ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปวัตติยานุกรมหนังสือชีวประวัติ “ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ.๒๔๔๓-๒๕๒๖)”: ตอนที่ ๖

13
มิถุนายน
2563

ตอน ๖

ปรีดีอสัญกรรม พ.ศ.๒๕๒๖
ถึง
งาน ๑๐๐ ปีชาตกาลท่านรัฐบุรุษอาวุโส บุคคลสำคัญองค์กร UNESCO

 

ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส เวลา ๑๑ นาฬิกาเศษ ของวันจันทร์ที่ ๒ พ.ค.๒๕๒๖ นายปรีดีสิ้นใจอย่างสงบด้วยอาการหัวใจวายขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะทำงาน สรีระของท่านได้รับการประกอบพิธีฌาปนกิจศพอย่างสมเกียรติและเรียบง่ายตามเจตนารมณ์ของผู้วายชนม์เมื่อเที่ยงของวันจันทร์ที่ ๙ พ.ค.๒๕๒๖ ณ บริเวณสุสาน Père Lachaise สถานที่สำหรับ ฝังศพบุคคลสำคัญของประเทศ เช่น Chopin, Molière, Hugo, Delacroix ฯลฯ

อรุณ เวชสุวรรณ ได้ทำบรรณานุกรมบทความที่กล่าวถึงนายปรีดี ๑๐๐ วันหลังอสัญกรรม  พร้อมให้ความเห็นไว้ว่า “ประวัติวงการหนังสือของไทย ได้จารึกไว้แล้วว่า ในช่วงร้อยวันหลังจากอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรม สามารถคิดเฉลี่ยได้ว่า แต่ละวันได้มีหนังสือกล่าวถึงคุณความดีและผลงานของท่านไม่น้อยกว่า ๑ เรื่อง ทั้งยังต้องบันทึกลงไปอีกด้วยว่า มีหนังสือพิมพ์ออกมาจำนวนมากมาย จากนักเขียน นักวิชาการหลายคน ซึ่งมุ่งสดุดีบุรุษผู้ยิ่งยง รัฐบุรุษอาวุโสของไทย ผู้ซึ่งต้องนิราศไปต่างแดน และยากลำบากใจจนไม่สามารถกลับมาตายบนมาตุภูมิที่รักยิ่งได้”  หนังสือเนื่องในวันมรณกรรมของรัฐบุรุษอาวุโส มิตรกำสรวล ถูกจัดพิมพ์ขึ้นหลังอสัญกรรมของนายปรีดี ๓ เดือนหลังมรณกรรม สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๖ นับเป็นเล่มหลักที่บรรจุคำไว้อาลัยและเรื่องรำลึกอย่างเป็นทางการโดยโครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย

อนุสาวรีย์ของท่านผู้ประสาสน์การธรรมศาสตร์หน้าตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ได้รับการประดิษฐานอย่างเป็นทางการหลังการอสัญกรรมของนายปรีดีเพียงปีเศษเมื่อวันที่ ๓ ก.ค.๒๕๒๗ ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน ๒๗ มิ.ย.๒๕๒๗ ยังนับเป็นวันฉลองครบรอบกึ่งศตวรรษแห่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่เคยละเลยไม่เอ่ยนามผู้ก่อตั้งในประวัติมหาวิทยาลัยหลังจากนายปรีดีสิ้นอำนาจจนสาธารณชนเกือบหลงลืม ครั้งฉลอง ๕๐ ปีนี้ได้ตีพิมพ์หนังสือที่ระลึกนำโดยอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในฐานะบรรณาธิการจำนวนถึง ๑๐,๐๐๐ เล่ม ความหนาเกือบ ๙๐๐ หน้า นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการฟื้นคืนพื้นที่ประวัติศาสตร์ของนายปรีดีในฐานะผู้ริเริ่มก่อตั้งสถานศึกษาสำคัญแห่งนี้ เนื้อหาบรรจุคำอุทิศและเอ่ยอ้างถึงนายปรีดีจำนวนมาก เช่น “รัฐบุรุษสดุดี โดย เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์”, “โดม คือ ท่านปรีดี โดย เปลื้อง วรรณศรี” ฯลฯ ทั้งยังอุดมไปด้วยเอกสารชั้นปฐมภูมิจำนวนมากมาย[1] ก่อนหน้างานฉลองนี้ ๒ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ บรรณาธิการท่านนี้ (ต่อมาดำรงตำแหน่งอธิการบดี ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๖-๓๗)ได้ร่วมกับคณะ ๖ ท่าน ริเริ่มวิจัยค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่ยุคก่อร่างสร้างตัว (๒๔๗๗) ถึงยุคสายลม แสงแดด และยูงทอง (๒๕๑๑) อย่างลึกซึ้ง ผู้ประสาสน์การได้รับการเชิดชูว่า “โดยที่นายปรีดี พนมยงค์ซึ่งเป็นผู้นำคนหนึ่งของคณะราษฎร และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาว่าเป็นกุญแจดอกสำคัญดอกหนึ่ง ซึ่งจะนำประเทศสยามไปสู่ประชาธิปไตย การจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงได้เน้นจุดสำคัญอยู่ที่การเปิดเสรีภาพทางการศึกษาให้กว้างขวางที่สุด”[2]

อัฐิของท่านผู้ประศาสน์การธรรมศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ ต้องรอถึง ๓ ปีหลังอสัญกรรมจึงได้รับอัญเชิญคืนกลับบ้านเกิดเมืองนอน ในงานนี้มีการพิมพ์หนังสือ ปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง ประมวลข่าวและนานาทัศนะในงานอัฐิธาตุ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ๗-๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๙ หนึ่งในบทไว้อาลัยที่น่าสนใจโดย “นายผี” หรือ “อัศนี พลจันทร (พ.ศ.๒๔๖๑-๒๕๓๐)” กล่าวว่า “ดร.ปรีดี ‘ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง’ ซึ่ง ดร.ปรีดีเป็นผู้ตั้งขึ้นเองหลังจากเปลี่ยนการปกครองแผ่นดินควบคู่ไปกับการตั้งธนาคารชาติ ต่อมามหาวิทยาลัยนี้ถูกพวกทหารฟาสซิสต์ยึดไป ขับไล่ ดร.ปรีดีไปนอกประเทศหลายครั้ง จนในที่สุดก็ไปตายที่ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่นั้นมาตำแหน่งผู้ประศาสน์การก็เป็นอันยกเลิกมีตำแหน่งอธิการบดีขึ้นมาทำหน้าที่แทน และนับแต่นั้นมาก็ไม่มีผู้ประศาสน์การอีกแล้ว คำว่า ‘อธิการบดี’ มีสำเนียงไปทางพระ ไม่เหมาะกับชื่อผู้ปกครองและชี้นำมหาวิทยาลัยของฆราวาส... ‘ธรรมศาสตร์’ ก็อาจมีผู้คิดว่าคงจะเกี่ยวกับศาสนาอยู่แล้ว แท้จริงคำ ‘ธรรมศาสตร์’ หมายถึงกฎหมายบ้านเมือง หาได้หมายถึงเรื่องทางสาสนาไม่ มีคำว่า ‘คัมภีร์มานวธรรมศาสตร์’ เรียกคัมภีร์หรือบัญญัติกฎหมายโบราณเป็นที่รู้กันทั่วไปดี คำว่า ‘มนู’ ก็ถูกใช้เรียกเป็นชื่อผู้พิพากษามาแต่เดิมในฐานเป็นราชทินนาม...ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็มีคำ ‘มนู’ อยู่ในนั้นคือ ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’...”[3]

หลังอัฐิของปรีดี พนมยงค์ นิวัติสู่มาตุภูมิเพียงหนึ่งปี ชีวประวัติของท่านได้รับการถ่ายทอดผ่านศิลปะการแสดงเช่น บทละครเรื่อง คือผู้อภิวัฒน์ โดย คำรณ คุณะดิลก อดีตสมาชิกชมรมพระจันทร์เสี้ยวประเดิมเปิดการแสดงครั้งแรกเมื่อ ๒๗  มิถุนายน- ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๓๐ จำนวน ๗ รอบ ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ละครเวทีเรื่องนี้ประสพความสำเร็จอย่างล้นหลาม ภายหลัง ๓ เดือนจากนั้นยังได้กลับมาแสดง ณ หอศิลปะ พีระศรี, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และปัตตานี นายเจตนา นาควัชระ ถึงกับเขียนทัศนะวิจารณ์ชื่นชมว่า “คือผู้อภิวัฒน์ ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างประจักษ์แจ้งแล้วว่า เรามีบทละครของไทยที่เข้มข้นด้วยอารมณ์และความคิด ซึ่งสามารถนำมาแสดงเป็นละครเวทีได้อย่างน่าประทับใจยิ่ง...ตัวละครเดินลงจากเวทีมาแจก ‘ประกาศคณะราษฎร’ ที่เป็นเอกสารอัดสำเนาให้แก่ผู้ชม...ผู้ชมกลับได้สาส์นในรูปของเอกสารติดมือกลับไปอ่านที่บ้าน เป็นการให้โอกาสผู้ชมให้วินิจฉัยด้วยตัวเอง และก็คงจะมีผู้ชมจำนวนหนึ่งที่คิดค้านทัศนะ ‘คณะราษฎร’ นั่นคือการวางตัวเป็นกลางในการสร้างละครประวัติศาสตร์ด้วยการให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ‘เปิดปากพูดด้วยตัวเอง’ เป็นการปลุกวิจารณญาณของผู้ดูผู้ชมในกรอบของวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์”[4] การจัดแสดงละครเวทีชิ้นนี้นับว่าบรรลุเป้าหมายของผู้จัดร่วมคือสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ที่ว่า “จุดประสงค์ที่แท้จริงของการจัดละครในครั้งนี้ ต้องการที่จะนำมาเสนออุดมการณ์ของท่านที่มีเจตนาบริสุทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้น...”[5]

ในทศวรรษ ๒๕๓๐ ทุกงานประจำปียังคงมีการตีพิมพ์หนังสือที่ระลึก ภายในบรรจุบทความเกร็ดประวัติและเรื่องราวที่น่าสนใจของนายปรีดีสม่ำเสมอ ในช่วงเวลานี้ เรื่องเล่าจากภริยาคู่ชีวิตคือท่านผู้หญิงพูนศุขได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษถึงขนาดนักเขียนนาม “นรุตม์” จากนิตยสารแพรวขอสัมภาษณ์และเรียบเรียงสารคดีชุด “หลากบทชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์” ทยอยเผยแพร่ลงในนิตยสารแพรวปี พ.ศ.๒๕๓๕ และจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มจำหน่ายถึง ๓ ครั้ง คือ พ.ศ.๒๕๓๕,๒๕๓๗ และ ๒๕๔๑ ระหว่างนี้ปี พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นวาระครบเจ็ดรอบอายุ ๘๔ ปีของท่านผู้หญิงพูนศุข บุตรธิดาได้จัดสร้างหนังสือที่ระลึกสี่สีพิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตมันคุณภาพสูงมีเนื้อหา ภาพประกอบและเอกสารชั้นต้นที่มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ไทยมากมาย[6]

