ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปวัตติยานุกรมหนังสือชีวประวัติ “ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ.๒๔๔๓-๒๕๒๖)”: ตอนที่ ๕

6
มิถุนายน
2563

ตอน ๕

พระมหาเถระ กับ นายปรีดี

“แม้กระทั่งสมณะผู้ทรงศีล ๒๒๗ นับแต่องค์สังฆปรินายกสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ลงไปถึงพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ที่ได้มีโอกาสเยือนกรุงปารีส ก็ได้พบปะสนทนากับท่านปรีดีฯ” สุพจน์ ด่านตระกูล

ชีวประวัติของนายปรีดีและภริยาได้มีส่วนเกี่ยวข้องและสนับสนุนพระพุทธศาสนาอยู่เสมอ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ว่าในระดับโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ ดังที่ท่านมีส่วนสำคัญในการผลักดันความสมานสามัคคีในหมู่สงฆ์จนสำเร็จเป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔[1] ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด หรือว่าในระดับปัจเจก นายปรีดีได้มีโอกาสนมัสการและรู้จักมักคุ้นเป็นการส่วนตัวกับ ๓ พระมหาเถระชื่อดังแห่งยุคสมัย ได้แก่ พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ พ.ศ.๒๔๔๙-๒๕๓๖) หรือที่รู้จักกันดีในนาม “พุทธทาส”,พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตฺตโร พ.ศ.๒๔๕๔-๒๕๕๐) หรือที่ผู้คนคุ้นเคยในฉายา “ปัญญานันทภิกขุ” และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ พ.ศ.๒๔๔๖-๒๕๓๒) หรือ “อดีตพระพิมลธรรม” นายปรีดีได้สัมภาษณ์เรื่องราวเกี่ยวกับท่านพุทธทาสไว้บ้างดั่งนี้

ท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นพระที่ดี ผมเลื่อมใสในจริยวัตรและความรู้ของท่านเป็นอย่างมาก ตอนผมอยู่ในไทยเคยนิมนต์ท่านมาปาฐกถาธรรมที่หน้าวัดบวรอยู่เสมอ ลูกศิษย์ของท่าน ท่านปัญญานันทะก็เคยมาเยี่ยมผมที่นี่ ถ้าคุณกลับไปเมืองไทยช่วยบอกท่านทั้งสองด้วยว่า ผมขอฝากกราบนมัสการ ผมเองเคยอุปถัมภ์วัดชื่อ วัดพนมยงค์ ที่อยุธยาบ้านเกิดของผม ต้องการพระดีๆ จากสวนโมกข์ของท่านพุทธทาส บ้างเหมือนกัน แต่เหตุการณ์มันผันแปรไปเสียก่อน”[2] ตามบทบันทึกในไดอารี่ของท่านพุทธทาสภิกขุ ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ฯพณฯ ท่าน ปรีดี พนมยงค์ ครั้งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้นิมนต์ท่านพุทธทาสเดินทางขึ้นมาพระนครเพื่อพบปะธรรมสากัจฉาเป็นการส่วนตัวเป็นเวลาทั้งสิ้น ๓ วัน คือ ๑๘-๑๙ มิ.ย. และ ๒๒ มิ.ย.๒๔๘๕[3]

 

ท่านพุทธทาสภิกขุ ในปีพ.ศ. ๒๔๘๐
ท่านพุทธทาสภิกขุ ในปีพ.ศ. ๒๔๘๐

 

ท่านพุทธทาสภิกขุ บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ค่อนข้างละเอียด พอคัดบางย่อหน้าไว้พอสังเขปดังนี้

“พณฯ (ปรีดี พนมยงค์-ผู้เขียน) ใคร่จะให้เราแต่ง บทสวดทางสาสนา (Hymn) เพื่อใช้สวด มีใจความเปนแก่นธรรมของพุทธสาสนา ขนาดบทหนึ่งไม่เกิน ๕ นาที ประมาณ ๒๔ บท หรือ ๕๒ บท. ให้มีข้อความดี สมสมัย และได้ประโยชน์ ทั้งจะให้นักเรียนธรรมศาสตร เปนผู้เริ่มใช้สวด เปนพวกแรก.”  พุทธทาสภิกขุ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕

พฤหัศ ๑๘ มิถุนา ปทุมคงคา ก.ท.

