ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ท่านผู้ประศาสน์การของเรา

25
มิถุนายน
2563

กราบเรียนท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์  ท่านอธิการบดี ท่านผู้จัดงาน และท่านผู้ที่เคารพทั้งหลาย

กระผมรู้สึกยินดีที่ได้มาร่วมงานนี้ด้วยความเต็มใจ แต่ก็รู้สึกประหม่าอยู่เล็กน้อยที่จะมากล่าวถึงท่านผู้ประศาสน์การของเรา เพราะกระผมไม่ได้เป็นลูกศิษย์ของท่านโดยตรง มีท่านที่เคารพนับถือที่รู้จักท่านปรีดี พนมยงค์ ดียิ่งกว่าผมเป็นอันมาก แต่กระผมก็ยินดีมาในโอกาสที่จะมาแสดงความเคารพนับถือที่มีอยู่ต่อท่าน โดยเฉพาะต่อหน้าท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ซึ่งมีอายุสูงมากแล้ว ได้มีโอกาสที่ให้ท่านได้มาฟังคนรุ่นหลังอย่างผมได้พูดถึงท่านบ้าง อาจจะเป็นโอกาสดีที่ผมได้แสดงความคิดความเห็นในข้อที่สาธารณชนควรจะรู้ไว้บ้าง

พบท่านผู้ประศาสน์การ

กระผมไม่ทันเป็นลูกศิษย์เรียนกับท่าน ในขณะที่ท่านผู้ประศาสน์การ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ได้กอบกู้ประเทศ ให้ได้รักษาเอกราชด้วยขบวนการเสรีไทยที่เสี่ยงชีวิตเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกับเพื่อนเสรีไทยทั้งหลายจนประสบความสำเร็จ 

หลังสงครามโลกใหม่ ๆ ขณะที่กระผมกำลังเรียนมัธยม 7-8 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ  ด้วยความที่กระผมเป็นคนร้อยเอ็ดที่สนใจการบ้านการเมือง จึงไปหาท่านถวิล อุดล ผู้แทนราษฎรจากจังหวัดร้อยเอ็ดในสมัยนั้น ขอให้รับรองให้เข้าไปฟังการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  สมัยก่อนเรานักศึกษาสนใจการเมืองมากยิ่งกว่าระยะนี้ เดี๋ยวนี้เนือยกันไปหมดแล้ว คงจะเป็นเพราะความแก่หรือเห็นพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนในบ้านเมืองที่ทำให้เราเหนื่อยหน่ายกันหมด แต่สมัยหลังสงครามโลกนั้น ประชาธิปไตยมีความหวังเป็นอย่างยิ่ง 

กระผมได้มีโอกาสเข้าไปนั่งฟังการประชุมในสภา ได้ชมบารมีของท่านผู้ประศาสน์การในขณะที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีแต่ไกล ท่านเป็นคนขาวแดง อายุสี่สิบกว่า กำลังเปล่งปลั่งด้วยบารมี ได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนทั่วประเทศ  กระผมก็ชื่นชมตั้งแต่นั้นมาว่าจะต้องมาเป็นลูกศิษย์ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง กระผมจะบอกว่าไม่ได้เลือกที่อื่นเลย เจาะจงมาเรียนที่ธรรมศาสตร์นี่แหละ 

ก่อนที่จะได้เห็นหน้าได้ชมท่านด้วยตาโดยตรง ก็เคยได้ยินกิตติศัพท์ท่านสมัยกระผมเป็นนักเรียนในจังหวัดร้อยเอ็ดในช่วงสงคราม เพราะร้อยเอ็ดเป็นแดนเสรีไทยในสมัยนั้น เราก็ได้ยินได้ฟัง ในขณะนั้นยังไม่มีการแตกแยกระหว่างคนไทยชั้นผู้นำทั้งหลาย เราเคารพทั้งอาจารย์หลวงประดิษฐ์ฯ คือท่านอาจารย์ปรีดี  อาจารย์หลวงโกวิทฯ คือท่านอาจารย์ควง ในฐานะที่มาปลดปล่อยพวกเราให้พ้นจากเผด็จการจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ในระหว่างสงคราม การเข้าฟังการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นท่านในฐานะผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรีในระหว่างที่ตอบกระทู้ของฝ่ายค้าน  ตั้งแต่ครั้งนั้นแม้สมัยเรียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ก็ไม่เคยเห็นท่านอีก จนกระทั่งกว่ายี่สิบปีให้หลัง  ในปี 2517-2518 หลังจากที่กระผมเป็นผู้พิพากษาอยู่ที่กระทรวงยุติธรรมมายี่สิบปี แล้วโอนย้ายมาเป็นคณบดี คณะนิติศาสตร์ ที่ธรรมศาสตร์ ก็พอดีได้รับมอบหมายจากกระทรวงยุติธรรมให้ไปดูงานด้านกฎหมายปกครองและศาลปกครองที่ฝรั่งเศส เยอรมนี และออสเตรีย ในขณะนั้นท่านอาจารย์ปรีดีย้ายจากประเทศจีนมาพำนักอยู่ที่ชานกรุงปารีสแล้ว

ขณะนั้นอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี  ก่อนเดินทางผมไปเข้าพบปรึกษาอาจารย์ป๋วย ถามท่านว่า “จะไปปารีสคราวนี้ ควรจะไปเยี่ยมท่านผู้ประศาสน์การไหม”  ท่านก็ถามผมว่า “คุณปรีดีเคยเรียนหนังสือกับท่านหรือไม่” “เคยทำวิทยานิพนธ์ให้ท่านแนะนำหรือไม่” “เคยติดต่ออะไรกับท่านบ้างหรือไม่” ก็ปรากฏว่าผมไม่เคยมีความสัมพันธ์กับท่านสักอย่าง นอกจากว่าเป็นชาวธรรมศาสตร์  เมื่อซักไซ้แล้ว อาจารย์ป๋วยท่านจึงตอบว่าอย่างนั้นไม่ไปก็ได้ ด้วยเกรงว่าหากไปเยี่ยมอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ แล้วกลับมาจะมีเรื่องไม่สะดวก  ผมเรียนอาจารย์ป๋วยว่าในระยะหลังนี้ใคร ๆ จากเมืองไทยผ่านทางปารีสก็ไปเยี่ยมท่านปรีดีทั้งนั้น   

ในใจผมคิดว่าคณะนิติศาสตร์เป็นไข่แดงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะแต่ก่อนนี้เรามี ธบ. อย่างเดียว ไม่มีคณะอื่น  แม้มีการทำให้คณะกฎหมายมีความสำคัญน้อยลง กระนั้นคณะนิติศาสตร์ก็ยังคงเป็น Main Faculty อยู่ดี เพราะเป็นคณะใหญ่ที่ตั้งอยู่ก่อนแล้ว  กระผมรำพึงกับตัวเองว่าคณบดีคณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะผ่านไปปารีสทั้งที ไม่แวะเยี่ยมผู้ประศาสน์การซึ่งระหกระเหินในต่างประเทศเป็นเวลากว่าสิบถึงยี่สิบปี ซึ่งใคร ๆ ที่มีชื่อเสียงใหญ่น้อยจากเมืองไทยต่างไปเยี่ยมท่านมาแล้วมากมาย ส่วนเราเองเป็นคณบดีจากธรรมศาสตร์จะไม่ไปได้อย่างไร ผมจึงตัดสินใจไปเยี่ยมท่านจนได้ แล้วก็ได้รับความกรุณาจากท่านให้เข้าพบได้

ท่านผู้หญิงยังคงจำได้นะครับ ท่านจำกระทั่งชื่อภรรยาผม จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ก็ยังจำได้ เพราะว่ามีโอกาสได้พบท่านเป็นเวลานานที่ชานเมืองปารีส ประมาณตั้งแต่บ่ายสองโมงไปจนถึงสี่ห้าโมง เมื่อมาถึงบ้านท่านตามนัด ทักทายกันพอสมควร ภรรยากระผมก็แยกไปสนทนากับท่านผู้หญิง ส่วนผมก็สนทนากับท่านอาจารย์หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นเวลาตั้งสองชั่วโมงกว่า 

กระผมอยากจะกล่าวเน้นถึงผู้ประศาสน์การ เพราะในสายตาของผม ท่านไม่ใช่รัฐบุรุษอาวุโสของประเทศไทยเท่านั้น แต่ท่านเป็นรัฐบุรุษไทยที่เป็นมหาบุรุษระดับโลกคนหนึ่งซึ่งเราภูมิใจได้ เพราะเป็นผู้นำเสรีไทยระดับชาติและเป็นผู้นำต่อสู้เผด็จการระดับโลกด้วย  และขณะนี้เรากำลังจะดำเนินการให้สหประชาชาติประกาศเกียรติคุณของท่านให้โลกได้รับรู้ในเรื่องนี้ ท่านอธิการบดีนรนิติ เศรษฐบุตร เป็นหัวเรือใหญ่ดำเนินการอยู่แล้ว หวังว่ารัฐบุรุษไทยจะได้รับ Recognition ในระดับโลกในไม่ช้านี้[3]

“กระผมอยากจะกล่าวเน้นถึงผู้ประศาสน์การ เพราะในสายตาของผม ท่านไม่ใช่รัฐบุรุษอาวุโสของประเทศไทยเท่านั้น แต่ท่านเป็นรัฐบุรุษไทยที่เป็นมหาบุรุษระดับโลกคนหนึ่งซึ่งเราภูมิใจได้ เพราะเป็นผู้นำเสรีไทยระดับชาติและเป็นผู้นำต่อสู้เผด็จการระดับโลกด้วย”

คือนักสังคมนิยม

ผมจะไม่กล่าวไปถึงข้อเท็จจริงที่เป็นที่โต้เถียงกันไม่ว่าจะเป็นคำสรรเสริญก็ดีหรือเป็นคำกล่าวร้ายก็ดี โดยที่ผมเป็นผู้พิพากษามาเป็นเวลายี่สิบปี การให้ความเห็นหรือวินิจฉัยในเรื่องใด โดยไม่แน่ใจในเรื่องข้อเท็จจริง กระผมจะขอกล่าวเน้นเพียงบางจุดเฉพาะเหตุการณ์ที่ปรากฏโดยสาธารณะ ทางเอกสาร หรือโดยการกระทำที่ปรากฏต่อสาธารณะ ซึ่งเราสามารถสรุปได้อย่างไม่คลางแคลงใจพอสมควรตามหลักวิชาและหลักปรัชญาการเมือง ตามความรู้และความเข้าใจเพียงเล็กน้อยของกระผมเองแล้ว ให้ความเห็นวินิจฉัยว่าท่านเป็นอะไร ท่านได้ทำอะไรไว้ในจุดที่สำคัญ

ประการแรก ท่านผู้ประศาสน์การของเราเป็นใคร เป็นอะไรในทางความคิด  ประการแรกท่านมิได้เป็นคอมมิวนิสต์ของประเทศไทยแน่นอน เพราะท่านเกิดก่อนและดำเนินการทางการเมืองในประเทศไทยก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้น แต่ไม่เป็นที่แปลกประหลาดเลยว่า ท่านไปศึกษา ณ ประเทศฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1920 กว่า ๆ ซึ่งเป็นยุคความคิดก้าวหน้า ความคิดในทางสังคมนิยมกำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายในยุโรป โดยเฉพาะในฝรั่งเศส  ท่านไม่เคยปฏิเสธว่าท่านเป็นสังคมนิยม 

ถ้าเราเข้าใจคำ ๆ นี้ในความหมายที่ถูกต้องในแง่ว่า เป็นลัทธิคำสอนตรงกันข้ามกับคำว่า Individualism และ Capitalism ที่ถือประโยชน์สังคมส่วนรวมเป็นใหญ่กว่าประโยชน์ส่วนเอกชน  ผมคิดว่าถ้าในแง่ความหมายกว้าง ๆ อย่างนี้ ทุกคนต้องเป็นนักสังคมนิยมกันทั้งนั้น เพราะประโยชน์ของบ้านเมืองคือส่วนรวม ย่อมสำคัญใหญ่กว่าประโยชน์เอกชนแน่นอน

เพราะฉะนั้นการที่ท่านอาจารย์ปรีดีเป็นนักเรียนทุนกระทรวงยุติธรรมไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส ซึ่งการศึกษากฎหมายในฝรั่งเศสและยุโรปเป็นที่รู้กันอยู่ว่าไม่ใช่เรียนเฉพาะแต่ตัวบทกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกาเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีความรู้ในวิชาอื่น ในทางรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และลัทธิการเมืองเป็นอย่างดีด้วย  ท่านก็เป็นนักเรียนทุนหลวงที่เปรื่องปราดที่สุดของประเทศเรา  ท่านทั้งหลายก็เหมือนกันที่ได้รับโอกาสได้ไปเรียนเมืองนอก ย่อมจะใช้โอกาสร่ำเรียนตักตวงมาอย่างเต็มที่ เห็นวิชาความรู้ความคิดใดที่เห็นว่าดีที่สุดก็รีบเอามา

เพราะฉะนั้นประการแรก เราพูดได้อย่างเต็มปากว่าท่านเป็นนักสังคมนิยม  แต่อย่าลืมว่าท่านศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศสที่มีธรรมเนียมประชาธิปไตย (Democratic Tradition) ที่นับถือลัทธิเสรีภาพของประชาชนว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะฉะนั้นจากการกระทำของท่านในทางการเมืองที่เป็นหัวหน้าทางฝ่ายพลเรือนในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 การแสดงออกทุกอย่างในการร่างรัฐธรรมนูญก็ดี ตรากฎหมายและบริหารบ้านเมืองก็ดี โดยทั่วไปแล้วมีแนวทางเป็นประชาธิปไตย สร้างระบบบริหารแบบรัฐสมัยใหม่ (Modern State Administration) เช่น สร้างระบบ ก.พ. และ ก.ต.  ในทางเศรษฐกิจก็ส่งเสริมรัฐวิสาหกิจเพื่อจำกัดอิทธิพลของนายทุนต่างชาติ สร้างระบบเศรษฐกิจการคลังสมัยใหม่กับการตั้งธนาคารชาติ และประการใช้ประมวลกฎหมายรัษฎากร เป็นต้น จะมีสีสันทางสังคมนิยมแผ่วเบามาก

ส่วนสังคมนิยมที่ท่านรับมานั้น เป็นสังคมนิยมที่ได้มาในประเทศยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศส เพราะฉะนั้นเรารู้ได้โดยไม่แคลงใจในจิตใจเลยว่า ท่านต้องเป็นสังคมนิยมที่ชื่นชมในสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยแน่นอน  ส่วนในสมัยที่เป็นนักศึกษาในฝรั่งเศส ท่านจะมีความคิดเห็นด้วยกับการปฏิวัติของบอลเชวิคหรือไม่ ผมคิดว่าท่านก็คงจะเป็นผู้เห็นด้วยกับความใฝ่ฝันอันสูงสุดของเขา ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด แม้แต่ Sidney Webb ผู้ก่อตั้ง London School of Economics and Political Science ซึ่งเป็นนักคิดนักปราชญ์ใหญ่ของอังกฤษในศตวรรษนี้ ก็เป็นผู้หนึ่งที่ฝากความหวังให้กับระบบโซเวียต ในฐานะที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกในปี 1917 ในประเทศรัสเซีย

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัสเซียหลังจากนั้น พัฒนาเป็นระบบเผด็จการที่ทารุณโหดร้ายในสมัยสตาลิน  ผมคิดว่าคนที่ได้รับการศึกษาอย่างดีในประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะได้เรียนกฎหมายอย่างท่านปรีดี พนมยงค์ จะไปเห็นดีเห็นชอบกับระบบสตาลิน และเมาเซตุงนั้น ผมไม่คิดว่าจะเป็นไปได้  นี่เป็นสิ่งที่ผมได้สรุปจากการไตร่ตรองกลั่นกรองมาเป็นเวลานานปี

“เราพูดได้อย่างเต็มปากว่าท่านเป็นนักสังคมนิยม ... ท่านต้องเป็นสังคมนิยมที่ชื่นชมในสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยแน่นอน”

คือผู้อภิวัฒน์

กระผมมาคิดต่อไปว่า จากการที่เป็นนักกฎหมายที่ไปเรียนวิชากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศสจนได้ปริญญาเอกทางนิติศาสตร์ที่เรียกว่า Docteur en droit d’État จากฝรั่งเศส เมื่อกลับมาเป็นอาจารย์อยู่ในโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ท่านได้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งยิ่งใหญ่ในปี 2475 และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การของเรา  อย่างนี้ ท่านทำอะไร ท่านต้องการอะไร ผมอยากจะพูดและพูดอยู่เสมอว่า ท่านเป็นนักการเมืองในความหมายที่ดี ไม่ใช่นักกินเมือง เป็นนักการเมืองที่มีอุดมคติ มีโปรแกรม มีโครงการในทางปฏิบัติหน้าที่ที่แน่นอนในการปฏิรูปปฏิวัติระบบการเมืองและเศรษฐกิจของไทยให้เจริญก้าวหน้า ซึ่งสมัยต่อมาเรียกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนั่นแหละ

เมื่อได้มีการปฏิวัติขึ้นมาแล้วจะทำอะไร ผมคิดว่าตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา มีการปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทยหลายครั้งหลายหน ทุกครั้งเป็นการยึดอำนาจเพื่ออำนาจและเพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์สกุลทั้งนั้น มีอยู่ครั้งเดียวเท่านั้นที่ทำด้วยอุดมคติ คือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475  และในบรรดาผู้นำของการเปลี่ยนแปลงที่มีโครงการปฏิวัติเศรษฐกิจการเมืองที่แน่นอนชัดเจนก็มีอยู่ผู้เดียวคือท่านผู้ประศาสน์การของเรา

ส่วนผู้นำอีกคนหนึ่งคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อนคู่หูของท่าน  สมัยที่เป็นนักเรียนก็ไม่ชอบท่านจอมพล ป. เพราะท่านเป็นเผด็จการ  ใครที่เป็นเผด็จการ พวกเราก็ไม่ชอบทั้งนั้น แต่ท่านจอมพล ป. ก็มีอุดมคติของท่านไปในแง่หนึ่ง อาจจะว่าเป็นปีกขวาของคณะราษฎร ส่วนอาจารย์ปรีดีก็คงจะต้องเป็นปีกซ้ายของคณะราษฎร  ผมคิดว่าการแบ่งคณะราษฎรให้เป็นปีกขวาปีกซ้ายไม่ได้ห่างไกลจากความเป็นจริง  กลุ่มอำนาจที่ครองอำนาจในประเทศหลัง 24 มิถุนายน 2475 ก็คือคณะราษฎร นำโดยอาจารย์หลวงประดิษฐ์ฯ และหลวงพิบูลฯ ตั้งแต่ปี 2475 มาหยุดสะดุดในปี 2500 เมื่อจอมพล สฤษดิ์ยึดอำนาจ แปลว่าคณะราษฎรครองอำนาจในประเทศไทยนานถึง 25 ปี พ.ศ. 2475-2500 เป็นยุคที่คณะราษฎรครองอำนาจในประเทศไทย  และในยุค 25 ปีนี้ มีผู้นำ 2 คน คือ หลวงพิบูลสงคราม และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม 2 ท่านนี้ร่วมกัน dominate การเมืองไทยเป็นเวลา 25 ปี[4] 

ท่านจอมพล ป. เป็นนายทหาร ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องเน้นชาตินิยม เน้นความยิ่งใหญ่และความรุ่งเรืองของชาติไทย ตั้งยุวชนทหาร ประกาศรัฐนิยม พวกรุ่นคนหนุ่มสมัยนั้นเป็นยุวชนทหารทั้งนั้น ชาตินิยมทั้งนั้น ในเรื่องเหล่านี้ เชื่อว่าหลวงประดิษฐ์ฯ ไม่มีข้อขัดแย้งกับหลวงพิบูลฯ ข้อนี้จะได้กล่าวต่อไป    

“เมื่อได้มีการปฏิวัติขึ้นมาแล้วจะทำอะไร ผมคิดว่าตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา มีการปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทยหลายครั้งหลายหน ทุกครั้งเป็นการยึดอำนาจเพื่ออำนาจและเพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์สกุลทั้งนั้น มีอยู่ครั้งเดียวเท่านั้นที่ทำด้วยอุดมคติ คือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475”

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

ณ ที่นี้ กระผมอยากจะเน้นว่า ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นนักการเมืองไทยเกือบเพียงคนเดียวเท่านั้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ที่ทำการปฏิวัติรัฐประหารด้วยจุดมุ่งหมายที่แน่นอนเด่นชัดในการสร้างชาติและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งมีโครงการที่กำหนดวางไว้อย่างเป็นระบบและมีหลักการ ในเรื่องเหล่านี้ปรากฏหลักฐานทางเอกสารและมีผู้เขียนถึงอยู่มากแล้ว แต่กระผมจะขอบรรยายอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้สถานที่เรียงลำดับเรื่อง

ขณะนี้เราประชุมกันที่ลานปรีดี พนมยงค์ หน้าตึกโดม ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ก็มหาวิทยาลัยนี้เป็นจุดแรกที่ท่านตั้งขึ้นมาเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้กฎหมายและหลักการประชาธิปไตย เป็นตลาดวิชาที่เปิดกว้างให้คนที่มีพื้นฐานพอสมควรได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยกันอย่างทั่วถึง ข้าราชการตั้งแต่ชั้นตรีเป็นต้นไป มหาเปรียญตั้งแต่ 3-4 ประโยคขึ้นไป เข้าเรียนในหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิตได้ทั้งนั้น จะมาฟัง Lecture ก็ได้ ที่อยู่ต่างจังหวัดมาฟังคำบรรยายไม่ได้ ก็จัดคำสอนส่งทยอยไปให้เป็นระยะ ๆ ใครที่ทำงานในกรุงเทพฯ ก็ส่งเสริมอนุญาตให้เอาเวลามาฟัง Lecture ที่ธรรมศาสตร์ สอบได้อนุปริญญาก็ปรับวุฒิให้ แล้วโอกาสที่จะก้าวหน้าด้วยความขยันหมั่นเพียรจึงมีอยู่มาก

วิชาที่เรียนตามหลักสูตรของธรรมศาสตร์ นอกจากวิชา Core เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง กฎหมายปกครอง และกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ยังมีวิชาใหม่ที่ไม่เคยสอนในประเทศไทยมาก่อนเลย เช่น กฎหมายเศรษฐกิจการคลัง สอนโดยพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย  วิชาเศรษฐศาสตร์และวิชาลัทธิเศรษฐกิจ สอนโดย ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ  อาจารย์ ดร.เดือน บุนนาค และ ดร.ทวี ตะเวทิกุล เป็นวิชาเด่นที่คนหนุ่มจำนวนมากใฝ่ฝันอยากเรียน เพราะชื่นชมทั้งวิชาและกิตติศัพท์ของอาจารย์ผู้สอน

 ธรรมศาสตร์นอกจากเป็นศูนย์เผยแพร่วิชาความรู้ทางกฎหมายและประชาธิปไตยแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมพลของคนชั้นนำที่มีวิชาความรู้ระดับสูงที่ห้อมล้อมอยู่ในแวดวงของผู้ประศาสน์การ เช่น อาจารย์ ดร.เดือน บุนนาค  อาจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์  อาจารย์ดิเรก ชัยนาม  อาจารย์ ดร.จิ๊ด เศรษฐบุตร  อาจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย เป็นต้น

ในที่สุดกระผมขอกล่าวว่า ธรรมศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่ตั้งขึ้นเพื่อสอนกฎหมายและประชาธิปไตยให้แก่คนไทย เป็นการให้การศึกษาประชาธิปไตยแก่ประชาชนที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เราภูมิใจมากที่เป็นทายาทของสถาบันที่มีอุดมคติอันยิ่งใหญ่นี้

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

จุดต่อไปขอให้เรามองไปทางถนนพระอาทิตย์ จุดที่ 2 ที่สำคัญใน Scheme ของท่านผู้ประศาสน์การ คือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเดิมเป็นกรมร่างกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเคยมีพระยามานวราชเสวีเป็นเจ้ากรม และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นเลขานุการกรมคนสุดท้ายก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง  หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ท่านย้ายกรมร่างกฎหมายจากกระทรวงยุติธรรมมาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ยังคงทำหน้าที่ร่างกฎหมายให้รัฐบาลอยู่จนกระทั่งบัดนี้

ที่ทำอย่างนี้เพราะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว จำเป็นที่จะต้องตรากฎหมายจำนวนมากเพื่ออนุวัตรให้เป็นไปตามการปกครองระบอบใหม่และพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม ให้เป็นไปตามหลักการของคณะราษฎร ย้ายมาไว้ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ท่านจะได้บัญชางานได้สะดวกและโดยตรง  หากผมจำไม่ผิดตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาคนแรกก็คือ ดร.เดือน บุนนาค ที่มารับตำแหน่งแทนท่าน[5]

คณะกรรมการกฤษฎีกา นอกจากทำหน้าที่เป็นกรมร่างกฎหมายแล้ว ท่านยังคาดหมายที่จะพัฒนาคณะกรรมการกฤษฎีกาให้มีลักษณะของ Conseil d’État ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสถาบันชี้ขาดคดีปกครองด้วย  ถ้าเราอ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยการตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับแรก ก็จะมองเห็นเจตนาข้อนี้ของท่านผู้ประศาสน์การได้ชัดเจน แต่ก็เป็นเพียงการแสดงความตั้งใจว่าต่อไปจะพัฒนาคณะกรรมการกฤษฎีกาไปในแนวทางอย่างไรให้ปรากฏในบทบัญญัติฉบับนั้นเท่านั้น ต้องรอห้าสิบปีให้หลัง ในสมัย ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงได้พยายามผลักดันเรื่องตั้งศาลปกครองขึ้นอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่ขัดแย้งกันอยู่ในขณะนี้

กระผมต้องการเน้นในที่นี้ว่าเรื่องศาลปกครองอยู่ในวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของท่านผู้ประศาสน์การอยู่แล้ว แต่การตั้งระบบศาลปกครองและการสถาปนาระบบวิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง ซึ่งเป็นระบบพัฒนาขึ้นในประเทศที่พูดภาษาเยอรมันเป็นเวลาห้าสิบหกสิบปีมาแล้ว เป็นเรื่องใหญ่มหาศาลซึ่งพัวพันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบกฎหมายไทยทั้งระบบ คงจะต้องเกี่ยวกับการเตรียมการในด้านต่าง ๆ มาก รวมถึงการเผยแพร่อบรมความรู้และความเข้าใจให้แก่นักศึกษากฎหมายของไทยและข้าราชการไทยทั่วประเทศด้วย การจะเป็นอย่างไรก็ตาม วิสัยทัศน์อันกว้างไกลและเจตนาของท่านผู้ประศาสน์การในเรื่องนี้ มีผู้สานต่อ นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีอยู่

สโมสรเทศบาลนครกรุงเทพ[6]

ต่อจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเลยไปอีกก็มาถึงสโมสรนครบาลกรุงเทพ ท่านตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางที่จะเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเทศบาลที่ท่านเป็นผู้สถาปนาขึ้นใหม่ในประเทศไทย ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เรียกกันว่า Local self-government แปลตรง ๆ ว่ารัฐบาลปกครองตนเองระดับท้องถิ่น  การปกครองแบบนี้ก็คือระบบเทศบาลนั่นเอง

ท่านมิได้ตั้งเทศบาลขึ้นทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ เพราะท่านรู้ว่าการปกครองระดับท้องถิ่นต้องอาศัยประชาชนที่มีความรู้ ความเข้าใจ และความสนใจที่จะจัดการปกครองท้องถิ่นโดยประชาชนเอง ท่านรู้ว่าจะทำเทศบาลทั่วประเทศ ประชาชนยังไม่พร้อม ท่านจึงเลือกตั้งเทศบาลในเขตชุมชนที่เจริญแล้ว และคาดหมายว่าจะขยายการปกครองตนเองในรูปเทศบาลไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศภายหลังเมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว นี้เป็นลักษณะสำคัญของท่านอาจารย์ปรีดี

ท่านตั้งเทศบาลขึ้นมา เขตไหนมีเทศบาล ก็ยังมีผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่ ยังมีนายอำเภออยู่ ท่านให้อำนาจปกครองตนเองแก่เทศบาลทีละน้อย ๆ ต่อมาก็ค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น จนในที่สุดเมื่อพร้อมแล้วจึงจะให้นายกเทศมนตรีปกครองทั้งหมดโดยไม่ต้องมีข้าหลวง นายอำเภอ อีกต่อไปในเขตที่เป็นเทศบาล ท่านคิดอย่างค่อย ๆ ทำ

แต่พอมีรัฐประหารในปี 2490 ทุกอย่างชะงักหมด รูปแบบของเทศบาลยังคงอยู่ แต่เปลี่ยนแปลงให้มันเป็นเพียงรูปแบบเท่าที่ได้เริ่มไว้เท่านั้น จนกระทั่งเราไม่รู้ว่าระบบเทศบาลก็คือระบบการปกครองท้องถิ่นที่ต้องมีการพัฒนาต่อไป สโมสรเทศบาลนั้นท่านตั้งใจตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่ชุมนุม ที่สัมมนา ที่อภิปราย ที่ทำการศึกษาเรื่องระบอบเทศบาลว่าเราจะสร้างระบอบการปกครองท้องถิ่นด้วยตนเองโดยปราศจากประชาชนอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นครัววังหน้าเป็นภัตตาคารแห่งหนึ่งเท่านั้น ไม่มีความหมายอย่างที่ท่านตั้งใจไว้

ทำเนียบท่าช้าง

ต่อจากครัววังหน้าเลยไปสมัยก่อนนั้น ยังไม่มีสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เดินไปอีกหน่อยก็ถึงบ้านท่าน ที่เราเรียกว่าทำเนียบท่าช้าง  สมัยนั้นพวกเราเป็นนักศึกษา เดินผ่านบ้านท่านทีไร เรามองดูด้วยความชื่นชม ยังคิดว่าเป็นบ้านส่วนตัวของท่าน ไม่ใช่บ้านใหญ่โตหรูหราอะไร ที่จริงเป็นของหลวง และยังเป็นของหลวงอยู่จนกระทั่งบัดนี้  ท่านมาอยู่ตรงนี้ ผมว่าท่าน plan ไว้ทั้งนั้น เพราะตั้งอยู่ติดต่อกับสโมสรเทศบาลฯ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มองภาพรวมแล้วจะเห็นได้ชัดว่ารัฐบุรุษอาวุโสท่านนี้เป็นรัฐบุรุษที่เกิดเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างเป็นระบบ อย่างมีโครงการ แม้แต่ตั้งบ้านก็เลือกตั้งในแหล่งที่เป็นศูนย์ทำงาน เพื่อบงการสร้างบ้าน สร้างเมือง ให้เป็นระบบรัฐสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย ที่มีความเป็นธรรมในสังคมด้วย

“มองภาพรวมแล้วจะเห็นได้ชัดว่ารัฐบุรุษอาวุโสท่านนี้เป็นรัฐบุรุษที่เกิดเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างเป็นระบบ อย่างมีโครงการ แม้แต่ตั้งบ้านก็เลือกตั้งในแหล่งที่เป็นศูนย์ทำงาน เพื่อบงการสร้างบ้าน สร้างเมือง ให้เป็นระบบรัฐสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย ที่มีความเป็นธรรมในสังคมด้วย”

ความคิดเรื่องชาตินิยม

ต่อไปนี้ กระผมขอย้อนกลับไปพูดเรื่องชาติ ในตอนต้นผมกล่าวไว้ว่าหลวงพิบูลฯ มีความคิดทางชาตินิยม ส่วนอาจารย์หลวงประดิษฐ์ฯ ก็มิได้คัดค้านความคิดชาตินิยมหรอก ฟังแล้วยังไม่ชัดเจนนัก กระผมคิดว่าเมื่อ ท่านจอมพล ป. กำลังชูธงชาตินิยมนั้น ท่านปรีดียังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ในชุดรัฐบาลจอมพล ป. อยู่หลายครั้งอยู่หลายตำแหน่ง  เมื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ดำเนินการเจรจาซื้อสัมปทานผูกขาดโรงงานยาสูบจากพ่อค้าฝรั่งจนสำเร็จ นับว่าเป็นมาตรการกำจัดอิทธิพลของต่างชาติให้พ้นไปจากประเทศไทยประการหนึ่ง ในแง่นี้เราอาจกล่าวได้ว่าท่านปรีดีมิได้คัดค้านและเป็นปฏิปักษ์เรื่องชาตินิยมของจอมพล ป. แต่ทำงานร่วมกันอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ยทีเดียว

การกำจัดอิทธิพลเศรษฐกิจการเมืองของต่างชาติให้พ้นจากประเทศของตนนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่คนรักชาติจะต้องเห็นด้วยกันอยู่แล้ว แต่คิดว่าลึก ๆ ลงไป ผมเชื่อว่าอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ไม่เห็นด้วยกับความคิดของพวกซ้ายจัดที่คอยประณาม “ชาติ” ด้วยประการทั้งปวง  ที่จริงลึก ๆ ลงไป ท่านถือหลักชาติเป็นอันมาก ท่านเป็นหัวหน้าเสรีไทย เคยกู้ชาติมาแล้วครั้งหนึ่ง

ผมจำได้ว่าเมื่อยี่สิบปีก่อน เมื่อผมไปเยี่ยมบ้านท่านที่ชานเมืองปารีสนั้น ท่านเอาต้นฉบับ Communist Manifesto ทั้งฉบับภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมันมาชี้ให้ผมอ่านดูว่า ในคำปรารภของ Manifesto ประกาศว่า “ชาวคอมมิวนิสต์จากชาติต่าง ๆ มาประชุมกัน” เป็นคำแปลมาจากคำ “from various nationalities” หมายถึงชาติต่าง ๆ ไม่ใช่จากประเทศต่าง ๆ  ฉบับแปลเป็นภาษาจีนและภาษาไทยแปลว่า “มาจากประเทศต่าง ๆ” จึงไม่ถูกต้อง  การแปลอย่างไม่ถูกต้อง เป็นการจงใจตัดคำว่า “ชาติ” ออก เพื่อให้เข้าใจผิดว่าใน Communist Manifesto มิได้กล่าวถึงชาติ

อาจารย์หลวงประดิษฐ์ฯ นี่แหละเป็นตัวอย่างของนักปฏิวัติ ที่ไม่หักหาญและค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้นตอน ท่านเชื่อว่า การจะทำบ้านเมืองให้ดีได้จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้กว้างขวาง  อันนี้เราจะเห็นเลยว่าท่านตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นมาโดยเปลี่ยนหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมายเดิมที่เป็นแบบ Law School แบบอังกฤษ มาเป็นหลักสูตรธรรมศาสตร์แบบฝรั่งเศสภาคพื้นยุโรป ที่มีการสอนวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ รวมในหลักสูตรวิชาเดียวกันเรียกว่าหลักสูตรวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง  กระผมจึงคิดว่าท่านไม่ได้ตั้งใจสร้างนักกฎหมายอย่างเดียว ท่านต้องการนักกฎหมายที่มีความรู้กว้างขวาง และต่อมาหลักสูตรบัญชีชั้นสูงก็ถูกตั้งขึ้นมาด้วย เพื่อที่จะมาสร้างระบบตรวจสอบควบคุมทางเศรษฐกิจการคลัง การเงิน และการบัญชี ตามแบบอย่างของประเทศที่เจริญแล้วในยุโรป อันนี้เราจะเห็นได้ว่าเป็นตัวอย่างทางรูปธรรมที่ชัดเจน

เพราะฉะนั้นท่านชี้แจงให้เห็นว่าความคิดในสังคมนิยม ไม่มีการปฏิเสธ “ชาติ” ว่าชาติยังมีอยู่ เพราะคำว่า “นานาชาติ” ยังมีอยู่ใน Communist Manifesto ท่านเอามาอ่านและชี้ให้ผมฟัง แล้วท่านก็ให้หนังสือผมมาเล่มหนึ่งชื่อ ชาติยังคงมีอยู่และความรักชาติ เป็นบทความของท่าน ท่านยังบอกว่าคุณไปอ่านวรรคสุดท้ายให้ดี ๆ สักสิบเที่ยว แล้วไปคิดให้ลึก ๆ ว่ามันคืออะไร ผมอยากจะอ่านวรรคเกือบสุดท้ายในหนังสือเล่มนี้ให้ท่านทั้งหลายฟังอย่างชัดเจน

“ในสังคมที่ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาตินั้น บุคคลส่วนหนึ่งได้สละจิตสำนึกในเชื้อชาติเดิมของตนหมดสิ้นไปแล้ว โดยมีจิตสำนึกเช่นเดียวกับเชื้อชาติส่วนมากของคนในสังคมนั้น จึงไม่มีจิตสำนึกที่จะถือเอาประโยชน์แห่งเชื้อชาติเดิมของตนเป็นใหญ่กว่าเชื้อชาติอื่น”

กระผมคิดว่าท่านคงไม่ได้พูดลอย ๆ ไม่ได้พูดเป็นสำนวนอะไร แต่ท่านคงอยากให้เรารู้อะไรบางอย่าง ผมได้ทราบว่าท่านไปอยู่ในประเทศจีนเป็นเวลานาน ท่านผู้หญิงก็ไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกับท่าน หลังจากที่ไปเยี่ยมท่านทั้งสองกลับมาแล้ว  ขอประทานโทษท่านผู้หญิง ที่มิได้ขออนุญาตท่านไว้ก่อน  คุณอังคณา ภรรยาผม เล่าให้ผมฟัง ท่านผู้หญิงพูดว่า “ไปอยู่ในประเทศจีนตั้งหลายปี อยู่ใต้ร่มไม้ชายคาเขา เขาให้เกียรติและเลี้ยงดูอย่างไม่ต้องอนาทรร้อนใจ แต่ท่าน (ผู้ประศาสน์การ) ก็ยังไปขัดแย้งโต้เถียงกับเขาอยู่ตลอดเวลา ทำให้ต้องลำบาก”

ท่านผู้หญิงก็พูดแบบผู้หญิงไทยที่ดีทั้งหลาย ที่ไม่อยากให้สามีตนต้องลำบาก เดือดร้อน แต่สิ่งที่ท่านเล่าจากหัวอกลูกผู้หญิงนี้ ทำให้กระผมตื้นตันใจ เคารพบุรุษเหล็กเพชรของชาติไทยคนนี้ ที่ต้องไปตกระกำลำบากในต่างแดน แต่ก็มีความเด็ดเดี่ยว ทะนงองอาจยืนยันในสิ่งที่ตนเห็นว่าถูกต้อง โดยไม่ย่อท้อต่อ Power that be ในขณะนั้น

ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ

ในวันที่รำลึกถึงท่าน ผมอยากจะให้เรามามนสิการถึงท่านว่า ความขัดแย้งและความยุ่งยากลำบากที่ท่านผู้หญิงกล่าวถึงนั้นหมายความอย่างไร และสิ่งที่ท่านเน้นแล้วเน้นอีกว่าชาติยังคงมีอยู่นั้นหมายความว่าอย่างไร เรื่องชาติ กระผมได้กล่าวไปบ้างแล้ว  เรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กระผมอยากจะยกเอาเอกสารที่สำคัญที่สุดคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นฉบับที่ได้ตราขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นฉบับถาวร ถึงแม้จะมีกรรมการท่านอื่นร่วมร่างด้วย แต่กระผมเชื่อว่าท่านผู้ประศาสน์การของเราเป็น Moving Spirit ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

จากการอ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราจะเห็นว่าท่านมีความคิดเกี่ยวกับชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์อย่างไร  กระผมอยากอ่านบทบัญญัติในบางมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ดังนี้

มาตรา 3 “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”

มาตรา 4 “พระมหากษัตริย์ต้องทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก”  สังเกตคำว่า “ทรงเป็น” หมายความว่า “ต้องเป็น” นะครับ ไม่ใช่เขียนลอย ๆ มีความหมายหนักแน่นว่าพระมหากษัตริย์ไทยต้องเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

มาตรา 5 “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม”

มาตรา 9 “การสืบราชสมบัติ ท่านว่า ให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”

จากบทบัญญัตินี้ เราเห็นได้ชัดว่าอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญและเป็น Moving Spirit ของการทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้วางสถานะขององค์กรหรือสถาบันของชาติที่ว่า “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ไว้อย่างไร

มาตรา 3 องค์พระมหากษัตริย์ดำรงไว้ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ นี่เป็นการยืนยันว่าพระมหากษัตริย์เป็นองค์กรของชาติที่ยิ่งใหญ่ หลังจากปี 2475 มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มาทุกฉบับได้ยืนยัน (Confirm) หลักการที่กล่าวถึงนี้ทุกฉบับ จนอาจจะกล่าวได้ว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกล่าวเป็นขนบธรรมเนียมที่รับกันในระบบรัฐธรรมนูญไทยโดยปริยายไปแล้ว (Accepted Tradition)

การนำเอาความคิดเรื่องอัครศาสนูปถัมภกทางพุทธศาสนามาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และสานให้เข้ากับความคิดระบบพระมหากษัตริย์ให้เป็นความคิดธรรมราชาอย่างมีเอกภาพ ต้องนับเป็น Stroke of Genius ของนักกฎหมายไทยท่านนี้ สานความคิดเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้เป็นปฏิมากรรมล้ำค่าในกฎหมายรัฐธรรมนูญ

เรารู้ใช่ไหมครับว่า ความคิดประชาธิปไตยนั้นจะต้องให้เสรีภาพในทางศาสนา แต่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทยได้เขียนไว้ชัดเจนอย่างนี้ เราไม่ต้องไปประกาศว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติหรอก แต่จากที่บัญญัติให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะนี้แหละเชื่อมไว้อย่างแนบเนียนลึกซึ้งอย่างยิ่ง  แม้ผมไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ หมดทุกฉบับ แต่เท่าที่ได้อ่านมาแล้ว ผมคิดว่าประเทศไหนที่ยังคิดว่าศาสนาเป็นองค์คุณของชาติที่สำคัญแล้ว และสามารถเขียนเข้าไปในโครงสร้างรัฐธรรมนูญอย่างลึกซึ้งและแนบเนียนอย่างนี้ ไม่มีที่ไหนในโลกอีกแล้ว ผมเชื่อของผมอย่างนี้ดีกว่าที่จะเรียกให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติเป็นไหน ๆ เพราะฉะนั้น ผมจึงว่าท่านได้สร้างอะไรมหาศาลด้วยสติปัญญาอันล้ำลึกของคนไทยที่มีวิธีทำอะไรให้กลมกลืนแนบเนียน ให้มันไม่ประเจิดประเจ้อได้ดีเหลือเกิน

พอมาถึงมาตรา 5 ก็มีว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม” ถ้าเรายืนยันหลักนี้อย่างเต็มที่และด้วยพลังอำนาจของประชาชนอย่างที่แสดงออกในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬใน 3-4 ปีที่แล้ว ผมคิดว่าเราสามารถทำให้โครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่สร้างไว้ให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้ ไม่ให้ทหารไทยถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของบุคคลบางกลุ่ม ทหารจะต้องเป็นกองทัพของบ้านเมือง เป็นกองทัพไทย

มาตรา 9 บัญญัติว่า “การสืบราชสมบัติ ท่านว่า ให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร” จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการสืบสันตติวงศ์เลย ยังคงรักษาธรรมเนียมอันบรรพบุรุษของไทยได้สร้างสรรค์กันไว้ที่เป็นธรรมเนียมของรัฐธรรมนูญไทย ท่านเขียนยืนยัน (Confirm) ท่านไม่ได้สร้างขึ้นใหม่นะครับ นักกฎหมายไม่ใช่คิดอะไรสร้างของใหม่อยู่เรื่อย ของที่มีอยู่แล้ว ปฏิบัติอยู่แล้ว เราเขียนยืนยันเน้นว่าเป็นอย่างนี้เป็นอย่างนั้นให้มันชัดเจนยิ่งขึ้น 

สิ่งที่ผมอยากจะชี้อยู่ที่วรรคสุดท้ายประโยคสุดท้ายที่ว่า “และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร” ที่เป็นหลักอย่างนี้เพราะถือว่าสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย และในหลักรัฐธรรมนูญเดียวกันที่เขียนไว้ในมาตรา 2 ว่า “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม” เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีประโยคสุดท้ายของมาตรา 9 เพื่อรักษาหลักว่าอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย  เราได้รักษาหลักอันนี้ไว้  ฉบับ พ.ศ. 2517 ซึ่งผมโชคดีที่ได้ร่วมร่างด้วยนั้นเรารักษาบทนี้ที่คณะราษฎร โดยมีท่านอาจารย์ปรีดีเป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือนได้ร่างขึ้น คือหลังจากวันมหาวิปโยคแล้วเราได้บรรจุหลักเหล่านี้ไว้ครบถ้วนทุกประการ และในรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ ก็รักษาหลักเหล่านี้ไว้ เพราะฉะนั้น ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ จึงเป็นโครงสร้างที่สานไว้อย่างแนบเนียนละเอียดอ่อน บรรจง และประณีตเป็นอย่างดียิ่ง เป็นอัจฉริยะของนักกฎหมายไทย นักการเมืองไทยยุคนั้นที่ได้บรรจงบัญญัติไว้ คงจะเป็นผลงานที่จะยืนยงถาวร เป็นหลักการสำคัญของเมืองไทยต่อไปชั่วกาลนานแน่นอน

“กระผมคิดว่าท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ของเรายังเป็นประภาคารในทางการเมืองของไทย ... ท่านผู้ประศาสน์การของเราควรจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในทางการเมืองของไทย”

ประภาคารในทางการเมืองของไทย

กระผมอยากพูดต่อไปอีกว่า คนเรานี้อายุมันไม่ยืนนะครับ ต่างก็แก่เฒ่าร่วงโรยกันไป แต่สิ่งที่กาลเวลาผ่านไป เราก็เห็นว่าท่านผู้ยิ่งใหญ่ในแต่ละยุค ยิ่งใหญ่ในแง่ตำแหน่งอำนาจวาสนา ยิ่งใหญ่ในแง่ที่ว่าเป็นเกียรติแก่วงตระกูลแบบไทย ๆ มันก็ผ่านไป  ท่านเหล่านี้ที่เป็นรุ่นเดียวยุคเดียวกับท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ต่างก็ผ่านไปแล้ว แต่ผมคิดว่าสิ่งที่จีรังยั่งยืนคืออุดมคติและหลักการ

กระผมคิดว่าท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ของเรายังเป็นประภาคารในทางการเมืองของไทย ซึ่งเราควรที่จะย้ำแล้วย้ำอีก และนำมาทบทวนเสมอในเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ซึ่งเราต่างก็มองความตกต่ำในวงการต่าง ๆ ในสถาบันต่าง ๆ ด้วยความสลดใจ ด้วยความเป็นห่วง แต่ผมเชื่อว่าจิตวิญญาณที่ท่านผู้ประศาสน์การของเราเป็นแสงสว่างนำการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา และวัฒนธรรมของไทยให้ยั่งยืน ให้รอดพ้นภยันตรายทั้งหลายด้วย Spirit ที่เรียกว่าท่านไม่หักหาญ ท่านพยายามประสานอันนี้

ไม่ใช่เพียงแต่ในประเทศไทย กระผมบังเอิญมีโอกาสได้พบปะคบค้าสมาคมกับชาวต่างประเทศ เขาถามว่าทำไมหลาย ๆ ประเทศในเอเชียก็ผ่านมรสุมมาอย่างมากมายแล้วประเทศจึงรอดพ้นมาได้ดีพอสมควร มันมีอะไรที่เป็นเคล็ดลับของประเทศไทย มีนักการเมืองหลายประเทศที่เขาคิดถามปัญหานี้ ผมก็คิดไปตามโอกาสที่พูดกัน หลักการอันหนึ่งคือคนไทยเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางทีก็หักหาญกันหน่อย เช่นเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2475 มิฉะนั้นจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ถ้าหักหาญกันนิด ๆ หน่อย ๆ ก็พยายามแก้ เพื่อไม่ให้เป็นรอยร้าวที่ร้ายแรงจนเกิดความอาฆาตมาดร้ายในวิถีชีวิตของโลก 

ผมอายุปูนนี้แล้ว ก็มองเห็นข้อขัดแย้งในชีวิตมีอะไรหลายประการ ธุรกิจขัดแย้งจึงฆ่ากันตาย เพราะฉะนั้นการขัดแย้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม จึงเป็นของธรรมดา แต่คนไทยเราโดยเฉพาะท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ นั้น เป็นคนที่โตขึ้นในวัฒนธรรมไทย ในจารีตประเพณีไทย ทั้ง ๆ ที่ท่านได้ไปเรียนในประเทศที่เจริญ เป็นประชาธิปไตยยิ่งของโลกตะวันตก ท่านก็ยังรักษาลักษณะของวัฒนธรรมไทยและธรรมเนียมไทยอยู่ มีตัวอย่างให้เห็นได้ชัดคือ หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง การกระทำประการแรกของคณะราษฎรคือ เข้าเฝ้าขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  การทำปฏิวัติจนสำเร็จแล้วมากราบขอโทษกันอย่างนี้ ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์การปฏิวัติของชาติใด นี่ก็เป็นอัจฉริยะที่ไม่มีในโลกประการหนึ่งเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น หลังจากมีการขัดแย้งรุนแรงหรือหักหาญกันบ้าง เหตุการณ์ก็คลี่คลายลง ประเทศไทยก็รักษาความมั่นคงสันติสุขของชาติไว้ยืนนานได้อย่างไรนั้น หลักสำคัญอยู่ที่ว่าไม่ทำให้การขัดแย้งนั้นร้ายและลึกซึ้งจนเกิดกว่าที่จะทนอยู่ด้วยกันได้  อาจารย์หลวงประดิษฐ์ฯ ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยวิธีนิ่มแบบไทย อย่างที่ไม่เคยมีตัวอย่างในประวัติศาสตร์ของโลก บางทีผมเล่าเรื่องนี้ให้คนจีนหรือฝรั่งฟัง เขาฟังแล้วต่างก็ทึ่งและแปลกใจ เขาบอกว่าคนไทยมีอย่างนี้ด้วยหรือ พอปฏิวัติโค่นล้มสำเร็จแล้วยังมาขอโทษกันอีก แล้วพระบรมราชโองการพระราชทานอภัยโทษ ก็เลยเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของไทยมาตลอด ออกมาในรูปของกฎหมาย

ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรมเนียมที่ดีหรือไม่ แต่ผมจำได้ว่าผมไปเรียนท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เมื่อผมได้มีโอกาสเข้าพบท่านว่าธรรมเนียมขอพระราชทานอภัยโทษ ท่านอาจารย์ปรีดีเป็นคนเริ่มต้นนะครับ แต่ผมคิดว่ามันมีอยู่ครั้งเดียวเท่านั้นที่มีผลในทางกฎหมาย คือครั้งเดียวที่ท่านอาจารย์ทำเป็นครั้งแรกนั่นแหละ ทั้งนี้ท่านได้เสนอขอพระบรมราชโองการพระราชทานอภัยโทษ ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญ แปลว่าพระมหากษัตริย์ไทยมีพระบรมราชโองการอภัยโทษในขณะที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตามกฎหมายจึงมีอำนาจที่จะให้อภัยได้ แต่การที่มีพระราชทานอภัยโทษในการปฏิวัติรัฐประหารครั้งหลัง ๆ นั้น ไม่มีผลทางกฎหมายเลยสักครั้งเดียว เพราะตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกแล้ว การลงพระปรมาภิไธยทุกครั้งจะต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการทุกครั้ง เพราะตีความตามความเป็นจริง พระบรมราชโองการนั้นคือคำสั่งในทางการเมืองของรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในขณะนั้น ดังนั้น เมื่อรัฐประหารขึ้นมาจนสำเร็จแล้ว แล้วก็มาให้พระราชทานอภัยโทษ ตัวผู้ได้รับพระราชทานก็เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็คืออภัยโทษตัวเอง มันจะมีประโยชน์ที่ไหน  ผมว่ามีอยู่ครั้งเดียวที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ทำนั่นแหละมีผลทางกฎหมาย ครั้งต่อ ๆ ไปเป็นของหลอกเด็กทั้งนั้น

ก็ยังดีครับ ในแง่ที่ว่าคนที่ทำก็กลัวกฎหมาย จึงจะต้องไปหาผ้ายันต์คือพระราชทานอภัยโทษในรูปของกฎหมาย เพื่อป้องกันตัว ทั้ง ๆ ที่ผ้ายันต์นั้นไม่มีความหมายในทางกฎหมายเอาเลย ที่ผมเล่าขึ้นมาเป็นเกร็ดให้ฟัง เพื่อแสดงว่าการกระทำของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในเรื่องของพระราชทานอภัยโทษนั้นเป็นการแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมไทย  ตัวอย่างที่พยายามจะลดความขัดแย้งจากร้ายกลายเป็นดี ซึ่งในกฎหมายไทยก็มีตัวอย่างเช่น ลูกสาวตามผู้ชายไปสักพักหนึ่ง ก็พาลูกสาวมาขอขมา โทษก็หายไป  สิ่งที่ผิดกลายเป็นสิ่งที่ถูกได้นี่ก็เป็นธรรมเนียมไทยอีก มันก็ทำให้อยู่ด้วยกันได้ ไม่งั้นมันก็อยู่ไม่ได้ มองหน้ากันไม่ได้

ดังนั้น ผมบอกกับเขา ยืนยันว่าที่ประเทศไทยยังสวัสดีมาไม่เหมือนเพื่อนบ้านนั้น คือความไม่หักหาญกันเกินไป เมื่อล่วงเกินกันก็ขอโทษกันแล้วก็ค่อย ๆ หายไป ทำให้เมืองไทยแม้จะมีการขัดแย้งกันอยู่บ้าง ก็ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับประเทศอื่น อันนี้ผมคิดว่าท่านผู้ประศาสน์การของเราควรจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในทางการเมืองของไทย แต่ท่านก็ทำแบบไทยที่สมัยนั้นเอกลักษณ์ไทยในเรื่องนี้ยังไม่มี ท่านก็ได้สร้างเอกลักษณ์ในทางการเมืองของไทยให้เกิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หักหาญน้ำใจ ที่พยายามทำให้ละมุนละม่อมต่อกันเป็นธรรมเนียมที่ดีของชาติ ทำให้รักษาบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี

อีกประการหนึ่งที่ผมเชื่อว่าผมจำไม่ผิด ในระหว่างที่ผมสนทนากับท่านในครั้งนั้น ท่านบอกว่าระหว่างที่ท่านอยู่ในประเทศจีน เราก็รู้ ๆ กันอยู่ว่าในยุคนั้น ซ้ายก็พยายามที่จะทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจการเมืองของไทยด้วยการปฏิวัติที่ใช้อาวุธหักหาญกันอย่างรุนแรง  อาจารย์หลวงประดิษฐ์ฯ ก็พยายามเป็นหนังหน้าไฟอยู่ที่ประเทศจีนนานหลายปีในระหว่างนั้น พอดีท่านบอกกับผมว่าท่านไม่ได้เป็นหัวหน้าเขาหรอก และไม่ยอมรับที่จะเป็นหัวหน้าแก่กระบวนการก่อการรุนแรงเหล่านั้น ท่านปฏิเสธเพราะท่านไม่เห็นด้วยในนโยบายป่าล้อมเมือง ท่านเห็นว่าไม่จำเป็น ถ้าทำ ประเทศไทยก็จะแย่ เพราะท่านปฏิเสธ ทั้ง ๆ ที่อยู่ใต้ร่มไม้ชายคาของเขาอยู่ และท่านก็คงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแรง ซึ่งผมไม่ได้ติดตามรายละเอียด  แต่ผมคิดว่าท่านมีความเชื่อว่าประเทศไทยไม่ควรใช้วิธีรุนแรงที่จะต้องต่อสู้กันให้เลือดตกยางออกทุกตำบลทุกหมู่บ้าน ผมคิดว่าความเชื่อของอาจารย์ปรีดีนับว่าเป็นบุญคุณต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง  เรารอดพ้นจากภาวะในเขมร ในลาว ในเวียดนามได้ ก็เพราะจิตใจที่เข้มแข็งและยึดมั่นในผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองของบุรุษคนหนึ่งคือผู้ประศาสน์การที่ไปอยู่ในเมืองจีนและอยู่ในเงื้อมมือของเขา  ถ้าไม่ใช่บุรุษเหล็กเพชรอย่างท่าน อยู่ไม่ได้ และยืนยันตามความเชื่อของตนไม่ได้นะครับ  การปฏิเสธไม่ให้ความร่วมมือทำให้ท่านขลุกขลักที่จะติดต่อกับโลกภายนอกเป็นเวลานานปี ผมได้ฟังกับหู ท่านที่มาชุมนุมกัน ณ ที่นี้ถือว่าเป็นชาว มธ. ด้วยกัน โปรดฟังไว้ด้วย 

เมื่อเหตุการณ์ของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากมายอย่างนี้แล้ว มาคิดเสียว่าประเทศไทยก็ได้ผ่านพ้นที่เขาเรียกว่า Civil War หรือสงครามกลางเมือง อย่างหวุดหวิดที่เลือดจะต้องตกทุกหย่อมหญ้า  ผมว่าอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ มีส่วนสำคัญในการสกัดกั้นภัยพิบัติอันนี้อย่างมหาศาล  ที่เราจะต้องยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษที่ต่อสู้ให้กับประเทศไทยในต่างแดน และไปพำนักลี้ภัยอยู่ประเทศจีนเสียด้วย  ดังนั้น ผมจึงว่าหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงในประเทศรัสเซียและจีน ซึ่งไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางใด ยังลูกผีลูกคนอยู่นะครับ และการที่ประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นเหยื่อการทดลองในทางเศรษฐกิจสังคมแล้ว ที่เป็นความฝันอันเจิดจ้าของคนมีอุดมคติในยุคหนึ่ง แล้วเราก็ค่อย ๆ ถูไถกันไปอย่างนี้ ก็นับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่โชคดีเป็นอย่างยิ่ง

ส่งท้าย

และในโอกาสนี้ กระผมคิดว่าเรายังโชคดีที่มีท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ผู้ร่วมทุกข์สุขคู่บารมีของท่าน ยังแข็งแรงให้พวกเราได้ชมได้เห็นหน้า แล้วก็ยังมีโอกาสได้สดุดีอาจารย์ปรีดีต่อหน้าท่านผู้หญิง  กระผมขอเชิญชวนพวกเราทั้งหลายในที่นี้ ตั้งจิตอธิษฐานรำลึกถึงดวงวิญญาณของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และขอตั้งจิตอธิษฐานอวยพรให้ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ จงมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นกำลังใจให้แก่เราไปอีกนาน ๆ  ขอขอบพระคุณครับ

 

ที่มา: ปรับปรุงและทำเชิงอรรถเพิ่มเติมจากปาฐกถาที่ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ แสดงที่ลานปรีดี พนมยงค์ ในงานวันปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2539  ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ วัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม 2540 หน้า 146-162 และล่าสุดลงพิมพ์ใน ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2562 (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2562).

 

 


[1] ขอขอบคุณ ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ และรองศาสตราจารย์สมยศ เชื้อไทย ที่ช่วยตรวจทานบทความนี้ด้วย.

[2] ปรีดี เกษมทรัพย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2519-2521.

[3] ในที่สุด ท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในวาระ 100 ปีชาตกาล 11 พฤษภาคม 2543 โดยองค์การยูเนสโกกล่าวถึงท่านว่า “Pridi Banomyong was a Thai statesman who was a Minister then Prime Minister (1946-1947) and one of the founding fathers of the constitutional monarchy.”(ดู http://www.unesco.org/eri/cp/cp-print.asp?country=TH&language=E).

[4] แต่ในความเป็นจริงท่านผู้ประศาสน์การพ้นจากอำนาจไปตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2490.

[5] อาจารย์ ดร.เดือน บุนนาค เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาคนที่ 2 (30 ตุลาคม 2478 - 16 กันยายน 2488) ต่อจากหลวงประพนธ์นิติสรรค์ (ม.ล.ประดับ สุทัศน์)  ดู ประกาศตั้งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 (1 พฤศจิกายน 2478) หน้า 2327-2328.

[6] สโมสรเทศบาลนครกรุงเทพ เคยตั้งอยู่เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ใกล้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา.