ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

การเสียสละด้วยจิตวิญญาณของเหล่า “วีรชนเสรีไทย”

4
กันยายน
2566

Focus

  • การเรียนรู้ในแง่มุมของจิตวิญญาณของขบวนการเสรีไทยเป็นสิ่งสำคัญ แต่เป็นข้อจำกัดที่การเรียนการสอนในโรงเรียนไม่ได้เข้าถึงเรื่องเช่นนี้ เพราะมักจะเน้นประวัติศาสตร์แบบท่องจำ
  • การต่อต้านญี่ปุ่นของขบวนการเสรีไทยมีการจัดตั้งพลพรรคใน 39 จังหวัด อันเป็นที่รวมของบุคคลทุกชนชั้น วรรณะ ตั้งแต่ราษฎรทั่วไป กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คุณครู ฯลฯ และเป็นไปอย่างมีอุดมคติ และกล้าหาญ ดังตัวอย่างของการฝึกการรบด้วยจิตวิญาณของความเสียสละและความต้องการเอกราชของชาติ
  • นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์จำนวนมากสมควรได้รับการศึกษาเรียนรู้ รวมถึง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับชาวต่างชาติที่พยาบามเอาใจใส่ต่อกันและมีความน่าประทับใจ แม้กระทั่งระหว่างคนไทยกับทหารญี่ปุ่น สมควรที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ และลดละการละเมิดต่อกันที่มีมากขึ้นในทุกวันนี้ โดยเข้าถึงสำนึกแห่งสันติภาพดังตัวอย่างของชาวขบวนการเสรีไทย

 

 

พิธีกร :

นอกเหนือจากการพูดถึงความสำคัญของขบวนการเสรีไทย แน่นอนเราย่อมอยากรู้ถึงแง่มุมของจิตวิญญาณของขบวนการเสรีไทยโดยแท้ การเสียสละที่ไม่ใช่ใครก็จะมาพูดได้ว่าเราอยากเสีย การเสียสละด้วยจิตวิญญาณ รวมถึงประเด็นชวนคิดจากเสรีไทยสู่สังคมไทยปัจจุบัน

ดร.ผุสดี ตามไท :

ก่อนอื่นต้องขอกราบคารวะเสรีไทย ทั้งบรรพบุรุษและบรรพสตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องในขบวนการเสรีไทย ไม่ว่าจะเป็นที่สหรัฐอเมริกา ที่อังกฤษ ฯลฯ และโดยเฉพาะที่ประเทศไทย มีคนกล่าวถึงกันอยู่เยอะแยะแล้วก็ขอแถมนอกเหนือไปอีกนิดหนึ่งว่า ทำไมตนจึงมีความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นมาก โดยเฉพาะเรื่องของขบวนการเสรีไทย

 

 

“ขบวนการเสรีไทย” น่าจะอยู่ในการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ แต่ไม่ใช่การเรียนการสอนประวัติศาสตร์แบบที่เราได้รับกันมา คือจำแต่วันที่ จำแต่ชื่อคน จำแต่อะไรไม่ทราบ ซึ่งมันไม่มีวิญญาณและไม่มีแก่นที่มาช่วยให้เราสามารถสืบทอดสิ่งดีๆ ไปข้างหน้าได้

ดิฉันเองค่อนข้างทึ่งในหลายเรื่อง แต่ก่อนจะเล่าเรื่องความทึ่ง ดิฉันขออนุญาตเล่าเรื่องของ “ขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย” ว่าประเทศไทยน่าจะเป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุดเพราะว่าใน 39 จังหวัดที่มีการจัดตั้งพลพรรคเสรีไทยขึ้น ตั้งแต่เหนือจรดใต้

ถ้าจำกันได้อย่างที่อาจารย์อนุสรณ์พูดถึง เวลาญี่ปุ่นบุกจังหวัดที่อยู่ริมทะเลทั้งหลาย ตั้งแต่วันที่ 8 ตอนเช้ามืดได้ลุกขึ้นจับอาวุธต่อสู้กัน ตั้งแต่สมุทรปราการ ชุมพร ประจวบ จนกระทั่งถึงปัตตานี แต่ที่เวลาอ่านและรู้สึกว่าที่ประจวบฯ มีการเสียชีวิต มีการในสูญเสียมากที่สุด ก็ไปคุ้ยๆ ดูว่าทำไมเกิดขึ้นใกล้แค่นี้

ปรากฏว่าวันที่ที่เกิดเรื่องขึ้นตอนเช้าท่านนายกรัฐมนตรีก็ไปดูงานอยู่ต่างจังหวัด ภาคตะวันออก กว่าจะกลับมาที่กรุงเทพฯ ก็สายไปแล้ว ท่านก็เลยมีคำสั่งว่าให้ยุติการต่อต้านญี่ปุ่นและยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปสู่พม่าและมลายู ขณะเดียวกัน การสู้รบกันที่ประจวบฯ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ แต่กว่าจะรู้ก็วันรุ่งขึ้นเวลาบ่ายโมง เพราะฉะนั้น จึงมีการสูญเสียชีวิตมากที่สุด อันนั้นก็เป็นเรื่องที่หนึ่งที่มีความรู้สึกว่าอยากให้ท่านทั้งหลายมองเห็นว่า วิญญาณของคนไทยที่อยู่ที่ประเทศไทยก็ฮึกเหิมและต่อสู้กันซึ่งมีการสูญเสียไม่น้อยทีเดียว

โดย 39 จังหวัดที่จัดตั้งพลพรรค อาจารย์อนุสรณ์พูดถึงเหมือนกันว่า มีทุกชนชั้น วรรณะ มีตั้งแต่ราษฎรทั่วไป มีทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คุณครู ฯลฯ มารวมกัน ไปจัดตั้งและมีการฝึกการใช้อาวุธ ฝึกการรบแบบกองโจร ฝึกการส่งวิทยุโดยมีการตั้งสถานีวิทยุขึ้นในหลายแห่งมากเป็นการสุ่มเสี่ยงที่สุด เพราะในผืนแผ่นดินประเทศไทย กองทัพญี่ปุ่นอยู่เต็มไปหมด เพราะฉะนั้น การที่จะลุกขึ้นตั้งสถานีวิทยุและส่งข่าวคราวทั้งหมด ปฏิบัติการก็คือว่า เสรีไทยที่โดดร่มมาก็ดี หรือมาด้วยทางเดินเท้าก็ดี ฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายเข้ามาประเทศไทย เพื่อที่จะเสาะหาข้อมูลและทำงานร่วมกันกับฝ่ายสัมพันธมิตร ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้มีข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อที่จะต้องจัดการกับกองทัพญี่ปุ่น อย่างนี้เป็นต้น

การที่ประชาชนคนไทยที่เข้าไปร่วมในพลพรรคเสรีไทยใน 39 จังหวัด และมีหน่วยที่อยู่ข้างหลังอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นภรรยา ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องต่างๆ ต้องช่วยกัน ต้องมีความอดทนเป็นอันมาก

และปฏิบัติการในเมืองไทยนี้ ท่านปรีดี ดิฉันต้องชื่นชมท่านมากเป็นพิเศษจากที่อ่านหนังสือก็ยังมีความรู้สึกเสียดายมากที่ไม่มีโอกาสรู้จักท่าน แต่ว่าเข้าใจถึงจิตวิญญาณ และมีความรู้สึกทึ่งที่สุดที่มีความกล้าหาญมาก ในการลุกขึ้นตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น อย่าลืมว่าญี่ปุ่นอยู่เต็มไปหมด พลพรรคเสรีไทยใน 39 จังหวัดช่วยทำงานกันทั้งใต้ดินบนดินไปเรื่อยๆ และประสบความสำเร็จในที่สุด สามารถที่จะสื่อสารกันกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีกองบัญชาการอยู่ที่ต่างประเทศ ซึ่งในท้ายที่สุดก็สามารถที่จะทำงานได้สำเร็จ

ดิฉันมีเกร็ดเล็กๆ เป็นความคิดของตัวเองว่าทำไมถึงไม่ดุเดือดกันมากไปกว่าที่เป็นอยู่นี้ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่อ่านพบน่าทึ่งมากในเรื่องของความเป็นมนุษย์ด้วยกัน พลพรรคหนึ่งที่อยู่ที่จังหวัดแพร่ ดิฉันบังเอิญได้ไปคุยกับสมาชิกเสรีไทยที่ตอนนี้ท่านเสียชีวิตไปแล้ว ได้คุยกันเยอะ ทั้งไปตั้งกองฝึกอาวุธกันอยู่ในป่าและมีครูฝึกชาวอเมริกันมาช่วยฝึกและที่น่ารักมากคือว่า เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ ซึ่งเป็น สส. ของแพร่ในตอนนั้น ด้วยความเวทนาหรือว่าความสงสารของครูชาวอเมริกัน นึกถึงเราเวลาไปต่างประเทศใหม่ๆ กินอาหารของทางตะวันตกซึ่งก็คงเลี่ยนน่าดูเหมือนกัน ทั้งนี้เมื่อมาอยู่ในป่า ไม่รู้ทานอาหารอะไร เจ้าวงศ์ ก็คิดว่าเขาคงคิดถึงขนมปังเลยไปตามหาเชฟที่ทำขนมปังได้มาทำขนมปังให้ทหารอเมริกันที่มาเป็นครูฝึกทานในค่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าทึ่งในประการที่หนึ่ง คือความอาทรที่มีให้กันไม่ว่าจะยามสงครามขณะนั้น

 

 

นอกเหนือจากนี้ยังมีเรื่องของ พลพรรคของเสรีไทยที่อยู่ตามจังหวัดต่างๆ ตัวอย่างเช่นว่า ตอนช่วงนั้น สัมพันธมิตรจะส่งอาวุธส่งสัมภาระมาทางเครื่องบินและจะหย่อนลงตามที่ต่างๆ ก็แล้วแต่ว่าหย่อนลงตรงไหนก็ต้องไปตามเก็บเอาอาวุธเหล่านี้ ไปเก็บไว้เองบ้างหรือลำเลียงไป และมีบางรายการที่ลำเลียงไปแต่คิดไม่ออกว่าจะลำเลียงไปอย่างไรดี เช่น ทางสะพานก็ถูกตัดขาดกันหมดแล้วก็เลยลำเลียงมาในแพขนานยนต์ซึ่งญี่ปุ่นเป็นคนดูแล โดยเอาอาวุธนั้นไว้อยู่บนแพขนานยนต์และเอาผ้าคลุมไว้ ซึ่งก็น่าแปลกเพราะโดยส่วนตัวคิดว่าญี่ปุ่นน่าจะพอรู้ แต่ความที่ว่าน้ำจิตน้ำใจของคนไทยที่ส่งให้กับญี่ปุ่นในทุกๆ เมื่อตลอดเวลา หรือว่ามากที่สุดเท่าที่ทำได้เลยทำให้ญี่ปุ่นปิดตาข้างหนึ่งไม่เปิดผ้าใบ ทำให้ขนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ไปยังกองบัญชาการของเสรีไทยได้ หรือเวลาจะต้องพาเสรีไทยที่โดดร่มลงมานั่งเรือแพขนานยนต์เข้าไปกรุงเทพฯ ไปกำแพงเพชร หรือไปไหนต่อไหน และเวลาน้ำแห้งขอดทำอย่างไรก็ต้องลุกขึ้นไปตั้งเต็นท์อยู่บนขอดนั้น

สิ่งเหล่านี้เขาทำด้วยจิตวิญญาณ ด้วยความไม่คิดถึงว่ามันจะเป็นอะไร จะเกิดอะไรขึ้น เพราะอย่าลืมว่าถ้าหากญี่ปุ่นจับได้ก็จะยุ่งเหมือนกัน อีกเรื่องที่อยากเล่าให้ฟังคือทหารที่เข้าไปอยู่เข้าใจว่าคือ ลำปาง ได้พันผ้าขาวที่ขาเพื่อที่จะเขียนและจดข้อมูลบันทึกไว้ในค่ายญี่ปุ่น คืออาสาไปทำงานอยู่ที่ค่ายญี่ปุ่นแต่ขณะเดียวกันก็กล้าหาญมากที่จดบันทึกข้อมูลเพื่อจะเอาออกมาส่งข่าวให้กับเสรีไทยและส่งไปยังสัมพันธมิตรว่ากิจการที่ค่ายของญี่ปุ่นนั้นเป็นอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น

และยังคงมีอีกหลายเรื่องมากที่สะท้อนถึงความกล้าหาญและไม่กลัว คิดว่าชีวิตจะหาไม่ก็คงไม่เป็นไร และมีเกร็ดอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ที่มีความอาทรต่อกันนอกเหนือจากเรื่องของขนมปังแล้ว ก็ยังเป็นเรื่องของทหารญี่ปุ่นตอนจบสงครามที่จังหวัดตาก ทหารญี่ปุ่นมาขอทำอาหารเพื่อจะเลี้ยงฝ่ายไทย ถามว่าคนไทยจะกล้ากินไหม ซึ่งจริงๆ แล้วเขาอยากจะขอโทษ เขาเป็นทหารเขาต้องทำตามคำสั่งแต่เขาก็มีมิตรจิตมิตรใจที่ดีต่อกัน สิ่งนี้ดิฉันมองเห็นอีกอณูของความเป็นมนุษย์ เป็นเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นยามสงครามที่อยู่แบบหน้าสิ่วหน้าขวาน ต้องบอกว่าอย่างนั้นเลย เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่อยากจะเล่าให้ฟังว่า แม้ในยามสงคราม ความเป็นมนุษย์ที่ดีต่อกันก็ยังมีอยู่ มิตรภาพที่ดีก็ยังมีอยู่ต่อกัน

 

 

สุดท้ายดิฉันอยากจะบอกตรงนี้ว่า โดยส่วนตัวคิดว่าญี่ปุ่นค่อนข้างเห็นใจไทย ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะอะไร แต่เป็นไปได้หรือที่ญี่ปุ่นจะไม่รู้เลย ตั้งแต่เวลาประกาศสงครามด้วย เราประกาศสงครามทางเสรีไทยในกรุงเทพฯ ซึ่งท่านปรีดี พนมยงค์ ก็ลุกขึ้นขออนุญาตดูแลชนชาติอเมริกันและอื่นๆ ทั้งหลายที่พอประกาศสงครามแล้วต้องถือว่าเป็นศัตรู ก็ขอไปดูแลเพื่อให้เขาได้รับการดูแลตามสมควร

ยังมีหลายเรื่องแต่ก็อยากจะบอกเพียงแต่ว่า สุดท้ายสิ่งที่ชื่นชมมากเลยจากเรื่องขบวนการเสรีไทยทั้งหมดคือว่า คุณธรรมและคุณสมบัติของผู้ที่เข้าสู่ขบวนการเสรีไทยและคนไทยทั้งหมดที่ช่วยกันประคับประคองให้ประเทศฝ่าฟันอุปสรรคอันใหญ่หลวงที่สุดได้

ประเด็นแรก โดยเฉพาะท่านผู้นำปรีดี พนมยงค์และสมาชิกขบวนการเสรีไทยทุกคนที่ทำงานกัน ไม่เคยคิดเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตัวเองแม้ชีวิตก็ไม่มีใครรู้ เดินป่ากันไม่รู้เท่าไร ดิฉันคิดว่าประการแรกคือ มีอุดมคติในชีวิต อย่าคิดว่าเป็นเพียงอุดมคติทางการเมือง แต่เป็นอุดมคติในชีวิตที่มีความรู้สึกว่าอยากจะทำสิ่งที่ต้องทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าตัวเอง โดยไม่คิดถึงอุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น ของคุณจำกัด พลางกูร ท่านเดินทางไปนครพนมและฝ่าฟันอุปสรรคไปลาว ไปเวียดนาม กว่าจะไปถึงเมืองจีน ถ้าจะเรียกเป็นภาษาธรรมดาก็คงจะม่อยกระรอกเลย คือว่าเดินไปทุกเรื่องทั้งเรือเมล์ มีทั้งเดินเท้า ทั้งอะไรต่อมิอะไร ไปถึงแล้วก็ยังไม่ได้มีโอกาสที่จะพบคนที่ควรจะพบในทันที คือท่านปรีดี อยากจะให้มีการส่งข่าวให้ทราบว่าในประเทศไทยมีขบวนการเสรีไทยที่พร้อมจะต่อสู้เคียงข้างกับสัมพันธมิตร

อุดมคติที่ว่าเป็นวิญญาณของมนุษย์ที่ทุกคนควรมี คือต้องคิดถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าตัวเอง ท่านปรีดีแสดงให้เห็นถึงเรื่องนี้มาก คือท่านลุกขึ้นกล้าหาญที่จะพูดคุยและจัดตั้งองค์กรที่ต่อต้านญี่ปุ่น สุ่มเสี่ยงในหลายเรื่องด้วยกัน อุดมคติเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องมี

สิ่งที่สองซึ่งต้องมีคือ ความกล้าหาญ ไม่ใช่เพียงอุดมคติที่เรามีอยู่เท่านั้น เพียงแต่ว่าลงมือทำไปด้วยเลย เสรีไทยสายอเมริกาฝึกแล้วลงเรือเลย ถ้าใครนึกถึงแผนที่ของสหรัฐอเมริกาออก จากบัลติมอร์รอนแรมไปอยู่บนเรือโคลงเคลงไปไม่รู้ว่าจะเมาเรือกันน่าดูกว่า 95 วันจะไปถึงบอมเบย์ที่ประเทศอินเดีย สายอังกฤษก็เช่นเดียวกันจากลิเวอร์พูลไปก็ 75 วัน และยังต่อด้วยการไปฝึกทั้งทำระเบิด ปลดชนวน ฝึกทั้งการรบแบบกองโจร และหลายท่านมากทั้งที่สหรัฐอเมริกาและที่อังกฤษต่างก็เป็นนักเรียนทุน คือต้องเรียกว่าหัวกะทิทั้งนั้น ทำไมถึงกล้าหาญที่จะไม่ได้คิดถึงเลยว่าจะถูกถอนสัญชาติไหม จะถูกยุติเรื่องของทุนไหม จะถูกห้ามกลับประเทศไทยไหม จะถูกอะไรต่อมิอะไรอีกเยอะแยะที่เราไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น

เหล่านี้เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าคุณธรรมของทุกท่าน คุณสมบัติทั้งอุดมคติในชีวิต ทั้งเรื่องของความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว การตัดสินใจที่จะร่วมในขบวนการนี้เพื่อประเทศของเรา เพื่อคนรุ่นหลังที่จะได้มีโอกาสมีชีวิตอยู่ ดิฉันคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่อยากจะแบ่งปันในเรื่องของขบวนการเสรีไทยที่ในประเทศที่ทุกท่านมีส่วนร่วมกันอย่างมาก

ขอเล่าอีกนิดว่า บรรดาภรรยาหรือใครๆ ที่อยู่ข้างหลังที่คุยกันที่แพร เขาบอกว่าไม่เคยรู้เลยว่าสามีหรือว่าญาติหรือว่าใครก็ตามไปทำอะไรกันบ้าง เพราะทุกอย่างเป็นความลับ และทุกคนนับถือเรื่องนั้นจริงๆ

 

 

เพราะฉะนั้น เราถึงอาจจะไม่ค่อยเห็นบันทึกมากนักที่จริงยังคงมีเรื่องที่น่าสนใจอีกมากทีเดียว แต่บังเอิญไม่ได้มีการบันทึกกันเป็นกิจจะลักษณะ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้ก็ต้องไปคุ้ยๆ หาเอาดูก็รู้สึกทึ่งมาก เสียดายที่ถ้าเราจะหาวิธีช่วยกันยังไงถึงจะถ่ายทอดวิญญาณและความคิดอย่างนี้ให้สืบทอดต่อไปเพราะเราก็ร่วงโรยไปทุกคนเป็นอนิจจัง ทำอย่างไรถึงจะให้คนรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมต้องเกิดขึ้นแต่ทำอย่างไร ถึงจะไปกันได้ด้วยความมีอารยะ ด้วยการที่เราจะเคารพนับถือซึ่งกันและกันและถือเอาอุดมคติเป็นใหญ่ว่าต้องทำเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าตัวเราเอง

พิธีกร :

ตอนนี้คนรุ่นใหม่ได้มีบทบาทเข้ามาในสังคมไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษาเอง ที่ได้มีการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยกันบ้าง นักศึกษาได้มีการเรียกร้องในเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของการเมือง เรื่องของประวัติศาสตร์ชาติไทยมากขึ้น ในฐานะที่ท่านเป็นบุคคลที่เรียกได้ว่า น่าจะบอกกล่าวถึงคนรุ่นใหม่ของเราได้ วันนี้มีอะไรที่อยากจะฝากถึงคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักและเห็นความสำคัญของความเป็นสันติภาพไทยกันบ้าง

ดร.ผุสดี ตามไท :

จนถึงอายุปานนี้ก็ยังนึกไม่ออกว่าการหล่อหลอมวิญญาณนี้ทำกันอย่างไร แต่อยากจะให้เกิดอย่างนั้นขึ้นและก็เน้นคิดว่าตอนนี้ในปัจจุบัน มีเทคโนโลยีมากมาย เพราะฉะนั้น นึกถึงเรื่องของวันสันติภาพ ทำอย่างไรให้เราช่วยกันคนละไม้คนละมือ ช่วยกันสร้างสังคมที่สันติได้ ไม่ว่าเราจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือจะเป็นใครก็แล้วแต่ แล้วอายุปานไหน หรือจะคิดแตกต่างกันอย่างไร ทำไมเราถึงไม่สามารถที่จะคุยกันได้ด้วยความมีอารยะ เนื่องมีความรู้สึกอย่างนี้ และก็มีคลิปอยู่เยอะแยะเลย ความจริงก็ได้ดูคลิปกันทุกวัน คลิปของเรื่องสัตว์ต่างพันธุ์กันบ้างที่มันรักกันช่วยเหลือกัน หรือว่าคลิปของคนที่เขาทำความดีกัน ดิฉันคิดว่าในทุกๆ วันที่โรงเรียน เริ่มที่ 438 โรงเรียนของกทม. ก่อนก็ได้ ให้ดูคลิปทุกวัน ซึ่งคลิปพวกนี้ไม่เคยเกินสักสามสิบวินาทีและก็ให้เด็กๆ ลองถอดความจากตรงนั้น เด็กเล็กๆ ที่ยังเขียนไม่ได้ก็เล่าได้พูดได้และให้เด็กที่โตๆ เขียนเลย

ดิฉันยังเชื่อว่าการที่เราจะไปละเมิดคนอื่นเขา การที่เราจะไปรังแกคนอื่นเขา เช่น การบูลลี่ ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะเด็กๆ ที่อยู่ในโรงเรียนเราบังคับเขาไว้อยู่จนกระทั่งหลายปีทีเดียว ถ้าหากว่าเราทำกันจริงๆ จังๆ ขอสัก 30 วินาที หรือครึ่งชั่วโมง ในทุกเช้าก็สามารถที่จะช่วยปลูกฝัง และนำไปสู่สันติภาพได้ในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นที่ชุมชน หรือระดับใหญ่ก็เป็นระดับนานาชาติ ระดับชาติเสียก่อน

ดิฉันยังเชื่อจริงๆ ว่าด้วยความรักและด้วยเมตตาธรรมที่แม้ในสงคราม เราก็เห็นว่าเรายังมีกันได้ในระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แล้วทำไมที่ประเทศไทยซึ่งใครๆ เคยคิดกันอยู่เสมอเลยว่าน่าจะเป็นศูนย์แห่งสันติภาพได้ด้วยซ้ำไป ทำไมเราจะไม่สามารถเริ่มได้

ก็ขออนุญาตส่งคำถามท้าทายไปยังทุกคนเลยว่า ท่านอยู่โรงเรียน ท่านอยู่มหาวิทยาลัย หรือท่านอยู่องค์กรไหนก็ตาม ลองดูเถอะ เราต้องช่วยกันยุติเรื่องของการบูลลี่ ยุติเรื่องของความไม่มีอารยะในการใช้คำพูดคำจาต่อกัน

 

 

รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/100064881360154/videos/1003049954308779
 

ที่มา : ดร.ผุสดี ตามไท. การเสียสละด้วยจิตวิญญาณของเหล่า “วีรชนเสรีไทย”. กิจกรรมวันครบรอบ 78 ปี วันสันติภาพไทย วันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 ณ ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์ สวนเสรีไทย กรุงเทพมหานคร.