เศรษฐกิจหลักของโลกใหม่ให้ความสำคัญกับ Creative Economy โดยมี Soft Power เป็นเครื่องมือสื่อสารอันทรงพลัง สั่งวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจตามทฤษฎีที่ได้รับการพิสูจน์มาอย่างไร้ข้อกังขา ว่าได้ผลเกินคาดในมาตรฐานสากล เปี่ยมประสิทธิผลอย่างไร้ข้อโต้แย้ง โดยเฉพาะความแรงของ ภาพยนตร์ ล้วนพลังล้นจนชาวโลกยอมรับกันมานานกว่า 2 ศตวรรษ แต่รัฐไทยเพิ่งตื่นตัวได้ไม่นาน หลังรัฐบาลเกาหลีใช้สิ่งนี้แทนยุทธวิธีทิ้งบอมบ์นิวเคลียร์ เราเสียดุลเศรษฐกิจเพราะคิดช้า ทั้งที่เคยมีผู้นำหัวก้าวหน้าถางทางเป็นตัวอย่างไว้ให้แล้ว แม้เวลาผ่านไปกว่า 82 ปี ภาพยนตร์ที่มาก่อนกาล “พระเจ้าช้างเผือก” ยังคงถูกเลือกให้ทำหน้าที่ ทูตวัฒนธรรม เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยไปฉายทั่วโลกอยู่เป็นระยะๆ ตามวาระสำคัญอันควร ด้วยแนวคิดที่ทวนกระแสหลักมาตลอดคือ สันติภาพเกิดได้ด้วยสันติวิธี โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่โลกกำลังบ้าสงคราม ท่ามกลางเสียงวิพากษ์จากสองฝ่าย …
ภาพยนตร์ The King of The White Elephant “พระเจ้าช้างเผือก” อิสริยาภรณ์ของแผ่นดิน อำนวยการสร้างโดย ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปี 2483 หลังจากเขียนนิยายชื่อเดียวกันเสร็จได้ไม่นาน เกิดจากการร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทีมคนเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแต่ละฝ่ายโดยมีโรงถ่าย ไทยฟิล์ม ซึ่งทันสมัยที่สุดแห่งยุคเป็นฐาน ทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ในการถ่ายทำ เสริมกำลังทางเทคนิคโดย เทคนิคคัลเลอร์ สนับสนุนโดยกองทุนเสรีไทย ร่วมประกาศจุดยืนก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ยาตราเข้าไทยเพียง 8 เดือน หนังส่งสารตรงโดยไม่ต้องแปล ไม่ได้ชี้ชัดเรื่องรัฐชาติเป็นแกนหลัก แต่เน้นให้ตระหนักต่อหน้าที่ มีศีลธรรม ไม่กดขี่ โดยมีผู้นำบ้าอำนาจขาดสติเป็นเป้าหลัก ปักธงลงที่บทภาพยนตร์เป็นกุญแจสำคัญให้ไขประตูสู่สันติภาพถาวร
สารสำคัญ ใน สัญ(อัป)ลักษณ์
ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ สุภาพบุรุษนักเขียน เปลี่ยนแปลงแรงสะเทือนใจที่มีต่อเหตุการณ์บ้านเมืองเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1 เป็นบทภาพยนตร์ เพื่อต้องการเตือนสติผู้มีอำนาจ ให้สามารถครองตนอยู่ในหลักธรรมาภิบาล บริหารบ้านเมืองให้แข็งแรงร่มเย็นประชาราษฎร์เป็นสุข โดยมี “สงครามช้างเผือก” เป็นภูมิหลังของหนัง ซึ่งเป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2106 ระหว่าง พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์ของพม่า กับ พระมหาจักรพรรดิ (พระเทียรราชา) กษัตริย์ไทยในรัชกาลที่ 15 แห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้ครอบครองช้างเผือก 7 เชือก หนุนพระบุญญาบารมี เป็นเหตุให้พม่าใช้เป็นข้ออ้าง ต้องการช้างไปเป็นบรรณาการ ก่อนรุกรานแผ่นดินสยาม บทถูกเปลี่ยนรายละเอียดเป็นเฉียดประวัติศาสตร์เพื่อให้สารที่ต้องการสื่อเด่นชัด จัดระเบียบวิธีคิดด้วยวิธีการของงานวรรณศิลป์อย่างแยบยล ด้วยกลวิธีของนักสื่อสาร
“พระเจ้าช้างเผือก” จึงออกมาเป็นเรื่องราวระหว่าง พระธรรมราชา กษัตริย์ผู้ครองกรุงอโยธยาด้วยธรรมาภิบาล ครองช้างเผือกคู่บารมี 1 เชือก กับ ฝ่ายพม่า พระเจ้าหงสาวดี ผู้มีความทะเยอทะยานพาลหาเหตุเข้ามาตีอโยธยาด้วยการขอช้างเผือก ถ้าอโยธยาให้นั่นหมายถึงการส่งเครื่องบรรณาการ งานโรมรันป้องกันแผ่นดินจึงเกิดขึ้น ก่อนออกรบพระธรรมราชาได้รับการรบเร้าจาก สมุหราชมณเฑียร เรื่องพระราชพิธีประเพณีโบราณที่กษัตริย์ต้องเลือกพระสนม 365 คน แต่พระองค์ไม่สนพระทัย ทรงวางแผนอย่างนักรบผู้เปี่ยมคุณธรรม ท้าชนช้างเฉพาะกษัตริย์สองพระองค์ ทรงปกป้องชีวิตไพร่พลทั้งสองฝ่ายไม่ให้ล้มตาย กษัตริย์กระหายสงครามขี้เมาของพม่าจึงพ่ายแพ้ถึงแก่สิ้นพระชนม์ พระธรรมราชากลับอโยธยาพร้อมชัยชนะ ทรงสละสิทธิ์และล้มเลิกราชประเพณีโบราณ ต้านการกดขี่ ไม่มีศีลธรรม แล้วเลือก เรณู บุตรีของสมุหราชมณเฑียรเป็นราชินีคู่บัลลังก์
