ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

“หลวงสุขุมนัยประดิษฐ” กับการปฏิบัติงานเสรีไทย

1
พฤษภาคม
2568

Focus

  • บทความนี้คัดจากหนังสือ ชีวิต และงาน ของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ บทว่าด้วย “งานเสรีไทย”  ที่เรียบเรียงโดย อินสม ไชยชนะ เนื่องในงานครบรอบอายุ 60 ปีของท่าน
  • รายละเอียดไล่เรียงตั้งแต่เหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกขึ้นไทยในปี 2484 ,การเข้าร่วมภารกิจของเสรีไทยในสหรัฐอเมริกาโดยใช้ชื่อแฝงว่า “นายน้อย  อาจหาญ”, การผจญภัยสงคราม, และภารกิจหลากหลายทั้งวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การศึกษา และการเงินจนถึงหลังสงคราม

 


หลวงสุขุมนัยประดิษฐ

 

เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ นั้น ประเทศไทยเราถูกทหารญี่ปุ่นบุกและยกพลขึ้นตามชายแดนและชายทะเลหลายแห่ง เมื่อได้มีการสู้รบกันได้ไม่ถึง ๔๕ ชั่วโมง ก็ได้มีคำสั่งให้หยุดรบและยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่าน และในเวลาไม่ช้านักประเทศไทยเราก็ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยความไม่เป็นเอกฉันท์นัก เหตุการณ์ในขณะนั้นเป็นที่กระอักกระอ่วนใจยิ่ง แสนยานุภาพของกองทัพลูกพระอาทิตย์ได้ทำการอย่างได้ผลในระยะต้น ๆ แต่ต่อ ๆ มา อาณาเขตที่กองทัพญี่ปุ่นเข้าทำการนั้น ได้แผ่ขยายมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ถูกกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรรุกโต้กลับ

 


ทหารญี่ปุ่นบุกขึ้นบกที่หาดสงขลา

 

การประกาศสงครามโดยความเห็นที่ไม่เป็นเอกฉันท์นี้เอง ได้เกิดมี Reaction ขึ้นคือ ได้มีคณะกู้ชาติขึ้นดำเนินการโต้ตอบอย่างลับ ๆ โดยได้พยายามติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร และชาวไทยทั้งที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาและในประเทศอังกฤษเพื่อร่วมกันต่อต้าน เรียกว่า คณะกู้ชาติ หรือ เสรีไทย หลังจากที่ประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ช้านัก

การดำเนินงานของหน่วยเสรีไทยในประเทศไทยได้รุดหน้ามาเป็นลำดับ จำนวนสมาชิกได้ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ เป็นบุคคลหนึ่งที่หัวหน้าเสรีไทยในประเทศหมายตาไว้ เพื่อให้ร่วมดำเนินงานในฐานะที่เคยเป็นนักเรียนเก่าสหรัฐและเป็นผู้ที่ชาวอเมริกันรู้จักอย่างกว้างขวางคนหนึ่ง และสนิทสนมกับชาวอเมริกันเป็นอย่างดี

 


หลวงสุขุมนัยประดิษฐ ขณะเป็นนักเรียนสหรัฐฯ
ที่มา: ชีวิตและงานของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ

 

ในต้นปี พ.ศ. ๑๔๘๘ นั้นเอง ก็ได้ถูกชักชวนให้เข้าร่วมขบวนเสรีไทยเพื่อติดต่อกับนายทหารอเมริกันซึ่งเล็ดรอดมาประจำอยู่ในพระนคร และในไม่ช้าก็ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าเสรีไทยในประเทศให้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อดำเนินงานดังต่อไปนี้

๑. ทำการโฆษณาให้ชาวอเมริกันได้รู้จักและเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น เพราะตั้งแต่ประเทศไทยเราได้เข้าร่วมสงครามมหาเอเชียบูรพา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมานั้น ชาวอเมริกันเข้าใจประเทศไทยผิด ๆ เพราะเราไปประกาศสงครามกับเขา เขาเข้าใจว่าเราช่วยเหลือญี่ปุ่นอย่างเต็มใจ และเนื่องจากที่เราได้ถือโอกาสยึดเอาดินแดน ๔ จังหวัดคืนมาจากฝรั่งเศส ซึ่งเขาเป็นพันธมิตรกันอยู่ การโฆษณาของวิทยุกระจายเสียงของเราก็ว่ากล่าวเขาอย่างรุนแรงเกินขอบเขต ซึ่งการกระทำต่าง ๆ นั้น เป็นการกระทำของบุคคลหมู่น้อยกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เขาก็เลยหาว่าประเทศไทยหรือประชาชนชาวไทยทั้งชาติเป็นเสมือนเด็กเกเร ซึ่งเป็นการเข้าใจที่ไม่ตรงกับความจริง ฉะนั้น จึงจำเป็นจะต้องทำการโฆษณาให้ชาวอเมริกันได้เข้าใจเราอย่างถูกต้อง และให้ความเห็นใจเรามากขึ้น

