ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ความขัดแย้งในสังคมไทยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

11
มิถุนายน
2563

ในการเสวนาเรื่อง “ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ 27 มิถุนายน 2475” เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2550 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์  นายสุพจน์ ด่านตระกูล ได้ร่วมอภิปรายด้วย ความตอนหนึ่งดังนี้

บทความ ความขัดแย้งในสังคมไทยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในเว็บไซต์ สถาบันปรีดี พนมยงค์

สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย : สังคมไทยในช่วงหลัง มักจะมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 เป็นหลัก กำหนดให้เป็นวันรัฐธรรมนูญอีกด้วย ในแง่ข้อเท็จจริงแล้วพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นธรรมนูญการปกครองฉบับแรกของประเทศไทย และเป็นฉบับที่ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เขียนขึ้น  รายละเอียดความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อย่างไร ขอเชิญ อาจารย์สุพจน์ ด่านตระกูล ให้ความกระจ่างด้วยครับ

อาจารย์สุพจน์ ด่านตระกูล : ก่อนอื่นขอพูดเหตุการณ์ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 คือความขัดแย้งในสังคม อันเป็นเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ก่อนที่ผมจะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อันเป็นการพูดถึงเหตุการณ์ ความคิดเห็นทางการเมือง และเรื่องราวทางการเมืองของคณะการเมืองคณะหนึ่ง  พรรคการเมืองพรรคการเมืองหนึ่งที่มีชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยยุคใหม่ว่า คณะราษฎร  ซึ่งได้มีบุคคลบางกลุ่มบางคณะในคณะนี้ พยายามที่จะลบล้างชื่อคณะราษฎรออกจากหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย หรือพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร หรือสถานการณ์ขณะนั้นให้ผิดไปจากความจริง 

บุคคลบางกลุ่มบางคณะดังกล่าวนี้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลรุ่นใหม่ เกิดมาภายใต้ระบอบใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นคนรุ่นใหม่เฉพาะร่างกายเท่านั้น หากจิตวิญญาณยังคงถูกครอบงำ เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกเหนือธรรมชาติจึงได้กลายเป็นเครื่องมือของพวกซากเดนศักดินา ที่กงล้อประวัติศาสตร์ได้บดขยี้ผ่านพ้นไปแล้ว

เรื่องที่ผมจะพูดก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เรื่องความขัดแย้งในสังคมอันก่อให้เกิดซึ่งความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งปวง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ด้วย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดถึงเรื่องความขัดแย้ง ซึ่งก็เป็นเรื่องเดียวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั่นเอง  ในทุกสังคมนับจากสังคมยุคทาส ยุคศักดินา ยุคทุนนิยมในปัจจุบัน ความขัดแย้งดำรงอยู่สองคู่ โดยหลักการ

คู่ขัดแย้งแรก คือความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง เพราะผู้ปกครองเป็นตัวแทนของชนชั้นผู้กดขี่ ขูดรีด  ความขัดแย้งดังกล่าวนี้ เป็นความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์ที่อาจจะประนีประนอมได้  ท่านเมธีทางวิทยาศาสตร์สังคมจึงกล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า ประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติที่ผ่านมา นับตั้งแต่ยุคบุพกาล เป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางชนชั้น  ความขัดแย้งของคู่ขัดแย้งนี้ บางครั้งก็ปรากฏออกมาถึงเลือดถึงเนื้อและถึงชีวิต ถึงแม้จะไม่ปรากฏออกมาถึงเลือดถึงเนื้อถึงชีวิตก็ตาม แต่ความขัดแย้งนั้นก็ยังดำรงอยู่และจะดำรงอยู่ต่อไปตราบนานเท่าที่การดำรงอยู่ของชนชั้น ซึ่งรอคอยวันที่จะระเบิดขึ้นมาในวันหนึ่งข้างหน้าอย่างแน่นอน  ความขัดแย้งคู่นี้คือความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง วิทยาศาสตร์สังคมถือว่าเป็นความขัดแย้งหลัก

ส่วนความขัดแย้งอีกคู่หนึ่ง ความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองกับผู้ปกครอง เป็นความในผลประโยชน์หรือกลุ่มผลประโยชน์ระหว่างผู้ปกครองด้วยกัน ดังเช่นความขัดแย้งที่ผ่านมาและดำรงอยู่ขณะนี้ ซึ่งเป็นความขัดแย้งภายในของระบบทุนนิยมนั่นเอง แต่ก็ลากเอาชาวบ้านผู้ถูกปกครองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย หรือความขัดแย้งทางรัฐสภาก็คือความแย้งระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับพรรคฝ่ายรัฐบาล ซึ่งต่างก็เป็นตัวแทนของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ขูดรีดด้วยกัน แต่คนละกลุ่มผลประโยชน์กัน วิทยาศาสตร์สังคมเรียกความขัดแย้งกลุ่มนี้ว่าความขัดแย้งรอง

จากความขัดแย้งในสองคู่ความขัดแย้งนี้เอง นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง แต่การเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองในสมัยอยุธยา รวมทั้งสมัยธนบุรี และกรุงเทพฯ (หลังวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475) เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งรอง คือความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองกับผู้ปกครอง  ในสมัยอยุธยาจากความขัดแย้งรองคือความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองกับผู้ปกครอง ทำให้กษัตริย์ถูกปลงประชนม์ถึง 13 พระองค์ เสร็จแล้วก็ดำรงอยู่ซึ่งการกดขี่ขูดรีดกันต่อไป ผู้ปกครองหน้าใหม่มา ก็สถาปนาอำนาจการปกครองขึ้น แล้วก็ปล่อยให้ความขัดแย้งหลักดำรงอยู่ต่อไป คือความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองนั่นเอง จนถึงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ความขัดแย้งหลักระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองระเบิดขึ้น เกิดบุคคลคณะหนึ่งซึ่งเรียกว่าคณะราษฎร  ประกอบด้วยราษฎร ทหารและพลเรือน มีความคิดก้าวหน้าและมีจิตสำนึกฝ่ายราษฎร เป็นตัวแทนหรือกองหน้าฝ่ายราษฎร ลุกขึ้นทำการเปลี่ยนแปลง

ก่อนจะเกิด 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ผมขอเล่าสถานการณ์ขณะนั้นอย่างคร่าว ๆ เพื่อความเข้าใจในเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแผ่นดินวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อันนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับแรกคือ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งขณะนั้นเรียกว่าธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม จึงจำเป็นที่จะต้องได้ศึกษาจากคำประกาศการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้นำออกประกาศต่อหน้าทหารและประชาชนที่ไปชุมนุมกัน ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าในเช้าวันนั้น 

แต่ก่อนที่เราจะได้ศึกษาคำประกาศนั้น ขอให้เราได้ทำความเข้าใจในการดำรงอยู่ของโครงสร้างสังคม สภาพการณ์พื้นฐานของสังคมในเวลานั้นเป็นประการแรก (พอดีผมกำลังเขียนเรื่อง ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ ก็เลยนำเอาตอนที่สองที่กำลังเขียนอยู่มาอ่านให้ฟัง) 

โครงสร้างของสังคมประกอบขึ้นด้วย 3 ส่วน คือ เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม หรือที่ท่านอาจารย์ปรีดีเรียกว่าทัศนะสังคม ซึ่งทางฝ่ายมาร์กซิสต์และฝ่ายซ้ายเขาใช้คำว่าวัฒนธรรม แต่ท่านอาจารย์ปรีดีใช้ว่า ทัศนะสังคม อันเดียวกันนั่นแหละครับ แต่ทัศนะสังคมเข้าใจง่ายกว่า กว้างขวางกว่า  ใช้คำว่าวัฒนธรรมบางทีก็อาจะเข้าใจคับแคบไป  ใน 3 ส่วนนี้ เศรษฐกิจเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการเมืองและวัฒนธรรม หรือทัศนะทางสังคมเป็นโครงสร้างเบื้องบน  โครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างเบื้องบนเกี่ยวข้องกันสัมพันธ์กันและต้องสอดคล้องกัน สังคมจึงจะดำรงอยู่ได้อย่างปกติ โดยประการสำคัญชนชั้นใดเป็นผู้กุมอำนาจในโครงสร้างพื้นฐานการเมืองและวัฒนธรรม หรือทัศนะสังคม ก็จะตกอยู่ในอำนาจของชนชั้นนั้น 

