ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

คือผู้อภิวัฒน์…ทางอันแจ่มใสของละครเวทีไทย

12
ตุลาคม
2563

เพื่อนร่วมงานของผมคนหนึ่งที่ทับแก้วเพิ่งจะปรารภกับผมเมื่อไม่กี่วันมานี่เองว่า น่าเป็นห่วงละครเวทีไทย เพราะดูประหนึ่งว่า เส้นทางที่เพื่อนเราส่วนใหญ่กำลังเดินอยู่นั้น คือ การตาม “นายฝรั่ง” คือ แปลหรือแปลงละครตะวันตก (ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่า บางรายทำได้ดีมาก)  

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่น่าวิตกอีกประการหนึ่งของละครเวทีไทยยุคใหม่ ก็คือ การลงทุนที่สูงมากในด้านของ ฉาก แสง เสียง และโฆษณา คือ ถ้าค่าใช้จ่ายไม่เหยียบเลขหกตัวหรือเจ็ดตัวแล้ว ดูจะไม่น่าทึ่งเอาเสียเลย  

พูดไปทำไมมี อิทธิพลของการจัด “คอนเสิร์ต” วัยรุ่นในวันสุดสัปดาห์ดูจะแผ่ขยายเข้ามาถึงวงการละครเวทีเข้าด้วยแล้ว ผมมีเหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ท้อแท้กับเรื่องของละครเวที เพราะเพิ่งได้ไปเห็นสภาพของละครเวทีในเยอรมันตะวันตกมาเป็นเวลา 3 เดือน ผมอดคิดไม่ได้ว่า เขากับเรากำลังป่วยด้วยโรคเดียวกัน คือ โรคของผู้มั่งคั่ง หรือผู้ที่อยากจะแสดงตัวว่ามั่งคั่ง  ละครเวทีในเยอรมันตะวันตกกำลังเสื่อมถอยไป เพราะผู้กำกับการแสดงส่วนใหญ่พุ่งความสนใจไปสู่เรื่องของฉาก แสง เสียง เครื่องแต่งกาย และจำนวนของตัวประกอบที่จับขึ้นมาอัดกันให้เต็มเวที ผมได้มีโอกาสคุยกับนักแสดงอาวุโสผู้หนึ่งของคณะละคร Schiller-Theatre ที่กรุงเบอร์ลินเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเขาพูดกับผมอย่างตรงไปตรงมาที่สุดว่า “ทางรอดของละครเยอรมันตะวันตกมีอยู่ทางเดียว คือ ขอให้รัฐถอนเงินอุดหนุนเสียตั้งแต่พรุ่งนี้”

น่าประหลาดที่ว่า โรคอ้วนตายกำลังจะมากัดกินวงการละครของประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างบ้านเรา

ละครเรื่อง คือผู้อภิวัฒน์ ซึ่งสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้จัดแสดง และคำรณ คุณะดิลก เป็นผู้เขียนบทและกำกับการแสดง อาจจะจัดได้ว่า เป็นแสงสว่างนำทางให้แก่ละครเวทีร่วมสมัยของไทยได้ ที่ได้มีการเรียกร้องให้มีการสร้างบทละครของไทยขึ้นเองและยังมิได้รับการตอบสนองนั้น บัดนี้ คือผู้อภิวัฒน์ ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างประจักษ์แจ้งแล้วว่า เรามีบทละครของไทยที่เข้มข้นด้วยอารมณ์และความคิด ซึ่งสามารถนำมาแสดงเป็นละครเวทีได้อย่างน่าประทับใจยิ่ง 

เราได้ยินได้ฟังกันมาซ้ำ ๆ ซาก ๆ ว่า ละครพูดต้องเริ่มต้นที่ ตัวบท และแล้วเราก็หาตัวบทซึ่งนักประพันธ์ไทยเขียนขึ้นเองที่ถูกใจเราไม่ได้ ต้องขอแสดงความยินดีต่อผู้สร้างบท คือผู้อภิวัฒน์ ที่ได้ขจัดช่องว่างที่ว่านี้ให้หมดไป 

ปัญหาอันหนักหน่วงของผู้เขียนบทละครเวทีในปี 2530 ก็คือว่า ภาษาไทยที่เราใช้สนทนากันในชีวิตประจำวันไม่เป็นพาหะที่จะสื่อความอันหนักหน่วงและลุ่มลึกได้อย่างเต็มที่ เราอาจจะขาดวาทศิลป์ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของสัจจะ เพราะภาษาที่เรามักจะใช้โน้มน้าวจิตใจคนก็ชอบที่จะเป็นไปเพื่อการโฆษณา หรือโฆษณาชวนเชื่อ เวทีละครของเราละเลยหน้าที่ของเวทีแห่งการแสวงหาความจริงไปเสียนาน 

ผมเองได้เคยกล่าวไว้ในการอภิปรายต่อท้ายละครเรื่อง อยากให้ชีวิตนี้ไม่มีเธอ ที่หอศิลป พีระศรี เมื่อปีที่แล้วว่า ละครพูดจะก้าวหน้าไปได้ก็แต่ในกรอบของวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ นั่นก็คือ สังคมใดสนับสนุนให้มีการกล่าวความจริงต่อสาธารณชน หรือให้มีการแสดงทัศนะในประเด็นที่มีความสำคัญต่อบ้านเมืองอย่างตรงไปตรงมา สังคมนั้นจะสามารถสร้างศิลปะในรูปของละครเวทีที่เข้มข้นและลุ่มลึกขึ้นมาได้ 

คือผู้อภิวัฒน์ พยายามที่จะเดินไปในเส้นทางที่กล่าวมานี้ ละครประวัติศาสตร์เรื่องนี้พยายามจะอิงข้อเท็จจริงเชิงประวัติศาสตร์เท่าที่จะแสวงหามาได้ ภาษาที่ใช้ในบางตอนจึงเป็นภาษาที่ตรงไปตรงมาของสารคดี ไม่ดีดดิ้นด้วยกลเม็ดเด็ดพรายเชิงวรรณศิลป์ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะฟื้นฟูละครพูดของไทยให้เป็น “เวทีแห่งสัจธรรม” แต่ก็น่าเห็นใจผู้แสดงสมัครเล่นที่ขาดการฝึกปรือในด้านของการใช้เสียง การเปล่งคำ และการตีความ การแสดงจึงขาดรสในเชิงวรรณศิลป์ไปบ้าง และในบางครั้งผู้แสดงเน้นการปลุกเร้าอารมณ์มากเกินไป แทนที่จะกระตุ้นปัญญาความคิด 

สิ่งที่น่าทึ่งในการแสดงครั้งนี้ ก็คือ เรื่องของความพอเหมาะพอดีในด้านของฉาก แสง และเสียง เท่ากับเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า บทละครที่ดีสามารถตรึงคนดูไว้ได้ด้วยสาส์นอันเปี่ยมด้วยสาระ คือผู้อภิวัฒน์ แทบจะไม่ต้องลงทุนในเรื่องฉากเลย คือ ใช้เพียงพื้นหลังสีดำ และแท่นเตี้ย ๆ 3 แท่น ที่สามารถจัดวางเปลี่ยนที่ไปตามการดำเนินเรื่องที่เปลี่ยนไป ในฉากสุดท้าย ซึ่งเป็นตอนที่ตัวเอกของเรื่องถึงแก่อนิจกรรม ก็มีการนำเอาแท่นทั้งสามมาตีกรอบรอบตัวผู้แสดง แล้วเอาโต๊ะเขียนหนังสือตัวเล็ก ๆ มาวางตรงหน้า ได้ภาพที่เข้ากับเนื้อเรื่อง  สำหรับเครื่องแต่งกายก็ใช้สีดำเป็นพื้น เวลาที่ตัวละครต้องรับบทที่เปลี่ยนไปก็อาจสวมเครื่องแต่งกายบางอย่างเพิ่มเข้ามา เช่น เครื่องแบบทหาร หมวก หรือสไบ  ตัวแสดงใช้เพียง 12 ตัว สับเปลี่ยนกันรับบทต่างๆ ทำหน้าที่เป็นตัวละคร เป็นผู้เล่าเรื่อง (narrator) หรือเป็นนักร้องหมู่ (chorus)  แสงที่ใช้ก็เป็นไฟธรรมดา ไม่จำเป็นต้องใช้ไฟสี ดนตรีประกอบใช้กลองทัดเป็นพื้น (เช่นเดียวกับในกรณีของ อีดีปุสจอมราชันย์ ซึ่งได้ผลมาแล้ว) 

