ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

บทเรียนจาก ปรีดี พนมยงค์

11
พฤษภาคม
2563

การรำลึกครบรอบ 120 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยและสันติธรรมอย่างแท้จริง ถ้าจะให้เป็นไปอย่างมีความหมายและเกิดประโยชน์ต่อสังคมปัจจุบันแล้ว เราควรจะกลับไปศึกษาจากประสบการณ์และความคิดทางการเมืองของเขา แล้วถอดบทเรียนเพื่อให้สังคมเดินไปข้างหน้า ไม่ก้าวพลาดซ้ำวนเวียน หรือเดินถอยหลังเข้าคลอง 

บทเรียนแรก: เรียนรู้ประวัติศาสตร์

สังคมไทยเป็นสังคมที่ผู้มีอำนาจสามารถลบและบิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างไรก็ได้ตามใจชอบ การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ถือเป็นการ “อภิวัฒน์” (Revolution) ครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ชาติไทยยุคใหม่ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรากฐานทางสังคมขนานใหญ่ ดังปรากฎร่องรอยหลักฐานอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ วัตถุ สถานที่ ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ตลอดจนอุดมการณ์ ความคิด และวัฒนธรรม แต่สิ่งเหล่านี้กำลังถูกทำให้เลือนหายและลดฐานะความสำคัญลงเรื่อย ๆ และยังมีความพยายามที่จะทำลายสัญลักษณ์ต่าง ๆ โดยไม่คำนึงถึงความจริงและประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

สะท้อนให้เห็นว่ามีผู้ต้องการลบประวัติศาสตร์สำคัญของไทย โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชน เพื่อทำลายอุดมการณ์และความทรงจำของสังคม แล้วเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ นี่คือผลจากกระแสการ “โต้อภิวัฒน์” (Counter-Revolution) ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

แม้ชื่อปรีดียังมีคนรู้จักบ้าง เพราะเป็นหนึ่งในผู้นำคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทย และเขียนหนังสือที่มีคุณค่าจำนวนหนึ่ง มีสถาบันปรีดีฯ และลูกศิษย์ลูกหาที่พยายามเผยแพร่ประวัติและแนวคิดของเขาอยู่ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังรู้จักเขาน้อยมาก หรือได้ยินได้ฟังคำเล่าลือแบบผิด ๆ จากกระบวนการใส่ร้ายป้ายสี ที่สร้างขึ้นเพื่อลดทอนความคิดและอุดมการณ์ของเขา

อย่างไรก็ตาม ความพยายามลบและบิดเบือนประวัติศาสตร์ ก็สะท้อนความพ่ายแพ้ทางภูมิปัญญาของชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์ ที่ไม่สามารถต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ได้ จึงต้องใช้วิธีการปิดกั้นต่าง ๆ หากมองในมุมกลับ ความพยายามเหล่านี้ทำให้คนรุ่นหลังได้ตั้งคำถามและขุดคุ้ยแสวงหาองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์มากขึ้น

ปรีดีได้แนะแนวทางศึกษาวิเคราะห์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อย่างถูกต้องไว้ว่า

1. ใช้จิตใจวิทยาศาสตร์ (Scientific Spirits) 6 ประการ เป็นหลักพิจาณาว่าเชื่อได้หรือไม่ได้ คือ จิตใจสังเกต จิตใจมาตรการ จิตใจค้นคว้าหาหลักฐานและเหตุผล และใช้ความคิดทางตรรกวิทยาที่ตั้งต้นจากสามัญสำนึก (Common Sense) จิตใจพิเคราะห์วิจารณ์ จิตใจปราศจากอคติ จิตใจที่มีความคิดเป็นระเบียบ

2. ต้องจำแนก “บันทึกเหตุการณ์” นั้นว่าเป็นบันทึกของเอกชนหรือเป็นเอกสารหลักฐานของทางราชการ ซึ่งก็ต้องดูว่าเป็นของทางราชการสมัยใด บันทึกไว้ตามความจริงหรือบิดเบือน ส่วนบันทึกของเอกชนนั้นก็ต้องดูว่าผู้ใดบันทึก บันทึกเมื่อใด ภายหลังเหตุการณ์แล้วเป็นเวลาเท่าใด และบันทึกจากคำบอกเล่า หรือจากที่ตนประสบเหตุการณ์จริง ซึ่งมีหลักฐานอื่นประกอบ

3. การวิพากษ์คณะราษฎรในแง่มุมต่าง ๆ หากมีความลำเอียงหรืออคติ จะเห็นได้จากคำวิจารณ์นั้นเอง ว่าเป็นไปในมาตรฐานเดียวกับที่วิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามหรือไม่

สังคมไทยควรเรียนรู้ข้อดีข้อเสียที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์และพัฒนาการของประชาธิปไตยในห้วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในวงจรการสืบทอดอำนาจ รัฐประหาร และฉีกรัฐธรรมนูญ ไม่รู้จบ นี่คือสาเหตุที่ประชาธิปไตยของไทยไม่พัฒนาไปไหน เพราะถูกทำให้ลืมที่มาและถูกตัดตอนความเจริญเติบโตมาโดยตลอด…. ยิ่งอยากให้ลืม เรายิ่งต้องจำ แม้ว่าเปลี่ยนประวัติศาสตร์ไม่ได้ แต่เราก็เรียนรู้เพื่อให้ประชาธิปไตยประสบความสำเร็จได้ในวันข้างหน้า

บทเรียนที่สอง: แก้ไขข้อผิดพลาด

ถ้าพิจารณาจากบทสรุปที่ปรีดีเคยกล่าวไว้ในช่วงบั้นปลายชีวิตว่า “ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ” ได้สะท้อนความผิดพลาดของคณะราษฎรที่สำคัญ คือ ไม่สามารถรักษาชัยชนะก้าวแรกไว้ได้ กล่าวคือเมื่อชนะแล้วก็ต้องรักษาชัยชนะไว้ด้วย เมื่อรักษาชัยชนะไว้ไม่ได้ก็ไม่อาจพัฒนาไปเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้

เมื่อปรีดีและคณะราษฎรก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบ "ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย" ได้นั้น เขาและเพื่อน ๆ ยังเป็นคนหนุ่มวัย 30 ต้น ๆ ขาดประสบการณ์ในทางการเมือง เกิดความขัดแย้งแตกแยกกันเอง และไม่ได้ระวังป้องกันการโต้อภิวัฒน์ ทำให้พลังตกค้างแห่งระบอบเก่า สามารถฟื้นกลับมามีอำนาจและทำลายตนเองในภายหลัง

ปรีดีมองว่าความผิดพลาดของคณะราษฎรก็เหมือนกับทุก ๆ หมู่คณะ คือ มีความขัดแย้งแตกแยกทางความคิด ซึ่งเกิดขึ้นจากความแตกต่างกันในระดับจิตสำนึกแห่งความเสียสละ ความเห็นแก่ตัว ความแตกต่างในทรรศนะทางสังคม เมื่อได้ชัยชนะก้าวแรกแล้ว ได้แตกแยกกันตามทรรศนะคงที่ ถอยหลัง หรือก้าวหน้า ที่แต่ละคนมีอยู่ ซึ่งจุดอ่อนของคณะราษฎรเองนั้นพอสรุปได้ 4 ข้อ คือ

1. ขาดการศึกษาถึงกฎแห่งความขัดแย้งในขบวนการเมือง ทำให้ขาดความระมัดระวังต่อการที่สมาชิกส่วนหนึ่งฟื้น “ซากทัศนะเผด็จการทาส-ศักดินา” ซึ่งเป็น “การโต้อภิวัฒน์” (Counter-Revolution)

2. คิดแต่เพียงเอาชนะทางยุทธวิธีในการยึดอำนาจรัฐ โดยไม่ได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะไว้ได้อย่างไร จึงจะไม่ถูกการโต้อภิวัฒน์ ซึ่งจะทำให้ชาติเดินถอยหลังเข้าคลอง

3. แม้จะมีความรู้ทางทฤษฎีเกี่ยวกับการสถาปนาประเทศ แต่ก็ขาดความชำนาญในการปฎิบัติและขาดความชำนาญในการติดต่อกับประชาชน

4. การเชิญข้าราชการเก่ามาร่วมบริหารประเทศ โดยหวังให้คนเหล่านั้นก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่พวกเขาจะทำได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงถึงกับมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญ

ปรีดีได้ยกตัวอย่างประวัติศาสตร์สมัยศักดินาที่เคยมีคณะบุคคลหนึ่งต่อสู้ผู้ครองอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้วภายในคณะพรรคนั้นเอง ก็มีบุคคลที่มีความโลภและความริษยาซึ่งเกิดจากรากฐานแห่งความเห็นแก่ตัว (Egoism) ใช้วิธีทำลายคนในคณะเดียวกันเพื่อตัวเองเป็นศูนย์กลางแห่งกิจการทั้งหลาย (Egocentralism) หลังจากที่ได้ชัยชนะต่อระบบเก่าแล้ว “ภายในขบวนการนั้นก็เกิดความขัดแย้งระหว่างส่วนที่ก้าวหน้ากับส่วนที่ถอยหลังเข้าคลอง”

ปัญหาสำคัญอยู่ที่พรรคการเมืองสามารถจัดการแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นให้หมด หรือลดน้อยลงไปได้อย่างไร และรักษาส่วนที่ดำเนินตามอุดมคติของพรรคไว้ได้หรือไม่ แทนที่จะผิดพลาดซ้ำอย่างคณะราษฎรที่ต้องสลายไป จึงควรศึกษาวิธีการของพรรคต่าง ๆ ที่ภายในเกิดขัดแย้งกัน แต่พรรคนั้นสามารถแก้ข้อขัดแย้งภายในได้

“สิ่งที่ช่วยให้พรรคดำรงอยู่ได้ แม้มีข้อขัดแย้งภายใน ก็คือการยึดมั่นในทัศนคติประชาธิปไตยสมบูรณ์ เป็นหลักนำในการบรรลุถึงซึ่งเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ อันเป็นสัมมาทิษฐิ และการหมั่นสำรวจตนเองอยู่เสมอเพื่อแก้ไขความผิดพลาดและหลงผิดของตนเอง และช่วยเพื่อนให้แก้ไข”

ปรีดีเองก็ยอมรับผิดที่ได้เชิญขุนนางในระบอบเก่าเข้ามาร่วมเป็นรัฐบาล โดยไม่ดูให้ดีว่าพวกเขายังมีทัศนคติแบบเก่าหลงเหลืออยู่ ความผิดพลาดนี้ย่อมเป็นบทเรียนให้คนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ไม่ทำผิดซ้ำอีก โดยแนะว่า

“ต้องวิจารณ์ลักษณะอันเป็นธาตุแท้ของบุคคลที่จะร่วมมือหรือมอบหมายในการรักษาและพัฒนาชัยชนะก้าวแรก คือบางคนอาจแสดงความเป็นประชาธิปไตยชั่วขณะหนึ่ง แต่เมื่อถึงระยะเวลาที่จะพัฒนาชัยชนะต่อไปแล้ว ก็อาจจะดำเนินไปตามทรรศนะอันเป็นซากแห่งความคิดเก่าของตนที่ตกทอดมา อันเป็นการบั่นทอนไปถึงรากฐานแห่งการที่จะรักษาชัยชนะที่ได้มาในก้าวแรกนั้นด้วย”

บทเรียนที่สาม: ประชาธิปไตย (ยังไม่) สมบูรณ์

ตามทรรศนะของปรีดี สังคมหนึ่ง ๆ จะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ก็ต่อเมื่อเป็นประชาธิปไตยแบบองค์รวมทั้งทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง และวัฒนธรรม จึงกล่าวได้ว่าเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ โดยปรีดีให้เหตุผลว่าการมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจย่อมปูทางไปสู่การมีการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย รวมไปถึง “ทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย” ที่พลเมืองในสังคมจะต้องมีทัศนคติ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมทางสังคมที่สอดคล้องกับระบอบการเมืองประชาธิปไตยด้วย จึงจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์เกิดขึ้นได้

ปรีดีแสดงความห่วงใยต่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทุกครั้งว่า “จะต้องเคารพเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปวงชนชาวไทย” ซึ่งตรงกับเจตนารมณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม และตรงกับ “สังคมสัญญา” ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่ให้ไว้กับปวงชนชาวไทย

อย่างไรก็ตาม ตลอด 88 ปีที่ผ่านมา การได้มาซึ่งอำนาจของราษฎรมักถูกริดรอนมาโดยตลอด ยังมีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่มีสิทธิมีเสียงเหนือกว่าประชาชนพลเมืองคนอื่น ยังมีเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ ที่ยังถูกคุกคาม ถูกละเมิด กฎหมายถูกเลือกใช้เฉพาะกลุ่มบุคคล

“นี่คือผลจากการที่เราไม่ช่วยกันปกป้องการอภิวัฒน์ หน้าที่พลเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่งคือต่อต้านการรัฐประหาร และปกป้องประชาธิปไตย เพียงแต่ที่ผ่านมาเราถูกทำให้หลงลืมกันไป” เป็นเสียงสะท้อนจากนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยเรายังไม่พัฒนาไปไหน

ปรีดีได้วิเคราะห์ถึงอนาคตของประเทศไทยเอาไว้ว่าถ้ายังอยู่ในวังวนเช่นนี้ ก็จะประสบกับวิกฤติการณ์หลายประการ ซึ่งจะต้องแก้ไขด้วยการพัฒนาสาระสำคัญ 4 ประการด้วยกัน คือ

1. พัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นประชาธิปไตย เศรษฐกิจซึ่งเป็นรากฐานของสังคมที่ไม่ใช่ “เศรษฐกิจประชาธิปไตย” ย่อมเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ อันทำให้ประชาชนอัตขัตขัดสน ซึ่งเป็นการทำให้รากฐานของสังคมระส่ำระส่าย ฉะนั้น มนุษย์ในสังคมต้องพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นเศรษฐกิจประชาธิปไตยได้มากเพียงใด เศรษฐกิจที่เป็นรากฐานก็มั่นคงสมบูรณ์มากขึ้นเพียงนั้น

2. พัฒนาการเมืองประชาธิปไตยสมานกับรากฐานเศรษฐกิจประชาธิปไตย การเมืองที่ตั้งอยู่บนความนึกคิดที่เลื่อนลอยย่อมมีผลสะท้อนกลับไปสู่รากฐานของสังคม ทำให้รากฐานนั้นระส่ำระส่ายและเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น มนุษย์ในสังคมต้องพัฒนาการเมืองให้ตั้งอยู่บนรากฐานเศรษฐกิจประชาธิปไตยได้มากเพียงไร ก็จะเป็นการเมืองประชาธิปไตยมากขึ้นเพียงนั้น

3. พัฒนา “คติธรรมประชาธิปไตย” บุคคลที่ไม่มีประชาธิปไตยก็ไม่อาจปฎิบัติการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองให้เป็นเศรษฐกิจประชาธิปไตยและการเมืองประชาธิปไตยได้ ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาคติธรรมของบุคคลให้เป็นคติธรรมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหลักนำบุคคลให้มีจิตใจประชาธิปไตยปฎิบัติการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองประชาธิปไตย มิฉะนั้น วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองก็จะเกิดขึ้น

4. พัฒนา “วิธีประชาธิปไตย” เมื่อพัฒนาสังคมไทยให้มีรากฐานเศรษฐกิจประชาธิปไตย การเมืองประชาธิปไตย จิตใจและคติธรรมประชาธิปไตย ก็จำต้องพัฒนาวิถีประชาธิปไตย มิฉะนั้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายเผด็จการและฝ่ายประชาธิปไตยจะนำชาติไปสู่หายนะ

ปรีดีอธิบายว่า เศรษฐกิจเป็นรากฐานของสังคม ส่วนการเมืองกับวัฒนธรรม (รวมถึงทัศนคติ) เป็นเหมือนโครงสร้างด้านบน ที่จะต้องสมานกัน ถ้าหากรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจ วิกฤติการณ์ทางสังคมก็ไม่เกิดขึ้น และประเทศชาติก็ดำเนินก้าวหน้าไปตามวิถีทางวิวัฒน์ (Evolution) อย่างสันติ

หากรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจ วิกฤตการณ์ก็ต้องเกิดขึ้นตามกฎแห่งความขัดแย้ง ชนชั้นใดมีอำนาจเศรษฐกิจ ชนชั้นนั้นก็อาศัยอำนาจเศรษฐกิจยึดครองอำนาจทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของตัวเอง รัฐธรรมนูญจึงเป็นไปตามความต้องการของพวกเขา ใช้กดขี่คนส่วนมากของสังคมให้จำต้องปฏิบัติตาม   

ในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการและซากแห่งพลังโต้อภิวัฒน์ชนิดต่าง ๆ ที่ยังมีอยู่ ปรีดีแนะว่า ไม่อาจหวังพึงบุคคลใดคนเดียวหรือคณะใดคณะเดียวเท่านั้น นอกจากพึ่งพลังของประชาชน ซึ่งเป็นพลังอันแท้จริง โดยต้องมีศูนย์การจัดตั้งที่มีวินัยและเข้มแข็ง เป็นกองหน้าต่อสู้ป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามช่วงชิงเอามวลชนไปเป็นพวกเขาได้ และจะต้องกุมความคิดให้มั่นคง บนรากฐานแห่งทรรศนะประชาธิปไตยสมบูรณ์ จึงจะเป็นหลักนำการดำเนินไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์เพื่อมวลราษฎรได้ 

บทสรุป

สรุปบทเรียนโดยรวมก็คือ เราควรศึกษาปรากฏการณ์ต่าง ๆ ด้วยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และวิเคราะห์ด้วยหลักวิชาอย่างถูกต้อง เพื่อค้นพบธาตุแท้ มูลเหตุ และผลลัพธ์ของการปกครองที่ดีกับเลว อันส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคม การเรียนรู้ประวัติศาสตร์จะเป็นกุญแจช่วยไขปัญหาให้เรา ถึงแม้ปรีดีและคณะราษฎรจะมีความผิดพลาดบกพร่องอันเกิดจากความขัดแย้ง ที่เป็นบทเรียนให้เราต้องศึกษา แก้ไข เพื่อไม่ผิดพลาดซ้ำอีก

 

อีกด้านหนึ่งเราก็ควรให้ความเป็นธรรม โดยมองคุณูปการหรือความมุ่งหมายของพวกเขาในเชิงเปรียบเทียบด้วยว่า ทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน มากกว่าจะมองในแง่ความสมบูรณ์ว่าทำได้ 100% หรือไม่ได้เลย อย่างน้อยพวกเขาก็ได้หว่านเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยไว้ให้ชนรุ่นหลังได้สานต่อแล้ว การพัฒนาประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องได้หรือเสียทั้งหมด หากแต่เป็นการต่อสู้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนได้มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง

ถ้าดูหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่เป็นเจตนารมณ์ของการอภิวัฒน์ 2475 โดยหลักการสำคัญแล้วก็คือ ต้องการให้อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร และให้ราษฎรมีความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่มุ่งหมายจะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเป็นคอมมิวนิสต์ อย่างที่ใช้กล่าวหากัน