ในยุคทาส เจ้าทาสเป็นผู้กุมอำนาจพื้นฐานอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมหรือทัศนะสังคมจึงอยู่ในอำนาจของเจ้าทาส  ในยุคศักดินา เจ้าศักดินาเป็นผู้กุมอำนาจพื้นฐาน คือเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมหรือทัศนะสังคม จึงอยู่ในอำนาจของเจ้าศักดินา  ในยุคทุนนิยม ปัจจุบันนายทุนเป็นผู้กุมอำนาจ ในโครงสร้างพื้นฐานคือ เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมหรือทัศนะสังคม จึงอยู่ในอำนาจของนายทุน

โครงสร้างของสังคมไทย ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นโครงสร้างของยุคศักดินาความขัดแย้งระหว่างโครงสร้างพื้นฐานกับโครงสร้างเบื้องบนเริ่มก่อตัวขึ้น หรือนัยหนึ่งคือความขัดแย้งระหว่างระบบเศรษฐกิจกับระบบการเมือง กล่าวคือ ระบบเศรษฐกิจในขณะนั้น โดยพื้นฐานเป็นระบบเศรษฐกิจศักดินา ผสมด้วยระบบทุนนิยมที่เริ่มเริ่มตั้งแต่ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 4 แล้วค่อย ๆ เติบโตมาตามลำดับ ในรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ประวัติศาสตร์การเติบโตและขยายตัวของระบบทุนนิยมในประเทศไทย บอกว่า ปล่องควันของโรงงานอุตสาหกรรมปล่องแรกในสยามเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2401 ปล่องควันดังกล่าวนี้เป็นของโรงสีข้าวอเมริกัน “สตรีมไรซ์มิลล์” เจ้าของเป็นชาวอเมริกัน และเมื่อเวลาผ่านไป ปล่องควันไฟของโรงสีข้าวก็ได้เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับการอุตสาหกรรมและการค้าแขนงอื่น ๆ ก็ติดตามมา เช่น กิจการโรงพิมพ์ กิจการเหมืองแร่ กิจการป่าไม้ กิจการรถไฟ กิจการเหล่านี้ดำเนินวิธีการตามวิธีการเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้พูดถึงมูลเชื้อของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ไว้ตอนหนึ่งว่าดังนี้

“เมื่อระบบทุนนิยมสมัยใหม่ได้เกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกแล้ว ก็พัฒนาเป็นทุนมหาศาลยิ่งขึ้นเป็นบรมธนานุภาพหรือจักรวรรดินิยม แผ่อำนาจเข้ามาในสยามประเทศและประเทศด้วยพัฒนาอื่น ๆ  สยามก็ถูกบังคับให้จำต้องทำสนธิสัญญากับประเทศต่าง ๆ อันเป็นผลให้สยามจำต้องรับเอาระบบเศรษฐกิจทุนนิยมคู่กับระบบเศรษฐกิจสมัยเก่า ดังนั้นทัศนะอันเกิดจากระบบทุนนิยมสมัยใหม่ในยุโรปจึงได้ได้ตามมาในสยามด้วย ซึ่งมีเสียงเรียกร้องภายในสยามเองจากผู้ที่เคยศึกษาในยุโรปและอเมริกาที่ไม่ใช่หัวดื้อรั้นที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เสียงเรียกร้องนั้นมีระดับต่าง ๆ กัน”

นี่เป็นข้อเรียกร้องของท่านอาจารย์ปรีดี บอกว่าความเรียกร้องต้องการระบอบประชาธิปไตยเริ่มเข้ามาแล้วตั้งแต่ในยุคนั้น ดังกล่าวในเบื้องต้นว่าโครงสร้างพื้นฐานคือ ระบบเศรษฐกิจเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน และจะต้องสอดคล้องกันกับโครงสร้างเบื้องบน คือระบอบการเมืองและวัฒนธรรม ตรงกันข้าถ้าโครงสร้างเบื้องบน คือระบอบการเมืองขัดแย้งกับโครงสร้างพื้นฐานคือระบบเศรษฐกิจ สังคมจะดำรงอยู่อย่างปกติไม่ได้

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ความขัดแย้งดังกล่าวได้เกิดขึ้นทั่วไป ดังตัวอย่างหนังสือทูลเกล้าถวายฎีกาของนายทองเจือ จารุสาทร ลงวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2474 มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้ (นี่เป็นหนังสือทูลเกล้าถวายฎีกาต่อรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 2474) “เวลานี้ไปที่ใดแม้แต่ชาวนาชนบท ก็กล่าวถึงเศรษฐกิจการเมืองได้ยินข้อครหาอย่างธรรมดาและเดือดร้อน บ้างว่ารัฐบาลปกครองราษฎรอย่างทาส อย่างหลอกลวง อย่างสูบเลือดกันทุกหนทุกแห่ง การนินทาว่าร้ายนี้ไม่ถึงกับเป็นภัยในวันนี้ก็ตาม แต่ก็เป็นชนวนให้เกิดความเสียหายในอนาคต นี้เป็นคำทำนายของนายทองเจือ จารุสาทร ที่กราบบังคมทูลในหนังสือทูลเกล้าถวายฎีกา หนังสือพิมพ์ในเวลานั้นที่เป็นตัวแทนความคิดเห็นของราษฎร ก็ได้ถ่ายทอดความทุกข์ยากของราษฎรออกมาทางหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นปกติ ดังที่ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้นำความทุกข์ยากของราษฎรมาร้อยเรียงเป็นแถลงการณ์ของคณะราษฎร และพระยาพหลพลพยุหเสนาได้นำไปอ่านประกาศต่อหน้าประชาชนที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 [ดู ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑]

นี่เป็นคำประกาศของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ซึ่งท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เขียนขึ้นมา โดยเอาถ้อยคำต่าง ๆ มาจาก คำถวายฎีกาบ้าง เอามาจากบทความหนังสือพิมพ์บ้าง เอามาร้อยเรียงกันขึ้นตามสภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในขณะนั้น รวมทั้งชี้ทางออกของสังคมไทยด้วยทฤษฎีประชาธิปไตย

คำประกาศการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรดังกล่าวนี้ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ประชาธิปไตยอย่างรอบด้าน คือประเทศนี้เป็นของราษฎรทั้งหลาย ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง จึงต้องปกครองโดยราษฎร คือโดยมีสภาจะได้ปรึกษาหารือกันหลาย ๆ ความคิด เพื่อความสุขความเจริญอย่างประเสริฐของราษฎรที่เรียกกันว่า ศรีอริยะ

จากคำประกาศของคณะราษฎรจะเห็นได้ว่า ท่านผู้เขียนคำประกาศคือท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นท่านมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ไม่ได้เขียนอย่างอัตตวิสัย แต่เขียนจากภาวะวิสัย หรือสภาพแวดล้อมที่ดำรงอยู่ในเวลานั้น และถ้อยคำสำนวนในการเขียนก็ไม่ใช่ท่านผู้เขียนคิดประดิษฐ์ขึ้นมาเอง แต่เป็นถ้อยคำสำนวนที่ปรากฏอยู่แล้วในบทนำหรือความเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ รวมทั้งถ้อยคำสำนวนของหนังสือทูลเกล้าถวายฎีกา  ท่านผู้เขียนคำประกาศจึงเป็นเพียงเก็บคำสำนวนเหล่านั้นมาเรียบเรียงร้อยกรองขึ้น 

คำประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะเป็นการประกาศเจตนารมณ์ประชาธิปไตยรอบด้านแล้ว ยังเป็นการเปิดเผยความชั่วร้ายของระบอบการปกครองของกษัตริย์ในขณะนั้น ซึ่งคณะราษฎรไม่อาจทนเห็นความทุกข์ยากของราษฎร อันเนื่องมาจากระบอบการปกครองนั้นดำรงอยู่ต่อไป จึงได้ร่วมกันยึดอำนาจการปกครองเผด็จการของกษัตริย์ที่สืบต่อมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย มาเป็นระบอบประชาธิปไตยดังที่ได้ออกซึ่งแถลงการณ์และเจตนารมณ์ประชาธิปไตย ที่กล่าวข้างต้น

ทั้ง ๆ ที่ชาวคณะราษฎรส่วนมาก โดยเฉพาะท่านผู้นำหนุ่ม ๆ ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้น มีโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าในราชการในระบอบเก่ากันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม)  นาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย  อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (อาจารย์ปรีดี พนมยงค์)  แต่โดยที่เห็นแก่ความเป็นธรรมในสังคม เห็นแก่ความผาสุกของราษฎร เจ้าของประเทศผู้ที่เป็นเจ้าบุญนายคุณที่แท้จริง พวกท่านเหล่านี้จึงยอมเสี่ยงอย่าว่าแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวเลย แม้กระทั่งของตนเองก็ยอมสละได้ 

ดังที่มีการโฆษณาชวนเชื่อในเวลาต่อมาว่าพระปกเกล้าฯ เตรียมที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้อยู่แล้ว แต่คณะราษฎรได้ฉวยโอกาสชิงทำเสียก่อน และทำให้ประชาธิปไตยต้องล้มลุกคลุกคลานมาจนถึงบัดนี้ จึงเป็นความผิดของคณะราษฎร คำกล่าวเช่นนี้ไม่เป็นความจริงเป็นคำลวงโลก  

ขอให้ท่านผู้มีสติบริบูรณ์พิจารณาเถิดว่า ใครบ้างจะเสียสติถึงกับยอมเสี่ยงสละชีวิตทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าพระมหากษัตริย์จะพระราชทาน ก็คงมีแต่คนเสียสติ หรือคนบ้าที่จะทำเช่นนั้น  หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นการกุข่าวของคนเสียสติ หรือคนบ้า เพื่อทำลายเกียรติภูมิของคณะราษฎร ว่าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อประโยชน์แห่งตน

ต่อประเด็นนี้ ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เผยความในใจไว้ ในอารัมภบทของเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจ อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย เพราะในขณะนั้นเศรษฐกิจอยู่ในกำมือของเจ้าศักดินา และกลุ่มนายทุนที่เพิ่งแตกหน่ออ่อน อารัมภบทความในใจของอาจารย์ปรีดีว่าดังนี้

“เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 คณะราษฎรประกาศต่อประชาชนถึงวัตถุประสงค์คือหลัก 6 ประการ หลักซึ่งเกี่ยวข้องแก่เศรษฐกิจของประเทศความว่า “บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” ความข้อนี้ย่อมหวังอยู่ในใจประชาชนถ้วนหน้า...การบำรุงความสุขของราษฎรนี้เป็นจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่ของข้าพเจ้าในการทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายพระองค์ ซึ่งเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยแค่เปลือกนอกเท่านั้น ข้าพเจ้ามุ่งต่อสาระสำคัญคือบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

การเปลี่ยนแปลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองอันเป็นโครงสร้างเบื้องบนด้วยวิธีรัฐประหาร ซึ่งเป็นหลักการทั่วไปของการยึดอำนาจ แต่โดยที่โครงสร้างเบื้องบนขึ้นต่อโครงสร้างเบื้องล่างอันเป็นโครงสร้างพื้นฐาน หรืออีกนัยหนึ่งการเมืองขึ้นกับเศรษฐกิจ ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้เข้าใจในปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจดังกล่าวขึ้น เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างเบื้องล่างคือ เศรษฐกิจให้มาอยู่ในกำมือของราษฎรเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของโครงสร้างเบื้องบน หรือนัยหนึ่ง เป็นหลักประกันทางการเมืองของราษฎร แต่ท่านก็ทำไม่สำเร็จ ถูกขัดขวางโดยกลุ่มพลังเก่า และฝ่ายล้าหลังบางคนในคณะราษฎรเอง ในที่สุดอำนาจการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ก็ค่อย ๆ แปรธาตุเปลี่ยนสี เป็นอำนาจการเมืองของพลังเก่าที่ปฏิกิริยา ดังที่เป็นอยู่ในเวลานี้

หนังสือเรื่อง ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งมีจำหน่ายทาง Facebook Fanpage : สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute ในราคาเล่มละ 150 บาท (รวมค่าจัดส่งแล้ว)

อ่านต่อได้ในหนังสือเรื่อง ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งมีจำหน่ายทาง Facebook Fanpage : สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute ในราคาเล่มละ 150 บาท (รวมค่าจัดส่งแล้ว)