ข้อสรุปเบื้องต้น ณ ที่นี้ก็คือ คือผู้อภิวัฒน์ สร้างความประทับใจได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทุนรอนอันมหาศาลดังที่นักแสดงบางกลุ่มคิดกัน

ในด้านของเทคนิคและกลวิธีการละคร คือผู้อภิวัฒน์ เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นแบบฝึกหัดขั้นสูงที่สมบูรณ์ของศิลปะการละคร จะว่าเป็นละคร “เอพิค” ตามแบบฉบับของเบรคชท์อย่างตายตัวก็เห็นจะไม่ใช่ ผู้กำกับการแสดงคงจะได้สั่งสมความรู้ในด้านกลวิธีมาอย่างกว้างขวาง และก็สามารถคิดต่อเลยไปจากเทคนิคที่ใช้กันอยู่ทั่วไป แม้กระทั่งการเล่นพื้นบ้านของไทยบางอย่างก็นำมาใช้ได้อย่างเหมาะเจาะ เช่น ในฉากที่แสดงให้เห็นถึงการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาครองอำนาจทางการเมืองของคนบางกลุ่มในสังคมไทย ก็มีการนำการเล่น “รีรีข้าวสาร” มาสื่อความซ้ำซากจำเจของปรากฏการณ์ทางการเมืองได้อย่างดียิ่ง 

ในด้านของลักษณะที่เป็นละครแบบ “เล่าเรื่อง” ก็พัฒนาไปได้ไกลกว่าละครของเบรคชท์เสียอีก คือ มิได้ใช้ตัวละครที่รับหน้าที่เฉพาะเป็นผู้เล่าเรื่อง เช่น ในละครเรื่อง กาลิเลโอ หรือ วงกลมคอเคเซียน แต่ให้ตัวแสดงผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่นี้ บางครั้งก็ให้ตัวละครที่กำลังรับบทการแสดงละครอยู่เปลี่ยนจากการแสดงมาเป็นการเล่าเรื่องโดยฉับพลัน ซึ่งก็น่าประหลาดที่ว่ามิได้เป็นการทำให้เสียรสแต่ประการใด เพราะแทนที่เราจะเกิดความรู้สึกว่าการแสดงสะดุดหยุดลง เราก็เพียงแต่รู้สึกว่าเป็นการเปลี่ยนจังหวะเท่านั้น นับเป็นนวกรรมทางศิลปะการแสดงที่น่าจะได้มีการพัฒนากันต่อไป 

ในด้านของการใช้คนดูให้เป็นส่วนหนึ่งของละคร ที่เรียกกันเป็นภาษาอังกฤษว่า audience participation นั้น ก็เป็นไปในแบบที่เราในฐานะผู้ชมตั้งตัวรับไม่ทัน ตัวละครเดินลงจากเวทีมาแจก “ประกาศคณะราษฎร” ที่เป็นเอกสารอัดสำเนาให้แก่ผู้ชม (ขอตั้งข้อสังเกตว่า กระดาษที่ใช้อัดสำเนาคุณภาพเลวมาก คงจะเป็นไปตามทุนรอนอันจำกัดจำเขี่ยของผู้จัดแสดง ถ้าเป็นละครโรงอื่นคงใช้กระดาษอาร์ตชั้นดีเป็นแน่!) 

กลวิธีที่ว่านี้ไปได้ไกลกว่าละครของเบรคชท์ คือ แทนที่จะฝากสาส์นจากตัวบทละครให้ผู้ชมกลับไปคิดที่บ้าน (เช่น ในกรณีของปัจฉิมบทของ คนดีที่เสฉวน) ผู้ชมกลับได้สาส์นในรูปของเอกสารติดมือกลับไปอ่านที่บ้าน เป็นการให้โอกาสผู้ชมให้วินิจฉัยด้วยตัวเอง และก็มีผู้ชมจำนวนหนึ่งที่คิดค้านทัศนะของ “คณะราษฎร” นั่นคือ การวางตัวเป็นกลางในการสร้างละครประวัติศาสตร์ด้วยการให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ “เปิดปากพูดด้วยตัวเอง” เป็นการปลุกวิจารณญาณของผู้ดูผู้ชมในกรอบของวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ 

ในตอนจบเรื่องก็เช่นกัน ผู้แสดงนำกล่าวฝากไว้กับผู้ชมว่า เขาไม่สามารถที่จะเผยแสดงความจริงบางประการในขณะนี้ได้ และขอฝากไว้ให้เป็นเรื่องของอนาคตเป็นการเปิดทางไปสู่โลกแห่งความเป็นจริงที่อยู่นอกกรอบของงานศิลปะ ละครจริง ๆ อาจจะหยุดด้วยเงื่อนไขของเวลาเมื่อตัวผู้อภิวัฒน์ถึงแก่อสัญกรรม แต่ละครในจินตนาการและในความนึกคิดของผู้ดูยังดำเนินต่อไป ผู้ชมได้การบ้านอันหนักหน่วงติดตัวไปด้วย เป็นการเปิดประตูไปสู่ความหวังว่า โลกแห่งอนาคตจะเป็นโลกที่ดีกว่าปัจจุบัน เพราะจะเป็นโลกที่กล้าเผชิญกับความจริง ถ้าเบรคชท์ยังมีชีวิตอยู่ เขาคงจะภาคภูมิใจเป็นอันมากว่า เขามีเพื่อนในประเทศโพ้นทะเลที่นำสิ่งประดิษฐ์คิดค้นของเขาไปคิดต่อและไปประยุกต์ใช้ได้อย่างดี อาจจะดีกว่าที่เขาลงมือทำเอง หรือที่สานุศิษย์ของเขาในเยอรมันเองได้ทำมาแล้วเสียอีก

ถึงอย่างไรก็ตาม คือผู้อภิวัฒน์ ไม่ใช่งานศิลปะที่จะอ้างตัวเองว่าเป็นจุดเริ่มต้นหรือจุดกำเนิดของทิศทางใหม่ ละครเรื่องนี้หลอมรวมประสบการณ์ทางศิลปะจากหลายแหล่งเข้าไว้ด้วยกัน เราคงไม่จำเป็นจะต้องทำเชิงอรรถเพื่อชี้ว่า ข้อความตอนใดหรือเนื้อเรื่องตอนใดถือกำเนิดมาจากที่ใด แต่ผู้ชมบางคนอาจจะได้ความหฤหรรษ์เพิ่มขึ้นถ้าได้ใส่เชิงอรรถตามไปด้วย แม้แต่คำกล่าวอ้างว่า เมืองไทยอุดมสมบูรณ์อย่างที่ “หมาไม่อดตาย” นั้น ถ้าได้รู้ต้นตอที่มาก็จะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาที่ละครเรื่องนี้นำมาเสนอได้ดียิ่งขึ้น 

การที่ผู้กำกับการแสดงนำเทคนิคของการ “ตัดแปะ” (collage) มาใช้นั้นนับว่าทำได้อย่างน่าสนใจมาก เพราะในที่นี้เป็นการ “ตัด” เอาวรรณกรรมบางเรื่อง (ทั้งที่รู้จักกันแพร่หลาย และไม่รู้จักกันแพร่หลาย) มาปะทับกันจนเกิดภาพใหม่ ในลักษณะหนึ่ง คือผู้อภิวัฒน์ เป็นศิลปกรรมที่ใคร่จะฝากตัวเป็นทายาทของวรรณกรรมอันยิ่งใหญ่ ทั้งของไทยและของเทศ และก็มิใช่ทายาทของ “สกุล” ใดสกุลหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะทั้งแม่พลอยจาก สี่แผ่นดิน และ สาย สีมา จาก ปีศาจ ก็ปรากฏตัวในละครเรื่องนี้  การนำเอาวรรณกรรมที่คนดูส่วนใหญ่รู้จักมาสอดแทรกไว้ในละครเรื่องใหม่เป็นการกระตุ้นให้ผู้ชม “หยุดคิด” และ “ฉุกคิด” 

ในกรณีของ สี่แผ่นดิน ผู้สร้างบทให้โอกาสแม่พลอยออกมาแสดงความฉงนสนเท่ห์ต่อความเปลี่ยนแปลงที่เธอรับไม่ได้ถึงสองครั้งสองครา และในครั้งที่สองนั้น แม่พลอยเดินออกจากบท ผละหนีออกจากกรอบของวรรณกรรมเรื่อง สี่แผ่นดิน ไปร้องเรียนต่อ “คุณชาย” แห่งซอยสวนพลูว่า เธอไม่อาจรับความเปลี่ยนแปลงอันแสนจะปวดร้าวได้ ผมต้องยอมรับว่ายังไม่เคยได้ชมละครเรื่องใด ทั้งไทยและเทศ ที่นำเอาเทคนิค “การทำให้แปลก” (ซึ่งเป็นมรดกของเท็คนิคการแสดงที่เบรคชท์เรียกว่า “Verfremdung”) มาใช้ในเชิงสร้างสรรค์ซึ่งสร้างทั้งความคิดและความบันเทิงได้ดีเท่านี้ 

ในกรณีของนวนิยาย ปีศาจ ของเสนีย์  เสาวพงศ์นั้น ก็มีการตัดตอนมาจากฉากที่เจ้าคุณพ่อของรัชนีจัดงานเลี้ยงอันใหญ่โต และใช้โอกาสนั้นบริภาษ สาย  สีมา และเมื่อสาย  สีมา ตอบโต้ว่า “ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า” ผู้ชมก็เข้าใจได้ทันทีว่า ปีศาจ สัมพันธ์กับ คือผู้อภิวัฒน์ อย่างไร  ในแง่ของการแสดง ฉากนี้ออกจะกระเดียดไปทางภาพยนตร์ไทยมากอยู่ มีการให้แขกที่มาในงานเลี้ยงแสดงวาจาและท่าทีกระแนะกระแหนตามแบบฉบับของภาพยนตร์ไทยที่เรารู้จักกันดี ก็เพียงแต่หวังว่าผู้กำกับการแสดงจงใจให้เป็น “การทำให้แปลก” ในอีกรูปลักษณะหนึ่ง

กล่าวโดยทั่วไป บทตัดตอนจากวรรณกรรมที่ผมคิดว่าสร้างความประทับใจได้สูงสุดก็คือ ปฐมบท (prologue) ของเรื่อง ผู้แสดงคนหนึ่งรับหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่อง และเล่านิทานเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของเด็กกำพร้าที่อยู่โดดเดี่ยวเดียวดายอยู่บนผืนโลก เขาตัดสินใจหนีจากโลกไปยังดวงจันทร์ และก็พบว่า ดวงจันทร์เป็นแค่เศษไม้ผุ ๆ ชิ้นหนึ่ง  เมื่อไปถึงดวงอาทิตย์ ก็พบว่า พระอาทิตย์ คือ ดอกทานตะวันเหี่ยว ๆ  เมื่อไปถึงดาวก็พบว่า ดวงดาวทั้งหลายเป็นแมลงสีทองที่ถูกเสียบติดไว้กับฟากฟ้า  ในที่สุดเจ้าหนูนั่นก็กลับลงมาบนผืนโลกที่จ่อมจมไปแล้ว และยังนั่งร้องไห้อยู่คนเดียวจนบัดนี้ ผมจำได้ว่า นิทานเรื่องนี้คัดมาจากบทละครเรื่อง วอยเซค (Woyzeck) ของนักประพันธ์เยอรมันในศตวรรษที่ 19 คือ เก-ออร์ก บูคเนอร์ (Georg Buchner) ซึ่งจัดได้ว่าเป็นจุดยอดของละครแห่งความมืดปรัชญาของโลกตะวันตก เมื่อผู้กำกับการแสดงเริ่มเรื่องด้วยการปรับคลื่นอารมณ์ของผู้ชมให้เข้ากับกระแสของปรัชญา “สุญนิยม” (nihilism) เช่นนี้ ผมก็เกิดความกระวนกระวายใจขึ้นมาทันที คือ เป็นห่วงว่า ถ้าจงใจจะทำ คือผู้อภิวัฒน์ ให้เป็นคำรำพันแห่งความสิ้นหวังไปแล้วละก็ คนดูอาจจะเดินออกเสียกลางคันก็ได้ แต่พอติดตามละครเรื่องนี้ไปได้สักพัก ผมก็คลายกังวล ละครประวัติศาสตร์เรื่องนี้อาจเริ่มต้นที่สุญนิยมของบูคเนอร์ แต่เมื่อจบเรื่องนั้นเราได้ปรับเส้นทางเดินไปสู่กฎแห่งไตรลักษณ์อย่างไม่มีวันที่จะหลงทางอีกต่อไปแล้ว

ผมไม่คิดว่า การที่ผู้สร้างบทละครของไทยได้รับแรงดลใจมาจากงานศิลปะของตะวันตกบ้างเป็นสิ่งที่เสียหายอะไร ถ้าเขาสามารถที่จะนำประสบการณ์จากต่างวัฒนธรรมมากลั่นกรองและใช้ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์ใหม่ของเขา  ผมคิดยิ่งไปกว่านั้นว่า การที่ได้สัมผัสกับวรรณกรรมอันล้ำค่าของเก-ออร์ก บูคเนอร์มา อาจช่วยให้ผู้แต่งมองเห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับประวัติศาสตร์ได้อย่างชัดเจน อาจเป็นไปได้ว่า คือผู้อภิวัฒน์ ได้รับบทเรียนบางประการจากละครอีกเรื่องหนึ่งของบูคเนอร์ คือ ความตายของดังตอง (Dantons Tod) บทเรียนนั้น ก็คือว่า ผู้อภิวัฒน์ผู้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ มักจะไม่สามารถควบคุมกระแสของประวัติศาสตร์ในช่วงต่อมาได้ 

คือผู้อภิวัฒน์ มิใช่ละครประวัติศาสตร์แบบไทย ๆ ที่เรารู้จักกันมาในรูปของละครสดุดีวีรบุรุษ “พระเอก” ของเรื่องนี้สร้างความประทับใจให้แก่เราได้ด้วยความอาภัพของเขาเอง แต่ความอาภัพนั้นกลับกระตุ้นสัญชาตญาณใฝ่ดีในตัวเรา เตือนสติเรามิให้ตั้งอยู่ในความประมาท  จะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม คือผู้อภิวัฒน์ เป็นละครสอนคนที่ลึกซึ้งและแยบยล 

ถ้าจะพูดถึง “ความยิ่งใหญ่” อันเป็นองค์ประกอบหลักของละครประวัติศาสตร์ ก็คงจะพูดได้ในเรื่องของความยิ่งใหญ่ของความคิด ของอุดมการณ์ ของอุดมคติ มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของความยิ่งใหญ่ในระดับบุคคล  ตัวละครที่เรารู้จักกันดีจากประวัติศาสตร์ชาติไทยยุคใหม่มิได้ก้าวขึ้นมาบนเวทีในคราบของวีรบุรุษ แต่เป็นปุถุชนที่กล้าเข้ามาแบกภาระอันหนักหน่วงที่ดูจะเกินกำลังของพวกเขา และข้อบกพร่องของพวกเขาเองเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ของพวกเขา 

ถ้าละครเรื่องนี้ดูแล้วไม่เบื่อ (และผมยืนยันได้จากประสบการณ์ส่วนตัวว่า ทุก ๆ นาทีของช่วงเวลา 105 นาทีที่ละครเรื่องนี้ดำเนินไป ผมไม่เกิดความรู้สึกเบื่อเลยแม้แต่น้อย) ก็เป็นเพราะผู้สร้างบทสามารถนำเอาความขัดแย้งในระดับต่าง ๆ มาทำให้เป็นแก่นของละครที่น่าตื่นเต้นได้  ความขัดแย้งเป็นไปทั้งในระดับของค่านิยม อุดมการณ์ และผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคล  ถ้าภาพของ “พระเอก” มิได้ออกมาเป็นภาพของผู้ยิ่งใหญ่ในความหมายธรรมดาสามัญ เราก็คงจะต้องยอมรับความจริงว่า ละครเรื่องนี้ชี้ประเด็นที่อยู่เหนือความสำเร็จหรือความล้มเหลวในทางโลกในระดับบุคคล 

คือผู้อภิวัฒน์ จึงมิใช่ละครที่นำเอาชีวประวัติของบุคคลหนึ่งมาขยายเป็นภาพที่ทาบได้กับความยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์ชาติไทย ละครเรื่องนี้ให้สัจธรรมที่บ่งบอกไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่มีบุคคลใดที่สามารถกำหนดชะตากรรมของส่วนรวมให้เป็นไปได้ดังที่เขาต้องการ เพราะแม้แต่มันสมองอันปราดเปรื่อง ความตั้งใจดี ความตั้งใจจริง และความจริงใจก็มิอาจเป็นตัวกำกับกระแสของประวัติศาสตร์ได้ เราอาจจะต้องยอมรับความพ่ายแพ้อันแสนปวดร้าวด้วยอุเบกขา และรำลึกถึงคำกล่าวของกาลิเลโอในละครอันเลื่องชื่อของแบร์ทอลท์ เบรคชท์ที่ว่า “บ้านเมืองจะอับจน  ถ้าเรียกร้องให้มีวีรบุรุษ”

ขอให้เรามีละครแห่งความคิดที่เข้มข้นเช่น คือผู้อภิวัฒน์ ดูกันต่อไปอีกนาน ๆ เถิด

 

ที่มา: เจตนา นาควัชระ. “คือผู้อภิวัฒน์…ทางอันแจ่มใสของละครเวทีไทย” ถนนหนังสือ. ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (สิงหาคม 2530). ซึ่งคัดมาจาก http://www.arts.su.ac.th/thaicritic/?p=251

 

-------------------------------------------------------------

 

ในวาระ 120 ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ สาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเสนอ “คือผู้อภิวัฒน์”  บทโดย คำรณ คุณะดิลก และพระจันทร์เสี้ยวการละคร กำกับการแสดงโดย สินีนาฏ เกษประไพ  แสดงโดย นักศึกษาสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จัดแสดงที่โรงละคอนแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat Playhouse) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

รอบการแสดง

  • 30 ตุลาคม 19:30 น.
  • 31  ตุลาคม 14:00 / 19:30 น.
  • 1 พฤศจิกายน  14:00 / 19:30 น.
  • 5 พฤศจิกายน 19:30
  • 6 พฤศจิกายน 19:30
  • 7 พฤศจิกายน 14:00 / 19:30 น.
  • 8 พฤศจิกายน 14:00 / 19:30 น.

รับชมฟรีทุกรอบการแสดง ! จองบัตรได้แล้วทาง www.ticketmelon.com