ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปวัตติยานุกรมหนังสือชีวประวัติ “ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ.๒๔๔๓-๒๕๒๖)”: ตอนที่ ๗ (จบ)

20
มิถุนายน
2563

ตอน ๗ (จบ)

ปรีดีนิวัติ พิพัฒน์คณะราษฎรศึกษาฯ

เป็นที่น่าเสียดายว่ากระแสประชาธิปไตยและปรีดีศึกษาที่ดูเหมือนกำลังไปได้ดีกลับถูกเหนี่ยวรั้งให้ชะลอตัวลงจากรัฐประหาร ๑๙ ก.ย.๒๕๔๙ รัฐบาลพลเรือนผ่านการเลือกตั้งต้องพ้นวงจรอำนาจไปอีกครั้ง รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ ถูกฉีกทิ้ง พร้อมกับระบอบขุนทหารฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลับขึ้นมามีอำนาจ บุคคลจำนวนไม่น้อยที่เคยร่วมฉลองและมีส่วนในการฟื้นภาพลักษณ์นายปรีดี พนมยงค์ เริ่มเผยทัศนคติย้อนแย้งต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยด้วยการหันไปสนับสนุนเผด็จการทหาร เพียงไม่ถึงปีถัดมา ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยาของนายปรีดีก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมลงเมื่อวันที่ ๑๑ พ.ค.๒๕๕๐ (ตรงกับวันเกิดนายปรีดี) ด้วยอายุยืนยาวถึง ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน และในปีถัดมาทางครอบครัวได้ตีพิมพ์หนังสือที่ถือว่าบอกเล่าเรื่องราวของสตรีคนสำคัญในประวัติศาสตร์ท่านนี้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ชื่อเล่ม ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์ นอกจากเนื้อหาจะมีเรื่องราว ภาพ ข้อเขียน สุนทรพจน์ และบทสัมภาษณ์ต่าง ๆ ที่เคยเผยแพร่ของท่านผู้หญิงแล้ว ยังผนวกรวมจดหมายบางฉบับระหว่างนายปรีดีกับท่านผู้หญิงพูนศุขอีกด้วย

ปวัตติยานุกรมหนังสือชีวประวัติ  “ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ.๒๔๔๓-๒๕๒๖)”: ตอนที่ ๗ (จบ)

หลังงานศพท่านผู้หญิงพูนศุข หนังสือ ๒ เล่มที่ธิดาท่านประพันธ์ได้รับการตีพิมพ์ เล่มแรกจากดุษฎี พนมยงค์-บุญทัศนกุล (พ.ศ.๒๔๘๒ ) ชื่อว่า ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต ๒๑ ปีในจีน ร่วมกับศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักพิมพ์มติชนส่งลงแผง มี.ค.๒๕๕๕ หนังสือเล่มนี้มีข้อมูลชั้นต้นเพิ่มเติมบางชิ้นน่าสนใจ อาทิ จดหมายจากประธาน “เหมาเจ๋อตุง” สองฉบับและจดหมายส่วนหนึ่งจากนายกรัฐมนตรี “โจวเอินไหล” ที่เขียนถึงนายปรีดี พนมยงค์ เล่มสองจาก วาณี พนมยงค์-สายประดิษฐ์ (พ.ศ.๒๔๘๔-๒๕๖๑) ธิดาคนเล็กสุดผู้เป็นสะใภ้ “ศรีบูรพา” เธอมีความเป็นเลิศด้านวรรณศิลป์ทั้งยังรับบทบรรณาธิการประจำตระกูล  อัตชีวประวัติ วันวานในโลกกว้าง ของวาณีถูกนำพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ.๒๕๕๒ (ครั้งแรกงานชาตกาล ๑๐๐ ปีปรีดี) การเดินตามเรื่องเล่าของ “ปลาย” ในหนังสือของธิดานายปรีดีเล่มนี้นับเป็นความบันเทิงและให้ภาพเรื่องราวของบิดาผู้ประพันธ์ที่สำคัญยิ่งเล่มหนึ่ง บันทึกชีวิตของเธอเล่มนี้ได้ถูกผนวกรวมเข้าไว้ในหนังสือที่ระลึกงานปลงศพผู้ประพันธ์เองเมื่อ พ.ศ.๒๕๖๒[1]

ปวัตติยานุกรมหนังสือชีวประวัติ  “ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ.๒๔๔๓-๒๕๒๖)”: ตอนที่ ๗ (จบ)

