ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

สถาบันพระมหากษัตริย์ กับ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์

9
มิถุนายน
2563

ท่านนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านอธิการบดี ท่านที่เคารพรักทุก ๆ ท่าน

การกล่าวเรื่องคุณูปการของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่มีต่อสังคมไทย ควรเริ่มต้นด้วยสัจธรรม  สัจธรรมประการหนึ่งคือ ความเป็นจริงที่ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเปลี่ยนแปลง สรรพสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง นั้นคือทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น ตั้งแต่จักรวาลไปจนถึงอะตอม ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง ถ้ามีระบบใดระบบหนึ่งที่ปรับตัวไม่ได้ ระบบนั้นย่อมเกิดวิกฤติและเสื่อมสลายไป นี้เป็นความจริงที่เกิดขึ้นกับระบบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นระบบตั้งแต่จุลินทรีย์ไปจนถึงไดโนเสาร์ องค์การ สถาบัน บริษัท ตลอดจนถึงอารยธรรมต่าง ๆ เช่น อารยธรรมเมโสโปเตเมีย กรีก และโรมัน เป็นต้น อารยธรรมเหล่านี้ย่อมเสื่อมสลายไป เพราะปรับตัวไม่ได้ ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง 

ต้นเค้าของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกในปัจจุบันเกิดขึ้นเมื่อ 300 ปีก่อน เริ่มต้นด้วยการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ อันนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งนำไปสู่อำนาจและการเผยแผ่อำนาจของประเทศมหาอำนาจไปทั่วโลก อันก่อให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เชี่ยวกรากไปทั้งโลก กระทบประเทศน้อยใหญ่ทุกประเทศทั่วไป  การที่ประเทศต่าง ๆ จะปรับตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของโลก เป็นเรื่องที่ยากมากเพราะการที่จะปรับวิธีคิดและปรับโครงสร้าง ไม่ว่าสังคมใดสังคมหนึ่งเป็นเรื่องยากมาก ประเทศต่าง ๆ จึงประสบภัยพิบัตินานัปการ เช่น ความขัดแย้ง สงครามผันผวนรุนแรงในสังคม วิกฤตการณ์วัฒนธรรม หรือวิกฤตการในรากเหง้าของตนเอง

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และโดยเฉพาะรัชกาลที่ 5 ทรงพยายามปรับประเทศไทยให้มีความเป็นสมัยใหม่ กระแสความเปลี่ยนแปลงของความเป็นสมัยใหม่ของประเทศไทยและของโลกต่อให้เกิดความเครียดเชิงโครงสร้างในสังคมไทย เพราะโครงสร้างทางสังคมปรับตัวไม่ได้ง่าย ๆ ความเครียดเชิงโครงสร้างนำไปสู่ความรุนแรงได้ ดังนั้นที่มีความพยายามที่จะก่อการปฏิวัติรัฐประหาร ที่เรียกว่า  กบฏในรัชกาลที่ 6

ในรัชกาลที่ 7 เศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า The Great Depression of 1930 เป็นกระแสใหญ่อีกกระแสหนึ่งที่เพิ่มความเครียดให้สังคมไทย ความเครียดเพราะกระแสความเปลี่ยนแปลงจะผลิตปัญหารุนแรงต่าง ๆ เข้าใส่รัฐบาลที่รวมศูนย์อำนาจ  ถ้าโครงสร้างอำนาจยังรวมศูนย์ ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะเป็นพระมหากษัตริย์หรือทหาร หรือพลเรือน ดังที่เราเห็นเหตุเภทภัยที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลต่าง ๆ เรื่อยมา  การเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยสันติวิธี เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ย้ายบทบาทจากจุดศูนย์รวมทางการเมือง เป็นจุดที่ล่อแหลมกลายเป็นศูนย์รวมทางจิตใจวิญญาณ ซึ่งพ้นอันตรายจากความเครียด และการเป็นเป้าทางการเมือง ทำให้เกิดความมั่นคงในสถาบันพระมหากษัตริย์สืบมา

 

นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ในบทความ สถาบันพระมหากษัตริย์ กับ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์
นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในรัฐธรรมนูญฉบับ 2489
ที่มา: ซื้อขาย ภาพเก่า รูปเก่า

 

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์มีความปลอดภัยและมั่นคงยิ่งขึ้น  ถ้าศึกษาความคิดบทบาทและพฤติกรรมของอาจารย์ปรีดี คือผู้ที่พยายามพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์  นี่จะเป็นการตรงกันข้ามกับความพยายามสร้างภาพให้สังคมไทยเข้าใจไปว่าอาจารย์ปรีดีเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ท่านผู้มีเกียรติครับ ประสบการณ์อาจหลอกเราได้ เช่น ประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับพื้นผิวโลก จะทำให้เราคิดว่าโลกแบนเพราะเราเห็นอยู่ทุกวี่ทุกวัน เราจะสรุปว่ามันแบน แต่การประมวลความรู้โดยหลักฐานต่าง ๆ สามารถสรุปได้ว่าโลกกลม  จากประสบการณ์จะคิดว่าดวงอาทิตย์โคจรรอบโลก เพราะเราเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกทุกเช้า ตกทางทิศตะวันตกทุกเย็น มนุษย์จะเชื่อเช่นนั้นว่า ดวงอาทิตย์โคจรรอบโลก แต่การประมวลความรู้โดยอาศัยหลักฐานต่าง ๆ โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์  ฉะนั้นประสบการณ์ตรงอาจะทำให้เราเข้าใจผิดได้ แต่การประมวลความรู้ด้วยหลักฐานต่าง ๆ ทำให้เรารู้ความจริง

เรื่องท่านอาจารย์ปรีดีก็เช่นกัน ได้มีผู้จงใจสร้างภาพว่าท่านเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่การประมวลความรู้โดยหลักฐานต่าง ๆ จะพบความจริง ซึ่งตรงกันข้าม คือ ท่านเป็นผู้ที่พยายามพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงที่ท่านมีอำนาจในทางการเมือง และในช่วงที่ท่านไม่มีอำนาจแล้ว จนวาระสุดท้ายในชีวิตของท่าน  ถ้าวิญญูชนใช้การประมวลความรู้โดยหลักฐานจะพบความจริงตามนี้  ความจริงที่ตรงข้ามกับคำเล่าลือประดุจเรื่องดวงอาทิตย์โคจรรอบโลก หรือโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์  

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ ความจริงเป็นเรื่องสำคัญ  ความจริง ความรัก ความสมานฉันท์ เป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้  ความไม่จริงก่อให้เกิดความเกลียดชัง ความเป็นปฏิปักษ์ และความแตกร้าว  ประเทศไทยมีความแตกแยกกันมาก เป็นสังคมทอนกำลัง จนไม่มีกำลังที่จะเผชิญวิกฤตการณ์ต่าง ๆ มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความรู้ ความรัก และความสามัคคี ตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ถ้าคิดว่าท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว จะมองไม่เห็นความดีของอาจารย์ ซึ่งมีเป็นอเนกประการ ถ้ารู้ความจริงว่าอาจารย์ปรีดีเป็นผู้พิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ จะเห็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อสังคมไทยของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์

อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแห่งนี้ โดยมุ่งที่จะสร้างคนที่มีการศึกษาจำนวนมากขึ้นมามีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย  อาจารย์ปรีดีวางระบบการคลัง อาจารย์ปรีดีวางความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ  เมื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินการแก้ไขสนธิสัญญานอกอาณาเขตที่เสียเปรียบต่างประเทศและเสียศักดิ์ศรี  หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ถึง 10 ปี เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกไทย ยกทัพเข้ามาในประเทศไทย และบังคับให้ไทยประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร  อาจารย์ปรีดี ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น  เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม สัมพันธมิตรถือว่าไทยแพ้สงครามด้วย อาจารย์ปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ได้ชิงประกาศสันติภาพเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 โดยถือว่าการประกาศสงครามเป็นโมฆะ  ประเทศไทยมีกรณีสงครามกับสัมพันธมิตร และดำเนินการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรให้รับรองอิสรภาพของประเทศไทย  การประกาศสันติภาพของอาจารย์ปรีดีเมื่อเดือนสิงหาคม 2488 เท่ากับเป็นการกู้อิสรภาพของประเทศไทยจากการเป็นเมืองขึ้นของสัมพันธมิตร  จากคุณูปการในการรักษาบ้านเมืองไว้เมื่อพระมหากษัตริย์ยังทรงพระเยาว์  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ตอบแทนคุณงามความดีของอาจารย์ปรีดี ด้วยการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ดำรงตำแหน่ง รัฐบุรุษอาวุโสเป็นคนแรกและคนเดียวของประเทศไทย

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสเป็นตัวอย่างของสามัญชนคนไทยที่มีความรักชาติบ้านเมืองอย่างแรงกล้า พยายามเรียนรู้จนเกิดปัญญา ใช้ปัญญาทำงานเพื่อประเทศชาติ ดำรงตนอย่างสุจริต ถูกต้อง มีความกล้าหาญ เป็นกำลังสำคัญในการก่อให้เกิดประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุข พิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เชิดชูและพยายามพัฒนาประชาธิปไตย ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รักษาบ้านเมืองไว้ในยามที่คับขันไม่ให้ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่น นับว่าอาจารย์ปรีดี พนมยงค์  เป็นคนดีศรีสยาม โดยแท้

การมีคนไทยคนหนึ่งเป็นคนดีขนาดนี้เป็นเรื่องหายาก ควรที่สังคมไทย โดยเฉพาะอนุชนรุ่นหลัง จะได้รู้ความจริงมีความภาคภูมิใจในความดีของเพื่อนร่วมชาติ ที่ทรงคุณงามความดีอันสูงยิ่งเช่นนี้ และเกิดความบันดาลใจที่จะทำความดีเพื่อประเทศชาติบ้านเมือง

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสเกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 หรือตรงกับ ค.ศ. 1900 ในปี ค.ศ. 2000 หรือ พ.ศ. 2543 ปีข้างหน้าที่ท่านจะมีชาตกาลครบ 1 รอบศตวรรษ ในโอกาสเช่นนี้ ประเทศไทยควรจะกระทำอะไรอันเป็นสัญลักษณ์เพื่อให้สังคมไทยระลึกถึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่ที่ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์   รัฐบุรุษอาวุโสมีต่อสังคมไทย เพื่อก่อให้เกิดกำลังชาติบ้านเมืองในการที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้ารัฐบาลควรจะเป็นเจ้าภาพจัดงานโดยจะเรียกว่า “งานฉลอง 1 ศตวรรษ ปรีดี พนมยงค์  รัฐบุรุษอาวุโสของไทย” หรือ “1 ศตวรรษ ปรีดี คนดีศรีสยาม” หรือชื่ออื่นที่ทำเดียวกันนี้ก็ตาม  ประกอบการสร้างสื่อในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้จักคนไทยที่ประกอบคุณงามความดีแก่แผ่นดิน นอกจากนั้นรัฐบาลควรจะดำเนินการเสนอให้ UNESCO  ประกาศให้อาจารย์ปรีดี พนมยงค์  รัฐบุรุษอาวุโสของไทยเป็นบุคคลสำคัญของโลก เพื่อโลกจะได้รับรู้การมีบุคคลสำคัญระดับโลกของไทย

ท่านผู้มีเกียรติครับ ถ้ารัฐบาลได้ทำตามนี้จะเกิดความเป็นมงคล มงคลกับรัฐบาลเอง และมงคลกับสังคมไทย  คนไทยนั้นถือเรื่องมงคล มงคลเกิดจากความจริง ความงาม ความถูกต้อง การมีความกตัญญูกตเวทีต่อคนที่มีบุญคุณ สังคมที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อคนที่ควรกตัญญูกตเวทีย่อมเป็นสังคมที่มีความเป็นมงคลอยู่ในตัว  ในปี พ.ศ. 2543 นี้ หรือ ค.ศ.2000 จะเป็นปีแห่งชาตกาลครบรอบศตวรรษของคนไทยผู้ทรงคุณวิเศษอีกท่านหนึ่ง คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี การประกาศเกียรติคุณของคนไทยผู้ทรงคุณงามความดีมากกว่า 1 คน ไม่ใช่ข้อเสียหายอะไร ตรงข้ามกับจะเป็นไปในทางที่เป็นคุณยิ่งขึ้น เรายิ่งมีคนไทยที่ทรงคุณงามความดีสูงจำนวนมากเท่าใดที่จะให้โลกได้รับรู้ ยิ่งเป็นการดีเท่านั้น

ท่านผู้มีเกียรติครับ สังคมไทยควรจะล่วงพ้นการคิดอย่างขาดวุฒิภาวะหรืออย่างเด็ก ๆ ว่า ถ้ารักคนนี้ต้องไม่รักรักคนโน้น  การคิดแบบแยกข้างแยกพวก ได้ทำลายสังคมไทยมากเกินแล้ว ควรจะปรับเปลี่ยนวิธีคิดเป็นการคิดแบบเชื่อมโยงเป็นบูรณาการ

ท่านที่เคารพครับ สังคมไทยทอนกำลังกันเองมามากจนสังคมอ่อนแอ ถึงเวลาที่เราจะสร้างความรักความสมานฉันท์ ความเป็นมงคลให้เกิดขึ้นในชาติบ้านเมือง เพื่อสังคมไทยจะได้มีกำลังของแผ่นดิน หรือภูมิพละในการเดินไปข้างหน้า สามารถเอาชนะอุปสรรคอันยากลำบากนานาประการ สามารถสร้างสันติภาพและสันติสุขให้เกิดขึ้นในแผ่นดินของเราให้จงได้ อันเป็นสิ่งปรารถนาสูงสุดของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส 

ขอขอบพระคุณครับ 

 

จากคำกล่าวเปิดงานปรีดี พนมยงค์ หน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ 11 พฤษภาคม 2540