ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปวัตติยานุกรมหนังสือชีวประวัติ “ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ.๒๔๔๓-๒๕๒๖)” : ตอนที่ ๓

23
พฤษภาคม
2563

ตอน ๓

ชีวประวัติ ๔ เล่ม จาก ๔ ผู้เขียน

หนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง” เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๕ นำเสนอประวัติหลวงประดิษฐ์ก่อนใครๆในสมาชิกคณะราษฎรดั่งที่ได้ยกนำมาเสนอข้างต้นบทความนี้นั้นมีเจ้าของเป็นนักลงทุนหัวก้าวหน้านามว่า มานิต วสุวัต ผู้เลื่องชื่อในด้านถ่ายทำภาพยนตร์ด้วย เล่ากันว่าทีมถ่ายทำของนายมานิตได้ทำการบันทึกภาพเคลื่อนไหวเมื่อเช้าวันที่ ๒๔ มิ.ย.๒๔๗๕ ไว้ด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าได้สูญหายไปหมดสิ้นแล้ว หนังสือพิมพ์หัวนี้ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองยังได้ตีพิมพ์บทความหลายชิ้นของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (พ.ศ.๒๔๔๘-๒๕๑๗) ที่สนับสนุนระบอบใหม่อย่างแข็งขัน

ภายหลังสงครามสงบ มีการวางจำหน่ายหนังสือ ๒ เล่มกล่าวถึงขบวนการเสรีไทยของนายปรีดีผู้ที่ยังผลให้ประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เล่มแรก เรื่องภายในขบวนเสรีไทย X.O.GROUP (๒๔๘๙)[1] โดยนายฉันทนา นามปากกาของมาลัย ชูพินิจ (พ.ศ.๒๔๔๙-๒๕๐๖) หนังสือเล่มนี้พึงอ่านคู่ขนานกับอีกเล่มของผู้เขียนที่ตีพิมพ์ก่อนหน้าเล็กน้อยชื่อว่า บันทึกจอมพล (๒๔๘๘) บทสัมภาษณ์จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก่อนขึ้นศาลอาชญากรสงคราม[2] ส่วนอีกเล่มที่เล่าเรื่องราวเสรีไทยร่วมสมัยคือหนังสือแปลจากภาษาอังกฤษ เสรีไทยจากอเมริกา สู่สยามประเทศใต้ดิน (๒๔๙๐) แปลโดย ส.ส.สุวงศ์ นามแฝงของหลวงสุเวชช์ศุภกิจ (สิ่น สุวงศ์ พ.ศ.๒๔๓๖-๒๕๒๒) จากหนังสือ Into Siam, Underground Kingdom ของ Nichol Smith & Blake Clark

เมื่อนายปรีดีสิ้นอำนาจหลังรัฐประหาร ๘ พ.ย.๒๔๙๐หนังสือเหตุการณ์ชีวิตของปรีดีเล่มแรกเท่าที่ค้นพบคือ ปรีดีหนี (๒๔๙๑)[3] โดย วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร (พ.ศ.๒๔๗๓-๒๕๖๑) ในนามแฝงนิร นิรันดร[4] (ภาพปกรังสรรค์โดยปยุต เงากระจ่าง ที่ต่อมาสร้างชื่อโด่งดังในฐานะศิลปินไทยคนแรกที่สร้างการ์ตูนเคลื่อนไหวเรื่อง สุดสาคร) ดร.วิชิตวงศ์เป็นบุตรชายของพี่ชายท่านผู้หญิงพูนศุข หนังสือดังกล่าวบอกเล่าเรื่องราวรัฐประหาร ๘ พ.ย.๒๔๙๐ ในมุมของปรีดี ดร.วิชิตวงศ์ เขียนเล่มนี้ด้วยวัยเพียง ๑๘ ปีก่อนบินไปศึกษาต่อยังประเทศออสเตรเลียโดยได้รับข้อมูลจากบุคคลผู้ใกล้ชิด,ลูกศิษย์,ผู้ใต้บังคับบัญชา และ “ผู้ลี้ภัยร่วม” คือ ไสว สุทธิพิทักษ์ (พ.ศ.๒๔๖๐-๒๕๓๗) [5] ผู้แต่งชีวประวัติเล่มแรกของรัฐบุรุษอาวุโสชื่อเรื่องว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์ กับ การปฏิวัติ (๒๔๙๓)[6] เป็นหนังสือที่เผชิญความยากลำบากในการจัดพิมพ์ยิ่ง เมื่ออยู่ในขณะที่ปรีดีตกเป็นผู้ต้องหาที่ถูกตามล่าตัวและตัวผู้เขียนเองก็ยังอยู่ระหว่างลี้ภัยการเมืองที่มลายู โดยเกริ่นไว้ในคำนำว่าได้ลงมือรวบรวมทำไว้ตั้งแต่เริ่มปี พ.ศ.๒๔๘๓ ไสวอุทิศหนังสือนี้แด่พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน พ.ศ.๒๔๓๐-๒๔๙๐) หัวหน้าผู้ก่อการคณะราษฎรผู้เพิ่งละสังขารต้นปีที่นายปรีดีถูกรัฐประหาร เมื่อหนังสือชีวประวัตินายปรีดีเล่มแรกนี้โดยนายไสวปรากฏในบรรณโลก ส.ธรรมยศ (พ.ศ.๒๔๕๗-๒๔๙๕) นักเขียนนามอุโฆษแห่งยุคถึงกับได้เขียนวิจารณ์ลงในหนังสือพิมพ์ประชากรถึง ๖ วันด้วยกัน หนังสือเล่มนี้ห่างหายจากตลาดไปร่วม ๓๓ ปี ก่อนผู้เขียนนำมาปรับปรุงขยายความและพิมพ์จำหน่ายก่อนนายปรีดีถึงแก่อสัญกรรมเพียงไม่กี่เดือนเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖[7] การพิมพ์ครั้งหลังนี้ผู้เขียนถวายคำอุทิศให้แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๔๓๖-๒๔๘๔) และตัดคำว่า กับ การปฏิวัติ ทิ้ง เหลือเพียงชื่อหนังสือ ดร.ปรีดี พนมยงค์

