Focus
- สินีนาฏ เกษประไพ ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ปี 2551 ‘ครูนาฏ’ เป็นทั้ง นักละคร, นักแสดง, ครูสอนการแสดง, ผู้กำกับการแสดง, นักวิชาการ และนักบริหารการจัดงานสายศิลปวัฒนธรรม Artistic Director กลุ่ม พระจันทร์เสี้ยวการละคร (Crescent Moon Theatre) ฯลฯ มีผลงานการแสดงเดี่ยวเรื่องล่าสุด “ผู้หญิงในห้องสีเหลือง” (“Woman and The Yellow Wallpaper”
- “ผู้หญิงในห้องสีเหลือง” มีตัวละครหลัก (ฉัน) ‘ถูกกระทำ’ อย่าง ‘ชอบธรรม’ จากสามีที่เป็นแพทย์ประจำตัว โดยการออกคำสั่งให้อยู่ภายในห้องที่มีกระดาษปิดผนังสีเหลือง เธอมีสิทธิ์เพียงกินกับนอน ไม่ได้รับอนุญาตให้อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ฯลฯ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าและฮิสทีเรีย ซึ่งเป็นเสมือน ‘การควบคุมความเป็นมนุษย์’ ไว้ในกรงขังแห่งความหวังดี โดยมีข้ออ้างทางการแพทย์เป็นเครื่องมือ มันคือ ‘โซ่ตรวนแห่งอำนาจ’ ที่ผู้หญิงไม่อาจหลุดพ้นจากวังวน ปิตาธิปไตย (patriarchy)
- ผู้เขียนได้ชี้ชวนให้เกิดความตระหนักรู้ถึงปัญหาสุขภาพจิตที่กำลังทวีคูณขึ้นเหตุเพราะสภาพเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน โดยเน้นถึงความโหดร้ายของ “ปิตาธิปไตย” ที่เข้าไปกำกับ ตัดสิน วินิจฉัย และบงการสภาวะทางร่างกายและจิตใจให้สยบยอมต่อการกดขี่ ทั้งในด้านสิทธิ วัฒนธรรม การเมือง ฯลฯ
การประพันธ์ เป็นศิลปะที่สะท้อนตัวตน วังวนบนเส้นทางชีวิตของศิลปินผู้ประพันธ์ได้ชัดเจนที่สุด ผู้คนที่ผ่านเข้ามาและโดยเฉพาะคนวงในใกล้ชิด ล้วนมีผลต่อการวางฐานชีวิต ตลอดจนพัฒนาการในงานเขียนทั้งสิ้น เพราะสิ่งที่ซ้อนอยู่เบื้องหลังการสร้างงานของนักเขียนทุกคนคือ บริบททางสังคม ประวัติชีวิต ความคิด ความรู้สึก และทัศนคติ ผลงานที่เป็นอมตะจะ ‘ทำงาน’ กับผู้อ่านอย่างไร้เงื่อนไขของกาลเวลาเช่นเดียวกับ “Woman and The Yellow Wallpaper” เมื่อถูกนำมาสร้างสรรค์ด้วยวิธีและฝีมือการแสดงที่เข้าถึง ‘วิถีของการกดขี่’ และ ‘จิตวิญญาณแห่งการปลดปล่อย’ งานจึงส่งแรงสั่นสะเทือนถึงผู้คนที่อยู่ในยุค ‘โลกาวิกฤติ’ ได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะเมื่อถูกออกแบบจัดวางในแนวทางของ Physical Movement
สินีนาฏ เกษประไพ ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ปี 2551 ผู้หญฺิงร่างเล็กพลังล้นคนนี้กับกว่า 30 ปี ที่ศึกษาและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะการแสดงอย่างต่อเนื่อง ‘ครูนาฏ’ จึงเป็นทั้ง ‘นักละคร’ ที่ควบซ้อนหลายบทบาทมากความสามารถทั้งในสถานะของ นักแสดง, ครูสอนการแสดง, ผู้กำกับการแสดง, นักวิชาการ และนักบริหารการจัดงานสายศิลปวัฒนธรรม Artistic Director กลุ่ม พระจันทร์เสี้ยวการละคร (Crescent Moon Theatre) ฯลฯ มีผลงานการแสดงเดี่ยวเรื่องล่าสุด “ผู้หญิงในห้องสีเหลือง” (“Woman and The Yellow Wallpaper” โดยได้รับแรงบันดาลใจจากบทประพันธ์อมตะที่ครูนาฏรักมากมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษาการละคร คือเรื่องสั้นชั้นครูของนักเขียน Feminist ยุคแรก (ปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ราวปี 1848-1920) ของ Charlotte Perkins Gilman (ผลงานพิมพ์เผยแพร่ในปี 1892) แปลโดยกวีซีไรท์ จิระนันท์ พิตรปรีชา พิมพ์ครั้งแรก โดย สำนักพิมพ์กอไผ่ ในปี 2527 มีเรื่องเดียวในเล่มเล็กบางเพียง 68 หน้า ที่ถือเป็นตำราของหลายศาสตร์ สามารถปรับให้เข้ากับทุกระดับการศึกษา สะท้อนความซับซ้อนของอำนาจที่กดทับ และความเป็นมนุษย์ที่หลากความต่าง ในหลายมิติ
“Woman and The Yellow Wallpaper” พิมพ์ครั้งที่ 2 ชื่อ “ห้องสีเหลืองกับผู้หญิงคนนั้น” โดย สำนักพิมพ์ประพันธ์สาสน์ ในปี 2532 โปรยปกในมุมองผ่านบริบทสังคมว่า “หนังสือเล่มบาง ๆ เล่มนี้ อาจเป็นเพียงเรื่องราวสั้น ๆ เพียงไม่ถึงหนึ่งร้อยหน้า แต่ทว่าคุณค่าที่ซ่อนอยู่ระหว่างถ้อยคำ หรือ ระหว่างบรรทัดที่มีคือ เรื่องเล่าซึ่งแทรกด้วยภาพของชีวิตจริง ๆ ของผู้เขียนซึ่งแทรกแซมสลับไว้ และภาพจริงที่สตรีในแต่ละห้วงยุคในทุกสังคมพยายามกดก้มลงให้เป็นเสมือน สัตว์เลี้ยง(คลานสี่ขา) ของสังคม ครอบครัว และด้วยการขว้างปาคุณค่า ทิ้งขว้างตัวตนของเธอในบางคน” ย้ำภาพทุกข์ทนด้วยโปรยปกหลังว่า “ ถ้ามีหมอชื่อดังคนหนึ่งที่บังเอิญเป็นสามีคุณเสียด้วย ไปเที่ยวบอกใครต่อใครว่าเมียตัวเองไม่ได้เจ็บป่วยเป็นอะไรสักหน่อย เพียงแต่มีอาการประสาทเครียดชั่วคราว และมีแนวโน้มฮิสทีเรียอย่างอ่อน ๆ เท่านั้น คุณจะทำยังไง... หนังสือเล่มนี้จึงกลายเป็นดั่งเสียงหนึ่ง แม้อาจเพียงสิ่งเล็กน้อยแต่ทว่าก็เป็นดั่งเสียงของสตรีที่ออกมาเปล่งเสียงบอกกล่าวว่า แท้จริงนั้น ฉันคือสิ่งใด ?”
ในปี 2550 “Woman and The Yellow Wallpaper” ถูกรวมไว้เป็น 1 ใน 5 เรื่องสั้นของหนังสือ “นิมิตวิกาล 01 - ห้าอัญมณี”[1] โดยสำนักพิมพ์ไทย bookvirus รวมเล่มเรื่องแปลเร้นลับจากนักเขียนชั้นครู สุชาติ สวัสดิ์ศรี, แดนอรัญ แสงทอง, ภัควดี วีระภาสพงษ์ และ ธิติยา ชีรานนท์ บทประพันธ์เรื่องสั้น “ผู้หญิงในห้องสีเหลือง” โดย ชาร์ล็อตต์ เพอร์กินส์ กิลแมน กวี นักเขียน วิทยากรที่มีชื่อเสียง นักเศรษฐศาสตร์ และนักทฤษฎีชั้นนำของขบวนการสตรีในสหรัฐอเมริกา ทางสำนักพิมพ์ให้ความเห็นแนะนำชวนอ่านเพื่อการต่อยอด และวิเคราะห์ผลงานไว้อย่างน่าสนใจว่า “เป็นเรื่องสั้นในบรรยากาศโกธิค ซึ่งชวนเปรียบเทียบกับงานที่มีมวลแบบภาษากวีเชิงเหนือจริงของ ดอริส เลซซิ่ง เรื่อง “ห้องหมายเลข 19” , มาเกอริต ดูราส เรื่อง “โรคแห่งความตาย” และงานของ ฉาน เสวี่ย ที่เคยพิมพ์และผลักดัน เพราะเป็นจักรวาลของผู้หญิงที่พิเศษพิสดารกึ่งฝันกึ่งจริง และชวนนึกถึงภาพเขียน “A Little Night Music” ของ โดโรเธีย แทนนิ่ง โดยเฉพาะเรื่อง “ผู้หญิงในห้องสีเหลือง” สื่อถึงโลกของความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ ชีวิตของผู้หญิงที่ถูกจำกัดโอกาสในการแสดงออก ถ่ายทอดความรู้สึกจินตนาการซึ่งถูกยัดเยียดว่าบ้าและประหลาดได้อย่างดี”
Charlotte Perkins Gilman[2] เกิดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ปี 1860 ในเมืองฮาร์ตฟอร์ด รัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา เป็นลูกผู้หญิงคนเดียวในพี่น้อง 3 คน ปู่ทวดของเธอคือ ดร.ไลแมน บีเชอร์ นักเทศน์นิกายคาลวินนิสต์ ส่วนป้าทวดของเธอคือ แฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ นักเขียนนวนิยาย, แคเธอรีน บีเชอร์ ผู้สนับสนุนการศึกษาสตรี และ อิซาเบลลา บีเชอร์ ฮุกเกอร์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิสตรี พ่อของกิลแมนทิ้งความรับผิดชอบมอบบาดแผลไว้ในใจลูก ทำให้ครอบครัวต้องลำบากมีความเป็นอยู่อย่างยากจน แม้ว่ากิลแมนจะได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างเป็นทางการเพียงเล็กน้อยแต่เธอก็ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนการออกแบบ (Rhode Island School of Design) เป็นเวลาสองปี
กิลแมนเติบโตอย่างเต็มวุฒิภาวะ เป็นวิทยากร นักเขียน นักเศรษฐศาสตร์ นักเคลื่อนไหว ต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม และนักทฤษฎีชั้นนำของขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีในสหรัฐอเมริกา ปี 1884 เธอแต่งงานกับ ชาร์ลส์ ดับเบิลยู สเตตสัน ศิลปิน แต่หลังจากประสบกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตรสาว อีกหนึ่งปีต่อมาเธอจึงย้ายไปอยู่ที่ พาซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย พร้อมกับลูกสาวในปี 1888 กิลแมนหย่าร้างกับสามีคนแรกในปี 1894 แล้วแต่งงานครั้งที่ 2 กับ จอร์จ ฮอตัน กิลแมน ในปี 1900 กิลแมนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ปี 1935 ที่เมือง พาซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย อเมริกา เธอฆ่าตัวตายหลังจากเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ทิ้งผลงานเขียนที่เป็นอมตะไว้ให้โลกเรียนรู้และต่อสู้ตามแนวทาง
จุดเด่นในเนื้องานของ ครูนาฏ คือความเป็น feminist นำภาษาของศิลปะการแสดงที่ใช้ร่างกายเคลื่อนไหวมาเป็น ‘สื่อ’ เพื่อ ‘ส่งสาร’ ในเป็นประเด็นสำคัญเรื่องผู้หญิงกับสังคม (รวมถึงผู้คนที่ดิ้นรนต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งเป็นปัญหาที่ครอบครัวควรใส่ใจ และต้องได้รับการแก้ไขจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ) ผ่านการแสดงแฝงสัญลักษณ์ มีนัยเพื่อการขับเคลื่อนอย่างเปี่ยมพลัง มีความเป็นสากลทั้งแนวทางและวิธีการนำเสนอ “ผู้หญิงในห้องสีเหลือง” ก็เช่นกัน แม้นำเสนอในมิติของปัจเจก แต่มีแนวทางของการแสดงและ theme ที่ชวนให้คิดเชื่อมโยงถึงระดับมหัพภาคกับผลงานเด่นอีกเรื่องของครูนาฏคือ “The Cowbell and the Invisible” (วัวลาน) เป็นผลงานเด่นที่ ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง ได้เสนอชื่อเข้าชิง “รางวัลละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยของประเทศไทย ปี 2563-2565” ในนาม “Biopsy of Fear” เรื่อง “ The Cowbell and the Invisible” (Biopsy of Fear มีทั้งหมด 3 องค์ ประกอบด้วย “Ibu Ular” โดย ลานยิ้มการละคร, “The Cowbell and the Invisible” โดย พระจันทร์เสี้ยวการละคร และ “A Thorn of Conceptual Pain” โดยกลุ่ม B-floor และ Ratsadrums ใน concept ที่เป็นโจทย์ร่วมเดียวกันทั้ง 3 เรื่องคือ ‘การวินิจฉัยความกลัว’ กลัวการถูกกดปราบ ความกลัวของผู้กดปราบ การปลดแอกจากความกลัว และความกลัวการปลดแอก จัดแสดงเมื่อ วันที่ 10-12 ธันวาคม ปี 2564 ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) รวมทั้งสิ้น 3 สาขา ได้แก่
- Best Movement-based Performance การแสดงที่ใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายยอดเยี่ยม
- Best Performance by a Female Artist การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงหญิง
- Best Direction of a Play or a Performance การกำกับการแสดงยอดเยี่ยม
สำหรับรางวัลที่ได้รับคือสาขา ‘Best Performance by a Female Artist’ การแสดงยอดเยี่ยม โดยนักแสดงหญิง สินีนาฏ เกษประไพ จากเรื่อง “Biopsy of Fear : The Cowbell and the Invisible”
"The Cowbell and the Invisible" โดย สินีนาฏ เกษประไพ ได้รับเชิญเป็นตัวแทนศิลปินไทยไปแสดงและ workshop ในงาน “Solo Butoh #3” เมื่อ 16-17 ธันวามคม ปี 2023 (workshop 14 Dec’2023) จัดโดย Studio Plesangun ณ Solo (หรือชื่อเต็ม Surakarta นครหลักในจังหวัดชวา) ประเทศอินโดนีเซีย
โครงการอ่านบทละคร “อ่านผู้หญิง”
จุดเริ่ม จากการรังสรรค์งานวรรณกรรมสู่ Performing Art ด้วย โครงการอ่านบทละคร “อ่านผู้หญิง” ขับเคลื่อนโครงการโดย ครูนาฏ สินีนาฏ เกษประไพ รวมกับนักการละครหญิง feminist 8 คน ร่วมกันแสดงการอ่านบทละครที่ตัวเองรักและเลือกเฉพาะวรรณกรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงมาอ่าน เมื่อ มีนาคม ปี 2553 ซึ่งเป็นเดือนของผู้หญิง ล้วนเป็นวรรณกรรมดีที่น่าสนใจ มีประเด็นให้ศึกษาต่อยอด
- ฟาริดา จิราพันธ์ นำเสนอเรื่อง “เจ้าหญิงนกบินหลายกับเจ้าชายนกบินหา” จากหนังสือ เจ้าหงิญ ของ บินหลา สันกาลาคีรี วรรณกรรมซีไรต์ปี 2548,
- อรุณโรจน์ ถมมา นำเสนอเรื่อง “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าตุ๊กตา” จากหนังสือ “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน” ของ วินทร์ เลียววาริณ วรรณกรรมซีไรต์
- สุกัญญา เพี้ยนศรี นำเสนอเรื่อง “คู่รักทั้งหลาย” จากหนังสือ “รักร้างแรงอธิษฐาน” ของ ทากุจิ แรนดี แปลโดย ยุพกา ฟุคุชิมะ
- จารุนันท์ พันธชาติ นำเสนอเรื่อง “นางวารีถวายตัว” จากหนังสือ พระอภัยมณี ของ สุทรภู่
- ปานรัตน กริชชาญชัย นำเสนอเรื่อง “Joy Luck Club” ของ Amy Tan และ How to Manage Your Mother, ปอรรัชม์ ยอดเณร เสนอเรื่อง “รองเท้าบัลเลต์” จากเรื่อง “The Ballet Shoes” ของ Noel Streadfeild แปลโดย งามพรรณ เวชชาชีวะ