ฉากสำคัญที่ยืนยันแนวคิดของผู้เขียนบทซึ่งมีสันติวิธีเป็นคัมภีร์พิทักษ์โลก … เมื่อพระเจ้าจักรายาตราทัพ เพราะพระเจ้าหงสายกทัพมาหมายย่ำยีอโยธยาเป็นเมืองขึ้น กลางสนามรบพระองค์ทรงมีกระแสรับสั่งกับราษฎรและไพร่พลด้วยพระเมตตา
พระเจ้าจักรา
“ราษฎรที่รักของข้า ทุกคนคงได้รู้แล้วว่าบัดนี้หงสาได้ยกทัพมารุกรานแผ่นดินเรา เมืองกาญจนบุรีแตกแล้ว และขณะนี้ทัพของข้าศึกกำลังมุ่งมายังนครหลวง เราจะไม่รอให้มันบุกมา แต่ว่าจะออกไปโรมรันกับมัน กษัตริย์แห่งหงสากระหายสงครามด้วยความทะเยอทะยาน ทำให้ราษฎรหงสาต้องสังเวยชีวิตเพื่อเขา ทว่าเราจะรบก็เพราะถูกรุกราน จงจำไว้ศึกนี้เรามิได้รบกับราษฎรแห่งหงสา แต่รบกับกษัตริย์ของเขา ข้าหวังใจว่าพวกเจ้าทุกคนจะทุ่มทำหน้าที่ เพื่อกษัตริย์และแผ่นดิน”
และตรัสกับเหล่าไพร่พลฝ่ายหงสาว่า
“ได้โปรดฟังข้าสักนิดไพร่พลแห่งหงสา ชีวิตข้าอยู่ในมือเจ้าแล้ว หากเจ้าจะฆ่าข้าก็ทำได้เลย แต่แม้ข้าจะวางวาย อาณาจักรแห่งอโยธยาก็จะยังคงอยู่ต่อไป ซึ่งพวกเจ้าไม่มีวันจะโค่นล้มได้ คงไม่ต้องให้ทหารของข้าโห่ร้องย้ำเตือนชัยชนะต่อเจ้าในครั้งนี้ เพราะศัตรูของข้าไม่ใช่พวกเจ้า ข้ามาเพื่อพบกษัตริย์ของเจ้า กษัตริย์ของเจ้าเท่านั้น เพื่อที่ไพร่พลของเจ้าจะได้ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ หากเป็นชายชาตรี ขอให้เขาออกมาแล้วชนช้างกับข้าตัวต่อตัวเท่านี้แหละที่ข้าต้องการ”
ทรงตรัสเตือนสติพระเจ้าหงสาว่า
“เจ้าพี่ ยังจะต้องรอสิ่งใดอีก ขอให้เรามาสู้กันตัวต่อตัวเถิด อย่าให้ชีวิตทหารของเราต้องมาสูญเสียเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อตอบสนองความทะยานอยากส่วนตัวของเจ้าพี่ที่ก่อสงครามนี้ขึ้น เพียงเพื่อแลกกับช้างเผือกแค่เชือกเดียว มันไม่ยุติธรรมที่จะเอาชีวิตราษฎรมาเสี่ยง”
คุณสมบัติของผู้ที่ไม่ควรเป็นผู้นำถูกถ่ายทอดไว้ในองค์พระเจ้าหงสา ถูกยกมาขณะยังไม่สร่างเมา แต่ทำเข้าใจเพราะไว้ศักดิ์ศรี ทั้งที่ไม่มีสติแต่รับคำท้า “ไอ้น้อง ข้าก็ว่าเจ้าพูดถูก กษัตริย์ควรสู้กับกษัตริย์จะได้ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อทหารโดยใช่เหตุ ข้าขอรับคำท้าเจ้า” หยอดมุกตลกพลาดตกหลังช้าง ก่อนสิ้นพระชนม์หลังดวลดาบไม่ถึงครึ่งเพลง พระเจ้าจักราทรงห้ามทหารทำร้ายข้าศึกผู้แพ้ แต่ให้ไปนำตัวมา แล้วตรัสแก่เหล่าเชลยหงสาด้วยสารสำคัญที่ท่านปรีดีฝากถึงทุกคน ทั้งประชาชน และโดยเฉพาะผู้นำประเทศทุกท่านว่า
“เหล่าทหารแห่งหงสา พวกเจ้าถูกชักนำผิดๆ ให้มารบกับเรา เราต้องการอยู่ร่วมกับพวกเจ้าอย่างสันติตลอดมา บัดนี้พวกเจ้าพ่ายแพ้สงครามต่อเรา ทว่าเราจะไม่ขอจองเวรจองกรรมกับสิ่งที่พวกเจ้าเคยทำกับเรา ขอให้นี่จงเป็นบทเรียนแก่เจ้า เป็นบทเรียนแก่พวกเราทั้งหมดทุกคนว่า จงอย่ายอมตนเป็นควายโง่ให้ผู้มีอำนาจชักจูงได้ง่ายๆ จงสอนลูกของเจ้าเล่าขานกันสืบรุ่นต่อไปถึงศึกนี้ว่ากษัตริย์นั้นได้สู้กับกษัตริย์ตัวต่อตัว เพื่อตัดสินข้อพิพาทกันเอง ให้ลูกหลานในวันข้างหน้าได้รับรู้ว่า ผู้เป็นประมุขควรประพฤติตนเยี่ยงนี้ หากเกิดความขัดแย้งต้องเยี่ยงนี้เท่านั้น เพื่อชาวโลกทั้งหลายจะได้ไม่ต้องสูญเสีย หรือผจญวิบากกรรมที่ไม่จำเป็น วันนี้เจ้าได้เห็นมิตรสหาย คนที่อาทร ต้องล้มตายไปต่อหน้า ซึ่งนั่นอาจทำให้พวกเจ้าต้องเจ็บปวดกับวันนี้ ไปจนตราบชั่วชีวิต อย่าให้ความเจ็บปวดกัดกินใจอย่างสูญเปล่า จงให้เรื่องราววันนี้เตือนใจว่า อย่าได้คิดร้ายต่อกันอีกเลย ให้คนตายได้เตือนใจเราไปชั่วกาล” ท่านตั้งใจจารทุกคำให้โลกร่วมสำนึก
พระเจ้าจักรา สุภาพบุรุษกษัตริย์ตรัสกับไพร่พลทหารแห่งหงสาก่อนลา “ทหารแห่งหงสา เก็บอาวุธของเจ้าขึ้นมา แล้วกลับบ้านเมืองโดยสันติเถิด” สิ้นเสียงแซ่ซ้องถวายพระเกียรติก้องก็ทรงตรัสกับกองทัพของพระองค์ว่า “ทหารอโยธยา ไชโยให้เกียรติแก่พี่น้องชาวหงสาของเรา” เสียงไชโยโห่ร้องก้องป่า ประหนึ่งพลังแห่งศรัทธา ประกาศศักดาและสันติภาพกำจรไกลไปสู่สองแผ่นดิน
เมื่อกลับถึงอโยธยาสมุหราชมณเฑียรยังคงไม่สิ้นความพยายามที่จะยัดเยียดลูกสาว อีกครั้ง คราวนี้ในรัฐพิธีรับกองทัพกลับจากสงคราม พระเจ้าจักราตัดรำคาญด้วยการเลือกเรณูให้เป็นมเหสีเอก พร้อมเปลี่ยนกฎระเบียบในราชสำนักใหม่เพราะใส่ใจงบแผ่นดิน “นับแต่นี้ไปมเหสีเอกจะถูกยกขึ้นเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ ไม่มีเบี้ยหวัด เงินปี หรือตำหนักส่วนตัว” เรณู แสดงวุฒิภาวะและความฉลาดหลักแหลมให้ทรงทราบ ด้วยอุบายกำราบพ่อที่เป็นตัวแทนของข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งใส่ใจแต่ผลประโยชน์ ด้วยการยกสิทธิ์ในการเลือกผู้หญิง 365 คน ให้ครอง มุกทองทิ้งคำถามที่พระองค์เคยได้รับคำตอบว่า “ไม่มากไปหรอกพระเจ้าค่ะ” กลับไปเป็นภาระให้ท่านสมุหฯ ได้ขบคิด เพราะรายจ่ายมหาศาลในการนี้ คือเงินภาษีจากประชาชน
“ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเพคะ หม่อมฉันเป็นพระมเหสีกิตติมศักดิ์ ทรงอนุญาตให้เสนอความเห็นได้ไหมเพคะ ว่าการจะเลี้ยงดูสนมอีก 365 นางนั้น เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน ยามนี้แม้ว่างเว้นซึ่งสงคราม บ้านเมืองก็ยังจำเป็นต้องใช้ช้าง ไม่ใช่แค่ฐานะช้างศึก แต่เป็นเรี่ยวแรงพัฒนาบ้านเมือง อีกอย่างช้างเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ารักมาก กระหม่อมอยากให้พระองค์เอาทรัพย์สินงบประมาณแผ่นดินไปเลี้ยงช้างดีกว่าเพคะ ทรงอย่าใส่ใจคำแนะนำของบิดาหม่อมฉันเลย”
จบแบบประเพณีนิยมในมหรสพไทยให้ไพร่ฟ้าหน้าใสสบายใจถ้วนหน้า แม้ว่าในหนังจะดูยอมรับง่ายดายไม่ฉายชัดถึงจริยวัตร อัจฉริยะ แห่งองค์ราชินีอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน แต่ในนิยายมีรายละเอียดที่พรรณนาให้เห็นถึงคุณค่า ด้วยคุณสมบัติที่สมควรถูกคัดขึ้นมาเป็นพระชายาแห่งกษัตราธิราชเจ้าอย่างเต็มภาคภูมิ
งบประมาณที่หว่านให้กับสถาบันกษัตริย์ถูกจัดเสนอผ่านบทพูดของเรณูสาวน้อย feminist ให้แบ่งสู่ปากท้องของปวงชนที่เป็น ช้างของแผ่นดิน เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมตามแนวทางของ เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่ประกาศต่อคณะราษฎรและคณะรัฐมนตรี ในปี 2476 ตามหลักการหมวดที่ 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการ ที่คณะราษฎรได้ประกาศไว้ว่า “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” และ หลักการในหมวดที่ 6 “การจัดเศรษฐกิจโดยรัฐบาลต้องระวังมิให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์ ปราศจากการประทุษร้ายต่อกันอันเนื่องจากเหตุเศรษฐกิจ และผู้หญิงไม่ใช่เป็นของกลาง คือสารสำคัญจากนักเศรษฐศาสตร์ ประกาศผ่านตัวละครเพื่อสะท้อนสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน”
เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม[1]
หมวดที่ 1 รัฐบาลจะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
หมวดที่ 2 ความไม่เที่ยงแท้แห่งการเศรษฐกิจในปัจจุบัน กับหลักประกันความแร้นแค้นของราษฎรทุกชนชั้นตลอดชีพ และรัฐสวัสดิการผู้สูงอายุอย่างเท่าเทียม
หมวดที่ 3 รัฐบาลต้องประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (Social Assurance) ราษฎรที่เกิดมาย่อมจะได้รับประกันจากรัฐบาลว่า ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งสิ้นชีพ
หมวดที่ 4 แรงงานที่สูญเสียไปและพวกหนักโลก (Social Parasite)
บทที่ 1 แรงงานเสียไปโดยมิได้ใช้ให้เต็มที่ แรงงานสูญ 40% / บทที่ 2 แรงงานเสียไปเพราะจัดการเศรษฐกิจไม่เหมาะ แรงงานเปลือง โดยแยกกันทำ / บทที่ 3 แรงงานที่เสียไปโดยไม่ใช้เครื่องจักรกล แรงงานเสียโดยใช้วิธีป่าเถื่อน / บทที่ 4 แรงงานที่เสียไป เพราะบุคคลที่เกิดมาหนักโลก พวกหนักโลกทำให้ถ่วงความเจริญ
หมวดที่ 5 วิธีซึ่งรัฐบาลจะหาที่ดิน, แรงงาน เงินทุน
หลักสำคัญที่ควรคำนึงก็คือ รัฐบาลจำต้องดำเนินวิธีละม่อม คือต้องอาศัยการร่วมมือระหว่างคนมีกับคนจน รัฐบาลไม่ต้องประหัตประหารคนมี
หมวดที่ 6 การจัดทำให้รายได้และรายจ่ายของรัฐบาลเข้าสู่ดุลยภาพ
บทที่ 1 ดุลยภาพภายในประเทศ หักกลบลบหนี้ / บทที่ 2 ดุลยภาพระหว่างประเทศ ทำสิ่งที่เหลือใช้ภายในให้มาก สินค้าเข้ามีสิ่งไม่จำเป็นมาก / การจัดเศรษฐกิจโดยรัฐบาลต้องระวังมิให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์ ปราศจากการประทุษร้ายต่อกันอันเนื่องจากเหตุเศรษฐกิจ / ผู้หญิงไม่ใช่เป็นของกลาง
