ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

คำอภิปรายผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การส่งเสริมการระดมทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม

14
มีนาคม
2567

Focus

  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นหน่วยงานอิสระของรัฐมีภารกิจในการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการ ชําระเงิน (ในปัจจุบันคือ "มุ่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินที่มีเสถียรภาพ และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึง") รัฐบาลจึงต้องการความร่วมมือจาก ธปท. เพื่อความสำเร็จในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล
  • ในสมัยที่ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ว่าการธปท. ท่านได้แสดงให้เห็นถึงความเท่าทันต่อทิศทางการพัฒนาและได้พยายามสร้างความร่วมมือกับภาครัฐในกระทรวงต่างๆ และภาคธุรกิจ และการทำงานกับองค์การต่างประเทศเพื่อให้การทำหน้าที่ของธปท.บรรลุผล
  • ทัศนะในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นำเสนอในคำอภิปรายชิ้นนี้ เป็นทัศนะตามแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยม อาทิ การจัดตั้ง ‘บริษัทสาธารณะ’ (บริษัทมหาชน) การลงทุนของภาคอุตสาหกรรม การสนับสนุนบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม การปรับปรุงระบบภาษีและอากร การไม่สนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจแข่งกับเอกชน และการขายรัฐวิสาหกิจ (ส่วนใหญ่สอดคล้องกับแนวคิดของนายบุญชู โรจนเสถียร อดีตเจ้าหน้าที่ธปท. และผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ ดังที่มีการเอ่ยถึงในการปาฐกถา)

 

คำอภิปรายของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในการประชุมอภิปราย
การแก้ปัญหาและอุปสรรคการพัฒนาประเทศทางด้านอุตสาหกรรม
เรื่อง การส่งเสริมการระดมทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม
ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2513

 

ท่านประธานที่เคารพ

เมื่อวานนี้เมื่อท่านกระซิบบอกกับผมว่าวันนี้ผมจะต้องขึ้นพูด ผมก็รีบไปเตรียมกลวิธีในการที่จะพูดโต้ตอบกับคุณบุญชู โรจนเสถียร ตามวิสัยของข้าราชการที่ดี กลวิธีที่จะโต้ตอบนั้นมีสองประการคือ กลวิธีถอยฉะ ประการหนึ่ง ถอยฉะก็คือ ต้องท่องสูตรเอาไว้ว่า เรื่องนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ หรือเรื่องนี้ขอรับเอาไปพิจารณา กลวิธีอีกวิธีหนึ่งคือ กลวิธีปัดสวะ สูตรในกลวิธีปัดสวะนี้คือ เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการคลัง ซึ่งหวังว่ากระทรวงการคลังคงจะรับเอาไปพิจารณาด้วยดี ถ้าพลาดจากกลวิธีถอยฉะและกลวิถีปัดสวะแล้ว กระผมก็รู้สึกว่ายังอยากจะเตรียมเอาพุทธสุภาษิตเรื่องหลับๆ ตื่นๆ มาว่าด้วย แต่ที่เตรียมเอาไว้นั้นไม่จำเป็นเสียแล้วครับท่านประธาน เพราะที่คุณบุญชู โรจนเสถียร ได้กล่าวไว้ทั้งหมดนั้น เกือบทั้งสิ้นตรงกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ใช่แต่จะรับเอาไปพิจารณาหรือกำลังพิจารณาอยู่ ได้เริ่มทำแล้วเกือบทั้งหมด จะขอเรียนว่าเรื่องในการตั้งบริษัทที่เรียกกันว่า ‘พับบลิก คำปะนี’ แปลเป็นภาษาไทยได้ต่างๆ กันคือ ‘บริษัทสาธารณะ’ หรือ ‘บริษัทมหาชน’ หรืออะไรเหล่านี้ เรื่องการพยายามก่อตั้งให้มีตลาดหุ้น เรื่องการให้มียูนิต-ทรัสต์ หรือมิวจ้วล พันต์ เรื่องการตั้งส่งเสริมให้มีอินเวสท์เมนต์ คำปะนี หรืออินเวสท์เมนต์ แบงค์ เรื่องการเสนอให้วัดเก็บกาษีที่ดินใหม่ (ก.ต.ก.ได้พิจารณานานแล้ว และกำลังอยู่ที่กระทรวงการคลัง) เรื่องการปิดช่องโหว่ให้มีการปรับปรุงภาษีอากร (ข้อนี้ผมต้องขอยืนยันว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง อย่างที่คุณบุญชู โรจนเสถียร ได้กล่าวไว้แล้วผมเห็นด้วย จำเป็นเหลือเกินทีเดียวที่จะต้องพยายามให้เก็บภาษีให้ได้โดยมีช่องโหว่น้อย) เรื่องกฎหมายการใช้เช็ค เรื่องการแก้กฎมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องการที่จะแยกทุนครอบครัวออกมาให้เป็นทุนสาธารณะ เรื่องเหล่านี้ทั้งหมดทั้งสิ้น เคราะห์ดีที่ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำลังกระทำอยู่ แม้แต่ว่าคุณบุญชู โรจนเสถียร ได้ต่อว่าว่าเป็นเวลาถึงสองปีที่เราได้เริ่มพูดกันเรื่องนี้ แต่แท้จริงนั้น ความก้าวหน้าซึ่งคุณบุญชูฯ อาจจะยังไม่ทราบก็ได้ มีก้าวหน้าไปด้วยดีพอสมควร ไม่ได้ชักช้า ทุกวันนี้ผมใคร่จะขอเรียนสำหรับท่านที่ยังไม่ทราบว่าการจัดตลาดหุ้นระยะยาว และตลาดเงินทุนระยะกลาง ระยะสั้นนั้น เราได้จ้างศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ผู้ชื่อเสียงโดยคำเแนะนำของธนาคารโลก ชื่อ โปรเฟสเซอร์ ซีสนี รอบบินส์ เข้ามารอบหนึ่งแล้ว และกำลังจะเข้ามาต่อไปในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นการวายงานครั้งสุดท้ายแล้วเราจะได้เริ่มดำเนินการต่อไป ที่ผมได้พูดถึงทางธนาคารแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น แท้จริงได้พาดพิงถึงหลายกระทรวงหลายหน่วยราชการด้วยกัน คือ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงเศรษฐการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ได้เข้ามาร่วมด้วยทั้งนั้น

ท่านผู้เป็นประธาน เรื่องการตอบคุณบุญชูฯ ก็เป็นไปอย่างที่กระผมว่า กล่าวคือไม่มี เหตุขัดข้องประการใด มีความเห็นสอดคล้องด้วยกันทั้งนั้น และแท้จริงก็เป็นอย่างที่คุณบุญชูฯ ว่า คือ คุณบุญชูฯ ก็รู้อยู่แล้วว่าเราคิดอะไรอยู่ และคุณบุญชูฯ ก็รู้อยู่แล้วว่า เรารู้ว่าคุณบุญชูฯ รู้ว่าเรากำลังคิดทำอะไรอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น กระผมเห็นจะไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวให้มากมายนัก มีเรื่องในหัวข้อการอภิปราย ซึ่งคุณบุญชูฯ เองไม่ได้นำมากล่าว แต่กระผมเห็นว่าน่าจะได้นำมาเสนอให้ที่ประชุมทราบอยู่สักนิดหนึ่งว่า ผมไม่มีความเห็นด้วยในหัวข้อ 8.3.1.1 ในตอนท้ายที่ว่าจะให้มีการลดหย่อนภาษีเงินได้จากเงินปันผลของอุตสาหกรรม แม้ว่าจะเป็นพับบลิค คำปะนี หรือ ไปรเวท คำปะนี กระผมก็ไม่เห็นด้วยที่ว่าไม่เห็นด้วย ก็เพราะเหตุว่าไม่เห็นเหตุผลอะไรที่จะไปลดหย่อนอะไรให้กับคนอย่างคุณเสนาะ นิลกำแหง หรือคุณเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ หรือคุณทินกร พันธุ์กระวี มองไม่เห็นว่าทำไมท่านเหล่านี้ถ้าหากว่าท่านถือหุ้นในการอุตสาหกรรม แล้วท่านจึงจะมีความจำเป็นที่จะลดหย่อนภาษีเงินได้จากการที่ให้เงินของท่านไปทำงาน แทนที่ท่านจะไปทำเอง ถ้าจะลดหย่อนภาษีสำหรับกรรมกรในการอุตสาหกรรมหรือลดหย่อนภาษีอากรสำหรับผู้จัดการการอุตสาหกรรมอย่างนี้พอเห็นด้วย แต่ถ้าหากว่าไปลดหย่อนภาษีอากรให้กับ อัน เอิน อินคัม แล้วละก้อ เราจะพยายามทำให้ปฏิวัติแดงมันเกิดขึ้นเร็วๆ เพราะฉะนั้น กระผมจึงขอเสนอทางรัฐบาลและท่านประธานสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า อย่าเลยครับเรื่องนี้อย่ารับเอาเลย รับไม่ได้

ท่านประธานที่เคารพ กระผมยังมีเวลาเหลืออยู่อีก 10 กว่านาที กระผมจะถอยไปนั่งเสียก็ดูกระไรอยู่ ที่นี้กระผมใคร่จะขออนุญาตตั้งข้อสังเกตว่าที่ได้มานั่งฟังในวันแรกบ้าง ในวันที่สองบ้าง ขาดบ้าง อะไรบ้าง ก็ได้กระทำตามคำสั่งทุกประการ ก็เกิดความคิดขึ้นมาบางประการ อยากจะขอเสมอไว้ในที่นี้ด้วย แม้จะไม่เกี่ยวด้วยกับการระดมทุนมากมายนัก ข้อสังเกตของกระผมในการที่มาประชุมกันคราวนี้ปรากฏว่า ส่วนใหญ่ท่านผู้ที่มาอภิปรายทั้งในทางฝ่ายสมาคมก็ดี ทั้งในด้านรัฐบาลก็ดี มีความสุภาพราบเรียบเป็นสมบัติประจำตัว เช่นในวันแรก คุณศิริ สิริโยธิน ท่านก็กรุณาขึ้นมากล่าวแล้วท่านก็บอกว่าท่านไม่ได้ตัดพ้อต่อว่ารัฐบาล ไม่ได้โต้ตอบเพื่อเอาชนะ ท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คุณยศ บุนนาค ก็ลุกขึ้อมาตอบหลังจากนั้นว่าไม่ต้องการจะโต้ตอบกับคุณศิริ สิริโยธินเลย แล้วหลังจากนั้นท่านก็โต้ตอบเป็นฉากๆ ไป คุณศิริ สิริโยธิน ขึ้นมาอีกหนหนึ่งบอกว่าไม่ต้องการโต้ตอบกับคุณยศหรอก เสร็จแล้วโต้เสียจนคุณยศหงาย

ท่านประธานที่เคารพ ถ้าเราขืนสุภาพกันมากเกินไป ผมว่าจะไม่ได้เรื่อง คือ จะโต้ก็โต้ จะว่าก็ว่า ผมว่ายังก็ดีว่าคือพูดกันให้ซื่อๆ ไปดีกว่า ผมอยากจะเรียนถึงข้อคิดเห็นอันหนึ่งซึ่งมาจากคุณบุญชู โรจนเสถียร ผมไม่ได้ฟังที่นี้ แต่ได้ยิมาจากที่อื่นแต่ผมชอบ คือเรื่องรัฐวิสาหกิจ สำหรับเรื่องรัฐวิสาหกิจนี้เรามีข้อเสนอดังนี้ไม่ควรที่จะให้รัฐวิสาหกิจขึ้นมาแข่งขัน หรือที่มีอยู่แล้วก็ไม่ควรให้ดำเนินการต่อไปให้แข่งขันกับเอกชน ข้อนี้เป็นข้อที่น่าฟัง แต่คุณบุญชู โรจนเสถียร มีอีกข้อหนึ่งว่า ขอให้รัฐบาลขายรัฐวิสาหกิจทั้งที่ดีและที่เลวนั้นแล้วก็เอาออกมาให้ประชาชนซื้อหุ้น โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ดี อย่างนี้ก็จะเป็นรายได้ของรัฐบาลที่ดี ข้อนี้ผมขออ้างอิงคุณบุญชูฯ ด้วยว่าเป็นเจ้าของความคิดและการที่จะกระทำซึ่งข้อนี้ ผมก็เห็นด้วย แต่มีแง่คิดเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจอีกประการหนึ่งก็คือ การที่ท่านสมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมแสร้งทำเป็นว่าเกรงกลัวต่อการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจนั้น ผมว่าท่านแสร้งทำมากกว่า ความจริงก็เป็นไปอย่างที่ท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคุณยศ บุญมาก ได้กล่าวว่าอย่าไปเกรงกลัวเลยรัฐวิสาหกิจนั้น หง่อมๆ เครื่องจักรก็ไม่ใคร่ดี การบริหารก็ไม่ดี มิหนำซ้ำยังเอาทหารเข้ามาทำอีก นี่คุณยศฯ ไม่ได้พูดนะ ผมพูดเอง ทหารที่ดีก็มีที่ทำรัฐวิสาหกิจเก่งก็มี อย่างเช่น คุณประมาณฯ เป็นต้น แต่ทหารที่เลว ก็ไม่ควรเลือกกันเข้ามาทำรัฐวิสาหกิจนั้น เวลามีค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็พะกงษีเข้าไปเรื่อย นักอุตสาหกรรมเอกชนนั้นไม่จำเป็นจะต้องกลัว แต่ผมอยากจะเรียนว่าวิสัยของเรานั้น เราส่งทหารไปรบเวียดนาม แล้วเราบอกกับทหารว่าให้ไปรบนั้น ไปรบกับใคร ไปรบกับเวียดนามเหนือ แล้วก็ไปรบกับเวียดกงด้วย ไม่ใช่ไปรบกับเวียดนามเหนืออย่างเดียว เวียดกงในเรื่องอุตสาหกรรมนี้ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจหรอก  เรื่องเวียดกงในเรื่องอุตสาหกรรมนี้น่ะ คือบริษัทอิทธิพล วิสาหกิจอิทธิพลซึ่งชื่อๆ เป็นเอกชนนี่แหละ เป็นเอกชนที่มีอิทธิพลด้วยการที่ผู้มีอำนาจถือหุ้นอยู่หรือลูกผู้มีอำนาจถือหุ้นอยู่ หรือเมีย หรือพ่อตา หรือลูกเขย บริษัทอิทธิพลบางแห่งไม่จำเป็นที่ใครที่ผมเอ่ยมาเมื่อกี้นี้เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ แต่เป็นบริษัทที่เข้านอกออกในได้ทุกวัน มีคำกล่าวที่อ้างและผมเชื่อว่าเป็นจริง ว่ามีองค์การสาธารณูปโภคแห่งหนึ่งมีรัฐมนตรีท่านหนึ่งเป็นประธานกรรมการ แล้วมีผู้จัดการที่เป็นข้าราชการบำนาญหรือไม่บำนาญไม่ทราบละ แต่ว่าผู้จัดการนี้ไม่สามารถเข้าพบประธานกรรมการได้ นอกจากผู้รับเหมาจะนัดให้พบได้ ในกรณีเช่นนี้ผู้รับเหมาบริษัทนั้นเป็นบริษัทเอกชน เพราะฉะนั้นผมจึงขอเรียนว่าสำหรับเรื่องอุตสาหกรรมนั้นกรุณาดูเวียดกงบริษัทเอกชน อย่าไปเกรงกลัวในเรื่องรัฐวิสาหกิจเลย รัฐวิสาหกิจนั้นเราขอเสนอร่วมกับคุณบุญชูฯ ให้รัฐบาลขายเสียเถิด

กระผมอยากจะเรียนถึงข้อที่ผมซาบซึ้งในการที่ได้ฟังอีกข้อหนึ่งซึ่งความจริงไม่ได้ฟังตลอด และมีบางข้อที่ควรจะรับไป คือข้อที่คุณศิริ สิริโยธิน เสนอว่า ทุกวันนี้เวลาจะไปติดต่อจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นหรือดำเนินการอุตสาหกรรมจะต้องติดต่อกับหน่วยราชการถึง 10 แห่ง คุณยศฯ กลับดีกว่าคุณศิริฯ ไปอีก บอกว่าไม่ใช่ 10 แห่งหรอก ต้อง 15 แห่ง ผมก็ไปไตร่ตรองดูว่าเพราะเหตุใดหนอจึงเป็นเช่นนี้ ก็มาได้ความจริงตามที่ปรึกษาหารือเพื่อนก็ได้ความจริงอยู่อย่างหนึ่งว่าเจ้าหน้าที่ทั้ง 10 แห่ง หรือ 15 แห่งนั้น ความจริงก็ชอบและก็ต้องการที่จะได้เห็นหน้าผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรม และไม่ใช่เห็นหน้าเปล่าหรอก ล้วงกระเป๋าด้วย ด้วยเหตุฉะนั้นแหละ เราจึงต้องติดต่อกับ 10 แห่ง หรือ 15 แห่ง และด้วยเหตุนี้แหละ นักอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยจึงเป็นผู้หญิงเสียมาก เพราะไปให้เห็นหน้าได้ง่ายฯ แล้วได้มีความสำเร็จงดงาม แต่ข้อที่เราจะนำมาคำนึงก็คือว่า น่าจะเลิกเรื่องนี้เสีย โดยที่กระทรวงอุตสาหกรรม หรือกระทรวงใดๆ ก็แล้วแต่ ที่เป็นเจ้าของเรื่องชักนำให้มีการอินเตอร์ มินนิสเตอร์เรียล คอมมิตี้ อย่างแบบของฝรั่ง ของไทยเราไม่ค่อยมี ใครจะตั้งอุตสาหกรรมก็ให้มานั่งกันอยู่ตรงนี้แล้วก็ให้พวกเราทั้งหลายมานั่งตรงหน้าอยู่ให้พร้อมๆ กัน ดีหรือไม่ดีก็ว่ากันไปเลย อย่างนี้ถึงจะทำความสะดวกให้มาก ผมคิดว่า คงจะได้มีการอภิปรายกันไปในเรื่องนี้แล้ว นี่แหละครับพูดไปพูดมาในเรื่องเหล่านี้ผมก็รู้สึกว่าไม่พ้นเรื่องอภิสิทธิ์ ผลสุดท้ายก็ต่างคนต่างพยายามที่จะได้อภิสิทธิ์กัน เหตุการณ์จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้แต่นักอุตสาหกรรมเองก็คงจะแก่งแย่งชิงดีซึ่งกันและกัน แก่งแย่งในหลายประการ เช่นในแง่ว่าใครเลี่ยงภาษีได้ก็ได้เปรียบ ใครใกล้ชิดเจ้านายได้ก็ยิ่งได้เปรียบ ถ้าใครรู้จักทั้ง 10 แห่ง หรือ 15 แห่งที่จะไปติดต่อได้ยิ่งสบายขึ้น นี่เพราะเราไม่รักษาหลักธรรม เราจึงได้เกิดความลำบากกับอย่างนี้ เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ผมจึงเห็นว่าควรจะได้กระทำทั้งสองแห่งคือร่วมกันทั้งในด้านรัฐบาลและนักอุตสาหกรรมมาร่วมกันหาวิธีป้องกันเอกสิทธิและอภิสิทธิ์ ที่นี้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อค้ากับข้าราชการ มีผู้กล่าวถึงหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ที่กล่าวว่า การที่ข้าราชการกับพ่อค้าติดต่อกันนั้นจะทำให้พ่อค้าเสียเงิน และทำให้ข้าราชการเสียคนข้อนี้เป็นความจริง ผมอยากจะเสนอด้วยความเคารพว่า ถึงแม้ว่าเราจะมีการติดต่อประสานงานกันระหว่างพ่อค้ากับข้าราชการผมก็ใคร่ขอให้ระมัดระวังสักนิดหนึ่ง ขออภัยที่ต้องพูดถึงกระทรวงเศรษฐการ เพราะกระทรวงนี้ติดต่อกับพ่อค้ามาก และไม่ใช่ว่าลูกเฉพาะในสมัยนี้ ไม่ว่าในสมัยไหนๆ ก็มีหลายสมัย กระทรวงเศรษฐการนั้นมีการติดต่อกับพ่อค้าอยู่ตลอดเวลา เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ แต่ว่าพ่อค้านั้นก็ผลัดกันขึ้นกับรัฐมนตรีผู้นี้เสียก๊กหนึ่ง พอเปลี่ยนรัฐมนตรีแล้ว พ่อค้าอีกก๊กหนึ่งก็ขึ้นมาเข้าไปติดต่อ พอเปลี่ยนรัฐบาลพวกหนึ่งก็เข้าทำเนียบได้ พอตกกระป๋องเข้า พ่อค้านั้นบางคนอาจจะไปอยู่ในคุกแล้วก็มี และในกรณีเช่นนี้ผมคิดว่าการติดต่อระหว่างพ่อค้ากับข้าราชการนั้นเป็นของดีแน่ แต่ว่าขอให้เป็นในลักษณะและเรปเปรเซ่นเตตีพ คือว่าจะทำอะไรกันไม่ใช่ไปมุบมิบทำกันระหว่างข้าราชการกับพ่อค้าบางประเภท ขออภัย สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น เราติดต่อกับธนาคารพาณิชย์มาตลอด ประชุมกันทุกเดือนผลัดกันเป็นเจ้าภาพ เดือนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยเลี้ยง แล้วก็พูดกันเดือนหน้าสมาคมธนาคารเลี้ยงแล้วก็พูดเจรจากัน แต่ผลของการที่เราจะทำอะไรนั้นทั่วถึงทุกธนาคารทีเดียวไม่มีที่ยกเว้น หลักข้อนี้เป็นหลักสำคัญที่จะเสริมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อค้ากับข้าราชการนั้นให้เป็นไปด้วยดี

ท่านประธานที่เคารพ ยังมีเวลาอีก 15 นาที ก่อนที่จะถึงเวลาน้ำชา ผมจะไม่ใช้เวลาทั้ง 15 นาที แต่จะขอกลับมาพูดถึงเรื่องระดมทุนสักนิดหนึ่ง คือ ตามหัวข้ออภิปรายนั้นได้กล่าวถึงเรื่องที่ควรจะได้มาจากที่ต่างๆ และเมื่อวานนี้ผมได้ยินคุณเสนาะ นิลกำแหง พูดอ้อมแอ้มถึงว่าอุตสาหกรรมนั้น ควรจะได้รับเงินกู้ด้วยดอกเบี้ยต่ำ ผมก็ใคร่จะเรียนสำหรับท่านทั้งหลายก็ยังไม่ทราบว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดบริการสำหรับเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว ประการที่หนึ่งเราให้บริการรับช่วงซื้อลดตั๋วเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินสำหรับการส่งออกไม่ว่าเกษตรหรือการอุตสาหกรรมในอัตราดอกเบี้ย 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยมีเงื่อนไขว่าธนาคารพาณิชย์ผู้ที่มาทำงานให้แก่พ่อค้านั้นจะรับเอาไปโดยจะไปคิดดอกเบี้ยเกินกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ต่อไปไม่ได้ หมายความว่า 5 บวกกับ 2 เท่านั้น กิจการอันนี้ได้ดำเนินการมาหลายปีแล้ว กิจการอีกอันหนึ่งก็คือการรับช่วงซื้อลดตั๋วสัญญาใช้เงินสำหรับกิจการอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม หมายความว่าเป็นเวิคกิ้ง แคปปิเติ้ล ไม่ได้พูดถึงเรื่องเงินลงทุน จะซื้อวัตถุดิบหรือจะขายผ่อนส่งหรืออะไรเหล่านี้ ถ้าหากว่ามีตั๋วสัญญาใช้เงินมา ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะคิดดอกเบี้ยเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ และธนาคารพาณิชย์จะคิดดอกเบี้ยไม่เกินเพิ่มขึ้นอีก 2 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2512 ซึ่งเป็นปีที่สินค้าขาออกมีน้อย เรารับช่วงซื้อลดตั๋วสัญญาใช้เงินสำหรับสินค้าขาออกทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม 632 ล้านบาท ปีที่ได้รับช่วงซื้อลดตั๋วสัญญาใช้เงินสำหรับสินค้าขาออกนี้มากที่สุดคือปี 2507 เป็นเงิน 913 ล้านบาท สำหรับในปี 2512 การที่บริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการรับช่วงซื้อลดตั๋วสัญญาใช้เงินเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมเป็นจำนวนถึง 1,936 ล้านบาท จากธนาคารแห่งประเทศไทย ถ้าท่านคิดว่าเรายังทำไม่พอก็อยากจะได้รับคำแนะนำจากท่าน แต่แน่ละในการที่เราจะกระทำอะไรเหล่านี้จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ มีหลายบริษัทที่อ้อมแอ้ม เพราะเหตุว่าไม่อยากส่งบัญชีให้เราเห็น เพราะหลบภาษีอยู่ ในกรณีอย่างนี้ เราก็ให้ไม่ได้ ถ้าปรากฏว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่งมาสารภาพกับเรา หรือเราไปตรวจพบขึ้นว่าได้มีการทำบัญชีหลายบัญชี เพื่อหลบเลี่ยงภาษี อันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่ได้ไปฟ้องกรมสรรพากรเลย แต่ทว่าไม่ให้กู้ เพราะให้กู้ไม่ได้ จะเป็นการส่งเสริมให้เลี่ยงภาษีกัน เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ได้ไปฟ้องสรรพากร แต่ทว่าเราก็เฉยๆ ไว้ แต่ว่าไม่ให้กู้ต่อไป มีหลายบริษัทที่ควรจะได้รับกู้ถ้าประพฤติดี