- ภาวิณี สมรรคบุตร นำเสนอเรื่อง “ปาฏิหารย์บันทึกรัก” จากหนังสือ “The Note Book” ของ นิโคลาส สปาร์คส์ แปลโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา
- นีลชา เฟื่องฟูเกียรติ นำเสนอเรื่อง “เจ้าหญิงคาราเต้” ของ เจรีมี สตรอง แปลโดย ฤดูร้อน
- สินีนาฏ เกษประไพ นำเสนอเรื่อง “ห้องสีเหลืองกับผู้หญิงคนนั้น” จากหนังสือ “The Yellow Wallpaper ของ Charlotte Perkins Gilman” แปลโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา
จากบทละครสั้นในโครงการอ่านบทละคร “อ่านผู้หญิง” ต่อมาครูนาฎได้นำไปแปลงเป็นละครในห้องเรียนการแสดง และพัฒนาเป็นละครศิลปนิพนธ์ (Thesis) และล่าสุดนำสู่งานการแสดงเดี่ยวที่เคี่ยวข้นคนผสานระหว่าง ละครพูดกับ Body Movement and Body Expression ใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือสื่อสาร (Body Language) ครั้งนี้เกี่ยวมาพร้อมกับการแสดงดนตรีสดบรรเลงเดี่ยวโดย พายัพ แก้วเกร็ด , กำกับเทคนิคและออกแบบแสงโดย ทวิทธิ์ เกษประไพ , จัดการโปรดักชั่น โดย ลัดดา คงเดช , และ กำกับเวที โดย ชนาง อำภารักษ์ เปิดการแสดงเมื่อวันเสาร์ที่ 23 และ วันอาทิตย์ 24 พฤศจิกายน 2567 ที่ TK Park (ห้าง Central World ชั้น 8 ห้อง Learning Auditorium) เป็นหนึ่งในการแสดงเดี่ยวที่โดดเด่น บอกถึง ‘ลายเซ็นต์’ ที่เป็นเอกลักษณ์ของครูนาฏอย่างชัดเจน ในงาน เทศกาลละครกรุงเทพ 2024 (Bangkok Theatre Festival 2024 ที่จัดขึ้นเมื่อ วันที่ 9-24 พฤศจิกายน 2567
“Woman and The Yellow Wallpaper” ถ่ายทอดภาวะจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด ความกดดัน ฯลฯ ของผู้หญิงที่ผจญกับโรคซึมเศร้าหลังคลอด ตัวละครได้รับการวินิจฉัยจากสามีที่เป็นแพทย์เจ้าของไข้และบอกกับใคร ๆ ว่าภรรยาของเขา… “ไม่ได้เจ็บป่วยเป็นอะไรสักหน่อย เพียงแต่มีอาการประสาทเครียดชั่วคราว และมีแนวโน้มฮิสทีเรียอย่างอ่อน ๆ เท่านั้น” เรื่องนี้จึงเป็นเสมือนบทบันทึกชีวิตในช่วงวิกฤติที่กดดันจิตใจของ Charlotte Perkins Gilman ส่งผลให้งานเขียนของเธอมีพลังและ ‘ทำงาน’ กับคนอ่านสูงมาก เพราะมีมูลมาจากความจริง เรื่องบทบาทของผู้หญิงในชีวิตหลังแต่งงาน ภาวะป่วยไข้ในมิติของจิตวิทยาเป็นสิ่งสำคัญที่ควรได้รับการศึกษาถึงสาเหตุ เพราะมีบริบททางครอบครัว-สังคม ทับถมพฤติกรรมผู้ป่วย และส่งผลกระทบรอบด้าน ไม่ว่ายุคไหนสมัยใด (โดยเฉพาะในปัจจุบัน) มนุษย์ยังคงบอบบางเสมอต่อการดำรงอยู่อย่างผิดปกติธรรมชาติ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
‘ศิลปะ’ คือเครื่องมือสำคัญทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนความจริงจากภายในที่มองไม่เห็น ให้โดดเด่นชัดเจน โดยเฉพาะมิติของการสำรวจสภาวะจิตของผู้ป่วย ผ่านงานเขียนและการแสดงที่เป็นเสมือนบันทึกเบื้องลึกจากพิษไข้ ยากที่ใครซึ่งไม่มีประสบการณ์ร่วมจะเข้าถึงได้อย่างถ่องแท้ แต่เบื้องต้นควรได้รับการแก้ไข ป้องกัน งานเขียนถูกถ่ายทอดผ่านศิลปะการแสดงอย่างเข้าถึงก้นบึ้งสาระของเรื่อง ผ่านการตีความเป็นบทละคร สะท้อนผ่านการแสดงที่ตีแผ่จิตวิญญาณเบื้องลึก บอกเล่าความรู้สึกสับสนทนทรมาน โดย สินีนาฏ เกษประไพ ทำให้เห็นหัวใจและความป่วยไข้เรื้อรังสั่งสม ที่หมักหมมจนเหมือนมีกลิ่นทุกข์โชยคละคลุ้งฟุ้งอยู่เต็มห้อง ครอบคลุมทั่วบริเวณเวทีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผู้แสดงกับนักดนตรีนั่งหันหน้าเข้าหากัน ทำหน้าที่อยู่คนละฝั่งของด้านกว้าง ด้านยาวมีผู้ชมโอบสองฝั่งนั่งเรียงรายซ้ายขวา
“Woman and The Yellow Wallpaper” สัญลักษณ์ที่สะท้อนซ่อนนัยการกดขี่ทางเพศด้วยลัทธิชายเป็นใหญ่ ‘ปิตาธิปไตยครองโลก’ ในยุคหลังการก่อเกิดของแนวคิด ‘สตรีนิยม’ คำว่า feminist และ feminism ได้รับการบัญญัติขึ้นในปี ค.ศ. 1837 โดยนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสผู้ก่อตั้งสังคมนิยมอุดมคติชื่อ ชาร์ลร์ ฟูรีเยร์ ( Charles Fourier) ตัวละครหลัก ‘ถูกกระทำ’ อย่าง ‘ชอบธรรม’ จากสามีที่เป็นแพทย์ประจำตัว โดยการออกคำสั่งให้อยู่ภายในห้องที่มีกระดาษปิดผนังสีเหลือง เธอมีสิทธิ์เพียงกินกับนอน ไม่ได้รับอนุญาตให้อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ฯลฯ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าและฮิสทีเรีย ซึ่งเป็นเสมือน ‘การควบคุมความเป็นมนุษย์’ ไว้ในกรงขังแห่งความหวังดี โดยมีข้ออ้างทางการแพทย์เป็นเครื่องมือ มันคือ ‘โซ่ตรวนแห่งอำนาจ’ ที่ผู้หญิงไม่อาจหลุดพ้นจากวังวน patriarchy
“Woman and The Yellow Wallpaper”
เรื่องสั้นขนาดยาวในรูปแบบบันทึกประจำวันถ่ายทอดผ่านมุมมองของบุรุษที่ 1 (ฉัน) ที่เขียนโดยผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งตกอยู่ในภาวะหลังคลอด สามีเป็นแพทย์ประจำตัวเจ้าของไข้ เขารักษาเธอด้วยการวินิจฉัยอาการว่าเป็น ‘โรคซึมเศร้าชั่วคราว’ หลังจากคลอดลูก เขาจัดให้เธอได้พักช่วงฤดูร้อนในชนบท ด้วยการเช่าคฤหาสน์เก่าสมัยอาณานิคมเป็นที่พำนัก เขาทำการ ‘กักบริเวณ’ ภรรยาไว้ในห้องเด็กชั้นบนใต้หลังคาเพื่อบำบัดรักษา พร้อมคำสั่งไม่ให้ทำงานอ่านเขียนเขาแนะนำให้เธอกินอาหารดี ๆ และหายใจอย่างถูกวิธีเพื่อที่จะได้ฟื้นตัวจากอาการที่เรียกว่า “ภาวะซึมเศร้าทางประสาทชั่วคราว” เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการเป็น ‘โรคฮิสทีเรีย’ ตามวิธีการวินิจฉัยโรคทั่วไปของแพทย์สำหรับผู้หญิงที่มีอาการผิดปกติทางจิตในยุคนั้น
สาระของเรื่องถ่ายทอดด้วยการเล่าผ่าน ‘ฉัน’ ซึ่งผู้อ่านจะสังเกตเห็นอาการผิดปกติของผู้เล่าจากข้อเขียนในบันทึกประจำวันที่ถูกเปิดเผยทีละน้อยว่า สามี "กักขัง" เธอไว้ มีผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจมากเพียงใด เธอได้พบกับภาวะที่เสื่อมถอยลงอย่างช้า ๆ เพราะถูกห้ามไม่ให้ทำอะไรเลย จึงทำได้เพียงนั่งมองและสังเกต wallpaper สีเหลืองลอกในห้องที่ถูกขัง ‘วอลเปเปอร์ที่ฉีกขาด หน้าต่างที่มีลูกกรงวงแหวนโลหะ บนผนังที่มีรอยขีดข่วนรอยบุบและแตกเป็นเสี่ยง ๆ เตียงที่ถูกตรึงติดกับพื้น และประตูที่อยู่ชั้นบนสุดของบันได’ เต็มไปด้วยร่องรอยของเด็ก ๆ ที่เคยต้องอาศัยอยู่ในห้องแห่งนี้
‘ฉัน’ บันทึกมากมายบรรยายความคิดความรู้สึกเกี่ยวกับลวดลายของกระดาษปิดผนังภายในห้องนั้น ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ ‘ฉัน’ พบเห็นและรู้สึกเป็นปฏิปักษ์เพราะ สีที่ดูไม่สบาย กลิ่น สีเหลือง ลวดลายที่แปลกประหลาดและน่าสะพรึงกลัว เช่น เห็ดพิษที่งอกออกมาเป็นพวงอย่างไม่สิ้นสุด’ จุดที่หายไป รอยเปื้อนสีเหลืองบนผิวหนัง และเสื้อผ้าของผู้ที่สัมผัส “ยิ่งอยู่ในห้องนอนนานเท่าไรวอลเปเปอร์ก็ยิ่งดูเหมือนจะกลายพันธุ์มากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในแสงจันทร์ เมื่อไม่มีสิ่งกระตุ้นอื่นใดนอกจากวอลเปเปอร์ ลวดลายและการออกแบบก็ดูน่าสนใจขึ้นเรื่อย ๆ” ลวดลายซับซ้อนตามสมัยนิยมของยุคนั้นมันทำงานกับอาการอย่างช้า ๆ ไม่นานเธอก็เริ่มเห็นรูปร่างในลวดลาย ที่สุดเธอเชื่อว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งกำลังคลานสี่ขาอยู่หลังลวดลายและภายนอก และคิดว่าเธอต้องปลดปล่อยผู้หญิงคนนั้นไป เธอจึงปฏิบัติการลอกกระดาษที่เหลือออกจากผนังทีละน้อย
เมื่อสามีกลับมาถึงบ้านเธอปฏิเสธที่จะไขประตูห้อง หลังกลับมาอีกครั้งพร้อมกับกุญแจเขาพบเธอคลานไปทั่วห้อง ถูตัวกับวอลเปเปอร์ และอุทานว่า “ในที่สุดฉันก็ออกมาได้... แม้ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม” เขาหมดสติ แต่เธอยังคงเดินวนรอบห้อง คลานผ่านร่างที่นอนนิ่งเหมือนไร้ลมหายใจของเขาทุกครั้งที่เดินผ่าน ด้วยจิตที่คิดว่าตัวเองได้กลายเป็นผู้หญิงที่ติดอยู่หลังวอลเปเปอร์สีเหลืองไปแล้ว
ตัวอย่างบางตอนจากหนังสือแปล
“Woman and The Yellow Wallpaper”
โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา กวี SEA Write ปี 2532
บทที่ 1
“นี่ก็เป็นเรื่องแปลก ๆ พิกลอยู่ไม่ใ่ช่หรือ? ใครเลยจะเข้าใจได้ว่า ทำไมคนธรรมดา ๆ อย่างจอห์นกับฉันจะต้องมาเลือกเอาบ้านอย่างนี้เป็นที่ตากอากาศฤดูร้อนด้วย มันเป็นคฤหาสน์ทรงโบราณ ตั้งอยู่บนผืนแผ่นดินที่เป็นมรดกตกทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ฉันอยากเรียกมันว่า คฤหาสน์ผีสิง แล้วก็หลับตาสร้างนิยายฉากต่าง ๆ ให้สะใจ … แต่นี่ก็ออกจะเป็นการเพ้อเจ้อมากไปหน่อย จะยังไงก็ตาม ฉันกล้าพูดได้เต็มปากว่า ต้องมีอะไรประหลาด ๆ ในบ้านหลังนี้อย่างแน่นอน ไม่เช่นนั้น ทำไมอัตราค่าเช่าจึงได้ถูกอย่างเหลือเชื่อ? และถึงแม้มันจะถูกแสนถูกอย่างไร ก็ไม่มีใครมาเช่าเลยเป็นเวลานานถึงขนาดนี้”
บทที่ 4
“อาศัยแสงแดดที่สาดส่องเข้ามาทางหน้าต่างในตอนกลางวัน เราจะพบว่าลวดลายบนผนังสีเหลืองนั่นไม่มีความต่อเนื่องใด ๆ ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวใด ๆ ทั้งสิ้น นี่ละคือสิ่งที่รบกวนจิตใจคนโดยทั่ว ๆ ไป อย่าว่าแต่ฉัน สีสันของมันหรือ ช่างดูลี้ลับอำพรางนัก ทั้งชวนสับสนและทั้งยั่วโทสะ บวกเข้ากับลวดลายแบบนั้นเข้า ยิ่งทรมานสายตาสุดจะทน มองดูสิ ถ้าคุณคิดว่าคุณพอจะคลี่คลายความลับของมัน จ้องดูอีกหน่อยเป็นไร ประเดี๋ยวคุณก็จะพบว่าทุกอย่างผิดแผกไปจากที่คุณเข้าใจอย่างสิ้นเชิง”
บทที่ 5
ฉันไม่ตำหนิหล่อนหรอกที่ทำลับ ๆ ล่อ ๆ ถ้าถูกจับได้ว่ามาคืบคลานอยู่กลางวันแรก ๆ คงเป็นเรื่องน่าอับอายไม่น้อยทีเดียว ฉันเองยังต้องล็อคประตูเลย เวลาที่คลานอยู่คนเดียวตอนกลางวันน่ะ ส่วนกลางคืนฉันทำไม่ได้ ประเดี๋ยวจอห์นจะสงสัยเอา เดี๋ยวนี้จอห์นก็แปลกพิลึกคนเสียจนฉันไม่อยากจะตอแยด้วย ฉันอยากให้เขาย้ายไปนอนห้องอื่นเสียจริง ฉันไม่ต้องการให้คนอื่นมาเห็นผู้หญิงคนนั้นในยามกลางคืน ฉันมักสงสัยว่าถ้ามองจากหน้าต่างทุก ๆ บาน รอบห้องนี้พร้อมกันหมดล่ะก็ จะเห็นผู้หญิงคนนี้เหมือนกันหรือเปล่าหนอ แต่ฉันก็ไม่อาจพิสูจน์ได้เพราะถึงจะหมุนตัววิ่งจากหน้าต่างบานหนึ่งไปยังอีกบานหนึ่งอย่างรวดเร็วเพียงใด ฉันก็ได้แต่มองจากหน้าต่างบานเดียวอยู่ดี ถึงจะเห็นหล่อนทุกครั้งที่มองหน้าต่าง ไม่ว่าบานไหน ๆ ก็อาจเป็นเพราะหล่อนคลานได้เร็ว จนสายตาของฉันตามแทบไม่ทันก็ได้ ฉันเคยเห็นหล่อนคลานไปไกล ออกสู่ท้องทุ่งโล่ง คลานไปอย่างรวดเร็วเหมือนเงาเมฆมืดคลี่คลุมผืนดิน
จักรวาลแห่งการกักขัง…พลังแห่งการปลดปล่อย
สถานที่เกิดเหตุคือคฤหาสน์แบบกอธิค (Gothic art เป็นศิลปะที่เริ่มขึ้นในฝรั่งเศสปลายศตวรรษที่ 17 และในต้นศตวรรษที่ 19 ได้แพร่หลายไปยังประเทศอื่น ๆ และมี design ปรับไปตามภูมิภาคนั้น ๆ) สภาพเก่าแก่ที่ใช้กักเก็บตัว ‘ฉัน’ ไว้ในห้องใต้หลังคา ให้ควาเหมือนตัวละครถูกขังอยู่บนหอคอยร้าง หน้าต่างมีลูกกรงคล้ายคุก ขาเตียงมีโซ่ล่ามราวกับว่าคฤหาส์นหลังนี้เคยเป็นที่จองจำ หรือพื้นที่คุมขัง ความเสื่อมโทรมของบ้านเสมือนระบอบการปกครองเสื่อมทรามที่กดขี่บีฑาผู้คน จนเป็นเหตุให้เกิดการลุกขึ้นต่อสู้ของผู้หญิงยุค feminism และเกิด ‘ลัทธิสตรีนิยม’ ขึ้นในอเมริกาช่วงศตวรรษที่ 19[3] ซึ่งมีรากฐานมาจากการค้าทาส กระดาษปิดผนังเลือกเล่นกับ ‘สีเหลือง’ เพื่อสื่อสัญลักษณ์ที่มีนัยหลายมิติ ตั้งแต่เทคนิคในทางการตลาดที่มักเลือกใช้สีเหลืองกับงานนำเสนอสินค้า เพราะในศาสตร์ของจิตวิทยาสามารถสะดุดตากระตุ้นใจให้รับรู้ได้ง่ายกว่าทุกสี ไปจนถึงการเป็นสีสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ อันหมายถึงระบบการเมืองการปกครองที่มีความเป็น ‘ปิตาธิปไตย’ (Patriarchy) มีประเพณีการสืบทอดทรัพย์สินและยศถาบรรดาศักดิ์สายตรงมาทางสกุลฝ่ายพ่อ (Patrillineal) อย่างเต็มระบบมายาวนาน โดยผ่านระเบียบปฏิบัติของราชสำนัก
คฤหาสน์เก่าถูกสถาปนาให้เป็นสถานที่พักตากอากาศ มันถูกเลือกสรรโดยคุณหมอจอห์น สะท้อนอำนาจเด็ดขาดปราศจากการขอความเห็น บอกความเป็นใหญ่ของผู้ชายในยุคเก่า ภายใต้การปกครองแบบกดขี่สตรีเพศ แต่คือสิ่งที่เขาคิดว่าเหมาะสมดีงามตามที่ควรจะเป็น และต้องไร้ข้อโต้แย้ง แสดงความเป็นเจ้าชีวิตที่ครอบครองจิตวิญญาณโดยไม่รู้ตัว ผู้เล่า (ฉัน-ผู้เขียนบันทึก) ระบายความรู้สึกเหมือนคุยกับตัวเอง การแสดงของสินีนาฏสะท้อนสภาพจิตสะกดใจผู้ชมด้วยอารมณ์ที่ไม่ฟูมฟายแต่สามารถถ่ายทอดความทุกข์ ปลุกให้เราร่วมรับรู้ความลับจากเบื้องลึก ไล่ระดับจากการเฝ้าสังเกตกระดาษปิดผนัง ประดังความรุนแรงเร่าร้อนขึ้นตามลำดับ ผู้ชมร่วมรู้สึกถึงสิ่งที่กำลังประดังถั่งโถมท่วมท้นจนเธอทุรนทุรายอยู่ภายใน
“เขาบอกว่ามันไม่มีสาเหตุอะไรที่ชัดเจนที่จะทำให้ฉันต้องทนทุกข์ทรมาน แค่นั้นแหละเขาก็พอใจแล้ว จอห์นไม่รู้หรอกว่าฉันต้องทนทุกข์ทรมานขนาดไหน ฉันไม่สามารถทำหน้าที่เป็นภรรยาที่ดีได้ ฉันอยากจะเป็นภรรยาที่ดีที่อยู่เคียงข้างสามี เป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่สุข หรือว่าเป็นที่พักใจอย่างที่ใคร ๆ เขาบอกกัน แต่นี่กลายมาเป็นภาระ เป็นภาระให้เขาต้องแบกไปตลอดชีวิต ฉันต้องรวบรวมกำลังเป็นอย่างมาก แม้จะทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ การแต่งตัว การออกไปพบปะกับผู้คน ตอนที่เขาบอกว่ามันไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าการที่คนไข้เป็นโรคประสาทอ่อน ๆ ไม่พยายามจะควบคุมจิตใจตัวเอง จอห์นชอบจะหัวเราะการตั้งข้อสังเกตของฉัน ไอ้วอลล์เปเปอร์สีเหลืองพวกนั้น ดูมันสิไอ้วอลล์เปเปอร์สีเหลืองพวกนี้ มันเป็นรอยคุดคู้หงิก ๆ งอ ๆ” (ลักษณะสำคัญของศิลปะและสถาปัตยกรรมกอธิค คือ มี ‘ผนัง’ ที่เปิดกว้างสูงเด่นเป็นพิเศษ และออกแบบให้เป็นลายเส้นซับซ้อน ฯลฯ)
เธอพูดพร้อมเดินวกวน เสียงดนตรีสาดใส่ถูกออกแบบให้เหมือนเสียงสัตว์คำรามเมื่อยามตกอยู่ในอันตราย ร่างกายเคลื่อนไหวเร็วขึ้นเหมือนขนนกปลิวไปในทิศทางของลายเส้นที่เป็นวงวนเหมือนคนไร้สติ แต่เปี่ยมไปด้วยสัมปชัญญะ ปลดพันธะออกจากร่างผ่านเดรสสีดำชั้นนอกที่บอกความทุกข์ท้นทนทรมาน มันถูกเปลื้องออกไปให้เหลือเพียงซับในสีขาว สะท้อนแสงสกาวเสมือนสภาพจิตประภัสสรก่อนถูกรอนริดจนชีวิตขาดชีวา แหงนหน้าพูดพร่ำเหมือนกำลังร่ำร้องขอต่อพระเจ้าเบื้องบน
“ร้องไห้ ร้องไห้อย่างเป็นวรรคเป็นเวร จะทำไมล่ะ ก็นี่มันห้องของฉัน ฉันจะทำอะไรก็ได้ วันวันฉันก็เอาแต่นอนแล้วก็จ้องมองดูวอลเปเปอร์สีเหลือง ทั้งวัน ทั้งคืน เหมือนคนที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ส่วนใหญ่แล้วฉันต้องอยู่คนเดียว … ฉันอยู่คนเดียว จอห์นออกไปในเมือง เขาบอกว่ามีคนไข้ ส่วนฉันอยู่กับวอลเปเปอร์สีเหลืองนั่น… มันเป็นรูปร่างฉันสังเกตได้ ลวดลายคดโค้งเลี้ยวไปเลี้ยวมา บางทีมันก็เลี้ยวไปข้างซ้าย บางทีมันก็เลี้ยวไปข้างขวา บางทีมันก็เลี้ยวลดไปข้างบน ไต่ลงมาข้างล่าง ดูที่พื้นสิ ที่พื้นมีรอยปุปะเต็มไปหมด แล้วดูเส้นสายลวดลายพวกนี้สิ มองให้ดีมันมีลูกกะตา มันมีลูกกะตาเบิกโพลงแล้วก็จ้องมองกลับมา ใช่ลูกตาพวกนี้กำลังจ้องมองฉัน จับตาดูฉัน!!! (เสียงดังลั่นด้วยสัญชาติญาณระวังภัย)
ฉันโกรธมากเพราะว่ามันจับจ้อง จ้องมองฉัน แล้วฉันต้องอยู่กับมัน ไม่รู้ฉันต้องอยู่กับมันอีกนานเทาไหร่ ไอ้เส้นลวดลายพวกนี้” เธอวาดเส้นสับสนลงบนพื้นห้อง
“ฉันเกลียดเตียงใหญ่ที่มันอยู่ตรงนั้นน่ะ เตียงใหญ่เก่า คร่ำคร่า น่าเกลียด น่ากลัว ไม่เคยเห็นเตียงที่ไหนอุบาตว์ขนาดนี้มาก่อน” วิ่งวนพร้อมส่งเสียงสำเนียงเพลงแต่โหยหวนเหมือนสัตว์บาดเจ็บ อ้อมด้านหลังผู้ชมไปรอบห้องก่อนปีนบันไดสูงที่ผนัง เหมือนนักโทษพยายามตะกายป่ายปีนออกจากกำแพงคุกสู่อิสรภาพภายนอก บอกสภาพจิตวิญญาณที่บาดเจ็บเพราะความปรารถนาดีของสามี ตัวแทนผู้ชายยุคเก่าเงาอำนาจ
“เหลือเวลาอีกแค่สองวันเท่านั้นที่เราต้องไปจากบ้านหลังนี้ ฉันเฝ้ามองทั้งวันทั้งคืน ฉันคิดว่าผู้หญิงคนนั้นออกจากห้องไปในเวลากลางวัน แล้วเธอก็เริ่มคลานออกไป คลานออกไป ออกไปตามทางเดิน คลานออกไป คลานออกไป ยังถนนข้างนอกนั่น แล้วก็คลานออกไป คลานออกไปสู่ท้องทุ่งโล่งข้างนอกนั่น ตอนกลางคืนในขณะที่จอห์นหลับ ฉันเบิกตาไว้จ้องมองดูผู้หญิงคนนั้นพยายามขยับ ขยับ ขยับ ฉันเห็นเธอแล้ว ฉันเห็นเธอขยับ หล่อนขยับ ฉันดึง หล่อนขยับ ฉันดึง ฉันดึง เขย่า ดึง ดึง วันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้ว วันสุดท้ายที่ฉันจะจัดการพวกมันให้ได้ในวันนี้… เธอขยับ ฉันดึง เธอขยับ ฉันดึง ยังไม่ทันฟ้าสางเลยเราก็ได้วอลเปเปอร์มากองสูงท่วมหัวเลย… มันหัวเราะ หัวเราะ แล้วฉันโกรธมาก ฉันโกรธมาก แล้วตะโกนบอกมันไปว่า ฉันจะจัดการพวกแกให้หมดภายในวันนี้ ว่าแล้วฉันก็ฉีกดึงใช้ปากกัด ๆ ๆ แล้วก็ฉีกดึงมันออกมา พวกผู้หญิงคลานกันอยู่ยั๊วเยี๊ยที่ข้างนอกนั่น บนสนามหญ้าสีเขียว ๆ ที่ข้างนอกนั่น ไม่ ๆ ๆ ไม่มีวันซะล่ะที่ฉันจะออกไปคลานบนอะไรที่มันเขียว ๆ ข้างนอกนั่น ฉันจะคลานอยู่ในห้องสีเหลืองที่มีพื้นราบเรียบแห่งนี้ แล้วฉันก็จะใช้หัวไหล่ข้างหนึ่งแนบไปกับผนัง แล้วก็คลานไปเรื่อย ๆ รอบ ๆ ห้อง… เสียงจอห์นทุบประตู เขาตะโกน เขาทุบประตู !เขาตะโกน เขาทุบประตู !! เขาตะโกน เขาทุบประตู !!! แล้วเข้ามา… ฉันคลานไปเรื่อย ๆ เมื่อบรรจบครบรอบ ก็จะปีนข้ามจอห์นแล้วคลานต่อไปอีกเรื่อย ๆ ๆ …”
ประหนึ่งสัตว์ที่บาดเจ็บหนักกำลังดิ้นรนหนีจากกับดักอย่างทุรนทุรายปางตาย พยายามตะกุยตะกายจากการถูกจองจำ ด้วยการกระทำกับกระดาษปิดผนังที่กักขังมันถูกฉีกขาดด้วยเรี่ยวแรงแห่งสิทธิมนุษยชน ที่คนมีอำนาจอาจมองไม่เห็น แต่ ‘ฉัน’ มองเห็น ‘ผู้หญิงสองคน’ บนลวดลาย ที่บ่งบอกการแบ่งฝ่ายของประชาชนสองฝั่งทั้งซ้ายขวา (อนุรักษ์และเสรีนิยมประชาธิปไตย) ที่เธอพยายามต่อสู้ฟันฝ่าดิ้นรนหาทางออกให้ได้รับการปลดปล่อยจากอำนาจเก่า ในขณะที่ความกลัวและความรู้สึก ‘เคยชิน’ ต่อการถูกครอบครองด้วยคำว่า ‘ครอบครัว’ ทำให้เธอมอบกายถวายตัวอยู่ใต้ ‘จักรวาลแห่งบ้านสีเหลืองต่อไป’ (ระบอบการปกครองและสังคมที่ชายเป็นใหญ่ในปถพี)
‘สัญศิลป์’ ในภาพยนตร์ทุนสร้างฝรั่งเศสเรื่อง “The Last Emperor” ออกฉายปี 1987 (23 ตุลาคม 2530) ได้รับรางวัลสูงสุดของออสการ์คือ Best Production เรื่องราวชีวประวัติของ Pu-Yi จักพรรดิ์องค์สุดท้ายของ สาธารณรัฐประชาชนจีน ภาพในซีนเปิดตัวมี Key Shot สื่อความหมายได้ลึกซึ้งถึงสถานะความเป็นยุวกษัตริย์ของ Pu-Yi ในวัยเด็กขณะวิ่งเล่นไล่ไขว่คว้า ‘ธงสีเหลือง’ ประจำราชวงศ์ที่กำลังปลิวไสวเล่นลมหน้าบัลลังก์ สีเหลืองในมิติสากลสายสังคมการเมืองจึงเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ ตัวแทนของอำนาจสูงสุดในการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช (Absolute Monachy) ที่กษัติย์มีอำนาจเด็ดขาดชาติเผด็จการแต่เพียงผู้เดียว
“ผู้หญิงในห้องสีเหลือง” ใช้ ‘สีเหลือง’ สื่อสภาวะทางอารมณ์ที่บอกความแห้งแล้งแห่งจิตวิญญาณ ไร้ความกล้าหาญในการประคองตนให้หลุดพ้นจากอำนาจที่คุ้นชิน ไม่กล้า ‘บินแหวกขนบ’ ด้วยตระหนักในหน้าที่ของภรรยาที่ดี คือผู้ที่ต้องอยู่ใต้บัญชาของสามี จึงจะเป็นกุลสตรีที่สมบูรณ์แบบของสังคม “พวกผู้หญิงคลานกันอยู่ยั๊วเยี๊ยที่ข้างนอกนั่น บนสนามหญ้าสีเขียว ๆ ที่ข้างนอกนั่น ไม่ ๆ ๆ ไม่มีวันซะล่ะที่ฉันจะออกไปคลานบนอะไรที่มันเขียว ๆ ข้างนอกนั่น ฉันจะคลานอยู่ในห้องสีเหลืองที่มีพื้นราบเรียบแห่งนี้ ผู้หญิงในมโนนึกของ ‘ฉัน’ จึงมีความ ‘แยกรูปแยกนาม’ เป็นทั้งผู้ถูกกระทำและผู้เฝ้ามอง ผ่านมุม‘ผู้เล่าเรื่อง’ (Narrator) ทั้ง 3 คน คือตัวแทนของประชากร 3 กลุ่ม ในกรณีที่เกี่ยวกับ ‘การเปลี่ยนแปลงการปกครอง’
1. หญิงผู้ไม่ยอมสยบอยู่ใต้ขนบและระบบเก่า เป็นอิสระจากการกดขี่ (ผู้หญิงนอกหน้าต่างคนนั้น และ พวกผู้หญิงบนสนามหญ้าสีเขียว) กลุ่มที่พ้นจากการกักขังเพราะพลังแห่งการต่อสู้
2. หญิงผู้หวาดกลัวการปล่อยตัวเองออกจากเตียงเก่าครึใหญ่โตโซ่ตรวนแห่งการกักกันสิทธิมนุษยชนตามระบอบการปกครองเก่า (ผู้หญิงในกระดาษปิดที่เป็นผนังตามมโนนึกของผู้เขียนบันทึก) ซึ่งยังอยู่ในวังวนของ ‘คนเคยชิน’
3. ‘ฉัน’ ผู้เฝ้ามอง ตัวตนแท้จริงของหญิงผู้เล่าเรื่อง มีจิตวิญญาณของ ‘อิสรชนคนเสรี’ ที่ถูกริดรอนสิทธิ์ กดตัวเองไว้ไม่กล้าหาญกับการแหวกขนบ (กลัวจอห์นเห็นตอนคลานสี่ขา มีอาการเหมือนสัตว์ที่ถูกผูกไว้กับเสาในสภาพหมดทางสู้) การเล่าสู่บุรุษที่สองจึงเป็นการระบายความเจ็บปวดเพื่อบำบัดจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีหาทางออกด้วยการบอกเล่าความเศร้าทรมาน
Sigmund Freud นักจิตวิทยาชาวออสเตรีย เจ้าของทฤษฎี “จิตวิเคราะห์” (ผู้มีชีวิตและสร้างผลงานคุณูปการช่วง 6 พฤษภาคม 1856 - 23 กันยายน 1939) ฟรอยด์มีแนวคิดที่เชื่อว่า “แรงจูงใจของมนุษย์เกิดจากจิตใต้สำนึก” อาการหลอนของตัวละครอาจมีที่มาตรงกับกรณีศึกษาของฟรอยด์เรื่อง “Studies On Hysteria” [4] เขาเคยกล่าวว่า “ความขัดแย้งทางจิตใจอาจกลายเป็นความพิการทางร่างกายได้” และเป็นผู้เสนอว่า “เนื่องจากประสบการณ์และความทรงจำเกี่ยวกับความเจ็บปวดทางจิตใจที่ผู้ป่วยไม่สามารถเผชิญหน้าได้ จะก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานทางจิตใจมากเกินไป และมันสามารถ “เปลี่ยน” เป็นอาการทางกายได้ และยังไม่มีทฤษฎีใหม่มาหักล้างได้อีกด้วย สิ่งที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่าก็คือ กรณีเช่นนี้มักเกิดขึ้นกับแพทย์ระบบประสาททั่วไป ปัจจุบันเรียกว่า "โรคความผิดปกติในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม" ที่เป็นผลมาจากการตอบสนองทางจิตวิทยาต่อความเจ็บปวดจึงนำมาสู่อาการผิดปกติทางพฤติกรรม (อาการคลานสี่ขาของ ‘ฉัน’ กับภาพหลอนบนผนัง และผู้หญิงคนนั้น)
ภาวะ (โรค) ซึมเศร้าเข้าสมัย
ปัจจุบันมนุษยชาติกำลังได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของโลกอันเป็นผลมาจากการบริโภคที่เกินพอดี มีแนวคิดควบคุมทรัพยากรและธรรมชาติจนขาดสมดุลย์ ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษมีผลต่อสิ่งมีชีวิตทุกประเภท , สังคมยุคใหม่ที่ทุนนิยมมีอำนาจเหนือจิตใจนำให้ตกเป็นทาสวัตถุ , วิถีใหม่ที่ส่งผลต่อ Life Style สลายความเป็นครอบครัวใหญ่ทำให้ผู้คนโดดเดี่ยว , เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจที่บีบคั้นให้ชีวิตตกอยู่ในภาวะจำยอม ย่อมส่งผลต่อระบบประสาท จิตใจ ฯลฯ จนส่งผลให้ประชากรในหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ generation Y กับ Z ซึ่งมีมีวิถีการใช้ชีวิตที่ไม่คิดวางแผนไกลในอนาคต สถิติไม่ลดแต่ไต่ระดับเพิ่มขึ้นทุกปี และมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงตามไปด้วย แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีรัฐสวัสดิการเจือจานให้พอสมควร โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (ซึ่งเป็นอาการปกติตามธรรมชาติและสามารถหายเองได้) มีอาการทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ยืนยันด้วยผลงานการวิจัยในปี 2023 โดยทุนสนับสนุนจากสวีเดน เป็นประเด็นที่น่าศึกษาเพื่อหาทางป้องกัน
จากผลงานการวิจัยเรื่อง “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและความเสี่ยงต่อพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย”[5] โดย ภาควิชาระบาดวิทยาทางการแพทย์และชีวสถิติ , สถาบัน Karolinska สตอกโฮล์ม สวีเดน และ สภาวิจัยด้านสุขภาพ ชีวิตการทำงาน และสวัสดิการ ประเทศสวีเดน รายงานจากการศึกษากลุ่มตัวอย่างผู้เข้าร่วม 952,061 ราย โดยมีการติดตามผลสูงสุดเป็นเวลานานถึง 18 ปี พบว่า มารดาที่ได้รับการวินิจฉัยทางคลินิกว่าเป็นโรคซึมเศร้าก่อนคลอดมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสูงกว่ามารดาที่ไม่มีโรคซึมเศร้าก่อนคลอดถึง 3 เท่า โดยความเสี่ยงที่เกินมาจะสูงเป็นพิเศษในช่วงปีแรกหลังจากการวินิจฉัย และยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องมาเป็นเวลา 18 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับมารดาที่ไม่มีโรคซึมเศร้าก่อนคลอด ฯลฯ
Charlotte Perkins Gilman ผู้ประพันธ์ “ผู้หญิงในห้องสีเหลือง” เคยตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) [6] ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพจิตจนทำให้ต้อง ‘ย้ายชีวิต’ มีสาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย เพราะการเปลี่ยนของระดับฮอร์โมนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อารมณ์ของแม่มีความเปลี่ยนแปลง การดูแลเด็กแรกเกิดอาจทำให้แม่รู้สึกว่าเหลือบ่ากว่าแรง ทุกสิ่งทุกอย่างช่างท่วมท้น รับมือไม่ไหว จึงอาจรู้สึกอารมณ์แปรปรวน เกิดความวิตกกังวล นอนไม่หลับ อาการเหล่านี้อาจเป็นอาการของ ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังคลอดตั้งแต่ 2-3 วันแรก และยาวไปจน 2 สัปดาห์ หากอาการไม่หายและรุนแรงมากขึ้น อาจมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดต่อเนื่อง หรือภาวะโรคจิตหลังคลอด ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาทที่รุนแรงแต่พบได้น้อย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
1. ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด
ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอดอาจมีอาการตั้งแต่ 2-3 วันแรกหลังคลอดบุตร จนถึง 1-2 สัปดาห์ และหายได้เองตามปกติธรรมชาติ มักมีอาการ
- วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน
- รู้สึกทุกอย่างท่วมท้น รำคาญใจ
- เศร้า ร้องไห้
- ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ
- ไม่หิวอาหาร ทานไม่ลง
2. ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด จะมีอาการรุนแรงและยาวนานกว่า ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด ซึ่งอาจยาวนานถึงหนึ่งปี อาการมักแสดงในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด อาการที่มักพบได้แก่
- อารมณ์แปรปรวนรุนแรง วิตกกังวลอย่างหนัก หรือมีภาวะตื่นตระหนก
- รู้สึกไร้ค่า คิดว่าตนเองเป็นแม่ที่ไม่ดีพอ
- เศร้า ร้องไห้บ่อย
- ไม่รู้สึกผูกพันกับบุตร
- รู้สึกสิ้นหวัง คิดเรื่องการทำร้ายตัวเองและบุตร ความตาย และการฆ่าตัวตาย
- ไม่อยากอาหาร หรือทานอาหารมากผิดปกติ
- นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
- อ่อนล้า หมดความสนใจหรือไม่มีความสุขกับเรื่องที่เคยชอบ
- แยกตัว ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวหรือเพื่อน
- สับสน ไม่มีสมาธิ
3. ภาวะโรคจิตหลังคลอด
ภาวะโรคจิตหลังคลอด พบได้น้อย เป็นอาการที่รุนแรง อาจเริ่มตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังคลอดควรได้รับการรักษาทันที หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ผู้ป่วยคิดหรือทำพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ อาการของภาวะโรคจิตหลังคลอด ได้แก่
- หมกหมุ่นเรื่องบุตร พยายามทำร้ายตัวเองหรือบุตร
- หวาดระแวง งุนงงสับสน ประสาทหลอน การนอนหลับผิดปกติ หลงผิด
- กระตือรือร้น มีพลังทำสิ่งต่าง ๆ มากผิดปกติ ภาวะกายใจไม่สงบ
‘HYSTERIA’ โรคเก่าที่ถูกวินิจฉัยใหม่
“ผู้หญิงในห้องสีเหลือง” (Woman and The Yellow Wallpaper) ตัวละครหลัก ‘ฉัน’ ได้รับการปกป้องจากความเสี่ยงต่อการเป็นโรค hysteria ซึ่งเป็นสภาวะตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกเพศ แต่ยังใหม่ต่อการวินิจฉัยของวงการแพทย์ในยุคนั้น และเข้าใจว่าอาจร้ายแรงเกินรักษา ประวัติความเป็นมาของโรค "ฮิสทีเรีย"[7] ที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การแพทย์กล่าวว่า เป็นอาการผิดปกติทางจิตใจในผู้หญิงตั้งแต่เมื่อ 1900 ปีก่อนคริสตศักราช เมื่อชาวอียิปต์โบราณได้บรรยายถึงอาการนี้เป็นครั้งแรกว่า ‘มดลูกเคลื่อนตัวเอง’ หรือเรียกอีกอย่างว่า “มดลูกเคลื่อนที่” เพื่อรักษา ชาวอียิปต์จะวางสารที่มีกลิ่นเหม็นหรือมีกลิ่นอื่น ๆ ไว้ใกล้ช่องคลอดหรือใบหน้าของผู้หญิง ขึ้นอยู่กับวิธีคิดที่มองว่ามดลูกเคลื่อนขึ้นหรือลง เซลซัส แพทย์ชาวกรีกแนะนำว่าทั้งความบริสุทธิ์และการงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ช่วยรักษาโรคฮิสทีเรียได้ เรารู้และเข้าใจกันอย่างผิดไปจากความจริงว่า เป็นโรคที่ผู้หญิงไม่สามารถควบคุมความต้องการทางเพศที่ผิดปกติได้ จึงควรได้รับการควบคุมพฤติกรรม
ในสมัยวิกตอเรีย "ฮิสทีเรีย" หมายความถึงกลุ่มอาการและสัญญาณต่าง ๆ เช่น ภาพหลอน ความกังวลใจ และอัมพาตบางส่วน ในอดีตเชื่อกันว่าเกิดขึ้นเฉพาะในผู้หญิงเท่านั้น แต่ปัจจุบันอาการเหล่านี้พบได้บ่อยจากภาวะทางจิตใจ เช่น ความผิดปกติในการแยกตัวตนที่เป็นอยู่จริงกับจิตสมมุติ (มโน) ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แล้ว‘ฮิสทีเรีย’ ยังเป็นภาษาแสลงสมัยใหม่ที่ใช้เรียกภาวะที่มีอารมณ์และพฤติกรรมมากเกินไป ซึ่งมักจะเป็นความสนุกสนานและการหัวเราะ (อย่างเมาmind)
สาเหตุของอาการฮิสทีเรีย
เมื่อเวลาผ่านไป ทฤษฎีเกี่ยวกับสาเหตุของอาการฮิสทีเรียได้เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าในตอนแรกจะมุ่งเน้นไปที่มดลูก แต่ปัจจุบันนักวิจัยทราบแล้วว่าสาเหตุของความผิดปกติทั้งทางจิตใจและทางกายมักเกิดจากทาง ‘จิตใจ’ เป็นหลัก
อาการผิดปกติทางกายอาจเกิดจากการถูกทารุณกรรมในวัยเด็ก หรือการละเลยของผู้ปกครองรวมถึงความวิตกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับกระบวนการทางร่างกายและความเจ็บป่วยร่วมกับระดับความเจ็บปวดที่ต่ำ
โรคฮิสทีเรียซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการติดเชื้อทางสังคม ทำให้เกิดอาการที่มักเกี่ยวข้องกับโรคฮิสทีเรียแพร่กระจายไปในหมู่ผู้คน ในปรากฏการณ์นี้ กลุ่มคนต่างๆ จะมีอาการที่อาจเกิดจากสาเหตุทางกายภาพหรือการติดเชื้อ แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการเหล่านี้เกิดจากอิทธิพลทางสังคมและจิตวิทยา
อาการและสัญญาณที่ถือเป็นลักษณะเฉพาะของโรคฮิสทีเรีย ได้แก่
* ความตาบอด (ปิดการรับรู้ใด ๆ ในชีวิต )
* การระเบิดอารมณ์
- พฤติกรรมแสดงออกเกินเหตุ (แสดงอารมณ์หรือตื่นเต้นมากเกินไป)
- เพิ่มความสามารถในการแนะนำ
- การสูญเสียความรู้สึก
อาการเพิ่มเติมที่มักเกี่ยวข้องกับภาวะฮิสทีเรียแตกต่างกันไป แต่รวมถึง
- รู้สึกเหมือนอยู่ในภวังค์
- ภาวะความจำเสื่อม
- ประสบกับอาการอัมพาต
- อาการหมดสติหรือหมดสติ (Syncope)
- รู้สึกปวดมากขึ้น
- กล้ามเนื้อเกร็งหรือกระตุก
ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง [8]
กระทรวงวัฒนธรรม โดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ยกย่องและประกาศเกียรติคุณให้ สินีนาฏ เกษประไพ เป็นศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ปี พ.ศ. 2551 ด้วยคุณสมบัติของนักการละครผู้มากประสบการณ์ ในแวดวงศิลปะการแสดงของประเทศไทย โดยผ่านการทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมาแล้วหลากหลายหน้าที่ สินีนาฏจบการศึกษาในระดับมัธยมปลายจาก โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเข้าเรียนต่อในระดับ ปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเอกภาษาอังกฤษ วิชาโทสื่อสารมวลชน จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะที่ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 สินีนาฏเริ่มต้นเรียนการละครทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในวิชาเลือก Introduction to Drama ในปีสุดท้ายเธอจึงเลือกทำละครเป็นงานจบ ซึ่งถือเป็นเรื่องแรกที่สินินาฏรับหน้าที่เป็นผู้กำกับเมื่อรู้ว่าตัวเองรักและชอบการละคร
ภายหลังจากจบการศึกษา สินีนาฏจึงตัดสินใจเดินต่อในเส้นทางนี้ ในช่วงประมาณปี 2537 สินีนาฏได้เข้าฝึกงานกับ ‘คณะละครเวที 28’ โดยรับหน้าที่เป็นผู้กำกับเวที ปีต่อมาเธอมีโอกาสเข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม ‘พระจันทร์เสี้ยวการละคร’ คณะละครไทยร่วมสมัยสะท้อนสังคมของ ครูคำรณ คุณะดิลก สินีนาฏถือว่าเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมากในคณะนี้ เพราะเธอได้อุทิศเวลาและชีวิตส่วนตัวเกือบทั้งหมดให้กับงานละครและคณะพระจันทร์เสี้ยวฯ หน้าที่หลักที่สินีนาฏรับผิดชอบคือการเป็นผู้ประสานงาน ผู้กำกับ และยังคงทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีผลสำคัญต่อการหล่อหลอมในเธอเป็นศิลปินนักวิชาการและนักบริหารในเวลาเดียวกัน
สินีนาฏได้สวมบทบาทเป็นนักแสดงเรื่องแรกกับ พระจันทร์เสี้ยวการละคร เรื่อง “Oedipus The King” หรือ “กูชื่อพญาพาน” โดยใช้เวลาการฝึกซ้อมนานถึงหกเดือน ละครเรื่องนี้ถือว่าเข้ามาเปลี่ยนระบบความคิดของสินีนาฏ จากคนที่คิดว่าตัวเองไม่สามารถเป็นนักแสดงได้ ให้หันกลับมาเรียนรู้และเกิดความสนุกในการสวมบทบาทเป็นตัวละคร และในส่วนสมาชิกคนอื่น ๆ ของ คณะพระจันทร์เสี้ยวการละคร นอกจากจะทำหน้าที่เป็นนักแสดง พวกเขายังมีการสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนหน้าที่ในการทำงานเบื้องหลัง อันเป็นระบบที่กลุ่มคณะละครนี้ยึดถือมาโดยตลอด และนอกจากการทำงานในคณะพระจันทร์เสี้ยวการละคร สินีนาฏยังทำหน้าที่เป็น ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม สถาบันปรีดี พนมยงค์ อีกด้วย
นอกจากนี้เธอยังร่วมก่อตั้งกลุ่มละคร B-floor และก่อตั้ง “โครงการคณะละครยายหุ่น” (ครูองุ่น-มาลิก) ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่าง พระจันทร์เสี้ยวการละคร กับ มูลนิธิไชยวนา อีกทั้งยังเป็นผู้อำนวยการละครโรงเล็ก Crescent Moon Space หรือ โรงละครพระจันทร์เสี้ยว ซึ่งเปิดเป็นพื้นที่ในการสร้างสรรค์และแสดงผลงานละครเวทีร่วมสมัย สำหรับการพบปะแลกเปลี่ยนทางความคิดระหว่างผู้ชมและผู้รักงานศิลปะการละคร
สินีนาฏ มีผลงานการแสดงและกำกับการแสดงที่สร้างชื่อเสียงไว้หลากแนวหลายเรื่องอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) รวบรวมข้อมูลมาเป็นตัวอย่างไว้พอสังเขป ดังต่อไปนี้
- ผลงานการแสดง BUTOH DANCE ชุด ‘บิโย’ (2542) กำกับการแสดงโดย คัทสึระ คัง จัดแสดงที่ ภัทราวดีเธียเตอร์
- งานแสดงเรื่อง ‘ราโชมอน : คอนโดมิเนียม’ (2545) ละครของ Interplay Ex-studio กำกับการแสดงโดยดำเกิง ฐิตะปิยศักดิ์ ที่ หอศิลป์ตาดู
- ผลงานการแสดงกลางแจ้งชุด ‘นาฏกรรม คำกวี : ลมใต้ปีกนกสีเหลือง’ (2549) ที่กำแพงประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผลงานละครเรื่อง ‘ไฟล้างบาป’ (2550) ที่ได้สัญจรไปแสดงตามมหาวิทยาลัย 10 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นต้น
ผลงานด้านกำกับการแสดง ได้แก่
- ละครเรื่อง ‘ฝัน (ร้าย) กลางคืนฤดูร้อน’ และ ‘นัดบอด’ โดยได้เข้าร่วมในเทศกาลละครกรุงเทพฯ ปี 2546
- ‘ละครหุ่นเสรีไทยเพื่อนสันติภาพ’ (ปี 2546) แสดงที่อนุสรณ์สถานเสรีไทย และได้เดินสายไปจัดแสดงใน 10 โรงเรียนของเขตบึงกุ่ม
- ผลงานชุด ‘The EDGE : The Lost Girl’ จัดแสดงใน “เทศกาล M1 Singapore Fringe Festival 2006” ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี 2549
- และงาน “B floor B Fest” ที่สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ เมื่อปี 2547
- ละครเวทีเรื่อง "ผีแมวดำ" จากพระจันทร์เสี้ยวการละคร จัดแสดงในเทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ เมื่อ 5-6 ต.ค. 2556
- “คือผู้อภิวัฒน์” ละครเวทีชีวประวัติรัฐบุรุษ ปรีดี พนมยงค์ (วาระที่ 7) ประพันธ์บทละคร โดย คำรณ คุณะดิลก และ พระจันทร์เสี้ยวการละคร จัดโดย คณะศิลปกรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จัดแสดงที่ โรงละคอนแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat Playhouse) ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ถึง 8 พฤศจิกายน 2563 เพื่อเฉลิมฉลองวาระ 120 ปีชาตกาล “อาจารย์ปรีดี พนมยงค์”
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
รูปแบบของละครที่สินีนาฏรับหน้าที่เป็นผู้กำกับ ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับผู้หญิงในสถานะต่าง ๆ ทั้งนี้เกี่ยวเนื่องจากการที่เธอเป็นผู้หญิงซึ่งทำให้สินีนาฏสามารถเข้าใจตัวละครผู้หญิงในบทละครต่าง ๆ ที่เคยอ่าน ประกอบกับผ่านการเรียนวรรณคดีอังกฤษ ซึ่งมีประเด็นหลักที่พูดถึงผู้หญิงมาโดยตลอด ทำให้สินีนาฏยิ่งสนใจทำละครเกี่ยวกับผู้หญิง ที่ไม่ได้ผูกติดเฉพาะกับตัวเอง หากแต่เป็นเรื่องของผู้หญิงที่เกี่ยวพันกับโลกและสังคมที่ค่อนข้างหลากหลาย เช่น ความเป็นผู้หญิงกับการเมือง หรืองานละครที่เสียดสีสังคม เป็นต้น
สินีนาฏคิดว่าการทำละคร ทำให้ตัวเธอเองได้เรียนรู้ตัวละครในแง่มุมต่าง ๆ นัยหนึ่งอาจทำให้เธอมองข้ามตัวเองไปเรียนรู้ผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่มีชีวิตแตกต่างไปตามสังคมที่อาศัย นอกจากการทำละครจะทำให้สินีนาฏเข้าใจโลกและชีวิตของตัวเองมากขึ้นแล้ว สินีนาฏยังตั้งปณิธานว่าการแสดงของเธอจะช่วยเป็นกระบอกเสียงหนึ่ง ให้คนในสังคมหันกลับมาสนใจประเด็นเหล่านี้ให้มากขึ้นอีกด้วย
ผลงานละครชุดที่สินีนาฏกำกับและจัดแสดงเมื่อปี 2556 คือ ละครเรื่องสั้นศรีดาวเรือง เรื่อง “ภาพลวงตาจากเนินมะเฟือง” เป็นละครจากเรื่องสั้นสองเรื่องประกบกัน สินีนาฏจัดแสดงขึ้นเพื่อเป็นของขวัญให้แก่นักเขียนนามปากกา “ศรีดาวเรือง” ซึ่งมีอายุครบ 6 รอบ เมื่อปี 2555 นักเขียนท่านนี้ถือเป็นนักเขียนในดวงใจของสินีนาฏ เพราะเรื่องสั้นที่ศรีดาวเรืองเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 2518 ถึงปัจจุบัน มีเรื่องสั้นกว่าหนึ่งร้อยเรื่องที่มีเนื้อหาสะท้อนภาพสังคมและสถานะของผู้หญิงในแถบชนบทได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นการที่สินีนาฏนำเรื่องสั้นมาทำเป็นละคร จึงถือเป็นการต่อยอดเรื่องราวให้มีการขยายพื้นที่ออกไปในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะละครเรื่อง “ภาพลวงตาจากเนินมะเฟือง” ถือเป็นงานละครอีกชิ้นหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นบทบาทของผู้หญิงในยุคอดีต ที่ดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งแม้ว่าจะแตกต่างไปจากสังคมปัจจุบัน ที่ความเท่าเทียมของเพศชายและหญิงมีมากขึ้น แต่ละครเรื่องนี้กลับตั้งคำถามมายังผู้ชมและสังคม ถึงปัญหาการค้าแรงงานผู้หญิงและเด็กที่ในปัจจุบันกลับมีเพิ่มมากขึ้น
ด้วยความผูกพันและศรัทธาในวิธีคิดของ ครูคำรณ คุณะดิลก หนึ่งในกำลังสำคัญของคณะก่อตั้งกลุ่ม ‘พระจันทร์เสี้ยวการละคร’ ทำให้สินีนาฏไม่เคยคิดที่จะเคลื่อนย้ายตัวเองออกไปจากคณะพระจันทร์เสี้ยวการละคร ปัจจุบันยังคงใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอยู่กับการเรียนรู้และถ่ายทอดศิลปะการแสดงตามแนวทางที่สร้างสรรค์ไว้ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้แสดงเพื่อสามารถเชื่อมโยงศิลปะกับธรรมชาติได้เป็นหนึ่งเดียว สินีนาฏวางแผนชีวิตของตัวเองไว้ว่าจะทำงานศิลปะการแสดงไปจนกว่าจะหมดแรง ด้วยมุ่งหวังว่าศิลปะแขนงนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคมไปสู่ทิศทางที่ดี และมีคนรุ่นใหม่ที่รักในงานการละครมาต่อยอด ให้วงการศิลปะการแสดงของประเทศไทยเดินหน้าต่อได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยมีรัฐบาลเป็นกำลังสำคัญช่วยผลักดัน ส่งเสริม สนับสนุน การทำงานให้ทัดเทียมนานาอารยะประเทศต่อไป.
Body Movement and Body Expression
Workshop by Sineenadh Keitprapai
สินีนาฏ เกษประไพ ครูนาฏ ผู้นำกระบวนการ workshop เป็นนักทำละครเวที นักแสดง และผู้กำกับการแสดง ที่มีผลงานละครและการแสดงอย่างต่อเนื่อง สนใจสร้างสรรค์การแสดงที่สะท้อนและเชื่อมโยงผู้คน โดยเฉพาะเรื่องราวของสิทธิสตรีกับความเป็นธรรมในสังคม โดยใช้วิธีการนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลายทั้งละครที่มีบทและไม่มีบทพูด การแสดงร่วมสมัยที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่มีลักษณ์เด่นในการใช้การเคลื่อนไหวร่างกาย (movement-based performance) ร่วมกับการใช้องค์ประกอบศิลป์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และมีความสนใจสร้างสรรค์การแสดง บูโตะร่วมสมัย (BUTOH หรือ ระบำแห่งความมืด Dance of Darkness ที่เป็นการแสดงแนว avant-garde มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น) ปัจจุบันเป็น Artistic Director ของ พระจันทร์เสี้ยวการละคร และเป็นอาจารย์พิเศษสอนศิลปะละครและการแสดงในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ปัจจุบันมีความสนใจขยายขอบเขตของการแสดงสู่การปฏิบัติเคลื่อนไหวเชื่อมโยงกับธรรมชาติ (moving with nature , eco performance) และฝึกฝน spiritual practice อย่างจริงจังสม่ำเสมอ
ครูนาฏ มีผลงานการแสดงที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ด้าน Body Movement and Body Expression จัดให้ความรู้กับผู้ที่สนใจทั่วไปและนักแสดงได้เปิดประตูทำความรู้จักกับร่างกาย และทดลองค้นหาการเคลื่อนไหวของกายและจิตใจ ด้วยการฝึกรู้จักตระหนักรู้ (body awareness) , ร่างกายกับพื้นที่ ร่างกายกับเวลา และ การฝึกใช้ พลังงานและการเคลื่อนไหว (dynamic) โดยการค้นหาทดลอง explore and experience ด้วย creative process เหมาะสำหรับนักแสดงที่ต้องการทำความรู้จักกายใจ ค้นหาพลังการเคลื่อนไหวเพื่อการแสดงออก พัฒนาศักยภาพในการใช้ร่างกายสื่อสาร และมองหากระบวนการเพื่อการฝึกฝน
อีกทั้งยังเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นนักแสดง ที่มีความสนใจอยากลองขยับเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อการรู้จักตนเองก็สามารถเข้าร่วม workshop นี้ได้โดย
ไม่จำเป็นต้องมีทักษะการแสดงหรือการเคลื่อนไหวร่างกายมาก่อน ก็สามารถสุขสร้างสรรค์ไปกับการได้ทำความรู้จักร่างกาย ค้นหาการเคลื่อนไหวแบบ creative movement และการฝึก expressive body สนุกกับการได้ celebrate body และได้เคลื่อนไหวไปกับความหลากหลายร่วมกับคนอื่นๆ
นำกระบวนการโดย : สินีนาฏ เกษประไพ
วันเสาร์-อาทิตย์ 1-2 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 13.00-17.00 น.
ที่ PoA White Box , Yellow Lane (ซ.อารีย์)
ลงทะเบียน 3,000 บาท
สอบถามเพิ่มเติมหรือจอง ที่ facebook inbox : Crescent Moon Theatre
[1] "ผู้หญิงในห้องสีเหลือง" , bookvirus , สืบค้น 25 ธันวาคม 2567 , https://www.facebook.com/photo/?fbid=1081561260637059&set=a.504938921632632
[2] Charlotte Perkins Gilman , awpc.cattcenter.iastate.edu , สืบค้น 25 ธันวาคม 2567 https://awpc.cattcenter.iastate.edu/directory/charlotte-perkins-gilman/
[3] Tom Head , Feminism in the United States , สืบค้น 5 ธันวาคม 2567 https://www.thoughtco.com/feminism-in-the-united-states-721310
[4] Why Freud was right about hysteria , theconversation.com , สืบค้น 10 ธันวาคม 2567 https://theconversation.com/why-freud-was-right-about-hysteria-86497
[5] ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและความเสี่ยงต่อพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย : สภาวิจัยฯ สวีเดน , jamanetwork.com สืบค้น 25 พฤศจิกายน 2567 https://jamanetwork.com/journals/jamanetworkopen/fullarticle/2813745
[6] ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) , medparkhospital.com , สืบค้น 25 ธันวาคม 2567 https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/postpartum-depression
[7] Kendra Cherry, MSEd , อาการฮิสทีเรีย: อารมณ์เกินเหตุหรือภาวะทางจิตใจ?, verywellmind.com , สืบค้น 25 พฤศจิกายน 256 https://www.verywellmind.com/what-is-hysteria-2795232
[8] สินีนาฏ เกษประไพ ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง พ.ศ. 2551 , สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย , สืบค้น 20 พฤศจิกายน 2567 https://www.rcac84.com/artist/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%8F-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%9E/