ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บันทึกรำลึก…อาจารย์ปรีดีฯ

16
พฤษภาคม
2564

ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะชวนให้ข้าพเจ้ารำลึกถึง ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ที่มีความสำคัญมากที่สุดคนหนึ่งของโลก ข้าพเจ้าได้เรียนรู้เกี่ยวกับ “อาจารย์ปรีดี พนมยงค์” ตั้งแต่สมัยยังเรียนชั้นมัธยมปลาย และการได้ชมละครเวทีเรื่อง “คือผู้อภิวัฒน์” เมื่อปี 2538 ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ นั้น สร้างความประทับใจให้กับข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งนำไปสู่การทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับละครภาคประชาชน โดยวิจัยเกี่ยวกับผลงานของกลุ่มละครพระจันทร์เสี้ยว (ชุดดั้งเดิม) นำโดย คำรณ คุณะดิลก

ในช่วงเวลาที่ศึกษาต่อด้านปริญญาเอกนั้น ข้าพเจ้ามีโอกาสได้อ่านหนังสือต่างๆ หลากหลายแขนง รวมทั้งผลงานตีพิมพ์ของอ.ปรีดีหลายเล่ม หนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อ “ความเป็นอนิจจังของสังคม” ตีพิมพ์ในวาระ 100 ปีแห่งชาตกาลของท่าน ได้เปิดประตูความเข้าใจที่ลึกซึ้งที่อาจารย์ปรีดีฯ มีต่อแนวคิดเชิงทฤษฎีอันว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เป็นไปตามกฎแห่งการวิวัฒน์ของสิ่งต่างๆ 

 

 

งานเขียนเล่มนี้ ผู้อ่านสามารถรู้สึกได้ถึงความสุขุม รอบคอบ ของการอธิบายที่มาที่ไปและเหตุผลประกอบไว้โดยสังเขป ลึกซึ้งและเรียบง่ายยิ่งนัก อาจารย์ปรีดีฯ พูดถึงสิ่งสำคัญ เช่น ธรรมชาติแห่งการวิวัฒน์ นับตั้งแต่สสารมาจนกระทั่งสังคมมนุษย์ ที่แม้จะมีพวกที่เหนี่ยวรั้งสังคมไม่ให้เดินไปข้างหน้า แต่ก็จะทำได้เพียงชั่วคราว ไม่อาจสู้แรงต้านจากพลังงานที่ขับเคลื่อนการวิวัฒน์ได้ ระบบการผลิตควบคุมจัดการกับชีวปัจจัยมีผลต่อมนุษย์เป็นอย่างมากในหลายๆ ด้าน รวมทั้งด้านการเมืองและระดับปัจเจกบุคคล

อาจารย์ปรีดีฯ ไล่เลียงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในสังคมทุกสังคม ที่มีขั้นตอนเริ่มมาจากสังคมทาส ศักดินา ธนานุภาพ ไปจนกระทั่งกลายเป็นเชิงสังคมนิยม โดยทุกสังคมนั้น เชื่อมโยงกับระบบการผลิตชีวปัจจัยด้วยกันทั้งสิ้น อาจารย์ได้กล่าวว่า “ระบบสังคมที่เปลี่ยนไปแล้วหลายทอดนั้น ย่อมก้าวเข้าสู่สังคมใหม่ที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นเสมอ มิใช่ถอยหลังสู่ระบบล้าหลัง เว้นแต่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่มีสิ่งบังตา (…) ทั้งนี้ ก็เพราะกฎธรรมชาตินั้น สิ่งทั้งหลาย ย่อมพัฒนาจากปริมาณสู่คุณภาพที่ดียิ่งขึ้นเสมอ”

อาจารย์ยังได้อธิบายเพิ่มเติมถึง “วิถีอภิวัฒน์” ที่เป็นการเปลี่ยนทางคุณภาพที่มีความฉับพลัน รวมทั้งพูดถึง Theory of Knowlede, Epistemology, Empiricism โดยย่ออีกด้วย ข้าพเจ้าพบว่า อาจารย์ปรีดีฯ สามารถผสานความรู้และทฤษฎีของตะวันตก ให้สามารถเชื่อมโยงกับแก่นธรรมของ “กฎแห่งอนิจจัง” ได้อย่างราบรื่น

หนังสืออีกเล่ม ที่ทำให้ข้าาพเจ้าต้องหลั่งน้ำตา ทั้งๆ ที่เป็นงานเขียนเชิงวิชาการ ซึ่งรวบรวมข้อเขียน จดหมาย เอกสารราชการ ภาพถ่าย และบันทึกต่างๆ ของอาจารย์ปรีดีฯ เป็นภาษาอังกฤษ คือ Pridi by Pridi นั้น ทำให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจวิธีคิดของอาจารย์ต่อเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากมุมมองที่หนังสือเรียนไม่เคยมีให้อ่าน 

 

อ่าน: PRIDI BY PRIDI
อ่าน: PRIDI BY PRIDI

 

ข้าพเจ้าเห็นว่า หนังสือทั้งสองเล่มนี้ น่าจะเป็นหนังสือที่คนไทยควรมีโอกาสได้อ่าน เพื่อจะได้เข้าใจในความรักและปรารถนาดีของอาจารย์ปรีดีฯ ที่มีต่อประชาชนและประเทศชาติตราบจนวันสุดท้ายในชีวิตของอาจารย์

ขอบคุณ website pridi.or.th ที่ได้รวบรวมผลงาน , งานเขียน และ E-Book ของอาจารย์ปรีดีฯ ไว้ให้สังคมไทยได้รู้จัก

เขียนไว้เมื่อ 11 พ.ค. วันปรีดี พนมยงค์ 2564
ในวันที่โลกทั้งโลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงแห่งศตวรรษ

 

สั่งซื้อหนังสือ ความเป็นอนิจจังของสังคม ได้ที่: https://shop.pridi.or.th/th/product/731436/product-731436