๒. โฆษณาให้ชาวอเมริกันทราบถึงการปฏิบัติงานของคณะกู้ชาติว่า ได้ช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างไรบ้าง เพราะขณะนั้น เขาไม่ทราบว่า

ภายในประเทศเราได้มีการกู้ชาติหรือไม่ เท่าที่เขาทราบเป็นทางการนั้น ก็มีอยู่ว่าได้มีเสรีไทยภายนอกประเทศ และเขาหวั่นว่า การกู้ชาติจะเกิดมีขึ้นหลายคณะ และจะเป็นปัญหาแตกแยกกันภายหลัง ซึ่งจะทำให้การทำงานไม่เป็นผล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาไม่รู้ว่า เราได้ช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างไรบ้าง ซึ่งข้อนี้เขาวิตกมาก เพราะความจริงเรามีคณะกู้ชาติเพียงคณะเดียว และได้หาวิธีที่จะติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่เสมอ เพื่อที่จะให้เขาทราบว่าคณะกู้ชาติของเราได้พยายามช่วยเหลือเชลยฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างไรบ้าง และได้หาวิธีที่จะก่อวินาศกรรมให้แก่กองทัพญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เราจะต้องโฆษณาให้เขาได้ทราบอย่างละเอียด

๓. ทำการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย

๔. ชักชวนให้ชาวอเมริกันมาลงทุนธุระกิจในประเทศไทยภายหลังสงคราม

๕. ช่วยพระพิศาลสุขุมวิท ทำการติดต่อกับองค์การฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อช่วยฟื้นฟูภาวะการของประเทศให้สู่สถานะการเดิม

๖. ศึกษาเรื่องการเงินและอื่น ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย

๗. ช่วยอัครราชทูต ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมทย์ ในกิจการต่าง ๆ

 


พระพิศาลสุขุมวิท (ประสบ สุขุม)
ที่มา: Founders & First Thai Students

 

การออกเดินทางต้องหลบหนีไปอย่างเล้นลับ และใช้ชื่อว่า “นายน้อย อาจหาญ” ใช้ชื่อสั้นภาษาฝั่งว่า Jane ทั้งนี้เริ่มเดินทางไปพร้อมกับพระพิศาลสุขุมวิท เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๘๘ เวลา ๒๐.๐๐ น. เพื่อไปขึ้นเรือบินทะเล ณ ที่จุด ๆ หนึ่งในอ่าวไทย

เดือนพฤษภาคม เป็นเดือนที่เริ่มต้นหน้ามรสุม คลื่นลมในอ่าวไทยเริ่มจัดขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะขณะนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรได้โปรยทุ่นระเบิดขนาดต่าง ๆ ไว้ทั่วทั้งอ่าวไทย ตามเกาะแก่ง ก็ยังมีทหารญี่ปุ่นคอยดูแลอีก เป็นการแน่นอนเหลือเกินว่า การเดินทางครั้งนี้ต้องเผชิญภัยถึง ๓ ประการ คือ ภัยธรรมชาติจากคลื่นลม ภัยจากสงคราม คือ ทุ่นระเบิด และภัยจากศัตรู คือ ทหารญี่ปุ่น ซึ่งจะต้องยอมเสียสละชีวิตเป็นเดิมพันทีเดียว

 


เครื่องบินทิ้งระเบิด PBY-5A Catalinaของกองทัพเรือสหรัฐฯ ประจำฝูงบินลาดตระเวนทิ้งระเบิด VPB-6 ขณะบินเหนือฟยอร์ดนาร์ซาร์ซวัค เกาะกรีนแลนด์  ค.ศ. 1945
ที่มา: U.S. Navy National Museum of Naval Aviation photo No. 1993.501.073.048

 