หมวดที่ 7 การแบ่งงานออกเป็นสหกรณ์รัฐบาลกลางคุมไม่ทั่วถึง สมาชิกสหกรณ์ได้รับเงินเดือน รางวัลพิเศษ
หมวดที่ 8 รัฐบาลจะจัดให้มีการเศรษฐกิจชนิดใดบ้างในประเทศป้องกันการปิดประตูค้า (อุตสาหกรรม กสิกรรม ศิลปวิทยา ให้พร้อมบูรณ์)
หมวดที่ 9 การป้องกันความยุ่งยากในปัญหาเรื่องนายจ้างกับลูกจ้าง
หมวดที่ 10 แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ รัฐต้องคำนวณและสืบสวนว่า ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตตามความต้องการของราษฎรนั้นมีอะไรบ้างและ ฯลฯ จะต้องมีจำนวนเท่าใด จึงจะพอเพียงแก่ความสุขสมบูรณ์ของราษฎร
หมวดที่ 11 ผลสำเร็จอันเกี่ยวแก่หลัก 6 ประการ อันได้แก่ เอกราช, การรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน, การเศรษฐกิจ, เสมอภาค, เสรีภาพ และ การศึกษา
Exclusive Interview: ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์
“พระเจ้าช้างเผือก เป็นภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องเดียวก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เหลือรอดมาอย่างสมบูรณ์เต็มเรื่อง เพราะเรื่องอื่นๆ จะเป็นเศษฟิล์ม เป็นชิ้นส่วนที่ไม่ครบ สะท้อนให้เห็นการทำงาน ถึงแม้ว่าไม่ใช่หนังที่ทำเพื่อการค้าอย่างแท้จริง แต่ว่าก็ใช้เครื่องไม้เครื่องมือของโรงถ่ายทหารอากาศ (ก่อนหน้านั้นคือโรงถ่ายไทยฟิล์ม) เพราะฉะนั้นทำให้เราได้เห็นว่าอุตสาหกรรม หรือมาตรฐานการสร้างขนาดไหน เป็นตัวอย่างของหนังที่หายากในยุคนั้น”
“ความสำคัญของภาพยนตร์น่าสนใจตรงเจตนารมณ์ของผู้สร้างคือ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่มองเห็นความสำคัญของภาพยนตร์ ในการที่จะนำมาใช้สื่อสารหลังจากที่ท่านประพันธ์นิยายเสร็จเป็นหนังสือแล้ว ท่านคงคิดว่าการที่จะเข้าถึงคนในวงกว้างเพื่อสื่อสารสิ่งที่ต้องการพูดออกไป ภาพยนตร์อาจไปถึงผู้คนได้มากกว่า ถ้าเราเอาบริบทช่วงที่เกิดขึ้น เช่น ให้บทสนทนาภาษาอังกฤษ คงไม่ได้แค่ต้องการสื่อสารกับคนในประเทศก็ได้ อาจต้องการสื่อสารกับนานาประเทศ เหล่านี้น่าทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ในยุคนั้น” (บทพากย์ โดย ศักดิ์สิทธิ์ แสงพราย)
“บทภาพยนตร์ที่ท่านเขียนเอง แสดงถึงเป็นอุดมคติเรื่องสันติภาพ อาจารย์ปรีดีเป็นนักอุดมคติซึ่งหาได้ยากมากในปัจจุบันที่จะมีคนแบบนี้ ที่เชื่อว่าโลกจะสันติสุขเมื่อมีความยุติธรรม หรือไม่รุกรานกัน ท่านเชื่อสิ่งเหล่านี้ด้วยใจบริสุทธิ์อย่างแท้จริง เราได้ศึกษาประวัติท่านมาหลายช่วงชีวิต รวมทั้งคนใน generation เดียวกับท่าน จะเป็นนักอุดมคติ ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่าซึ่งเราจะอยู่ได้อย่างสงบสุข เพราะช่วงนั้นเริ่มมีสงคราม การเขียนถึงสันติภาพในช่วงที่สงครามกำลังจะมาถึงประเทศเราเป็น statement ที่สำคัญ เหมือนขอฝันไกล แสดงออกถึงธรรมาภิบาล มีความซื่อตรงในหลักการ ไม่เอาประโยชน์เข้าตัว ทั้งที่ความจริงมีโอกาสจะมีมเหสีกี่คนก็ได้ ท่านก็ไม่ทำ เพราะมีเส้นของหลักธรรม แล้วพยายามรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แทนที่จะใช้การสู้รบ ก็มีความคิดที่ไม่อยากให้ประชาชนกับทหารต้องมาเสียเลือดเนื้อ เพราะความทะเยอทะยานหรือความอยากได้ช้างเผือกของผู้นำ เข้ากับหลักธรรมาภิบาลของผู้ปกครองด้วย”
“เหตุผลที่น่าสนใจของหนังเรื่องนี้ที่เหลือรอดมา แตกต่างจากหนังไทยเรื่องอื่นที่สาบสูญไปก็เพราะว่า อาจารย์ปรีดีเป็นนักกฎหมายท่านมองการณ์ไกล เอาหนังไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์ที่ Librarian of Congress (สำนักงานใหญ่หอสมุดรัฐสภาคองเกรส สหรัฐอเมริกา) ระเบียบของการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ก็คือ ต้องทำสำเนามอบให้เขาเก็บไว้หนึ่งชุด เป็นฟิล์ม 35 มม. ไนเตรต[2] แต่ติดไฟง่ายมีความเสี่ยง เขาเลยพิมพ์ย่อเป็นฟิล์ม 16 ทำให้ต้นฉบับที่มาฉายในเมืองไทยครั้งแรกเป็นฟิล์ม 16 มม.”
“พระเจ้าช้างเผือก” ผ่านการบูรณะมาหลายครั้ง เมื่อหนังครบรอบ 60 ปี ในเดือนเมษายน พ.ศ 2543 ประเทศฝรั่งเศสจัดงาน “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งเมืองโดวิลล์” (Deauville American Film Festival) ต้องการหนังไปฉายโชว์จึงได้ช่วยจัดหาผู้สนับสนุนงบประมาณเพื่อพิมพ์สำเนาฟิล์มจากต้นฉบับที่อเมริกา แต่ฉบับ 35 มม. ไม่ทันฉายในงานเทศกาลฯ เพราะขั้นตอนซับซ้อนยุ่งยากมากมาย จึงได้ฉบับ 16 มม. ไปฉายแทน และช่วยทำสำเร็จในปี พ.ศ. 2544 ทางเทศกาลฯ ได้สั่งทำสำเนา Master Positive 16 มม. และเส้นเสียง Optic 16 มม. จากอเมริกา ส่งมาให้หอภาพยนตร์ เพื่อพิมพ์ขยายขึ้นเป็น 35 มม. ในประเทศไทย โดยมีห้องแล็บพิมพ์-ล้างภาพยนตร์ สยามพัฒนาฟิล์ม เป็นผู้ดำเนินการ[3]
“เรานำมาบูรณะจากฟิล์ม 16 เป็น 35 มม. ก็พบว่าพอขยายขึ้นมามีปัญหาที่เส้นเสียง noise เยอะมาก (เสียงรบกวน) ทางบริษัท เทคนิคคัลเลอร์ เสนอกับทางหอภาพยนตร์ว่าจะช่วยบูรณะอนุรักษ์หนัง มีเรื่องไหนที่อยากจะให้ทำ คุณโดมบอกว่าเรื่องนี้เสียงมีปัญหา เลยมีการแก้เรื่องเสียงทำ digitized[4] เพื่อให้เสียงดีขึ้น ทุกครั้งที่เจอ Material ใหม่ๆ ก็อยากจะปรับปรุง พยายามทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดีที่สุด เป็นเหตุให้ทำใหม่หลายรอบมาก”
“วันหนึ่งที่บ้านท่านผู้หญิงฯ ก็พบฟิล์ม 35 มม. อยู่ในห้องเก็บของแต่ไม่ครบทุกม้วน ปลวกขึ้นกำลังจะเอาไปทิ้ง พอเรียกหอภาพยนตร์ไปถึงได้รู้ว่าเป็นพระเจ้าช้างเผือกอีกชุด เวอร์ชัน 55 นาที คงถูกตัดออกมาตอนไปฉายที่อเมริกาแล้วเห็นว่ายืดยาว เลยตัดออกมาเป็นอีกเวอร์ชัน แล้วใส่เพลงใหม่ที่ไม่ใช่ของพระเจนดุริยางค์ ด้านดนตรีก็เด่นเช่น เพลงอโยธยา ก่อนหน้านี้ก็เคยเจอคนละเวอร์ชันมาบ้างแล้ว ทำให้เราได้หนัง 35 มม. มาสแกน เพราะคุณภาพดีกว่า มารวมกับอันเดิม 16 มม. จะได้สมบูรณ์มากขึ้น บูรณะมา 5-6 ครั้ง ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปมาปรับใหม่อยู่ตลอด เพราะเราคิดว่าเรื่องนี้สำคัญที่ได้รวมงานศิลปวัฒนธรรมของไทยไว้ครบ เป็นแบบอย่างที่น่าเก็บไว้ศึกษา”
“เพราะหนังพูดภาษาอังกฤษบางทีคนจะขี้เกียจอ่านซับ ตอนครบรอบ 70 ปี เลยคิดว่าถ้าเราลองมีเวอร์ชันพากย์ไทยจะเป็นอย่างไร ก็ปรึกษากันว่าควรใช้ใครหรือจะเป็นมืออาชีพ แล้วนึกขึ้นมาได้ว่าคุณป๋องลูกของครูดุษฎี[5] เป็นนักร้องเสียงดี เลยให้พากย์เสียงพระเจ้าจักรา มีเชื้อสายได้ครอบครัวด้วย ในดีวีดีมีเวอร์ชันพากย์ไทยให้ เป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งเวลาฉายให้เด็กๆ ดู ก็สนุกดี การมีอยู่ให้คนเข้าถึงได้นี่สำคัญ การเผยแพร่ทั้งสองเวอร์ชันในยูทูบทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น ทางหอภาพยนตร์มีแนะนำให้คุณครูเอาเข้าไปใช้ในห้องเรียนได้ด้วย เนื้อหามีทำคู่มือเป็นเล่มให้คุณครูด้วย ทางโรงเรียนก็มีพาเด็กๆ มาชมที่หอภาพยนตร์เป็นประจำ”
“ช้างเผือก” เชือกประวัติศาสตร์ชาติไทย
กระบวนการทำงานอย่างหนักในการอนุรักษ์ภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” ก่อนจะมีการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยหอภาพยนตร์มีบทบาทสำคัญในการส่งผ่าน “ช้างเผือก เชือกประวัติศาสตร์” ให้ประกาศสารแห่งสันติภาพจน The King of The White Elephant ได้รับการยกย่องจาก UNESCO ว่าเป็น “มรดกทางศิลปวัฒนธรรมชิ้นสำคัญ ที่เชิดชูหลักสันติธรรมให้สูง และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์” ในความหมายที่ยืนยันชัดเจนว่า “นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ แต่ตัวภาพยนตร์เองเป็นประวัติศาสตร์” จึงมีมติมอบรางวัลเฟลลินี เหรียญเงิน (The Fellini Silver Medal Award)[6] เพื่อเชิดชูเกียรติผู้กำกับ และองค์กรสร้างสรรค์ผลงานอนุรักษ์ศิลปะ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2550 (โดย สภาสากลว่าด้วยภาพยนตร์ โทรทัศน์และการสื่อสารด้านโสตทัศน์ขององค์การยูเนสโก UNESCO: United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization - องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) ปัจจุบัน ภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจากหอภาพยนตร์ ให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2554
หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ[7]
(เปิดเป็นสาธารณะ ให้เสนอชื่อเข้าไปทุกปี ดำเนินงานโดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน))
1. คุณค่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ
เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ สถานที่ กาลสมัย บุคคล เหตุการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับคนไทยและสังคมไทย ในมิติต่างๆ เช่น มานุษยวิทยา สังคมวิทยา เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ทั้งในฐานะปัจเจกและกลุ่มหรือมวลชน สามารถทำให้ผู้ชมเข้าถึงและเข้าใจมิติเหล่านั้นในเชิงประวัติศาสตร์หรือความทรงจำ
2. คุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์
เป็นผลงานภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์ อันแสดงถึงศิลปวิทยาทางด้านภาพยนตร์
3. มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
เป็นภาพยนตร์ที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น การนำเสนอภาพยนตร์นั้น ไม่ว่าการถ่ายทำ การแสดง การตัดต่อ ฯลฯ มีความคิดริเริ่ม ไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อนในภาพยนตร์อื่นๆ
4. บูรณภาพ
คือความสมบูรณ์ครบถ้วนของผลงานภาพยนตร์ตรงตามต้นฉบับของผู้สร้างสรรค์ ภาพยนตร์ที่ออกฉายแล้วอาจถูกตัดทอน ถูกเสริมเติมแต่งเพิ่มเติม ถูกดัดแปลงไปด้วยเหตุต่างๆ
5. ความเสี่ยงต่อการสูญเสียหรือยากแก่การหาทดแทน
เป็นภาพยนตร์ที่ยังมีฟิล์มต้นฉบับหรือสำเนาในรูปแบบอื่นใดอยู่ แต่ตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงที่จะสูญเสียภาพยนตร์นั้นไป ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ เช่น มีต้นฉบับหรือสำเนาอยู่เพียงชุดเดียว หรือภาพยนตร์นั้นกำลังเสื่อมสภาพ หรือสภาพการจัดเก็บไม่ปลอดภัย ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น
6. อิทธิพลต่อคนและสังคม
ภาพยนตร์ที่สามารถส่งผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อปัจเจกชนและหรือต่อสังคม ไม่ว่าทางด้านพฤติกรรม ความคิด ความเชื่อ อารมณ์ ฯลฯ อาจก่อให้เกิดกระแสสมัยนิยมเกิดการเปลี่ยนแปลง ค่านิยม ขนบธรรมเนียม ไม่ว่าชั่วระยะเวลาสั้นหรือยั่งยืนนาน
ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ คนปัจจุบัน เพิ่มเติมว่า “หนังในแต่ละปีมีมากอยู่แล้ว เราพยายามจะ highlight ว่าภาพยนตร์มีความสำคัญ เป็น campaign ที่ทำให้คนได้เห็นว่ามีหนังที่หลากหลาย มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ ต่อการเรียนรู้ของคนในประเทศ ปีนี้เข้าปีที่ 13 แล้วนะ มีการเสนอชื่อเข้ามาก่อนในรอบที่ 1 แล้วมีคณะกรรมการประเมินภาพยนตร์เรื่องที่เราจะขึ้นทะเบียน ว่ามีความสำคัญในด้านต่างๆ ยังไงบ้าง เช่น ด้านศิลปะภาพยนตร์ ด้านประวัติศาสตร์ ด้านผลกระทบทางสังคม หรือด้านความสมบูรณ์ มีองค์ประกอบหลายอย่าง แต่ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกข้อ กรรมการ 35 ท่าน จะเอามาถกเถียงกันก่อนเสนอชื่อขึ้นทะเบียน ปีแรกมี 25 เรื่อง” (ปีล่าสุด 2565 มีภาพยนตร์ไทยกว่า 321 เรื่องที่ประชาชนจากทั่วประเทศกว่า 1,000 คนร่วมเสนอรายชื่อ ผ่านการคัดเลือก 15 เรื่อง)[8] รวมรายชื่อภาพยนตร์ ไทยที่ขึ้นทะเบียนแล้วตั้งแต่ปีแรกจนถึง 2565 รวมทั้งสิ้น 233 เรื่อง
“พระเจ้าช้างเผือก ได้รับการคัดเลือกเพราะมีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ ในบริบทที่ภาพยนตร์มีสถานะยังไงในการสื่อสารกับนานาประเทศในช่วงสงคราม หรือเป็น sequel นำไปสู่ช่วงก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สงคราม จริงๆ มีเรื่องขบวนการเสรีไทย เป็นการบอกล่วงหน้าว่าสิ่งนี้คือ agenda ว่าไทยเราไม่ได้สนับสนุนสงคราม กับอีกในแง่หนึ่งถึงแม้ว่านักแสดงจะเป็นสมัครเล่น แต่ตากล้อง คุณประสาท สุขุม (ผู้อำนวยการถ่ายทำหรือกำกับภาพเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก) คือช่างภาพระดับมืออาชีพ ที่เป็นสมาชิกสมาคมช่างถ่ายภาพยนตร์อเมริกัน (American Society of Cinematographer: A.S.C.) ซึ่งเป็นคนแรกและคนเดียวในประเทศไทย ท่านถ่ายได้อลังการเหมือนหนังฮอลลีวูด คุณโดม ยกย่องงานถ่ายทำว่าเป็นการถ่ายช้างได้สวยที่สุด”
โดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์ไทย อดีตผู้อำนวยการฯ เขียนไว้ในวารสารหนังไทย ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2544 บทความเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก สามัญภาพยนตร์เพื่อชาติไทยและมนุษยชาติ”[9] กล่าวถึงผลงานของ คุณประสาท สุขุม (Director of Photography) ผู้กำกับภาพ ของโรงถ่ายไทยฟิล์ม ทุ่งมหาเมฆ ตั้งแต่เริ่มเปิดโรงถ่าย ปี 2481 จนปิดกิจการเมื่อปี 2483 ว่า “พระเจ้าช้างเผือก” ได้อาศัยโรงถ่าย อุปกรณ์ และบุคลากรของ ไทยฟิล์ม เป็นฐานสำคัญในงานสร้าง ทำให้ผลการสร้างงานมีคุณภาพระดับหัวแถวของประเทศ เพราะได้รวมที่ปรึกษาหัวก้าวหน้า และผู้ชำนาญการพิเศษเฉพาะทางด้านต่างๆ เช่น เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ เป็นผู้กำกับการโขลงช้าง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความร่วมมือของกองทัพคชสารที่ปฏิบัติการได้สมจริงยิ่งใหญ่
“การถ่ายภาพและการตัดต่อภาพ เป็นส่วนที่โดดเด่นอย่างปฏิเสธไม่ได้ของภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก แม้แต่นักแนะนำภาพยนตร์ในหน้าหนังสือพิมพ์ของฝรั่งอย่างน้อยสองราย ต่างเขียนถึงเมื่อได้ดู พระเจ้าช้างเผือก ที่ออกฉายที่นิวยอร์กในวันเปิดรอบปฐมทัศน์โลก 4 เมษายน พ.ศ. 2484 ยอมรับอย่างน่าทึ่งว่า การถ่ายภาพและจัดแสงทำได้ดี ข้าพเจ้าคิดว่าไม่ใช่ดีแต่ดีมาก และดีเลิศ โดยเฉพาะการถ่ายช้าง นี่คือภาพยนตร์ที่ถ่ายช้างได้งามวิเศษที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก ท่านผู้นี้ได้ไปเรียนและฝึกงานการถ่ายทำภาพยนตร์ในโรงถ่ายภาพยนตร์พาราเมาท์ที่ฮอลลีวูดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 รุ่นเดียวกับ เจมส์ หว่อง โห ตากล้องชาวจีนที่ไปโด่งดังอยู่ในฮอลลีวูด และไปดูงานเพิ่มเติมอีกครั้งในปี พ.ศ. 2480 เพื่อติดตามให้ทันความก้าวหน้าของวงการ” โดม สุขวงศ์ คัมภีร์ภาพยนตร์ ยืนยัน
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์จากสื่อต่างประเทศซึ่งใช้มาตรฐานของภาพยนตร์ตะวันตก ที่มีพัฒนาการก้าวไปไกลกว่าของไทยเกือบศตวรรษ มาตัดสินงานสร้างโดยไม่เข้าใจในบริบทสังคมของ “พระเจ้าช้างเผือก” ที่เป็นงานผสานเทคนิคการนำเสนอมหรสพไทยในแบบประเพณีดั้งเดิม กับวัฒนธรรมใหม่ของทางตะวันตก จึงเป็นทัศนทรรศน์ที่ขัดกับกติกาสากล เพราะไม่ต่างจากการเปรียบมวยคนละรุ่นซึ่งต่างกันในทุกๆ ด้านโดยสิ้นเชิง แม้กระนั้นท่าน ปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นเจ้าของผลงานก็ไม่ได้ตอบโต้สิ่งใด ปล่อยให้งานเป็นสาธารณะสมบัติ ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและหัวใจที่เปิดกว้าง ดังจะเห็นได้จากจดหมายที่ท่านมอบหนังให้กับคณะกรรมการสันติภาพจีนพิจารณาจัดฉายให้ประชาชนจีนชม ขณะลี้ภัยการเมืองอยู่ในสาธารณะรัฐประชาชนจีนเมื่อปี 1956 (พ.ศ. 2499) ซึ่งเป็นการยอมรับข้อบกพร่องในงานสร้างภาพยนตร์ และยอมให้มีการปรับปรุงแก้ไขตามที่เห็นสมควรได้ทุกประการ ดังข้อความส่วนหนึ่งในเอกสารการส่งมอบพร้อมฟิล์ม 11 ม้วน ความว่า
บันทึกข้อบกพร่อง[10]
(๑) ความบกพร่องทั่วไปมีอยู่มาก ซึ่งเนื่องจากความคิดล้าหลังหลายอย่างของข้าพเจ้า ที่เปนผู้แต่งเรื่องและเปนผู้จัดทำภาพยนตร์เรื่องนี้. อย่างไรก็ตามสาระสำคัญแห่งความปราถนาของข้าพเจ้าก็คือ การคัดค้านสงครามและส่งเสริมสันติภาพ.
(๒) ผู้แสดงภาพยนตร์ เปนเพื่อนที่มิได้เคยมีอาชีพในทางแสดงภาพยนตร์มาก่อน เหตุฉนั้นการแสดงจึงบกพร่องหลายอย่าง. ส่วนเทฆนิคในการถ่ายภาพและในการอัดเสียงนั้น แม้ผู้ปฏิบัติงานจะเปนเจ้าหน้าที่เทฆนิคโดยฉะเพาะก็ตาม แต่ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ นั้น เทฆนิคยังล้าหลังกว่าปัจจุบันนี้มาก.
(๓) โดยฉะเพาะฟิลม์ภาพยนตร์ชุดที่ส่งมานี้ มีข้อบกพร่องหลายอย่างมากกว่าต้นฉบับเดิม. ทั้งนี้ขอชี้แจงว่าต้นฉบับเดิมนั้นเก็บไว้ในประเทศไทยซึ่งมีความยากลำบากที่จะนำออกจากประเทศไทยเพื่อส่งเข้ามาในประเทศจีน. ชุดที่ส่งมานี้เปนชุดที่ข้าพเจ้าขอให้เพื่อนที่ฮ่องกงจัดการ เอาคืนมาจากผู้ที่ลักลอบเอามายังฮ่องกง. ผู้ลักลอบได้โอนกันต่อไปหลายมือ และได้ทำการตัดทอนฟิลม์บางตอนออกจากต้นฉบับเดิมเช่น (ก) ตัดตอนหนึ่งในฉากระบำ (ข) ตัดตอนหนึ่งในฉากร้องเพลง (ค) ตัดตอนหนึ่งของฉากสุดท้ายที่จักราจะเลือกราชินี. แม้ทางศิลปจะขาดไปบ้างจากต้นฉบับเดิมแต่ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็ยังคงแสดงถึงศิลปเหล่านั้นได้. สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการคัดค้านสงครามและส่งเสริมสันติภาพกับการแสดงถึงวัฒนธรรมของไทยกับบทบาทของช้างยังคงมีอยู่ตามเดิม.
(๔) ข้าพเจ้าหวังว่าคณะกรรมการสันติภาพจีนและเจ้าหน้าที่ภาพยนตร์จีนคงจะพบข้อบกพร่องอีกหลายอย่างและคงจะพิจารณาช่วยแก้บกพร่องทั้งหลายตามที่เห็นสมควรด้วย.
ปรีดี พนมยงค์
หมายเหตุ : ข้อความในจดหมายและบันทึกคงรูปแบบการสะกดตามต้นฉบับที่หอภาพยนตร์ค้นพบ ในหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
TREND ของการเสพงานภาพยนตร์ที่น่าสนใจในปัจจุบันนี้คือ ผู้ชมรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับหนังที่มี content เด่นเป็นหลัก โดยเฉพาะในมิติของปัจเจกนิยมและมนุษยนิยม ที่มีอุดมคติเป็นจุดร่วม ก่อนหลอมรวมเป็นอุดมการณ์เดียวกัน เทคนิคอลังการกลายเป็นเรื่องรองของคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า (ที่อายุไม่ใช่เครื่องชี้วัด) รูปแบบของหนังในแนวเดียวกับ “พระเจ้าช้างเผือก” กำลังได้รับความนิยมในนามของหนัง Semi - Documentary ที่โลกให้ความสำคัญ เพราะความเป็นสารคดีที่มีหัวใจหลักคือ ความจริง เป็นสิ่งที่ขาดแคลนในหนังบันเทิงกระแสหลัก แม้มีลักษณะแปลกแตกต่างไปจากหนังพาณิชย์ มีวิธีคิดวิธีทำเป็นหนังสารคดีทุนต่ำแต่คุณภาพคือ เนื้อหาที่สื่อสารตรง ชัดเจนในจุดประสงค์ มั่นคงในจุดยืน การไม่ถูกกลืนจึงกลายเป็นเอกลักษณ์ของหนังนอกกระแสทั่วโลก เพราะมีความเป็น organic ของหนังคือเสน่ห์ที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญสุดคืออุดมการณ์ที่ส่งผ่านอัตลักษณ์ “พระเจ้าช้างเผือก” มีคุณสมบัติครบทุกประการ และเป็นหนังที่มาก่อนกาล แต่อยู่ได้ตลอดกาล ผ่านการพิสูจน์จากคนหลากรุ่นหลายวัยที่มีตาต่อสิ่งที่เรียกว่า แก่น มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับ เปลือก เพราะโลกได้เลือกแล้ว ในวันที่ High Technology มีความหมายแค่เครื่องมือทางการตลาด ไม่อาจวัดคุณค่าแท้จริงของทุกสิ่งได้.
รายนามนักแสดง
- พระเจ้าจักรา กษัตริย์อโยธยา แสดงโดย เรณู กฤตยากร
- พระเจ้าหงสา แสดงโดย ประดับ รบิลวงศ์
- สมุหราชมณเฑียรแห่งอโยธยา แสดงโดย สุวัฒน์ นิลเสน
- สมุหกลาโหมแห่งอโยธยา แสดงโดย หลวงศรีสุรางค์
- เรณู (ธิดาสมุหราชมณเฑียร) แสดงโดย ไพริน นิลเสน
- เจ้าเมืองกาญจนบุรี แสดงโดย นิตย์ มหากนก
- พระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดี แสดงโดย ไววิทย์ ว.พิทักษ์
- อัครมหาเสนาบดีแห่งหงสาวดี แสดงโดย หลวงสมัครนันทพล
- สมุหราชมณเฑียรหงสา แสดงโดย ประสาน ศิริพิเดช
- องครักษ์ของอัครมหาเสนาบดีแห่งหงสาวดี แสดงโดย มาลัย รักประจิตต์
รายชื่อทีมงาน
- อำนวยการสร้าง และบทภาพยนตร์ - ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์
- ถ่ายภาพ - ประสาท สุขุม A.S.C.
- บันทึกเสียง - ชาญ บุนนาค
- ตัดต่อ - บำรุง แนวพนิช
- กำกับดนตรี - พระเจนดุริยางค์
- กำกับศิลป์ - หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์
- ผู้กำกับการแสดง - สัณห์ วสุธาร
- ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดง - หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ และ ใจ สุวรรณทัต
- บทพากย์ไทย - แดง คุณะดิลก
- กำกับโขลงช้าง - เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์
- พระยาเทวาธิราช (หม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป. มาลากุล) - ที่ปรึกษาการจัดงานพระราชพิธีและเครื่องแต่งกาย
หมายเหตุสำคัญ : ภาพประกอบบทความข่าวจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
[1] สถาบันปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2566.
[2] Nitrate เป็นฐานฟิล์มในยุคแรกของการผลิตฟิล์มภาพยนตร์ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นฟิล์มที่มีความคงทนมากที่สุด เพราะสามารถอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน
[3] ข้าพเจ้าเอง (โดม สุขวงศ์), วารสารหนัง: ไทย ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2544, The King of the White Elephant and i พระเจ้าช้างเผือก สามัญภาพยนตร์เพื่อชาติไทยและมนุษยชาติ (4) : ปัจฉิมทัศน์, สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2566.
[4] Digitization หมายถึง กระบวนการแปลงข้อมูลไปสู่รูปแบบดิจิทัล
[5] นดย บุญทัศนกุล บุตรชายคนเดียวของ ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล หนึ่งในบุตรีของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์
[6]MGR Online, หอภาพยนตร์ฯ เตรียมฉาย “พระเจ้าช้างเผือก” ร่วมเทิดพระเกียรติ 80 พรรษา, สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2566.
[7]หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ใน, เปิดเสนอรายชื่อภาพยนตร์ ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 12, สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2566.
[8] หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), พิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติครั้งที่ 12 ประจำปี 2565, สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2566.
[9] ข้าพเจ้าเอง (โดม สุขวงศ์), The King of the White Elephant and i พระเจ้าช้างเผือก สามัญภาพยนตร์เพื่อชาติไทยและมนุษยชาติ, สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2566.
[10]พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู , บันทึกข้อบกพร่อง ใน, อ่านจดหมายนำฉาย “พระเจ้าช้างเผือก” และบันทึกข้อบกพร่องของภาพยนตร์โดย ปรีดี พนมยงค์ ขณะลี้ภัยในจีน, สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2566.
- พระเจ้าช้างเผือก
- กวินพร เจริญศรี
- ปรีดี พนมยงค์
- ศักดิ์สิทธิ์ แสงพราย
- ชลิดา เอื้อบำรุงจิต
- ประสาท สุขุม
- เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์
- โดม สุขวงศ์
- หลัก 6 ประการ
- คณะราษฎร
- The King of The White Elephant
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- ขบวนการเสรีไทย
- Librarian of Congress
- เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งเมืองโดวิลล์
- Deauville American Film Festival
- UNESCO
- รางวัลเฟลลินี เหรียญเงิน
- The Fellini Silver Medal Award
- เรณู กฤตยากร
- ประดับ รบิลวงศ์
- สุวัฒน์ นิลเสน
- หลวงศรีสุรางค์
- ไพริน นิลเสน
- นิตย์ มหากนก
- ไววิทย์ ว.พิทักษ์
- หลวงสมัครนันทพล
- ประสาน ศิริพิเดช
- มาลัย รักประจิตต์
- เค้าโครงการเศรษฐกิจ
- สมุดปกเหลือง