ถึงแม้คณะราษฎรต้องต่อสู้ความขัดแย้งและการโต้อภิวัฒน์ทั้งจากภายในและภายนอกคณะมาหลายครั้งหลายหน แต่พวกเขาก็ได้ปฏิบัติตามหลัก 6 ประการจนสำเร็จในหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับนานาประเทศได้สำเร็จ หรือนำขบวนการเสรีไทยต่อสู้กับผู้รุกราน อันเป็นผลให้นานาชาติรับรองความเป็นเอกราชของชาติไทยโดยสมบูรณ์ การรักษาความปลอดภัยในประเทศฯ การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรฯ โดยเสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” สถาปนารัฐธรรมนูญที่ให้ราษฎรมีสิทธิเสรีภาพ เสมอภาคกัน และสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นมาเพื่อให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร ฯลฯ

วันนี้ฝ่ายพลังเก่าก็ยังใช้ยุทธวิธีเดิม ๆ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่กลับยิ่งอ่อนแอ เพราะถูกกดทับทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และภูมิปัญญา บทเรียนที่สำคัญก็คือ การยึดกลไกอำนาจรัฐในปี 2475 เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการปกครองหรือการร่างรัฐธรรมนูญนั้นยังไม่เพียงพอ เราต้องพยายามเปลี่ยนแปลงที่โครงสร้างพื้นฐาน คือจิตสำนึกของคนส่วนใหญ่ให้เชื่อเรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ อย่างจริงจัง และประชาชนร่วมมือกันจัดตั้งองค์กร สร้างเครือข่ายให้เข้มแข็ง ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ สังคมไทยจึงจะมีทางที่จะก้าวหลุดพ้นจากวิกฤติ และอภิวัฒน์ไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้

หลักปรัชญาที่ปรีดีอ้างถึงบ่อย ๆ ในการอธิบายความเป็นไปของสังคม ก็คือ “กฎแห่งอนิจจัง” เขาเขียนเรื่องนี้ไว้โดยละเอียดในหนังสือชื่อ “ความเป็นอนิจจังของสังคม” บอกเล่าถึงเหตุปัจจัยต่างๆ ที่นำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมใดสังคมหนึ่ง ซึ่งสิ่งใหม่ที่ดีกว่าย่อมเข้ามาแทนที่สิ่งเก่าอยู่เสมอ ไม่มีสรรพสิ่งใดที่คงอยู่อย่างถาวร

ถึงแม้ดูเหมือนระบบเก่าที่สลายไปแล้วจะกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกและตั้งมั่นอยู่ต่อไปท้าทายกฎดังกล่าว แต่สิ่งที่ลวงตาเช่นนั้น เป็นเพียงชั่วคราวตามวิถีแห่งการปะทะในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่ ทั้งนี้ก็เพราะระบบเก่ายังคงมีพลังที่ตกค้างอยู่ จึงดิ้นรนตามกฎที่ว่า “สิ่งที่กำลังจะตายย่อมดิ้นรนเพื่อคงชีพ” การต่อสู้ทำนองนี้อาจเป็นไปได้หลายยก โดยต่างฝ่ายต่างผลัดกันชนะผลัดกันแพ้

ในท้ายที่สุด ไม่มีอะไรขวางกงล้อประวัติศาสตร์และหลีกหนีกฎแห่งอนิจจังไปได้ พัฒนาการของประชาธิปไตยเดินรุดหน้าต่อไป เมื่อประชาชนตื่นรู้มากขึ้น อะไรก็หยุดยั้งเจตจำนงของประชาชนไม่ได้ จึงขอทิ้งท้ายบทเรียนด้วยคำกล่าวของปรีดีที่ว่า

“สิ่งที่ตกค้างของระบอบเก่าชนิดนี้มีทรรศนะที่ผิดจากกฎธรรมชาติ ยิ่งกว่าบุคคลก้าวหน้าแห่งวรรณะเก่าเอง ฉะนั้น จึงดำเนินโต้กฎธรรมชาติและกฎแห่งอนิจจัง ดึงสังคมให้ถอยหลังเข้าคลองยิ่งกว่าพวกถอยหลังเข้าคลองที่จำต้องเป็นไปตามสภาวะของเขา แต่อย่างไรก็ตาม การดึงให้สังคมถอยหลังก็เป็นไปเพียงชั่วคราว เพราะในที่สุดกฎแห่งอนิจจัง ต้องประจักษ์ขึ้น"