ในที่สุด คืนวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๔๘๘ เวลา ๒๒.๐๐ น. เศษ ภายหลังที่ได้อยู่กลางทะเลในเรือเล็ก ๒ วัน ๒ คืน ก็ได้พบกับเครื่องบินทะเลแคตทาลีนา ณ ที่จุดหมายแห่งหนึ่ง กว่าจะขึ้นเครื่องบินได้ก็ต้องใช้เวลาติดต่อ และเปลี่ยนเรือกันร่วมชั่วโมง เพราะไม่แน่ใจว่า ใกล้ ๆ จุดนี้จะมีเรือรบญี่ปุ่นอยู่หรือไม่ นอกจากนั้นทั้งสองฝ่ายต่างก็ตั้งปืนกลเข้าใส่กัน เพราะต่างก็ไม่แน่ใจ อาจจะเป็นฝ่ายข้าศึกมาสวมรอย เมื่อแน่ใจว่าเป็นพวกเดียวกันแล้วต้องรีบเร่งกันอย่างฉุกละหุก เมื่อได้ที่นั่งอันคับแคบอุดอู้แล้ว นักบินก็รีบบินขึ้นทันที เครื่องบินลำนี้มีความเร็วเพียงชั่วโมงละ ๑๐๐ ไมล์ ถ้าไปเจอเครื่องบินขับไล่ของญี่ปุ่นมีหวังจอดเหมือนกัน ขณะที่ผ่านประเทศพม่านั้นก็ไม่แน่ใจว่าเครื่องบินเขาจะขึ้นมาขับไล่หรือไม่ ๑๓ ชั่วโมงเต็ม ๆ ที่ต้องทนอุดอู้อยู่ในเรือบินลำนี้ จนถึงเมืองมัทราส ประเทศอินเดียเวลา ๑๓ นาฬิกาเศษ เจ้าหน้าที่ทหารอเมริกันหน่วย โอ.เอส.เอส. ได้มารับแล้วพาใส่รถปิดม่านไปยังสำนักงานอยู่นอกเมือง สั่งห้ามออกจากอาคารที่พักอย่างเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย เมื่อพักอยู่ได้ ๒ วัน ก็เดินทางโดยเครื่องบินพิเศษ ของ เอช.ที.ซี. ไปยังโคลัมโบ เพื่อพบกับเจ้าหน้าที่ทหารอเมริกันและให้คำตอบแก่เขา เกี่ยวกับความเป็นไปของเมืองไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจสังคมและการทหาร เป็นเวลา ๒ วันเต็ม ต่อจากนั้นก็เดินทางไปยังเมืองแคนดีโดยทางรถไฟ เมื่อถึงเมืองแคนดีก็ได้พบนายพันเอกคอฟลิน ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วย โอ.เอส.เอส. ในเขตตะวันออกตอนใต้ ในฐานะที่เป็นตัวแทนของหัวหน้าเสรีไทยภายในประเทศเขาได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี แล้วได้ไปพบปะเจรจากับ พ.อ. คอฟลิน หลายครั้ง นอกจากนั้น ก็ได้ตอบข้อซักถามของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร และในบุคคลคณะกู้ชาติบางคนในประเทศไทย นอกจากนี้ก็ได้ไปพบหัวหน้าแผนก โอ.เอส.เอส. ทั้ง ๓ แผนก คือ แผนก Secret Intelligence แผนก Secret Operation และแผนก Research and Analysis ปัญหาต่าง ๆ ทั้ง ๓ แผนก สอบถามมีมากมาย หลายเรื่องด้วยกัน ซึ่งคุณหลวงสุขุมฯ ก็ได้ให้คำตอบอย่างดีที่สุดเท่าที่เห็นสมควร ซึ่งเขาก็พอใจ สำหรับหัวหน้าทางฝ่ายอเมริกันนั้น ได้พูดถึงเรื่องราวต่าง ๆ หลายเรื่อง เช่น —

๑. อเมริกาและอังกฤษยอมรับว่า หัวหน้าเสรีไทยในประเทศ นั้นเป็นหัวหน้าของคนไทย

๒. เขากลัวว่าญี่ปุ่นจะยึด (ปลดอาวุธ) ประเทศไทยเร็วกว่าที่จะเข้าช่วยเหลือได้ทัน

๓. แต่เดิม ทั้งอังกฤษและอเมริกา เข้าใจว่าจะมีคณะกู้ชาติเกิดขึ้นหลายคณะ ซึ่งต่างก็จะดำเนินการกันเอง จึงทำความหนักใจให้มาก แต่เมื่อได้ทราบว่ามีเพียงคณะเดียวก็สบายใจ

๔. เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในวงรอบนอกเขตรบของอเมริกา การขออาวุธจากสหรัฐฯ จึงไม่ง่ายนัก

๕. เขาแจ้งว่ารัฐบาลอเมริกันยอมรับรองฐานะของประเทศไทย เหมือนเมื่อก่อนสงคราม

ฯลฯ

ต่อมาวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๘๘ จึงได้เดินทางกลับโคลัมโบ เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปสหรัฐอเมริกาต่อไป ซึ่งในการเดินทางครั้งนี้ ได้แต่งเครื่องแบบทหารอเมริกันตามที่เขาได้จัดหามาให้

วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๘๘ เดินทางออกจากโคลัมโบเพื่อไปกรุงนิวเดอฮีและเพื่อเดินทางไปยังสหรัฐต่อไป ที่กรุงนิวเดอฮีได้พบคนไทยหลายคนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของ War Information อยู่กับกองทัพจักรภพอังกฤษ คือ หลวงอาจพิศาลกิจ, ม.ร.ว. กิตินัดดา กิติยากร ม.ล. จิรายุ นพวงศ์ และคนอื่น ๆ อีกหลายท่าน ซึ่งต่างก็ได้รับยศเป็นนายทหารอังกฤษด้วยกันทั้งนั้น ได้มีโอกาศพูดคุยกันถึงเรื่องกู้ชาติ ซึ่งทุกคนต่างก็หวังทำงานให้สำเร็จโดยไม่หวังผลตอบแทนแต่อย่างใด แม้ว่าการทำงานนั้นจะต้องเสียสละเลือดเนื้อและชีวิต ก็ตาม

วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๘๘ ได้เดินทางออกจากกรุงนิวเดอฮีไปสหรัฐ โดยเครื่องบิน เอช.ที.ซี. ผ่านการาจี ไปทางอาฟริกา ไปคาซาบลังคา แล้วไปผ่านเกาะอาซอเลสและเบอร์มิวดาร์ถึงนิวยอร์ค ตลอดระยะทางทุก ๆ แห่งที่ผ่านไปจนถึงกรุงวอชิงตัน แล้วได้ไปพบกับเจ้าหน้าที่ โอ.เอส.เอส. เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหม ซึ่งทั้ง ๓ แห่งนี้ได้ตั้งปัญหาถามถึงเหตุการณ์และความเป็นไปในประเทศไทย ตลอดถึงได้ถามความคิดเห็นหลวงสุขุมฯ หลายข้อหลายประการ

หลังจากได้พบปะกับบุคคลสำคัญ ๆ ในวงการ โอ.เอส.เอส. กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมแล้ว คุณหลวงสุขุมฯ ก็ได้เริ่มปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายไป คือ —

๑. ทำการโฆษณาให้ประชาชนชาวอเมริกันได้รู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ในการดำเนินงานครั้งนี้คุณหลวงสุขุมฯ ได้ร่วมมือกับทางการสถานทูต โดยได้พิจารณาเห็นว่า ควรจะมีผู้ทำหน้าที่ Public Relation โดยจะได้ว่าจ้างให้ Mr. Roy Howard ทำหน้าที่นี้ แต่แล้วเขาก็ไม่ค่อยจะยอมรับ เพราะกลัวว่าจะทำงานให้ไม่ได้เต็มที่ ฉะนั้น คุณหลวงสุขุมจึงได้วิ่งเต้นดำเนินการทางด้านอื่นต่อไป โดยที่ตัวท่านเองเคยเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยบอสตันมาก่อน มีเพื่อนฝูงเก่าแก่มากมายโดยเฉพาะพวกที่ชอบพอกันเมื่อครั้งที่ร่วมงานหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยด้วยกัน ซึ่งในขณะนั้นปรากฏว่าเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในเมืองต่าง ๆ หลายคน โดยเฉพาะคนหนึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีอิทธิพล จึงได้ไปพบขอความร่วมมือช่วยเหลือ และก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ทั้งยังได้พาไปพบทำความรู้จักกับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ New York Post และหัวหน้าแผนกตะวันออกไกลของ United Press เขาก็รับรองที่จะให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดียิ่ง และว่าถ้ามีอะไรที่จะนำความเสียหายมาสู่ประเทศไทยแล้ว เขาก็จะช่วยเหลือแก้ไขให้ทันที สำหรับเจ้าหน้าที่ทาง United Press นั้น สนใจและพอใจที่ได้รู้จักกับคุณหลวงสุขุมฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ทราบว่าคุณหลวงสุขุมฯ เคยเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยบอสตันและเป็นนักฟุตบอลล์ของมหาวิทยาลัยก่อนก็ยิ่งเพิ่มความสนใจยิ่งขึ้น ถึงกับกล่าวว่า คุณหลวงสุขุมฯ เป็นคนไทยคนแรกที่เขาได้รู้จัก และทำให้เขารักเมืองไทยคนไทย ถ้ามีอะไรที่จะให้เขาช่วยเหลือแล้ว เขายินดีที่จะให้การช่วยเหลือทันทีด้วยความเต็มใจนอกจากนี้ก็ยังได้แนะนำให้รู้จักกับหัวหน้าใหญ่ของ United Press ในกรุงวอชิงตันอีกด้วย ตั้งแต่นั้นมาคุณหลวงสุขุมฯ ก็ได้ใช้ United Press เป็นแหล่งแถลงข่าวต่าง ๆ ซึ่งก็ปรากฏว่าได้ผลดีกว่าหนังสือพิมพ์เสียอีก เพราะข่าวนี้ส่งเผยแพร่ทั่วโลก

อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์ก็ยังคงมีความสำคัญอยู่จึงได้เปิดติดต่อกับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Life Magazine อีกฉบับหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับที่จะให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีเหมือนกัน ส่วนหนังสือพิมพ์ Look Magazine นั้น บังเอิญเพื่อนคนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งมีตำแหน่งสำคัญอยู่ จึงได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ

เมื่อได้ทำการติดต่อกับบรรดาหนังสือพิมพ์และสำนักข่าวที่สำคัญ ๆ แล้ว ก็ได้เสนอต่ออัครราชทูต ขอตั้ง office of Information โดยจะใช้นักเรียนไทยที่ศึกษาอยู่ในสหรัฐนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ และได้มอบให้ นายกุมุท จันทเรือง เป็นหัวหน้า นายฉุน ประภาวิวัฒน์ และ นางจินตนา ยศสุนทร เป็นผู้ช่วย โดยแบ่งงานออกเป็น ๓ แผนกด้วยกัน คือ