หนังสือที่กล่าวถึงชีวิตนายปรีดีในจีนอีกเล่มที่ควรอ่านคืองานเรียบเรียงของ รุ่งมณี เมฆโสภณ เรื่อง อำนาจ ๒ (๒๕๕๕) เป็นการเล่าถึงความพยายาม “กลับมาคืนดีกัน” ระหว่างจอมพล ป.พิบูลสงคราม กับ นายปรีดี ทั้งก่อนรัฐประหาร ๑๖ ก.ย.๒๕๐๐ และหลังการลี้ภัยของทั้งคู่ผ่านการประสานงานของบุคคลต่างๆ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าจอมพล ป.ด่วนถึงแก่อสัญกรรม ณ กรุงโตเกียวเมื่อ ๑๑ มิ.ย.๒๕๐๗ เสียก่อน[2] ปรีดีถึงกับรำพึงว่า “โธ่ เพิ่งส่งโทรเลขอวยพรวันเกิดผมหยกๆไม่น่าเลย”[3]

งาน ๑๑๐ ชาตกาลของนายปรีดีเมื่อ ๑๑ พ.ค.๒๕๕๓ ดูกลับจะกลายเป็นเรื่องที่ถูกบดบังด้วยสถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้น เมื่อเกิดการประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติจนท้ายสุดนำมาสู่โศกนาฏกรรมสังหารหมู่ประชาชนกลางเมืองเมื่อวันที่ ๑๙ พ.ค.๒๕๕๓

ปวัตติยานุกรมหนังสือชีวประวัติ  “ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ.๒๔๔๓-๒๕๒๖)”: ตอนที่ ๗ (จบ)

อย่างไรก็ดีในมุมของสิ่งพิมพ์ปีถัดมา พ.ศ.๒๕๕๔ กลับมีข่าวเล็กๆที่น่ายินดี เมื่อบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัดได้ออก “แสตมป์ที่ระลึก ๑๑๑ ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส” ดวงตราไปรษณียากรชุดนี้มี ๒ แบบ  แบบแรกเป็นภาพ ปรีดี พนมยงค์ ขณะรับเหรียญ Medal of Freedom (Gold Palm) ชั้นสูงสุดเพื่อเชิดชูเกียรติในฐานะหัวหน้าเสรีไทย จากนายโรเบิร์ต พี. แพตเทอร์สัน (Robert P. Patterson) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙  ส่วนแบบที่ ๒ เป็นภาพปรีดีขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีฉากหลังเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[4]

ปวัตติยานุกรมหนังสือชีวประวัติ  “ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ.๒๔๔๓-๒๕๒๖)”: ตอนที่ ๗ (จบ)

หนึ่งทศวรรษนับจากนั้นจนถึงปีนี้ ๑๒๐ ปี “ชาตกาลปรีดี พนมยงค์” พ.ศ.๒๕๖๓ ถึงแม้ทางการเมืองฟากประชาธิปไตยยังแลไม่เห็นแสงจากปลายอุโมงค์เพราะยังคงถูกครอบงำด้วยฝ่ายอนุรักษ์นิยมอันมีระบอบทหารเป็นเครื่องมือ กระนั้นก็ได้จุดกระแสความตื่นตัวด้านการศึกษาไม่เพียงจำเพาะบุคคลเช่นนายปรีดีผู้เป็นมันสมองคณะราษฎรเท่านั้น ทว่ายังขยายความสนใจเข้าสู่เหตุการณ์โดยรวมของประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ พร้อมคณะผู้ก่อการยิ่งขึ้นอีกด้วย ยิ่งเมื่อเกิดการทำลายสัญลักษณ์ของคณะราษฎรมากมายนับจาก “หมุดคณะราษฎรสูญหาย เม.ย.๒๕๖๐”, “การรื้อทิ้งอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๒๘ ธ.ค.๒๕๖๑”, “การเปลี่ยนชื่อค่ายพหลโยธิน จ.ลพบุรี พร้อมทำลายอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ และจอมพล ป.พิบูลสงคราม ม.ค.๒๕๖๓” ดูเหมือนกลับยิ่งเร่งเร้ากระตุ้นความกระหายใคร่รู้ต่อประวัติศาสตร์ที่ถูกปกปิดจากหลักสูตรการเรียนการสอนกระแสหลักของประเทศนี้ในหมู่มวลชนผู้ใฝ่หาประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นทุกวัน

 

ปัจฉิมบท

ศุภมัสดุ ๑๒๐ ปีชาตกาล “ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย”

จำเนียรกาลล่วงมา ๑๒๐ ปีนับจากวันลืมตาดูโลกของสามัญชนลูกชาวนาผู้ตั้งตนนำระบอบประชาธิปไตยประดิษฐานคู่กับสังคมไทยนับถึงวันนี้ได้ ๘๘ ปี ในเชิงโครงสร้างใหญ่ถึงปัจจุบันแม้ดูเหมือนวัตถุประสงค์ของท่านผู้นี้จะดูห่างไกลหมุดหมายเดิมที่ปรารถนาไว้ เบื้องต้นชีวิตนักปฏิวัติของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ.๒๔๔๓-๒๕๒๖) บรรลุเป้าหมายสำคัญ ๒ ประการ คือ ๑. เรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิ.ย.๒๔๗๕ ด้วยบทบาทของมันสมองคณะผู้ก่อการด้วยวัยเพียง ๓๒ ปี และ ๒. นำประเทศชาติพ้นสถานะผู้แพ้สงครามในฐานะของผู้นำเสรีไทยเมื่อ ๑๖ ส.ค.๒๔๘๘ ขณะอายุ ๔๕ ปี ล่วงมาถึงความรุ่งเรืองสุดขีดของชีวิตนักปฏิวัติเมื่อสามารถประดิษฐานรัฐธรรมนูญฉบับที่ใกล้เคียงความเป็นอุดมคติที่สุดเมื่อวันที่ ๙ พ.ค.๒๔๘๙ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศ

ทว่าผู้ใดจะคาดคิดว่า ณ ระยะเวลาห่างจากจุดสูงสุดของชีวิตคนคนหนึ่งเพียงหนึ่งเดือน พลันบังเกิดเสียงปืนหนึ่งนัดดังกึกก้องภายในพระที่นั่งบรมพิมานเมื่อเช้าวันที่ ๙ มิ.ย.๒๔๘๙ กราฟชีวิตทางการเมืองจะพลิกดิ่งโรยถึงจุดต่ำสุดเมื่อถูกกระชากลงจากอำนาจโดยมิชอบธรรมจากการรัฐประหาร ๘ พ.ย.๒๔๙๐ จนจำต้องลี้ภัยเพื่อสะสมกำลังกลับมาทวงประชาธิปไตยกลับคืนในอีก ๒ ปีถัดมา หากจะด้วยความอาภัพในชะตากรรมของประเทศและปัจเจกชนตัวท่านเอง การต่อสู้ในครั้งนั้นประสพกับความพ่ายแพ้อย่างถาวรจนถูกเรียกขานจากฟากผู้ถือครองอำนาจรัฐยามนั้นว่า “กบฏวังหลวง พ.ศ.๒๔๙๒” เป็นเหตุให้ผู้นำกระบวนการประชาธิปไตยท่านนี้ต้องจรจากมาตุภูมิอันเป็นที่รักอย่างไม่มีวันกลับนับจากกลางปีเดียวกันนั้นด้วยวัยเพียง ๔๙ ปี และใช้ชีวิตที่เหลือเกือบครึ่งค่อนในดินแดนหลังม่านไม้ไผ่ ๒๑ ปี (ก.ย.๒๔๙๒-พ.ค.๒๕๑๓) และย้อนกลับไปเสวยบั้นปลายชีวิต ๑๓ ปี (พ.ค.๒๕๑๓-พ.ค.๒๕๒๖) ในดินแดนต้นธารแห่งการปฏิวัติที่ท่านได้เคยบ่มเพาะชุดความคิด “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” แต่ครั้งปฐมวัย นับรวมเวลาที่ดำรงชีพอยู่ในประเทศจีนและฝรั่งเศสทั้งสิ้น ๓๔ ปี จนถึงวันอสัญกรรมอย่างศานติสุขด้วยวัย ๘๒ ปี ๑๑ เดือน กับ ๒๒ วัน

หากจะกล่าวถึงบรรณพิภพเรื่องราวนายปรีดี ตั้งแต่ช่วงรุ่งอรุณของชีวิต พ.ศ.๒๔๔๓ จนถึงยามอาทิตย์อัสดงคต พ.ศ.๒๕๒๖ ไม่ว่าจะรูปแบบใดๆตั้งแต่หนังสืออ่านเล่นจนถึงงานวิจัยหนักอึ้งหรือรำลึกสรรเสริญจนถึงปฏิปักษ์ใส่ร้าย หากรวบรวมทั้งหมดให้ครบถ้วนคงต้องสร้างเป็นหนังสือเจาะจงประเภทเครื่องมือบรรณานุกรมเล่มหนา แต่เมื่อพูดกันอย่างจริงจังเฉพาะในขอบเขต “ปวัตติยานุกรมหนังสือชีวประวัติ” หรือ “ลำดับความเป็นไปหนังสือชีวประวัติ” (ปวตฺติ=ความเป็นไป, ประวัติ + อนุกฺกม=ลำดับ) บทความนี้พอจะให้ภาพหนังสือที่จัดได้ว่าอยู่ในกระแสหลักและถูกเรียกอ้างอิงในวงวิชาการแบบเป็นทางการไว้ค่อนข้างครบถ้วน

