ดิฉันคือคนที่ถูกแปะป้ายว่า “หนักแผ่นดิน” มาจนถึงปัจจุบันก็ถูกแปะป้ายว่า “ชังชาติ”
ดิฉันเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน พ.ศ. 2516-2519 ในยุคที่คำว่า “หนักแผ่นดิน” ถูกชี้หน้ามาที่นักศึกษาซึ่งก็ชี้หน้ามาที่ดิฉันด้วยซึ่งก็เป็นนักศึกษาและก็เป็นคนที่ทำกิจกรรมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อเสรีภาพ เพื่อความยุติธรรมเท่าเทียม เหมือนกับเยาวชนหนุ่มสาวที่ทำอยู่กันทุกวันนี้
เรื่องหนักแผ่นดินนึกแล้วก็น่าขันเล็กน้อย มันเป็นคำกล่าวที่หมายถึงผู้ที่ไม่ควรจะอยู่ในโลก ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์จะใช้คำนี้ในแง่ที่ว่า ผู้นั้นไม่มีค่า ไม่สมควรมีชีวิตอยู่ พอมาในยุคที่ทำให้นักศึกษาเป็นอื่นหมายความก็ถูกใช้ว่า “เป็นพวกที่ขายชาติสมคบคิดกับต่างชาติ เป็นพวกหนักแผ่นดิน”
ดิฉันเองนอกจากได้รับการแปะป้ายแล้ว เรายังตอบโต้ที่ถูกกล่าวหาจากเผด็จการทหารจารีตนิยม ด้วยการออกไปร้องเพลงหนักแผ่นดินตอบโต้กับเขาเลย ในปี 2518 ที่มีเพลงหนักแผ่นดินเผยแพร่ มีเวทีดุริยางค์ทหารมาตั้งอยู่ที่สนามหลวงหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วงดนตรีสมัครเล่นของนักศึกษา 2 วง คือ “กรรมมาชน” ของมหาวิทยาลัยมหิดล และ “ต้นกล้า” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เราเห็นว่าต้องตั้งเวทีประจัน เพราะเราคิดว่าเนื้อเพลงหนักแผ่นดินไม่ได้หมายถึงพวกเรา โดยเฉพาะท่อนที่กล่าวว่า “คนใดยุยงปลุกปั่น ไทยด้วยกันหวังให้แตกกระจาย ปลุกระดมมวลชนให้สับสนวุ่นวาย เพื่อคนไทยแบ่งฝ่ายรบกันเอง” เราจึงพากันไปร้องเพลง ทางฝ่ายดุริยางค์ทหารร้องก่อน พอเขาร้องจบเราก็ร้องโต้ หลายรอบจนดุริยางค์ทหารยอมถอยไปเอง อันนี้คือหนักแผ่นดินหน้าธรรมศาสตร์
ทีนี่ในปัจจุบัน 4 ทศวรรษผ่านมาแล้ว พอมีคำว่า “ชังชาติ” ดิฉันก็โดนอีกแล้ว เหมือนท่านทั้งหมายที่นั่งฟัง ที่โดยแปะป้ายว่าชังชาติ ทั้งหมดเพียงเพราะเราคิดไม่ไปในทางเดียวกับเผด็จการจารีตนิยมที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่
เพลงหนักแผ่นดิน หรือคำว่า “หนักแผ่นดิน” ที่เอามาใช้ปลุกระดมสร้างความเกลียดชังนักศึกษา สร้างความชอบธรรมในการสังหารหมู่ เมื่อนำมาใช้ นำมาสังหารหมู่เรียบร้อยแล้ว ก็นำมาใช้ต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ หนักแผ่นดินยังคงใช้อยู่เรื่อย ๆ หลังการปราบปรามสังหารหมู่ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ยังคงใช้ปราบปรามประชาชน ชาวบ้านที่เข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
จนกระทั่งรัฐบาล เปรม ติณสูลานนท์ เปลี่ยนโยบายใช้การเมืองนำการทหาร ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 66/2523 เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาที่เข้าไปรวมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ได้กลับเข้าเมืองมาพัฒนาชาติไทยโดยไม่ต้องรับโทษ แล้วพรรคคอมมิวนิสต์เองก็เริ่มหมดบทบาทหมดความสำคัญไปเรื่อย ๆ
