ความเท่าเทียมทางเพศยากใน 2 เรื่อง คือ หนึ่ง เกี่ยวข้องกับความเชื่อส่วนตัวซึ่งยากที่จะรณรงค์ สอง เรื่องเพศโดยตัวเองถูกควบคุมโดยรัฐมากอยู่แล้ว โดยโครงสร้างของสังคมซึ่งไม่ใช่เฉพาะรัฐไทย รัฐไหนๆ ก็ควบคุมเรื่องเกี่ยวกับเพศมากอยู่แล้ว
มิติที่คิดว่าน่าจะมีปัญหาเร่งด่วนอยู่ คือ เรื่องที่หนึ่ง มิติการสร้างครอบครัวความหลากหลายของ LGBTQ สอง อนามัยเจริญพันธุ์อาจจะโฟกัสสิทธิสตรีมากหน่อย แต่จริงๆ แล้วนี่คือเรื่องครอบครัวทางสังคม สาม การเลือกปฏิบัติทางเพศในสถานที่ทำงาน และสี่ การปฏิบัติต่อมีความหลากหลายทางเพศในสถานศึกษา ซึ่งมีความสำคัญต่อคนทั้งสังคมปัจจุบันและคนใน Generation หน้าด้วย
เรื่องงานสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ เรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยที่ผ่านๆ มา ติดขัดอุปสรรคหลายเรื่องเหมือนกัน ปัญหาอุปสรรคหรือสิ่งที่เห็นในการเคลื่อนไหวของ Campaign ทั้งในประเทศและสากลว่าเขาเป็นอย่างไรในเวลานี้
มีสองประเด็น คือ ในส่วนของภาพรวมในเชิงสากล การรณรงค์สิทธิเท่าเทียมทางเพศ มีความเชื่อมโยงกับตัวตนของแต่ละคนว่า “เป็นเพศอะไร” “เป็นเพศนี้ต้องทำตัวแบบไหน” อยู่ที่วัฒนธรรม อยู่ที่การเลี้ยงดูที่เราเติบโตมา ดังนั้นการจะไปบอกคนอื่นว่า “สิ่งที่คุณรู้มาตอนเด็กอาจจะไม่ใช่แบบนั้นแล้ว” เป็นความท้าทายมากๆ คิดว่าสิ่งนี้ยังคงเป็นปัจจัยหนึ่งที่พูดยากในทุกที่
อย่างที่คุณชานันท์กล่าวว่าสภาพการเมืองในกระแสของโลก เช่น วันเลือกตั้ง ฯลฯ ไม่ได้พูดแค่เรื่องปากท้องแล้ว การต่อสู้ในเชิงวัฒนธรรม (Culture war) ว่าสิทธิของคนแต่ละกลุ่ม แต่ละเพศ ต้องมากขึ้นแค่ไหน สิ่งนี้ต้องกลายเป็นประเด็นสำคัญในวาระทางการเมืองโลก เพราะฉะนั้นการรณรงค์เรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ หากมองในมุมบวก คือ คนตระหนักรู้มากขึ้น คนเปลี่ยนมากขึ้นซึ่งคงเป็นเรื่อง Generation ด้วย ในมุมนี้ง่ายขึ้นที่จะพูดกับคนทั่วๆ ไป
ในมุมที่ยาก คือ พอมีกระแสที่คนพยายามรณรงค์กันเยอะๆ อีกฝั่งหนึ่งก็มีแรงต้านเยอะเช่นกัน ยิ่งนึกถึงที่อาจารย์ไทเรลกล่าวด้วย ในสหรัฐอเมริกาอาจมีสิ่งนี้ค่อนข้างเยอะ แล้วจะคุยกับคนที่เห็นต่างกันมากๆ อย่างไร สิ่งที่เขารู้อาจจะฝังอยู่ในความเชื่อและชีวิตของเขา สิ่งนี้น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ของทั้งโลก
อีกประเด็นหนึ่งของอุปสรรคคือ ขยับมาดูที่เมืองไทย นอกจากเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศซึ่งยากอยู่แล้ว เรายังเจอเรื่องของการรณรงค์หรืออะไรก็ตามที่มักจะมีเพดานในการพูด เพดานในการชุมนุม เพดานในการรวมกลุ่ม ฯลฯ ซึ่งอยู่ในเรื่องที่เราต้องพยายามขยายขอบเขตของเสรีภาพทุกๆ เรื่องเลย มองในแง่ก็คือเราถูกจำกัดการแสดงออกโดยรัฐเยอะ แต่มองในแง่บวกเรื่องเพศ สิทธิความเท่าเทียมทางเพศ พอใกล้ตัวมากๆ พอคนเปิดตาได้ ไม่ได้เปิดแค่เรื่องเพศ แต่จะเปิดเรื่องอื่นๆ ด้วยพร้อมกัน ฉะนั้นการพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศจึงเป็นการช่วยเปิดประตูการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเด็นอื่นๆ อีกด้วย