“บ้านอยู่ปากคลองตลาด เปนวังกรมพระสวัสดิ์เก่า จำนองแก่ทรัพย์สินพระมหากระษัตริย์, เลยใช้เปนบ้านพักท่านผู้สำเร็จราชการ. เราไปถึง มีคนคอยรับที่บันได ที่ประตู และพาเลยขึ้นไปข้างบน ซึ่งจัดขึ้นเพื่อต้อนรับเปนพิเศษเมื่อวานนี้เอง,...ท่านผู้สำเร็จขึ้นมาจากข้างล่าง ตามทางที่เราขึ้นมา ทักทายตามธรรมเนียม เช่น มาถึงเมื่อไรเปนต้น แล้วจึงเริ่มการสนทนา...”

“...และท่านผู้สำเร็จมีความประสงค์จะให้คนจน มีความมั่นใจ ว่าตนมีความสุขเท่ากับคนมั่งมีได้ โดยทำใจให้สันโดษฐ์ ตามหลักพุทธสาสนา อยากให้แต่งบทเพลงชนิดที่เปนแก่นของพุทธสาสนา, และบทที่จะทำให้ผู้นั้นกล้าที่จะหาความสุข โดยการบรรเทาตัณหา, ดูเอ่ยถึงตัณหาในฐานเปนสัตรูมากที่สุด...เริ่มคุยกันแต่ ๑๔ น. เลิกคุยเวลา ๑๗ น. รวม ๓ ชั่วโมงเต็ม...”

ศุกร ๑๘ มิถุนา ปทุมคงคา กรุงเทพ

“...วันนี้ พูดกันด้วยเรื่อง สมาธิ อานาปานสติ อย่างเดียว ในตอนสุดท้ายเราจะกลับ ได้ถามขึ้นถึงเรื่องที่คิดจะมีกิจการอย่างของคณะธรรมทานในกรุงเทพฯ...”[4]

ในท้ายสุด ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวกำชับเป็นครั้งสุดท้ายในบทสนทนาก่อนลาจากกันเมื่อวันจันทร์ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๘๕ ไว้ว่า

“...ท่านเตือนย้ำ เรื่องแต่ง Hymn เมื่อกลับออกไปถึงไชยาแล้ว...”[5]

ครั้นเวลาล่วงมา 44 ปี ท่านพุทธทาสยังคงจำ “คำเตือนของโยมปรีดี” ได้แม่นยำยิ่ง! ในธรรมกถาชิ้นสำคัญที่มาจากบันทึกเสียงของท่านจากสวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งนำมาเปิดให้สาธุชนได้รับฟัง ณ กองบังคับการตำรวจน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ในงานอัญเชิญอัฐิธาตุของนายปรีดี พนมยงค์ ไปลอยอ่าวไทย เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2529 ปรากฏความท่อนหนึ่งว่า

“ท่านรัฐบุรุษอาวุโสยังขอร้องให้อาตมาช่วยแต่งบทเพลง สำหรับพุทธบริษัทจะได้มีเพลงร้องกับเขาบ้างเหมือนศาสนาอื่น ๆ  ข้อนี้อาตมาจนปัญญา  จนปัญญา ทำไม่ได้ แต่งเพลงไม่เป็น”

ในส่วนท่านปัญญานันทะได้อยู่ร่วมงานฌาปนกิจสรีระร่างกายของอาจารย์ปรีดีที่ฝรั่งเศสและได้กล่าวถึงบรรยากาศประหนึ่งจดหมายเหตุไว้ว่า “...อาตมาก็ได้ไปร่วมด้วย ด้วยความบังเอิญ เพราะได้เดินทางไปทอดผ้าป่าที่ประเทศอังกฤษ จึงได้มีโอกาสไปร่วมฌาปนกิจในวันนั้น เป็นภาพที่ประทับใจที่คนไทยที่อยู่ในประเทศยุโรปทุกประเทศ ได้มาชุมนุมกันเป็นจำนวนมากมาย ประมาณ ๔๐๐ กว่าคน เจ้าหน้าที่ป่าช้าที่กรุงปารีส ซึ่งเป็นที่เผาศพ ต่างได้พูดขึ้นว่ายังไม่เห็นศพใดมีคนมากมายอย่างนี้...คณะลูกศิษย์ มิตร ญาติ ที่เคารพก็ได้ไปร่วมกันอย่างแข็งแรง...” อีกทั้งเมื่ออัฐิปรีดีนิวัติ-สัจจะคืนเมืองอีก ๓ ปีหลังจากนั้น ท่านก็ได้ไปรอรับแต่เช้า ณ สนามบินดอนเมือง

ส่วนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ) ได้รู้จักและทำงานร่วมกับนายปรีดีตั้งแต่ต้นสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ขณะบริหารการคณะสงฆ์ในจังหวัดอยุธยาบ้านเกิดของนายปรีดี ชีวิตของพระรูปนี้วัฒนะสุดในสมัยของผู้ก่อการคณะราษฎรจนมาหายนะสุดเมื่อถูกจอมพลสฤษดิ์ยัดเยียดข้อหาคอมมิวนิสต์จองจำท่านในสันติปาลาราม(คุกสันติบาล)ยาวนานถึง ๔ ปีระหว่างปี พ.ศ.๒๕๐๕-๒๕๐๙ หลังสิ้นวิบากกรรมท่านได้ต้องคงความเป็น “มหาอาจ” อีกยาวนานเกือบ ๑๐ ปี จึงได้สมณศักดิ์พระพิมลธรรมคืนในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และขึ้นถึงตำแหน่งสูงสุดที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ จนแล้วสุดได้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชก่อนมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒

 

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสภมหาเถร) เยี่ยม ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ขณะพักรักษาตัวอยู่ที่ เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสภมหาเถร) เยี่ยม ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ขณะพักรักษาตัวอยู่ที่ เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

 

เคยมีคนปุจฉาสมเด็จพระพุฒาจารย์รูปนี้ไว้ว่า “ที่หลวงพ่อเคยกล่าวว่าท่านปรีดีพลิกแผ่นดินใหม่ให้พวกเรานี้ หมายความว่าอย่างไร?” พระท่านวิสัชนาไว้ดังนี้ “ก็คือการเอาในหลวงมาอยู่ใต้กฎหมาย ก็เป็นแผ่นดินใหม่ เป็นเจ้าแผ่นดินใหม่ แผ่นดินของประชาชน ไม่ใช่ของพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว ทำให้คนไทยนี้เป็นเจ้าของแผ่นดินไทยร้อยเปอร์เซ็นต์”[6]

 

ท่านปัญญานันทภิกขุในงานฌาปนกิจท่านปรีดี พนมยงค์
ท่านปัญญานันทภิกขุในงานฌาปนกิจท่านปรีดี พนมยงค์

 

ท่านผู้หญิงพูนศุขให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

“กับท่านปัญญาฯ ก็คุ้นเคยกัน ก็เคยมาเยี่ยมที่บ้าน ที่ปารีสนะ ท่านก็ไปต่างประเทศกันบ่อยๆ สมเด็จพระพุฒาจารย์วัดมหาธาตุ พระพิมลธรรมสนิทกัน เมื่อเราประสบเคราะห์กรรมท่านก็มาเยี่ยม บอกว่า อาตมาไม่ห่วงหรอก ท่านรัฐบุรุษ เพราะท่านรู้จักธรรมะ ห่วงท่านผู้หญิง พอมาเห็นแล้ว บอกไม่ต้องห่วง ท่านก็อุตส่าห์มาเยี่ยม สมเด็จฯ วัดสระเกศก็ไปสองครั้ง แล้วท่านเจ้าคุณปยุตฺโตเวลานั้นตามไปด้วย[7]

“ท่านเจ้าคุณปยุตฺโต” ที่ท่านผู้หญิงกล่าวถึงนี้ ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)” ได้มีโอกาสพบนายปรีดีขณะเดินทางผ่านประเทศฝรั่งเศสเมื่อกลางปี พ.ศ.๒๕๑๕  และขณะเมื่อยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชวรมุนี ท่านได้แสดงปาฐกถาไว้เมื่อวันปรีดี พนมยงค์ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๙ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า “...ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เป็นเจ้าของประวัติชีวิตที่เป็นแบบอย่างอันหนึ่ง ซึ่งคงจะช่วยเป็นเครื่องชักนำให้กำลังใจแก่อนุชนรุ่นหลัง ในการที่จะสร้างสรรค์รักษาอิสรภาพทางจิตปัญญาของตนเองไว้ และรู้จักคิดที่จะช่วยทำการเพื่อสร้างสรรค์อิสรภาพของสังคมต่อไป ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ ก็จะเป็นที่น่ายินดีว่า ชีวิตของท่านเมื่อยังอยู่ก็ได้ทำประโยชน์แก่สังคมแล้ว ครั้งล่วงลับจากไปประวัติของท่านก็ยังเป็นแบบอย่างที่มีประโยชน์ต่ออนุชนรุ่นหลังสืบไปชั่วกาลนาน...”[8]

 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ขณะเยี่ยมนายปรีดี พนมยงค์
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ขณะเยี่ยมนายปรีดี พนมยงค์

 

“องค์สังฆปรินายกสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน” ที่ สุพจน์ ด่านตระกูล อ้างถึงข้างต้นในบทความนี้คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) หรือ “สมเด็จป๋า (พ.ศ.๒๔๓๙-๒๕๑๖)” ขณะดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะที่ “พระวันรัต” ท่านได้บันทึกไว้เมื่อ ๒ มิ.ย.๒๕๑๕ ว่า “...ได้นัดมาพบที่สถานทูตเวลา ๑๖.๐๐ น.วันนั้น...ท่านปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้มาถึงบ้านพักเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส เอาใบชามาถวาย ๑ กระป๋อง หนังสือ ๒ เล่ม ท่านปรีดีนี้สุขภาพดีเลิศ เราไม่เห็นมาตั้ง ๒๐ กว่าปี ร่างกายยังคงอยู่ตามเดิม เพียงแต่ผมเปลี่ยนเป็นสีขาวเท่านั้น ยังพูดคล่องแคล่ว เสียงก็ไม่แสดงว่าเป็นคนแก่ ถ้าไม่บอกอายุแล้วคาดผิดหมด และผิดเอาไกลมาก บัดนี้อายุ ๗๒ คือเข้า ๖ รอบแล้ว”[9]

 

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ

 

ในการทำบุญครบรอบ ๑๐๐ แห่งการอสัญกรรม รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน พ.ศ.๒๔๔๐-๒๕๓๑) แห่งวัดราชบพิธฯ แสดงธรรมเทศนาชื่นชมท่านปรีดีอย่างสูง ดังบางใจความว่า “...อบรมแต่ความเจริญได้ จึงสามารถยกตนขึ้นจากฐานะลูกชาวนา ขึ้นสู่ฐานะรัฐบุรุษอาวุโส เฟื่องฟุ้งด้วยเกียรติคุณทั่วประเทศ ตลอดถึงต่างประเทศ แม้ชีวิตจะแตกดับถึงอสัญกรรมไปแล้วก็ตาม ส่วนคุณงามความดีที่ประดับประเทศชาติยังคงเป็นอนุสาวรีย์ปรากฏรับความสดุดีจากกัลญาณชนอยู่ตลอดกัลปาวสาน...”[10]  ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เคยให้สัมภาษณ์กล่าวถึงสมเด็จสังฆราชพระองค์นี้ไว้ว่า “...ฉันจากเมืองไทยไป ๑๗-๑๘ ปี ไป พ.ศ.๒๕๐๑ กลับ พ.ศ.๒๕๑๘ คนแรกที่ฉันไปกราบคือสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธฯ ท่านไม่ได้รับที่กุฏิ แต่ออกรับในพระอุโบสถ ท่านให้เกียรติเราทั้งที่ขณะนั้นเราไม่มีเกียรติอะไรแล้ว พระท่านยุติธรรม เที่ยงธรรม ไม่เชื่อคำพูดที่กล่าวหาเรา พระท่านปัญญาสูง คนที่เชื่อคือคนที่ไม่ใช้สติประกอบด้วยปัญญา” และภายในบทสัมภาษณ์เดียวกันนี้ “...ที่ธรรมศาสตร์ทำบุญ ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน ฉันก็ทำบุญที่วัดพนมยงค์ ทางธรรมศาสตร์เขาก็ทำให้เต็มที่ เขาให้นักศึกษาติดแผ่นป้ายสีดำๆ แล้วแจกกลอนของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธฯ ท่านเขียนกลอน “ชูดี” แหม ซึ้งเหลือเกิน”[11]

บทกลอน(โคลงสี่สุภาพ) ที่กล่าวถึงคือ

                              ชูดี

    คนดีใยมิด้อม                     ดูดี กันพ่อ
ดีแต่คอยจับที                         ท่าร้าย
ร้ายน้อยกลับทอยทวี               ถวิลเพิ่ม มากนา
หรือมิผิดคิดป้าย                     โปะร้อนซ้อนสุม.  

     ดีชุมเช่นนี้ขาด                  คุณงาม
ดีแต่ก่อชั่วลาม                      เลอะเปื้อน
ดีจริงส่งเสริมความ                ดีทั่ว กันแฮ
ดีท่านดีตนเอื้อน                    ออกอ้างสร้างดี.  

                                               สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ

                                         สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก[12]

 

บรรณานุกรมที่พระมหาเถระทั้ง ๖ องค์ข้างต้นแสดงปาฐกถาธรรมและสัมภาษณ์เกี่ยวเนื่องถึงท่านรัฐบุรุษอาวุโสในวาระต่างๆนั้น มีบางเล่มที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงในที่นี้ อาทิ พนมยงค์ประดิษฐ์ธรรม ศตมาหะวารแห่งอสัญกรรม ๙ ส.ค.๒๕๒๖, สัมภาษณ์พระพิมลธรรม ใน หลวงประดิษฐ์มนูธรรม โดย กองบรรณาธิการมหาราษฎร์ (๒๕๒๗), ปรีติธรรม ธรรมกถาในงานบำเพ็ญกุศลอัฐิธาตุ ๗-๑๑ พ.ค.๒๕๒๙ เป็นต้น

อนึ่งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ มีนักศึกษาหนุ่มผู้เพิ่งผ่านเหตุการณ์ ๖ ต.ค.๒๕๑๙ ได้เข้าเยี่ยมคารวะและสนทนากับนายปรีดีถึง ๒ ครั้ง ๒ หน (ครั้งหลังสองต่อสอง) นิสิตหนุ่มท่านนี้ต่อมาได้ละทิ้งชีวิตทางโลกเข้าสู่ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ก่อนหน้าการอสัญกรรมของนายปรีดีไม่กี่เดือน ต่อมาได้ทำงานอุทิศชีวิตแด่สังคมจนได้รับมอบรางวัลปรีดี พนมยงค์ สำหรับบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านประชาธิปไตยและสันติภาพเมื่องานชาตกาล ๑๐๐ ปีท่านรัฐบุรุษอาวุโส อดีตนักศึกษาหนุ่มในวันนั้น คือ “พระไพศาล วิสาโล” ในวันนี้

 

พระไพศาล วิสาโล
พระไพศาล วิสาโล

 

ในปัจฉิมลิขิต ขอย้อนกล่าวถึงบทบาทสำคัญของนายปรีดีที่มีต่อวงการสงฆ์ในช่วงต้นของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๗ ขณะนั้น ท่านได้ทำปฏิสันถารแก่ตัวแทน “คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา” หนึ่งในคณะนั้นกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “...ไปบ้านป้อมเพชร ท่านปรีดีนุ่งกางเกงแพรดำ ใส่เสื้อป่านกุยเฮงสีขาว ลงมารับหน้าตึก เมื่อขึ้นไปนั่งบนบ้าน ท่านจุดบุหรี่ด้วยไฟแช็คแก่ภิกษุทุกรูป แล้วก็กล่าวว่า เรื่องของพระคุณนั้นผมทราบโดยตลอดเพราะสันติบาลรายงานมาให้ผมทราบทุกระยะ ผมเห็นด้วยที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยนำร่างพระราชบัญญัติเข้าเสนอสภาให้เข้ารูปเข้ารอย ผมจะให้ขุนสมาหารหิตคดีมาแนะนำในการร่างพระราชบัญญัตินี้...”[13] และเมื่อนายปรีดีได้นมัสการท่านปัญญานันทะเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ ได้รำลึกอดีตถึงกุศลเจตนาครั้งนั้นโดยกล่าวกับพระท่านว่า “ผมได้วางแผนไว้แล้วด้วยการออกกฎหมายพระราชบัญญัติปี ๒๔๘๔ ตัวเลขไม่แน่นอน ดูมันราวนั้น ก็ให้มีสังฆสภาให้มีสังฆมนตรี บอกว่าให้มีสังฆสภานี้มิใช่เพื่ออะไร เพื่อให้พระหนุ่มได้มีโอกาสทำงาน เพราะได้เอามาร่วมชุมนุมกัน ได้ปรึกษาหารือกันในการที่จะจัดการอะไร ๆ ให้มันก้าวหน้า...”

สมเด็จพระพุฒาจารย์ หรืออดีตพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ได้ยึดถือ พ.ร.บ. ฉบับนี้มากและแนะนำชักชวนคณะสงฆ์ให้ดำรงไว้เพราะเป็น พ.ร.บ. คณะสงฆ์ที่มุ่งสังฆสามัคคีและเป็นประชาธิปไตยที่สุด[14] แต่ทว่าสุดท้าย กฏหมายของคณะราษฎรฉบับนี้ก็ถูกฉีกทิ้งย่อยยับอย่างไร้เยื่อใยในยุคของรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์!

ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ผู้นี้ นอกจากจะมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อชาติและประชาชนชาวไทยอันนับเนื่องในฝ่ายอาณาจักรแล้ว ยังมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อการพระพุทธศาสนาในแผ่นดินไทยอันนับเป็นฝ่ายศาสนจักรอีกด้วย บทบาทของท่านปรากฏแจ่มแจ้งทั้งในระดับโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์และระดับปัจเจก เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของวิญญูชนเช่นพระมหาเถระตั้งแต่ครั้งอดีต ทั้งยังเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของพระนักพัฒนาสังคมในปัจจุบัน แม้ว่าเรื่องราวดังที่เขียนมานี้จะกลายเป็นอดีตเสียแทบสิ้น ตัวท่านและพระมหาเถระผู้รู้จักคุ้นเคยกันบางรูปจะหาไม่แล้ว แต่คุณูปการของท่านยังคงปรากฏและนำมาซึ่งความ “ปรีดี” แก่ทวยชนทั้งในปัจจุบันและอนาคตสมัย


 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

 

 

เชิงอรรถ:

[1] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, หลอมนิกาย มหาสังฆกรรมคณะราษฎร อุปสมบทพระยาพหลฯ พ.ศ. ๒๔๘๔. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๙ ฉบับที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๑, น.๑๐๘-๑๒๙.

[2] อรุณ เวชสุวรรณ, รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ บิดาแห่งระบอบประชาธิปไตยของไทย, พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม ๒๕๒๖,(สนพ อรุณวิทยา), น.๓๕.

[3] พุทธทาส อินทปัญโญ, ต่อไปนี้เราจะทำจริง แน่วแน่จริงทุกอย่าง แม้ที่สุดแต่การเขียนบันทึกประจำวัน,พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๕๐,(สำนักพิมพ์มติชน),น. ๔๘๑.

[4] พุทธทาส อินทปัญโญ, ต่อไปนี้เราจะทำจริง แน่วแน่จริงทุกอย่าง แม้ที่สุดแต่การเขียนบันทึกประจำวัน,พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๕๐,(สำนักพิมพ์มติชน),น. ๔๘๑.

[5] อ้างแล้ว,น. ๔๘๘.

[6] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม โดย กองบรรณาธิการมติมหาราษฎร์, พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน ๒๕๒๗, (เคล็ดไทย),๔๑-๔๒.

[7] ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์, พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม ๒๕๕๑,น.๓๗๕.

[8] พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ปาฐกถาธรรม เรื่อง ความเป็นอนิจจังของสังขารกับอิสรภาพของสังคม, ปรีติธรรม ธรรมกถาเนื่องในงานบำเพ็ญกุศลอัฐิธาตุ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ๗-๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙,น.๘๒-๘๓.

[9] พระนิพนธ์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถร) คราวเดินทางรอบโลกปี ๒๕๑๕,พนมยงค์ประดิษฐ์ธรรม จัดพิมพ์ในโอกาสศตมาหะวารแห่งอสัญกรรมของ ฯ พณ ฯ ปรีดี พนมยงค์ ๙ สิงหาคม ๒๕๒๖,๑๔๒-๑๔๓.

[10] ดู สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานคติธรรมและพระธรรมเทศนา ครบ ๑๐๐ วัน รัฐบุรุษอาวุโส ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ วัดพนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ ๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๖, (โรงพิมพ์พิฆเนศ),น.๑๑.

[11] ดู ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์, (ตถาตา พับลิเคชั่น : ๒๕๕๑),น.๓๗๔-๓๗๕.

[12] ได้รับเฉลิมพระนามเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ “ ณ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒.

[13] สัมภาษณ์นายประหยัด ไพทีกุล ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๕ ใน คนึงนิตย์ จันทบุตร, น.๑๑๘.

[14] สิริวัฒน์ คำวันสา และ ทองพรรษ์ ราชภักดิ์, “สงฆ์ไทยใน ๒๐๐ ปี” (เล่ม๒),(รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์, ๒๕๒๕),น.๑๗๓