ทีนี่อยากจะเล่านิดหนึ่ง พวกเราหลายคนอาจจะนึกไม่ออก หลายคนอาจจะโตมาความเชื่อที่ว่าพรรคคอมมิวนิสต์น่ากลัวมาก ๆ จริง ๆ แล้วพรรคคอมมิวนิสต์มีเกียรติภูมิมาก เกิดขึ้นมาร่วมกับประชาชนไทยต่อต้านประเทศญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้เข้าสู่การต่อสู่ในระบบรัฐสภา โดยมีเป้าหมายหลัก คือ “สร้างความเสมอภาคทางชนชั้น ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ”
แต่พรรคคอมมิวนิสต์อยู่ต่อไปไม่ได้ พ.ศ. 2489 เกิดกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 จนนำไปสู่เหตุการณ์รัฐประหาร 2490 กลุ่มทหารกลุ่มจารีตนิยมได้กลับเข้ามามีบทบาทอีกครั้ง นำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณ และเครือข่าย ได้โค่นล้มกลุ่มอำนาจพลเรือนและกลุ่มปรีดี พนมยงค์ และรัฐประหารซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา
และในยุคสงครามเย็น ต้องการให้คอมมิวนิสต์เป็นผู้ร้าย พรรคคอมมิวนิสต์ในรัฐสภาก็ต้องลงเคลื่อนไหวใต้ดิน ในช่วงเวลานี้เองที่กลุ่มทหารจารีตนิยมได้ขึ้นมามีบทบาทและสร้างเครือข่ายครอบงำสังคมไทยที่นักวิชาการเรียกว่า “เครือข่ายรัฐพันธุ์ลึก” และนายปรีดี พนมยงค์ ก็ถูกใส่ร้าย ต้องออกจากประเทศ คอมมิวนิสต์ก็กลายเป็นผีร้าย
สิ่งเหล่านี้ วาทกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งปกติมากในสังคมไทยเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมดที่ผู้มีอำนาจทำให้คนคิดต่างทั้งหมดเป็นคนนอก เป็นคนผิด เป็นคนต่างชาติ เป็นคนล้มเจ้า ทำลายเจ้า เป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด
แต่คำว่า “ชาติ” สมัยที่ดิฉันเป็นเด็ก สมัยนั้นดิฉันไม่สนใจคำว่าชาติเลย สมัยนั้นมีละครมีเพลงปลุกระดมต่าง ๆ ออกมา แต่เราไม่เคยซาบซึ้งกับคำว่าชาติ เพราะรู้สึกว่ามันคืออะไรก็ไม่รู้ มันไกลตัวเหลือเกิน ดิฉันจำคำขวัญของจอมพลสฤษดิ์ที่ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ได้มากกว่าคำว่า “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ด้วยซ้ำไป
เพราะฉะนั้นคำว่า “ชาติ” ในเวลานั้นเป็นอะไรก็ไม่รู้ แต่ในขณะที่มันเป็นอะไรก็ไม่รู้มันกลับแบ่งแยกเพื่อนคนไทยเชื้อสายจีนให้ออกไปจากเรา เราที่เป็นคนไทยเป็นลูกหลานข้าราชการรู้สึกปลอดภัยมาก แต่คนไทยเชื้อสายจีนจะเป็นคนที่ถูกแปลกแยก คนไทยเชื้อสายจีนไม่ได้รับการยกย่อง ถูกกดขี่ เหยียดหยาม โรงเรียนจีนถูกปิด ชีวิตยากลำบาก และถูกกล่าวหาและระแวงว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ที่ถูกกล่าวว่าอาจจะย่องเข้ามาเผาหน้าเราให้หมอดไหม้ เพราะฉะนั้นพวกจีนไม่น่าไว้วางใจเลย กิริยามารยาทก็ไม่เป็นผู้ดีไทยเลย แม้ผู้ดีไทยจะมีเชื้อสายจีนกันเป็นจำนวนมาก
ความเป็นไทยเชื้อสายจีน และการกดขี่ ทำให้คนจีนเป็นอื่น ได้หายไปในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ในปี 2518 และ ในปี 2519 คนที่ถูกกล่าวหาว่าทำลายชาติ ขายชาติ จึงกลายเป็นเวียดนาม คนจีนหายไปแล้ว แต่กลายเป็นญวนเวียดนาม ถูกเหยียดหยามว่า “ไอ้พวกแกว” มีคำพูดมากมายว่า ศพที่อยู่ในธรรมศาสตร์เป็นแกวทั้งนั้นที่นอนตาย นักศึกษาที่อยู่ก็เป็นพวกญวนพวกแกวเท่านั้น
ส่วนชังชาติในปัจจุบัน ไม่ใช่ตะวันออก ไม่ใช่จีน ไม่ใช่เวียดนาม แต่เป็นสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ จึงไม่ได้บอกอะไรเลยนอกเป็นคำที่ฝ่ายเผด็จการจารีตนิยมปั้นขึ้น ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อใช้คำร้ายคนที่คิดไม่เหมือนพวกตัวเอง ไม่มีอะไรไปมากกว่านี้
ส่วนคำว่า “ประชาธิปไตย” ก็ไม่มีอะไรเลยสำหรับคนพวกนั้น นอกจากมีเอาไว้อวดอ้างว่าประเทศฉันมีอารยธรรม และที่เหลือก็คือการบิดเบือน ว่าประชาธิปไตยต้องเป็น “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ซึ่งหมายความว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของอภิสิทธิ์ชนในเครือข่ายเผด็จการจารีต ซึ่งไม่ใช่คำนิยามที่สากลยอมรับ
เพราะฉะนั้นพิจารณาแล้ว หลากหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม ซ้ำซาก พายเรือวนอยู่ในอ่าง ฝ่ายเผด็จการจารีตไม่เคยเปลี่ยนแปลงความคิด ไม่เคยเปลี่ยนแปลงวิธีการในการจัดการกับคนคิดต่าง ไม่เคยพัฒนาไม่เคยยอมรับที่จะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับโลก แต่ว่าโลกไม่เคยหยุดนิ่ง เวลาไม่เคยอยู่กับที่ และโลกวันนี้ไม่มีใครมีสิทธิ์บังคับใครให้ดูหนังม้วนเก่า ไม่มีใครมีสิทธิ์บังคับใครให้พายเรือ หรือนั่งเรือวนไปในอ่าง กะละมังใบเดิมที่ไม่มีทางออก ไม่มีสิทธิ์บังคับใครให้อยู่ในกะลาที่พวกเขาครอบเอาไว้
ที่สำคัญที่สุด เยาวชนคนหนุ่มสาวในวัยเข้มแข็งทั้งพลังใจพลังกาย มีสติปัญญา มีความกล้าหาญ คือผู้กำหนดอนาคตของตนเองและของโลก ดังนั้นดิฉันจึงมีความเชื่อในเยาวชนอย่างมาก เหมือนที่เคยเชื่อมั่นตนเอง ดิฉันเป็นคนโลกสวย เป็นคนเชื่อมั่นพลังมนุษย์
เพราะฉะนั้นในวาระครบรอบ 44 ปี สังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 ดิฉันขอจึงน้อมรำลึกถึงมิตรสหายนักสู้เพื่อประชาธิปไตยผู้ทั้งที่จากไปแล้ว ผู้ที่รอดชีวิต ทั้งผู้ที่มีชื่อให้จนจำ และผู้ที่เป็นนักสู้นิรนาม ด้วยความขอบคุณอย่างที่สุด และขอขอบคุณให้กำลังใจเยาวชนหนุ่มสาว ผู้ยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมประชาธิปไตยสมบูรณ์ เราทุกคนผู้รักเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความยุติธรรมเท่าเทียม
ไม่ว่าจะรุ่นใด ไม่ว่าจะยุคไหน เราไม่เคยหยุดต่อสู้ เพื่อสิ่งที่เราเชื่อ และสิ่งนั้นที่เราหมายถึง นั้นหมายถึงประชาธิปไตยสมบูรณ์
ที่มา: เรียบเรียงจากคำกล่าวของผู้เขียนในงาน PRIDI talks ครั้งที่ 6 หัวข้อ "จากหนักแผ่นดินสู่โรคชังชาติ: ชาติ ความเป็นไทย และประชาธิปไตยที่แปรผัน" ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในวันดังกล่าว ทาง Facebook: CARE คิด เคลื่อน ไทย