สุดท้ายอาจโยงกลับไปที่เรื่องสากล ถ้าเราดูกระแสของหลายๆ ประเทศจะมีการรณรงค์เรื่องสิทธิทางเพศในเชิงของปัจเจก (Individual Rights) แต่ละคนที่เลือกว่าเราจะเป็นอะไร เราจะอยู่อย่างไร กับเรื่องเล่าอีกแบบหนึ่งที่บอกว่า “การคุ้มครองสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ จริงๆ คือการคุ้มครองครอบครัว การคุ้มครองสิทธิของคนที่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกับเรา” เป็นอีกกระแสหนึ่งที่น่าสนใจ
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเยาวชนหรือคนที่บรรลุนิติภาวะที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางเพศ ช่วยขยายความหน่อยว่าในสังคมไทยนั้นไปถึงไหนแล้ว และมีเยอะขนาดไหนที่เรายังไม่รู้
เรื่องของความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก เยาวชน หรือคนที่เป็นผู้ใหญ่ด้วยกันเองหลายๆ เรื่อง แรงจูงใจมาจากเรื่องเพศ คิดว่าถ้าจะถามมูลนิธิไหนหรือบุคคลใดที่เก็บข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นอย่าง สสส. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กลุ่มนักเรียนเลวที่เก็บผ่าน crowdsourcing ที่ให้รายงานผ่านเว็บไซต์ หรือแม้กระทั่ง NGO อื่นๆ ที่อาจไม่ได้ทำเรื่องเด็กและเพศโดยตรงเราก็จะได้ข้อมูลตรงกันว่ามีปริมาณมาก ในหน้าข่าวก็ยังเห็นเรื่องพวกนี้ตลอดเวลา ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา เราอาจจะเห็นว่ามีข่าวเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ลดลง ส่วนหนึ่งนั่นอาจจะเป็นเพราะว่าคนทั่วไปสามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้แล้ว จึงสามารถเปิดโปงเรื่องราวพวกนี้ได้มากขึ้น
จากการไปคุยกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลที่ทำเรื่องความรุนแรงทางเพศ (Sexaul violence) โดยเฉพาะในโรงเรียน เขาบอกว่ากรณีที่เป็นข่าวให้เราเห็นนั้นน้อยมากๆ แต่จริงๆ มีเยอะกว่านั้นมาก เพราะหลายกรณีไม่ง่ายที่จะร้องเรียน หากเรานึกสภาพที่นี่คือโรงเรียนซึ่งเป็นพื้นที่ที่เด็กและเยาวชนมีอำนาจน้อยอยู่แล้ว ทั้งในเชิงทางการที่ว่าถ้าไปฟ้องร้องหรือไปสู้ก็จะเจอพ่อแม่หรือครูห้าม หรือแม้กระทั่งแรงกดดันทางสังคมของเด็กด้วยกันเอง ไปจนถึงในเชิงจิตวิทยาที่เด็กอาจจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้มีอำนาจ หรือบางคนก็โทษตัวเองว่า “ฉันผิดเองแหละที่ฉันประหลาด” หรือ “ฉันผิดเองที่ฉันโง่” ซึ่งมีเรื่องพวกนี้เต็มไปหมด
สิ่งนี้นำไปสู่ความพยายามของหลายๆ องค์กรในการที่จะเปลี่ยนแปลงตัวหลักสูตรหรือเนื้อหาแบบเรียนในการศึกษาที่มีอยู่ จะต้องให้เครดิตหลายๆ หน่วยงาน รวมไปถึงมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลและมูลนิธิฟ้าสีรุ้งที่พยายามคุยกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเกี่ยวกับเพศในตำราเรียน หากใครเคยดูตัวเนื้อหาตำราเรียนของไทยก็จะทราบว่ามีอคติทางเพศเยอะมากจริงๆ ซึ่งเราพูดเรื่องนี้มาเป็นสิบๆ ปีแล้วว่าทำอย่างไรดีจึงจะแก้จุดนี้ได้ เพราะหากเด็กโตมากับคำอธิบายแบบนี้ เช่น “เด็กผู้หญิงถูกข่มขืนเพราะแต่งตัวโป๊” ซึ่งนี่ไม่ควรจะเป็นเรื่องธรรมดา
ทางกลุ่มที่เขาทำงานก็พยายามผลักดันจนมีส่วนร่วมในการประเมินเนื้อหาจะแบบเรียนว่าต้องแก้อย่างไร จนกระทั่งในการแก้หลักสูตรหรือการปรับปรุงเนื้อหาแบบเรียนรอบที่ผ่านมาในปี 2563 ก็ดีขึ้นมากๆ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นความสำเร็จอย่างจำกัดที่เปลี่ยนแปลงตำรากลาง ส่วนที่จะไปเปลี่ยนในการเรียนการสอนในโรงเรียนมากแค่ไหน หรือทัศนคติของคนสอนเปลี่ยนหรือยังอย่างไร นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง
แต่อย่างน้อยๆ ก็เปลี่ยนในเชิงทางการแล้วส่วนหนึ่ง หากจะวิเคราะห์ความสำเร็จในจุดนี้น่าจะมีหลายอย่าง สิ่งที่คิดว่าสำคัญมากๆ อย่างแรก คือ เขาเชื่อมโยงกับปัญหาที่มีอยู่จริงๆ ในสังคมที่คนมองเห็นได้ง่าย คือเรื่องความรุนแรงทางเพศ (Sexual violence) ในโรงเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครก็รับไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม หรือเป็นฝ่ายก้าวหน้า ไม่มีใครรับเรื่องนี้ได้ทั้งนั้น
บทเรียนที่ 1 คือ การหา Common issue ที่ทุกคนเห็นพ้องต้องตรงกันว่าทำอย่างไรก็ได้ ที่จะต้องแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศในโรงเรียนนี้ บรรดาคนที่ทำงานรณรงค์ความเท่าเทียมทางเพศจึงเชื่อมโยงกับเรื่องนี้ว่า “หากไม่แก้ตั้งแต่ทัศนคติของคนสอนหนังสือ หรือเนื้อหาที่เรียนกันในตำรา” ปัญหาร้ายแรงเช่น ท้องในวัยเรียน ครูข่มขืนนักเรียน นักเรียนข่มขืนกันเอง ฯลฯ ก็ไม่มีทางหายไปจากโรงเรียนแน่ๆ ซึ่งคิดว่าพอเขาจับจุดตรงนี้ได้จึงได้ขยับต่อไป
ไปจนถึงการได้ความร่วมมือนอกเหนือจากคนที่รณรงค์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ คือ คนที่รณรงค์เรื่องของสิทธิสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขมีบทบาทอย่างมากในเรื่องนี้ โดยเขาทำกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ของเด็กๆ พอหาแนวร่วมได้เลยค่อนข้างชัดเจน อย่าง พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 เขียนชัดว่าตำราเรียนต้องแก้และปรับให้สอดคล้องกับความเข้าใจเรื่องเพศศึกษาหรือสุขภาวะที่ถูกต้อง
บทเรียนที่ 2 คือหาแนวร่วมที่กว้างมากขึ้น อาจจะต้องมากไปกว่าคนที่สนใจเรื่องเหล่านี้โดยตรง ซึ่งจะต้องยอมรับว่าในบรรดาคนที่สนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพอาจจะไม่ใช่ทุกคนที่มีความรู้สึกร่วมกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ เขาอาจจะไปสนใจเรื่องอื่น เช่น สิทธิทางสุขภาพ หรือชนกลุ่มน้อย ฯลฯ แต่ต้องพยายามไปเชื่อมหรือดึงให้เห็นว่าจะขยายแนวร่วมในประเด็นนั้นๆ อย่างไร นี่คือจุดที่ทำให้เกิด Momentum
บทเรียนที่ 3 คือการพยายามผลักดันให้สอดคล้องกับจังหวะการเปลี่ยนผ่านทางนโยบายของฝ่ายราชการ หรือสร้างเป็นวาระทางการเมือง ที่สำคัญพอที่จะมีนักการเมืองสักคนอยากชูเป็นแนวทางเป็นผลงาน ซึ่งแน่นอนว่ายุทธศาสตร์เช่นนี้มีความอันตราย เพราะหากเปลี่ยนตัวผู้นำเช่นรัฐมนตรีแนวทางก็อาจจะเปลี่ยน ในกรณีเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการเห็นชัดว่าก่อนหน้านี้ที่ค่อนข้างกระตือรือร้น ตอนนี้เริ่มไม่เห็นแล้ว แต่ว่านั่นยังคงต้องหา Momentum ต่อไป เมื่อผลักดันไปอาจจะมีจังหวะที่สำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่ ก็ต้องเสนอเพื่อให้เกิดบทสนทนาในสังคม
ตัวอย่างหนึ่งของต่างประเทศ ในเรื่องของอนามัยเจริญพันธุ์ เกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งอาร์เจนตินาเป็นประเทศที่คนเคร่งครัดเรื่องศาสนาคริสต์มากๆ แต่เขาสามารถผ่านกฎหมายยุติการตั้งครรภ์นี้ได้ ซึ่งเมื่อไปดูประวัติศาสตร์จะเห็นว่าผ่านการต่อสู้มาหลายรอบการเลือกตั้ง ไม่ใช่รอบเดียวแล้วผ่าน จนกระทั่งการยุติการตั้งครรภ์เป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2018 แล้วอาร์เจนตินาเขาเพิ่งประสบความสำเร็จในการรณรงค์เมื่อปลายปี 2020 นี้เอง
เหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในอาร์เจนตินา คือ Campaign ที่พยายามพูดถึงสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ในฐานะสิทธิของครอบครัว ในการที่จะสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ เพราะหากไม่สามารถมีลูกเมื่อพร้อมได้ สุดท้ายก็ต้องส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม นี่คือตรรกะที่คล้ายๆ กับสิทธิทางสุขภาพของสายที่รณรงค์เรื่องท้องไม่พร้อม ซึ่งเห็นได้ชัดเลยว่าเมื่อเปลี่ยนเรื่องเล่า (Narrative) คนจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่าสังคมที่อนุรักษนิยมนั้น พูดเรื่องปัจเจกอย่างเดียวไม่ได้ แน่นอนว่าสิทธิทางปัจเจกต้องพูด แต่เขาพยายามหาเรื่องเล่าแบบอื่นๆ มาเล่าไปพร้อมๆ กัน จึงทำให้ Momentum เปลี่ยน สุดท้ายไม่ว่าจะอยู่การเมืองฝั่งไหนก็ตาม คนส่วนใหญ่เห็นพ้องกับเรื่องนี้
เรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่า หากประชาชนเปลี่ยนนักการเมืองก็ต้องเปลี่ยน เพราะเขาต้องฟัง หรือแม้กระทั่งถ้าเด็กๆ เปลี่ยน ครูอาจารย์ในโรงเรียนก็ต้องเปลี่ยนเหมือนกัน จะเอาคุณค่าเก่าๆ มาขว้างใส่เขาตลอดเวลาก็คงไม่ได้ นั่นคือการไม่มีความชอบธรรมในการอยู่ต่อ นี่จึงค่อนข้างชัดเจนมากเมื่อขยายแนวร่วมได้และทำให้เป็นเรื่องที่ Cross cut ระหว่างความเห็นที่หลากหลายหรือเฉดทางการเมืองที่หลากหลายก็จะผลักดันประเด็นได้ง่ายขึ้น
ประเด็นสุดท้าย ต่อจากประเด็นของอาจารย์ไทเรลเรื่องบทบาทของศาลและนิติบัญญัติ จริงๆ เรื่องนี้เป็นข้อถกเถียงของคนที่รณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพเหมือนกัน อาจจะชัดเจนมากหน่อยในส่วนของความเท่าเทียมทางเพศหรือสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ จะเห็นว่ามีข้อเสนอที่แตกต่างกันอยู่เสมอ คือ “ควรจะไปแก้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งอาจจะทั้งที่เป็นทางการสำหรับประเทศที่ยึดรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรเป็นหลัก กับประเทศที่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน แล้วคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมใหม่ กับฝั่งที่บอกว่า “ก็แก้กฎหมายสิ” การแก้กฎหมายภายในสภานั้นคือ Majority win คือเปลี่ยนแปลงความเห็นของคนในสังคมก่อนแล้วดันให้ผ่านสภาให้ได้ จึงเปลี่ยนแปลงสังคมได้
ขณะเดียวกันฝั่งของศาลอาจจะบอกว่า “เรื่องสิทธิเสรีภาพไม่ใช่เรื่องที่จะยอมให้ Majority ตัดสินได้เสมอไป” ในประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสิทธิเสรีภาพก็มีหลายกรณีที่ศาลนำสังคม ตัวอย่างเช่น Brown v. Board of Education ของอเมริกาซึ่งตัดสินเรื่องของการแยกคนผิวสี ห้ามเรียนในโรงเรียนเดียวกันกับคนผิวขาว กรณีนี้สังคมช่วงนั้นก็ยังไม่ได้เปลี่ยนทัศนคติอะไรมาก แต่ศาลพยายามนำสังคมไปก่อน