หลังจากชีวประวัติเล่มแรกของปรีดีได้รับการตีพิมพ์ ภาพลักษณ์ของท่านยังคงถูกตามใส่ความและให้ร้ายต่างๆนานาจากสื่อกระแสหลักภายในประเทศ ล่วงถึงปีฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษที่นายปรีดีเขียนหนังสือความเป็นอนิจจังของสังคมส่งจากจีนมาตีพิมพ์เป็นของชำร่วยงานศพมารดาท่านผู้หญิงพูนศูข หนังสือชีวประวัติอีกเล่มชื่อ ท่านปรีดีรัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางเเผนเศรษฐกิจไทยคนเเรก ก็ถูกส่งลงแผงโดย ดร.เดือน บุนนาค (พ.ศ.๒๔๔๘-๒๕๒๕) อดีตหัวหน้าพรรคสหชีพที่ก่อตั้งโดยกลุ่มผู้สนับสนุนปรีดียุคเรืองอำนาจ หนังสือเล่มนี้นอกเหนือจากเล่าชีวประวัติส่วนตัวที่ผู้เขียนได้รู้จักนายปรีดีแต่ครั้งยังเรียนที่ประเทศฝรั่งเศส ดร.เดือนยังนำร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจและพระบรมราชวินิจฉัยมาตีพิมพ์เทียบเคียงให้ผู้อ่านพินิจพิเคราะห์  ทว่าข้อนี้น่าตะขิดตะขวงใจเล็กน้อยที่ดร.เดือนกลับนำฉบับเสริมเติมที่ดูเหมือนจะเป็นปฏิปักษ์กับนายปรีดีมาผลิตซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำเพิ่มเติม “ประชาธิปก” ที่มิได้ปรากฏในต้นฉบับเก่าสุดเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕! ทั้งที่ค่อนข้างชัดเจนว่าตัว ดร.เดือนเองก็ไม่เชื่อว่าพระปกเกล้าฯทรงเป็นผู้เขียน บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ (ดร.เดือนกล่าวในหนังสือว่า “ซึ่งความจริงเป็นข้อโต้แย้งของผู้ใกล้ชิดกับพระปกเกล้าฯมากกว่า”[8]) แลเป็นที่น่าเสียดายว่านับจากเล่มนี้ คำว่า “ประชาธิปก” ก็ถูกนำมาใช้อ้างอิงในการพิมพ์แทบทุกฉบับต่อมาไม่ว่าจะเป็นจากฟากนิยมปรีดีหรือปฏิปักษ์ก็ตาม ภายหลังเหตุการณ์ ๑๔ ต.ค.๒๕๑๖ เพียงหนึ่งปี เล่มนี้ได้ถูกจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ ๒ อันเป็นช่วงที่การรื้อฟื้นชื่อเสียงเกียรติภูมิของปรีดี พนมยงค์ กำลังเป็นไปอย่างคึกคักในวงวรรณกรรมปัญญาชน

ปีที่ ดร.เดือน ตีพิมพ์หนังสือ ประเทศไทยเกิดจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ.๒๔๕๑-๒๕๐๖) นำกำลังทหารยึดอำนาจล้มล้างรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามเมื่อ ๑๖ ก.ย.๒๕๐๐ จุดนี้นับเป็นการสิ้นสุดยุคผู้นำจากคณะผู้ก่อการคณะราษฎรอย่างถาวร จอมพลตราไก่หรือผู้ถูกเรียกขานในหมู่สมาชิกผู้ร่วมก่อการว่า “กัปตัน” ได้ขับรถล่องถนนสุขุมวิทหลบหนีออกชายแดนต่อเรือเข้ายังประเทศกัมพูชาและไปใช้ชีวิตบั้นปลายต่อยังดินแดนอาทิตย์อุทัย ภาพลักษณ์ของนายปรีดีนับจากสมัยนี้ยิ่งถูกกดลงจากเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์นิยมและอเมริกาที่ต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ระยะสงครามเย็นนี้ในอุษาคเนย์ เรื่องราวของนายปรีดีกลับเข้าสู่กระแสการเมืองไทยอีกครั้งภายหลังตัดสินใจย้ายถิ่นฐานข้ามมายังประเทศฝรั่งเศสในอีก ๑๓ ปีต่อมา เมื่อ ๕ พ.ค.๒๕๑๓ ก่อนครบรอบวันคล้ายวันเกิด ๗๐ ปีเพียงไม่กี่วัน และในอีก ๑ ปีถัดมา สุพจน์ ด่านตระกูล (พ.ศ.๒๔๖๖-๒๕๕๓) ได้ออกหนังสือ ชีวิตและงาน ของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๑๔ ชายผู้นี้อุทิศตนให้กับการเขียนหนังสือเรื่องราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕  เทิดทูนมันสมองผู้ก่อการอย่างปรีดี และเขียนโต้ตอบผู้ให้ร้ายแทนนายปรีดีตลอดอายุขัยของเขา ชีวิตก่อนหน้านี้ของสุพจน์เคยถูกจำคุก ๒ คราเมื่อกบฏสันติภาพสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ๒๕ พ.ย.๒๔๙๕ พร้อมกับปาล พนมยงค์ บุตรชายคนโตของนายปรีดีและนักเคลื่อนไหวหัวก้าวหน้าอื่นเช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์, สมัคร บุราวาศ ฯลฯ เป็นเวลา ๕ ปี และอีกครั้งในยุคเผด็จการสฤษดิ์อีกราว ๓ ปี สุพจน์เผยเหตุผลในความศรัทธาที่มีต่อนายปรีดีไว้ว่า “จนเมื่อผมโตพอสมควร ได้ศึกษาเรียนรู้อะไรๆ มากขึ้น ได้ซาบซึ้งในคุณูปการของอาจารย์ปรีดีฯ นับแต่เป็นมันสมองของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ และอื่นๆอีกมากมาย จนกระทั่งท่านมาถูกใส่ร้ายป้ายสีถูกรังแกต่างๆนานา มโนธรรมเรียกร้องให้ผมลุกขึ้นมาปกป้องคนดี เท่าที่ศักยภาพน้อยๆ ของผมจะกระทำได้”[9] หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงและจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็วในครั้งแรกด้วยจำนวนพิมพ์ ๓,๐๐๐ เล่มและนำมาพิมพ์ซ้ำอย่างเร่งด่วนในปลายปีเดียวกันด้วยจำนวนถึง ๑๐,๐๐๐ เล่ม ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและสุพจน์ให้เหตุผลในด้านการตลาดไว้ว่า “ผมใช้คนเดินตลาดขายถึงตัว ที่วางตลาดนั้นเฉพาะในกรุงเทพฯและเป็นส่วนน้อย” ในช่วงเวลานั้นยังอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการถนอม-ประภาส ซึ่งเดิมหนังสือเล่มนี้สุพจน์คิดจะวางตลาดก่อนหน้านั้น ๓ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ แต่ยังไม่กล้าเสี่ยงเพราะบรรยากาศโดยรวมยังไม่เหมาะสม[10] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (พ.ศ.๒๔๙๙-๒๕๖๐) หรือที่รู้จักกันในนาม “อาจารย์ยิ้ม” กล่าวชื่นชมหนังสือเล่มนี้ไว้ในการพิมพ์ครั้งที่ ๔ เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๒ ว่า “ข้อเด่นอย่างหนึ่งของหนังสือนี้คือลักษณะการเขียน ที่ใช้เอกสารชั้นต้นจำนวนมาก เพื่อพิสูจน์ข้อเสนอของสุพจน์ ด่านตระกูล หรือเพื่ออธิบายผลงานของปรีดี พนมยงค์ ในหลายเรื่อง การนำเสนอจะมีลักษณะแบบ ‘ปล่อยหลักฐานพูดเอง’ เป็นจำนวนมาก โดยผู้เขียนพยายามแทรกแซงน้อยที่สุด จึงทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือรวบรวมเอกสารชั้นต้นเกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์ที่สมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่ง”[11] ท่านผู้หญิงพูนศุขกล่าวถึงสุพจน์ว่า “อ่านงานที่เขาเขียนทุกเล่ม คุณสุพจน์เป็นคนที่ค้นคว้าหาความจริงมาตลอด...เขาไม่เคยรู้จักนายปรีดีมาก่อน เพิ่งรู้จักตอนนายปรีดีอายุ ๘๐ ปี ตอนไปเยี่ยมที่ฝรั่งเศส...แต่เขาได้ติดต่อกันทางจดหมาย ซึ่งนายปรีดีจะเตือนเขาเรื่องการเขียนหนังสืออยู่เสมอว่า ต้องเขียนให้รอบคอบ...” [12] เมื่อนายปรีดีถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๒ พ.ค.๒๕๒๖ สุพจน์ ด่านตระกูล จัดพิมพ์จำหน่ายอนุสรณ์อุทิศให้ ๓ เล่ม โดยกล่าวใน “คำขึ้นต้น” เล่มแรกดังนี้

“มาบัดนี้อาจารย์ปรีดีได้ถึงแก่กาลกิริยาไปแล้วตามอายุขัย ณ แขวงอองโตนี ชานกรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖ รวมอายุได้ ๘๒ ปี ๑๑ เดือน กับ ๒๒ วัน

เพื่อเป็นกตเวทีต่ออาจารย์ปรีดีผู้ประกอบกรรมดีต่อชาติบ้านเมืองตลอดมา ผมจึงได้รวบรวมเรียบเรียงชีวประวัติของอาจารย์ปรีดีขึ้นมาใหม่เพื่อความสมบูรณ์กว่าภายใต้ชื่อ ‘อนุสรณ์ปรีดี พนมยงค์’”

ทั้งนี้กระแสความสนใจในประวัตินายปรีดีช่วงก่อนหลังเหตุการณ์ ๑๔ ต.ค. ๒๕๑๖ ส่งผลให้ในตลาดหนังสือระยะนั้นยังพบหนังสือสารคดีชีวประวัติอีกเล่มชื่อว่า ชีวิตและผลงานการต่อสู้ของ ดร.ปรีดี พนมยงค์[13] โดย ปรีชา พงศ์ภมร ผู้เขียนเป็นผู้จัดพิมพ์เอง หนังสือความหนากว่า ๔๐๐ หน้านี้ไม่ระบุปีพิมพ์ แต่จากการอ่านเนื้อหาเข้าใจว่าออกสู่ตลาดหลังเล่มของสุพจน์ไม่นาน ภายในมีข้อมูลที่น่าสนใจช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ และขบวนการเสรีไทย เนื้อหาคล้อยไปทางเห็นอกเห็นใจคณะราษฎรและนายปรีดี แต่ผู้เขียนมีความรวบรัดและดูออกจะสับสนกับครั้ง “ปรีดีหนี” จึงเป็นที่น่าเสียดายอยู่บ้างในแง่ความสมบูรณ์ของชีวประวัติเล่มนี้ ช่วงใกล้กันนั้นเรื่องราวของนายปรีดีปรากฏหนังสือภาษาฝรั่งเศสชื่อว่า Sous-Développement et Utopie Siam: Le Programme de Réformes Présenté en 1933 Par Pridi Phanomyong  (1969) โดย Pierre Fistié ซึ่ง ดร.ไมตรี เด่นอุดม ได้แปลแบบถอดความมิได้แปลคำต่อคำ “หากแต่เป็นการสรุปประเด็นอันเป็นสาระสำคัญและเรียบเรียงขึ้นใหม่บางตอนโดยค้นคว้าเพิ่มเติมจากเอกสารประกอบภาคภาษาไทยหลายเล่ม”[14] ให้ชื่อว่า โลกพระศรีอาริย์ของนายปรีดี พนมยงค์ (๒๕๑๖) อีกแง่หนึ่งภายหลัง ๑๔ ต.ค.๒๕๑๖ กระแสภาพลักษณ์เชิงบวกของนายปรีดียังสะท้อนผ่านผู้เกี่ยวข้องและศรัทธาในตัวท่านดั่งกรณีของ ร.ท.อู๊ต นิตยสุทธิ (พ.ศ.๒๔๔๕-๒๕๑๖) ลูกศิษย์คนสนิท สมาชิกเสรีไทยและ ส.ส.จังหวัดนครราชสีมาในยุคสมัยของคณะราษฎร มีการนำคำปราศรัยและสุนทรพจน์ชิ้นสำคัญจำนวนมากมารวมรวมตีพิมพ์เพื่อแจกเป็นหนังสืองานศพ ซึ่งก่อนหน้านี้แทบจะไม่ปรากฏมาก่อน อีกทั้งนายปรีดียังให้เกียรติเขียนคำไว้อาลัยให้ด้วยตัวเอง[15]

ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ภายหลังตีพิมพ์หนังสือ ปรีดีหนี (๒๔๙๑) ได้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาจาก ๓ ทวีปคือออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกา ต่อมากลับเข้ารับราชการด้านวางแผนเศรษฐกิจและนับเป็นเทคโนแครตคนสำคัญยุคสมัยสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส จนเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒ ครั้งรับทุนวิจัยที่สิงคโปร์ ได้เริ่มเขียนชีวประวัตินายปรีดีฉบับภาษาอังกฤษจบเล่มเป็นครั้งแรกและตีพิมพ์ในชื่อเรื่องว่า “Pridi Banomyong and The Making of Thailand’s Modern History (1979)”[16] ราชบัณฑิตหลานชายท่านผู้หญิงพูนศุขผู้นี้ภายหลังเกษียณตัวเองจากงานการ ได้อุทิศเวลาส่วนหนึ่งให้กับงานประวัติศาสตร์ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ และนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับนายปรีดีหลากแง่มุมโดยเฉพาะเมื่อครั้งงานชาตกาล ๑๐๐ ปี พ.ศ.๒๕๔๓

คุณูปการสำคัญที่ ดร.วิชิตวงศ์ สร้างไว้ต่อประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่คือหนังสือขนาดเขื่องหนาพันสี่ร้อยหน้าชื่อว่า ตำนานเสรีไทย ตีพิมพ์เป็นที่ระลึกในวาระการเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์เมื่อวันสันติภาพไทย พ.ศ.๒๕๔๖ อีกเพียง ๓ ปีถัดจากนั้น ดร.วิชิตวงศ์ ร้อยเรียงข้อเขียนต่างๆและเอกสารชั้นต้นของท่านรัฐบุรุษอาวุโสเขียนเป็นหนังสือชื่อว่า บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์[17] โดยโปรยคำยกย่องไว้บนปกว่า “มีผู้กล่าวว่าประวัติศาสตร์โลก เป็นเพียงแต่ชีวประวัติเอกบุรุษเท่านั้น แล้วคุณจะไม่ลองชมดูหน่อยหรือว่า เอกบุรุษเขาเป็นกันอย่างไร”

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

 

 

[1] นายฉันทนา (นามแฝง), X.O.GROUP เรื่องภายในขบวนเสรีไทย,พิมพ์ครั้งที่ ๑,๓๑ กรกฎาคม ๒๔๘๙. ร่วมจัดพิมพ์โดย แผนกจำหน่ายหนังสือโรงพิมพ์ไทยพานิช สำนักพิมพ์วรรธนะวิบูลย์ และ จำลองสาร.

[2] นายฉันทนา (นามแฝง),บันทึกจอมพล.พิมพ์ครั้งแรก ๒๔๘๘, (สนพ.อุดม).

[3] นิร นิรันดร (นามแฝง), ปรีดีหนี สารคดีการเมืองเบื้องหลังรัฐประหาร, พิมพ์ครั้งแรก ๒๐ กันยายน ๒๔๙๑,(กรุงเทพไทม์).

[4] วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, บุคคลในความทรงจำ, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๖๐,(สนพ.แสงดาว),น.๑๐๐.

[5]วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, บุคคลในความทรงจำ,พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๖๐,(สนพ.แสงดาว), น.๑๐๐.

[6]ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์ กับการปฏิวัติ, พิมพ์ครั้งแรก, (สนพ.สิริธรรมนคร).

[7] ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ ๒ เมษายน ๒๕๒๖, (เคล็ดไทย). ข้อสังเกต ฉบับนี้ระบุพิมพ์ครั้งที่ ๒ แต่มีคำนำทั้ง ๒๕๒๖ และ ปรากฏ “คำนำ ๒๕๑๙”ด้วย?

[8] เดือน บุนนาค, “ความนำ”, ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๐๐, (เสริมวิทย์บรรณาคาร ),(๑๖).

[9] มรกต เจวจินดา, ภาพลักษณ์ ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทย พ.ศ.๒๔๗๕-๒๕๒๖,พิมพ์ครั้งที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๓,(โรงพิมพ์ธรรมศาสตร์),น.๒๕๒.

[10]อ้างแล้ว, น.๒๕๖.

[11] สุพจน์ ด่านตระกูล. ชีวิตและงาน ของ ดร.ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ ๔ กรกฎราคม ๒๕๕๒, (สำนักพิมพ์สุขภาพใจ),น.(๓๓).

[12] ๘๐ ปี สุพจน์ ด่านตระกูล, พิมพ์ครั้งที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖, (สนพ.ตาลกุด),น.๓๗.

[13] ปรีชา พงศ์ภมร,ชีวิตและผลงานการต่อสู้ของ ดร.ปรีดี พนมยงค์, จัดพิมพ์โดยผู้เขียน.

[14] ไมตรี เด่นอุดม, โลกพระศรีอาริย์ของ ปรีดี พนมยงค์, ๑ เมษายน ๒๕๑๖, คำนำ.

[15] อนุสรณ์งานศพ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ต นิตยสุทธิ ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร จ.นครราชสีมา ๒๐ เมษายน ๒๕๑๗.

[16] Vichitvong Na Pombhejara, Pridi Banomyong and The Making of Thailand’s Modern History, (Siriyond Printing).

[17] วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต, บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (สนพ.แสงดาว ๒๕๔๙).