐิติรัตน์ยังให้ความเห็นว่า นอกเหนือจากการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิทางเพศที่มีทุนเดิมที่สูงมากอยู่แล้ว สำหรับในประเทศไทยนั้นกลับต้องพบกับอุปสรรคในการรณรงค์และเพดานในการพูด การชุมนุม และการรวมกลุ่ม แต่ข้อดีคือการให้ความสำคัญกับการเมืองเรื่องเพศนั้นได้นำไปสู่การเมืองในด้านสิทธิมนุษยชนต่อประเด็นอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน

ชีวิตและบทบาทการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ บอกเล่าประสบการณ์ผ่านผลงานที่โลดแล่นในเบื้องหลังวงการบันเทิง ภาพยนตร์เรื่อง “Insect in the backyard” (แมลงรักในสวนหลังบ้าน) ซึ่งฉายภาพกำแพงหรือปัญหาที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องพบเจอ คือความเข้าใจในความแตกต่างของมนุษย์ พร้อมทั้งระบุด้วยว่าการต่อสู้นับตั้งแต่เด็กจนปัจจุบันเป็นการเดินทางที่ยาวนานเพื่อสิทธิในการแสดงออก

ธัญญ์วารินสะสมเรื่องราวการต่อสู้มาเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดจุดหันเหในชีวิตสู่บทบาทใหม่ก็ถูกกระตุ้นด้วยการมาของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้จุดประกายให้เธอเดินเข้าสู่สภาและเป็นตัวแทนของประชาชน โดยเธอตระหนักถึงหน้าที่ของตนเองการเป็นตัวแทนของประชาชนในการแก้กฎหมายสมรสเท่าเทียมให้ได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้กลายเป็นวาระสำคัญของสังคมในปัจจุบัน

คนรุ่นใหม่กับความเท่าเทียม : การเคลื่อนไหวในปัจจุบัน

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กล่าวถึงกรอบคิดเรื่องเพศที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับบทบาทหรือหน้าที่ของมนุษย์ที่พบเจอทั้งในครอบครัว โรงเรียน หรือกระทั่งในมหาวิทยาลัย เช่น “เป็นผู้หญิง ทำไมถึงทำแบบนี้?” นี่คือมายาคติด้านเพศในการมากรอบบทบาท ในการเคลื่อนไหวเคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐถาม “เป็นผู้หญิงตัวแค่นี้เอง ขับรถคันใหญ่จัง?” ทั้งหมดนี้คือการตีกรอบบทบาทผ่านเพศ แต่ละเลยในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ภัสราวลียังระบุว่าเมื่อเคลื่อนไหวมาสักระยะหนึ่งจึงพบว่า ผู้หญิงในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยกลับถูกตั้งคำถามต่อบทบาทและเงื่อนไขทางเพศอยู่เสมอ

บทบาทของสตรีต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ชานันท์ ยอดหงษ์ กล่าวถึงแง่มุมทางประวัติศาสตร์บทบาทของสตรีในยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมืองสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งมิใช่แค่บรรดาภรรยาของคณะราษฎรเท่านั้นที่มีบทบาทในการ เปลี่ยนแปลง จากการศึกษาชานันท์พบว่าแรงกระเพื่อมหนึ่งที่ส่งผลต่อการเมืองในช่วงนั้นยังมาจากการเคลื่อนไหวของสตรีเช่นเดียวกันด้วยปัจจัยจากภาวะความเป็นสมัยใหม่ที่นำไปสู่พัฒนาด้านการศึกษา สื่อสิ่งพิมพ์ และการวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมของชนชั้นนำ

นอกจากนี้จากการศึกษายังพบว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในครั้งผ่านมิติความเท่าเทียมทางเพศเช่นเดียวกัน ประเด็นดังกล่าวถูกพูดถึงในแง่ที่ว่าแม้จะมีความก้าวหน้าในเรื่องของสิทธิ เช่นสตรีเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ข้อวิพากษ์จากผู้หญิงนอกสภาได้ชี้ให้เห็นว่า ความเท่าเทียมจะไม่มีความสำคัญใดเลย หากไม่มีการขับเคลื่อนประเด็นอื่นๆ ในสภา

ชานันท์ยังได้ระบุถึงการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่และผู้หญิงเริ่มได้รับการศึกษาและมีบทบาททางสังคม เช่น ครู พยาบาล ฯลฯ จึงเกิดการรวมกลุ่มเป็นสมาคม มูลนิธิ ฯลฯ ที่ผลักดันกองทุนและวาระต่างๆ ในด้านสังคมสงเคราะห์ ปรากฏการณ์ดังกล่าวคือการเปิดพื้นที่นอกบ้านให้แก่สตรีในยุคสมัยประชาชาติที่ทำให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน

มิติสากลและการเปรียบเทียบในประเทศที่พัฒนาแล้วต่อพัฒนาการของความเท่าเทียมและการต่อสู้

ศ.ดร.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ระบุถึงสถานการณ์ในไทยวิเคราะห์ผ่านจากคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังอยู่ในวิกฤต โดยชี้ข้อกังวลต่อท่าทีของศาลรัฐธรรมนูญที่แสดงถึงความไม่เข้าใจในความเท่าเทียม ผ่านกรณีการร้องเรียนเพื่อสมรสของผู้หญิงทั้งสองคนเมื่อ 2 ปีก่อน

ศ.ดร.ไทเรลยังให้ความเห็นวิพากษ์คำอธิบายคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีการอธิบายสาเหตุและเงื่อนไขที่ทำให้ข้อเรียกร้องของประชาชนนั้นไม่สามารถเป็นไปได้ อีกทั้งบางข้อกำหนดยังแสดงออกถึงการไม่เข้าใจต่อความหลากหลายของมนุษย์ คำอธิบายได้กำหนดกรอบและขอบเขตของคำว่า “ครอบครัว” ว่านิยามอย่างไร ซึ่งเปรียบเทียบชีวิตของคนรักเพศเดียวกันว่าเป็นสัตว์ลงในคำวินิจฉัยของศาล 

พร้อมกันนี้ ศ.ดร.ไทเรลยังได้กล่าวถึงกรณีที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา การเรียกร้องในระดับของศาลฎีกา ซึ่งนำไปสู่การต่อสู้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยตรงเพื่อการสมรสของคนเพศเดียวกัน ถึงแม้ว่าระหว่างทางนั้นจะไม่ง่ายและมีคนไม่พอใจ แต่ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ก้าวหน้า

จากประวัติศาสตร์การต่อสู้ของต่างประเทศนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมไทยนั้น กระบวนการเรียนรู้ในเส้นทางดังกล่าวที่จะค่อยๆ นำไปสู่เป้าหมายได้นั้น ผ่านการชุมนุมและการเคลื่อนไหว โดย ศ.ดร.ไทเรลสิ่งที่น่าสนใจต่อปรากฏการณ์สำหรับการเคลื่อนไหวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่าน คือ สิทธิและเสรีภาพของ LGBTQIA+ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทย

ปัญหาและสถานการณ์ในสังคมไทย

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อธิบายถึงปัญหาความเท่าเทียมและความรุนแรงทางเพศที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้นั้นว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในพื้นที่โรงเรียนที่ปริมณฑลทางอำนาจของเด็กนั้นมีอยู่อย่างคับแคบ อีกทั้งผลจากด้านจิตวิทยาที่กดดันให้เด็กต้องกลายเป็นเหยื่ออยู่เสมอ

แต่ในอีกด้านหนึ่งฐิติรัตน์กล่าวถึงความพยายามจากหลายองค์กรที่จะเปลี่ยนแปลงปัญหาเหล่านี้ผ่านกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งแต่เดิมมีหลักสูตรและแบบเรียนที่สอดแทรกอคติทางเพศหรือคำอธิบายที่กดทับทางเพศอยู่เสมอ โดยชี้ให้เห็นว่าท้ายที่สุดได้กลับไปแก้ไขในจุดตั้งต้นของสายธารแห่งปัญหา คือตำราเรียนและผู้สอน ซึ่งตรงจุดนี้สามารถขับเคลื่อนไปสู่ผลสำเร็จได้ โดยประเด็นดังกล่าวได้ขยายภาพกว้างรวมไปถึงสิทธิในด้านอนามัยเจริญพันธุ์ก็ได้ความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข เช่น การท้องในวัยเรียน การยุติการตั้งครรภ์ เพศสุขภาวะ ฯลฯ

การเคลื่อนไหวเหล่านี้ฐิติรัตน์ได้เสนอแนวทางไปสู่เป้าหมายคือการหาแนวร่วมจากองค์กรต่างๆ ที่เพิ่มโครงข่ายในการขับเคลื่อนความเข้าใจ รวมไปถึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผลักดันให้เป็นวาระทางการเมือง เพื่อให้เกิดบทสนทนาต่อๆ ไปในสังคมไทย

พร้อมกันยังได้ระบุถึงความเปลี่ยนแปลงผ่านบทบาทของศาลและนิติบัญญัติที่กำลังเผชิญหน้ากับอยู่ระหว่าง 2 ปัจจัย คือ หนึ่ง ขับเคลื่อนวาระความเท่าเทียมทางเพศหรืออนามัยเจริญพันธุ์ผ่านการแก้ไข้รัฐธรรมนูญ และสอง ข้อพิพาทว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเดิมหรือกลับคำตัดสินเช่นที่ชาวอเมริกาเพิ่งประสบ ประเด็นดังกล่าวคือจุดทับซ้อนของการขับเคลื่อนระหว่างภาคประชาสังคมและการทำหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมในการปักหมุดแห่งชัยชนะ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วในบางกรณีสภาพสังคมอาจจะตามไม่ทันก็อาจนำมาสู่ปัญหาในขั้นต่อๆ ไปได้เช่นกัน แต่ในท้ายที่สุดฐิติรัตน์ยืนยันว่า การต่อสู้เพื่อความเสมอภาคนั้นไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธีการใดหรือหนทางใด ก็เป็นสิ่งจำเป็นต่อหนทางสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น

พัฒนาการความเท่าเทียมทางเพศผ่านซีรีส์และบทเรียนไปสู่วันข้างหน้า

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ระบุว่าการมาถึงของซีรีส์วายคือการสร้างภาพจำให้สังคมว่า การเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นเรื่องปกติ ในอดีตอาจมีเสียงค่อนแคะถึงความไม่เกี่ยวโยงระหว่างซีรีส์วายและประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ แต่ธัญญ์วารินยืนยันว่าในปัจจุบันสังคมได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ที่เรียนรู้มากขึ้นแล้ว ซีรีส์วายสร้างความเข้าใจในประเด็นความหลากหลายทางเพศได้ รวมไปถึงความลื่นไหลทางเพศของคนในสังคมผ่านสื่อบันเทิงต่างๆ

สิ่งที่ผู้ผลิตสื่อบันเทิงมุ่งสร้างในปัจจุบัน โดยเฉพาะในผลงานของธัญญ์วารินเองนั้น เธอพยายามที่จะสอดแทรกเนื้อหาเรื่องประเด็นสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ การเคลื่อนไหวทางการเมือง ม็อบ ฯลฯ จนนำไปสู่การเปิดพื้นที่ในการพูดคุยของผู้มีประสบการณ์ร่วม

นอกจากนี้ยังได้ระบุถึงปัญหาที่เกิดจากการจำกัดและควบคุมสื่อ ซึ่งเป็นประเด็นของผู้ที่อยู่เบื้องหลังการผลิตในฐานะคนทำงานด้านศิลปะยังต้องต่อสู้อยู่ในขณะนี้ โดยธัญญ์วารินให้ความเห็นว่าข้อจำกัดและกฎหมายเหล่านี้ควรจะเป็นสิ่งเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนคนทำงานศิลปะ แต่มิใช่การตีกรอบหรือจำกัดคนทำงาน หากเรากล่าวว่าซอฟต์พาวเวอร์นั้นสำคัญในการพัฒนาประเทศ เราจะต้องแก้กฎหมายในจุดนี้ให้ได้ แต่มิใช่การคิดแทนผู้ชมและคนสร้างผลงาน

พัฒนาการต่อการเปลี่ยนแปลงและการต่อสู้

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กล่าวถึงการเติบโตของขบวนการเฟมินิสต์ในไทยซึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ขณะเดียวกันการตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศที่มีมากขึ้นได้ทลายกรอบเพศไปเรียบร้อยแล้ว แต่วาระที่จะต้องขับเคลื่อนต่อไปในอนาคตคือการรับรองด้านกฎหมายและการเข้าถึงโอกาส โดยเฉพาะแวดวงราชการ โดยเฉพาะอาชีพในสายบังคับบัญชาซึ่งจำกัดไว้เพียงเพศชาย และไม่ใช่แค่เคลื่อนไหวเพียงแค่สิทธิสตรี แต่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมของคนทุกเพศ ปรากฏการณ์ดังกล่าวนำไปสู่วัฒนธรรมอื่นๆ ทางสังคม การเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นความยินดีที่จะชื่นชมยินดีในตัวตนของตนเอง

เรื่องดังกล่าวควรนำไปสู่การปรับเปลี่ยนในหน่วยงานราชการ ข้อสังเกตคือบุคคลที่นุ่งกระโปรงนั้นไม่เคยมีที่ทางและตำแหน่งแห่งที่ในสายบังคับบัญชา เมื่อย้อนกลับไปดูนั้นสิทธิดังกล่าวถูกจำกัดตั้งแต่ต้นทางของการศึกษา

ภัสราวลีให้ความเห็นว่า เรื่องเหล่านี้เกิดจากมายาคติที่กดทับทางเพศ ประสบการณ์ของตนเองและคนรอบตัวนั้น สะท้อนว่าความต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อคนตัดสินใจลุกขึ้นพูดว่าจะไม่ยอมให้แนวคิดเหล่านี้มีที่ทางในสังคมได้อีกต่อไป ซึ่งภัสราวลีคาดหวังนี่จะเป็นอีกหนทางหนึ่งอันจะนำไปสู่การหลุดพ้นจากระบอบอำนาจนิยมของกลุ่มชนชั้นนำ

พูดคุยและตอบคำถาม

ทำอย่างไรให้ความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง และให้ผู้มีอำนาจในสภาให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ระบุว่าความหวังเป็นสิ่งสำคัญในการนำไปสู่การแก้กฎหมาย การมองมนุษย์เท่าเทียมกันเป็นสิ่งที่ง่ายและเป็นพื้นฐานมากที่สุด “คนเป็นคนเท่ากัน” ความอยากอาจจะอยู่ในสภา แต่ไม่มีใครหยุดเข็มนาฬิกาได้ เป็นไปได้ที่ทุกคนจะเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน นี่การต่อสู้เพื่อไปสู่ Genderless โดยไม่ต้องเอาเพศมาตีกรอบและสร้างบทบาท ทุกคนต้องสามารถทำได้อย่างตามที่ใจใฝ่ฝัน

ขณะเดียวกันชานันท์ได้ให้ความเห็นว่า การมีส่วนร่วมในการร่วมแก้ไขกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้พบ ในประเทศที่โครงสร้างของระบบประชาธิปไตยบิดเบี้ยวนั้น ยิ่งส่งไปสู่ประเด็นสิทธิและความเสมอภาคให้กลายเป็นประเด็นรอง กลุ่มการเมืองคำนึงถึงเกมการเมืองมากกว่าประเด็นดังกล่าวอยู่เสมอไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตาม พร้อมกับบอกเล่าประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับกรรมาธิการ (กมธ.) ซึ่งยังพบว่าแม้แต่ผู้ร่วมงานยังมีความคิดดูถูกความหลากหลายทางเพศ

ศ.ดร.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น กล่าวเสริมว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นความหวังที่ไม่มีทางที่จะถอยหลังได้ และจำเป็นจะต้องต่อสู้ในทุกทาง ท้องถนน ห้องเรียน มหาวิทยาลัย และโรงเรียน สิ่งที่สำคัญคือการสร้างการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่กว้างขวางและเข้มแข็ง เป็นขบวนการที่ช่วยผลักให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้น

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กล่าวว่าสิ่งสำคัญคือการเข้าใจพื้นฐานทางความคิดว่าด้วยการตีกรอบทางเพศ และหยุดสร้างวาทกรรมที่ทำใดเกิดขั้วทางเพศ การกระทำเหล่านั้นคือการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่นๆ สิ่งจำเป็นคือการผลักดันให้เกิดการเคารพในทางกฎหมาย และยุติการใช้เพศในการเข้าถึงอาชีพ นี่คือจุดที่ทำให้ทุกคนสามารถทำงานตามความฝันของตนเองได้

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล เสนอหนทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงและความเสมอภาคด้วยกัน 3 ด้าน คือ หนึ่ง ในด้านสังคม อย่าดูแคลนคำอธิบายในประเด็นดังกล่าวจากกรอบคิดอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และการสร้าง Cultural front ซึ่งเป็นการสื่อสารทางวัฒนธรรม เช่น สื่อบันเทิง วรรณกรรม ฯลฯ ก็จะเป็นการง่ายที่สุดสำหรับการสื่อสาร

สอง ในด้านกฎหมาย ฐิติรัตน์ชี้ว่าต้องทำให้เกิดการแก้ไขด้วยการรณรงค์ สิ่งสำคัญคือเสรีภาพในการแสดงออกที่จะทำให้รัฐบาลยอมรับเสียงของประชาชนมากขึ้น คือการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย นอกจากนี้การฟ้องร้องแบบยุทธศาสตร์มากขึ้น เช่น การฟ้องร้องของทนายหญิงต่อประเด็นการใส่กระโปรง ซึ่งเป็นกลไกในการกำหนดบรรทัดฐานและส่งผลให้คนในกระบวนการยุติธรรมหันมาฟังสังคมมากขึ้น และเน้นย้ำว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง คือการผลักดันเรื่องการเมืองและอเจนด้าทางการเมือง

และสาม ในเชิงนโยบายต้องสร้างโครงข่ายแนวร่วมให้มากเพิ่มขึ้นไปอีก และการผลักดันหมุดหมายเหล่านี้ให้เป็นวาระสำคัญทางการเมืองโดยเฉพาะกับการลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

รับชมย้อนหลังได้ที่ : PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์