เมื่อกล่าวถึงทศวรรษเดียวกันนี้ ศิษยานุศิษย์ของนายปรีดีก็เริ่มทยอยลาลับดับหายจากโลกนี้ หนังสือที่ระลึกงานศพของท่านเหล่านี้บางเล่มบันทึกเรื่องราวเกี่ยวเนื่องที่น่าสนใจมากมาย อาทิเช่นนักหนังสือพิมพ์ชื่อดังอย่าง “สุภา ศิริมานนท์ (พ.ศ.๒๔๕๗-๒๕๒๙)” สุภาเล่าเกร็ดนายปรีดีที่มีต่อการแปรอักษรครั้งประวัติศาสตร์เมื่อ ๒๙ ม.ค.๒๕๒๖ พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขนฯ ว่า “...นายปรีดีปิดไว้ในห้องทำงานที่บ้านพักและซาบซึ้งมาก และนายสุภาได้ให้หลานอ่านบันทึกใส่เทปส่งไปให้อีกทอดหนึ่ง เมื่อนายปรีดีได้ฟังถึงกับน้ำตาไหลจึงได้อัดเสียงตอบสั่งสอนหลานของตนมาด้วย...”, “วิจิตร ลุลิตานนท์ (พ.ศ.๒๔๔๙-๒๕๓๐)” ท่านผู้หญิงพูนศุขกล่าวในคำไว้อาลัยว่า “คุณวิจิตรเป็นศิษย์ที่มีความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ เมื่อนายปรีดีลี้ภัยการเมืองออกไปพำนักในต่างประเทศ คุณวิจิตรมิได้ละทิ้งข้าพเจ้าโดยไปมาหาสู่อยู่เนืองๆ และเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ มีข่าวปรากฏว่านายปรีดีพำนักอยู่ในสาธารณรัฐราษฎรจีน หนังสือพิมพ์ (BKK.POST) จึงได้สัมภาษณ์ศิษย์บางคนซึ่งรวมทั้งคุณวิจิตรด้วยผู้หนึ่งว่ามีความคิดเห็นประการใด คุณวิจิตรได้ให้สัมภาษณ์โดยไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆเป็นใจความว่า “ไม่ว่านายปรีดีจะอยู่ ณ แห่งใด ความเคารพนับถือในฐานศิษย์ต่ออาจารย์ไม่เปลี่ยนแปลง” และเมื่อนายปรีดีย้ายไปพำนักในประเทศฝรั่งเศส คุณวิจิตรได้เดินทางไปเยี่ยมหลายครั้ง จนกระทั่งสุขภาพไม่อำนวย”, “ไสว สุทธิพิทักษ์ (พ.ศ.๒๔๖๐-๒๕๓๗)” ลูกศิษย์ผู้เรียบเรียงประวัตินายปรีดีเล่มแรก พ.ศ.๒๔๙๓ ดังได้กล่าวถึงข้างต้นบทความนี้แล้ว หรือแม้แต่ “ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธเวชช (พ.ศ.๒๔๕๗-๒๕๓๙)” ผู้โดนข้อหากรณีสวรรคตร่วมกับนายปรีดีและอยู่คุ้มครองร่วมเป็นร่วมตายกับนายปรีดีในระหว่างการหาทางหลบลี้จากเมืองไทยทั้งสองครั้งคือ พ.ศ.๒๔๙๐ และ ๒๔๙๒ จนต้องใช้ชีวิตอยู่ในสาธารณรัฐราษฎรจีนกว่า ๒๐ ปีกระทั่ง “ท่านกลับมาอย่างผู้บริสุทธิ์ในกรณีสวรรคต” เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔ บทอาลัยที่เขียนโดยวรรณไว พัธโนทัย ในหนังสืองานศพเล่มนี้บอกเล่าข้อมูลชั้นต้นเชิงลึกที่ทรงคุณค่ามาก

นาม “ปรีดี พนมยงค์” ได้รับเกียรติตราไว้เป็นชื่อหอสมุดทันสมัย ณ อาคารใหม่ตึกธรรมศาสตร์ ๖๐ ปี เมื่อวันที่ ๒๗ มิ.ย.๒๕๔๑ และนับเป็นวาระโอกาสจัดงานฉลอง ๑๐๐ ชาตกาลของท่านศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ขณะนั้นกำลังจะมาถึงอีก ๒ ปีข้างหน้าในวันที่ ๑๑ พ.ค.๒๕๔๓[7]

บริบทงานฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาลของนายปรีดีเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๓ นับว่ามีพลวัตทางสังคมที่สูงมาก เป็นห้วงเวลาที่สังคมเพิ่งพ้นจากเผด็จการทหารแล้วเกิดฉันทามติร่วมให้กำเนิดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากสุดนับจากการฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๘๙ ของรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ หนังสือที่ระลึกในปีนั้นมีการพิมพ์ออกแจกจ่ายและจำหน่ายจำนวนมากมาย แม้แต่นิตยสารชื่อดังหลายๆ หัวยังต้องขึ้นเรื่องปกของนายปรีดีในช่วงเดือนเกิด เช่น สารคดี[8] ศิลปวัฒนธรรม[9] และ ปรีดีสาร โดย ทวีป วรดิลก บรรณาธิการตีพิมพ์ฉบับฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาล รวบรวมบทความชิ้นตำนานจำนวนมากที่เกี่ยวเนื่องถึงนายปรีดี ในฟากหนังสือสำหรับยุวชนแนวภาพการ์ตูนชีวประวัติมี ๒ สำนักพิมพ์ร่วมพิมพ์ฉลองในงานนี้ หนึ่ง “ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสผู้นำความคิดทางการเมือง” และ “คนดีศรีแผ่นดิน ชีวประวัติ ปรีดี พนมยงค์ ฉบับการ์ตูน” โดยทั้ง ๒ เล่มวาดภาพโดยธนิต สุวรรณพฤกษ์

หนังสือหลักอย่างเป็นทางการโดยคณะกรรมการจัดงาน ๑๐๐ ปีชาตกาลชื่อว่า “คือวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์” จำนวนพิมพ์ ๑๐,๐๐๐ ฉบับ ภายในหนังสือเล่มนี้นอกจากจะสมบูรณ์ด้วยเนื้อหาชีวประวัติในหลากหลายมิติ พร้อมทั้งรูปประวัติศาสตร์จำนวนมาก ในท้ายเล่มยังมีบันทึกของศิษย์คนสำคัญของนายปรีดี “วิเชียร วัฒนคุณ (พ.ศ.๒๔๗๓-๒๕๕๗)” ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันชื่อนายปรีดีสู่บุคคลสำคัญของ UNESCO จนแม้แต่ธิดาทั้ง ๓ ของนายปรีดีได้ ร่วมเขียนคำไว้อาลัยและกล่าวถึงคุณความดีนี้ในงานฌาปนกิจศพท่านผู้นี้ไว้ว่า

“เราสามพี่น้องมีความนับถือคุณวิเชียร วัฒนคุณ ที่ท่านเป็นผู้ยึดมั่นความถูกต้อง ความชอบธรรม และความดีงาม เมื่อเห็นว่านายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มีผลงานโดดเด่นด้านการศึกษา ประชาธิปไตย แสวงหาสันติภาพของไทยและของโลก ท่านได้สนับสนุนรัฐบาลไทยโดยการเสนอของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในโอกาส ๑๐๐ ปีชาตกาลของนายปรีดีฯให้องค์การ UNESCO ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ประจำปี ค.ศ.๒๐๐๐

คุณวิเชียร เป็นสุภาพบุรุษ ท่านได้อาศัยความสุภาพและนุ่มนวลกอร์ปไปด้วยเหตุผล แสดงสุนทรพจน์เพื่อโน้มน้าวบรรดาประเทศสมาชิกในที่ประชุมองค์การ UNESCO ที่กรุงปารีส ให้ลงมติยกย่องนายปรีดีฯ อย่างเป็นเอกฉันท์ สามารถขจัดแรงกดดันของบุคคลบางคนและบางกลุ่มในประเทศไทยที่แสดงความคิดเห็นคัดค้านต่อการนี้...” สุดา-ดุษฎี-วาณี พนมยงค์[10]

ความคึกคักในปรากฏการณ์ที่บ้างเรียกขานว่า “ปรีดีศึกษา” ยังส่งผลดีในแง่ความใคร่รู้เรื่อง “เสรีไทย” จนได้เกิดหนังสือ ตำนานเสรีไทย ของ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร (ราชบัณฑิต) ในปี พ.ศ.๒๕๔๖ ผู้เขียนกล่าวถึงเหตุจูงใจเรื่องการค้นคว้างานนี้ไว้ว่า “ผมเริ่มให้ความสนใจและประมวลข้อมูลในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๒ เมื่อผมเรียบเรียงชีวประวัติของนายปรีดี พนมยงค์เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ...” จนเมื่อวิชิตวงศ์ได้พบกับอดีตเสรีไทย น.อ.วิมล วิริยะวิทย์ ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๓-๓๔ จึงได้กลับมาค้นคว้าจริงจังและทยอยพิมพ์หนังสือย่อยในเรื่องเสรีไทย จนมาประมวลเป็นรูปเล่มสมบูรณ์แบบขนาด ๑,๔๐๐ หน้า ตีพิมพ์ในวันสันติภาพไทย ๑๖ ส.ค.๒๕๔๖ โดยขณะนั้นได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยนุสรณ์อันมีนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ (ผู้ริเริ่มโครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค และคน ๖ ตุลาฯ) เป็นประธานอนุกรรมการจัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึก อนึ่งเมื่อกล่าวถึงมุมของขบวนการเสรีไทย ในปีชาตกาล ๑๐๐ ปรีดี มีหนังสือที่ระลึกอยู่อีกหนึ่งเล่มที่ควรค่าแก่การกล่าวถึง “๑  ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์ (๒๕๔๓)” ของ “ท่านชิ้น” หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ (พ.ศ.๒๔๔๓-๒๕๑๐) ราชนิกุลสหายสำคัญของนายปรีดีและเป็นเสรีไทยสายอังกฤษคนสำคัญ

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

 

[1] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธรรมศาสตร์ ๕๐ ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปีแห่งการสถาปนา ๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๗, (โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์).

[2] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ, สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง, พิมพ์ครั้งแรก มิ.ย.๒๕๓๕, (สำนักพิมพ์ดอกหญ้า),น.๖๕.

[3] ปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง ประมวลข่าวและนานาทัศนะในงานอัฐิธาตุ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ๗-๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๙, (สนพ.อักษรสาส์น),น.๔๔๒-๔๔๓.

[4] เจตนา นาควัชระ ทัศนะวิจารณ์, คือผู้อภิวัฒน์ ทางอันแจ่มใสของละครเวทีไทย, ถนนหนังสือ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๓๐ และ บทละคร คือผู้อภิวัฒน์, ปรีดี พนมยงค์,  น.๘-๑๗.

[5] คำรณ คุณะดิลก เขียน พระจันทร์เสี้ยวการละคร, บทละคร คือผู้อภิวัฒน์, ปรีดี พนมยงค์, น.๔-๕.

[6] ๗ รอบ พูนศุข พนมยงค์ ๒ มกราคม ๒๕๓๙, ผู้จัดพิมพ์ ลลิตา สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี วาณี.

[7] เยาวนุช เวศร์ภาดา บรรณาธิการหนังสือ,หนังสือที่ระลึก หอสมุดปรีดี พนมยงค์ คลังความรู้คู่สังคมใหม่, (สนพ.แปลน ๒๕๔๑).

[8] สารคดี ๒๔๔๓-๒๕๔๓ ร้อยปีชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๑๘๒ เดือนเมษายน ๒๕๔๓.

[9] ศิลปวัฒนธรรม ๑๐๐ ปี ปรีดี พนมยงค์ ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๔๓.

[10] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศ.ดร.วิเชียร วัฒนคุณ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันอาทิตย์ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗,น.๙๓.