เมื่อมองอีกด้านหนึ่งของบรรณพิภพ หนังสือฟากฝ่ายปรปักษ์กับนายปรีดีที่เผยแพร่อยู่ในวงการนั้นย่อมมีเนื้อหาให้เขียนถึงมากมายไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันหรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ จำนวนหนึ่งในนั้นได้ถูกท่านรัฐบุรุษอาวุโสใช้เวลาบั้นปลายชีวิตในฝรั่งเศสฟ้องร้องต่อศาลไทยจนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทุกคดีและต้องถูกสั่งเก็บตามกฎหมายกระทั่งกลายเป็นหนังสือหายากในตลาดหนังสือเก่า กระนั้นอกุศลอคติต่อตัวรัฐบุรุษอาวุโสก็ยังคงแนบแฝงอยู่ในทิฏฐิของบุคคลจำนวนมากในสังคมนี้ ท่านเป็นบุคคลพิเศษที่มีทั้งมวลชนรักใคร่เทิดทูนประหนึ่งเทพเจ้าและเกลียดชังราวกับปีศาจ หนังสือเนื่องด้วยบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ผู้เป็นที่ถกเถียงมากสุดย่อมปรากฏในบรรณพิภพในหลากหลายแง่มุม

อย่างไรก็ดีหากมองในแง่ดีทิศทางการแสวงหาความรู้ของผู้คนในรอบหลายสิบปีนี้ยังคงมีการขยายผลจากตัวบุคคล “ปรีดีศึกษา” ไปสู่กลุ่มบุคคล “คณะราษฎรศึกษา” จนถึงระดับหลักการ “อภิวัฒน์ ๒๔๗๕ ศึกษา” เหล่านี้ล้วนเป็นอาหารสมองชั้นดีเพื่อถอดถอนมายาคติ “ตามที่เขาหลอกลวง” ที่ถูกปลูกฝังมารุ่นต่อรุ่น เช่น เรื่องการสร้างภาพปีศาจปรีดีควบคู่กับวาทกรรมชิงสุกก่อนห่ามของคณะราษฎร[5] หรือประชาธิปไตยแบบไทยๆที่ไม่เหมือนใคร

ช่วงท้ายนี้ ผู้เขียนขออัญเชิญพจน์ปาฐกถาธรรม วันปรีดี พนมยงค์ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๙ ของพระราชวรมุนี[6] (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า “...ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เป็นเจ้าของประวัติชีวิตที่เป็นแบบอย่างอันหนึ่ง ซึ่งคงจะช่วยเป็นเครื่องชักนำให้กำลังใจแก่อนุชนรุ่นหลัง ในการที่จะสร้างสรรค์รักษาอิสรภาพทางจิตปัญญาของตนเองไว้ และรู้จักคิดที่จะช่วยทำการเพื่อสร้างสรรค์อิสรภาพของสังคมต่อไป ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ ก็จะเป็นที่น่ายินดีว่า ชีวิตของท่านเมื่อยังอยู่ก็ได้ทำประโยชน์แก่สังคมแล้ว ครั้งล่วงลับจากไปประวัติของท่านก็ยังเป็นแบบอย่างที่มีประโยชน์ต่ออนุชนรุ่นหลังสืบไปชั่วกาลนาน...”[7] ผู้ปาฐกถามิได้กล่าวถึงเพียงคุณของตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังกล่าวถึงคุณูปการทาง “หลักการ” ที่รัฐบุรุษผู้วายชนม์ได้ทิ้งไว้ด้วย

 

[กุสุมดอกสุดท้ายในพวงกุสุมทามอันผจงร้อยเรียง]

บทความนี้ ผู้เขียนมิเพียงขอมอบต่างพวงกุสุมทามอันผจงร้อยเรียงอย่างประณีตเป็นบูชาแด่ท่านราษฎรอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ในวาระชาตกาล ๑๒๐ ปีของท่านเท่านั้น แต่ยังขอมอบบูชาแด่หลักการของท่านด้วย ผู้เขียนหวังใจว่าการศึกษาหนังสือที่ได้แนะนำใน “ปวัตติยานุกรมหนังสือชีวประวัติ ปรีดี พนมยงค์” นี้ จะเป็นไปเพื่อข้ามพ้นจากเรื่อง “ตัวบุคคล” เป็น “หลักการ” ทำให้หลักการของท่านราษฎรอาวุโสผู้นี้ปรากฏเป็นจริงดั่งที่ท่านได้แสดงปาฐกไว้เมื่อคืนวันพุธที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๗[8] ภายหลังประสบผลสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ขอร้องให้ท่านนิยมรัฐบาลหรือนิยมใครเป็นส่วนตัว แต่ขอร้องให้ท่านเห็นแก่ชาติบ้านเมือง เห็นแก่ประชาชนทั่วไป และช่วยกันเชิดชูรัฐธรรมนูญของเราให้ถาวรลอยเด่นอยู่เสมอ...”  แลเพื่อวันหนึ่งจะเห็นสังคมนี้ก้าวไปถึงวัตถุประสงค์ที่ผู้เขียนประกาศคณะราษฎรท่านนี้ได้แสดงเจตจำนงไว้ในย่อหน้าสุดท้ายว่า “...ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำ ไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพ...สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนา คือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกกันเป็นศัพท์ว่า ‘ศรีอาริย’ นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า”[9]

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

 


[1] หนังสือที่ระลึกงานปลงศพ นางวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ วันอาทิตย์ที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส, พิมพ์ครั้งแรก ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๒, (สนพ. แสงดาว).

[2] ดู เรื่องบันทึกเจริญ กนกรัตน์ เรื่อง ภารกิจลับ,,,กว่างโจว-โตเกียว ใน รุ่งมณี เมฆโสภณ, อำนาจ ๒ บันทึกฉากสุดท้ายคณะราษฎรก่อนประวัติศาสตร์จะไร้ร่องรอย, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๕๕,(บ้านพระอาทิตย์), น.๙๑-๑๐๕.

[3] อ้างแล้ว, น.๑๐๒.

[4]๑๑ ปี กว่าจะมีแสตมป์ ปรีดี พนมยงค์, นิตยสารสารคดี ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๓๑๙ กันยายน ๒๕๕๔ https://www.sarakadee.com/2011/10/04/stamp-pridi/ (เข้าถึง ๓๐ เม.ย.๒๕๖๓)

[5] วาทะที่ว่า “ชิงสุกก่อนห่าม” ที่พบหลังการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ มี ๒ แห่งที่น่าสนใจ หนึ่งคือใน “บันทึกพระบรมราชวินิจฉัย (สมุดปกขาว)” หมวดการศึกษา ตรงนี้ ดู หนังสือประวัติปรีดี พิมพ์ครั้งแรกของ เดือน บุนนาค น.๓๔๐ และอีกหนึ่งโดย น.ม.ส.หรือกรมหมื่นพิทยาลงกรณ เรื่องสามกรุง ดู ยุพร แสงทักษิณ, วรรณคดีการเมืองเรื่องสามกรุง, พิมพ์ครั้งที่ ๒ ๒๕๔๐, (สนพ.มติชน), น.๒๕๗.

[6] สมณศักดิ์ปัจจุบัน “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์”

[7] พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ปาฐกถาธรรม เรื่อง ความเป็นอนิจจังของสังขารกับอิสรภาพของสังคม, ปรีติธรรม ธรรมกถาเนื่องในงานบำเพ็ญกุศลอัฐิธาตุ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ๗-๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙,น.๘๒-๘๓.

[8] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), ปาฐกถา เรื่อง “สองปีที่ล่วงมาแล้ว”, ประชุมปาฐกถา ของแจกในงานพระกฐินพระราชทาน แด่ คณะรัฐมนตรี ณ วัดโสมนัสวิหาร วันที่ ๒๕ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๗๘,(โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ),น.๑๑-๒๒.

[9] ดู ย่อหน้าสุดท้ายของ “ประกาศคณะราษฎร ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕” เข้าใจว่าเขียนโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์ พ.ศ.๒๔๔๓-๒๕๒๖).

 

ผู้เขียนบทความนี้ขอขอบคุณ สุกัญญา เจริญวีรกุล ในการช่วยตรวจทานพิสูจน์อักษรและตั้งชื่อ “ปวัตติยานุกรม”