๑. แผนกการเมืองและประวัติศาสตร์ - เศรษฐกิจและสังคม

๒. แผนกข่าวสารปัจจุบันทั่วโลก

๓. แผนกรายงานข่าวของคณะกู้ชาติไทย หรือ เสรีไทย

เมื่อได้ตั้งสำนักงานนี้ขึ้นแล้ว ก็ปรากฏว่าได้มีผู้สนใจกันมาก บางคนถึงกับมาติดต่อสอบถามเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับเมืองไทยและได้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

๒. การโฆษณาให้ชาวอเมริกันได้ทราบถึงการดำเนินงานของคณะกู้ชาติในประเทศไทย

จุดประสงค์ของการโฆษณาให้ชาวอเมริกันได้ทราบถึงการดำเนินงานของคณะกู้ชาติในประเทศไทยนั้นก็เพื่อจะแสดงให้เขาได้ทราบว่า คณะกู้ชาติของเราได้มีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างไรบ้าง เพราะตั้งแต่เกิดสงครามเป็นต้นมานั้น ได้มีชาวอเมริกันตกค้างอยู่ โดยมากเป็นพวกพ่อค้า เจ้าหน้าที่ทางสถานทูต ซึ่งได้ถูกกักตัวเป็นเชลยอยู่มีจำนวนน้อย การดำเนินงานด้านนี้ ตามที่ได้ตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์แล้วนั้นเห็นว่ายังไม่เป็นการเพียงพอ เพราะหนังสือพิมพ์นั้น เขาอาจจะสนใจเรื่องอื่น ๆ ฉะนั้น คุณหลวงสุขุมฯ จึงได้วิ่งเต้นเพื่อจะได้ให้มีการโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงของ National Network เมื่อได้พูดชี้แจงขอความร่วมมือจากเขาแล้วก็ได้รับอนุญาตและได้ให้ความร่วมมือเป็นอันดี ซึ่งในวันที่จะออกอากาศนั้น เจ้าหน้าที่ทางสถานีได้ถือโอกาศแนะนำตัวคุณหลวงสุขุมฯ ให้ชาวอเมริกันผู้ฟังได้รู้จักเพื่อจะดึงความสนใจจากผู้ฟัง ว่าคุณหลวงสุขุมฯ เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แห่งประเทศไทย บัดนี้ได้เป็นสมาชิกของคณะกู้ชาติคนหนึ่ง เมื่อสมัยเป็นนักศึกษาอยู่ในสหรัฐปี ค.ศ. ๑๙๑๗-๑๙๒๘ นั้น เคยเป็นดาราฟุตบอลล์ของทีมมหาวิทยาลัยบอสตัน ได้เล็ดรอดหนีมาจากแนวรบของญี่ปุ่น จะได้เล่าถึงการผจญภัยการดำเนินงานของคณะกู้ชาติในประเทศไทยให้ฟัง ปรากฏว่าในการพูดกระจายเสียงวิทยุในค่ำวันนั้น ประชาชนอเมริกันส่วนมากพากันสนใจมาก เพราะหลังจากที่ได้พูดไปแล้ว ๒ วัน ทางบริษัทวิทยุกระจายเสียงก็ได้มีหนังสือมาชมเชยคุณหลวงสุขุมฯ และขอเชิญไปพูดอีกในโอกาศต่อไป นับว่าการโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงได้ผลดีพอใช้ทีเดียว

อุปสรรคที่สร้างความยากลำบาก ในการไปขอความช่วยเหลือจากใคร ๆ นั้น ก็เพราะประเทศเราได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ฉะนั้นการเจรจาเรื่องใดก็ตาม ถ้าเขาไม่พอใจก็มักจะเอาเรื่องนี้ขึ้นมาพูด มาอ้าง ทำให้เราท้อแท้ใจในบางครั้งเหมือนกัน แต่เมื่อความจำเป็นบังคับและเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขแล้ว ไม่มีอะไรดีกว่าความอดทน และมีความสุขุมรอบคอบ และมีศิลปในการเจรจาเป็นอย่างดียิ่งเท่านั้นที่จะช่วยให้การเจรจาได้ผลและสำเร็จ อย่างไรก็ดี คุณหลวงสุขุมฯ ได้พยายามที่จะให้ทางรัฐสภาอเมริกัน ได้ทราบถึงความจริงภายในประเทศไทยว่า เราได้ให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างไรบ้าง ในการพยายามนี้ก็ได้ให้นายโซลตส์ ผู้ซึ่งเคยอยู่ในเมืองไทยมาก่อนและรู้จักเมืองไทยดีให้ความช่วยเหลือ บังเอิญนายโซลตส์มีเพื่อนเป็นผู้แทนมลรัฐเคนตักกี้ ซึ่งมีอิทธิพลคนหนึ่ง ชื่อ นายโอนีล เมื่อได้ทำความรู้จักแล้วก็เล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง นายโอนีลก็รับปากว่าจะให้ความช่วยเหลือ แต่เพื่อจะให้ได้ผลก็อยากจะให้คุณหลวงสุขุมฯ และคุณพระพิศาลสุขุมวิทไปที่รัฐสภา โดยได้วางแผนการว่า คั่นแรกให้คุณหลวงสุขุมฯ ไปรับประทานอาหารกลางวันที่รัฐสภา เพื่อจะได้ถือโอกาสแนะนำให้รู้จักกับบรรดาสมาชิกผู้แทนที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ แล้วจะได้เล่าเรื่องให้เขาฟัง ซึ่งแผนการที่นายโอนีล วางไว้นั้นก็เป็นผล สมาชิกผู้แทนหลายคนสนใจและในที่สุดคุณหลวงสุขุมฯ กับคุณพระพิศาลฯ จึงได้มีโอกาสเข้าไปแถลงเรื่องราวของประเทศไทยให้ที่ประชุมกรรมาธิการเกี่ยวกับการต่างประเทศของรัฐสภาอเมริกันฟัง ตอนนี้เองที่ทำให้สมาชิกสภาทุกคนได้เข้าใจประเทศไทยดีขึ้น หายเข้าใจผิดตั้งแต่ก่อน ๆ ก่อนจบคำแถลงนั้นคุณหลวงสุขุมฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเต็มว่า คณะกู้ชาติเรามีกำลังพอที่จะขับไล่ทหารญี่ปุ่นได้ แต่ยังขาดอาวุธเท่านั้น และเมื่อสงครามเสร็จสิ้นลงแล้วก็อยากจะขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาในการฟื้นฟูประเทศ และในเรื่องอื่น ๆ ฯลฯ อันเป็นที่พอใจคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับการต่างประเทศของอเมริกันมากจนถึงกับเมื่อการประชุมสิ้นสุดลงแล้ว ทางสมาชิกสภาผู้แทนบางนายก็ได้มาพูดจาซักถามแต่แสดงว่าเขาสนใจในเรื่องเกี่ยวกับเมืองไทยเรามาก

๓. ทำการเผยแพร่วัฒนธรรมของไทย เกี่ยวกับเรื่องนี้ อัครราชทูตไทยได้ให้คุณหลวงสุขุมฯ ไปพบกับ Mr. Peck ซึ่งเคยเป็นราชทูตอเมริกันประจำประเทศไทยมาก่อน ขณะนั้นเป็นหัวหน้าของ Cultural Co-operation Division ในกระทรวงการต่างประเทศอยู่และ Mr. Peck ได้แนะนำให้รู้จักกับ Dr. Bowles ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยตะวันออกและ ในเวลาต่อมาก็ได้ติดต่อเจรจากันในเรื่องต่าง ๆ อันที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์กันทางด้านวัฒนธรรมศิลปกรรม การเศรษฐกิจและสังคม การศึกษา ต่อไปในอนาคตด้วย

๔. การดำเนินงานเกี่ยวกับการชักชวนให้ชาวอเมริกันมาลงทุนทำการค้าและอุตสาหกรรมในประเทศไทย เรื่องนี้ได้อาศัยสำนักงาน Office of Information ที่ตั้งขึ้นเป็นที่ทำการโฆษณาให้ชาวอเมริกัน ได้ทราบว่า เมืองไทยมีวัตถุดิบหรือทรัพยากรธรรมชาติอะไรบ้าง และมีฐานะทางเศรษฐกิจและการเงินตลอดจนสังคมและแรงงานเป็นอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อชักชวนและจูงใจให้ชาวอเมริกันให้ไปลงทุนทำการค้า หรือทำการอุตสาหกรรมในประเทศไทยต่อไป เมื่อสงครามสิ้นสุดลงแล้ว และให้การรับรองแก่เขาว่า จะได้รับความสะดวกเป็นอย่างดี ทั้งยินดีให้การต้อนรับเสมอ

๕. การติดต่อกับองค์การประดาชาติสัมพันธมิตร ให้ช่วยเหลือในการฟื้นฟูประเทศต่าง ๆ ให้เข้าสู่สถานะเดิม เรื่องนี้เป็นการดำเนินงานเพื่อผลอันจะได้มีขึ้น เมื่อสงครามสงบแล้ว พระพิศาลฯ ได้เป็นผู้นำดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างมาก เพราะมีเพื่อนฝูงเก่าแก่หลายคนคอยให้ความช่วยเหลือการเจรจาจึงได้ผลดีพอใช้ โดยเราก็เป็นประเทศหนึ่งที่จะได้รับความช่วยเหลือในการฟื้นฟูบูรณะประเทศ

๖. การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเงิน การธนาคาร และอื่น ๆ อันจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทย เพื่อที่จะนำมาปรับปรุงแก้ไขสถานะการณ์ภายหลังสงคราม เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณหลวงสุขุมฯ ได้ปรึกษาหารือกับอัครราชทูต แล้วก็ได้มอบหมายให้นายจินตมัย อมาตยกุล ซึ่งกำลังศึกษาชั้นปริญญาโททางการเงินอยู่ เป็นผู้รวบรวมเรื่องราวข้อเท็จจริงของการเงินต่างประเทศแต่ละประเทศเพื่อจะนำมาวิจัยและพิจารณาในการแก้ไขปัญหาทางการเงินและการคลังของประเทศต่อไป

๗. เรื่องการศึกษาในสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณหลวงสุขุมฯ ได้ศึกษาสูตรการจัดการศึกษาของสหรัฐอเมริกาในชั้นประถมศึกษาแล้วเห็นว่า อุปกรณ์การศึกษาที่ใช้ในการให้การศึกษาแก่เด็ก ๆ รุ่นเล็ก ขณะนั้นได้เพิ่มการทัศนะศึกษาขึ้น เช่น การฉายภาพยนตร์ การฉายภาพนิ่ง (Slide) โดยใช้ฟิล์มสตริป

เกี่ยวกับการเผยแพร่ประเทศไทยให้คนอเมริกันได้รู้จักแพร่หลายนั่น ควรจะเริ่มจากเด็กก่อน โดยการใช้ฟิล์มสตริป รูปภาพที่เกี่ยวกับเมืองไทย เพื่อให้เด็กได้ศึกษาจากสิ่งที่เป็นจริง ซึ่งในเรื่องนี้ Dr. Arndt ซึ่งเป็น Senior Specialist in Far Eastern Education แห่ง U.S. Office of Education เขารับรองว่ายินดีที่จะให้ความช่วยเหลือร่วมมือด้วยดี ฉะนั้นในการสอนวิชาภูมิศาสตร์ในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา ถ้าเราจะทำฟิล์มสตริปเรื่องเมืองไทย พร้อมด้วยคำอธิบายให้เขา ๑ ชุด เขาก็จะนำฟิล์มสำเนาภาพเหล่านั้นจัดส่งไปให้โรงเรียนของรัฐบาลทั่วสหรัฐของอเมริกา ซึ่งเรื่องนี้คุณหลวงสุขุมฯ ได้เริ่มจัดทำแล้วเมื่อเป็นอธิบดีกรมโฆษณาการ แต่ยังไม่ทันจะเสร็จเรียบร้อยก็ได้พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการเสียก่อน

๘. เรื่องเกี่ยวกับอาชญากรสงคราม ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการทหารของสหรัฐแจ้งกับคุณหลวงสุขุมฯ ว่า ผู้ที่เขาต้องการก็คือ พวกที่ทำทารุณกรรมต่อ

เชลยศึก โดยการใช้อำนาจ ซึ่งคุณหลวงสุขุมฯ ก็ได้ชี้แจงว่าโดยเท็จจริงแล้ว ไม่มีเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรที่อยู่ในความควบคุมดูแลของรัฐบาลไทยถูกทารุณกรรมแต่อย่างใด เพียงแต่ได้จัดให้อยู่ในเขตจำกัด มีความเป็นอยู่อย่างสะบายไม่เดือดร้อนอะไร และเรื่องที่ผู้ที่นำประเทศเข้าร่วมสงครามนั้น เป็นเรื่องของรัฐบาลไทยหลังสงครามจะได้พิจารณา ซึ่งเข้าใจว่าคงจะดำเนินตามประเทศอื่นๆ

๙. เรื่องทาง โอ.เอส.เอส. ขอให้นายดอลแบร์ เขียนเรื่องเกี่ยวกับเมืองไทย เพื่อจะตีพิมพ์ภายหลังสงคราม โดยนายดอลแบร์ ได้เคยอยู่ในประเทศไทยมาก่อนและได้ออกจากเมืองไทยก่อนที่จะเกิดสงคราม คุณหลวงสุขุมฯ จึงได้ถือโอกาสชี้แจงเรื่องราวต่าง ๆ ของประเทศไทยภายหลังว่ามีอยู่อย่างไร เพื่อที่เขาจะได้เข้าใจและเขียนได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

๑๐. ทางสำนักงาน Office of War Information ได้ขอให้คุณหลวงสุขุมฯ ทำ Statement เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ของประเทศไทย ซึ่งคุณหลวงสุขุมฯ ก็ได้เขียนให้ โดยได้คำนึงถึงผลประโยชน์อันพึงจะได้ของประเทศชาติเป็นสำคัญ และเขาก็พอใจ จนถึงกับได้นำไปโฆษณาเผยแพร่ทั่วโลกอีกด้วย ซึ่ง Statement อันนี้เองที่ทำให้ชาวโลกได้ทราบถึงความเป็นจริงตลอดถึงการดำเนินงานของคณะกู้ชาติไทยในประเทศไทย ว่ามีมาอย่างไร ได้ทำประโยชน์อะไรให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรบ้าง

๑๑. การทำการโฆษณาภายหลังสิ้นสุดลงแล้ว คุณหลวงสุขุมฯ ได้ใช้ความสามารถอย่างยอดเยี่ยมในเรื่องเกี่ยวกับการหาข่าวให้แก่หนังสือพิมพ์ ซึ่งความริเริ่มและการกระทำของคุณหลวงสุขุมฯ นั้น ทำให้พวกหนังสือพิมพ์พากันพอใจมาก ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ การให้ข่าวอื่น ๆ อันจะเป็นผลดีแก่ประเทศทั้งสิ้น ซึ่งเขาก็ยอมรับและพอใจ

๑๒. การให้สัมภาษณ์แก่เจ้าหน้าที่ทางการทหารของสหรัฐ ที่กระทรวงกลาโหมโดยที่คณะนายทหารและหัวหน้าแผนกต่าง ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับภาคตะวันออกไกล ได้เชิญคุณหลวงสุขุมฯ ไปเพื่อขอสัมภาษณ์ เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเมืองไทยทุก ๆ ด้าน ซึ่งความสามารถในการให้คำตอบของคุณหลวงสุขุมฯ นับว่าเป็นผลดียิ่ง เพราะคำถามของเจ้าหน้าที่ทางด้านสหรัฐเหมือนกับคำถามของหน่วย โอ.เอส.เอส. โดยมากเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร

อีกเรื่องหนึ่งที่อังกฤษได้ยื่น Ultimatum บางประการแก่ประเทศไทย เมื่อสงครามเสร็จสิ้นลงนั้น คุณหลวงสุขุมฯ ได้มีโอกาสพบนายโอนีล ก็ได้ปรารภเรื่องนี้ให้ฟัง และปรึกษากันว่าจะควรทำอย่างไรดีจึงจะบรรเทาข้อเสนอนั้นได้บ้าง ซึ่งนายโอนีลก็ได้แจ้งว่า เขาเป็นเพื่อนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งอาจจะให้ความช่วยเหลือได้บ้าง เขายินดีจะเจรจาให้ เพราะสงครามครั้งนี้สหรัฐอเมริกาได้ทุ่มเททั้งเงินและคนตลอดจนอาวุธยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ มากกว่าประเทศใด ๆ โดยไม่หวังผลตอบแทนแต่อย่างใด ประเทศอื่น ๆ คงจะให้ความเห็นใจสหรัฐอเมริกา จึงได้พาไปพบ Mr. Byrnes รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ บังเอิญไม่พบ เพราะท่านได้เดินทางไปยุโรปเสียก่อน นายโอนีล จึงได้พาไปพบกับนายแอดจิสัน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วเล่าเรื่องให้ฟัง ซึ่งนายแอดจิสันก็บอกว่าสหรัฐอเมริกามีนโยบายที่จะให้ความช่วยเหลือประเทศไทยอยู่แล้ว และเขาจะได้โทรเลขไปให้ Mr. Byrnes ทราบต่อไป

อีกเรื่องหนึ่งที่คุณหลวงสุขุมฯ ได้ปฏิบัติก่อนที่จะได้เดินทางกลับประเทศไทย นั่นคือเรื่องเกี่ยวกับนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งได้ยอมเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อทำการกู้ชาติ ต้องละทิ้งการเล่าเรียนไปปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายซึ่งบางคนก็ถึงกับเสียชีวิต และทำด้วยรักชาติโดยไม่หวังผลตอบแทน ฉะนั้น ควรจะปูนบำเหน็จแก่ผู้ซึ่งมีชีวิตอยู่โดยให้เขาได้ศึกษาต่อจนสำเร็จ ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีก็ได้พิจารณาเห็นชอบด้วย และให้ดำเนินการได้

ผลงานอันเกิดจากการปฏิบัติงานเสรีไทย ของคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐดังได้สรุปย่อมานี้ก็เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า งานที่ได้รับมอบหมายนั้นแม้จะต้องเสี่ยงชีวิต คุณหลวงสุขุมฯ ก็มีความกล้าหาญและยอมเสียสละโดยมิย่อท้อ หรือเห็นแก่ความสุขส่วนตัว...

 

หมายเหตุ :

  • อักขระและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • บทความชิ้นนี้มีการปรับปรุงชื่อโดยกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์จาก “การปฏิบัติงานเสรีไทย” เป็น “หลวงสุขุมนัยประดิษฐและการปฏิบัติงานเสรีไทย” โดยตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2510

บรรณานุกรม :

  • อินสม ไชยชนะ, เรื่อง “การปฏิบัติงานเสรีไทย”, ชีวิตและงานของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ, (พระนคร : ห้องภาพสุวรรณ, 2507, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานครบรอบหกสิบปีของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ), หน้า 231-245.