ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปวัตติยานุกรมหนังสือชีวประวัติ “ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๕๒๖)” : ตอนที่ ๑

10
พฤษภาคม
2563

ปฐมบท

“นายปรีดี พนมยงค์ เนติบัณฑิตสยาม ดอกเตอร์อังดรัวต์และประกาศนียบัตร์ชั้นสูงในทางเอคอนอมิก...ข้าพเจ้ายิ่งฟังก็ยิ่งรู้สึกขึ้นทุกทีว่า นายปรีดี พนมยงค์ แม้พึ่งจะกลับมารับราชการในสยามก็จริง แต่เป็นผู้มีความคิดกว้างขวางรอบคอบกว่าคาดหมายมาก มิได้เปนแต่เนติบัณฑิตผู้เปรื่องด้วยนิติศาสตร์อย่างเดียว แต่เป็นผู้ที่อาจเห็นทั้งทางได้ทางเสียแห่งการใช้กฎหมายเป็นอย่างรอบคอบด้วย. เป็นเยี่ยงอย่างอันดีแก่คณครูทั่วไป.” ธานีนิวัต กระทรวงธรรมการ วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๑[1]

 

“ข้าพเจ้าไม่ได้ขอร้องให้ท่านนิยมรัฐบาลหรือนิยมใครเป็นส่วนตัว แต่ขอร้องให้ท่านเห็นแก่ชาติบ้านเมือง เห็นแก่ประชาชนทั่วไป และช่วยกันเชิดชูรัฐธรรมนูญของเราให้ถาวรลอยเด่นอยู่เสมอ...” หลวงประดิษฐ์มนูธรรม คืนวันพุธที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๗[2]

 

ถ้อยคำชื่นชมของพระองค์เจ้าธานีนิวัตข้างต้นที่ทรงกล่าวถึงนายปรีดี พนมยงค์ ขณะเพิ่งจบจากฝรั่งเศสกลับสู่มาตุภูมิประกอบสัมมาอาชีวะในเบื้องต้นแห่งงานราชการพอฉายให้เห็นภาพมหาบัณฑิตหนุ่มวัย ๒๘ ขวบปีเศษผู้ถัดมาเพียงไม่ถึง ๔ ปีจากนั้นร่วมกับกลุ่มบุคคลจำนวนร้อยกว่าชีวิตก่อการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองสยามประเทศเมื่อย่ำรุ่ง ๒๔ มิ.ย.๒๔๗๕ ในนาม “คณะราษฎร”

บทความนี้ ผู้เขียนขอมอบต่างพวงกุสุมทามอันผจงร้อยเรียงอย่างประณีตเป็นบูชาแด่ท่านราษฎรอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ในวาระชาตกาล ๑๒๐ ปี ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๓

 

ปฐมบทขอโหมโรงด้วยชีวประวัติ “ปรีดี พนมยงค์” ชิ้นที่นำเสนอสู่มหาชนชาวสยามเป็นครั้งแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองราวครึ่งเดือนใน “ศรีกรุง ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๕” ดังนี้ (คงอักขระตามต้นฉบับ)

ประวัติหลวงประดิษฐมนูธรรม
คนสำคัญผู้ ๑ ในคณราษฎรสยาม

(มีภาพอยู่หน้า ๑ แล้ว) อำมาตย์ตรีหลวงประดิษฐมนูธรรม นามเดิม ปรีดี พนมยงค์  เปนชาวพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้วัดพนมยงค์ เมื่อเยาว์มีนิสสัยชอบฟังเหตุการณ์อันเกี่ยวกับการบ้านการเมือง ซึ่งย่อมเปนที่พิศวงของผู้อยุ่ใกล้ชิดเปนอันมาก แต่หาเปนการประหลาดสำหรับผู้มีประวัติอันงามแห่งสากลไม่

เมื่อปลายปี ร.ศ.๑๓๐ (พศ.๒๔๕๔) คณข้าราชการทหารบกทหารเรือและพลเรือน ( ฝ่ายพลเรือนโดยมากเปนเนติบัณฑิตและหมอกฎหมาย) รวมประมาณ ๑๐๐ คน ได้คิดก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของรัฐบาลสยามในทำนองเดียวกันกันครั้งนี้และได้ถูกรัฐบาลจับกุมไต่ส่วนพิจารณาในศาลกรรมการพิเศษ ณ กระทรวงกลาโหม ซึ่งเรียกคดีนั้นว่า “ก่อการกำเริบ” ข่าวของเรื่องนี้ได้แพร่หลายไปทั่วอาณาจักรสยาม หลวงประดิษฐฯ เวลานั้นอายุได้ ๑๑ ปี ได้รู้ข่าวนี้เท่าๆกับชาวอยุธยาได้ทราบกัน แต่ปรากฎว่าหลวงประดิษฐฯ มีความรู้สึกแผกไปกว่าผู้อื่นมาก เช่นมีเรื่องเล่ากันว่าชาวกรุงเก่าเข้าใจว่าพวกก่อการกำเริบได้จับเจ้าเสียสิ้นแล้ว กระทำให้เขาเหล่านั้นวิตกว่าจะได้ใครมาปกครองสยามต่อไปเล่า ฯลฯ ความเข้าใจของชาวกรุงเก่าครั้งกระนั้น ได้ฝังอยู่ในโสตรประสาทของหลวงประดิษฐฯอย่างแน่นแฟ้นที่สุด จนกระทั่งได้ไปศึกษาวิชชาที่ประเทศฝรั่งเศสก็คงยังตรึงอยู่ในสมองมิรู้หายและก็เปนเหตุให้คิดเรื่องนี้แต่นั้นมา นี่แหละเห็นจะตรงกับคำกล่าวที่ว่า “กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี”

หลวงประดิษฐ์ฯ เดิมเปนนักเรียนวัดเบญจมบพิตร์ เมื่อสำเร็จการเรียนแล้ว ได้เข้าเปนนักเรียนกฎหมาย ครั้นสอบไล่ได้เปนเนติบัณฑิตสยาม ก็ออกไปศึกษาวิชชากฎหมาย ณ ประเทศฝรั่งเศส ได้เปนหมอกฎหมายฝรั่งเศส และสอบไล่ได้ประกาศนิยบัตรชั้นสูงเศรษฐวิทยาด้วย ระหว่างที่อยู่ประเทศฝรั่งเศส หลวงประดิษฐ์ฯ ได้รับความไม่เปนธรรมบางอย่างจากคนชั้นสูงซึ่งเคยเปนข่าวล่วงรู้เข้ามาถึงกรุงเทพฯ (ดูเหมือนเคยปรากฏในหน้ากระดาษของหนังสือพิมพ์แล้ว) เปนเหตุให้ชาวกรุงเทพฯรู้สึกสงสารหลวงประดิษฐ์ฯกันมาก แต่ด้วยชาตาของชาติยังคุ้มครองคนดีไว้ หลวงประดิษฐ์ฯ จึงได้ผ่านพ้นอุปสรรคสำคัญนั้น และสำเร็จการศึกษาเข้ามารับราชการสนองชาติด้วยคุณประโยชน์อนันตัง

หลวงประดิษฐ์ฯ ได้กลับเข้ามารับราชการอยู่ในกรมร่างกฎหมายกระทรวงยุตติธรรมตั้งแต่ต้น มีหน้าที่อยู่ในกองเลขานุการกรมร่างกฏหมายกับเปนอาจารย์โรงเรียนกฏหมายหลายวิชชา มีนักเรียนส่วนมากพอใจในการสอนของหลวงประดิษฐฯ นอกจากนั้นยังเปนเลขาธิการเนติบัณฑิตสภาอีกด้วย

หลวงประดิษฐฯ มีนิสสัยใจคอเยือกเย็นสุขุม วาจาอ่อนหวานน่ารัก และกิริยาอ่อนโยน สมเปนผู้กล้าผู้จริง บรรดาผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือร่วมงานร่วมคิด จึงยอมเปนใจเดียวกันเสมอ หลวงประดิษฐฯกับพรรคพวกได้ตั้งบริษัทหุ้นส่วนนิติสาส์นขึ้นมีโรงพิมพ์ชื่อนิติสาส์น พิมพ์หนังสืออันเกี่ยวกับวิชชากฎหมายชื่อหนังสือพิมพ์ “นิติสาส์น” ได้รวบรวมกฎหมายไทยพิมพ์ขึ้นให้ชื่อว่า “ประชุมกฎหมายไทย” และหลวงประดิษฐฯ ยังได้เรียบเรียงคำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย ฯลฯ ซึ่งนับว่าทำประโยชน์แก่บรรดาผู้ศึกษาวิชชากฎหมายและพลเมืองเปนอันมาก

หลวงประดิษฐฯ เปนผู้ ๑ ในคณก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามครั้งนี้ ร่วมมือกลมเกลียวกับนายทหารบกทหารเรืออีกหลายคนยอมสละเลือดเนื้อเพื่อชาติแท้ๆ คณก่อการครั้งนี้ทุกคนทำงานอย่างมิคิดแก่เหน็ดเหนื่อยเลย มุ่งแต่ความสำเร็จเปนผล จนแม้เวลานี้ก็ยังกอดคอทำงานอยู่ด้วยกันอย่างน่าสรรเสริญอย่างยิ่ง หลวงประดิษฐฯ เปนผู้ ๑ ในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เปนกรรมการคณราษฎร เปนอนกรรมการร่างธรรมนูญการปกครองสยามตัวจริง และหวังว่ายังจะเปนผู้อยู่ในตำแหน่งสำคัญๆอีก ซึ่งเปนผู้ที่สภาราษฎรได้ไว้วางใจเท่ากับผู้เริ่มก่อการคนอื่นๆเหมือนกัน

ทั้งนี้ เปนประวัติสังเขปเท่าที่เราสืบแสวงได้จากผู้ที่น่าเชื่อบ้าง จากหลักฐานอันแน่นอนบ้าง ซึ่งในทำนองนี้เราจักได้นำประวัติของคนสำคัญอื่นๆลงต่อไปไว้เปนความรู้จักของประชาชนทั่วไปอีกตามเวลาอันควร”[3]

 


อ้างอิง

[1] ธานีนิวัต (พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร), ปาฐะ เรื่อง ปัญหาเกี่ยวแก่การลงอาชญาผู้กระทำผิดกฎหมาย โดย นายปรีดี พนมยงค์ แสดงที่ สามัคยาจารย์ ณ วันที่ ๑๐ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๗๑, (โรงพิมพ์นิติสาส์น), คำนำ.

[2] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), ปาฐกถา เรื่อง “สองปีที่ล่วงมาแล้ว”, ประชุมปาฐกถา ของแจกในงานพระกฐินพระราชทาน แด่ คณะรัฐมนตรี ณ วัดโสมนัสวิหาร วันที่ ๒๕ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๗๘,(โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ),น.๑๑-๒๒.

[3] จงรู้ว่าหลวงประดิษฐฯ เคยทำอะไรบ้าง คนสำคัญในคณราษฎรผู้ ๑, ศรีกรุง ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๑๙๐๒ วันเสาร์ที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๕,น.๑ และ น.๙. จุดเชื่อมต่อหอสมุดแห่งชาติสำหรับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ http://164.115.27.97/digital/items/show/11965 (เข้าถึงเมื่อ ๑๐ พ.ค.๒๕๖๓)