เศรษฐกิจกับรัฐธรรมนูญสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกัน โดยรัฐธรรมนูญมีบทบาทสำคัญในการกำหนดระบบเศรษฐกิจของรัฐนั้น ๆ ในบทความนี้จะได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญกับเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญทางเศรษฐกิจ พัฒนาการของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับบทบัญญัติทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และการนำแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐมาปฏิบัติ
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญกับเศรษฐกิจ
“ถ้าไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วยแล้ว ราษฎรส่วนมากก็ไม่มีโอกาสในทางปฏิบัติที่จะใช้สิทธิประชาธิปไตยได้…”
ปรีดี พนมยงค์
ข้อความข้างต้นของปรีดี พนมยงค์ เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดว่าด้วยประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานว่าประชาธิปไตยสมบูรณ์จะต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 3 สิ่ง คือ ประชาธิปไตยทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และทรรศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย
ในการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย (Liberal democracy) บรรดารัฐธรรมนูญของรัฐเสรีประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญในฐานะตราสารทางกฎหมายและทางการเมืองที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกำหนดระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดในรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจเหล่านี้ต่อกันและกัน[1] อย่างไรก็ตาม นอกจากบทบาทในฐานะตราสารทางกฎหมายและทางการเมืองแล้ว รัฐธรรมนูญยังมีฐานะตราสารทางเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้กำหนดกฎกติกาทางเศรษฐกิจระหว่างนักการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และราษฎรทั้งที่มีและไม่มีสิทธิเลือกตั้ง[2] ซึ่งกระจายอยู่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทั้งในบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ หรือบทบัญญัติว่าด้วยแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐ ซึ่งกำหนดหลักการแห่งนโยบายซึ่งรัฐจะต้องปฏิบัติจัดทำ ทั้งนี้ โดยไม่คำนึงว่าพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจะมีนโยบายอย่างไร และจะจัดตั้งรัฐบาลอย่างใด[3]
การที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติในทางเศรษฐกิจ ทั้งในบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ หรือแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐเอาไว้ มีผลสะท้อนสำคัญใน 2 ประการแรก คือ
ประการแรก บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทางเศรษฐกิจเป็นการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และเป็นการสร้างพันธะระหว่างรัฐกับประชาชนในทางเศรษฐกิจ แม้ว่าบทบัญญัติในหมวดแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐ นั้นอาจไม่มีผลผูกพันให้รัฐบาลต้องจัดทำเสมอไป แต่ก็กำหนดหลักการกว้าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้กับรัฐบาล และเป็นช่องทางให้เกิดการเร่งรัดในทางการเมืองให้รัฐบาลต้องดำเนินการ
ประการที่สอง บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพทางเศรษฐกิจนั้น ได้จัดตั้งระบบเศรษฐกิจที่สังคมปรารถนาขึ้นมา ไม่ใช่แต่เพียงเป็นภาพสะท้อนของระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในสังคม โดยกำหนดระบบเศรษฐกิจของรัฐว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบใด ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทย รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด[4] รัฐธรรมนูญจะต้องรับรองสิทธิและเสรีภาพทางเศรษฐกิจของบุคคลเบื้องต้นที่สุด คือ สิทธิในทรัพย์สิน เพื่อให้ประชาชนมีอิสระในการจำหน่ายจ่ายโอนและเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ รัฐต้องกำหนดกฎเกณฑ์กติกาเกี่ยวกับการใช้สิทธิดังกล่าวของประชาชนผ่านกฎหมาย และท้ายที่สุดคือรัฐต้องกำหนดความสัมพันธ์ของรัฐกับระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมโดยอาศัยกลไกตลาดนี้อย่างไร
รัฐธรรมนูญทางเศรษฐกิจ
แรกเริ่มนั้นรัฐธรรมนูญของประเทศส่วนใหญ่ในโลกมิได้มีการบัญญัติถึงแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐเอาไว้ บทบัญญัติทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จึงกำหนดเอาไว้ในบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งเป็นผลผลิตทางปรัชญาการเมืองแบบเสรีนิยมของจอห์น ล็อค (John Lock) ซึ่งส่งอิทธิพลให้กับอดัม สมิธ (Adam Smith) ก่อนจะได้รับการยอมรับผ่านบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ
ลักษณะของบทบัญญัติทางเศรษฐกิจในยุคแรกจึงเป็นบทบัญญัติรับรองกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789 ซึ่งเกิดขึ้นในการปฏิวัติฝรั่งเศสและมีสถานะเป็นรัฐธรรมนูญและส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในข้อ 2 ระบุว่า “วัตถุประสงค์แห่งสังคมการเมือง ได้แก่ การธำรงรักษาไว้ซึ่งสิทธิทั้งหลาย (ที่กำเนิดขึ้นและมีมา) ตามธรรมชาติและ (เป็นสิทธิซึ่ง) มิอาจยกเลิกเพิกถอนได้ของมนุษย์ สิทธิทั้งหลายเหล่านี้ ได้แก่ เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ (ในทรัพย์สิน) ความปลอดภัย (ในชีวิตและร่างกาย)และ (สิทธิใน) การขัดขืนต่อการกดขี่ (ไม่ว่าในรูปแบบใด)”[5] เป็นต้น ซึ่งหากจะสืบย้อนกลับไปหลักการดังกล่าวนี้เป็นหลักการร่วมกันของบรรดารัฐเสรีประชาธิปไตยที่ต้องรับรองสิทธิในทรัพย์สินของปัจเจกบุคคล ทั้งจากปัจเจกบุคคลด้วยกันและจากอำนาจของรัฐที่ปราศจากอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ในเวลาต่อมาบรรดาบทบัญญัติทางเศรษฐกิจในส่วนของสิทธิและเสรีภาพทางรัฐธรรมนูญก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ และครอบคลุมมากขึ้นตามพัฒนาการของสังคม เช่น รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1853 ของประเทศอาร์เจนตินาได้บัญญัติรับรองสิทธิของผู้ใช้แรงงานและสหภาพแรงงานเอาไว้ในมาตรา 14BIS เป็นต้น
ในส่วนของบทบัญญัติทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐนั้นได้บัญญัติขึ้นเป็นครั้งแรกโดยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับไวมาร์ ค.ศ. 2461 ของเยอรมนี โดยบัญญัติเอาไว้ภายใต้หมวดสิทธิและหน้าที่ของประชาชน[6] สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติเรื่องแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐแยกเป็นหมวดหมู่ต่างหากคือ รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ค.ศ. 2465 โดยใช้คำว่า “แนวนโยบายสังคม” (Directive Principles of Social Policy)[7]
พัฒนาการของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับบทบัญญัติทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
ก่อนปี พ.ศ. 2492 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมิได้มีบทบัญญัติว่าด้วยแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐ แม้แต่ในบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็มิได้มีบทบัญญัติทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาได้มีความพยายามสร้างแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐในทางเศรษฐกิจขึ้นมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการจัดทำเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี ซึ่งไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากปัญหาทางการเมือง (รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดดู ว่าด้วย เค้าโครงการเศรษฐกิจ ตอนที่ 4: มองเค้าโครงเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและอนาคต) การจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจขึ้นมาครั้งแรกในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
การเกิดขึ้นของหมวดแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐ เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 และเป็นต้นแบบให้กับรัฐธรรมนูญอีก 10 ฉบับ ดังแสดงตามตารางจำนวนมาตราและนโยบายในหมวดแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 – 2560 สำหรับธรรมนูญการปกครองและรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) นั้นโดยส่วนใหญ่จะไม่ได้บัญญัติเอาไว้ถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ และแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐ เพราะวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญนั้นมีไว้เพื่อธำรงรักษาและสืบทอดอำนาจของระบอบเผด็จการเท่านั้น
ลำดับ | รัฐธรรมนูญ | มาตรา | จำนวนมาตรา | จำนวนนโยบาย |
1. | รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2492 | มาตรา 54–72 | 19 | 17 |
2. | รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2475 ซึ่งนำกลับมาใช้ใหม่ พุทธศักราช 2495 | มาตรา 38–44 | 7 | 7 |
3. | รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2511 | มาตรา 53–70 | 18 | >15 |
4. | รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2517 | มาตรา 62–94 | 33 | 39 |
5. | รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2521 | มาตรา 53–73 | 21 | 36 |
6. | รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2534 | มาตรา 59–80 | 22 | 46 |
7. | รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2534 และแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2538 | มาตรา 58–89 | 32 | 54 |
8. | รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2540 | มาตรา 71–89 | 19 | 49 (54) |
9. | รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2550 | มาตรา 75–87 | 13 | 52 (67) |
10. | รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2560 | มาตรา 64–78 | 15 | 32 (54) |
การบัญญัติเรื่องแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐมีวัตถุประสงค์อยู่ใน 2 ประการ คือ[8] ประการแรก กำหนดไว้เพื่อเป็นแนวนโยบายเพื่อให้รัฐบาลเลือกดำเนินการหรือที่เรียกว่า “เมนูนโยบาย” (Policy Menu) และประการที่สอง กำหนดแนวทางให้กับรัฐบาลในการพัฒนาประเทศทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมโดยไม่จำกัดว่าพรรคการเมืองใดเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งปรากฏในคำปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ว่า “...กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐเพื่อช่วยรักษาไว้ซึ่งความต่อเนื่องกันโดยสม่ำเสมอในการบริหารราชการ...” และในมาตรา 54 บัญญัติว่า “...บทบัญญัติในหมวดนี้มีไว้เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการตรากฎหมายและการบริหารราชการตามนโยบายดั่งกำหนดไว้...” อย่างไรก็ตาม การกำหนดแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐไม่ได้หมายความว่า พรรคการเมืองและรัฐบาลไม่ต้องมีนโยบายของตนอีกต่อไป เพราะแนวนโยบายแห่งรัฐนี้เป็นเพียงแต่หลักการแห่งนโยบายเท่านั้นไม่ใช่ตัวนโยบาย[9] ดังนั้น โดยสภาพแล้วแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย[10]
ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ได้สร้างต้นแบบในการบัญญัติหมวดแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐขึ้นมา แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้น้ำหนักแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไปในเรื่องความมั่นคงของรัฐมากกว่าในเรื่องหน้าที่ของรัฐในทางเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญที่มีความสำคัญมากที่สุดในการกำหนดแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐ ก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 เป็นรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมโดยนำฉันทามติแบบเคนส์ (Keynesian Consensus) และได้ก่อตัวแนวคิดรัฐสวัสดิการ (Welfare State) มาบัญญัติไว้ในหมวดแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐใน 4 ประการ ดังนี้
ประการแรก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับรองเรื่องการจ้างงานเต็มอัตรา (Full Employment) โดยกำหนดให้รัฐพึงส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ และได้คุ้มครองสิทธิของแรงงานให้ได้รับค่าตอบแทนตามอัตภาพ จัดให้มีการคุ้มครองแรงงานให้เป็นไปโดยเป็นธรรม และจัดให้มีสวัสดิการเพื่อประกันการเจ็บป่วยและชราภาพของแรงงาน[11]
ประการที่สอง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับรองเรื่องรัฐสวัสดิการเอาไว้ โดยกำหนดให้รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ ส่งเสริมกิจการเคหะสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย ส่งเสริมการสาธารณสุขตลอดถึงการอนามัยครอบครัวและคุ้มครองสุขภาพของบุคคล จัดให้มีการรักษาพยาบาลแก่ผู้ยากไร้โดยไม่คิดมูลค่า[12]
ประการที่สาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับรองเรื่องการบำรุงรักษาสภาพแวดล้อมและธรรมชาติเอาไว้ โดยกำหนดให้รัฐพึงบำรุงรักษาความสมดุลของสภาพแวดล้อมและความงามทางธรรมชาติ รวมทั้งป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร และน่านน้ำ[13]
ประการที่สี่ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับรองเรื่องความเป็นธรรมทางสังคม โดยได้บัญญัติเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ในฐานะของบุคคลในทางเศรษฐกิจและสังคมลดน้อยลง[14] และการปฏิรูปที่ดินและการจัดรูปที่ดิน[15]
แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 นั้นจะใช้บังคับเป็นเพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ 2 ปีอันเป็นผลมาจากการรัฐประหารโดย คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยมีพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งดึงให้ประเทศไทยเข้าสู่วังวนของการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2539 เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 เพื่อเปิดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญจนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งบทบัญญัติในเรื่องแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐได้สืบทอดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
การนำแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐมาปฏิบัติ
ในความเป็นจริง แม้รัฐธรรมนูญจะได้กำหนดแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 ทว่า การกำหนดนโยบายเอาไว้รัฐธรรมนูญเปรียบได้กับ “ความฝัน” (เป็นคำที่ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์นำมาใช้) เพราะนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 เป็นต้นมา นโยบายที่ได้บรรจุไว้ในหมวดแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐนั้นมิได้มีการดำเนินการในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง เนื่องจากรัฐบาลส่วนใหญ่ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 เป็นต้นมาจนถึง พ.ศ. 2540 นั้นเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารกับสภาผู้แทนราษฎรนั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์กันในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นไปตามหลักการถ่วงดุลอำนาจเท่าที่ควร ทำให้บทบัญญัติในส่วนแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐที่บัญญัติไว้เป็นเพียง “ส่วนเกิน” ของรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีประโยชน์ในทางปฏิบัติ[16]
กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจกับรัฐธรรมนูญสัมพันธ์กันในลักษณะที่ทั้งเป็นการรับรองสิทธิของประชาชนภายในรัฐในทางเศรษฐกิจ และกำหนดกรอบทิศทางระบบเศรษฐกิจของรัฐจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร นอกจากนี้ เมื่อเวลาผ่านพัฒนาการของบทบัญญัติทางเศรษฐกิจในรัฐธรรมนูญก็มีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ แต่เดิมบทบัญญัติทางเศรษฐกิจมักปรากฏในรูปของสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐรับรองไว้ให้ แต่ในช่วงหลังมานี้บทบัญญัติทางเศรษฐกิจได้ปรากฏในรูปแบบของแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐ หรือบทบัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐ อย่างไรก็ตามบทบัญญัติในส่วนของแนวนโยบาย (พื้นฐาน) แห่งรัฐ ในความเป็นจริงแทบจะไม่มีการนำมาปฏิบัติ เสมือนเพียงแต่ความฝันที่ไม่เป็นจริง
[1] หยุด แสงอุทัย, หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป, พิมพ์ครั้งที่ 9, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2539), น. 39.
[2] รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, “เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ บทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540”, (รายงานวิจัยเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2545), น. 4.
[3] หยุด แสงอุทัย, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 1, น. 159.
[4] มาตรา 87 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540.
[5] สำนวนแปลของฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล.
[6] หยุด แสงอุทัย, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 1, น. 161-162.
[7] เพิ่งอ้าง, น. 162.
[8] รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, น. 348.
[9] หยุด แสงอุทัย, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 1, น. 162.
[10] มาตรา 54 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492.
[11] มาตรา 89 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517.
[12] มาตรา 91 และมาตรา 92 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517.
[13] มาตรา 77 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517.
[14] มาตรา 79 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517.
[15] มาตรา 81 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517.
[16] รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, น. 359.
- รัฐธรรมนูญ
- ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย
- ปรีดี พนมยงค์
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- เขมภัทร ทฤษฎิคุณ
- รัฐธรรมนูญทางเศรษฐกิจ
- จอห์น ล็อค
- อดัม สมิธ
- ปฏิวัติฝรั่งเศส
- เค้าโครงเศรษฐกิจ
- สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- เศรษฐศาสตร์การเมือง
- รัฐสวัสดิการ
- ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
- การปฏิรูปที่ดินและการจัดรูปที่ดิน
- 6 ตุลา 2519
- พลเรือเอก สงัด ชลออยู่
- รัฐประหาร 2519
- รัฐธรรมนูญ 2519
- รัฐธรรมนูญ 2540
- รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
- หยุด แสงอุทัย
- ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล