ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

วิกฤตโควิด กับวังวนของปัญหาเศรษฐกิจและสังคมไทย

11
มกราคม
2564

ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือที่รู้จักกันในชื่อ โควิด-19 (Covid-19) ระบาดไปทั่วทุกมุมโลก นับเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหม่ที่ท้าทายการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผลกระทบในทางเศรษฐกิจและสังคมที่ตามมาทั่วโลก รวมทั้งในประเทศ ไทย ซึ่งได้สร้างผลกระทบครั้งใหม่แบบที่ไม่ได้ประสบมาตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 

การระบาดของโรคอุบัติใหม่ในครั้งนี้ไม่เพียงสร้างปัญหาใหม่ แต่ยังได้เร่งรัดให้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมซึ่งมีอยู่เดิมในสังคมไทยบางประการให้แสดงอาการออกมา และรุนแรงเกินกว่าจะรับมือได้ในช่วงวิกฤต ในบทความนี้ขอพาทุกท่านสำรวจเศรษฐกิจและสังคมไทยในวังวนของโควิด-19

ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในวังวนของโควิด-19

ในปี 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ผ่านมาตราการทางสาธารณสุขที่เข้มงวดต่างๆ ซึ่งต้องยกความดีความชอบนี้ให้กับบุคลากรสาธารณสุขของประเทศ ที่ได้ช่วยให้สถานการณ์การระบาดคลี่คลายลงได้อย่างรวดเร็ว  

อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาสถานการณ์การระบาดรัฐบาลได้เลือกใช้มาตรการที่รุนแรงโดยล็อคดาวน์ (Lock down) ประเทศ จำกัดการเข้าออกของคนต่างชาติ (ซึ่งรวมถึงประชาชนชาวไทยที่พำนักอาศัยอยู่ในต่างประเทศ) เพื่อลดความเสี่ยงของการระบาดในประเทศ ผลจากมาตรการดังกล่าวทำให้ภาคการท่องเที่ยวมีรายได้ลดลงร้อยละ 12 เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2562[1] หากเปรียบเทียบรายได้จากนักท่องเที่ยวในปี 2562 กับปี 2563 จะเห็นได้ว่า รายได้ดังกล่าวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (ภาพที่ 1) ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวนั้นมีความสำคัญ โดยคิดเป็นร้อยละ 20 ของรายได้ประชาชาติ และเป็นร้อยละ 20 ของรายได้ครัวเรือน[2]  ดังนั้น ความสำคัญของการท่องเที่ยวจึงอยู่ในฐานะแหล่งรายได้หลักของประเทศ เปรียบได้กับเป็นหนึ่งในสามเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

 

ภาพ 1 แสดงรายได้นักท่องเที่ยวไทยเดือนมกราคม - กันยายน 2563 ที่มา: รายงานสถานการณ์การท่องเที่ยวเดือนกันยายน 2563, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.
ภาพ 1 แสดงรายได้นักท่องเที่ยวไทยเดือนมกราคม - กันยายน 2563
ที่มา: รายงานสถานการณ์การท่องเที่ยวเดือนกันยายน 2563, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.

 

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยคงยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ แม้ว่ารัฐบาลจะได้พยายามกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวด้วยนโยบายต่างๆ แต่เนื่องจากการท่องเที่ยวของประเทศไทยผูกติดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ  ฉะนั้น ตราบใดที่การเข้ามาของนักท่องเที่ยวยังคงถูกจำกัดอยู่ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวย่อมเกิดขึ้นได้ยาก

สำหรับในด้านการส่งออกของประเทศในปีที่แล้ว แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสจนเป็นที่น่าพึงพอใจแล้วก็ตาม แต่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกเป็นวงกว้าง จำนวนผู้ป่วยทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าในต่างประเทศยังไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศไทย มูลค่าการส่งออกของประเทศไทยในเดือนมิถุนายนติดลบร้อยละ 23[3] แม้ในช่วงหลังเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา สถานการณ์การส่งออกจะดีขึ้นและการส่งออกติดลบน้อยลง แต่อุตสาหกรรมอาจจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออกนั้น ส่งผลโดยตรงต่อตลาดแรงงานของประเทศ กิจการจำนวนมากในประเทศต้องปิดลง เนื่องจากลดจำนวนพนักงานลง หรือจำกัดชั่วโมงการทำงาน ทำให้มีคนตกงานในระดับ 5–6 ล้านคน 

ถึงแม้ในช่วงหลังเดือนมิถุนายน สถานการณ์การระบาดจะดีขึ้นและสามารถควบคุมได้ แต่ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังคงได้รับผลกระทบอยู่ เนื่องจากรัฐบาลยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาได้ ผลกระทบในทางเศรษฐกิจนี้ยังดำเนินต่อไป[4]  และในช่วงปลายปีที่มีการระบาดครั้งใหม่ ซึ่งอาจจะซ้ำเติมสภาวะที่เผชิญอยู่ได้  

ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมนั้นมีอย่างรุนแรง รายได้ประชาชาติในปี 2563 คาดว่าจะหดตัวลงใกล้ร้อยละ 10 ทั้งที่มีการเยียวยาจากรัฐบาลจำนวนมาก[5] จากการศึกษาของ ดร.สมชัย จิตสุชน แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า ผลกระทบต่อรายได้ของกลุ่มบุคคลแยกตามระดับการศึกษา โดยเป็นผลการสำรวจออนไลน์โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ดังแสดงตามภาพที่ 2

 

ภาพที่ 2 ผลกระทบต่อรายได้ของโควิด-19 แยกตามระดับการศึกษา ที่มา: ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย: เปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาส, รายงานทีดีอาร์ไอ ฉบับที่ 168 กันยายน 2563.
ภาพที่ 2 ผลกระทบต่อรายได้ของโควิด-19 แยกตามระดับการศึกษา
ที่มา: ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย: เปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาส, รายงานทีดีอาร์ไอ ฉบับที่ 168 กันยายน 2563.

 

นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในข้างต้นแล้ว โควิด-19 ยังได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านอื่น ๆ อีก และยังได้สร้างผลกระทบในทางสังคมในหลายประการด้วย ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและสังคมไทยนั้นมีสาเหตุมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมดั้งเดิมของประเทศไทย วิกฤตโควิด-19 นี้เป็นเพียงตัวเร่งให้ปัญหานั้นปรากฏขึ้น

เมื่อโควิด-19 มา ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยก็ผุด

ดร.บัณฑิต นิจถาวร ได้กล่าวถึงความอ่อนแอของสังคมไทย ก่อนหน้าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเมื่อเกิดการระบาดขึ้นมา บรรดาปัญหาทั้งหลายนั้นก็ได้ปรากฏขึ้นมาและรุนแรง ประหนึ่งเมื่อน้ำลดตอก็ผุด  ความอ่อนแอของสังคมไทยนั้นมีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ประสิทธิภาพและความสามารถของระบบราชการ และช่องว่างระหว่างสิ่งที่ภาคเอกชนควรทำ แต่ไม่ได้ทำ[6]

ประการแรก ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจภายในประเทศ แม้ว่าประเทศไทยจะมีอัตราความเหลื่อมล้ำลดลง เมื่อพิจารณาจากเกณฑ์ด้านรายได้และรายจ่าย แต่รายได้และรายจ่ายไม่ใช่เกณฑ์เดียวเท่านั้นที่ใช้ในการพิจารณาความเหลื่อมล้ำ  ในทางตรงกันข้ามการพิจารณาความเหลื่อมล้ำ ควรพิจารณาจากการกระจายตัวของความมั่งคั่งหรือการถือครองทรัพย์สิน ซึ่งหากพิจารณาจากเกณฑ์นี้ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งอยู่ในกลุ่มที่สูงสุดในโลก[7]

นอกจากนี้ สังคมไทยยังเป็นสังคมที่ให้โอกาสการพัฒนาชีวิตของคนที่แตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะระหว่างคนจน/คนชั้นกลางระดับร่าง และคนชั้นกลางระดับสูง/คนรวย[8] เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อไวรัส ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจึงแสดงออกมาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม  ภาพของผู้ปกครองจะต้องจัดหาเครื่องมือเพื่อให้บุตรหลานเข้าถึงการเรียนการสอนทางออนไลน์ หรือภาพของคนไร้บ้านที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีเนื่องจากฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ หรือภาพที่เป็นรูปธรรมที่สุด คือ การที่ประชาชนของประเทศจากทั้งหมดประมาณ 67 ล้านคน มีประชาชนถึง 40 ล้านคน ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ[9]

ในขณะที่ประชาชนประสบกับภาวะว่างงานและรายได้ของครัวเรือนที่ลดลง ตรงกันข้าม รายจ่ายของครัวเรือนกลับเพิ่มขึ้น จากค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และรายจ่ายค่าไฟฟ้าที่เพิ่มจากการทำงานที่บ้าน  ในทางสังคม ระดับความเครียดและความกังวลที่เพิ่มสูงขึ้นมากจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยจากการสำรวจออนไลน์โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในวันที่ 27 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 (ภาพที่ 3) พบว่าเกือบร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อเช่นในช่วงต่ำสุดของวิกฤตจะสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่ลำบากมากจนเกินไปได้ไม่เกิน 3 เดือน

 

ภาพที่ 3 ระยะเวลาที่ดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่ลำบากเกินไป (ร้อยละของผู้ตอบแบบสอบถาม) ที่มา: ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย: เปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาส, รายงานทีดีอาร์ไอ ฉบับที่ 168 กันยายน 2563.
ภาพที่ 3 ระยะเวลาที่ดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่ลำบากเกินไป (ร้อยละของผู้ตอบแบบสอบถาม)
ที่มา: ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย: เปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาส, รายงานทีดีอาร์ไอ ฉบับที่ 168 กันยายน 2563.

 

ประการที่สอง ประสิทธิภาพและความสามารถของระบบราชการที่จะสนับสนุนการเติบโตและการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากระบบราชการของประเทศไทยนั้นยึดติดกับกฎเกณฑ์เป็นอย่างมาก  ทว่าเมื่อเกิดการระบาดเกิดขึ้น กฎเกณฑ์แบบเดิมไม่สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ เช่น การประชุมผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่เป็นที่ยอมรับตามกฎหมายไทย ทำให้รัฐบาลต้องตราพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ขึ้นมารับรองเป็นต้น นอกจากนี้ การขาดประสิทธิภาพและความสามารถของระบบราชการนั้นเกิดจากบรรดากฎเกณฑ์ทั้งหลายที่สร้างข้อจำกัดแก่การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนและยับยั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยนั้นหดตัวลงร้อยละ 7.8 (ภาพที่ 4) ซึ่งปัจจัยมาจากการพยายามควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกบ้านและการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากร้านค้าตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และผู้บริโภคไม่สามารถสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ได้ เพราะกฎหมายห้ามไว้ เป็นต้น

 

ภาพที่ 4 การเติบของอุตสาหกรรมสุราในประเทศไทย ที่มา: Euromonitor International, Passport Alcoholic Drinks in Thailand, Euromonitor International (August 2020).
ภาพที่ 4 การเติบของอุตสาหกรรมสุราในประเทศไทย
ที่มา: Euromonitor International, Passport Alcoholic Drinks in Thailand, Euromonitor International (August 2020).

 

ปัญหาอีกประการของระบบราชการ คือ  ระบบราชการนั้นพึ่งพาเอกสารและกระดาษมากเกินไป  เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อไวรัส ไม่ใช่เพียงเอกชนที่ได้รับผล กระทบ ส่วนราชการก็ต้องปรับตัวเช่นกัน ข้าราชการต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานโดยทำงานอยู่กับบ้าน แต่เนื่องจากวิถีการทำงานของข้าราชการที่ผ่านมา ทำงานบนเอกสารผ่านหนังสือราชการเป็นหลัก เมื่อต้องทำงานแยกกันตามบ้านพักของแต่ละคน การทำงานจึงดำเนินไปไม่สะดวก ทำให้หลายๆ กิจกรรมยังต้องติดต่อสื่อสารที่สำนักงานอยู่ และบางกิจกรรมไม่สามารถดำเนินต่อไปได้เลย

ประการที่สาม ช่องว่างระหว่างสิ่งที่ภาคเอกชนควรทำ แต่ไม่ได้ทำ กล่าวคือ การขยายตัวของธุรกิจในประเทศไทยกระทำผ่านการควบรวมซื้อกิจการที่ไม่ได้เป็นการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมใหม่  ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจึงมีกำลังการผลิตเท่าเดิม เพียงแต่เปลี่ยนเจ้าของเท่านั้น จึงไม่มีนวัตกรรมหรือสินค้าใหม่ๆ ที่จะแข่งขันกับตลาดโลกในอนาคตได้

สำหรับช่องว่างนี้ ดร.บัณฑิต นิจถาวร อธิบายว่า “เกิดจากระบบแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ที่เป็นผลจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมในประเทศไม่มีการพัฒนา ไม่มีนวัตกรรม ไม่มีการลงทุนใหม่ ไม่มีสินค้าใหม่ๆ ที่จะไปแข่งขันกับต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้ ขณะเดียวกันภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ ก็ได้รับการปกป้องในการทำธุรกิจในประเทศ จนทำให้การทำธุรกิจในประเทศมีการแข่งขันน้อย ธุรกิจขนาดใหญ่มีอิทธิพลมากจากสัดส่วนตลาดที่มีสูงและความใกล้ชิดกับผู้ทำนโยบาย สิ่งเหล่านี้ทำให้การแข่งขันที่มีน้อยเป็นข้อจำกัดต่อผู้ประกอบการรายใหม่ ธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจจากต่างประเทศ ผลคือไม่มีแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในประเทศโดยผู้เล่นรายใหม่และเศรษฐกิจเสียโอกาส นี่คืออีกประเด็นที่ลืมไม่ได้และต้องแก้ไข เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว”[10] 

หากพิจารณาให้ดี จะเห็นได้ว่า ปัญหาในข้อนี้ส่งผลกระทบอย่างยิ่งเมื่อเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสขึ้นมาภายในประเทศ อุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นของเอกชนเพียงกลุ่มหนึ่ง เมื่อเอกชนรายนั้นได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส อุตสาหกรรมนั้นก็จะได้รับผลกระทบไปหมด ประกอบกับการส่งออกของประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างเต็มที่

ดังจะเห็นได้ว่า ความอ่อนแอทั้งสามประการข้างต้นนั้นส่งผลต่อสถานะทางเศรษฐกิจและคุณภาพของชีวิตของสังคมไทยอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้ซ้ำเติมความอ่อนแออันเป็นรากฐานของเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นอย่างมาก

 ในบทความนี้ได้พาทุกท่านไปทำความเข้าใจถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในวังวนของโควิด-19 และชี้ให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 นี้ ไม่ได้เป็นเพียงผลกระทบที่เกิดขึ้นระยะสั้น อันเกิดจากการระบาดของเชื้อไวรัส  ทว่าวิกฤตนี้เป็นผลมาจากความอ่อนแอที่ดำเนินมายาวนาน  สิ่งที่ต้องช่วยกันคิดต่อไปคือ ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป โปรดติดตามในบทความต่อไป

 


[1] พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย, “ผลกระทบของ COVID-19 ต่อประเทศไทย ในปัจจุบันและอนาคต,” สืบค้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564, จาก https://thaipublica.org/2020/11/pipat-65/.

[2] สมชัย จิตสุชน, “ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย: เปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาส,” รายงานทีดีอาร์ไอ ฉบับที่ 168 กันยายน 2563, จาก https://tdri.or.th/2020/12/inequality-in-thai-society-turning-the-covid-19-crisis-into-an-opportunity/, น. 5.

[3] ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร.

[4] สมชัย จิตสุชน, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, น. 5.

[5] เพิ่งอ้าง, น. 5.

[6] บัณฑิต นิจถาวร, “ปีที่อยากลืม…แต่ลืมไม่ได้,” สืบค้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563, จาก https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/651729

[7] สมชัย จิตสุชน, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, น. 2 – 3.

[8] เพิ่งอ้าง , น. 3 – 4.

[9] บัณฑิต นิจถาวร, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 6.

[10] บัณฑิต นิจถาวร, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 6.