ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ครูองุ่น มาลิก : การต่อสู้ประกอบด้วยสัจจะ

5
เมษายน
2568

Focus

  • บทความนำเสนอ เรื่องราวเสี้ยวหนึ่งของชีวิตของครูองุ่น มาลิก สตรีผู้ที่ชีวิตเต็มด้วยความกล้าหาญและเปี่ยมล้นด้วยอุดมการณ์ จากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยความเข้าใจผิดจากแนวคิดทางการเมืองที่สวนทางกับผู้มีอำนาจจึงทำให้ครูองุ่นถูกจับและกักขังเกือบหกสิบวัน ในฐานะที่เป็น “ภัยต่อสังคม”

 

 

 

ผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่ดิฉันคิดว่าควรได้รับความสนใจเพิ่มในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคืออาจารย์องุ่น มาลิก

อาจารย์องุ่น เกิดปี  ๒๔๖๐  และเสียชีวิตตอนปี  ๒๕๓๓  อาจารย์ทำงานเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมตลอดชีวิต และได้มีส่วนร่วมก่อตั้งสถาบันปรีดี พนมยงค์

แม้ว่าเกิดห่างจากท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เพียงห้าปี (เกิดปี  ๒๔๕๕)  อาจารย์องุ่นไม่ได้ร่วมในการเคลื่อนไหวสันติภาพไม่ได้ถูกจับในข้อหาเดียวกับท่านผู้หญิงพูนศุข ตอนนั้นอาจารย์องุ่นสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนสุกิจวิทยาที่กรุงเทพฯ แต่อีกยี่สิบกว่าปีหลังจากการจับกุมของผู้ที่ร่วมในการเรียกร้องสันติภาพเพื่อปกป้องชีวิตของประชาชนโลกและตั้งข้อหาว่าเป็นกบฏ อาจารย์องุ่นก็ตกใจในสภาวะที่ไม่ต่างกันมากจากสภาวะของท่านผู้หญิงพูนศุขในช่วงนั้น

หลังการสังหารหมู่และรัฐประหาร ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  อาจารย์องุ่นถูกจับและกักขังเกือบหกสิบวัน โดยไม่ได้ถูกตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการ แต่ถูกสงสัยว่าเป็นผู้ที่รัฐตอนนั้นเรียกว่าเป็น “ภัยต่อสังคม” ตามคำสั่งที่  ๒๒  ที่ออกมาเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๑๙  โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งระบุผู้ที่เป็นภัยต่อสังคมเก้าประเภท ที่จะต้องถูกกักขังโดยมิชอบและถูกบังคับฝึกอบรมโดยไม่มีกำหนดสิ้นสุดตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ผู้ที่เป็น “ภัยต่อสังคม” ได้ “กลับเป็นพลเมืองดี” และยอมรับ “การปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ว่าเป็นรูปแบบการปกครองหนึ่งเดียวที่เหมาะสม ผู้ถูกกักขังจะได้รับการปล่อยตัวหากพบว่าเป็นผู้หญิงที่ถูกหลอกให้มีพฤติกรรมเป็นภัยต่อสังคมหรือได้แสดงว่าเลิกพฤติกรรมอย่างอันตรายนั้นแล้ว[1]

 


การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา 14 ตุลาคม 2516
ที่มา: ประมวลเหตุการณ์ต่างจังหวัดทั่วประเทศ หนังสือ 14 ตุลาคม “วันมหาปิติ” (วารสาร อ.ม.ธ. 14 ตุลาคม “วันมหาปิติ”)

 

คนจำนวนที่ไม่มีใครทราบแน่นอนถูกกักขังและฝึกอบรม ภายใต้อำนาจแห่งคำสั่งที่ ๒๒ ประกอบด้วย นักศึกษาและประชาชนที่เอียงซ้าย ครูซึ่งใกล้ชิดกับชาวบ้านที่วิจารณ์การเอาเปรียบหรือการขูดรีดโดยข้าราชการหรือผู้มีอำนาจอื่น ๆ ชาวนาที่เรียกร้องความยุติธรรม ฯลฯ ในสมัยประชาธิปไตยระหว่าง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ จนถึง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่อาชญากรรม แต่เป็นการเคลื่อนไหวและการกระทำของผู้มีกำลังสร้างสังคมใหม่ แต่ในสมัยรัฐเผด็จการหลังการสังหารหมู่และรัฐประหาร ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ความคิดเห็นที่ต่างกัน การมีสำนึกในความไม่เป็นธรรม และการเรียกร้องความยุติธรรม กลายเป็นสิ่งที่เป็น “ภัยต่อสังคม” และอันตรายในสายตาของรัฐ

แล้วทำไมอาจารย์องุ่นจึงถูกกักขังในฐานะที่เป็น “ภัยต่อสังคม”

ดิฉันอยากเสนอว่า สาเหตุที่ทำให้อาจารย์องุ่นถูกกักขังในฐานะที่เป็นภัยต่อสังคมเป็นสาเหตุเดียวกับที่คงทำให้อาจารย์องุ่นไม่ได้ถูกเขียนในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่จริง ๆ แล้วในสายตาของดิฉันเป็นสาเหตุที่ผลักให้เรายิ่งควรสนใจศึกษาชีวิตของอาจารย์องุ่น สาเหตุคืออาจารย์องุ่น มาลิก เป็นผู้หญิงที่ฝ่าฝืนประเภทต่าง ๆ อย่างเช่น

 

 

ประการแรก อาจารย์องุ่นซึ่งเป็นคนหัวก้าวหน้าแต่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ตอนดิฉันเพิ่งเริ่มศึกษาชีวิตของอาจารย์องุ่นเมื่อสิบกว่าปีก่อนดิฉันคิดว่าอาจารย์คงทำงานให้พรรคคอมมิวนิสต์แบบใต้ดินในเมือง ดิฉันถามเพื่อน ๆ และลูกศิษย์ของอาจารย์ทุกคนปฏิเสธอย่างเด็ดขาด ชาตรี หุตานุวัตร อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และลูกศิษย์ของอาจารย์องุ่น เขียนไว้ว่า

“จากลักษณะภายนอกที่ปรากฏ อาจทำให้บางคนมีทัศนะว่าท่านอาจารย์เป็นคนหัวรุนแรงเอียงซ้ายหรือเป็นคอมมิวนิสต์ แต่โดยแท้จริงแล้วท่านอาจารย์ไม่ได้เป็นมาร์กซิสต์หรือคอมมิวนิสต์ ท่านอาจารย์เป็นนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและเป็นพุทธศาสนิกชนผู้เคร่งครัดสมถะและนิยมในการเจริญสมาธิภาวนา โดยเฉพาะคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุแห่งวัดสวนโมกขพลาราม ได้รับความนิยมเชื่อถือจากท่านอาจารย์เป็นพิเศษ เป็นที่แน่นอนว่าท่านอาจารย์กับพวกเราเคยได้ศึกษาค้นคว้าถกเถียงกันหัวข้อลัทธิต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของใครตลอดจนแก่นแท้ด้านแนวคิดปรัชญาด้วยแต่นั่นก็เป็นแต่เพียงการศึกษา และแสวงหาออกไปกับปัญหาต่าง ๆ เท่านั้น มิใช่ปักใจเชื่อในลัทธิใดลัทธิหนึ่ง”[2]

และประการที่สองอาจารย์องุ่นคัดค้านระบบชนชั้นและการมองความเป็นผู้หญิงแบบทัศนะอันคับแคบของความเป็นผู้หญิง แต่อาจารย์ก็นับถือศาสนาพุทธอย่างลึกซึ้ง อันนี้เป็นตัวอย่างแค่สองประการของการฝ่าฝืนการแบ่งผู้คนเป็นกลุ่ม ๆ ตามความแตกต่างทางการปฏิบัติชีวิต การมองสังคมและโลก และการเปลี่ยนแปลงชีวิต สังคมและโลก ของอาจารย์องุ่น

การฝ่าฝืนแบบนี้คงทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ค่อยสบายใจ เพราะในช่วงเวลาที่รัฐไทยได้มองประชาชนผ่านเลนส์ความแตกต่างแบบเป็นสองขั้วอย่างดีหรือไม่ดี คอมมิวนิสต์หรือไม่คอมมิวนิสต์ ยอมทำตามรัฐหรือไม่ยอมทำตามรัฐ และฝ่ายเราหรือฝ่ายต่อต้านเรา การฝ่าฝืนคงเป็นภัยในสายตารัฐ

บทเรียนอันหนึ่งของชีวิตของอาจารย์องุ่น คงเป็นว่าสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายในสมัยประชาธิปไตยได้กลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายภายใต้เผด็จการ ความหมายของความคิดและการกระกระทำเป็นสิ่งที่เปลี่ยนได้แล้วแต่สถานการณ์ทางการเมืองและสังคม แต่ที่ดิฉันอยากเน้นมากกว่านี้ คือ โดยมุมมองนักเรียนประวัติศาสตร์ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการฝ่าฝืนต่าง ๆ ของอาจารย์องุ่น คือความกล้าหาญ บทเรียนที่ชีวิตของอาจารย์องุ่นสอนพวกเราที่สนใจประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคือ ความกล้าหาญเป็นสิ่งที่มีหลายรูปแบบ การเดินขบวนเป็นการแสดงออกชนิดหนึ่งที่เราเข้าใจอย่างชัดเจนและง่าย ๆ การลงมือทำงานเพื่อสังคมตอนที่คนอื่นนั่งนิ่งเฉยเป็นการแสดงออกชนิดหนึ่ง ความกล้าหาญทั้งสองชนิดนี้ (และอีกหลาย ๆ ชนิดด้วยซ้ำ) เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างประชาธิปไตยและความยุติธรรม ช่วงเก้าปีก่อนวันที่อาจารย์องุ่นถูกกักขังในฐานะที่เป็นภัยต่อสังคม แสดงถึงความกล้าหาญของผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่ค่อยทำตามจารีตหรือสัญนิยมที่ไม่มีประโยชน์ต่อประชาชน

 


อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์
ที่มา: คิดถึงอาจารย์นิธิ

 

ในปี ๒๕๑๑ อาจารย์องุ่นขึ้นไปสอนจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนนั้นอาจารย์องุ่นอายุ ๕๑ ปีแล้ว และมหาวิทยาลัยเพิ่งเปิดใหม่มาได้เพียงสี่ปี ช่วงแรก ๆ ตอนพึ่งมาอยู่เชียงใหม่ อาจารย์องุ่น สังเกตนิสัยเห็นแก่ตัวของนักศึกษา ต่อมาในปี ๒๕๑๒ และ ๒๕๑๓  ก็ร่วมกับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ จัดตั้งนักศึกษาไปซ่อมแซมวัดฝายหิน ที่อยู่ติดมหาวิทยาลัยด้านทิศตะวันตก อาจารย์นิธิเล่าว่างานเริ่มต้นตอนที่อาจารย์องุ่นได้เงินจำนวนหนึ่งมา แล้วตกลงจะใช้ซื้อระฆังให้วัด ในความคิดของอาจารย์นิธิ นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับอาจารย์องุ่น ที่มักเลือกใช้เงินทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อรับใช้ประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อเอามาซื้อสิ่งของตามความต้องการส่วนตัว[3]

 


วัดฝายหิน ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ที่มา: วัดฝายหิน หมู่บ้านฝายหิน หมู่ 1 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

 

โครงการที่วัดฝายหินของอาจารย์องุ่น เป็นจุดเริ่มขยายการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและความสนใจของอาจารย์องุ่นต่อกิจกรรมนักศึกษาด้วย นอกจากนี้  ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖  อาจารย์องุ่นได้ลงมือร่วมทำวารสารสิ่งพิมพ์และกลุ่มละครของนักศึกษา และเป็นสมาชิกสภาอาจารย์ด้วย ลูกศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์องุ่นเล่าให้ฟังว่าแม้ตั้งแต่ก่อน  ๑๔ ตุลาฯ ชีวิตของอาจารย์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงแล้วช่วงปิดเทอม มีนาคมถึงมิถุนายนปีนั้นอาจารย์ไม่แน่ใจว่าจะไปพักทำสมาธิที่วัดสวนโมกข์ฯ เหมือนเดิม หรือว่าจะอยู่เชียงใหม่ร่วมจัดตั้งกับนักศึกษาและชาวนาชาวไร่ ในที่สุดอาจารย์แงุ่นก็ตัดสินใจอยู่เชียงใหม่ช่วงนั้น[4] หลังจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖  อาจารย์องุ่นเข้าร่วมในงานกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองที่ต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบทำอย่างเต็มที่ ช่วงนี้อาจารย์ใช้หมวกชาวนาที่มักใส่เป็นป้ายรณรงค์เขียนข้อความอย่าง “กองทัพอเมริกาออกไป” และ “ความยุติธรรมเพื่อชาวนา”[5]

 

 

ตอนที่เกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  ลูกศิษย์และเพื่อนหลายคนของอาจารย์องุ่นตกลงเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่อาจารย์องุ่นไม่เคยคิดที่จะหนีจากเมือง เพราะรู้สึกว่าการร่วมงานกับนักศึกษาและชาวนาชาวไร่เป็นงานที่ชอบธรรม[6] แต่รัฐไทยกับคิดต่างไป ในต้นเดือนพฤศจิกายน ตอนนั้นอายุ ๕๙ ปี อาจารย์องุ่นถูก “กวาด” แล้วกักขังกับอีก ๔๐ คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ภัยต่อสังคม” ทางการเมือง ในศูนย์ที่เชียงใหม่[7]

ตอนที่อาจารย์องุ่นถูกกักขังที่ศูนย์การุณยเทพ เจ้าหน้าที่บังคับให้เขียนรายงานพฤติกรรมตนเอง เป็นแบบการวิจารณ์ตนเองของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ในแง่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ อาจารย์องุ่นเขียนเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๙  ตั้งชื่อเรื่องว่า “รายงานพฤติกรรมของนางองุ่น มาลิก ที่สัมพันธ์กับนักศึกษา”[8]

อาจารย์องุ่นเริ่มด้วยการกล่าวว่า “เพื่อให้มองเห็นภาพชัดเจนว่าสิ่งใดนำให้พฤติกรรมของข้าพเจ้าดำเนินมาจนเข้ามาถึงศูนย์การุณยเทพ ก็จำเป็นต้องเล่าเรื่องเก่า ๆ สืบมา”[9] จากนั้นอาจารย์เล่าถึงประสบการณ์ศึกษาและงานสอน การแยกกันกับสามีในปี ๒๔๙๙  ตั้งแต่นั้นอาจารย์องุ่นก็ใช้ชีวิต “อยู่กับนักเรียน การกีฬาโรงเรียน การทำสวนดอกไม้ การพัฒนาตนเอง พัฒนาสถานที่ทำงาน และแสวงหาความรู้”[10]

อาจารย์องุ่นเล่าถึงการทำงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยบอกว่าตอนที่เพิ่งไปถึง “ข้าพเจ้าก็พบว่านักศึกษาส่วนใหญ่มัวเมาอยู่กับการสนุก เที่ยวกลางคืน เต้นรำ เล่นรัก การพนัน ทั้งหญิงชาย นับเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายและไม่สร้างสรรค์ อาจเป็นเพราะเขาขาดความรู้ว่าชีวิตที่ดีกว่านั้นยังมีชีวิตประเสริฐที่ยังประโยชน์ต่อตนเองและต่อสังคม”[11] อาจารย์พยายามให้นักศึกษามีโอกาสทำงานเพื่อสังคมอย่างโครงการปรับปรุงวัดฝายหิน นักศึกษาที่เข้าร่วมไม่มีใครเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เลย “จึงสันนิษฐานว่าเกิดจากดวงใจที่จะทำงานเพื่อสาธารณะประโยชน์ของเขา”[12]

อาจารย์องุ่นและผู้อื่นที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อสังคม (ทางการเมือง) ที่ถูกกักขังที่ศูนย์การุณยเทพ ถูกปล่อยตัวอย่างเอิกเกริกในวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๙[13]

ตอนที่ดิฉันได้ทบทวนชีวิตของอาจารย์องุ่นในเส้นทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แน่นอนว่านึกถึงการเสียอิสรภาพของอาจารย์องุ่นในช่วงการกักขังนั้น แต่ความหมายและบทเรียนของการกักขังนั้นของอาจารย์องุ่นมีมากกว่าการเสียอิสรภาพ ในประโยคสุดท้ายของรายงานพฤติกรรม อาจารย์องุ่นเขียนว่า “การทำงานเพื่อช่วยบุคคลที่ตกทุกข์และมีปัญหา เป็นปัจจัยชีวิตของข้าพเจ้า”[14]

อาจารย์องุ่นไม่ได้เลือกสารภาพว่าถูกหลอก หรือเขียนว่ากลับใจจะทำตามที่รัฐสั่งในอนาคตซึ่งคงจะช่วยให้ได้ออกจากศูนย์เร็วขึ้น แต่อาจารย์องุ่น เลือกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ผลักให้เข้าขบวนการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม อาจารย์แสดงอย่างชัดว่าไม่ถูกหลอก ไม่ได้ตกเป็นเครื่องมือของผู้อื่น ยิ่งไปกว่านั้นด้วยการเล่าถึงการทำงานด้วยความจริงใจเพื่อให้สังคมดีขึ้นและให้นักศึกษาทำงานเพื่อสังคมไม่ใช่ใช้ชีวิตแค่เพื่อตนเองเราคงได้เข้าใจได้ว่าอาจารย์องุ่นยังวิจารณ์พฤติกรรมของกระแสหลักของสังคมไทยแม้ว่าตนเองถูกกักขังอยู่

 

หมายเหตุ

  • บทความชิ้นนี้มีการปรับปรุงชื่อโดยกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์จาก “อาจารย์องุ่น มาลิก : การต่อสู้ประกอบด้วยสัจจะ” เป็น “ครูองุ่น มาลิก : การต่อสู้ประกอบด้วยสัจจะ” โดยตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2558

เอกสารอ้างอิง:

  • ดร.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น, อาจารย์องุ่น มาลิก : การต่อสู้ประกอบด้วยสัจจะ, ผู้หญิงก่อน-หลังการอภิวัฒน์สยาม ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕, (กรุงเทพฯ : Papyrus, 2558), หน้า 21-31.

 


[1] ราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) ๑๓ ตุลาคม ๒๕๑๙, เล่ม ๙๓, ตอน ๑๒๘, หน้า ๑-๕. คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๒๒; ราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) ๘ สิงหาคม ๒๕๒๒, เล่ม ๙๒, ตอน ๑๓๕, หน้า ๑-๔.

[2] ชาตรี หุตานุวัตร, ใน รำลึกถึงดอกไม้กลางใจชนครูองุ่น มาลิก, สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย, บรรณาธิการ, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิไชยวนา, ๒๕๔๒), หน้า ๒๗.

[3] นิธิ เอียวศรีวงศ์,  ใน รำลึกถึงดอกไม้กลางใจชนครูองุ่น มาลิก, สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย, บรรณาธิการ, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิไชยวนา, ๒๕๔๒), หน้า ๑๙.

[4] สัมภาษณ์กับเพื่อนร่วมงานของอาจารย์ องุ่น, กรุงเทพฯ,  ๕ ตุลาคม ๒๕๔๗.

[5] สัมภาษณ์อดีตนักศึกษานักกิจกรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่, ๗ มีนาคม ๒๕๔๘.

[6] เอ๊ด ภิรมย์, “บางมุมบางสัมผัสจากชีวิตอาจารย์”, ใน ชีวิตงาม ครูองุ่น มาลิก, สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย, บรรณาธิการ, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิไชยวนา, ๒๕๔๓), หน้า ๗๑.

[7] ศูนย์กรุณาเทพตั้งขึ้นในปี ๒๕๑๒ โดยกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) หลังจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ กอ.ปค. ถูกเปลี่ยนเป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และ กอ.รมน. ก็ได้กลายเป็นผู้บริหารศูนย์การุณยเทพ ผู้ที่ถูกกักขังที่ศูนย์กัลยาเทพที่เชียงใหม่เล่าว่าพวกเขาไม่ได้ถูกซ้อมทรมานหรือทำร้ายร่างกายอย่างอื่นซึ่งต่างจากกรณีที่กักขังอื่น ๆ พวกเขาได้กินข้าวสามมื้อ ได้ไปเที่ยววัดและอนุสรณ์สถานสำคัญ และมีเวลาเล่นปิงปองและแบดมินตัน อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าพวกเขาถูกกักขังโดยมิชอบหลังประตูที่ล็อคไว้ ถูกสอบสวน และไม่เคยได้รับฟังเหตุผลจากเจ้าหน้าที่รัฐว่าทำไมถึงถูกจับกักขัง.

[8] องุ่นมาลิก, “รายงานพฤติกรรมของนางองุ่น มาลิก ที่สัมพันธ์กับนักศึกษา”, ใน ชีวิตงาม ครูองุ่น มาลิก, สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย, บรรณาธิการ, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิไชยวนา, ๒๕๔๓), หน้า ๗.

[9] เพิ่งอ้างอิง.

[10]  เพิ่งอ้างอิง.

[11]  เพิ่งอ้างอิง.

[12]  เพิ่งอ้างอิง.

[13] ไทยนิวส์, ๑๕ ธันวาคม  ๒๕๑๙, หน้า ๑, ๑๑.

[14]  เพิ่งอ้างอิง, หน้า ๘.