ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย

21
สิงหาคม
2564

 

‘ดร.ผุสดี ตามไท’ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ และ ดำเนินกิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน
‘ดร.ผุสดี ตามไท’ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ และ ดำเนินกิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน

 

ในประการที่หนึ่ง ต้องขอสวัสดีทุกท่านและขอบคุณสถาบันปรีดี พนมยงค์ ที่ได้จัดการเสวนานี้ขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และขอบคุณที่ได้ให้โอกาสมาแบ่งปันข้อมูลและความคิดในวันนี้  ในประการที่สองดิฉันอยากจะเล่าให้ฟังว่าในการที่จะแบ่งปันข้อมูลนี้ ดิฉันมาในฐานะภรรยาของคุณบดินทร์ ตามไท ซึ่งคุณพ่อคือ 'ศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญเลี้ยง ตามไท' เป็นเสรีไทยสายอเมริการุ่นที่ 1 (ซึ่งจริงๆ ในช่วงที่ท่านมีชีวิตอยู่ก็ไม่มีโอกาสได้คุยในเรื่องเสรีไทย แต่หลังจากที่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว ก็ได้มีโอกาสอ่านบันทึกด้วยลายมือของท่านเขียนถึงการปฏิบัติการตอนที่ท่านอยู่ที่จุงกิง ท่านเขียนได้อย่างละเอียดและมีแผนที่) น่าประทับใจมาก อันนั้นก็เป็นแรงบันดาลใจ

ในอีกส่วนหนึ่ง คือ ในฐานะที่เป็นผู้เยี่ยมชมและไปช่วยงานของพิพิธภัณฑ์เสรีไทยที่จังหวัดแพร่ และได้มีโอกาสได้คุยกับคุณลุงซึ่งเขาร่วมอยู่ในขบวนการเสรีไทย ซึ่งตอนนั้นยังมีชีวิตอยู่ และอีกประการหนึ่งคือได้รับฟังเรื่องเล่าจากผู้รู้ผู้มีประสบการณ์โดยตรงหลายครั้ง ต้องขอประทานโทษที่เอ่ยนามเช่น หม่อมราชวงศ์สายสวัสดี สวัสดิวัตน ทอมป์สัน หรือ อาจารย์อนุชา จินตกานนท์ อาจารย์วรากร สามโกเศศ และท่านอื่นๆ แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอ่านหนังสือนี้คือหลายเรื่องมาก ยิ่งอ่านก็ยิ่งอยากรู้ ตั้งแต่เรื่องของ ตำนานเสรีไทย โดยอาจารย์วิชิตวง ณ ป้อมเพชร์ และก็ไปถึงเรื่องหนังสือที่ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เขียนขึ้น ในเรื่องของ Political and military tasks of the Free-Thai movement to regain national sovereignty and independence ด้วย และอื่นๆ อีกเยอะแยะซึ่งอ่านแล้วทำให้รู้สึกว่าหัวใจพองโตและมีแรงบันดาลใจที่อยากจะรู้เรื่องต่อไป

ในประการที่สาม มาถึงเรื่องราวสิ่งที่อยากจะพูดในวันนี้ของคำถามธรรมดาๆ ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไม และอย่างไร รวมไปถึงสิ่งที่คิดว่าได้เรียนรู้หรือได้รับเป็นมรดกทางใจทางจิตวิญญาณและความคิดในเรื่องของการใช้ชีวิตในปัจจุบันและอนาคตด้วย

 

ขบวนการเสรีไทยภายในประเทศ

ในวันนี้ก็ได้รับมอบหมายให้พูดเรื่องของขบวนการเสรีไทยในประเทศ ซึ่งก็เริ่มจากการที่ใช้ชื่อเริ่มต้นว่าเป็น องค์กรต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นองค์การใต้ดินในระยะเริ่มต้น และในช่วงไหนกันที่ขบวนการเสรีไทยในประเทศปฏิบัติภารกิจ? ก็ตั้งแต่วันแรก คือ วันที่ 8 ธันวาคม 2484 ซึ่งเป็นวันที่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย จนกระทั่งสุดท้ายคือที่ยุติบทบาทของขบวนการเสรีไทยไปในวันที่ 25 กันยายน 2488

ในวันที่ 8 หลังจากที่ญี่ปุ่นบุกแล้ว ก็มีการต่อสู้กันตามพื้นที่ต่างๆ ท่านปรีดีก็มีความเป็นห่วงเป็นใย ทั้งการประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัดสินใจให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยตามคำขอ และได้มีการสั่งการให้ยุติการต่อสู้ต่อต้านญี่ปุ่น เป็นต้น ช่วงค่ำวันที่ 8 ท่านปรีดีกับเพื่อนก็ได้มาพูดคุยกันที่สำคัญนี่ก็คือในบันทึกหรือในหนังสือที่บอกเอาไว้ คือว่าได้ปรึกษาแล้วก็ตกลงใจกันพลีชีพเพื่อชาติในการกอบกู้เอกราชและอธิปไตย ก่อตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นนี่เอง ซึ่งก็จะประกอบด้วยคนไทยที่รักชาติทุกชั้น วรรณะ ทั้งในและนอกประเทศ และมอบหมายให้ท่านปรีดีเป็นหัวหน้า และวางแผนปฏิบัติการต่อไป

ทำไมถึงต้องทำอย่างนี้?

เพราะหนึ่งเพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่นที่รุกรานจริงๆ แล้วไทยเราอยากที่จะวางตัวเป็นกลางและรักสันติ ไม่อยากที่จะไปรบกับใคร แต่เมื่อมีผู้รุกราน เราก็ต้องลุกขึ้นต่อสู้ สองคือก็เพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของคนไทยนั้นไม่เป็นศัตรูต่อสัมพันธมิตร และข้อสามที่เพิ่มขึ้นหลังจากไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษก็คือว่าเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามและเป็นการผ่อนหนักเป็นเบา

ทีนี้ทั้งหมดที่พูดกัน สิ่งที่สำคัญคือบอกว่าให้สิ่งเหล่านี้เก็บเป็นความลับและปฏิบัติตามวินัยอย่างเคร่งครัด เพื่อที่จะให้การปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทยนี้ได้บรรลุเป้าหมาย ทีนี้สิ่งที่คิดแต่ตอนนั้นเริ่มแรกเลยจะทำยังไงบ้าง? ซึ่งน่าสนใจว่า 1) ท่านคิดกันคือหนึ่งจะไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ไหนภาคเหนือไหม เพื่อแสดงการไม่รับรองต่อการตัดสินใจร่วมมือกับญี่ปุ่นของรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ซึ่งอันนี้ก็ต้องเลิกความคิดกันไปเพราะญี่ปุ่นยึดประเทศไทยได้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากที่เคลื่อนพลเข้าประเทศ 2) จัดตั้งรัฐบาลนอกประเทศที่อินเดียไหม ซึ่งอันนี้ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสัมพันธมิตร ซึ่งเป็นอันจบกัน ทีนี้เกิดอะไรขึ้นต่อไปในวันที่ 21 ธันวาคมหลังจากที่ญี่ปุ่นบุกมาแล้วก็ยังประกาศใช้กติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่นสำหรับความร่วมมือทั้งสามด้านคือการทหาร เศรษฐกิจ และการเมือง

ช่วงนี้มีส่วนสำคัญตรงนี้ว่ารัฐบาลอังกฤษมีคำสั่งให้เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงวอชิงตัน ยื่นบันทึกช่วยจำต่อกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ ว่าการที่รัฐบาลไทยทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นย่อมเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะประกาศสงครามกับไทยได้ แต่มีคนไทยเป็นจำนวนมากที่วางตนเป็นปฏิปักษ์กับญี่ปุ่น จึงควรให้การสนับสนุนโดยอังกฤษจะยังไม่ประกาศสงครามกับไทยและจะไม่เริ่มดำเนินการทางทหารใดๆ ต่อไป อังกฤษยังไม่ถือว่าไทยเป็นศัตรูแต่เป็นดินแดนที่ถูกศัตรูยึดครองและสหรัฐก็เห็นด้วยกับอังกฤษ ทีนี้ในช่วงนั้นก็จบไปในปี 2484 มาดูในปีถัดมา 2485 เกิดอะไรขึ้น? ในช่วงนั้นในช่วงต้นปีนั้นกรุงเทพฯ ก็ถูกทิ้งระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตรหลายครั้งยิ่ง 15 มกราคม รัฐบาลประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา วันที่ 6 กุมภาพันธ์ อังกฤษก็ประกาศสงครามตอบและบางประเทศในจักรภพ เช่น ออสเตรเลีย ก็ประกาศสงครามต่อเราด้วยเช่นเดียวกัน

 

การปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทย

ทีนี้มาดูกันว่าในสถานการณ์แบบนี้ ขบวนการเสรีไทยจะปฏิบัติการกันอย่างไร? ซึ่งขออนุญาตสรุปแบบเดียวกับที่ทางหนังสือตำนานเสรีไทยได้กล่าวไว้ คือ ปฏิบัติการนี้มันมีสองด้านคือ ด้านที่หนึ่งปฏิบัติการด้านการเมืองและการทูต และในส่วนที่สองคือ ปฏิบัติการด้านการทหาร

ขอเล่าสั้นๆ ว่าการปฏิบัติการทางการเมืองและการทูตเริ่มต้นตั้งแต่ที่เราประกาศสงครามกับทั้งอังกฤษและสหรัฐฯ ก็ต้องมีการกักกันตัวของบุคคลสัญชาติเหล่านั้น ซึ่งทางขบวนการเสรีไทยคือท่านปรีดีก็ขอให้เราฝ่ายไทยเป็นคนดูแลบุคคลสัญชาติเหล่านั้น เลยได้มีค่ายกักกันบุคคลเหล่านี้อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งก็ได้รับการดูแลอย่างดีมากในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2485 พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลนี้ถูกน้ำท่วมเยอะมากเป็นเวลากว่าสองเดือน ซึ่งก็คงจะลืมเรื่องภาวะสงครามไปอยู่เหมือนกัน มาต้นปี 2486

ในพันธกิจเรื่อง การปฏิบัติการด้านการเมืองและการทูต ท่านปรีดีได้ส่ง คุณจำกัด พลางกูร ไปในฐานะที่เป็นผู้แทนขององค์กรใต้ดินหรือขบวนการเสรีไทยในประเทศไปยังเมืองจีน ท่านก็กล้าหาญมาก ขอชื่นชมจริงๆ เดินทางไปทั้งรถไฟ รถยนต์ เรือเมล์ นั่งเที่ยว เดินเท้าอะไรเยอะแยะกว่าจะไปถึงที่เมืองจุงกิง ออกจากประเทศไทยในวันที่ 28 ผ่านไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่ประเทศลาวและเวียดนามซึ่งตอนนั้นเป็นอินโดจีนของฝรั่งเศส และไปเข้าเมืองจีน ในระยะที่เข้าเมืองจีนได้แล้วก็ต้องไปพักอยู่หลายเมือง ในช่วงนั้นท่านก็พยายามติดต่อโทรเลขไปยังกรุงวอชิงตันถึง หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และโทรเลขไปยังสถานทูตทั้งของอเมริกาและอังกฤษที่อยู่จุงกิงและก็ได้ติดต่อกับทางจีนเพื่อที่จะได้พบกับท่านเจียง ไคเช็ก

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะสื่อสารให้ทราบถึงความเป็นไปของขบวนการเสรีไทยในประเทศ และที่สำคัญ แม้ดูว่าเป็นความยากลำบากมากและมีอุปสรรคมากมายหลายอย่างที่ทำให้ไม่สามารถสื่อสารออกไปได้ แต่ว่าทางอังกฤษก็ได้ส่งท่าน พันตรี หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน เพื่อจะมาดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง หรือที่รู้จักกันในนาม “ท่านชิ้น” ท่านก็ได้มาพบกับคุณจำกัดและก็ได้ทราบรายละเอียดข้อมูล จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ข่าวสารและการสื่อสารเป็นไปได้จริง เป็นจุดสำคัญที่ทำให้สื่อสารกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้และเริ่มต้นงานต่อไปได้ 

ในเรื่องถัดมานี้ เมื่อท่านปรีดีเห็นว่าคุณจำกัดนั้นหายเงียบไปจึงส่งอีกคณะหนึ่งไปโดยเดินทางตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2486 โดย คุณสงวน ตุลารักษ์ คุณแดง คุณะดิลก และไปถึงวันที่ 1 กันยายน ซึ่งก็มีโอกาสได้พบกันกับคุณจำกัด แต่ก็น่าเสียดายที่คุณจำกัดได้ล้มป่วยและไม่มีโอกาสอีก การเดินทางมาของผู้แทนองค์กรต่อต้านญี่ปุ่นหรือขบวนการเสรีไทยในประเทศก็ทำให้ทั้งจีน ทั้งอังกฤษและอเมริกา ต่างตระหนักจริงว่าในประเทศไทยมีคณะบุคคลที่พร้อมจะร่วมมือกับสัมพันธมิตรในการทำสงคราม และขณะนี้ก็เดินทางต่อไปได้ในที่สุด ไปที่อเมริกาและอังกฤษ ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องของการนอกประเทศ

สิ่งหนึ่งที่อยากจะพูดต่อไป คือ พันธกิจต่อมาหลังจากที่ส่งผู้แทนไปแล้วก็ได้มีพันธกิจที่สำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศ ก็คือการที่จะต้องพยายามเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเพื่อที่จะต้องทำให้การปฏิบัติการของเสรีไทยนั้นเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น มีเรื่องของการที่สภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 20 กรกฎาคม 2487 สภาได้ลงมติไม่รับอนุมัติพระราชกำหนดระเบียบบริหารราชการนครบาลเพชรบูรณ์ ซึ่งจริงๆ แล้วท่านจอมพล ป. นั้นประสงค์ที่จะให้เพชรบูรณ์นั้นเป็นเมืองหลวง หลังจากที่มีการรบกัน และในปลายปี 2486 เราเองก็โดนทิ้งระเบิดอย่างเยอะแยะจนสถานศึกษาต้องปิด ทุกคนต้องอพยพเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดในวันที่ 24 กรกฎาคม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ลาออกและมีการแต่งตั้ง คุณควง อภัยวงศ์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 1 สิงหาคม 2487 และประกอบกับในวันที่ 31 สิงหาคม พลโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลาออก เพราะฉะนั้นสภาก็ได้ให้ท่านปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนแต่เพียงผู้เดียว การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเหล่านี้ทำให้สามารถปฏิบัติการการประสานร่วมมือกันระหว่างขบวนการเสรีไทยในประเทศกับฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นไปได้อย่างดีมากขึ้น

นอกจากนี้ ดิฉันยังต้องการจะพูดถึงปฏิบัติการอีกด้านหนึ่ง คือ ปฏิบัติการด้านการทหาร ซึ่งก็มีตั้งแต่เรื่องของการจัดตั้งพลพรรคเสรีไทยไปหมดทั้ง 39 จังหวัด มีการใช้อาวุธและร่วมกันกับสัมพันธมิตร มีคนมาร่วมตั้งแต่แนวหน้า 30,000-40,000 คน ไปจนกระทั่ง 80,000-100,000 คน ทั้งหมดนี้เราก็ได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์จาก 2000 สัมพันธมิตร มีเจ้าหน้าที่ของสัมพันธมิตร มาช่วยฝึกเป็นต้น มี ส.ส.ประจำจังหวัด และข้าหลวงประจำจังหวัดที่เรียกกันในสมัยนั้น ก็ช่วยให้การดำเนินการนี้เป็นไปด้วยดี ทีนี้ในพันธกิจที่สองด้านการทหารก็คือการจัดตั้งระบบข่าวกรองความเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่น และข่าวกรองด้านอื่นๆ ก็มีการตั้งสถานีวิทยุและสื่อสารกับทหารของสัมพันธมิตรทั้งในแคนดีที่ลังกา หรือ ศรีลังกาสมัยนี้ และที่กัลกัตตา เป็นต้น ในส่วนที่สามที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ การสนับสนุนความเข้มแข็งของหน่วยงานพลพรรคเสรีไทยก็คือ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทิ้งร่ม อาวุธยุทโธปกรณ์

ทั้งหลาย รวมถึงการรับส่งบุคคลด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรือดำน้ำ โดดร่ม เครื่องบินทะเล การสร้างสนามบินลับ แต่สรุปแล้วปฏิบัติการทั้งหมดนี้ก็เป็นการสนับสนุนเจตนารมณ์ของขบวนการเสรีไทย เพราะว่าสามารถส่งข้อมูลข่าวสารไปให้ทางฝ่ายสัมพันธมิตรได้วางแผนและโจมตีต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยเป็นผลสำเร็จ

สิ่งที่น่าสนใจคือในวันที่ 20 พฤษภาคม ได้มีสาส์นของท่านปรีดีถึงรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ขอให้เสรีไทยในประเทศได้ลุกขึ้นต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย เพราะท่านก็เป็นกังวลอยากจะให้ฝ่ายสัมพันธมิตรมองเห็นว่าสถานภาพของเราและความตั้งใจของเราเป็นอย่างไร แต่ว่าทางฝ่ายสัมพันธมิตรได้ยับยั้งไว้ ขอให้รอเวลาที่กองทัพสัมพันธมิตรจะทำการบุกครั้งใหญ่ และไว้ปฏิบัติการพร้อมกัน สาส์นนี้ทำให้พันธมิตรเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของขบวนการเสรีไทยในเรื่องของการที่เราหวงแหนเอกราชและอธิปไตยของชาติ และมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติการทางทหารร่วมมือกับพันธมิตรในการทำสงครามกับญี่ปุ่น

ประเด็นตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก และมีประเด็นเกร็ดเล็กๆ ที่จะขอใช้เวลาตรงนี้เล่าให้ฟังว่าในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมในปี 2488 จอมพลนากามูระ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้อย่างชัดเจนว่าอย่าหลงผิดคิดว่าทหารญี่ปุ่นจะถอยออกไปง่ายๆ ทหารญี่ปุ่นจะขอสู้จนคนสุดท้าย และได้เชิญท่านปรีดีไปประชุมร่วมกันเรื่องของสนามบินลับและตอนนั้นญี่ปุ่นก็ไปควานหาสนามบินลับที่เราสร้างขึ้นเยอะแยะในหลายที่ แต่ที่สุดแล้วในวันที่ 6 สิงหาคม เมืองฮิโรชิมาก็ถูกทิ้งระเบิดปรมาณูและวันที่ 9 สิงหาคม ก็ถูกทิ้งระเบิดที่เมืองนางาซากิ ที่สุดแล้ววันที่ 14 สิงหาคมญี่ปุ่นก็ยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม ท่านปรีดีก็ประกาศสันติภาพตามคำแนะนำของ ลอร์ด เมานต์แบตเทน และในวันที่ 25 กันยายน ก็มีพิธีการสวนสนามที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยเหล่าพลพรรคเสรีไทย และในวันนั้นท่านปรีดีก็ปราศรัยและถือเป็นวันยุติบทบาทของขบวนการเสรีไทยที่จริง แม้ว่าในเรื่องของการสิ้นภาวะสงครามก็ยังไม่เสร็จดีแต่ต่อไปก็กระทำโดยในนามของรัฐบาลไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเราเลิกสภาวะสงครามกับอังกฤษได้ก็คือต้นปีถัดไป วันที่ 1 มกราคม 2489

 

มรดกทางใจ: จิตวิญญาณของขบวนการเสรีไทย

นอกจากนี้ อยากจะแบ่งปันอีกสักนิดถึงสิ่งที่ได้รับเป็นมรดกทางใจหนึ่งคือ ความทึ่ง และความประทับใจในขบวนการเสรีไทย และทุกคนที่ร่วมในขบวนการนี้ตั้งแต่เรื่องความกล้าหาญ ความมุ่งมั่น ความเด็ดเดี่ยว มีความตั้งใจ การเสียสละ การรักษาเป็นความลับ การที่ถือวินัยอย่างเคร่งครัด และที่สำคัญที่สุดคือ มีอุดมการณ์ที่มีร่วมกันในเรื่องของเอกราชและอธิปไตยของชาติ เต็มใจพลีชีพตนเองเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า และไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือจะมีอุปสรรคอย่างใดก็ตามและมีอาวุธหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเราก็เห็นตั้งแต่แรกที่ญี่ปุ่นบุกทุกที่ที่มีการเตรียมตัวไม่ว่าจะเป็นบางปู สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระยอง สุราษฎร์ธานี เรื่อยไปและยังมีในที่ๆ เตรียมพร้อมแต่ยังไม่ได้มีการรบเกิดขึ้น เพราะว่ามีคำสั่งให้หยุดต่อต้าน แต่อย่างที่ประจวบคีรีขันธ์ก็มีการบกันไปถึง 32 ชั่วโมงแล้ว เพราะเหตุที่ว่าอยู่ใกล้แค่นี้เอง แต่กว่าคำสั่งจะไปถึงก็คือวันที่ 9 ธันวาคม เวลาบ่ายโมงก็เลยมีการสูญเสียชีวิตไปเยอะทีเดียว

ทีนี้ในช่วงที่มีการเตรียมความพร้อมในช่วงปี 2487-2488 จริงๆ ต้องบอกว่าขบวนการเสรีไทยในประเทศย่อมที่จะท้าทายมากเพราะเกิดขึ้นในสมรภูมิจริงคือในประเทศไทยที่เต็มไปด้วยกองทัพญี่ปุ่นและเขาก็มีความสามารถมากเหลือเกิน การปฏิบัติภารกิจตรงนี้เต็มไปด้วยความท้าทายไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามแต่ก็ทำได้สำเร็จ

จะขอยกตัวอย่างอีกสักสองสามอย่างของความท้าทายที่ว่านี้ เช่น การสร้างสนามบินลับ ไม่ว่าจะเป็นที่สกลนคร ที่เมืองตาก ญี่ปุ่นเองก็ทราบ ระแคะระคายบ้าง แต่เราอำพรางโดยการที่เราบอกว่านี่เป็นการมาทำไร่เพื่อที่ชาวบ้านจะปลูกพืชให้กับประชาชนที่อดอยาก อย่างนี้เป็นต้น หรือ การนำเอาอาวุธจากเพชรบุรีเข้ากรุงเทพฯ สะพานนั้นขาดหมด ต้องใช้แพขนานยนต์ของญี่ปุ่น ซึ่งกล้าหาญมากโดยที่ไม่ได้ซ่อนตรงไหนเลย เอาผ้าใบคุมไว้เฉยๆ กับอาวุธเหล่านั้น แต่ก็น่าแปลกที่ไม่มีทหารญี่ปุ่นเปิดดูเลย หรือการต้องเดินทางที่ยากลำบากที่พาทหารเสรีไทยจากตราดไปกรุงเทพฯ ก็เช่าเรือถอดจากตากไปกำแพงเพชร จากกำแพงเพชรก็จะเช่าเรือยนตร์เข้ากรุงเทพฯ แต่น้ำแห้งมากต้องเข็นเรือกันและต้องนอนกลางหาดทราย เป็นต้น

การขนอาวุธร้ายแรงจากขอนแก่นมาที่กองบัญชาการเสรีไทยที่กรุงเทพฯ เสี่ยงมาทางรถยนต์แต่ว่าที่น่าสนใจก็คือเตรียมการสร้างเรื่องเอาไว้ว่า อาวุธเหล่านี้จะนำส่งที่กระทรวงมหาดไทย เพราะว่าเป็นอาวุธของข้าศึกก็คือเป็นของฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนำมาทิ้งร่มที่อินโดจีน และเลยมาตกที่แม่น้ำโขงอย่างนี้เป็นต้น ระหว่างทางก็เจอด่านญี่ปุ่นเหมือนกันแต่ก็ไม่มีอะไร ที่ภาคเหนือจังหวัดลำปาง มีพลทหารปลอมตัวเข้าไปทำงานของค่ายทหารญี่ปุ่น พันผ้าขาวไว้ในขาทั้งสองข้างเพื่อจะบันทึกข้อมูลต่างๆ และก็นำข่าวไปส่งให้กับพลพรรคเสรีไทยเพื่อที่จะไปเตรียมแผนในการจู่โจม ที่จังหวัดแพร่เอง ก็มีคนที่จะต้องไปฝึกปรือการใช้วิทยุการรับส่งวิทยุก็ต้องมีการเดินทางรอนแรม นัดกันจะขึ้นเรือดำน้ำไปที่อินเดีย ปรากฏว่าขี่จักรยาน ไปมานั่งเรือนั่งรถไม่ทัน เรือดำน้ำก็ไปเสียแล้ว

ดิฉันเองนับถือและทึ่งมากๆ สำหรับการปฏิบัติการและหัวหน้าขบวนการเสรีไทยก็คือ ท่านปรีดี พนมยงค์ ทั้งในเรื่องของความเป็นผู้นำของอุดมคติที่กล้าเพื่อจะเดินหน้าเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง พยามทุกทางไม่ว่าจะเป็นการทูต การทหาร การเมือง เพื่อบรรลุเป้าหมาย และที่สำคัญคือการให้เกียรติแก่เพื่อนร่วมขบวนการทุกคน ไม่ได้คิดว่าตนเองเป็นผู้ที่สำคัญที่สุด แต่ว่าทุกคนทำเพื่อชาติ และที่สำคัญที่สุดคือท่านไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนอย่างจริงจังและจริงใจ

 

ความรัก ความเมตตา และอาทรต่อกันในความเป็นมนุษย์

สุดท้ายนี้ที่อยากจะพูดถึงคือสิ่งที่ได้เรียนรู้คือความรัก ความเมตตาอาทรต่อกันในความเป็นมนุษย์ แม้จะในระหว่างศัตรูกัน ที่จังหวัดแพร่ในการตั้งค่ายฝึกพลพรรคเสรีไทย ทุกคนก็ได้รับอาหารคงจะเป็นอาหารธรรมดาๆ หรืออาจจะเป็นอาหารพื้นเมือง ไม่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ซึ่งก็มีทหารอเมริกันเป็นผู้ฝึก เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ ซึ่งเป็นอดีต ส.ส. ดิฉันอยากจะเอ่ยนามท่านไว้เพราะท่านนั้นมีความคิดน่ารัก ท่านเป็นเจ้าของสัมปทานป่าไม้ ซึ่งก็ทราบนะคะว่าทหารอเมริกันคงอยากจะทานอาหาร เช่น ขนมปังมากทีเดียวก็ได้ทำการหาเชฟที่ทำขนมปังเป็นเข้ามาในค่าย เพื่อที่จะได้ทำขนมปังให้

อีกส่วนหนึ่งที่น่าทึ่งมากคือที่จังหวัดตาก หลังจากที่ญี่ปุ่นยอมจำนนแล้วทหารญี่ปุ่นก็ติดต่อขอทำอาหารเลี้ยงฝ่ายไทย ต้องการจะขออภัยอย่างจริงใจเพราะบอกว่าทหารต้องทำตามคำสั่ง เขาก็เป็นคนนำเครื่องครัว เครื่องสัมภาระ วัตถุดิบมาทำอาหาร จริงๆ อาจจะยังมีตัวอย่างอะไรอีกมากมายแต่เวลาไม่พอที่จะแบ่งปัน แต่อย่างนี้เองก็ทำให้เห็นว่าเราเชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนมีความดีอยู่แต่ทำยังไงถึงจะดึงส่วนของมนุษย์ทุกคนออกมาแบ่งปันกัน

 

ประเด็นชวนคิดจากเสรีไทยสู่สังคมไทยปัจจุบัน

สุดท้ายนี้อยากจะขอเชิญชวนทุกคนคิดว่า ประการที่หนึ่งการก้าวต่อไปในสังคมเราจะช่วยกันคนละไม้คนละมือช่วยโอบอุ้มให้เราทุกคนใช้สันติวิธีในชีวิตเพื่อจะนำไปสู่สันติภาพที่แท้จริงได้หรือไม่และอย่างไร และในส่วนที่สองจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะทำให้คนจำนวนมากขึ้นได้รับทราบและมองเห็นถึงคุณค่าของคุณสมบัติดีๆ และคุณธรรมหลายประการที่ชาวเสรีไทยได้ปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติ ซึ่งโดยส่วนตัวก็เชื่อว่าในอนาคต ความไม่แน่นอนคือภาวะวิกฤตินี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้เยอะแยะมากมาย การที่เราจะต้องสามารถมองเห็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าตัวเอง ปฏิบัติงานและกล้าที่จะลงมือทำด้วยความซื่อสัตย์ไม่รับสินบน ไม่รับตำแหน่งหรือผลประโยชน์ใดๆ นอกเหนือจากจะเป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

 

ดิฉันฝันไปไหมคะ

ขอบคุณทุกท่านและสวัสดีค่ะ

 

ที่มา: PRIDI Talks #12 “รำลึก 76 ปี วันสันติภาพไทย: ความสำคัญของหลักเอกราชกับการต่างประเทศและข้อเท็จจริงเรื่องขบวนการเสรีไทย” เสวนาเรื่อง ขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย โดย ดร.ผุสดี ตามไท