ทีนี้สำหรับเรื่องการลงทุนอุตสาหกรรมใหญ่นั้นผมไม่ควรจะกล่าวแทนท่านผู้จัดการบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม แต่ผมก็รู้สึกว่ากิจการของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นเป็นอันมาก รวมทั้งเงินที่ได้มาจากรัฐบาล เงินที่ให้กู้และหุ้นของเอกชน และเงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากเยอรมัน ธนาคารเอเชียและธนาคารโลก เรื่องนี้ก็เป็นจริงอย่างที่คุณบุญชูฯ กล่าวจริงคือยังน้อยนัก และที่น้อยนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทอดทิ้งเสีย ข้อแก้ไขก็คือว่าพยายามอุ้มชูให้บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมมีกำลังแข็งแรงขึ้นและอยากจะเรียนเสียที่นี้เลยว่าลักษณะของบรรษัทเงินทุนเพื่อการอุตสาหกรรมในปัจจุบันนี้ เผอิญเป็นราชการอยู่ส่วนนิดหนึ่ง แต่เป็นธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ ผมเองรู้สึกว่าถ้าหากว่านักอุตสาหกรรมร่วมมือกันแล้วก็ไปเป็นผู้ถือหุ้นของบรรษัทเงินอุตสาหกรรมเสียบ้าง จะได้ประโยชน์เหลือเกินทีเดียวในการที่จะพิจารณาในเรื่องกำลังเงิน และในการที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องนี้ ทำนองเดียวกันสหกรณ์ในด้านเกษตรและในเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่กว่าสหกรณ์เป็นไหนๆ เพราะฉะนั้น ผมจึงใคร่ขอถือโอกาสในที่นี้ขอเรียนท่านประธานสมาคมอุตสาหกรรมไทยว่า สมควรอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เรื่องนี้เป็นไปโดยให้นักอุตสาหกรรมได้ช่วยเหลือในการที่จะเข้ามาร่วมกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม ขอขอบคุณครับ

 

ที่มา : ป๋วย อึ๊งภากรณ์. (27 มีนาคม 2513). คำอภิปรายของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในการประชุมอภิปรายการแก้ปัญหาและอุปสรรคการพัฒนาประเทศทางด้านอุตสาหกรรม เรื่อง การส่งเสริมการระดมทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:131514, สืบค้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567.

หมายเหตุ

ขอขอบคุณหอสมุดปรีดี พนมยงค์ ที่อนุญาตให้เผยแพร่คำอภิปรายนี้ ในสื่อของสถาบันปรีดี พนมยงค์