หรือแม้กระทั่งบางคนก็วิพากษ์ว่าคำตัดสินของศาลอเมริกาในเรื่องของ Obergefell v. Hodges สมรสเท่าเทียม หลายๆ คนบอกว่า “ถ้ารอให้การรณรงค์ไปจนสุดทางอาจจะเปลี่ยนกฎหมายได้อีกหลายรัฐเลย” แต่กรณีนี้คือเหมือนศาลเป็นผู้ปักธงให้ว่าฝั่งไหนชนะแล้ว ก่อนที่ฝั่งคนรณรงค์จะไปสุดทาง ซึ่งหากไปอ่านความเห็นแย้งของผู้พิพากษาแอนโทนิน สกาเลีย (Antonin Scalia) ที่เป็นฝั่งอนุรักษนิยมก็จะพูดในเชิงนี้ว่า “จริงๆ อาจจะไม่ใช่บทบาทของศาล แต่ควรปล่อยให้ประชาชนสู้ไปแล้วให้เกิดความเห็นต้องตรงกันในสังคม”
ตอนที่อ่านคำพิพากษา Obergefell v. Hodges ของผู้พิพากษาสกาเลียในวันนั้น ในฐานะนักกฎหมายเราก็ไม่แน่ใจว่าแบบไหนจะดีกว่า แต่หากมาถึงวันนี้ก็รู้สึกว่าทางไหนไปได้ก็ต้องไปทั้งนั้น คำตอบอาจจะไม่ซับซ้อนเท่าไหร่ คือจำเป็นต้องใช้เหตุผลทั้งสองแบบ ทั้งการใช้เหตุผลในเชิงหว่านล้อมให้ทุกคนเห็นด้วยกับเราในสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้องและเป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
และการใช้เหตุผลของศาลที่เน้นเรื่องความยุติธรรมและการคุ้มครองสิทธิคนกลุ่มน้อย มีโอกาสทำอะไรได้ก็ต้องก็ต้องทำ หากทำได้แล้วก็อย่าไปวางใจ เหมือนกรณีของศาลรัฐธรรมนูญอเมริกาตัดสินเป็นบวกมาแล้วทั้ง Obergefell v. Hodges หรือแม้กระทั่ง Roe v. Wade ในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ แต่ 50 ปีต่อมาก็อาจจะถูกกลับคำตัดสิน หรืออาจจะมีกฎหมายอื่นมาค้านได้
หรือในกรณีไต้หวัน ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาแล้วว่าสมรสเท่าเทียมเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญต้องปกป้อง แต่ก็ยังมีทำประชาพิจารณ์ ที่ใช้เทคนิคในการออกคำถามประชาพิจารณ์จนได้คำตอบที่ตรงกันข้าม จนทำให้เหมือนจะบอกโลกได้ว่า “จริงๆ แล้วคนไต้หวันไม่เห็นด้วยกับศาล” กลายเป็นว่าต้องมาต่อสู้กันใหม่ในการผลักดันกฎหมายเข้าสู่สภา เพื่อสร้างความชอบธรรมแบบ Majority win ด้วย สิ่งที่เรียนรู้คือเราวางใจไม่ได้แม้เมื่อมีชัยชนะทางใดทางหนึ่งแล้ว ต้องสู้ไปให้ได้ทุกทางในทางที่เป็นไปได้
รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง : PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
ที่มา : ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ใน PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ “สิทธิมนุษยชนกับความเท่าเทียมทางเพศในรัฐธรรมนูญไทย” วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 2566 14.00 - 17.00 น. ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี
- PRIDI Talks 19
- PRIDI Talks
- สถาบันปรีดี พนมยงค์
- พูนศุข พนมยงค์
- ชานันท์ ยอดหงษ์
- LGBTQ+
- ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น
- คณะราษฎร
- ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล
- LGBTQIA+
- Individual Rights
- Culture war
- มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
- ความรุนแรงทางเพศ
- Sexaul violence
- ความหลากหลายทางเพศ
- ความเท่าเทียมทางเพศ
- สสส.
- Obergefell v. Hodges
- Antonin Scalia
- Roe v. Wade