ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เมื่อรัฐมองภาพเพียงชายและหญิง ความหลากหลายทางเพศจึงไม่ถูกให้ความสำคัญในเรื่องกฎหมาย

12
มกราคม
2566

PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ : ชานันท์ ยอดหงษ์

 

เมื่อเราพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ ในปัจจุบันเราตระหนักกันได้แล้วว่าไม่ได้มีแค่ผู้ชายกับผู้หญิง ตอนนี้เราจะพูดถึง lgbtq+ ต่างๆ มากมาย เพราะว่าเมื่อสังคมมีวิวัฒนาการมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตระหนักได้ว่ามีเพศวิถี เพศสภาพให้เห็นชัดมากขึ้น ถือเป็นวิวัฒนาการสังคมอย่างหนึ่ง ปัญหาคือการไม่ยอมรับ

เมื่อเรามองในเรื่องของรัฐหรือประเทศ ซึ่งไม่มีโครงสร้างหรือรัฐสวัสดิการขึ้นมารองรับทางเพศความหลากหลายเหล่านี้ เราอาจจะมองว่าเรื่อง “เพศวิถี” เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ในความเป็นจริง “เพศวิถี” สัมพันธ์กับโครงสร้างสังคมด้วย การใช้ชีวิตร่วมกันกับคู่รักเพศเดียวกัน ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสด้วยกันได้ นั่นคือปัญหาของการเลือกปฏิบัติออกแบบกฎหมายที่ค่อนข้าง Heterosexism ไม่เห็นถึงความหลากหลายทางเพศซึ่งกฎหมายไทยเป็นเช่นนั้นอย่างชัดเจน

จากการที่เข้าไปดูเรื่องกฎหมายปรากฏว่ายังมีคำว่า “ร่วมประเวณี” พูดกันปกติคือ “ใครก็ได้ที่จะมีเพศสัมพันธ์กัน” แต่ในภาษากฎหมายนั้นใช้เฉพาะกับอวัยวะเพศชายและอวัยวะเพศหญิงเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงเรื่องอื่นเลย หลายอย่างในโครงสร้างไวยากรณ์ของกฎหมายกลายเป็นเรื่องการมองไม่เห็นความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเท่ากับความหลากหลายจะไม่ถูก recognized ไม่ถูกมองเห็นในเรื่องกฎหมาย ซึ่งสัมพันธ์ไปกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีความหลากหลายด้วย

 

 

บทบาททางการเมืองอยู่ในแง่มุมต่อสู้เคลื่อนไหว แล้วพยายามผลักดันเรื่องนโยบายออกมา คำถามที่สำคัญอันหนึ่งของการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ เวลาที่เกิดขึ้นในองค์กรที่เป็นสถาบันทางการเมืองมีพื้นที่ขนาดไหน พรรคการเมืองต่างๆ หรือแม้กระทั่งพรรคที่เราอยู่ ทำไมถึงเลือกเราเข้าไปทำ เขาเห็นความสำคัญอะไรในตัวเรา เราเป็นตัวแทนคนกลุ่มนี้ขนาดไหน หรือเราทำเรื่องนี้ไปจนสุดทางแบบไหนบ้าง ติดขัดอุปสรรคอย่างไร?

พูดถึงพรรคการเมืองอาจจะเป็นหลายๆ พรรค ในหลาย 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าทั่วโลกมองถึงเรื่องการเมืองที่ไม่ใช่แค่เรื่องในรัฐสภาอย่างเดียว ในเชิงโครงสร้างการเมืองภาครัฐ การเมืองระหว่างประเทศ แต่กลายเป็นว่ามีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “การเมืองเชิงอัตลักษณ์” เกิดขึ้นมาในโลกสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะให้ความสำคัญกับชาติพันธุ์ สีผิว เรื่องสถานะทางสังคม เศรษฐกิจ เพศสภาพ เพศวิถี รวมไปถึงกลุ่มบุคคลที่มีความท้าทายในกายภาพต่างๆ

สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การออกแบบนโยบาย คือจะทำอย่างไรให้มีสวัสดิการที่ครอบคลุมทั่วถึง รวมถึงแก้ไขกฎหมายบางประการเพื่อที่จะทำให้ความหลากหลายของอัตลักษณ์ได้รับการคุ้มครองในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิต่างๆ อย่างเสมอภาค เพราะที่ผ่านมาอาจจะโฟกัสเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ค่อนข้างมีสถานะทางสังคมที่ดี ยกตัวอย่างในอเมริกา เช่น ชายผิวขาว เมื่อมีการให้ความสำคัญในเรื่องนี้แล้วพรรคการเมืองมีหน้าที่เชื่อมโยงภาครัฐกับภาคประชาชน หรือการออกกฎหมายหรือโครงสร้างต่างๆ ให้กับรัฐ ก็จำเป็นที่จะต้องฟังเสียงจากประชาชน

10 - 20 ปีที่ผ่านมา ประเด็นความหลากหลายทางเพศเป็นประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ขบวนการเคลื่อนไหวทั้งประชาชนและอะไรด้วย ทำให้พรรคการเมืองหลายๆ พรรคหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของความหลากหลายทางเพศ

 

ยากไหมที่คุยประเด็นเหล่านี้ในพรรคการเมือง พรรคการเมืองก็ประกอบด้วยบุคคลหลากหลาย การต่อสู้เรื่องความเท่าเทียม ผู้นำหญิง สิทธิสตรี LGBTQ เวลาอยากทำนโยบายแบบนี้เสนอในพรรคเป็นอย่างไร?

ด้วยความที่พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่เก่าแก่ มีกลุ่มบุคคลเยอะแยะเต็มไปหมดเลยมีความหลากหลายคล้ายกับครอบครัวใหญ่ พอเราอยู่กับพี่ป้าน้าอา เพื่อนบ้าง น้องบ้าง ก็มีความหลากหลายในวัยวุฒิและความคิดความอ่าน ซึ่งดีตรงที่เราสามารถสื่อสารคุยกันได้ เหมือนประหนึ่งคุยกับคนในครอบครัวว่า “เดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างนั้นแล้ว” “คนรุ่นเก่ากว่ามองอย่างไรกับความหลากหลายทางเพศ” “คนรุ่นใหม่มองอย่างไรกับความหลากหลายทางเพศ” แล้วจึงมาคุยกัน ยิ่งทำงานด้วยกันอยู่แล้วจึงทำให้เรียนรู้เข้าใจซึ่งกันและกันได้

ด้วยความที่กลัวผู้ใหญ่จะพูดอะไรการสื่อสารสาธารณะหรือในการลงพื้นที่ต่างๆ ก็เกรงว่าจะไม่มีความเข้าใจในประเด็นนี้ จึงมีการทำคู่มือหนังสือเอกสารว่า “คำนี้เขาไม่ใช้กันแล้วนะในปัจจุบัน” เพราะว่าสังคมเริ่มตระหนักว่าเป็นการกระทำที่เรียกว่าเหยียดได้

เราจะพูดคุยกันว่าคำนี้ไม่ควรใช้ หรือสิ่งเหล่านี้ไม่ควรทำ พอเป็นพรรคการเมืองต้องเรียนรู้ รู้จักประชาชนจำนวนมากได้ เพราะฉะนั้นเขาจะเข้าใจง่ายมากว่าประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว เราก็ต้องเปลี่ยนตามซึ่งเป็นปกติของกลไกธรรมชาติ

 

 

งานศึกษา “หลังบ้านคณะราษฎร” เป็นการศึกษาบทบาทชีวิตคนหลังบ้าน วันนี้นำมาบอกเล่าให้เห็นว่าบทบาทนี้สามารถที่สร้างคุณค่าให้สังคมไทยอย่างไรบ้าง ช่วยขยายความเรื่องนี้ให้เราเห็นชัดขึ้นสำหรับการต่อสู้ในเชิงประวัติศาสตร์?

จากงานปาฐกถางานปี 2558 ที่อาจารย์ไทเรลถูกเชิญไปพูด โดยพูดว่า “ในการพูดถึงประวัติศาสตร์ผู้หญิงไม่ถูกบันทึก แม้ว่าผู้หญิงจะมีบทบาทเป็นแถวหน้าบ้าง ปัญหาคือว่าไม่มีการบันทึก ไม่มีการพูดถึง และถูกมองข้าม” เลยจุดประกายว่า แล้วในช่วงเวลาการอภิวัฒน์สยาม 2475 ผู้หญิงหายไปไหน จึงเกิดความสงสัยเช่นเดียวกัน คณะราษฎรร้อยกว่าคนมีแต่ผู้ชายล้วน แต่คนที่ใกล้ตัวคณะราษฎรที่สุดคือภรรยา ไม่ว่าจะเป็นภรรยาหลวงหรือน้อย เลยพยายามศึกษาจึงพบว่าผู้หญิงหลายๆ คนมีเยอะมาก และไม่ใช่แค่บรรดาภรรยาของคณะราษฎรเท่านั้น

ในการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการอภิวัฒน์ 2475 ขึ้นมา การขับเคลื่อนของผู้หญิงเป็นแรงกระเพื่อมหนึ่งให้เกิดการอภิวัฒน์โดยคณะราษฎรเช่นเดียวกัน ซึ่งเริ่มมีการศึกษาสมัยใหม่ตั้งแต่เริ่มต้นปี พ.ศ. 2408 ที่เริ่มมีผู้หญิงได้เรียนหนังสือโดยกลุ่มมิชชันนารี หลังจากนั้นผู้หญิงเริ่มอ่านออกเขียนได้ เริ่มมีผลิตนิตยสารหนังสือพิมพ์ของตัวเอง คอนเทนต์ในสิ่งพิมพ์เหล่านั้นดุเดือดมาก พูดถึงการต่อสู้ปิตาธิปไตย ราชาธิปไตย ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น วัฒนธรรมผัวเดียวหลายเมียของชนชั้นเจ้าที่ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ศิวิไลซ์ แล้วเราต้องขับเคลื่อนให้ได้ สิ่งเหล่านี้ก็ไปบั่นทอนกลุ่มศักดินา กลุ่มชนชั้นนักปกครอง ในช่วงเวลานั้น ก็เป็นส่วนทำให้เกิดแรงกระเพื่อมของ 2475 ด้วย

ในช่วงเวลานั้น หนังสือสิ่งพิมพ์ชื่นชมดีใจการที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองที่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญขึ้น ทำให้เกิดรัฐสภาด้วย ขณะเดียวกันในปี พ.ศ. 2476 นิตยสารที่ชื่อหญิงไทย อธิบายว่า “เนี่ยผู้หญิงมีสิทธิพลเมืองเท่าเทียมกันแล้ว เท่าเทียมกับผู้ชายเลย แล้วผู้หญิงก็มีโอกาสที่จะเข้าไปอยู่ในรัฐสภาด้วย แต่มันจะไม่เกิดคุณค่าใดๆ ในเชิงโครงสร้าง มันจะมีคุณค่าแค่เชิงปัจเจกเฉพาะผู้ที่เป็นตัวแทนของประชาชนเข้าไปในสภาเท่านั้น ถ้าคนที่เข้าไปในสภาไม่ได้ขับเคลื่อนต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ในอีกหลายๆ คนนอกสภาที่ยังเป็นรองผู้ชายอยู่” นี่เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามของผู้หญิงในพื้นที่นอกสภาในตอนนั้น

สิ่งที่น่าสนใจ คือ เมื่อผู้หญิงได้สิทธิพลเมืองในการเลือกตั้งแล้ว ในปี พ.ศ. 2476 ในการเลือกตั้งครั้งแรกซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม จะมีผู้แทนตำบลกับผู้แทนราษฎร ใครใคร่จะสมัครเป็นผู้แทนตำบลก็ไปสมัครได้ ใครอยากจะเป็นผู้แทนราษฎรประจำจังหวัดนั้นก็ไปสมัครได้ ผู้แทนตำบลจะมีสิทธิในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประจำจังหวัดนั้น

ปรากฏว่ามีผู้หญิงหลายคนไปสมัครทั้งผู้แทนราษฎรประจำจังหวัดและตำบลด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดาย เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ได้รับคัดเลือกจะเป็นผู้แทนตำบลเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎร มีเยอะมากไหม ก็ไม่ได้เยอะเท่าไหร่เมื่อเปรียบเทียบกับเปอร์เซ็นต์ของผู้ชาย แต่ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีเหมือนกันที่มีผู้หญิงเข้าไปเป็นผู้สมัครตรงนั้น แล้วก็ได้รับการคัดเลือกด้วย

 

 

นอกจากนี้ในเจ้าหน้าที่คณะกรรมการในการตรวจสอบการเลือกตั้งเองก็มีผู้หญิงเข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่ตรงนั้นเยอะเหมือนกัน จากเอกสารประวัติศาสตร์พบว่ามีผู้หญิงหลายคนไม่รับเงินเบี้ยเลี้ยงในการที่เขาไปทำงาน ค่าเดินทาง ฯลฯ เขาไม่รับ คือ ต้องการที่จะอุทิศให้กับระบอบการปกครองใหม่ มีความหวงแหนในระบอบการปกครองใหม่มาก

ถ้าเราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถ้าเราโฟกัสไปกับภรรยาคณะราษฎรหลายๆ ท่านจะเห็นได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการผลักดันผ่านการเป็นภรรยา สามีเป็นนักปฏิวัติ สามีเป็นนักการเมือง แล้วก็จะผลักดันผ่านการคอยสนับสนุนสามี แต่ผู้หญิงกลุ่มที่ไม่ได้เป็นภรรยาคณะราษฎร เขาจะมีบทบาทในการตรวจสอบ ช่วยอำนวยความสะดวก เช่นคราวกบฏบวรเดช มีผู้หญิงหลายคนที่พยายามจะส่งอาหาร ผลไม้ เงินทอง ไปให้กับคณะราษฎรในการที่จะต่อสู้กับกบฏบวรเดชด้วย

ในช่วงเวลานั้นที่ผู้หญิงมีการศึกษา เริ่มมีอาชีพ อาชีพที่เห็นได้ชัดเจน คือ อาชีพครูกับพยาบาล อย่างเช่นคุณหญิงจันทนี สันตะบุตรก็เป็นครู ถือเป็นผู้หญิงสมัยใหม่อันเป็นผลผลิตจากการพัฒนาการศึกษา

ตอนนั้นผู้หญิงหลายคนมีบทบาทเยอะมาก ส่วนใหญ่แล้วจะรวมตัวกันเป็นสมาคม เป็นมูลนิธิบ้าง เช่น มูลนิธินางพยาบาล  มูลนิธิครู เป็นเหมือนสมาคมต่างๆ คอยผลักดันให้กองทุนให้เงินกับผู้ที่ต้องการจะเรียนหนังสือ ผลักดันให้ผู้หญิงได้มีการศึกษา รวมไปถึงการทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ด้วย เพราะว่าผู้หญิงเริ่มมีความรู้ความสามารถ มีพื้นที่นอกบ้านแล้ว การรวมตัวกันเพื่อช่วยกันในการที่จะพัฒนาประเทศ

ตอนนั้นประเทศถือว่าเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วจึงถือว่าเป็นรัฐประชาชาติ ทุกคนมีอำนาจในการปกครอง ในการที่จะพัฒนาประเทศกัน ผู้หญิงจึงรวมตัวกันในการที่ผลักดันในสิ่งเหล่านี้ เราจะเห็นได้จากเช่น คุณหญิงจันทนีก็ได้เรียนจากโรงเรียนฝึกหัดครูสวนสุนันทา ซึ่งโรงเรียนฝึกหัดครูโรงเรียนสวนสุนันทาเป็นผลผลิตอย่างหนึ่งของคณะราษฎรด้วยเช่นเดียวกัน คือต้องการให้ผู้หญิงมีความรู้ความสามารถ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เอาพื้นที่สวนสุนันทาเป็นวิทยาลัยสอนเกี่ยวกับบทบาทแม่บ้านแม่เรือนให้ผู้หญิงสามารถอ่านออกเขียนได้

 

 

เช่นเดียวกันในช่วงเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน อาจารย์ปรีดีได้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ ขึ้นมา ซึ่งในตัวเค้าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในหมวดที่ 2 ว่าด้วยการทำงานมีการระบุไว้ว่า “งานการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสถานที่ นั่นหมายความว่าที่เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาด งานเสมียน งานครู งานการศึกษา งานอนุบาลเด็ก หรืองานพยาบาล ให้ผ่อนผันให้ผู้หญิงประกอบอาชีพนี้ก่อนแต่หากไม่ได้จริงๆ ก็ให้ผู้ชายทำ”

หากมองในยุคปัจจุบันอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่นั่นเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงในช่วงเวลานั้นซึ่งเป็นอาชีพใหม่ๆ ที่เพิ่งจะงอกเงยออกมาจากการที่มีการศึกษาสมัยใหม่ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นอาชีพที่มารองรับบทบาทของผู้หญิงสมัยใหม่ในตอนนั้น นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาจารย์ปรีดีร่างหมวดนี้ขึ้นมา

 

 

 

 

รับชมย้อนหลังได้ที่ : PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

 

ที่มา : ชานันท์ ยอดหงษ์ ใน PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ “สิทธิมนุษยชนกับความเท่าเทียมทางเพศในรัฐธรรมนูญไทย” วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 2566 14.00 - 17.00 น. ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี