ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

คือผู้อภิวัฒน์ ละคอนเวที และพื้นที่ศิลปะเชิงสังคม

6
มีนาคม
2564

เหตุผลที่มีการหยิบยกละครเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์นะครับ โดยมีการจัดแสดงในวันที่ 30 ตุลาคม - 8 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 12 รอบ 

 

คือผู้อภิวัฒน์ ละคอนเวที และพื้นที่ศิลปะเชิงสังคม

 

ในช่วงปี 2563 เป็นปีที่ครบรอบ 120 ปีชาตกาล อ.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งสาขาวิชาการละคอนเองก็อยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองที่ซึ่งอ.ปรีดี พนมยงค์เป็นผู้ประศาสน์การ เราเองก็อยากทำละครในวาระนี้ด้วย รวมทั้งบริบททางการเมืองที่เราควรพูดถึงการทวงถามถึงประชาธิปไตย ซึ่งละครเรื่องนี้จัดแสดงครั้งแรกในปี 2530 ที่หอประชุมเล็ก มหาิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ โดยสภานักศึกษา ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่เข้ามหาวิทยาลัย ยังไม่ได้ศึกษาเรื่องการละคร

“คือผู้อภิวัฒน์” ถูกเขียนบทและกำกับการแสดงโดยอาจารย์คำรณ คุณะดิลก ซึ่งเป็นศิษย์เก่าคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงเป็นอาจารย์สอนการละครอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ช่วงหนึ่ง และไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสอยู่ช่วงหนึ่งในฐานะนักละคร เมื่อกลับมาก็มาจัดทำเรื่องนี้ โดยละคร “คือผู้อภิวัฒน์” นี้ได้ถูกจัดแสดงขึ้นอีกหลายครั้งในนามพระจันทร์เสี้ยวการละคร ตั้งแต่ยังเป็นในนามชมรมพระจันทร์เสี้ยวในอดีตจนกลายมาเป็นพระจันทร์เสี้ยวการละคร ที่รวมตัวกันในการจัดแสดงละครคือผู้อภิวัฒน์นี้เอง

 

คือผู้อภิวัฒน์ ละคอนเวที และพื้นที่ศิลปะเชิงสังคม

 

อิมแพคของการจัดแสดงละครเรื่องนี้ครั้งแรกในปี 2530 อาจารย์เจตนา นาควัชระ ซึ่งเป็นนักวิจารณ์ด้านศิลปะการละคร ได้เคยเขียนถึงละครเรื่องนี้เมื่อจัดแสดงครั้งแรกว่า “เป็นทางอันแจ่มใสของการละครไทย” เนื่องจากเป็นละครฟอร์มเล็ก แต่มีประเด็นที่ค่อนข้างหนักแน่น

อาจารย์สุลักษณ์เองได้เคยพาละครเรื่องนี้ไปจัดแสดงที่ต่างประเทศที่ทวีปยุโรปและอเมริกา เคยพาไปจัดแสดงที่งาน Thai Studies Conference ที่ Amsterdam ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าการจัดแสดงละครเรื่องนี้นั้นเกี่ยวข้องกับอาจารย์ปรีดีโดยตรง ด้วยเหตุผลที่ว่า 1) เป็นเรื่องราวของอาจารย์ปรีดี  2) การจัดแสดงครั้งล่าสุดก่อนที่ผมจะนำมาจัดทำนี้ ได้จัดแสดงขึ้นที่หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยพระจันทร์เสี้ยวการละคร กำกับการแสดงโดย สินีนาฏ เกษประไพ 

 

คือผู้อภิวัฒน์ ละคอนเวที และพื้นที่ศิลปะเชิงสังคม

 

การจัดแสดงครั้งนี้ ผมเป็นผู้อำนวยการผลิตในฐานะคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการจัดแสดงครั้งนี้เราก็ได้เชิญคุณสินีนาฏ เกษประไพมาร่วมกำกับอีกเช่นเคย คุณสินีนาฏเองเป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นอาจารย์พิเศษที่สาขาวิชาการละครอยู่แล้ว ซึ่งในการแสดงครั้งนี้ นักแสดงทุกคนจะสวมเครื่องแต่งกายสีดำหมด มีอุปกรณ์เพิ่มเติมในบางฉากเท่านั้นที่ต้องเมื่อเล่นเป็นตัวละครอื่นๆ มีเพียงนักแสดงที่เล่นเป็นอาจารย์ปรีดีที่จะสวมชุดขาวๆ เทาๆ และใช้เพียงแท่นไม้ 3-4 แท่นตั้งอยู่บนพื้นเท่านั้น

เมื่อ 30 ปีกว่าปีก่อน อาจารย์สุลักษณ์เองยังกล่าวให้ฟังว่า ‘อาจารย์ปรีดีถูกทำให้หายไปจากประวัติศาสตร์ไทยมาเนิ่นนาน’ แม้กระทั่งอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริเอง ยังเล่าให้ฟังว่า ‘เมื่อเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังไม่ทราบเลยว่า ใครเป็นผู้ประศาสน์การหรือใครเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ แสดงว่าอาจารย์ปรีดีถูกทำให้หายไปเป็นระยะเวลายาวนานมาก โดยในห้วงเวลานั้น เมื่อจัดแสดงละครครั้งแรกนั้นยังคงเป็นช่วงเริ่มต้นการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอาจารย์ปรีดี และคณะราษฎร อย่างเช่นที่ อาจารย์จอบ วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​ ได้เคยแปรอักษรถึงอาจารย์ปรีดี ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 39 ปี พ.ศ. 2526 ว่า

 

“พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน
พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี
พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี
แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ”

 

โดยเหตุการณ์เหล่านี้ได้เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของกระบวนการที่นำประวัติศาสตร์อาจารย์ปรีดีและคณะราษฎรกลับมาพูดถึงอีกครั้งหนึ่งในช่วงเวลาสามสิบกว่าปีก่อน

สำหรับผมแล้ว ในปี 2563 นี้ สังคมไทย ทุกคนรู้จักอาจารย์ปรีดีแล้วซึ่งต่างจากเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว ละครเรื่องนี้ในฐานะที่เป็นหนึ่งเสียงในการถามถึงประชาธิปไตยที่หายไปจากสังคมไทยอย่างที่ผมได้ตั้งใจไว้แล้ว

ตอนที่เราได้ริเริ่มจะจัดทำละครเรื่องนี้เมื่อปลายปี 2563 นั้น คำว่า “คณะราษฎร 2563” นั้นยังไม่เกิดขึ้น จนกระทั่งในระหว่างที่เรากำลังจัดทำก็มีปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของ คณะราษฎร 2563 อย่างที่เห็น ซึ่งเป็นการประจวบเหมาะอย่างพอเหมาะพอดี ที่คณะราษฎร 2475 ได้มาปรากฏตัวในละคร “คือผู้อภิวัฒน์” เรื่องนี้ ในขณะที่ คณะราษฎร 2563 ก็ได้ปรากฏตัวขึ้นเช่นกัน

 

คือผู้อภิวัฒน์ ละคอนเวที และพื้นที่ศิลปะเชิงสังคม

 

จะเห็นได้ว่าในฉาก ย่ำรุ่งของเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น เราได้มีการฉายภาพหมุดคณะราษฎร ซึ่งผู้ชมและท่านๆ ก็บอกว่าละครเรื่องนั้นมาถูกกาลและเวลามากๆ ในขณะที่ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยกำลังดำเนินไป คณะราษฎรชุดใหม่กำลังเกิดขึ้น ละครเรื่องนี้ที่เป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยก็ได้ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งเรื่องราวของคณะราษฎรและอาจารย์ปรีดีก็ได้ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งในบริบทนี้พอดี

ในการจัดแสดงละครทุกรอบนั้น เราจะมีการเสวนาในช่วงท้ายโดยมีการเชิญนักสังคมศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม หลายๆ ท่าน เช่น อ.อนุสรณ์ อุณโณ, อ.ชาตรี ประกิตนนทการ, อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ เพื่อพยายามที่ให้นักสังคมศาสตร์เหล่านี้มองภาพว่าละครได้ทำหน้าที่ของมันอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าเป็นการยกระดับงานศิลปะหรือการละครให้เชื่อมโยงกับประเด็นหรือบริบททางสังคมด้วย

ในแง่หนึ่งศิลปะโดยตัวมันเองก็เป็นพื้นที่ที่จะนำเสนอเรื่องราวหรือประเด็นทางสังคมได้ รวมทั้งพื้นที่ทางกายภาพเองก็จำเป็น อย่างโรงละครแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมก็ตั้งใจปักหมุดให้เป็นพื้นที่ว่าด้วยการใช้ศิลปะโดยเฉพาะด้านการละคร เพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม

ในเรื่องความเชื่อมโยงกับปัจจุบันนั้น การจัดแสดงครั้งนี้มีผู้เข้าชมเต็มทุกรอบ สิ่งหนึ่งที่ผมอยากทราบมุมมองของผู้รับชมในปัจจุบันว่า “เขามองเห็นความเชื่อมโยงของละครเรื่องนี้กับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร” และแน่นอนว่า คำตอบแทบจะตอบว่ามองเห็นถึงการเชื่อมโยงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อันเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยกับขบวนการการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2563

นักศึกษาส่วนมากก็จะสามารถเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ในช่วงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กับสถานการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยในปัจจุบันได้มากขึ้น รวมทั้งนักศึกษาส่วนมากเองก็อยากมีส่วนร่วมในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในห้วงเวลาเช่นกัน แต่ก็มีสิ่งที่น่าสังเกตเช่นกัน อย่างเช่น มีผู้ปกครองบางท่านนั้นตอบว่ามีความกังวล เนื่องจากละครเรื่องนี้นั้นมีเนื้อหาพูดถึงการเมือง มีบทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งความกังวลนี้มีความน่าสนใจที่ทำให้เห็นว่าละครนี้ได้ทำหน้าที่ของมันอยู่ ที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเกิดความกังวล

เรื่องสถาบันการศึกษาเอง ผมก็อยากให้โรงละครแห่งนี้เป็นพื้นที่ศิลปะในทางสังคมด้วย และว่าด้วยพื้นที่สถาบันปรีดี พนมยงค์เอง ที่เป็นพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอดก่อนที่จะปิดซ่อมแซม เป็นที่ตั้งของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร กลุ่ม B-Floor รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่ให้กลุ่มละครต่างๆ ได้มาใช้เพื่อสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะ และไม่ได้เป็นแค่เพียงพื้นที่จัดแสดงเท่านั้น แต่ยังเป็นชุมชนของชาวละครด้วย สำหรับพวกเราที่เป็นนักละครเอง อย่างเช่นในโอกาส 40 ปี 6 ตุลาฯ ที่ได้จัดแสดงละครเรื่อง “รื้อ” ที่กล่าวถึงนายพลปิโนเชต์ ทำรัฐประหารและการทำความรุนแรงต่อผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตย เราทำ Workshop ทำ Learning Process ด้วยกันที่นี่ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนสนทนากันหลังจัดแสดงละครจบ

สุดท้ายนี้ ผมขอทิ้งท้ายไว้ว่าอยากเห็นสถาบันปรีดี พนมยงค์ กลับมามีบทบาทอีกครั้งในฐานะพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรม ในมิติทางสังคมและการเมืองแบบอย่างที่เคยเป็นมาในอดีตด้วยครับ

 

ที่มา: เรียบเรียงจากกิจกรรมเสวนาออนไลน์ PRIDI Live : Soft Power บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา โดยมีอาจารย์วิโรจน์ อาลี เป็นผู้ดำเนินรายการ