Focus
- เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ เป็นนักการเมืองและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยผู้มีบทบาทสำคัญในขบวนการเสรีไทยจังหวัดแพร่ ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ ไม่ยอมก้มหัวต่อเผด็จการ แม้ต้องสูญเสียทรัพย์สินและเผชิญชะตากรรมอย่างหนัก ซึ่งมีบทบาททั้งในการต่อต้านญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และสนับสนุนปรีดี พนมยงค์ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ หรือ เจ้าโว้ง แสนศิริพันธุ์
เมื่อผมได้มาเริ่มโครงการวิจัยราชาใน พ.ศ. 2535 หรือ 18 ปีมาแล้ว ผมได้ใช้เวลาว่างสืบเสาะหาเรื่องราวของเจ้าของบ้านเดิมคือ พระวิชัยราชา หรือเจ้าหนานขัติ และบุตรคือเจ้าวงศ์ แสนศิริพันธ์ อดีต ส.ส.คนแรกของจังหวัดแพร่ รวมทั้งคนอื่น ๆ ในตระกูลนี้ ต่อมา ผมต้องแปลกใจ เมื่อทราบว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านเกิดของ “พี่ธร” หรือเจ้าสุนทร แสนศิริพันธุ์ทที่ผมรู้จักสมัยปฏิบัติภารกิจลับ เพื่อชาติ อยู่ในอดีตราชอาณาจักรลาว (หาอ่านเรื่องราวของผมได้ในคอลัมน์ วีรกรรมนิรนาม ในหนังสือ แปลก รายสัปดาห์)
ต่อมาเมื่อศึกษารวบรวมเก็บข้อมูลของคุ้มนี้ จึงทราบว่านอกจากจะเป็นรอยต่อทางประวัติศาสตร์ในช่วงวิกฤตของสยามประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงนิ้วปล้นเมืองแพร่แล้ว ยังเป็นบ้านเสรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นบุกไทยหรือสงครามมหาเอเชียบูรพา และได้ขอใช้ไทยเป็นทางทอดผ่านไปยังพม่า และอินเดียประกอบกับญี่ปุ่นเองได้ใช้ไม้นวม อ้างความเป็นชาวเอเชียมีผิวสีเหลืองเรืองสีสันด้วยกันขอให้มาร่วมด้วยช่วยกัน “ปลดแอก” ขจัดอิทธิพลของพวกฝรั่งหนังหมู ชนผิวขาวตาน้ำข้าวให้พ้นจากภูมิภาคนี้ให้หมดสิ้นไป
อย่างไรก็ตาม จึงมีการหารือเพื่อจัดตั้งขบวนการกลับใต้ดินกู้ชาติเสรีไทย ต่อต้านญี่ปุ่นตามรายละเอียดปรากฏอยู่ในหนังสือนี้ จึงขอรวบรัดตัดตอนมาที่บทบาทของ เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ เสรีไทยอาภัพที่ถูกลืมเลือน ทั้งที่ท่านเป็นหนึ่งในสองผู้นำสำคัญของเสรีไทยจังหวัดแพร่ คงเป็นเพราะหลังท่านจากโลกนี้ไป ลูกหลานไม่ได้สืบทอดวีรกรรมของท่าน ไม่เหมือนนายทอง กันทาธรรม ที่มีลูกหลานซึ่งเปี่ยมด้วยศักยภาพสามารถนำเรื่องราว วีรกรรมของท่าน และเสรีไทยมาถ่ายทอดในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์เสรีไทยแห่งแรกในประเทศไทยได้สำเร็จ
แต่จากหลักฐานหนังสือ “100 ปีชาติกาลปรีดี พนมยงค์” หน้า 142 ได้กล่าวถึงเจ้าวงศ์ไว้ตอนหนึ่งว่า…
“นายปรีดี มีความประสงค์ที่จะยึดรอดออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในอินเดีย ในเรื่องนี้ในเบื้องแรก นายปรีดีได้ขอร้องให้เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ จัดส่งคนที่ไว้ใจได้ ออกไปเมืองจีน”
ความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างในปรีดีกับเจ้าวงมีมายาวนานตั้งแต่ครั้งเจ้าวงศ์ ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดแพร่คนแรกเมื่อประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ในยุคประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่กำลังเริ่มเบ่งบานแต่ต่อมาสับสนวุ่นวายเรื่อยมาตั้งแต่บัดนั้น (จนถึงบัดนี้) ทำให้เจ้าวงศ์ซึ่งได้รับการศึกษามาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ เป็นศิษย์เอกของภราดา ฟ.ฮีแลร์ มีความคิดความอ่านทันสมัยไม่เหมือนใครในยุคนั้น ท่านเล็งเห็นและตระหนักดีว่า ระบอบประชาธิปไตยของไทยเรา มิใช่ระบอบการปกครองสร้างสรรค์เพื่อปวงชนชาวไทย เพราะอำนาจแท้จริงในการปกครองประเทศยังผลัดเปลี่ยนวนเวียนอยู่ในกำมือของคนไม่กี่คน ท่านจึงบอกลา ล้างมือจากการเมืองไม่ยอมร่วมสังฆกรรมในเรื่องนี้อีกต่อไป แต่ได้สนับสนุนญาติ และพรรคพวกของท่านให้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ หรือ เจ้าโว้ง แสนศิริพันธุ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดแพร่
ที่มา: วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร
ระหว่างเป็น ส.ส. คนแรกของจังหวัดแพร่ใน พ.ศ. 2475 ท่านได้มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับ พระยาพหลพยุหเสนา ดร.ปรีดี พนมยงค์ หลวงศรีประกาศ นายทองอินทร์ ภูมิพัฒน์ ฯลฯ โดยเฉพาะ ดร.ปรีดี ที่ดูเหมือนเจ้าวงศ์ให้ความเคารพนับถือ และชื่นชอบเป็นพิเศษ จากคำบอกเล่าของคุณแพรวที่มีบ้านติดคุ้ม และเป็นเพื่อนของลูกสาวเจ้าวงศ์ เข้าออกวิ่งเล่นในบ้านนี้สมัยวัยเด็กได้เล่าถึงที่ห้องน่ามุขของคุ้มวิชัยราชา นอกจากพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 3 และในหลวง ราชินี แล้วจะมีรูปของนักการเมืองคนเดียวคือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ห้อยติดต่ำลงมาและไม่เคยปลดออกไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เล็กน้อย ประมาณ พ.ศ. 2482 ดร.ปรีดีได้เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยอิงประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ เรื่องพระเจ้าช้างเผือก (THE WHITE ELEPHANT KING) เพื่อเผยแพร่เกียรติภูมิ และวัฒนธรรมของชาติไทยให้โลกรู้จัก เป็นภาพยนตร์ที่ใช้ผู้แสดงร่วมพันคน ใช้ช้างกว่า 150 เชือก เป็นภาพยนตร์เสียงในฟิล์มพูดภาษาอังกฤษเรื่องแรกของประเทศไทย ท่านปรีดีได้ประสานขอความร่วมมือจากเจ้าวงศ์เพื่อการถ่ายทำฉากสำคัญที่สุดคือ ฉากยุทธหัตถี และการคล้องช้าง ซึ่งถ่ายทำกันที่ ต.ป่าแดง หลังพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ เจ้าวงศ์เองนอกจากจะเอื้อเฟื้อจัดหาช้างทั้งหมดให้กองถ่ายโดยไม่คิดมูลค่าแล้ว ยังร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายพร้อมกันในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก ปารีส ลอนดอน นิวยอร์ก แต่ต่อมาเพราะกระแสความคุกรุ่นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกลืมเลือนตกไป
ความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างทั้งสองท่านนี้ ทำให้ได้มีโอกาสร่วมงานต่อเนื่องกันมาถึงเรื่องของชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะในส่วนของขบวนการเสรีไทย แต่นอกจากที่กล่าวไว้ในหนังสือ 100 ปีชาติกาลฯ และบันทึกของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ตีพิมพ์ในเวลาต่อมา ได้กล่าวถึงเรื่องราว และบทบาทของเจ้าวงศ์ในขบวนการเสรีไทย และภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือกแล้ว เจ้าวงศ์มีบทบาทในกระบวนการนี้มากมาย แต่การเมืองและกาลเวลาทำให้เกียรติภูมิ และการเสียสละอันยิ่งใหญ่ของท่านกลายเป็นศูนย์ ประกอบกับ เสรีไทย เป็นกระบวนการที่ตั้งขึ้นมา “เฉพาะกิจ” สลายไปเมื่อภารกิจจบสิ้น เป็นวีรกรรมนิรนาม เป็นการปิดทองหลังพระอย่างแท้จริง จึงทำให้เรื่องราวเงียบหายไปโดยเฉพาะเมื่อไม่มีใครใส่ใจต่อยอดให้

คุ้มวิชัยราชา
แต่จากการไล่เรียงเก็บข้อมูลจากหลายฝ่ายมานานหลายปีทำให้ทราบว่า “คุ้มวิชัยราชา” เป็นที่ประสานงานสำคัญของขบวนการเสรีไทยในเมืองแพร่ คุณสุเทพ แสนศิริพันธุ์ บุตรชายคนหนึ่งของเจ้าวงศ์ ซึ่งช่วงนั้นโตพอที่จะจำความได้ เคยเล่าว่า ในคุ้มวิชัยราชามีห้องหนึ่งที่เป็นคลังอาวุธของเสรีไทย ทุกวันโดยเฉพาะช่วงเช้ามืด และยามค่ำคืนจะมีคนมารับส่งอาวุธกันเสมอ ตัว ด.ช. สุเทพเอง ได้เข้าไปในห้องนั้น ได้พบเห็นอาวุธมากมาย ท่านได้หยิบระเบิดลูกหนึ่งขึ้นมาพิจารณาดู แต่โดนคุณพ่อดุบอกให้วางลง เพราะระเบิดแบบนี้เป็นแบบบิทสลักก่อนใช้งาน อันตรายเกินไปสำหรับเด็ก
คุณสมถวิล เทพยศ หรือ ป้าเจ๊ ผู้มีภูมิลำเนาอยู่หลังคุ้มวิชัยราชาเล่าว่า ในช่วงสงครามโลกอยากได้ผ้าร่มหลากสีที่เห็นอยู่ในคุ้มวิชัยราชามาตัดกระโปรงสวมใส่ สอบถามข้อมูลเบื้องลึกได้ความว่า เจ้าวงศ์ซึ่งช่วงนั้นได้สัมปทานชักรากไม้ออกจากป่าต่าง ๆ ในแพร่ และจังหวัดใกล้เคียง ได้ถือโอกาสนำเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่พันธมิตรทิ้งร่มมาให้ ลักลอบขนออกมาพร้อมไม้ทรงที่ชักลากออกมาเพื่อส่งมอบแจกจ่ายกระจายให้กับสมาชิกขบวนการ
คุณวิทยา บุตรของนายวงศ์ ชมภูมิ่ง เพื่อนนักเรียนเรียนอัสสัมชัญรุ่นน้องเจ้าวงศ์ เคยเล่าไว้ว่า ระหว่างสงคราม ทหารญี่ปุ่นกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วเมืองแพร่ โดยเฉพาะที่วัดต้นธงใกล้บ้านจะมีญี่ปุ่นตั้งฐานใหญ่อยู่กันเต็มไปหมด ต่อมาเคยถูก “ผู้ใหญ่” ใช้ให้เอาอาวุธเป็นปืนเล็กยาวห่อด้วยผ้าและม้วนเสือทบไว้รอบนอกให้แบกไปส่งอีกแห่ง โดยมีพวกผู้ใหญ่คอยเฝ้าจับตาตามไปห่าง ๆ และทุกคนต้องตกใจเมื่อ ด.ช.วิทยา โดนทหารญี่ปุ่นที่ยืนยามอยู่เรียกให้หยุด พูดคุยรูปหัวรูปตัวอยู่พักใหญ่ก่อนจะยอมให้ไปต่อได้ความว่า ทหารผู้นั้นมีลูกชายอายุใกล้เคียงกัน เมื่อเห็นคุณวิทยาเดินผ่านไปจึงเกิดความเอ็นดูคิดถึงลูกจึงเรียกให้หยุดทำให้ “ผู้ใหญ่” ที่ใช้แรงงานเด็กพากันตื่นเต้นตกใจหัวใจแทบวาย แน่นอน ปืนเล็กยาวที่ ด.ช. วิทยา เคลื่อนย้ายครั้งนี้ มาจากคลังแสงในเมืองที่ถนน “วิชัยราชา” นั่นเอง
เมื่อผมเริ่มกอบกู้ฟื้นฟู คุ้มวิชัยราชา ใน พ.ศ 2535 เราต้องขุดหลุมเพื่อเทฐานรากและดีดเสาทั้ง 69 ต้นให้เข้าศูนย์ แต่ต้องแปลกใจที่ค้นพบขวดน้ำหอมมากมาย สอบถามจากผู้รู้ได้ความว่า ช่วงสงคราม ทุกสิ่งทุกอย่างขาดแคลนไปหมดรวมทั้ง น้ำหอม จากฝรั่งเศส เมื่อพันธมิตรถามเจ้าวงศ์ว่าอยากได้ “ทองคำ” เพื่อเป็นทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกอบกู้ชาติและต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นหรือไม่ เจ้าวงศ์ซึ่งไม่เคยมีปัญหาเรื่องเงินทองเพราะร่ำรวยมหาศาลเรียกว่าใช้ไปอีกสิบชาติก็ไม่หมด (ถ้าไม่มี factor อื่นเข้ามาแทรก) ท่านไม่ต้องการเงินทอง แต่อยากได้น้ำหอมที่ช่วงนั้นกำลังขาดแคลนจากพันธมิตร ซึ่งแน่นอนไม่ใช่เรื่องยากสำหรับการทิ้งร่มที่มีรันแพ็คใส่น้ำหอมอย่างดีส่งมาให้เจ้าวงศ์ เพื่อเป็นของขวัญสำหรับสาว ๆ และภรรยาของท่านที่มีอยู่หลายคนในช่วงที่กำลังขาดแคลนอย่างหนัก สะท้อนให้เห็นอารมณ์โรแมนติกของท่าน และที่สำคัญคือ ตัวตนที่แท้จริงของท่านโดยเฉพาะอุปนิสัยของความไม่โลภ เพราะรวยอยู่แล้ว ซึ่งผิดกับคนรวยสมัยนี้ที่ส่วนใหญ่จะไม่รู้จักคำว่า “พอเพียง”
อย่างไรก็ตาม เมื่อกองทัพญี่ปุ่นทราบระแคะระคายรู้เรื่อง “น้ำหอม” นี้ ท่านจึงต้องสั่งให้นำน้ำหอมเหล่านี้ เททิ้งในหลุมทั้งที่ขุดไว้ และในส้วม เพื่อทำลายหลักฐานถึงถิ่นที่มาของมัน ซึ่งเป็นที่มาของการค้นพบขวดน้ำหอมหลากหลายที่ขุดเจอในช่วงหลังดังกล่าว
คุณภุชงค์ กันทาธรรม ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เสรีไทยจังหวัดแพร่ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงวีรกรรมเสรีไทย และเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ผู้แทนทอง กันทาธรรม ได้กล่าวถึงบทบาทของเจ้าวงศ์ตอนหนึ่งว่า

นายแทนทอง กันทาธรรม
“ผมพึ่งมาทราบในภายหลังว่า ผู้ที่มาบอกคุณพ่อผมให้ลี้ภัยการเมือง ในยุคที่การเมืองเล่นกันถึงชีวิตนั้นคือ เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ นั่นเอง ท่านมาหาคุณพ่อบอกให้หนีไปก่อนจะมีภัยเพราะได้มีคำสั่งให้ จับตาย และพาคุณพ่อลี้ภัยหนีไปด้วยรถจิ๊บของท่านพร้อมผู้คุ้มกันมีอาวุธครบครัน จากในเมืองไปพักที่หนองม่วงไข่ และแม่คำมี ก่อนจะต่อไปที่น่าน และข้ามไปประเทศข้างเคียง ช่วงที่ขับผ่านโรงพักร้องกวางนั้นทุกคนเครียดกระชากลูกเลื่อนฟืนทุกกระบอกไว้เตรียมพร้อมปะทะกันเต็มที่ เกรงว่าตำรวจที่นั่นจะได้รับคำสั่งให้สกัดจับ แต่โชคดีไม่มีอะไรเกิดขึ้น”
“พ่อผมรอดพ้นภัยมาได้เพราะเจ้าวงศ์แท้ ๆ” คุณภุชงค์กล่าวสรุปในตอนท้าย
ต้องขอขอบคุณ คุณภุชงค์ ลูกหลานเลือดเนื้อเชื้อไขเสรีไทยที่ไม่ยอมให้กระแสของเสรีไทยเลือนหายไปกับกาลเวลา พยายามปลุก “วีรกรรมนิรนาม” ของเราเสรีไทย ให้คนรู้จักขบวนการเสรีไทย ด้วยการอุทิศบ้านของท่านเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ช่วงวิกฤตของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทุกคนทุกฝ่ายในประเทศนี้ต้องทำหน้าที่ในบทบาทลีลาที่แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งนี้ต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือเพื่อความอยู่รอดของสยามประเทศ
กลับมาที่เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ เป็นเสรีไทยที่ตลอดชีวิตท่านมีแต่ให้ และไม่เคยคดโกงหรือฉ้อราษฎร์บังหลวง ได้ประกอบคุณงามความดีมีความกล้าหาญ เสียสละเพื่อชาติตลอดมา ที่สำคัญคือ มีจุดยืนมั่นคงไม่ยอมก้มหัวให้กับอำนาจเผด็จการ จนต่อมาท่านและครอบครัวต้องประสบชะตากรรม สูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งคุ้มวิชัยราชา ที่ซุกหัวนอนของท่าน เนื่องจากถูกนักการเมืองใช้อำนาจกลั่นแกล้งด้วยการยึดทรัพย์ เป็นการฆ่าตัดตอนอย่างเลือดเย็น เป็นไปได้ว่าเป็นเพราะความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับท่านปรีดี พนมยงค์ จึงทำให้ท่านต้องประสบชะตากรรมไม่แตกต่างกับแกนนำขบวนการเสรีไทยคนอื่นที่ใกล้ชิดกับหัวหน้ากระบวนการ
ชีวิตที่เหลืออยู่ของเจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ ค่อนข้างทุกข์ทรมานแสนสุดอับเฉา จากคนร่ำรวยมีบารมีล้นฟ้าต้องลงมาติดดิน ควบมอเตอร์ไซค์เก่า ๆ จากป่าแดงมานั่งจมปลักอยู่กับความหลังตรงที่เป็นแหล่งชุมนุมของผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของห้องสมุดเมืองแพร่ โดยไม่มีใครใส่ใจ และรำลึกถึงการเสียสละเพื่อชาติ และคุณงามความดีที่ท่านได้ฝากไว้บนผืนแผ่นดินสยามประเทศ
หมายเหตุ:
- บทความชิ้นนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนให้นำมาเผยแพร่ทางเว็บไซต์และสื่อโซเชียลมีเดียของสถาบันปรีดี พนมยงค์ เป็นที่เรียบร้อย
- บทความชิ้นนี้มีการปรับปรุงชื่อโดยกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์จาก “บทบาทของเจัาวงศ์ แสนศิริพันธุ์ ผู้ไม่ยอมก้มหัวให้กับเผด็จการในขบวนการเสรีไทยแพร่ เพื่อกอบกู้ชาติ” เป็น “เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ เสรีไทยแพร่ ผู้ไม่ยอมก้มหัวให้เผด็จการ” โดยตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2552
เอกสารอ้างอิง:
- วีระ สตาร์, “บทบาทของเจัาวงศ์ แสนศิริพันธุ์ ผู้ไม่ยอมก้มหัวให้กับเผด็จการในขบวนการเสรีไทยแพร่ เพื่อกอบกู้ชาติ”, รักชาติยิ่งชีพของเรา ปฏิบัติการลับเพื่อชาติของ ผู้แทนฯ ทอง กันทาธรรม และเสรีไทยแพร่ในสงครามโลกครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2552), หน้า 52-58.