เนื่องในวาระครบรอบ 120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ สาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดแสดง ละคอนเวทีประจำปี 2563 ขึ้น ในเรื่อง คือผู้อภิวัฒน์ บทประพันธ์โดย คำรณ คุณะดิลก โดยการกำกับของ สินีนาฏ เกษประไพ ซึ่งทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ นำโดย นายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์ รศ.ดร.ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์ กรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ กรรมการกลางและเลขานุการ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้เข้าร่วมรับชมการแสดงละคอน คือผู้อภิวัฒน์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ณ โรงละคอนแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
โดยในรอบที่เข้าเยี่ยมชม หลังจบการแสดงมีช่วงเสวนา นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีเสวนา
"ประวัติศาสตร์อาจมีในหลายด้าน
แต่คนที่ทำงานไม่เคยจะเอ่ยออกนาม
คนที่แบกหามลุยน้ำลุยโคลน คนที่สรรสร้าง
จากป่าเป็นเมือง รุ่งเรืองดังเพียงเวียงวัง
ด้วยเลือดด้วยเนื้อของคนทำทาง
ถางทางตั้งต้นให้คนต่อไป"
เสียงของบทเพลง "คนทำทาง" อื้ออึงออกมาจากกลุ่มของนักแสดง ที่ค่อย ๆ เดินเยื้องย่างก้าวออกมาจากด้านข้างของเวที นักแสดงในเครื่องแต่งกายสีดำ ปรากฏกายขึ้นทีละคน แสงไฟของเวทีส่องฉาย ขับเน้นนักแสดงที่บัดนี้ต่างกล่าวด้วยถ้อยคำตามบทบาทของบุคคลในหน้าประวัติศาสตร์ บุคคลผู้ที่เคยมีลมหายใจต่อสู้ วางแผน และกระทำการอภิวัฒน์สยาม
ในย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 บุคคลที่เคยโลดแล่นอยู่บนแวดวงการเมือง การปกครองในโมงยามแห่งทางแพร่งของประวัติศาสตร์ไทย บุคคลผู้ประศาสตร์การตักศิลาแห่งปัญญาเพาะกล้าไม้ประชาธิปไตยให้เติบโตขึ้นงอกงามในแผ่นดิน บุคคลผู้ซึ่งมีลมหายใจอยู่เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งหลักประชาธิปไตยอันสมบูรณ์
บทละคอน คือผู้อภิวัฒน์ ได้รับการประพันธ์โดย คำรณ คุณะดิลก ในปี พ.ศ. 2530 ท่ามกลาง บริบทของการริเริ่มฟื้นฟูเกียรติและศักดิ์ศรีของปรีดี พนมยงค์ และได้รับการยกย่องให้เป็น “แสงสว่างนำทางให้แก่ละครเวทีร่วมสมัยของไทย”[1] ด้วยการเป็นละคอนเวทีไทยที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นผ่านการศึกษา ค้นคว้าข้อมูลจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ผ่านอัตชีวประวัติของนายปรีดี พนมยงค์ แกนนำคณะราษฎร ผู้กระทำการอภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
“ข้าพเจ้าเป็นนักกฎหมาย
ข้าพเจ้าต้องการทำลายความอยุติธรรม
ข้าพเจ้าไม่เคยคิดเลยที่จะทำลายมนุษย์”
นอกจากนั้น ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะของการเป็นมันสมองของการอภิวัฒน์สยาม ยังได้สถาปนา “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” (ม.ธ.ก.) ขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 และได้รับแต่งตั้งเป็น “ผู้ประศาสน์การ” ตั้งแต่ พ.ศ. 2477-2495 คนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน เกิดขึ้นในฐานะที่เป็นผลผลิตของ “การอภิวัฒน์สยาม” หรือการเปลี่ยนแแลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยโดย คณะราษฎร ที่ปรีดีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ดังเห็นได้จากหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งก็คือ
- หลักเอกราช จะรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางการศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง
- หลักความปลอดภัย จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก และสร้างความสามัคคีของคนในชาติ
- หลักเศรษฐกิจ จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงสร้างเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
- หลักเสมอภาค จะให้ราษฎรมีสิทธิเสมอกัน ไม่ให้ผู้ใดมีสิทธิเหนือผู้อืน
- หลักเสรีภาพ จะให้ราษฎรมีอิสระที่จะใช้สิทธิ ผู้ใดจะบังคับมิได้
- หลักการศึกษา จะให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างทั่วถึง
"ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า
ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว
และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้
เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลา
ที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที
ท่านคิดทำลายปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที
ท่านคิดทำลายปีศาจตัวนี้ใน คืนวันนี้
ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้แต่ไม่มีทางเป็นไปได้
เพราะเขาอยู่ยงคงกระพันยิ่งกว่าเทพเจ้า
เพราะเขาอยู่ในเกราะกำลังแห่งกาลเวลา
ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว
แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป
โลกของเราเป็นคนละโลก โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน"
-สาย สีมา
สตรีชั้นสูงปรากฏกายด้วยอาภรณ์ล้ำค่า ปรากฏกายในฉากงานเลี้ยงอันโอ่อ่า ท่านเจ้าคุณเปิดบ้านต้อนรับสายสีมา ชายหนุ่มลูกชาวนา ผู้ถูกเชิญมาเพื่อจะเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยขนบธรรมเนียม และจารีตของกรอบอนุรักษ์นิยม ฉากสำคัญในวรรณกรรมเรื่อง ปีศาจ ที่ติดตราตรึงใจ นักอ่าน ถูกนำมาใช้เป็นฉากสำคัญฉากหนึ่งที่ละคอนคือผู้อภิวัฒน์ ใช้อธิบาย เป็นภาพสะท้อน ตัวแทนความอยุติธรรม การต่อสู้ทางความคิดของอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมที่กำลังถูกคลื่นของกาลเวลาพัดผ่าน ความชาญฉลาดของบทละคอน คือผู้อภิวัฒน์ คือ การเลือกใช้ฉากของวรรณกรรมที่โด่งดัง มาแสดงสลับกับการดำเนินเรื่องตามลำดับเวลาในเส้นเรื่องประวัติศาสตร์ของอัตชีวประวัติปรีดี พนมยงค์ สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ทางความคิด อุดมการณ์ ที่ไม่เพียงแต่ดำรงอยู่ในมิติทางการเมือง หากแต่คุกรุ่นอยู่ภายในพื้นที่ของศิลปะทุกแขนง ซึ่งละคอนคือผู้อภิวัฒน์ ได้หยิบเอาวรรณกรรมร่วมสมัยมาใช้ประกอบการแสดง สร้างบทสนทนาร่วมไปกับตัวละคอนในวรรณกรรม เช่นฉากการสนทนาระหว่างปรีดี กับแม่พลอย ตัวละคอนเอก ตัวหนึ่งในวรรณกรรม สี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต่อความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์บ้านเมือง ส่งผลให้ละคอน คือผู้อภิวัฒน์ กลายสภาพเป็นงานศิลปะที่พยายามสร้างบทสนทนาทางความคิดให้เกิดขึ้นทั้งต่อมิติทางประวัติศาสตร์การเมือง และในแง่มุมของการตั้งคำถามต่องานศิลปะที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนอุดมการณ์ทางการเมืองไปในเวลาเดียวกัน
ระหว่างที่บทบาทของตัวละคอนกำลังดำเนินไปอย่างออกรส นักแสดงไม่ได้รับหน้าที่เฉพาะตัวละคอนใดตัวละคอนหนึ่ง หากแต่ใช้กลเม็ดในการดำเนินเรื่องแบบผลัดเปลี่ยนสลับหน้าที่ตลอดการแสดง ซึ่งจุดเด่นอีกประการที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการนำฉากทางลาดสีดำมาใช้เป็นฉากประกอบการแสดงบนเวที ที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญต่อการช่วยส่งให้บทละคอน มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งใน ละคอน คือผู้อภิวัฒน์ ครั้งนี้ นอกเหนือไปจากบทประพันธ์ที่ผู้กำกับ คุณสินีนาฏ เกษประไพ ได้ยังคงเคารพรูปแบบของฉาก และทางลาดเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ หรือแม้แต่ฉาก รีรีข้าวสาร ซึ่งผู้ประพันธ์ได้ใส่เอาไว้เพื่อนำเสนอถึงวังวนความฉ้อฉลของเผด็จการทหารที่คอยฉุดรั้งหนทางไปสู่หลักประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ของชาติ ได้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านการละเล่นแบบไทยๆ เป็นการใช้แง่มุมการนำเสนอที่หลักแหลม และคมคายอย่างยิ่ง
ละคอน คือผู้อภิวัฒน์ ถูกนำมาจัดแสดงแล้ว 6 ครั้ง พ.ศ. 2530 (2 ครั้ง) พ.ศ. 2538 (1 ครั้ง) พ.ศ. 2542 (1 ครั้ง) พ.ศ. 2543 (2 ครั้ง) และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 ซึ่งว่างเว้นจากครั้งสุดท้ายที่ัจัดแสดงไปถึง 20 ปี อย่างไรก็ตาม การกลับมาอีกครั้งของละคอน คือผู้อภิวัฒน์ ในช่วงเวลาที่ความสนใจต่อประวัติศาสตร์การเมือง ในช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กำลังอยู่ในกระแสของสังคม ท่ามกลางช่วงเวลาที่คุณค่าซึ่งผูกพันกับอุดมการณ์แบบอำนาจนิยมเริ่มถูกตั้งคำถามในทุกปริมณฑลของชีวิต แต่ละคอน คือผู้อภิวัฒน์ กลับยังคงดำรงสถานะของนาฏกรรมที่ไร้กาลเวลา นาฏกรรมที่คอยสร้างปรากฏการณ์
การเป็นบทสนทนาให้แก่เหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยเสมอมา เพราะละคอน คือ ผู้อภิวัฒน์ ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องราวจำเพาะ เฉพาะบุคคลสำคัญประกอบเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่การดำรงอยู่ของ คือผู้อภิวัฒน์ คือ การดำรงอยู่ของคุณค่าเชิงอุดมการณ์ ของหลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ที่แม้ว่า บทละคอนจะถูกประพันธ์มายาวนานกว่า 33 ปีแล้ว แต่บทสนทนาต่ออุดมการณ์ดังกล่าวยังคงถูกกู่ก้อง เปล่งเสียงร้อง ต่อสู้ในทุกนาฏกรรม ไม่ว่าจะเป็นบนเวทีของโรงมหรสพ ในรัฐสภา หรือแม้กระทั่งบนท้องถนน! ดังนั้น หากมีโอกาสผมขอเรียนเชิญทุกท่านเข้าร่วมชมละคอน คือผู้อภิวัฒน์ นะครับ โดยยังคงมีรอบการแสดง
- วันที่ 5 พฤศจิกายน รอบ 19:30 น.
- วันที่ 6 พฤศจิกายน รอบ 19:30 น.
- วันที่ 7 พฤศจิกายน 14:00 / 19:30 น.
- วันที่ 8 พฤศจิกายน 14:00 / 19:30 น.
ณ โรงละคอนแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ซึ่งทางผู้จัดได้แจ้งว่าช่องทางจองออนไลน์เต็มหมดแล้ว แต่สามารถ Walk-in ที่หน้างานได้ครับ
ขอให้กาลเวลาเป็นเกราะกำบังลมหายใจแห่งเสรีภาพตลอดไป
- คือผู้อภิวัฒน์
- ปรีดี พนมยงค์
- วรรณกรรมราษฎร
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คำรณ คุณะดิลก
- สินีนาฏ เกษประไพ
- ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์
- สถาบันปรีดี พนมยงค์
- อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ
- เจตนา นาควัชระ
- ชาตรี ประกิตนนทการ
- ผู้ประศาสน์การ
- การอภิวัฒน์สยาม
- หลัก 6 ประการ
- คณะราษฎร
- โรงละคอนแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์
- กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา